ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทนรับการข่มเหง เพราะเห็นแก่ความชอบธรรม

ทนรับการข่มเหง เพราะเห็นแก่ความชอบธรรม

ทน​รับ​การ​ข่มเหง เพราะ​เห็น​แก่​ความ​ชอบธรรม

“ความ​สุข​มี​แก่​ผู้​ที่​ถูก​ข่มเหง​เพราะ​เห็น​แก่​ความ​ชอบธรรม.”—มัดธาย 5:10, ล.ม.

1. เพราะ​เหตุ​ใด​พระ​เยซู​จึง​ไป​อยู่​ต่อ​หน้า​ปนเตียว ปีลาต และ​พระ​เยซู​ตรัส​ถ้อย​คำ​อะไร?

“เพราะ​เหตุ​นี้​เรา​จึง​เกิด​มา และ​เพราะ​เหตุ​นี้​เรา​ได้​เข้า​มา​ใน​โลก เพื่อ​เรา​จะ​ให้​คำ​พยาน​ถึง​ความ​จริง.” (โยฮัน 18:37, ล.ม.) ขณะ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ถ้อย​คำ​นี้ พระองค์​อยู่​ต่อ​หน้า​ปนเตียว ปีลาต ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ชาว​โรมัน​ของ​แคว้น​ยูเดีย. พระ​เยซู​อยู่​ที่​นั่น ไม่​ใช่​เพราะ​พระองค์​เลือก​ไป​เอง หรือ​ไป​ตาม​คำ​เชิญ​ของ​ปีลาต. แต่​พระองค์​ไป​อยู่​ที่​นั่น​เพราะ​ถูก​พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​ชาว​ยิว​กล่าวหา​ว่า​เป็น​ผู้​กระทำ​ผิด​ที่​สม​ควร​จะ​ถูก​ประหาร.—โยฮัน 18:29-31.

2. พระ​เยซู​ได้​ทำ​อะไร และ​ผล​เป็น​เช่น​ไร?

2 พระ​เยซู​รู้​ดี​ว่า​ปีลาต​มี​อำนาจ​สั่ง​ปล่อย​หรือ​ประหาร​พระองค์​ก็​ได้. (โยฮัน 19:10) แต่​นั่น​ไม่​ได้​ยับยั้ง​พระองค์​จาก​การ​พูด​กับ​ปีลาต​อย่าง​กล้า​หาญ​เรื่อง​ราชอาณาจักร. แม้​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู​ตก​อยู่​ใน​อันตราย พระองค์​ฉวย​โอกาส​นั้น​ใน​การ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ผู้​ปกครอง​ที่​มี​อำนาจ​สูง​สุด​ใน​อาณา​เขต​นั้น. ทั้ง​ที่​ให้​คำ​พยาน​ดัง​กล่าว พระ​เยซู​ยัง​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ​และ​ประหาร วาย​พระ​ชนม์​อย่าง​เจ็บ​ปวด​แสน​สาหัส​บน​หลัก​ทรมาน​ฐานะ​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ.—มัดธาย 27:24-26; มาระโก 15:15; ลูกา 23:24, 25; โยฮัน 19:13-16.

ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​เพราะ​ให้​คำ​พยาน​หรือ​ว่า​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ?

3. คำ​ภาษา​อังกฤษ martyr ที่​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ” มี​ความหมาย​อย่าง​ไร​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​คำ​นี้​มี​ความหมาย​เช่น​ไร​ใน​ทุก​วัน​นี้?

3 หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​มอง ‘ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ’ แทบ​ไม่​ต่าง​ไป​จาก​พวก​คลั่ง​ลัทธิ​หรือ​พวก​หัวรุนแรง. คน​ที่​ยอม​เสีย​ชีวิต​เพื่อ​ความ​เชื่อ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เพื่อ​ศาสนา​นั้น มัก​ถูก​มอง​อย่าง​น่า​สงสัย​ว่า​เป็น​พวก​ผู้​ก่อ​การ​ร้าย หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​เป็น​พวก​ที่​เป็น​ภัย​ต่อ​สังคม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ​ภาษา​อังกฤษ martyr ที่​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ” มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก (marʹtys) ซึ่ง​มี​ความหมาย​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า “พยาน” กล่าว​คือ​ผู้​ให้​การ​เป็น​พยาน อาจ​ระหว่าง​การ​พิจารณา​คดี​ใน​ศาล ถึง​ความ​จริง​ของ​สิ่ง​ที่​เขา​เชื่อ. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​แล้ว​เท่า​นั้น คำ​นี้​ถึง​มี​ความหมาย​เปลี่ยน​ไป​เป็น “ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​เพราะ​ให้​คำ​พยาน” หรือ​แม้​กระทั่ง​ให้​คำ​พยาน​ด้วย​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ตน.

4. พระ​เยซู​เป็น​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ใน​ความหมาย​ใด​เป็น​ประการ​สำคัญ?

4 พระ​เยซู​เป็น​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ใน​ความหมาย​ดั้งเดิม​ของ​คำ​นี้​เป็น​ประการ​สำคัญ. ตาม​ที่​ตรัส​แก่​ปีลาต พระองค์​มา​เพื่อ​จะ “ให้​คำ​พยาน​ถึง​ความ​จริง.” การ​ให้​คำ​พยานของ​พระองค์​ก่อ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​แตกต่าง​กัน​มาก​ใน​หมู่​ผู้​คน. บาง​คน​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​อย่าง​มาก​จาก​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ได้​ยิน​ได้​เห็น และ​จึง​เชื่อถือ​ใน​พระ​เยซู. (โยฮัน 2:23; 8:30) ประชาชน​ทั่ว​ไป และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​พวก​ผู้​นำ​ศาสนา มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​มาก​เช่น​กัน แต่​ใน​ทาง​ลบ. พระ​เยซู​ตรัส​แก่​สมาชิก​ครอบครัว​ของ​พระองค์​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ดัง​นี้: “โลก​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​เกลียด​ชัง​พวก​เจ้า แต่​โลก​เกลียด​ชัง​เรา เพราะ​เรา​ให้​คำ​พยาน​เกี่ยว​กับ​โลก​ว่า​การ​กระทำ​ของ​โลก​นั้น​ชั่ว​ร้าย.” (โยฮัน 7:7, ล.ม.) เนื่อง​จาก​ให้​คำ​พยาน​ถึง​ความ​จริง พระ​เยซู​จึง​ทำ​ให้​พวก​ผู้​นำ​ของ​ชาติ​โกรธ​จัด ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์. จริง​ที​เดียว พระองค์​เป็น “พยาน (marʹtys) ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​สัตย์​จริง.”—วิวรณ์ 3:14, ล.ม.

“คน​ทั้ง​ปวง​จะ​เกลียด​ชัง​ท่าน”

5. ใน​ช่วง​ต้น​แห่ง​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ พระ​เยซู​กล่าว​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​ข่มเหง?

5 ไม่​เฉพาะ​แต่​พระ​เยซู​เท่า​นั้น​ที่​ประสบ​การ​ข่มเหง​อย่าง​รุนแรง พระองค์​เตือน​เหล่า​สาวก​ด้วย​ว่า​พวก​เขา​จะ​ถูก​ข่มเหง​เช่น​กัน. ใน​ช่วง​ต้น​แห่ง​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์ พระ​เยซู​บอก​ผู้​ที่​ฟัง​พระองค์​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ว่า “ความ​สุข​มี​แก่​ผู้​ที่​ถูก​ข่มเหง​เพราะ​เห็น​แก่​ความ​ชอบธรรม เพราะ​ราชอาณาจักร​ฝ่าย​สวรรค์​เป็น​ของ​เขา. ความ​สุข​มี​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​เมื่อ​เขา​ได้​ติเตียน​เจ้า​และ​ข่มเหง​เจ้า​และ​พูด​สิ่ง​ชั่ว​ร้าย​ทุก​รูป​แบบ​ด้วย​คำ​เท็จ​ต่อ​เจ้า​เพราะ​เรา. จง​ชื่นชม​ยินดี​และ​โลด​เต้น​ด้วย​ความ​ปลาบปลื้ม เพราะ​บำเหน็จ​ของ​พวก​เจ้า​ล้ำ​เลิศ​ใน​สวรรค์.”—มัดธาย 5:10-12, ล.ม.

6. พระ​เยซู​ให้​คำ​เตือน​อะไร​ขณะ​ส่ง​อัครสาวก 12 คน​ออก​ไป?

6 ต่อ​มา เมื่อ​ทรง​ส่ง​อัครสาวก 12 คน​ออก​ไป พระ​เยซู​บอก​พวก​เขา​ว่า “จง​ระวัง​มนุษย์ เพราะ​เขา​จะ​อายัด​ท่าน​ไว้​ที่​ศาล, และ​จะ​เฆี่ยน​ท่าน​ใน​ธรรมศาลา​ของ​เขา. และ​จะ​ส่ง​ท่าน​ไป​ต่อ​หน้า​เจ้าเมือง​และ​กษัตริย์​เพราะ​เรา. เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​เป็น​พยาน​ต่อ​ผู้​เหล่า​นั้น​และ​ต่อ​พวก​ต่าง​ประเทศ.” แต่​ไม่​ใช่​แค่​พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​เท่า​นั้น​ที่​จะ​ข่มเหง​พวก​สาวก. พระ​เยซู​ตรัส​ด้วย​ว่า “พี่​ก็​จะ​มอบ​น้อง, พ่อ​ก็​จะ​มอบ​ลูก, และ​ลูก​จะ​ทรยศ​ต่อ​พ่อ​แม่​ให้​ถึง​แก่​ความ​ตาย. และ​คน​ทั้ง​ปวง​จะ​เกลียด​ชัง​ท่าน​เพราะ​นาม​ของ​เรา แต่​ผู้​ใด​ที่​จะ​ทนเอา​จน​ถึง​ที่​สุด​ปลาย, ผู้​นั้น​จะ​รอด.” (มัดธาย 10:17, 18, 21, 22) ประวัติ​ของ​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ให้​หลักฐาน​ว่า​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​เป็น​ความ​จริง.

ประวัติ​บันทึก​ใน​เรื่อง​ความ​อด​ทน​อย่าง​ซื่อ​สัตย์

7. อะไร​ทำ​ให้​ซะเตฟาโน​กลาย​เป็น​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ?

7 ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู ซะเตฟาโน​กลาย​เป็น​คริสเตียน​คน​แรก​ที่​เสีย​ชีวิต​เพราะ​กล่าว​คำ​พยาน​ถึง​ความ​จริง. ท่าน “ประกอบ​ด้วย​พระคุณ​และ​ฤทธิ์​เดช​จึง​กระทำ​การ​อัศจรรย์​และ​ทำ​การ​เป็น​นิมิต​ใหญ่​ใน​ท่ามกลาง​คน​ทั้ง​หลาย.” ศัตรู​ทาง​ศาสนา​ของ​ท่าน “เถียง​คำ​ที่​ท่าน​กล่าว​อัน​ประกอบ​ด้วย​สติ​ปัญญา​และ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ไม่​ได้.” (กิจการ 6:8, 10) เนื่อง​จาก​ท่วมท้น​ไป​ด้วย​ความ​รู้สึก​อิจฉา พวก​เขา​จึง​ลาก​ตัว​ซะเตฟาโน​ไป​อยู่​ต่อ​หน้า​สภา​ซันเฮดริน ศาล​สูง​สุด​ของ​ชาว​ยิว ซึ่ง​ที่​นั่น ท่าน​ถูก​กล่าวหา​เท็จ​และ​ได้​ให้​คำ​พยาน​อัน​ทรง​พลัง. กระนั้น​ก็​ตาม ใน​ที่​สุด​เหล่า​ศัตรู​ของ​ซะเตฟาโน​ก็​สังหาร​พยาน​ผู้​ซื่อ​สัตย์​คน​นี้.—กิจการ 7:59, 60.

8. เหล่า​สาวก​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​มี​ปฏิกิริยา​เช่น​ไร​ต่อ​การ​ข่มเหง​ที่​พวก​เขา​ประสบ​หลัง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ซะเตฟาโน?

8 หลัง​การ​สังหาร​ซะเตฟาโน “บังเกิด​การ​ข่มเหง​คริสตจักร​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม​มาก​ขึ้น, และ​สานุศิษย์​ทั้ง​ปวง​นอก​จาก​อัครสาวก​ได้​กระจัด​กระจาย​ไป​ทั่ว​แว่นแคว้น​มณฑล​ยูดาย​กับ​มณฑล​ซะมาเรีย.” (กิจการ 8:1) การ​ข่มเหง​นั้น​ยับยั้ง​คริสเตียน​จาก​การ​ให้​คำ​พยาน​ไหม? ผล​กลับ​เป็น​ตรง​กัน​ข้าม บันทึก​บอก​เรา​ว่า “สานุศิษย์​ทั้ง​หลาย​ซึ่ง​กระจัด​กระจาย​ไป​ก็​ได้​เที่ยว​ประกาศ​พระ​คำ​นั้น.” (กิจการ 8:4) พวก​เขา​คง​ต้อง​มี​ความ​รู้สึก​เช่น​เดียว​กับ​อัครสาวก​เปโตร​ที่​เคย​กล่าว​ก่อน​หน้า​นั้น​ว่า “พวก​ข้าพเจ้า​จำ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ใน​ฐานะ​เป็น​ผู้​ปกครอง​ยิ่ง​กว่า​มนุษย์.” (กิจการ 5:29, ล.ม.) แม้​มี​การ​ข่มเหง สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​กล้า​หาญ​เหล่า​นั้น​ยัง​คง​กล่าว​คำ​พยาน​ถึง​ความ​จริง​ต่อ ๆ ไป ทั้ง​ที่​รู้​ว่า​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ยิ่ง​ลำบาก​มาก​ขึ้น​ก็​ตาม.—กิจการ 11:19-21.

9. เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ยัง​คง​ประสบ​การ​ข่มเหง​อะไร?

9 เป็น​จริง​อย่าง​นั้น ความ​ยาก​ลำบาก​ไม่​ได้​ลด​น้อย​ลง​ไป​เลย. แรก​ที​เดียว เรา​ทราบ​ว่า​เซาโล—ชาย​ที่​รู้​เห็น​เป็น​พยาน​ด้วย​ความ​เห็น​ชอบ​ต่อ​การ​เอา​หิน​ขว้าง​ซะเตฟาโน—“ยัง​ขู่​คำราม​กล่าว​ว่า​จะ​ฆ่า​ศิษย์​ของ​พระ​เยซู​เสีย, จึง​ได้​ไป​หา​มหา​ปุโรหิต ขอ​หนังสือ​ไป​ยัง​ธรรมศาลา​ใน​เมือง​ดาเมเซ็ก, เพื่อ​ว่า​ถ้า​พบ​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​ถือ​ทาง​นั้น​ไม่​ว่า​ชาย​หรือ​หญิง จะ​ได้​จับ​มัด​พา​มา​ยัง​กรุง​ยะรูซาเลม.” (กิจการ 9:1, 2) ต่อ​มา ราว ๆ ปี ส.ศ. 44 “กษัตริย์​เฮโรด​ได้​เหยียด​หัตถ์​ออก​ทำ​ร้าย​แก่​ลาง​คน​ใน​คริสตจักร. ท่าน​ได้​ฆ่า​ยาโกโบ​พี่​ชาย​ของ​โยฮัน​ด้วย​ดาบ.”—กิจการ 12:1, 2.

10. เรื่อง​ราว​อะไร​เกี่ยว​กับ​การ​ข่มเหง​ที่​เรา​ทราบ​จาก​พระ​ธรรม​กิจการ​และ​วิวรณ์?

10 ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​พระ​ธรรม​กิจการ​มี​บันทึก​เรื่อง​ราว​อัน​ไม่​มี​วัน​ลืม​เลือน​เกี่ยว​กับ​การ​เผชิญ​การ​ทดลอง, การ​ถูก​คุม​ขัง, และ​การ​ถูก​ข่มเหง​ของ​เหล่า​ผู้​ซื่อ​สัตย์ อย่าง​เช่น เปาโล อดีต​ผู้​ข่มเหง​ที่​กลาย​มา​เป็น​อัครสาวก​และ​อาจ​เสีย​ชีวิต​ฐานะ​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ด้วย​น้ำ​มือ​ของ​เนโร จักรพรรดิ​โรมัน ราว ๆ ปี ส.ศ. 65. (2 โกรินโธ 11:23-27; 2 ติโมเธียว 4:6-8) สุด​ท้าย ใน​พระ​ธรรม​วิวรณ์ ซึ่ง​เขียน​ขึ้น​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง เรา​ทราบ​ว่า​อัครสาวก​โยฮัน​ผู้​ชราภาพ​ถูก​กัก​ขัง​อยู่​ที่​เกาะ​ปัตโมส “เนื่อง​ด้วย​ได้​กล่าว​ถึง​พระเจ้า​และ​ให้​คำ​พยาน​ถึง​พระ​เยซู.” พระ​ธรรม​วิวรณ์​ยัง​กล่าว​ถึง “อัน​ที​พาส พยาน​ของ​เรา​ผู้​ซื่อ​สัตย์ ที่​ถูก​ฆ่า” ใน​เมือง​เปอร์กาโมส์​ด้วย.—วิวรณ์ 1:9; 2:13, ล.ม.

11. แนว​ทาง​ของ​คริสเตียน​ยุค​แรก​พิสูจน์​ความ​จริง​แห่ง​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​การ​ข่มเหง​อย่าง​ไร?

11 ทั้ง​หมด​นี้​พิสูจน์​ความ​จริง​แห่ง​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​บอก​แก่​เหล่า​สาวก​ว่า “ถ้า​เขา​ได้​ข่มเหง​เรา เขา​ก็​จะ​ข่มเหงเจ้า​ด้วย.” (โยฮัน 15:20, ล.ม.) เหล่า​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ใน​ยุค​แรก​พร้อม​เผชิญ​การ​ทดลอง​ที่​ยาก​ที่​สุด คือ​ความ​ตาย—โดย​การ​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​เหี้ยม​โหด​ทารุณ, ถูก​โยน​ให้​สัตว์​ร้าย, หรือ​วิธี​อื่น ๆ—เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​มอบหมาย​ที่​ได้​รับ​จาก​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า ที่​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​เป็น​พยาน​ฝ่าย​เรา​ใน​กรุง​ยะรูซาเลม, สิ้น​ทั้ง​มณฑล​ยูดาย, มณฑล​ซะมาเรีย, และ​จน​ถึง​ที่​สุด​ปลาย​แผ่นดิน​โลก.”—กิจการ 1:8.

12. เหตุ​ใด​การ​ข่มเหง​คริสเตียน​จึง​ไม่​ใช่​แค่​เรื่อง​ของ​อดีต?

12 ถ้า​ใคร​คิด​ว่า​การ​ที่​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​เหี้ยม​โหด​ทารุณ​ดัง​กล่าว​จะ​มี​เฉพาะ​แต่​ใน​อดีต​เท่า​นั้น เขา​ก็​เข้าใจ​ผิด​อย่าง​มาก. เปาโล ซึ่ง​เรา​ได้​เห็น​แล้ว​ว่า​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​ไม่​น้อย เขียน​ดัง​นี้: “ทุก​คน​ที่​ปรารถนา​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​เยซู​ก็​จะ​ถูก​ข่มเหง​ด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) เปโตร​กล่าว​ใน​เรื่อง​การ​ข่มเหง​ว่า “ที่​จริง ท่าน​ทั้ง​หลาย​ถูก​เรียก​ไว้​สำหรับ​แนว​ทาง​นี้ เพราะ​แม้​แต่​พระ​คริสต์​ได้​ทรง​ทน​ทุกข์​ทรมาน​เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​ให้​ท่าน เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระองค์​อย่าง​ใกล้​ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) ตั้ง​แต่​บัด​นั้น​มา​จน​ถึง “สมัย​สุด​ท้าย” แห่ง​ระบบ​นี้ ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​ตก​เป็น​เป้า​แห่ง​ความ​เกลียด​ชัง​และ​การ​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง. (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) พยาน​พระ​ยะโฮวา​ตลอด​ทั่ว​โลก ทั้ง​ใน​ดินแดน​ที่​ปกครอง​ด้วย​ระบอบ​เผด็จการ​และ​ประชาธิปไตย ต่าง​เคย​ประสบ​การ​กดขี่​ข่มเหง​ไม่​คราว​ใด​ก็​คราว​หนึ่ง ทั้ง​โดย​ส่วน​ตัว​หรือ​ส่วน​รวม.

เหตุ​ใด​จึง​ถูก​เกลียด​ชัง​และ​ข่มเหง?

13. ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ปัจจุบัน​พึง​จด​จำ​อะไร​ไว้​เสมอ​เรื่อง​การ​ข่มเหง?

13 แม้​ว่า​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​ใน​ปัจจุบัน​มี​เสรีภาพ​พอ​ประมาณ​ใน​การ​ประกาศ​และ​การ​ประชุม​ร่วม​กัน​อย่าง​สงบ​สุข แต่​เรา​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​ข้อ​เตือน​ใจ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “ฉาก​ของ​โลก​นี้​กำลัง​เปลี่ยน​ไป.” (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ อาจ​เปลี่ยน​แปลง​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​เสีย​จน​ถ้า​เรา​ไม่​เตรียม​ตัว​ไว้​ให้​พร้อม​ทาง​สภาพ​จิตใจ, อารมณ์, และ​วิญญาณ​แล้ว เรา​อาจ​สะดุด​ได้​ง่าย. ถ้า​อย่าง​นั้น เรา​จะ​ป้องกัน​ตัว​เรา​เอง​ได้​อย่าง​ไร? วิธี​ป้องกัน​ที่​บังเกิด​ผล​อย่าง​หนึ่ง​คือ การ​จด​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​เหตุ​ใด​คริสเตียน​ซึ่ง​รัก​สันติ​และ​เชื่อ​ฟัง​กฎหมาย​จึง​ถูก​เกลียด​ชัง​และ​ข่มเหง.

14. เปโตร​ชี้​ให้​เห็น​เหตุ​ผล​อะไร​ที่​คริสเตียน​ถูก​ข่มเหง?

14 อัครสาวก​เปโตร​ให้​ความ​กระจ่าง​เรื่อง​นี้​ใน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ของ​ท่าน ซึ่ง​เขียน​ประมาณ​ปี ส.ศ. 62-64 ขณะ​ที่​คริสเตียน​ตลอด​ทั่ว​จักรวรรดิ​โรมัน​กำลัง​ประสบ​การ​ทดลอง​และ​การ​ข่มเหง. ท่าน​กล่าว​ว่า “พวก​ที่​รัก อย่า​งงงวย​กับ​การ​แผด​เผา​ใน​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย ซึ่ง​บังเกิด​แก่​ท่าน​เพื่อ​เป็น​การ​ทดลอง เสมือน​ว่า​สิ่ง​แปลก​ประหลาด​ได้​เกิด​ขึ้น​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” เพื่อ​จะ​อธิบาย​ว่า​ท่าน​กำลัง​หมาย​ถึง​สิ่ง​ใด เปโตร​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “อย่า​ให้​คน​ใด​ใน​พวก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ทน​ทุกข์​เพราะ​เป็น​ผู้​ฆ่า​คน หรือ​เป็น​คน​ขโมย หรือ​เป็น​คน​ทำ​ชั่ว หรือ​เป็น​คน​ยุ่ง​กับ​ธุระ​ของ​คน​อื่น. แต่​ถ้า​เขา​ทน​ทุกข์​ใน​ฐานะ​เป็น​คริสเตียน อย่า​ให้​เขา​รู้สึก​อาย แต่​ให้​เขา​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระเจ้า​โดย​ชื่อ​นี้​ต่อ ๆ ไป.” เปโตร​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​ที่​พวก​เขา​ทน​ทุกข์​อยู่​นั้น ไม่​ใช่​เพราะ​การ​กระทำ​ผิด แต่​เพราะ​เป็น​คริสเตียน. หาก​พวก​เขา​ลง​ไป “ใน​แอ่ง​โสโครก​ที่​มี​แต่​ความ​เสเพล​อย่าง​เดียว​กัน” กับ​ผู้​คน​ที่​อยู่​ราย​รอบ​เขา คน​เหล่า​นั้น​ก็​จะ​ต้อนรับ​เขา. แต่​จริง ๆ แล้ว พวก​เขา​ทน​ทุกข์​เพราะ​พยายาม​ทำ​ตาม​บทบาท​ของ​ตน​ฐานะ​สาวก​ของ​พระ​คริสต์. สภาพการณ์​ไม่​ต่าง​กัน​สำหรับ​คริสเตียน​แท้​ใน​ทุก​วัน​นี้.—1 เปโตร 4:4, 12, 15, 16, ล.ม.

15. พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​ที่​ขัด​ต่อ​เหตุ​ผล​เช่น​ไร?

15 ใน​หลาย​ส่วน​ของ​โลก พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​จาก​สาธารณชน​ใน​เรื่อง​เอกภาพ​และ​ความ​ร่วม​มือ​กัน​ที่​พวก​เขา​แสดง​ออก​ใน​การ​ประชุม​ใหญ่​และ​ใน​โครงการ​ก่อ​สร้าง​ต่าง ๆ, ใน​เรื่อง​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​ขยัน​ขันแข็ง, ความ​ประพฤติ​อย่าง​มี​ศีลธรรม​และ​ชีวิต​ครอบครัว​อัน​เป็น​แบบ​อย่าง, และ​ยัง​รวม​ไป​ถึง​การ​ปรากฏ​ตัว​และ​มารยาท​ที่​ดี​งาม. * ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง การ​งาน​ของ​พวก​เขา​ถูก​จำกัด​หรือ​สั่ง​ห้าม​ใน​ไม่​น้อย​กว่า 28 ดินแดน​ขณะ​ที่​เขียน​บทความ​นี้ และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​หลาย​คน​ได้​ถูก​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​และ​ประสบ​ความ​สูญ​เสีย​เพราะ​ความ​เชื่อ​ของ​ตน. เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไรกัน​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​ที่​ขัด​ต่อ​เหตุ​ผล​เช่น​นั้น? และ​ทำไม​พระเจ้า​จึง​ยอม​ให้​มี​การ​ข่มเหง​พวก​เขา?

16. อะไร​เป็น​เหตุ​ผล​ประการ​สำคัญ​ที่​สุด​ที่​พระเจ้า​ยอม​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​ประสบ​การ​ข่มเหง?

16 ประการ​แรก​และ​สำคัญ​ที่​สุด เรา​ต้อง​ไม่​ลืม​ถ้อย​คำ​ใน​สุภาษิต 27:11 (ล.ม.) ที่​ว่า “บุตร​ชาย​ของ​เรา​เอ๋ย จง​มี​ปัญญา​และ​ทำ​ให้​หัวใจ​เรา​ปีติ​ยินดี เพื่อ​เรา​จะ​ตอบ​ผู้​ที่​เยาะเย้ย​เรา.” ใช่​แล้ว นี่​เป็น​เพราะ​ประเด็น​เก่า​แก่​ช้า​นาน​เรื่อง​สากล​บรม​เดชานุภาพ. แม้​ว่า​มี​พยาน​หลักฐาน​มาก​มาย​จาก​บรรดา​ผู้​คน​ที่​พิสูจน์​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​มา ซาตาน​ก็​ยัง​ไม่​หยุด​เยาะเย้ย​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ที่​มัน​ทำ​ใน​สมัย​ของ​โยบ​บุรุษ​ผู้​ชอบธรรม. (โยบ 1:9-11; 2:4, 5) ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​ซาตาน​คง​จะ​ใช้​ความ​พยายาม​เฮือก​สุด​ท้าย​อย่าง​สุด​กำลัง​ยิ่ง​กว่า​ที่​เคย​เป็น​มา​เพื่อ​พิสูจน์​คำ​กล่าว​อ้าง​ของ​มัน เนื่อง​จาก​บัด​นี้​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ได้​สถาปนา​ขึ้น​แล้ว​อย่าง​มั่นคง พร้อม​ทั้ง​มี​ตัว​แทน​และ​พลเมือง​ที่​ภักดี​ของ​ราชอาณาจักร​นั้น​อยู่​ตลอด​ทั่ว​โลก. คน​เหล่า​นี้​จะ​ยัง​คง​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระเจ้า​ไหม​ไม่​ว่า​จะ​เผชิญ​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​ใด ๆ ก็​ตาม? นี่​เป็น​คำ​ถาม​ที่​ผู้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​แต่​ละ​คน​จะ​ต้อง​ตอบ​เอง.—วิวรณ์ 12:12, 17.

17. พระ​เยซู​หมายความ​เช่น​ไร​เมื่อ​ตรัส​ว่า “การ​นั้น​จะ​เกิด​แก่​ท่าน​เพื่อ​จะ​ให้​ท่าน​เป็น​พยาน”?

17 เมื่อ​บอก​สาวก​ของ​พระองค์​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​ระหว่าง “ช่วง​อวสาน​ของ​ระบบ​นี้” พระ​เยซู​ชี้​ถึง​เหตุ​ผล​อีก​ประการ​หนึ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​ให้​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ประสบ​การ​ข่มเหง. พระองค์​บอก​พวก​เขา​ว่า “เขา​จะ . . . พา​ท่าน​ไป​ต่อ​หน้า​กษัตริย์​และ​เจ้าเมือง​เพราะ​ท่าน​ถือ​นาม​ของ​เรา. การ​นั้น​จะ​เกิด​แก่​ท่าน​เพื่อ​จะ​ให้​ท่าน​เป็น​พยาน.” (มัดธาย 24:3, 9, ล.ม.; ลูกา 21:12, 13) พระ​เยซู​เอง​ก็​ให้​คำ​พยาน​ต่อ​หน้า​เฮโรด​และ​ปนเตียว ปีลาต. อัครสาวก​เปาโล​ถูก “พา . . . ไป​ต่อ​หน้า​กษัตริย์​และ​เจ้าเมือง” เช่น​กัน. โดย​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า เปาโล​หา​ทาง​ที่​จะ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ผู้​ปกครอง​ที่​มี​อำนาจ​สูง​สุด​ใน​เวลา​นั้น เมื่อ​ท่าน​ประกาศ​ว่า “ข้าพเจ้า​ขอ​ถวาย​ฎีกา​ถึง​ซีซาร์.” (กิจการ 23:11; 25:8-12, ฉบับ​แปล​ใหม่) เช่น​เดียว​กัน​ใน​ทุก​วัน​นี้ บ่อย​ครั้ง​สถานการณ์​ที่​ยุ่งยาก​นำ​ไป​สู่​การ​ให้​คำ​พยาน​เป็น​อย่าง​ดี​ทั้ง​แก่​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง​และ​ต่อ​สาธารณชน. *

18, 19. (ก) การ​รับมือ​กับ​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ จะ​เป็น​ประโยชน์​แก่​เรา​อย่าง​ไร? (ข) จะ​มี​การ​พิจารณา​คำ​ถาม​อะไร​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

18 ประการ​สุด​ท้าย การ​รับมือ​กับ​การ​ทดลอง​และ​ความ​ทุกข์​ลำบาก​ต่าง ๆ เป็น​ประโยชน์​แก่​ตัว​เรา​เอง. ใน​แง่​ใด? สาวก​ยาโกโบ​เตือน​ใจ​เพื่อน​คริสเตียน​ว่า “พี่​น้อง​ของ​ข้าพเจ้า จง​ถือ​ว่า​เป็น​ความ​ยินดี​ทั้ง​สิ้น​เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ประสบ​การ​ทดลอง​ต่าง ๆ เพราะ​อย่าง​ที่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​รู้​อยู่​ว่า คุณภาพ​ของ​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน​ที่​ผ่าน​การ​ทดสอบ​แล้ว​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เพียร​อด​ทน.” ใช่​แล้ว การ​ข่มเหง​สามารถ​ปรับ​ปรุง​ความ​เชื่อ​และ​เสริม​ความ​เพียร​อด​ทน​ของ​เรา. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​จึง​ไม่​ประหวั่น​ที่​จะ​เผชิญ​การ​ข่มเหง และ​ไม่​พยายาม​ใช้​วิธี​การ​ที่​ไม่​เป็น​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​หรือ​ยุติ​การ​ข่มเหง​นั้น. ตรง​กัน​ข้าม เรา​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​ยาโกโบ​ที่​ว่า “ให้​ความ​อด​ทน​กระทำ​การ​จน​สำเร็จ​ครบ​ถ้วน เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​ครบ​ถ้วน​และ​ดี​พร้อม​ไม่​ขาด​ตก​บกพร่อง​เลย.”—ยาโกโบ 1:2-4, ล.ม.

19 แม้​ว่า​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​เหตุ​ผล​ที่​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​ถูก​ข่มเหง และ​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​พระ​ยะโฮวา​จึง​ยอม​ให้​เกิด​ขึ้น แต่​นั่น​อาจ​ไม่​ช่วย​ให้​เรา​รับมือ​กับ​การ​ข่มเหง​ได้​ง่าย​ขึ้น​เสมอ​ไป. อะไร​จะ​เสริม​กำลัง​เรา​ให้​ทน​ต่อ​การ​ข่มเหง​ได้? เรา​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เมื่อ​เผชิญ​การ​ข่มเหง? เรา​จะ​พิจารณา​เรื่อง​สำคัญ ๆ เหล่า​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 ดู​หอสังเกตการณ์ 15 ธันวาคม 1995 หน้า 27-29; 15 เมษายน 1994 หน้า 16-17; และ​ตื่นเถิด! 8 มกราคม 1994 หน้า 6-13.

^ วรรค 17 ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) 8 มกราคม 2003 หน้า 3-11.

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม?

• พระ​เยซู​เป็น​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ใน​ความหมาย​ใด​เป็น​ประการ​สำคัญ?

• การ​ข่มเหง​ส่ง​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก?

• ตาม​ที่​เปโตร​อธิบาย เหตุ​ใด​คริสเตียน​ยุค​แรก​จึง​ถูก​ข่มเหง?

• พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยอม​ให้​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ประสบ​การ​ข่มเหง​ด้วย​เหตุ​ผล​ประการ​ใด​บ้าง?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 10, 11]

คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ทน​ทุกข์ ไม่​ใช่​เพราะ​การ​กระทำ​ผิด แต่​เพราะ​เป็น​คริสเตียน

เปาโล

โยฮัน

อันทีพาส

ยาโกโบ

ซะเตฟาโน