เขียนโดยลูกา 23:1-56
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ซีซาร์: หรือ “จักรพรรดิ” จักรพรรดิโรมันที่ปกครองช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลกคือทิเบริอัส แต่คำว่า “ซีซาร์” ไม่ได้หมายถึงจักรพรรดิที่ปกครองเท่านั้น คำนี้ยังหมายถึงรัฐบาลโรมันและตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งเปาโลเรียกว่า “คนที่มีอำนาจปกครอง” และเปโตรเรียกว่า “กษัตริย์” และ “ผู้ว่าราชการ” ที่กษัตริย์ส่งมา—รม 13:1-7; 1ปต 2:13-17; ทต 3:1; ดูส่วนอธิบายศัพท์
ซีซาร์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 22:17
ผมเป็นอย่างที่คุณพูด: ดูเหมือนว่าคำตอบนี้ของพระเยซูเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ปีลาตพูดเป็นความจริง (เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:25, 64) ถึงแม้พระเยซูจะยอมรับกับปีลาตว่าท่านเป็นกษัตริย์จริง ๆ แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์ในแบบที่ปีลาตคิด เพราะรัฐบาลของท่าน “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้” และไม่ได้เป็นภัยต่อโรม—ยน 18:33-37
คุณเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?: คำถามนี้ที่ปีลาตถามพระเยซูมีบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม (มธ 27:11; มก 15:2; ลก 23:3; ยน 18:33) ในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน ไม่มีใครเป็นกษัตริย์ได้เว้นแต่จะได้รับการเห็นชอบจากซีซาร์ ดังนั้น ดูเหมือนปีลาตสนใจที่จะสอบสวนในประเด็นที่ว่าพระเยซูเป็นกษัตริย์จริงหรือเปล่า
ผมเป็นอย่างที่คุณพูด: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:11
เฮโรด: คือเฮโรดอันทีพาสลูกของเฮโรดมหาราช เขาเป็นผู้ปกครองแคว้นกาลิลีและพีเรีย ลูกาเป็นคนเดียวที่บอกว่าพระเยซูถูกพาตัวไปหาเฮโรด—ลก 3:1; ดูส่วนอธิบายศัพท์
เสื้อคลุมสีแดงเข้ม: เป็นเสื้อคลุมแบบที่กษัตริย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือนายทหารใส่กัน ที่ มก 15:17 และ ยน 19:2 บอกว่าเสื้อคลุมนี้เป็นสีม่วง แต่ในสมัยโบราณ “สีม่วง” อาจหมายถึงทุกเฉดสีที่เกิดจากการผสมระหว่างสีแดงและสีน้ำเงิน นอกจากนั้น มุม แสงสะท้อน และพื้นหลังอาจทำให้คนดูมองเห็นเป็นสีที่แตกต่างกัน การที่พวกผู้เขียนหนังสือข่าวดีพูดถึงสีที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้คัดลอกเรื่องราวของกันและกัน
พวกเขาก็เอาผ้าสีม่วงมาคลุมให้ท่าน: พวกเขาทำอย่างนี้เพื่อเยาะเย้ยและล้อเลียนพระเยซูว่าเป็นกษัตริย์ บันทึกของมัทธิว (27:28) บอกว่าพวกทหารเอา “เสื้อคลุมสีแดงเข้ม” มาใส่ให้พระเยซูซึ่งเป็นเสื้อแบบที่กษัตริย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือนายทหารใส่กัน ส่วนบันทึกของมาระโกและยอห์น (19:2) บอกว่าเสื้อคลุมนี้เป็นสีม่วง แต่ในสมัยโบราณ “สีม่วง” อาจหมายถึงทุกเฉดสีที่เกิดจากการผสมระหว่างสีแดงและสีน้ำเงิน นอกจากนั้น มุม แสงสะท้อน และพื้นหลังอาจทำให้คนดูมองเห็นเป็นสีที่แตกต่างกัน การที่พวกผู้เขียนหนังสือข่าวดีพูดถึงสีที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้คัดลอกเรื่องราวของกันและกัน
เสื้อผ้าหรู ๆ: เป็นไปได้ว่าเฮโรดอันทีพาสผู้ปกครองแคว้นกาลิลีและพีเรียซึ่งอ้างว่าเป็นชาวยิวเอาเสื้อผ้าของเขาเองซึ่งอาจเป็นชุดกษัตริย์สีขาวมาใส่ให้พระเยซูเพื่อจะล้อเลียนว่าท่านเป็นกษัตริย์ชาวยิวก่อนจะส่งตัวท่านกลับไปหาปีลาต คำกรีกที่แปลว่า “เสื้อผ้า” (เอ็สเธส) ในข้อนี้ปกติแล้วหมายถึงชุดยาวหรือเสื้อผ้าที่มีการประดับตกแต่งอย่างหรูหรา ชุดแบบนี้อาจเหมือนกับชุดของทูตสวรรค์ (ลก 24:4; ดู ยก 2:2, 3 ด้วย) และมีการใช้คำกรีกนี้เมื่อพูดถึงเฮโรดอากริปปาที่ 1 ตอนที่เขาแต่ง “ชุดกษัตริย์เต็มยศ” (กจ 12:21) คำกรีกที่แปลว่า “หรู ๆ” (ลามพร็อส) ในข้อนี้มาจากคำที่หมายถึง “เปล่งประกาย” เมื่อใช้คำนี้กับเสื้อผ้าจะหมายถึงเสื้อผ้าเนื้อละเอียดและบางครั้งหมายถึงเสื้อผ้าที่เปล่งประกายหรือเป็นสีขาว เสื้อผ้าแบบนี้อาจต่างจากเสื้อคลุมสีแดงเข้มหรือสีม่วงที่ทหารของปีลาตเอามาสวมให้พระเยซูที่บ้านของผู้ว่าราชการ (มธ 27:27, 28, 31; ยน 19:1, 2, 5; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:28; มก 15:17) ทั้งเฮโรด ปีลาต และพวกทหารโรมันอาจคิดแบบเดียวกันตอนที่เอาเสื้อผ้า 2 แบบนี้มาใส่ให้พระเยซู พวกเขาคงต้องการจะเยาะเย้ยท่านว่าเป็นกษัตริย์ของยิว—ยน 19:3
สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับมีข้อความว่า “เพราะท่านต้องปล่อยคนหนึ่งให้เขาทั้งหลายในเทศกาลเลี้ยงนั้น” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือที่สุดและดูเหมือนไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อความต้นฉบับของหนังสือลูกา ส่วนสำเนาพระคัมภีร์บางฉบับก็เพิ่มข้อความนี้หลังข้อ 19 อย่างไรก็ตาม มีข้อความคล้ายกันอยู่ที่ มธ 27:15 และ มก 15:6 ซึ่งเป็นข้อความที่เชื่อถือได้ เชื่อกันว่าพวกผู้คัดลอกเพิ่มข้อความนี้ลงไปในหนังสือลูกาเพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยบันทึกเหตุการณ์เดียวกันในหนังสือข่าวดีของมัทธิวและมาระโก
ธรรมเนียม . . . ปล่อยตัวนักโทษ: ผู้เขียนหนังสือข่าวดีทั้ง 4 คนบันทึกเรื่องนี้ (มก 15:6-15; ลก 23:16-25; ยน 18:39, 40) ไม่เคยมีการพูดถึงและไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับธรรมเนียมนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่ดูเหมือนว่าพอถึงสมัยพระเยซู ชาวยิวก็เริ่มมีธรรมเนียมนี้แล้ว ธรรมเนียมนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวโรมันเพราะมีหลักฐานว่าพวกเขาเคยปล่อยตัวนักโทษเพื่อเอาใจประชาชน
ปล่อยตัวนักโทษคนหนึ่ง: ผู้เขียนหนังสือข่าวดีทั้ง 4 คนบันทึกเรื่องนี้ (มธ 27:15-23; ลก 23:16-25; ยน 18:39, 40) ไม่เคยมีการพูดถึงและไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับธรรมเนียมนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่ดูเหมือนว่าพอถึงสมัยพระเยซู ชาวยิวก็เริ่มมีธรรมเนียมนี้แล้ว ธรรมเนียมนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวโรมันเพราะมีหลักฐานว่าพวกเขาเคยปล่อยตัวนักโทษเพื่อเอาใจประชาชน
พวกคุณมีธรรมเนียมให้ผมปล่อยนักโทษคนหนึ่ง: มีการพูดถึงธรรมเนียมนี้ใน มธ 27:15 และ มก 15:6 ด้วย ดูเหมือนธรรมเนียมนี้มาจากชาวยิวเพราะปีลาตบอกกับชาวยิวว่า “พวกคุณ มีธรรมเนียม” ถึงแม้ไม่เคยมีการพูดถึงและไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับธรรมเนียมนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่ดูเหมือนว่าพอถึงสมัยพระเยซู ชาวยิวก็เริ่มมีธรรมเนียมนี้แล้ว ธรรมเนียมนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวโรมันเพราะมีหลักฐานว่าพวกเขาเคยปล่อยตัวนักโทษเพื่อเอาใจประชาชน
ปล่อยบารับบัสไป: เหตุการณ์ที่บันทึกใน ลก 23:16-25 มีอยู่ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม (มธ 27:15-23; มก 15:6-15; ยน 18:39, 40) แต่มัทธิว มาระโก และยอห์นบอกเพิ่มเติมว่าในช่วงเทศกาลปัสกาผู้ว่าราชการมีธรรมเนียมปล่อยตัวนักโทษคนหนึ่ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:15; มก 15:6; ยน 18:39
ไซรีน: เมืองที่อยู่ใกล้ชายฝั่งด้านเหนือของแอฟริกา และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะครีต (ดูภาคผนวก ข13) ซีโมนอาจเกิดที่เมืองไซรีนแล้วย้ายมาอยู่ที่อิสราเอล
เสาทรมาน: หรือ “เสาประหาร”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เสา”; “เสาทรมาน”; และดู ลก 9:23; 14:27 ซึ่งมีการใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัย
ตอนที่ต้นไม้ยังเขียวสด . . . ตอนที่ต้นไม้เหี่ยวแห้ง: พระเยซูอาจกำลังพูดถึงชาติยิวว่าเป็นเหมือนต้นไม้ที่กำลังจะตายแต่ก็ยังมีความชุ่มชื้นอยู่บ้างเพราะยังมีพระเยซูและชาวยิวบางส่วนที่เชื่อในท่าน อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานพระเยซูจะถูกประหาร และคนยิวที่ซื่อสัตย์จะถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลของพระเจ้า (รม 2:28, 29; กท 6:16) ตอนนั้นชาติอิสราเอลโดยกำเนิดจะถูกตัดขาดจากพระเจ้าและเป็นเหมือนกับต้นไม้ที่เหี่ยวแห้ง—มธ 21:43
ผู้ร้าย: คำกรีก (คาคู่รก็อส) ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายตรงตัวว่า “คนที่ทำชั่ว” บันทึกเหตุการณ์เดียวกัน ที่ มธ 27:38, 44 และ มก 15:27 เรียก 2 คนนี้ว่า “โจร” ซึ่งมาจากคำกรีก (เล็สเทส) ที่อาจหมายถึงคนที่ปล้นโดยใช้กำลังและบางครั้งก็หมายถึงโจรผู้ร้ายหรือนักปฏิวัติ นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำนี้กับบารับบัสด้วย (ยน 18:40) ซึ่ง ลก 23:19 บอกว่าเขาติดคุกข้อหา “ปลุกระดม” และ “ฆ่าคนตาย”
กลโกธา: มาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “กะโหลก” (ดู ยน 19:17; และเทียบกับ วนฉ 9:53 ซึ่งมีคำฮีบรู กัลโกเลท ที่แปลว่า “กะโหลก”) ในสมัยพระเยซูบริเวณนี้อยู่นอกกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ากลโกธาอยู่ตรงไหน (ดูภาคผนวก ข12) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่ากลโกธาอยู่บนเนิน แต่ก็บอกว่าคนที่มองดูการประหารพระเยซูสามารถเห็นเหตุการณ์นี้ได้จากระยะไกล—มก 15:40; ลก 23:49
กะโหลก: คำกรีก ครานิอู ทอพอน แปลจากคำฮีบรู กลโกธา (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่า กลโกธา ในข้อนี้ และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่าภาษาฮีบรูที่ใช้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2)
กลโกธา: มาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “กะโหลก” (เทียบกับ วนฉ 9:53; 2พก 9:35 ซึ่งมีคำฮีบรู กัลโกเลท ที่แปลว่า “กะโหลก”) ในสมัยพระเยซูบริเวณนี้อยู่นอกกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ากลโกธาอยู่ตรงไหน แต่บางคนเชื่อว่าน่าจะเป็นที่เดียวกับโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ในปัจจุบัน (ดูภาคผนวก ข12) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่ากลโกธาอยู่บนเนิน แต่ก็บอกว่ามีบางคนสามารถเห็นการประหารพระเยซูได้จากระยะไกล—มก 15:40; ลก 23:49
กะโหลก: คำกรีก ครานิออน แปลจากคำฮีบรู กลโกธา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:33; ยน 19:17
ยกโทษให้พวกเขา: ท้องเรื่องไม่ได้บอกว่าพระเยซูขอเพื่อใคร แต่ดูเหมือนท่านคิดถึงฝูงชนที่เรียกร้องให้ประหารท่านซึ่งมีบางคนกลับใจหลังจากนั้นไม่นาน (กจ 2:36-38; 3:14, 15) นอกจากนั้น พระเยซูอาจคิดถึงทหารโรมันที่ตรึงท่านบนเสาซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำร้ายแรงขนาดไหนเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วท่านเป็นใคร อย่างไรก็ตาม พระเยซูคงไม่ได้ขอให้พระยะโฮวาพ่อของท่านยกโทษให้พวกปุโรหิตใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบต่อการตายของท่าน เพราะพวกเขารู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ตอนที่วางแผนฆ่าพระเยซู พวกเขาส่งตัวพระเยซูให้ปีลาตเพราะความอิจฉา (มธ 27:18; มก 15:10; ยน 11:45-53) และพระเยซูก็คงไม่ได้ขอให้พ่อยกโทษให้ผู้ร้ายสองคนที่ถูกตรึงข้าง ๆ ท่าน เพราะพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของท่านเลย
. . . กำลังทำอะไร: ส่วนแรกของข้อนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับ แต่เนื่องจากมีข้อความนี้อยู่ในสำเนาที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ จึงมีการใส่ข้อความนี้ไว้ในฉบับแปลโลกใหม่ และฉบับแปลอื่น ๆ อีกหลายฉบับก็มีข้อความส่วนนี้ด้วย
เหล้าองุ่นเปรี้ยว: หรือ “น้ำส้มสายชูที่ทำจากองุ่น” ดูเหมือนหมายถึงเหล้าองุ่นเจือจางที่มีรสเปรี้ยวซึ่งรู้จักกันในชื่อภาษาละตินว่า อะเซตุม (น้ำส้มสายชู) หรือเป็นเหล้าองุ่นผสมน้ำที่เรียกว่า พอสก้า นี่เป็นเครื่องดื่มราคาถูกสำหรับคนยากจนซึ่งรวมถึงทหารโรมันที่มักจะดื่มตอนกระหายน้ำ นอกจากนั้น ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีก ออคซอส ที่ สด 69:21 ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ว่าจะมีคนเอา “น้ำส้มสายชู” มาให้เมสสิยาห์ดื่ม
เหล้าองุ่นเปรี้ยว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:48
ข้อความติดอยู่เหนือหัวท่าน: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับมีข้อความเพิ่มเติมว่า “(มีคำเขียนไว้) เป็นอักษรกรีก ละติน และฮีบรู” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่ที่เชื่อถือได้ และเชื่อกันว่าพวกผู้คัดลอกได้เพิ่มข้อความนี้เข้ามาเพื่อให้สอดคล้องกับ ยน 19:20
เสา: หรือ “ต้นไม้” คำกรีก คะซูลอน (แปลตรงตัวว่า “ไม้”) ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายเดียวกับคำกรีก สเทารอส (ที่แปลว่า “เสาทรมาน”) และคำนี้ยังใช้เพื่อหมายถึงเครื่องมือประหารที่ใช้ตรึงพระเยซู ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ลูกา เปาโล และเปโตรใช้คำ คะซูลอน ในความหมายแบบนี้รวมกัน 5 ครั้ง (กจ 5:30; 10:39; 13:29; กท 3:13; 1ปต 2:24) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำ คะซูลอน ที่ ฉธบ 21:22, 23 เพื่อแปลคำฮีบรู เอ็ทส์ (มีความหมายว่า “ต้นไม้, ไม้, ไม้ท่อนหนึ่ง”) ในประโยคที่บอกว่า “และคุณเอาศพเขาแขวนไว้บนเสา” ใน กท 3:13 ตอนที่เปาโลยกข้อความจากเฉลยธรรมบัญญัติขึ้นมา เขาก็ใช้คำว่า คะซูลอน ในประโยคที่บอกว่า “ทุกคนที่ถูกแขวนไว้บนเสาก็ถูกสาปแช่ง” นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสร 6:11 (1เอสดรัส 6:31, LXX) เมื่อแปลคำอาระเมอิก เอ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำฮีบรู เอ็ทส์ ในข้อนั้นบอกว่าถ้ามีคนขัดคำสั่งของกษัตริย์เปอร์เซีย “ให้ถอนไม้ท่อนหนึ่ง จากบ้านของคนนั้นออกมาและเอาตัวเขาตรึงไว้บนไม้นั้น” การที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้คำ คะซูลอน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำ สเทารอส ให้หลักฐานที่ชัดเจนว่าพระเยซูถูกประหารบนเสาที่ตั้งตรงโดยไม่มีไม้อีกท่อนพาดขวาง
ตรึง: แปลตรงตัวว่า “แขวน” คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้ไม่ใช่คำว่า สเทารอโอ (“ประหารบนเสา”) แต่เป็นคำว่า คะเระมาน์นูมิ (“แขวน”) และมีการใช้คำนี้คู่กับวลี เอะพิซูลอ (“บนเสาหรือต้นไม้”) เมื่อพูดถึงการประหารพระเยซู (กท 3:13; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:30) ในฉบับเซปตัวจินต์ มักมีการใช้คำกริยานี้เมื่อพูดถึงการแขวนใครคนหนึ่งไว้บนเสาหรือบนต้นไม้—ปฐก 40:19; ฉธบ 21:22; อสธ 8:7
ผมขอบอกคุณวันนี้ว่า: สำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบันใช้ตัวอักษรกรีกที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดโดยไม่มีการเว้นวรรคหรือมีเครื่องหมายวรรคตอนเหมือนภาษาต่าง ๆ ในทุกวันนี้ ถึงแม้ผู้คัดลอกบางคนในสมัยก่อนอาจใส่เครื่องหมายบางอย่างลงในข้อความเพื่อแบ่งวรรคตอน แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำแบบเสมอต้นเสมอปลาย ดังนั้น การแบ่งวรรคตอนในคัมภีร์ไบเบิลทุกวันนี้จึงขึ้นอยู่กับไวยากรณ์ของข้อความภาษากรีกและท้องเรื่อง สำหรับข้อนี้เมื่อดูจากไวยากรณ์ภาษากรีกจะเห็นว่าสามารถแบ่งประโยคหน้าหรือหลังคำว่า “วันนี้” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้แปลเข้าใจคำพูดนี้ของพระเยซูอย่างไรและขึ้นอยู่กับคำสอนโดยรวมในคัมภีร์ไบเบิล ข้อความภาษากรีกที่น่าเชื่อถือหลายฉบับ เช่น ข้อความของเวสคอตต์กับฮอร์ต ของเนสต์เลกับอลันด์ รวมทั้งของสหสมาคมพระคริสตธรรมใส่เครื่องหมายจุลภาคไว้หน้าคำกรีกที่แปลว่า “วันนี้” แต่การใส่เครื่องหมายจุลภาคไว้หลังคำว่า “วันนี้” สอดคล้องกับคำพูดพระเยซูก่อนหน้านี้และคำสอนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า ตัวอย่างเช่น พระเยซูเคยบอกว่าท่านจะตายและต้องอยู่ “อยู่ในหลุมศพ” จนถึงวันที่สาม (มธ 12:40; มก 10:34) พระเยซูยังบอกสาวกหลายครั้งว่าท่านจะถูกฆ่าและจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาในวันที่สาม (ลก 9:22; 18:33) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังบอกว่าพระเยซู “เป็นคนแรกที่ถูกปลุกให้ฟื้นจากตาย” และหลังจากนั้น 40 วันท่านก็กลับไปสวรรค์ (1คร 15:20; ยน 20:17; กจ 1:1-3, 9; คส 1:18) พระเยซูไม่ได้ฟื้นขึ้นจากตายในวันที่ท่านตาย แต่ท่านฟื้นขึ้นมาในวันที่สาม จึงเห็นชัดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ร้ายคนนี้จะได้อยู่ในอุทยานกับพระเยซูในวันที่ท่านสัญญากับเขา
อุทยาน: มาจากคำกรีก พาราเด่ซอส และมีคำคล้ายกันในภาษาฮีบรู (พาร์เดส ที่ นหม 2:8; ปญจ 2:5; พซม 4:13) รวมทั้งในภาษาเปอร์เซีย (ไพรีเดซา) ทั้ง 3 คำมีความหมายหลักว่าสวนที่สวยงาม ผู้แปลฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำกรีก พาราเด่ซอส เพื่อแปลคำฮีบรูที่หมายถึง “สวน” (กาน) เมื่อพูดถึง “สวนเอเดน” ที่ ปฐก 2:8 และพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูบางฉบับแปล ลก 23:43 ว่า “คุณจะได้อยู่กับผมในสวนเอเดน” คำสัญญานี้ที่พระเยซูให้กับผู้ร้ายที่ถูกตรึงอยู่ข้าง ๆ ท่านไม่ได้เป็นการสัญญาว่าเขาจะได้อยู่ใน “อุทยานของพระเจ้า” ที่พูดถึงใน วว 2:7 เพราะพระเยซูให้คำสัญญานั้นกับ “คนที่ได้ชัยชนะ” ซึ่งก็คือคนที่จะได้ปกครองร่วมกับท่านในรัฐบาลสวรรค์ (ลก 22:28-30) แต่ผู้ร้ายคนนี้ไม่ได้ชนะโลกร่วมกับพระเยซูคริสต์และไม่ได้ “เกิดโดยรับบัพติศมาในน้ำและโดยรับพลังของพระเจ้า” (ยน 3:5; 16:33) เขาจึงน่าจะอยู่ในกลุ่ม “คนชั่ว” ซึ่งจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและอยู่ในอุทยานบนโลก โดยมีพระเยซูเป็นกษัตริย์ปกครองเป็นเวลา 1,000 ปี—กจ 24:15; วว 20:4, 6
ราว ๆ 9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
ราว ๆ 9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
ประมาณเที่ยงวัน: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 6”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
มืด: ความมืดนี้เป็นการอัศจรรย์จากพระเจ้า ไม่ใช่เกิดจากสุริยุปราคา เพราะสุริยุปราคาจะเกิดในช่วงวันขึ้นเดือนใหม่ แต่ตอนนั้นเป็นช่วงปัสกาซึ่งดวงจันทร์เต็มดวง นอกจากนั้น ความมืดนี้เกิดขึ้นนานถึง 3 ชั่วโมง แต่สุริยุปราคาเต็มดวงที่นานที่สุดไม่อาจเกิดขึ้นนานขนาดนั้นได้ อย่างมากสุดก็ไม่ถึง 8 นาที บันทึกของลูกาในข้อนี้บอกเพิ่มเติมด้วยว่าตอนนั้น “ไม่มีแสงอาทิตย์”—ลก 23:45
บ่าย 3 โมง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 9”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
ม่าน: ม่านที่ตกแต่งอย่างสวยงามนี้กั้นระหว่างห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุดในวิหาร คำสอนสืบปากของชาวยิวบอกว่าม่านนี้หนักมากและมีความยาวประมาณ 18 เมตร กว้าง 9 เมตร และหนา 7.4 ซม. การที่ม่านขาดแยกเป็นสองส่วน ไม่ได้แสดงถึงความโกรธที่พระยะโฮวามีต่อคนที่ฆ่าลูกชายพระองค์เท่านั้น แต่ยังหมายความด้วยว่าทางที่จะเข้าไปในสวรรค์ได้เปิดออกแล้ว—ฮบ 10:19, 20; ดูส่วนอธิบายศัพท์
ห้องบริสุทธิ์ของวิหาร: คำกรีก นาออส ในข้อนี้หมายถึงส่วนของวิหารซึ่งรวมทั้งห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุด
ม่าน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:51
ห้องบริสุทธิ์ของวิหาร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:51
สิ้นใจตาย: หรือ “หมดลม, หยุดหายใจ” คำว่า “ใจ” (คำกรีก พะนือมา) ในข้อนี้อาจหมายถึง “ลมหายใจ” หรือ “พลังชีวิต” ที่สรุปได้แบบนั้นเพราะบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มก 15:37 ตอนที่พระเยซูสิ้นใจตายมีการใช้คำกริยากรีก เอ็คพะเนะโอ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “หายใจออก” บางคนคิดว่าการใช้คำกรีกที่แปลว่า “สิ้นใจ” หมายความว่าพระเยซูไม่พยายามอีกต่อไปที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะท่านทำทุกอย่างสำเร็จแล้ว (ยน 19:30) ท่านเต็มใจ “ยอมพลีชีวิต”—อสย 53:12; ยน 10:11
ผมขอฝากชีวิตไว้: ในข้อนี้พระเยซูยกข้อความมาจาก สด 31:5 ซึ่งเป็นตอนที่ดาวิดขอให้พระเจ้าปกป้องดูแลชีวิตเขา นี่หมายความว่าตอนที่พระเยซูกำลังจะตาย ท่านฝากชีวิตไว้ให้พระยะโฮวาดูแล ดังนั้น ความหวังที่พระเยซูจะมีชีวิตอีกครั้งในอนาคตขึ้นอยู่กับพระเจ้าเพียงผู้เดียว—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”
สิ้นใจตาย: คำกริยากรีก เอ็คพะเนะโอ (แปลตรงตัวว่า “หายใจออก”) ในข้อนี้ยังอาจแปลได้ว่า “หายใจครั้งสุดท้าย” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:50) คัมภีร์ไบเบิลแสดงชัดเจนว่าตอนที่พระเยซูสิ้นใจตายท่านไม่ได้ไปสวรรค์ทันที พระเยซูบอกล่วงหน้าด้วยตัวเองว่าท่านจะไม่ฟื้นขึ้นจากตายจนกว่าจะถึง “วันที่สาม” (มธ 16:21; ลก 9:22) และอย่างที่บอกใน กจ 1:3, 9 อีก 40 วันหลังจากนั้นท่านก็ขึ้นไปสวรรค์
นายร้อย: คำว่า “นายร้อย” หมายถึงนายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาประมาณ 100 นาย ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่หนังสือมัทธิวและมาระโก นายร้อยคนนี้ยอมรับว่าพระเยซูเป็น “ลูกของพระเจ้า”—มธ 27:54; มก 15:39
โยเซฟ: ผู้เขียนหนังสือข่าวดีแต่ละคนให้รายละเอียดเกี่ยวกับโยเซฟคนละอย่าง มัทธิวซึ่งเป็นคนเก็บภาษีบอกว่าโยเซฟเป็น “เศรษฐี” มาระโกซึ่งเขียนสำหรับชาวโรมันบอกว่าโยเซฟเป็น “สมาชิกสภาผู้มีชื่อเสียง” ที่รอคอยรัฐบาลของพระเจ้า ส่วนลูกาซึ่งเป็นหมอที่มีความเห็นอกเห็นใจบอกว่าโยเซฟ “เป็นคนดีและเชื่อฟังพระเจ้า” และไม่ได้ออกเสียงสนับสนุนให้สภาตัดสินลงโทษพระเยซู และมียอห์นคนเดียวที่บอกว่าโยเซฟเป็น “สาวกคนหนึ่งของพระเยซูที่ไม่เปิดเผยตัวเพราะกลัวพวกยิว”—มธ 27:57-60; มก 15:43-46; ลก 23:50-53; ยน 19:38-42
ศาลแซนเฮดริน: คือศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม คำกรีกที่แปลว่า “แซนเฮดริน” (ซูนเอ็ดริออน ) มีความหมายตรงตัวว่า “นั่งลงกับ” แม้มีการใช้คำนี้ในความหมายทั่ว ๆ ไปเพื่อหมายถึงที่ประชุมหรือการประชุม แต่ในอิสราเอลคำนี้อาจหมายถึงคณะผู้พิพากษาหรือศาลที่ตัดสินคดีทางศาสนา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22 และส่วนอธิบายศัพท์; ดูภาคผนวก ข12 เพื่อจะเห็นตำแหน่งที่น่าจะเป็นศาลแซนเฮดริน
โยเซฟ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:43
สมาชิกคนหนึ่งของสภา: คือสมาชิกของศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:59 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”
อาริมาเธีย: ชื่อของเมืองนี้มาจากคำฮีบรูที่แปลว่า “ความสูง” บันทึกใน ลก 23:51 เรียกเมืองนี้ว่า “เมือง . . . ของชาวยูเดีย”—ดูภาคผนวก ข10
อาริมาเธีย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:57
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก” เป็นห้องหรือช่องที่เจาะเข้าไปในหินปูนเนื้ออ่อน ไม่ได้เป็นถ้ำตามธรรมชาติ ในอุโมงค์แบบนี้มักจะมีชั้นยาวหรือซอกบนผนังที่ใช้วางศพ—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
อุโมงค์ฝังศพ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:60
วันเตรียม: หมายถึงวันก่อนหน้าวันสะบาโตประจำสัปดาห์ ในวันนี้ชาวยิวจะเตรียมตัวสำหรับวันสะบาโตโดยทำอาหารเพิ่มและทำงานต่าง ๆ ที่ต้องทำให้เสร็จก่อนวันสะบาโต วันเตรียมที่พูดถึงในข้อนี้ตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสาน—มก 15:42; ดูส่วนอธิบายศัพท์
วันเตรียม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:62
อุโมงค์: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
วีดีโอและรูปภาพ
นี่เป็นภาพจำลองกระดูกส้นเท้าของมนุษย์ที่ถูกตอกด้วยตะปูเหล็กยาว 11.5 ซม. มีการขุดพบชิ้นส่วนจริงจากยุคโรมันในปี ค.ศ. 1968 ทางตอนเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นนี้ทำให้รู้ว่าอาจมีการใช้ตะปูในการประหารชีวิตคนที่ถูกตรึงบนเสาไม้ ตะปูนี้อาจคล้ายกับตะปูที่ทหารโรมันใช้ตรึงพระเยซูคริสต์บนเสา ชิ้นส่วนนี้ถูกพบในหีบหินซึ่งเป็นกล่องเก็บกระดูกที่แห้งแล้วของคนตายหลังจากเนื้อหนังย่อยสลายไปหมดแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่าคนที่ถูกประหารชีวิตบนเสาอาจได้รับการฝังศพด้วย
ชาวยิวมักจะฝังศพคนตายไว้ในถ้ำหรือห้องที่เจาะเข้าไปในหิน ปกติแล้วอุโมงค์ฝังศพของพวกเขาจะอยู่นอกเมือง ยกเว้นอุโมงค์ของกษัตริย์ อุโมงค์ฝังศพของชาวยิวมักเป็นแบบเรียบง่าย เพราะชาวยิวไม่นมัสการคนตายและไม่เชื่อว่าคนตายแล้วมีวิญญาณที่เป็นอมตะ