กิจการของอัครสาวก 9:1-43
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เซาโล: แปลว่า “ขอ [พระเจ้า]; ถาม [พระเจ้า]” เซาโลยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อโรมันคือเปาโล เขา “อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฮีบรูแท้ที่เกิดจากพ่อแม่ชาวฮีบรู” (ฟป 3:5) เนื่องจากเซาโลเป็นพลเมืองโรมันตั้งแต่เกิด (กจ 22:28) จึงมีเหตุผลที่พ่อแม่ที่เป็นชาวยิวของเขาจะตั้งชื่อโรมันให้เขาด้วย ชื่อโรมันของเขาคือเปาลุสหรือเปาโลที่มีความหมายว่า “เล็ก” เขาน่าจะมี 2 ชื่อนี้ตั้งแต่เด็ก อาจมีเหตุผลหลายอย่างที่พ่อแม่ตั้งชื่อเขาว่าเซาโล เซาโลเป็นชื่อที่มีความสำคัญในหมู่คนตระกูลเบนยามินเพราะกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองอิสราเอลมีชื่อว่าซาอูล (เซาโล) และอยู่ในตระกูลเบนยามิน (1ซม 9:2; 10:1; กจ 13:21) หรือพ่อแม่อาจตั้งชื่อให้เขาเพราะชื่อนี้มีความหมายดี หรือเป็นไปได้ว่าพ่อของเขาก็มีชื่อว่าเซาโลซึ่งปกติแล้วเป็นธรรมเนียมที่จะตั้งชื่อลูกเหมือนชื่อพ่อ (เทียบกับ ลก 1:59) ไม่ว่าจะอย่างไร ตอนที่เขาอยู่กับชาวยิวโดยเฉพาะช่วงที่กำลังเรียนที่จะเป็นฟาริสี หรือตอนที่เป็นฟาริสีแล้วเขาก็น่าจะใช้ชื่อฮีบรูซึ่งก็คือเซาโล (กจ 22:3) และเป็นเวลามากกว่า 10 ปีหลังจากที่เข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังรู้จักเขาในชื่อฮีบรูนี้—กจ 11:25, 30; 12:25; 13:1, 2, 9.
เคยาฟาส: เป็นมหาปุโรหิตที่โรมแต่งตั้ง เคยาฟาสมีความสามารถด้านการทูต เขาอยู่ในตำแหน่งมหาปุโรหิตนานกว่าคนอื่น ๆ ก่อนหน้าเขา เคยาฟาสได้รับการแต่งตั้งประมาณปี ค.ศ. 18 และดำรงตำแหน่งจนถึงประมาณปี ค.ศ. 36 เคยาฟาสเป็นคนที่สอบสวนพระเยซูและส่งท่านไปหาปีลาต (มธ 26:3, 57; ยน 11:49; 18:13, 14, 24, 28) มีเฉพาะในข้อนี้ของหนังสือกิจการที่พูดถึงชื่อของเคยาฟาส ส่วนในข้ออื่น ๆ เรียกเขาว่า “มหาปุโรหิต”—กจ 5:17, 21, 27; 7:1; 9:1
เซาโล: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:58
มหาปุโรหิต: คือ เคยาฟาส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 4:6
แนวทางของพระยะโฮวา: ข้อคัมภีร์ถัดจากข้อนี้ใช้สำนวนคล้ายกันคือ “แนวทางของพระเจ้า” แนวทางชีวิตของคริสเตียนรวมจุดอยู่ที่การนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและการมีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ลูกของพระองค์ ในหนังสือกิจการพูดถึงแนวทางชีวิตแบบนี้โดยใช้แค่คำว่า “ทางนั้น” (กจ 19:9, 23; 22:4; 24:22; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:2) นอกจากนั้น ยังมีสำนวน ‘ทางสำหรับพระยะโฮวา’ 4 ครั้งในหนังสือข่าวดีซึ่งเป็นข้อความที่ยกมาจาก อสย 40:3 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:3; มก 1:3; ลก 3:4; ยน 1:23) และที่ อสย 40:3 ในข้อความภาษาฮีบรูมีการใช้เททรากรัมมาทอนด้วย และยังมีสำนวน “แนวทางของพระยะโฮวา” อยู่ที่ วนฉ 2:22; ยรม 5:4, 5—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 19:23
ทางนั้น: อย่างที่บอกในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:2 มีการใช้คำว่า “ทางนั้น” เพื่อหมายถึงประชาคมคริสเตียนในยุคแรก แนวทางของคริสเตียนแท้เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระเจ้าและการได้รับการชี้นำจากพลังของพระองค์ (ยน 4:23, 24) แนวทางนี้ไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่เห็นภายนอกหรือรูปแบบการนมัสการเท่านั้น พระคัมภีร์ฉบับเพชิตตา ภาษาซีรีแอกใช้คำว่า “แนวทางของพระเจ้า” ส่วนฉบับวัลเกต ภาษาละติน (ฉบับแปลเคลเมนทีน) ใช้คำว่า “แนวทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า” และฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูก็ใช้ชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ซึ่งอ่านว่า “แนวทางของพระยะโฮวา”
จดหมาย: ในศตวรรษแรกมีการใช้จดหมายเพื่อแนะนำตัว เพื่อยืนยันตัวตนหรือยืนยันอำนาจของใครคนหนึ่ง (รม 16:1; 2คร 3:1-3) ชาวยิวในกรุงโรมก็พูดถึงการสื่อสารแบบนี้ด้วย (กจ 28:21) จดหมายที่เซาโลขอให้มหาปุโรหิตเขียนถึงที่ประชุมของชาวยิวในกรุงดามัสกัสก็เพื่ออนุญาตให้เขาข่มเหงคริสเตียนชาวยิวในกรุงนั้น (กจ 9:1, 2) ดูเหมือนนี่เป็นจดหมายที่เซาโลขอให้ที่ประชุมทุกแห่งในกรุงนี้ร่วมมือกับเขาในการรณรงค์ข่มเหงคริสเตียน
ดามัสกัส: ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ในประเทศซีเรีย ว่ากันว่ากรุงดามัสกัสเป็นเมืองหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดที่มีคนอาศัยอยู่มาตลอด อับราฮัมน่าจะเคยเดินทางผ่านเมืองนี้หรือแวะเข้ามาในเมืองนี้ตอนที่เขาเดินทางไปคานาอันที่อยู่ทางใต้ และอับราฮัมมีคนรับใช้คนหนึ่งเป็น “ชาวดามัสกัส” ชื่อเอลีเอเซอร์ “ชาวดามัสกัส” (ปฐก 15:2) เกือบ 1,000 ปีต่อมาก็มีการพูดถึงกรุงดามัสกัสอีกครั้งในคัมภีร์ไบเบิล (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อารัม, ชาวอารัม”) ตอนนั้นเป็นตอนที่ชาวซีเรีย (ชาวอารัม) ทำสงครามกับชาวอิสราเอล และทั้ง 2 ชาติก็เป็นศัตรูกัน (1พก 11:23-25) ในศตวรรษแรก ดามัสกัสเป็นเมืองหนึ่งในแคว้นซีเรียที่อยู่ภายใต้การปกครองของโรม ตอนนั้นกรุงดามัสกัสมีชาวยิวอยู่ประมาณ 20,000 คน และมีที่ประชุมของชาวยิวหลายแห่งด้วย เซาโลอาจตั้งใจข่มเหงคริสเตียนในกรุงนั้น เพราะที่นั่นเป็นทางผ่านไปอีกหลายเมือง และเขากลัวว่าคำสอนของคริสเตียนจะแพร่ไปอย่างรวดเร็วจากกรุงดามัสกัส—ดูภาคผนวก ข13
ทางนั้น: คำนี้ในหนังสือกิจการมีความหมายได้ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือการใช้ชีวิตแบบคริสเตียน และอย่างที่สอง คือประชาคมคริสเตียนในยุคแรก คำนี้อาจมาจากคำพูดของพระเยซูที่ ยน 14:6 ที่บอกว่า “ผมเป็นทางนั้น” คนทั่วไปมักเรียกสาวกของพระเยซูว่าพวก “ทางนั้น” เพราะพวกสาวกเลียนแบบพระเยซูและใช้ชีวิตตามแนวทางของท่าน (กจ 19:9) พระเยซูทุ่มเทชีวิตของท่านให้กับการนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวเท่านั้น นอกจากนั้น เพื่อคริสเตียนจะใช้ชีวิตแบบนี้ได้ พวกเขาก็ต้องมีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ด้วย ไม่นานหลังปี ค.ศ. 44 ที่เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียก็เริ่มมีการเรียกสาวกของพระเยซูว่าเป็น “คริสเตียน . . . ตามการชี้นำจากพระเจ้า” (กจ 11:26) ถึงแม้พวกสาวกจะได้ชื่อว่าเป็นคริสเตียนแล้ว แต่ลูกาก็ยังเรียกประชาคมคริสเตียนว่า “ทางนั้น”—กจ 19:23; 22:4; 24:22; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 18:25; 19:23
ไม่ได้ยินเสียงที่พูด: หรือ “ได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจ” ที่ กจ 9:3-9 ลูกาได้เล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเปาโลตอนที่เขาเดินทางไปกรุงดามัสกัส ดังนั้น เพื่อจะเข้าใจเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจนจะต้องอ่านทั้งบันทึกในกิจการบท 9 และกิจการบท 22 ประกอบกัน อย่างที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:7 คนที่เดินทางไปกับเปาโล “ได้ยินเสียงพูด” แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ยินเสียงเหมือนกับที่เปาโลได้ยิน พวกเขาเลยไม่เข้าใจ แนวคิดนี้สอดคล้องกับการใช้คำกรีกที่แปลว่า“ได้ยิน” ใน กจ 22:7 ที่นั่นเปาโลบอกว่าเขา “ได้ยินเสียงพูด” ซึ่งหมายความว่าเขาทั้งได้ยิน และเข้าใจ เสียงพูดนั้น แต่คนที่ไปกับเปาโลไม่เข้าใจว่าเสียงนั้นพูดว่าอะไร นี่อาจเป็นเพราะเสียงนั้นอู้อี้ไม่ชัดเจน จึงอาจบอกได้ว่าพวกเขา “ไม่ได้ยินเสียงที่พูด”—เทียบกับ มก 4:33; 1คร 14:2 ที่ใช้คำกรีกเดียวกันที่แปลว่า “ได้ยิน” ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ฟัง” หรือ “เข้าใจ”
ได้ยินเสียงพูดนั้น: ที่ กจ 22:6-11 เปาโลได้เล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาตอนที่เขาเดินทางไปกรุงดามัสกัส ถึงแม้ในข้อนั้นบอกว่าคนที่เดินทางไปกับเปาโล “ไม่ได้ยินเสียงที่พูด” แต่ใน กจ 9:7 บอกว่าพวกเขา “ได้ยินเสียงพูด” บันทึกใน 2 บทนั้นใช้คำกรีกเดียวกันคือ โฟเน แต่มีไวยากรณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งคำกรีกนี้อาจหมายถึง “แค่ได้ยินเสียง” หรือ “ได้ยินชัดว่าพูดอะไร” ไวยากรณ์ที่ใช้ในบทนี้ทำให้รู้ว่าหมายถึง “แค่ได้ยินเสียง” (ส่วนไวยากรณ์ที่ใช้ใน กจ 22:9 หมายถึง “พวกเขาไม่ได้ยินว่าพูดอะไร”) ดังนั้น พวกคนที่ไปกับเปาโลได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจว่าพูดอะไรเพราะพวกเขาไม่ได้ยินเสียงนั้นชัดเจน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เขาไม่ได้ยินเสียงพูดเหมือนกับที่เปาโลได้ยิน—กจ 26:14; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 22:9
ถนนที่ชื่อถนนตรง: นี่เป็นที่เดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่พูดถึงชื่อถนน ว่ากันว่าถนนนี้เป็นถนนสายหลักที่ผ่ากลางกรุงดามัสกัสจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก ในศตวรรษแรกกรุงนี้มีผังเมืองเป็นตาราง ถนนตรงมีความยาวประมาณ 1.5 กม. และกว้างประมาณ 26 เมตร ถนนนี้มีทางสำหรับคนเดินและมีเสาเรียงรายอยู่ 2 ข้างทาง ปัจจุบันนี้ยังมีถนนที่วิ่งผ่านย่านเมืองเก่าของดามัสกัสซึ่งเป็นถนนที่ต่อจากถนนตรง ชื่อภาษาละตินของถนนตรงคือเวีย เรคตา
ในนิมิต: มีคำนี้อยู่ในสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่หลายฉบับ
จับตัว: หรือ “จับเข้าคุก” แปลตรงตัวว่า “มัด, กักขัง” ซึ่งก็คือขังไว้ในคุก—เทียบกับ คส 4:3
คนอิสราเอล: หรือ “ลูกหลานอิสราเอล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อิสราเอล”
ตะกร้าใหญ่: หรือ “กระบุง” คำกรีก สพูรีส ที่ใช้ในข้อนี้ดูเหมือนหมายถึงตะกร้าที่มีขนาดใหญ่กว่าตะกร้าที่ใช้ก่อนหน้านี้ตอนพระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 5,000 คน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:20) “ตะกร้า” ที่ศิษย์ของเปาโลให้เขานั่งแล้วหย่อนลงทางช่องหน้าต่างบนกำแพงเมืองดามัสกัสก็มาจากคำกรีกเดียวกันนี้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:25
ตะกร้าใหญ่: ในข้อนี้ลูกาใช้คำกรีก สพูรีส ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่มัทธิวและมาระโกใช้เมื่อพูดถึงตะกร้า 7 ใบที่ใช้เก็บอาหารเหลือหลังจากที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชาย 4,000 คน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 15:37) คำนี้หมายถึงตะกร้าใหญ่หรือกระบุง แต่ตอนที่เปาโลเล่าให้คริสเตียนในเมืองโครินธ์ฟังเกี่ยวกับวิธีที่เขาหนี เขาใช้คำกรีก ซาร์กาเน ที่หมายถึงตะกร้าสาน หรือ “ตะกร้าหวาย” ซึ่งทำมาจากเชือกหรือกิ่งไม้ คำกรีกทั้ง 2 คำนี้สามารถใช้เพื่อหมายถึงตะกร้าใหญ่ชนิดเดียวกัน—2คร 11:32, 33
ใช้ชีวิตตามปกติ: แปลตรงตัวว่า “เข้ามาและออกไป” มาจากสำนวนภาษาเซมิติกที่หมายถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และพบปะผู้คนได้อย่างอิสระ—เทียบกับ ฉธบ 28:6, 19; สด 121:8; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:21
ทำงานรับใช้กับพวกเรา: แปลตรงตัวว่า “เข้ามาและออกไปท่ามกลางพวกเรา” มาจากสำนวนภาษาเซมิติกที่หมายถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตร่วมกับคนอื่น และยังอาจแปลได้ว่า “ใช้ชีวิตอยู่กับพวกเรา”—เทียบกับ ฉธบ 28:6, 19; สด 121:8
คนยิวที่พูดภาษากรีก: แปลตรงตัวว่า “พวกเฮเลน” ดูเหมือนเป็นชาวยิวที่พูดภาษากรีก คนกลุ่มนี้เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มจากที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมัน ที่ กจ 6:1 มีการใช้คำนี้กับคริสเตียน แต่ในท้องเรื่องของข้อนี้แสดงให้เห็นว่าคำนี้ถูกใช้เพื่อหมายถึงชาวยิวที่พูดภาษากรีกที่ไม่ใช่คริสเตียน ศิลาจารึกของทีโอโดทุสซึ่งพบที่เนินเขาโอเฟลในกรุงเยรูซาเล็มให้หลักฐานว่ามีคนยิวที่พูดภาษากรีกจำนวนมากเดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:1
สาวกที่พูดภาษากรีก: แปลตรงตัวว่า “พวกเฮเลน” ไม่มีการใช้คำกรีก เฮ็ลเลนิสเทส เลยในหนังสือทั่วไปของชาวกรีกหรือของชาวยิวที่พูดภาษากรีก แต่ในท้องเรื่องนี้และในพจนานุกรมหลายฉบับสนับสนุนการแปลคำนี้ว่า “สาวกที่พูดภาษากรีก” ในตอนนั้น คริสเตียนทุกคนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มรวมทั้งคนที่พูดภาษากรีกเป็นลูกหลานของชาวยิว หรือเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว (กจ 10:28, 35, 44-48) มีการใช้คำว่า “สาวกที่พูดภาษากรีก” เพื่อแยกให้เห็นว่าเป็นคนละกลุ่มกับ “สาวกที่พูดภาษาฮีบรู” (แปลตรงตัวว่า “พวกฮีบรู” มาจากคำกรีก เฮ็บไรออส) ดังนั้น “พวกเฮเลน” ที่พูดถึงในข้อนี้คือชาวยิวที่พูดภาษากรีก คนกลุ่มนี้เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มจากที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมัน ซึ่งรวมถึงเดคาโปลิสด้วย แต่สาวกที่พูดภาษาฮีบรูส่วนใหญ่อาจเป็นชาวยูเดียและกาลิลี คริสเตียนชาวยิว 2 กลุ่มนี้น่าจะมีพื้นเพภูมิหลังที่แตกต่างกันอยู่บ้าง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:29
ใช้ชีวิตตามแนวทางของพระยะโฮวา: หรือ “ใช้ชีวิตด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา” มีสำนวน “เกรงกลัวพระยะโฮวา” หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งสำนวนนี้มาจากคำฮีบรู 2 คำคือ “เกรงกลัว” และเททรากรัมมาทอน (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ 2พศ 19:7, 9; สด 19:9; 111:10; สภษ 2:5; 8:13; 9:10; 10:27; 19:23; อสย 11:2, 3) แต่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่เคยมีสำนวน “ความเกรงกลัวองค์พระผู้เป็นเจ้า” อยู่เลย ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
ทาบิธา: ทาบิธาเป็นชื่อภาษาอาราเมอิกที่มีความหมายว่า “กวาง” และดูเหมือนว่าชื่อนี้จะตรงกับชื่อฮีบรู (เซไวยา) ที่มีความหมายว่า “กวางตัวเมีย” (พซม 4:5; 7:3) ชื่อนี้ในภาษากรีกคือโดร์คัสก็มีความหมายว่า “กวาง” ด้วย ในเมืองยัฟฟาที่เป็นเมืองท่าซึ่งมีทั้งคนยิวและคนต่างชาติ จึงอาจเป็นไปได้ว่าทาบิธาจะเป็นที่รู้จักทั้งในชื่ออาราเมอิกและชื่อกรีก หรือลูกาอาจแปลชื่อนี้เพื่อให้คนอ่านที่เป็นคนต่างชาติเข้าใจ
เสื้อผ้า: หรือ “เสื้อชั้นนอก” คำกรีก ฮิมาทิออน อาจหมายถึงเสื้อคลุมยาวหลวม ๆ หรือส่วนใหญ่แล้วเป็นแค่ผ้าสี่เหลี่ยมคลุมตัว
ทาบิธา ลุกขึ้นมาเถอะ: ตอนที่เปโตรปลุกทาบิธาเขาทำเหมือนกับตอนที่พระเยซูปลุกลูกสาวไยรอส (มก 5:38-42; ลก 8:51-55) นี่เป็นครั้งแรกที่มีรายงานว่าอัครสาวกปลุกคนให้ฟื้นขึ้นจากตาย ซึ่งทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาเชื่อถือในเมืองยัฟฟา—กจ 9:39-42
ซีโมนช่างฟอกหนัง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 10:6
ซีโมนที่เป็นช่างฟอกหนัง: ช่างฟอกหนังจะฟอกหนังสัตว์โดยใช้น้ำปูนเพื่อกำจัดขน เศษเนื้อและไขมันที่ติดอยู่ แล้วเขาจะใช้แอลกอฮอล์เข้มข้นทำความสะอาดหนังสัตว์เพื่อจะสามารถนำมาทำเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ ขั้นตอนการฟอกหนังเหม็นมากและต้องใช้น้ำจำนวนมาก นี่อาจเป็นเหตุผลที่ซีโมนมีบ้านอยู่ริมทะเล ซึ่งน่าจะอยู่ในพื้นที่รอบนอกของเมืองยัฟฟา ตามกฎหมายของโมเสสคนที่ทำงานเกี่ยวกับซากสัตว์จะไม่สะอาดในสายตาของพระเจ้า (ลนต 5:2; 11:39) ดังนั้น คนยิวหลายคนดูถูกช่างฟอกหนังและไม่อยากพักที่บ้านของพวกเขา ที่จริง ในเวลาต่อมาคัมภีร์ทัลมุดกำหนดให้อาชีพช่างฟอกหนังเป็นอาชีพที่ต่ำกว่าคนเก็บมูลสัตว์ แต่เปโตรไม่มีอคติแบบนั้นและเขาก็พักที่บ้านของซีโมน การที่เขาเต็มใจทำแบบนั้นเป็นการเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับงานมอบหมายที่กำลังจะได้รับ ซึ่งก็คือการไปหาคนต่างชาติที่บ้าน นักวิชาการบางคนคิดว่าคำภาษากรีกสำหรับ “ช่างฟอกหนัง” (บูร์ซืส) น่าจะเป็นฉายาของซีโมน
วีดีโอและรูปภาพ

กรุงดามัสกัสในศตวรรษแรกน่าจะมีผังเมืองเหมือนในภาพนี้และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ การมีน้ำจากแม่น้ำบาราดา (แม่น้ำอาบานาที่พูดถึงใน 2พก 5:12) หล่อเลี้ยงอยู่ทำให้กรุงนี้เป็นเหมือนโอเอซิส กรุงดามัสกัสมีที่ประชุมของชาวยิวหลายแห่ง เซาโลมาที่กรุงนี้เพื่อ “จะได้จับกุมใครก็ตามที่ถือทางนั้น” ซึ่งก็คือสาวกของพระเยซู (กจ 9:2; 19:9, 23; 22:4; 24:22) แต่ระหว่างทางไปกรุงดามัสกัส พระเยซูที่กลับไปสวรรค์แล้วมาปรากฏตัวต่อเซาโล หลังจากนั้น เซาโลก็พักอยู่ที่บ้านของยูดาสในกรุงดามัสกัสซึ่งอยู่ที่ถนนตรง (กจ 9:11) ในนิมิต พระเยซูสั่งให้สาวกอานาเนียไปที่บ้านของยูดาสเพื่อช่วยให้เซาโลมองเห็นอีกครั้ง แล้วเซาโลก็รับบัพติศมา ดังนั้น แทนที่เซาโลจะไปจับคริสเตียนชาวยิว เขากลับเข้ามาเป็นคริสเตียนแทน เขาเริ่มประกาศข่าวดีเต็มเวลาในที่ประชุมต่าง ๆ ของชาวยิวในกรุงดามัสกัส หลังจากนั้น เซาโลก็เดินทางไปแถบอาหรับและกลับมาที่กรุงดามัสกัส จากนั้นเขาก็กลับไปที่กรุงเยรูซาเล็มประมาณปี ค.ศ. 36—กจ 9:1-6, 19-22; กท 1:16, 17
ก. กรุงดามัสกัส
1. ถนนไปกรุงเยรูซาเล็ม
2. ถนนที่ชื่อถนนตรง
3. อากอรา
4. วิหารจูปิเตอร์
5. โรงละคร
6. โรงแสดงดนตรี (?)
ข. กรุงเยรูซาเล็ม

เซาโลล้มลงกับพื้นบนถนนใกล้กรุงดามัสกัส แสงสว่างจ้าที่ส่องมาจากฟ้าทำให้เขาตาบอด เขาได้ยินเสียงพูดว่า “เซาโล เซาโล คุณข่มเหงผมทำไม?” (กจ 9:3, 4; 22:6-8; 26:13, 14) เซาโลวางแผนที่จะจับพวกสาวกของพระเยซูในกรุงดามัสกัสและเอาตัวไปสอบสวนที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่พระเยซูขัดขวางแผนการนี้ การเดินทางไกลประมาณ 240 กม. จากกรุงเยรูซาเล็มของเซาโลจึงไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคาดหวังไว้ สิ่งที่พระเยซูพูดกับเซาโล (ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อโรมันคือเปาโล) เปลี่ยนเขาจากผู้ข่มเหงคริสเตียนให้กลายเป็นคนหนึ่งที่ปกป้องศาสนาคริสเตียนอย่างกล้าหาญที่สุด หนังสือกิจการบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับงานรับใช้ที่กระตือรือร้นของเปาโล

เมืองทาร์ซัสเป็นบ้านเกิดของเซาโล (ภายหลังคืออัครสาวกเปาโล) เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของแคว้นซิลีเซีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไมเนอร์ และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตุรกีในปัจจุบัน (กจ 9:11; 22:3) เมืองทาร์ซัสเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และอยู่บนเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญซึ่งเชื่อมระหว่างทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก เส้นทางสายนี้ตัดผ่านเทือกเขาทอรัสและช่องเขาซิลีเซียน (ช่องเขาแคบ ๆ ที่มีถนนให้รถม้าผ่านได้) นอกจากนั้น เมืองทาร์ซัสยังตั้งอยู่ที่อ่าวซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำซิดนัสกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองนี้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกรีกและมีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ ภาพนี้แสดงให้เห็นซากปรักหักพังสมัยโบราณของเมืองทาร์ซัสซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ยังคงใช้ชื่อเดิม ชุมชนนี้ตั้งอยู่ห่างจากจุดที่แม่น้ำซิดนัสไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนประมาณ 16 กม. ตลอดประวัติศาสตร์มีคนที่มีชื่อเสียงหลายคนไปที่เมืองทาร์ซัส เช่น มาร์ก แอนโทนี คลีโอพัตรา จูเลียสซีซาร์ และจักรพรรดิอีกหลายองค์ ซิเซโรรัฐบุรุษและนักเขียนชาวโรมันเป็นผู้ว่าราชการของเมืองนี้ระหว่างปี 51-50 ก่อน ค.ศ. เมืองทาร์ซัสเป็นศูนย์กลางการศึกษาในศตวรรษแรก และสตราโบนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกก็บอกไว้ว่าการศึกษาของเมืองนี้มีชื่อเสียงโดดเด่นกว่ากรุงเอเธนส์และเมืองอเล็กซานเดรียด้วยซ้ำ นี่เป็นเหตุผลที่เปาโลบอกว่าเมืองทาร์ซัสเป็น “เมืองที่ใคร ๆ ก็รู้จัก”—กจ 21:39

เครือข่ายถนนของโรมันช่วยคริสเตียนในยุคแรกให้ประกาศข่าวดีไปทั่วจักรวรรดิ อัครสาวกเปาโลคงต้องเดินทางไกลโดยใช้ถนนเหล่านี้แน่ ๆ (คส 1:23) ภาพนี้แสดงให้เห็นวิธีที่ชาวโรมันสร้างถนนที่ปูด้วยหิน ก่อนอื่นจะมีการกำหนดแนวถนน จากนั้นก็จะขุดร่องถนนและถมร่องเป็นชั้น ๆ ด้วยหิน ปูน และทราย จากนั้น คนงานจะปูผิวถนนด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่ แล้วจะใส่ขอบหินด้านข้างเพื่อไม่ให้ผิวถนนเคลื่อนที่หรือหลุด ทั้งวัสดุที่ใช้และความโค้งของผิวถนนช่วยระบายน้ำออกจากถนน มีการเจาะช่องระบายน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำไหลลงร่องระบายน้ำที่อยู่ด้านข้าง ชาวโรมันสร้างถนนได้ดีมากจนบางสายยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ถนนส่วนใหญ่ในจักรวรรดิโรมันไม่ได้สร้างอย่างดีขนาดนี้ ถนนส่วนใหญ่ทำมาจากหินก้อนเล็ก ๆ ที่อัดแน่น

ภาพที่เห็นอยู่นี้คือศิลาจารึกของทีโอโดทุสซึ่งเป็นแผ่นหินปูนที่มีข้อความจารึก แผ่นหินนี้กว้าง 42 ซม. ยาว 72 ซม. ศิลานี้ถูกพบตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่เนินเขาโอเฟลในกรุงเยรูซาเล็ม ข้อความบนศิลานี้เขียนเป็นภาษากรีก และพูดถึงทีโอโดทุสซึ่งเป็นปุโรหิตที่ “สร้างที่ประชุมของชาวยิวเพื่อเป็นที่อ่านและสอนกฎหมายของโมเสส” ข้อความจารึกนี้ทำขึ้นก่อนกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70 และให้หลักฐานว่ามีชาวยิวที่พูดภาษากรีกอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษแรก (กจ 6:1) บางคนเชื่อว่าที่ประชุมของชาวยิวแห่งนี้เป็นที่เดียวกับที่เรียกกันว่า “ที่ประชุมของเสรีชน” (กจ 6:9) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสและพ่อกับปู่ของเขามีตำแหน่ง อาร์ฆีซูนาโกกอส (“หัวหน้าที่ประชุมของชาวยิว”) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงหลายครั้ง (มก 5:35; ลก 8:49; กจ 13:15; 18:8, 17) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสสร้างที่พักสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นชาวยิวที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม โดยเฉพาะคนที่มาร่วมเทศกาลสำคัญประจำปี—กจ 2:5

วีดีโอนี้แสดงให้เห็นท่าเรือของเมืองยัฟฟาที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอยู่ตรงกลางระหว่างภูเขาคาร์เมลกับเมืองกาซา เมืองยัฟฟาปัจจุบันมีชื่อว่าเมืองยาโฟที่รวมเข้าเป็นเมืองเดียวกับกรุงเทลอาวีฟในปี ค.ศ.1950 และในทุกวันนี้เมืองเทลอาวีฟ-ยาโฟก็ตั้งอยู่ในที่ที่เคยเป็นเมืองเก่า เมืองยัฟฟาตั้งอยู่บนเนินเขาหินที่สูงประมาณ 35 เมตร อ่าวของเมืองนี้เป็นลานหินที่ลาดต่ำและมีระยะประมาณ 100 เมตรจากฝั่ง ตอนที่มีการสร้างวิหารของโซโลมอน ชาวไทระตัดไม้จากป่าเลบานอนและมัดติดกันเป็นแพแล้วล่องลงมาที่เมืองยัฟฟา (2พศ 2:16) ต่อมาในสมัยผู้พยากรณ์โยนาห์ เขาก็เคยหนีงานมอบหมายไปที่เมืองยัฟฟาเพื่อจะขึ้นเรือไปเมืองทาร์ชิช (ยนา 1:3) ในศตวรรษแรก มีประชาคมคริสเตียนในเมืองยัฟฟา และโดร์คัส (ทาบิธา) ที่เปโตรปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายก็อยู่ในประชาคมนั้นด้วย (กจ 9:36-42) เปโตรก็เคยพักอยู่ที่บ้านของซีโมนช่างฟอกหนังในเมืองยัฟฟาตอนที่เขาเห็นนิมิตที่ให้ไปประกาศกับโคร์เนลิอัสที่เป็นคนต่างชาติ—กจ 9:43; 10:6, 9-17

บ้านบางหลังในอิสราเอลมีห้องชั้นบน คนที่จะขึ้นไปห้องชั้นบนอาจใช้บันไดพาดหรือบันไดไม้ที่อยู่ในบ้าน หรือเขาอาจใช้บันไดหินหรือบันไดพาดที่อยู่นอกตัวบ้าน ในห้องชั้นบนขนาดใหญ่ซึ่งอาจคล้ายกับในรูปนี้ พระเยซูได้ฉลองปัสกาครั้งสุดท้ายกับพวกสาวกและตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ (ลก 22:12, 19, 20) ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 สาวกประมาณ 120 คนก็น่าจะอยู่ในห้องชั้นบนของบ้านหลังหนึ่งในกรุงเยรูซาเล็มตอนที่พระเจ้าเทพลังบริสุทธิ์ลงมาบนพวกเขา—กจ 1:15; 2:1-4

ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เสื้อผ้าถือเป็นสมบัติส่วนตัวที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง โดร์คัสทำ “เสื้อผ้า” มากมายให้พวกแม่ม่าย (กจ 9:39) คำกรีกที่แปลว่า “เสื้อผ้า” (ฆิโทน) หมายถึงชุดยาว และบางครั้งก็อาจแปลได้ว่า “เสื้อตัวใน” (หมายเลข 1) ตามธรรมเนียมของกรีกและโรมัน พวกผู้ชายมักจะใส่ชุดที่ยาวประมาณเข่า ส่วนพวกผู้หญิงมักใส่ชุดที่ยาวถึงข้อเท้า ยังมีคำกรีกอีกคำหนึ่งที่แปลว่า “เสื้อผ้า” คือ ฮิมาทิออน คำนี้แปลได้ด้วยว่า “เสื้อชั้นนอก” (หมายเลข 2) และหมายถึงเสื้อคลุมที่ใส่ทับชุดยาวหรือเสื้อตัวใน