เขียนโดยมาระโก 15:1-47

15  พอ​ถึง​ตอน​เช้า สมาชิก​ทุก​คน​ของ​ศาล​แซนเฮดริน คือ พวก​ปุโรหิต​ใหญ่ พวก​ผู้​นำ​ชาว​ยิว และ​พวก​ครู​สอน​ศาสนา ก็​มา​ประชุม​ปรึกษา​กัน+ พวก​เขา​มัด​พระ​เยซู​และ​ส่ง​ตัว​ให้​ปีลาต+  ปีลาต​จึง​ถาม​พระ​เยซู​ว่า “คุณ​เป็น​กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว​หรือ?”+ พระ​เยซู​ตอบ​ว่า “ผม​เป็น​อย่าง​ที่​คุณ​พูด”+  พวก​ปุโรหิต​ใหญ่​ก็​กล่าวหา​พระ​เยซู​หลาย​เรื่อง+  ปีลาต​ถาม​อีก​ว่า “คุณ​จะ​ไม่​แก้​ตัว​อะไร​เลย​หรือ?+ ดู​สิ พวก​เขา​กล่าวหา​คุณ​ตั้ง​หลาย​เรื่อง”+  แต่​พระ​เยซู​ไม่​ตอบ​อะไร​เลย ทำ​ให้​ปีลาต​แปลก​ใจ​มาก+  ตาม​ปกติ ใน​ช่วง​เทศกาล​ปัสกา* ปีลาต​จะ​ปล่อย​ตัว​นัก​โทษ​คน​หนึ่ง​ตาม​ที่​ประชาชน​ร้อง​ขอ+  ตอน​นั้น​มี​คน​หนึ่ง​ชื่อ​บารับบัส​ถูก​ขัง​คุก​อยู่​กับ​พวก​นัก​ปลุกระดม เพราะ​พวก​เขา​ฆ่า​คน​ตาย​ตอน​ที่​ก่อ​จลาจล  ประชาชน​ก็​มา​ร้อง​ขอ​ปีลาต​ให้​ปล่อย​นัก​โทษ​อย่าง​ที่​เขา​เคย​ทำ​มา  ปีลาต​จึง​ถาม​พวก​เขา​ว่า “อยาก​ให้​ปล่อย​ตัว​กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว​ไหม?”+ 10  ที่​ถาม​อย่าง​นั้น​เพราะ​ปีลาต​รู้​ว่า​พวก​ปุโรหิต​ใหญ่​ส่ง​ตัว​พระ​เยซู​มา​เพราะ​ความ​อิจฉา+ 11  แต่​พวก​ปุโรหิต​ใหญ่​ยุยง​ประชาชน​ให้​ขอ​ปีลาต​ปล่อย​ตัว​บารับบัส​แทน+ 12  ปีลาต​จึง​ถาม​อีก​ว่า “ถ้า​อย่าง​นั้น จะ​ให้​ทำ​อะไร​กับ​คน​นี้​ที่​พวก​คุณ​เรียก​ว่า​กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว?”+ 13  พวก​เขา​ตะโกน​ตอบ​ว่า “ตรึง​เขา​บน​เสา!”*+ 14  ปีลาต​ถาม​พวก​เขา​อีก​ครั้ง​ว่า “ทำไม​ล่ะ? เขา​ทำ​ผิด​อะไร?” แต่​พวก​นั้น​ยิ่ง​ตะโกน​ดัง​ขึ้น​อีก​ว่า “ตรึง​เขา​บน​เสา!”*+ 15  ปีลาต​ต้องการ​จะ​เอา​ใจ​ประชาชน​จึง​ปล่อย​ตัว​บารับบัส​ให้​พวก​เขา และ​สั่ง​ทหาร​ให้​เฆี่ยน​พระ​เยซู+แล้ว​เอา​ไป​ประหาร​บน​เสา+ 16  พวก​ทหาร​นำ​ตัว​พระ​เยซู​เข้า​ไป​ที่​ลาน​บ้าน​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ และ​เรียก​ทหาร​ทั้ง​กอง​มา+ 17  จาก​นั้น พวก​เขา​ก็​เอา​ผ้า​สี​ม่วง​มา​คลุม​ให้​ท่าน เอา​หนาม​สาน​เป็น​มงกุฎ​มา​สวม​ให้+ 18  และ​พา​กัน​ล้อเลียน​ท่าน​ว่า “ขอ​คำนับ​กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว” 19  แล้ว​พวก​เขา​ก็​เอา​ไม้​อ้อ​ตี​หัว​ท่าน ถุย​น้ำลาย​ใส่ และ​ทำ​เป็น​คุกเข่า​ลง​คำนับ​ท่าน 20  เมื่อ​ล้อเลียน​จน​พอ​ใจ​แล้ว พวก​เขา​ก็​ถอด​ผ้า​คลุม​สี​ม่วง​ออก ใส่​เสื้อ​ผ้า​ชุด​เดิม​ให้ แล้ว​นำ​ตัว​พระ​เยซู​ไป​ตรึง​บน​เสา+ 21  มี​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ซีโมน​ชาว​ไซรีน​เดิน​จาก​นอก​เมือง​ผ่าน​มา​ทาง​นั้น​พอ​ดี เขา​เป็น​พ่อ​ของ​อเล็กซานเดอร์​กับ​รูฟัส พวก​ทหาร​ก็​สั่ง​ซีโมน​ให้​แบก*​เสา​ทรมาน​ของ​พระ​เยซู+ 22  พวก​เขา​พา​พระ​เยซู​มา​ถึง​ที่​แห่ง​หนึ่ง​ชื่อ​กลโกธา ซึ่ง​แปล​ว่า​กะโหลก+ 23  พวก​เขา​เอา​เหล้า​องุ่น​ผสม​มดยอบ​ซึ่ง​ทำ​ให้​ง่วง​ซึม​ให้​พระ​เยซู​ดื่ม+ แต่​ท่าน​ไม่​ยอม​ดื่ม 24  แล้ว​พวก​เขา​ก็​ตรึง​พระ​เยซู​บน​เสา และ​เอา​เสื้อ​ชั้น​นอก​ของ​ท่าน​มา​จับ​ฉลาก แล้ว​แบ่ง​กัน​ว่า​ใคร​จะ​ได้​ส่วน​ไหน+ 25  พวก​เขา​ตรึง​พระ​เยซู​ตอน 9 โมง​เช้า 26  และ​เขียน​ข้อ​กล่าวหา​ไว้​ว่า “กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว”+ 27  พวก​เขา​ตรึง​โจร 2 คน​ไว้​บน​เสา​พร้อม​กับ​พระ​เยซู​ด้วย ข้าง​ขวา​คน​หนึ่ง​และ​ข้าง​ซ้าย​คน​หนึ่ง+ 28  —— 29  ผู้​คน​ที่​เดิน​ผ่าน​ไป​มา​ส่าย​หัว​และ​พูด​ดูถูก​พระ​เยซู+ว่า “อ้าว​ไหน​ล่ะ คน​ที่​จะ​ทำลาย​วิหาร​แล้ว​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​ภาย​ใน 3 วัน+ 30  ช่วย​ตัว​เอง​ลง​มา​จาก​เสา​ทรมาน​ให้​ได้​ก่อน​เถอะ” 31  พวก​ปุโรหิต​ใหญ่​กับ​พวก​ครู​สอน​ศาสนา​ก็​เยาะเย้ย​ถากถาง​พระ​เยซู​แบบ​เดียว​กัน และ​พูด​กัน​ว่า “เขา​ช่วย​คน​อื่น​ได้ แต่​เอา​ตัว​เอง​ไม่​รอด+ 32  ให้​พระ​คริสต์ กษัตริย์​ของ​อิสราเอล​ลง​มา​จาก​เสา​ทรมาน​ให้​เรา​เห็น​เดี๋ยว​นี้​สิ พวก​เรา​จะ​ได้​เชื่อ​เขา”+ แม้​แต่​โจร​ที่​ถูก​ตรึง​บน​เสา​ข้าง ๆ ก็​ยัง​พูด​จา​ดูถูก​พระ​เยซู​ด้วย+ 33  ตอน​เที่ยง​วัน ท้องฟ้า​ก็​มืด​ไป​ทั่ว​แผ่นดิน*​จน​ถึง​เวลา​บ่าย 3 โมง+ 34  พอ​ถึง​บ่าย 3 โมง พระ​เยซู​ร้อง​เสียง​ดัง​ว่า “เอลี เอลี ลามา​สะบักธานี?” ซึ่ง​แปล​ว่า “พระเจ้า พระเจ้า​ของ​ผม ทำไม​ทิ้ง​ผม​ไป?”+ 35  เมื่อ​บาง​คน​ที่​ยืน​อยู่​ตรง​นั้น​ได้​ยิน​ก็​พูด​ว่า “ดู​สิ เขา​กำลัง​เรียก​เอลียาห์” 36  มี​คน​หนึ่ง​รีบ​วิ่ง​ไป​เอา​ฟองน้ำ​ชุบ​เหล้า​องุ่น​เปรี้ยว​เสียบ​กับ​ไม้​อ้อ แล้ว​ส่ง​ให้​พระ​เยซู+และ​พูด​ว่า “คอย​ดู​สิ​ว่า​เอลียาห์​จะ​มา​ช่วย​เขา​ลง​จาก​เสา​ไหม” 37  แต่​พระ​เยซู​ร้อง​เสียง​ดัง​แล้ว​ก็​สิ้น​ใจ​ตาย+ 38  ใน​ตอน​นั้น​เอง ม่าน​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ของ​วิหาร+ขาด​แยก​เป็น​สอง​ส่วน​จาก​บน​ลง​ล่าง+ 39  เมื่อ​นาย​ร้อย​ที่​เฝ้า​ดู​อยู่​เห็น​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ที่​พระ​เยซู​กำลัง​จะ​ตาย ก็​พูด​ว่า “คน​นี้​เป็น​ลูก​ของ​พระเจ้า​จริง ๆ ด้วย”+ 40  ที่​นั่น​มี​ผู้​หญิง​หลาย​คน​มอง​ดู​เหตุ​การณ์​อยู่​ห่าง ๆ มารีย์​มักดาลา มารีย์​ที่​เป็น​แม่​ของ​ยากอบ​น้อย​กับ​โยเสส และ​สะโลเม​ก็​อยู่​ใน​กลุ่ม​นั้น​ด้วย+ 41  พวก​เธอ​ติด​ตาม​รับใช้​พระ​เยซู+มา​ตั้ง​แต่​แคว้น​กาลิลี และ​ยัง​มี​ผู้​หญิง​อื่น​อีก​หลาย​คน​ที่​ขึ้น​มา​กรุง​เยรูซาเล็ม​พร้อม​กับ​ท่าน 42  วัน​นั้น​เป็น​วัน​เตรียม​ซึ่ง​เป็น​วัน​ก่อน​สะบาโต พอ​ถึง​ตอน​บ่าย​แก่ ๆ 43  โยเซฟ​จาก​เมือง​อาริมาเธีย​ก็​รวบ​รวม​ความ​กล้า​และ​ไป​ขอ​ศพ​พระ​เยซู+จาก​ปีลาต โยเซฟ​เป็น​สมาชิก​สภา​ผู้​มี​ชื่อเสียง และ​รอ​คอย​รัฐบาล*ของ​พระเจ้า​อยู่ 44  แต่​ปีลาต​สงสัย​ว่า​พระ​เยซู​ตาย​จริง​ไหม จึง​เรียก​นาย​ร้อย​มา​ถาม​ดู​ว่า​พระ​เยซู​ตาย​หรือ​ยัง 45  เมื่อ​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​จาก​นาย​ร้อย​แล้ว ปีลาต​จึง​ให้​โยเซฟ​มา​เอา​ศพ​ไป​ได้ 46  จาก​นั้น โยเซฟ​ก็​ซื้อ​ผ้า​ลินิน​เนื้อ​ดี​มา เอา​ศพ​พระ​เยซู​ลง​จาก​เสา เอา​ผ้า​ลินิน​มา​พัน และ​วาง​ศพ​ไว้​ใน​อุโมงค์​ฝัง​ศพ+ที่​เจาะ​ไว้​แล้ว​ใน​หิน แล้ว​กลิ้ง​หิน​ก้อน​หนึ่ง​ปิด​ปาก​อุโมงค์​ไว้+ 47  แต่​มารีย์​มักดาลา​กับ​มารีย์​ที่​เป็น​แม่​ของ​โยเสส​ยัง​คง​เฝ้า​ดู​อุโมงค์​ฝัง​ศพ​นั้น​ต่อ​ไป+

เชิงอรรถ

หรือ “ใน​แต่​ละ​เทศกาล”
หรือ “ประหาร​เขา​บน​เสา”
หรือ “ประหาร​เขา​บน​เสา”
หรือ “ยก”
แปล​ตรง​ตัว​ว่า “โลก”
หรือ “ราชอาณาจักร”

ข้อมูลสำหรับศึกษา

ศาล​แซนเฮดริน: คือ​ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม คำ​กรีก​ที่​แปล​ว่า “แซนเฮดริน” (ซูนเอ็ดริออน ) มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “นั่ง​ลง​กับ” แม้​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​ทั่ว​ ๆ ไป​เพื่อ​หมาย​ถึง​ที่​ประชุม​หรือ​การ​ประชุม แต่​ใน​อิสราเอล​คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​คณะ​ผู้​พิพากษา​หรือ​ศาล​ที่​ตัดสิน​คดี​ทาง​ศาสนา—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 5:22 และส่วน​อธิบาย​ศัพท์; ดู​ภาค​ผนวก ข​12 เพื่อ​จะ​เห็น​ตำแหน่ง​ที่​น่า​จะ​เป็น​ศาล​แซนเฮดริน

ศาล​แซนเฮดริน: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 26:59

ปีลาต: ผู้​ว่า​ราชการ​โรมัน​ที่​ปกครอง​แคว้น​ยูเดีย​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​โดย​จักรพรรดิ​ทิเบริอัส​ใน​ปี ค.ศ. 26 ปีลาต​ปกครอง​ประมาณ 10 ปี นัก​เขียน​หนังสือ​ทั่ว​ไป​พูด​ถึง​ปีลาต​ด้วย ซึ่ง​รวม​ถึง​ทาซิทุส​นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​โรมัน​ที่​บันทึก​ว่า​ปีลาต​เป็น​คน​สั่ง​ประหาร​พระ​เยซู​ใน​ช่วง​ที่​ทิเบริอัส​เป็น​จักรพรรดิ มี​การ​พบ​คำ​จารึก​ภาษา​ละติน​ใน​โรง​ละคร​โรมัน​สมัย​โบราณ​ใน​เมือง​ซีซาเรีย​ประเทศ​อิสราเอล​ที่​บอก​ว่า “ปอนทิอัส​ปีลาต ผู้​ว่า​ราชการ​แคว้น​ยูเดีย”—ดูภาค​ผนวก ข​10 เพื่อ​จะ​เห็น​เขต​ปกครอง​ของ​ปอนทิอัส​ปีลาต

คุณ​เป็น​กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว​หรือ?: ใน​ประเทศ​ต่าง​ ๆ ที่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน ไม่​มี​ใคร​เป็น​กษัตริย์​ได้​เว้น​แต่​จะ​ได้​รับ​การ​เห็น​ชอบ​จาก​ซีซาร์ ดัง​นั้น ดู​เหมือน​ปีลาต​สนใจ​ที่​จะ​สอบสวน​ใน​ประเด็น​ที่​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​กษัตริย์​จริง​หรือ​เปล่า

ผม​เป็น​อย่าง​ที่​คุณ​พูด: ดู​เหมือน​ว่า​คำ​ตอบ​นี้​ของ​พระ​เยซู​เป็น​การ​ยืน​ยัน​ว่า​สิ่ง​ที่​ปีลาต​พูด​เป็น​ความ​จริง (เทียบ​กับ​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 26:25, 64) ถึง​แม้​พระ​เยซู​จะ​ยอม​รับ​กับ​ปีลาต​ว่า​ท่าน​เป็น​กษัตริย์​จริง​ ๆ แต่​ท่าน​ก็​ไม่​ได้​เป็น​กษัตริย์​ใน​แบบ​ที่​ปีลาต​คิด เพราะ​รัฐบาล​ของ​ท่าน “ไม่​ได้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​โลก​นี้” และ​ไม่​ได้​เป็น​ภัย​ต่อ​โรม—ยน 18:33-37

คุณ​เป็น​กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว​หรือ?: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:11

ผม​เป็น​อย่าง​ที่​คุณ​พูด: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:11

ปล่อย​ตัว​นัก​โทษ​คน​หนึ่ง: ผู้​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ทั้ง 4 คน​บันทึก​เรื่อง​นี้ (มธ 27:15-23; ลก 23:16-25; ยน 18:39, 40) ไม่​เคย​มี​การ​พูด​ถึง​และ​ไม่​มี​หลักฐาน​เกี่ยว​กับ​ธรรมเนียม​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู แต่​ดู​เหมือน​ว่า​พอ​ถึง​สมัย​พระ​เยซู ชาว​ยิว​ก็​เริ่ม​มี​ธรรมเนียม​นี้​แล้ว ธรรมเนียม​นี้​คง​ไม่​ใช่​เรื่อง​แปลก​สำหรับ​ชาว​โรมัน​เพราะ​มี​หลักฐาน​ว่า​พวก​เขา​เคย​ปล่อย​ตัว​นัก​โทษ​เพื่อ​เอา​ใจ​ประชาชน

ตะโกน: ตาม​ที่​บอก​ใน ลก 23:18-23 ฝูง​ชน​ตะโกน​อย่าง​น้อย 3 ครั้ง​เพื่อ​เรียก​ร้อง​ให้​ปีลาต​ประหาร​พระ​เยซู และ​บันทึก​ของ​มาระโก​ก็​แสดง​ว่า​ปีลาต​ถาม​ชาว​ยิว 3 ครั้ง​เรื่อง​พระ​เยซู—มก 15:9, 12, 14

เฆี่ยน: พวก​โรมัน​เฆี่ยน​นัก​โทษ​ด้วย​อุปกรณ์​ที่​สร้าง​ความ​เจ็บ​ปวด​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​ภาษา​ละติน​ว่า ฟลาเกลลุม คำ​กริยา​กรีก​ที่​ใช้​ใน​ข้อ​นี้ (ฟราเก็ลลอโอ แปล​ว่า “เฆี่ยน”) ก็​มา​จาก​คำ​ละติน​นี้​ด้วย อุปกรณ์​นี้​เป็น​เหมือน​แส้​ทำ​จาก​เชือก​หรือ​หนัง​ถัก​ที่​มี​ด้าม​จับ บาง​ครั้ง​มี​การ​เอา​เศษ​กระดูก​หรือ​โลหะ​มัด​ติด​ไว้​กับ​เส้น​หนัง​เพื่อ​ให้​แส้​หนัก​ขึ้น​และ​ทำ​ให้​คน​ที่​ถูก​เฆี่ยน​เจ็บ​ปวด​มาก​ขึ้น การ​เฆี่ยน​ด้วย​แส้​แบบ​นี้​ทำ​ให้​เกิด​แผล​ลึก เนื้อ​ฉีก​ขาด​เป็น​ทาง​ยาว และ​อาจ​ทำ​ให้​ตาย​ได้

บ้าน​ผู้​ว่า​ราชการ: บ้าน​พัก​ผู้​ว่า​ราชการ​โรมัน​ใน​ภาษา​กรีก​คือ ไพรโทริออน (มา​จาก​ภาษา​ละติน ไปรโตเรียน ) บ้าน​พัก​นี้​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​อาจ​เป็น​วัง​ที่​เฮโรด​มหาราช​สร้าง​ไว้ วัง​นี้​อยู่​ที่​มุม​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​เมือง​ส่วน​บน ซึ่ง​ก็​คือ​ทาง​ใต้​ของ​กรุง​เยรูซาเล็ม (ดู​ภาค​ผนวก ข​12 เพื่อ​จะ​รู้​ตำแหน่ง​ของ​บ้าน) ปีลาต​จะ​พัก​อยู่​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​บาง​ช่วง​เท่า​นั้น เช่น ใน​ช่วง​เทศกาล เพราะ​เป็น​ช่วง​ที่​อาจ​เกิด​ความ​ไม่​สงบ​ได้​ง่าย ปกติ​แล้ว​เขา​จะ​อยู่​ที่​เมือง​ซีซารียา

บ้าน​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:27

พวก​เขา​ก็​เอา​ผ้า​สี​ม่วง​มา​คลุม​ให้​ท่าน: พวก​เขา​ทำ​อย่าง​นี้​เพื่อ​เยาะเย้ย​และ​ล้อเลียน​พระ​เยซู​ว่า​เป็น​กษัตริย์ บันทึก​ของ​มัทธิว (27:28) บอก​ว่า​พวก​ทหาร​เอา “เสื้อ​คลุม​สี​แดง​เข้ม” มา​ใส่​ให้​พระ​เยซู​ซึ่ง​เป็น​เสื้อ​แบบ​ที่​กษัตริย์ เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง หรือ​นาย​ทหาร​ใส่​กัน ส่วน​บันทึก​ของ​มาระโก​และ​ยอห์น (19:2) บอก​ว่า​เสื้อ​คลุม​นี้​เป็น​สี​ม่วง แต่​ใน​สมัย​โบราณ “สี​ม่วง” อาจ​หมาย​ถึง​ทุก​เฉด​สี​ที่​เกิด​จาก​การ​ผสม​ระหว่าง​สี​แดง​และ​สี​น้ำเงิน นอก​จาก​นั้น มุม แสง​สะท้อน และ​พื้น​หลัง​อาจ​ทำ​ให้​คน​ดู​มอง​เห็น​เป็น​สี​ที่​แตกต่าง​กัน การ​ที่​พวก​ผู้​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​พูด​ถึง​สี​ที่​แตกต่าง​กัน​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​คัด​ลอก​เรื่อง​ราว​ของ​กัน​และ​กัน

มงกุฎ: นอก​จาก​จะ​เอา​ผ้า​สี​ม่วง​มา​คลุม​ให้​พระ​เยซู (ตาม​ที่​พูด​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้) พวก​เขา​ยัง​เยาะเย้ย​พระ​เยซู​ว่า​เป็น​กษัตริย์​โดย​เอา​หนาม​สาน​เป็น​มงกุฎ​มา​สวม​ให้​ท่าน และ​ตาม​ที่​บอก​ใน มธ 27:29 พวก​เขา​เอา “ไม้​อ้อ” มา​ให้​ท่าน​ถือ​เป็น​คทา​ด้วย

คำนับ: หรือ “ยกย่อง” พวก​เขา​ทำ​เป็น​ยกย่อง​พระ​เยซู​เหมือน​ยกย่อง​ซีซาร์ ดู​เหมือน​เป็น​วิธี​ที่​พวก​เขา​เยาะเย้ย​ว่า​ท่าน​เป็น​กษัตริย์

ถุย​น้ำลาย​ใส่: การ​ถุย​น้ำลาย​ใส่​คน ๆ หนึ่ง​หรือ​ถุย​น้ำลาย​ใส่​หน้า​เขา​เป็น​การ​แสดง​ความ​ดูถูก การ​เป็น​ศัตรู หรือ​แสดง​ถึง​ความ​โกรธ​อย่าง​มาก ซึ่ง​ทำ​ให้​คน​ที่​ถูก​ถุย​น้ำลาย​ใส่​ได้​รับ​ความ​อับอาย (กดว 12:14; ฉธบ 25:9) ใน​ข้อ​นี้​พระ​เยซู​บอก​ว่า​ท่าน​จะ​ต้อง​เจอ​กับ​เรื่อง​นี้ ซึ่ง​เป็น​จริง​ตาม​คำ​พยากรณ์​เกี่ยว​กับ​เมสสิยาห์​ที่​บอก​ว่า “ผม​ไม่​ได้​หัน​หน้า​หนี​คน​ที่​มา​ดูถูก​หรือ​ถ่ม​น้ำลาย​ใส่​ผม” (อสย 50:6) พระ​เยซู​ถูก​ถุย​น้ำลาย​ใส่​ตอน​ที่​อยู่​ต่อ​หน้า​ศาล​แซนเฮดริน (มก 14:65) และ​ท่าน​ถูก​ทหาร​โรมัน​ถุย​น้ำลาย​ใส่​ตอน​ที่​โดน​ปีลาต​สอบสวน (มก 15:19)

เคารพ: หรือ “คำนับ” เมื่อ​ใช้​คำ​กริยา​กรีก พะรอสคูเนะโอ กับ​พระ​หรือ​เทพเจ้า ก็​จะ​แปล​คำ​นี้​ว่า “นมัสการ” แต่​ใน​ท้อง​เรื่อง​นี้ พวก​โหร​กำลัง​ถาม​หา “เด็ก​ที่​เกิด​มา​ที่​จะ​เป็น​กษัตริย์ ของ​ชาว​ยิว” จึง​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พวก​เขา​มา​เคารพ​กษัตริย์​ที่​เป็น​มนุษย์ ไม่​ใช่​พระ มี​การ​ใช้​คำ​กรีก​นี้​ใน​ความ​หมาย​เดียว​กัน​นี้​ที่ มก 15:18, 19 ด้วย ใน​ข้อ​นั้น พวก​ทหาร​ล้อเลียน​พระ​เยซู​โดย “คำนับ” ท่าน​และ​เรียก​ท่าน​ว่า “กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว”—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 18:26

ถุย​น้ำลาย​ใส่: การ​ทำ​แบบ​นี้​เป็น​การ​ดูถูก​พระ​เยซู ซึ่ง​ทำ​ให้​คำ​พูด​ของ​ท่าน​ที่ มก 10:34 เป็น​จริง และ​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​เกี่ยว​กับ​เมสสิยาห์​ที่ อสย 50:6 เป็น​จริง​ด้วย—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มก 10:34

คุกเข่า​ลง​คำนับ​ท่าน: หรือ “หมอบ​ลง​แสดง​ความ​เคารพ, ทำ​ความ​เคารพ” ใน​ข้อ​นี้​มี​การ​ใช้​คำ​กริยา​กรีก พะรอสคูเนะโอ กับ​พวก​ทหาร​ที่​เยาะเย้ย​พระ​เยซู​โดย​การ​คุกเข่า​ลง​คำนับ​ท่าน​และ​เรียก​ท่าน​ว่า “กษัตริย์​ของ​ชาว​ยิว”—มก 15:18; ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 2:2

ประหาร​ท่าน​บน​เสา: หรือ “ทำ​ให้​ติด​อยู่​กับ​เสา” นี่​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​มาก​กว่า 40 ครั้ง​ที่​มี​การ​ใช้​คำ​กริยา​กรีก สเทารอโอ ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​นาม​ของ​คำ​กริยา​กรีก​นี้​คือ สเทารอส ซึ่ง​แปล​ว่า “เสา​ทรมาน” (ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 10:38; 16:24; 27:32 และ​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “เสา”; “เสา​ทรมาน”) มี​การ​ใช้​คำ​กริยา​นี้​ใน​ฉบับ​เซปตัวจินต์ ที่ อสธ 7:9 ข้อ​นั้น​พูด​ถึง​การ​สั่ง​ให้​แขวน​ฮามาน​ไว้​บน​เสา​ที่​สูง​กว่า 20 เมตร และ​ใน​วรรณกรรม​กรีก​โบราณ คำ​กริยา​นี้​หมาย​ถึง “ล้อม​รั้ว​ด้วย​ไม้​แหลม, ทำ​รั้ว​ไม้​ป้องกัน”

ตรึง​บน​เสา: หรือ “ทำ​ให้​ติด​อยู่​กับ​เสา”—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 20:19 และ​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “เสา”; “เสา​ทรมาน

ไซรีน: เมือง​ที่​อยู่​ใกล้​ชายฝั่ง​ด้าน​เหนือ​ของ​แอฟริกา และ​อยู่​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​เกาะ​ครีต—ดู​ภาค​ผนวก ข​13

เกณฑ์​คุณ​ให้​ไป: หมาย​ถึง​การ​เกณฑ์​ผู้​คน​ให้​ทำ​งาน​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​เจ้าหน้าที่​โรมัน ตัว​อย่าง​เช่น พวก​เขา​อาจ​บังคับ​คน​หรือ​สัตว์​ให้​ทำ​งาน หรือ​เกณฑ์​ไป​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​เพื่อ​โครงการ​ของ​รัฐ​จะ​สำเร็จ ซีโมน​ชาว​ไซรีน​ก็​ถูก​เกณฑ์​แบบ​นั้น​ด้วย ทหาร​โรมัน “สั่ง” เขา​ให้​แบก​เสา​ทรมาน​ของ​พระ​เยซู—มธ 27:32

เสา​ทรมาน: หรือ “เสา​ประหาร”—ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “เสา”; “เสา​ทรมาน”; และข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 10:38 และ 16:24 ซึ่ง​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย

ชาว​ไซรีน: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:32

พ่อ​ของ​อเล็กซานเดอร์​กับ​รูฟัส: เฉพาะ​มาระโก​เท่า​นั้น​ที่​พูด​ถึง​ราย​ละเอียด​นี้​เกี่ยว​กับ​ซีโมน​ชาว​ไซรีน

สั่ง: หมาย​ถึง​การ​เกณฑ์​ผู้​คน​ให้​ทำ​งาน​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​เจ้าหน้าที่​โรมัน ตัว​อย่าง​เช่น พวก​เขา​อาจ​บังคับ​คน​หรือ​สัตว์​ให้​ทำ​งาน หรือ​เกณฑ์​ไป​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​เพื่อ​โครงการ​ของ​รัฐ​จะ​สำเร็จ—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 5:41

เสา​ทรมาน: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:32

กลโกธา: มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “กะโหลก” (ดู ยน 19:17; และ​เทียบ​กับ วนฉ 9:53 ซึ่ง​มี​คำ​ฮีบรู กัลโกเลท ที่​แปล​ว่า “กะโหลก”) ใน​สมัย​พระ​เยซู​บริเวณ​นี้​อยู่​นอก​กำแพง​กรุง​เยรูซาเล็ม แต่​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้​ก็​ยัง​ไม่​รู้​แน่ชัด​ว่า​กลโกธา​อยู่​ตรง​ไหน (ดู​ภาค​ผนวก ข​12) คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​บอก​ว่า​กลโกธา​อยู่​บน​เนิน แต่​ก็​บอก​ว่า​คน​ที่​มอง​ดู​การ​ประหาร​พระ​เยซู​สามารถ​เห็น​เหตุ​การณ์​นี้​ได้​จาก​ระยะ​ไกล—มก 15:40; ลก 23:49

กะโหลก: คำ​กรีก ครานิอู ทอพอน แปล​จาก​คำ​ฮีบรู กลโกธา (ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า กลโกธา ใน​ข้อ​นี้ และ​สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​คำ​ว่า​ภาษา​ฮีบรู​ที่​ใช้​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ ยน 5:2)

กลโกธา: มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “กะโหลก” (เทียบ​กับ วนฉ 9:53; 2​พก 9:35 ซึ่ง​มี​คำ​ฮีบรู กัลโกเลท ที่​แปล​ว่า “กะโหลก”) ใน​สมัย​พระ​เยซู​บริเวณ​นี้​อยู่​นอก​กำแพง​กรุง​เยรูซาเล็ม และ​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้​ก็​ยัง​ไม่​รู้​แน่ชัด​ว่า​กลโกธา​อยู่​ตรง​ไหน แต่​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​น่า​จะ​เป็น​ที่​เดียว​กับ​โบสถ์​พระ​คูหา​ศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ใน​ปัจจุบัน (ดูภาค​ผนวก ข​12) คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​บอก​ว่า​กลโกธา​อยู่​บน​เนิน แต่​ก็​บอก​ว่า​มี​บาง​คน​สามารถ​เห็น​การ​ประหาร​พระ​เยซู​ได้​จาก​ระยะ​ไกล—มก 15:40; ลก 23:49

กลโกธา: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:33

กะโหลก: คำ​กรีก ครานิอู ทอพอส แปล​จาก​คำ​ฮีบรู กลโกธา—ดู​ข้อ​มูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ ยน 19:17

น้ำ​ดี: คำ​กรีก ฆอเล ใน​ที่​นี้​หมาย​ถึง​ของ​เหลว​รส​ขม​ที่​ได้​จาก​พืช หรือ​สิ่ง​อื่น​ ๆ ที่​มี​รส​ขม มัทธิว​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เหตุ​การณ์​นี้​เป็น​จริง​ตาม​คำ​พยากรณ์​โดย​ยก สด 69:21 ขึ้น​มา​ซึ่ง​ใน​ฉบับ​เซปตัวจินต์ ใช้​คำ​กรีก ฆอเล เพื่อ​แปล​คำ​ฮีบรู​ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “ยา​พิษ” ดู​เหมือน​ว่า​พวก​ผู้​หญิง​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ได้​เตรียม​เหล้า​องุ่น​ผสม​กับ​น้ำ​ดี​เอา​ไว้​ลด​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​คน​ที่​ถูก​ประหาร และ​พวก​โรมัน​ก็​ยอม​ให้​ทำ​แบบ​นี้ บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ มก 15:23 บอก​ว่า​เหล้า​องุ่น​นี้ “ผสม​มดยอบ” ดัง​นั้น ดู​เหมือน​ใน​เหล้า​องุ่น​นี้​จะ​มี​ทั้ง​มดยอบ​และ​น้ำ​ดี​ผสม​อยู่

เหล้า​องุ่น​ผสม​มดยอบ: บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ มธ 27:34 บอก​ว่า​เหล้า​องุ่น​นี้ “ผสม​กับ​น้ำ​ดี” จึง​ดู​เหมือน​ว่า​เหล้า​องุ่น​นี้​มี​ทั้ง​มดยอบ​และ​น้ำ​ดี​ผสม​อยู่ การ​ผสม​แบบ​นี้​คง​ช่วย​ลด​ความ​เจ็บ​ปวด​ได้—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​ท่าน​ไม่​ยอม​ดื่ม​ใน​ข้อ​นี้ และข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:34

ท่าน​ไม่​ยอม​ดื่ม: ดู​เหมือน​ว่า​พระ​เยซู​อยาก​มี​สติ​สัมปชัญญะ​อย่าง​ครบ​ถ้วน​ใน​ช่วง​ที่​ถูก​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​นี้

เอา​เสื้อ​ชั้น​นอก​ของ​ท่าน​มา . . . แบ่ง​กัน: บันทึก​ใน ยน 19:23, 24 ให้​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​ซึ่ง​ไม่​มี​ใน​บันทึก​ของ​มัทธิว มาระโก และ​ลูกา เมื่อ​เอา​เรื่อง​ราว​จาก​หนังสือ​ข่าว​ดี​ทั้ง 4 เล่ม​มา​รวม​กัน​ก็​จะ​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​ว่า ทหาร​โรมัน​น่า​จะ​จับ​ฉลาก​ทั้ง​เสื้อ​ชั้น​นอก​และ​เสื้อ​ตัว​ใน พวก​เขา​เอา​เสื้อ​ชั้น​นอก “มา​แบ่ง​เป็น 4 ส่วน แล้ว​เอา​ไป​คน​ละ​ส่วน” พวก​เขา​ไม่​อยาก​ฉีก​เสื้อ​ตัว​ใน​เลย​ใช้​วิธี​จับ​ฉลาก และ​การ​จับ​ฉลาก​แบ่ง​เสื้อ​ของ​เมสสิยาห์​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ใน สด 22:18 เป็น​จริง ดู​เหมือน​ว่า​ใน​สมัย​นั้น​มี​ธรรมเนียม​ที่​คน​ประหาร​จะ​เก็บ​เสื้อ​ผ้า​ของ​นัก​โทษ​ไว้ ดัง​นั้น ก่อน​ถูก​ประหาร นัก​โทษ​จะ​ถูก​ถอด​เสื้อ​ผ้า​และ​ถูก​ยึด​ของ​ที่​ติด​ตัว​มา ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​เขา​ยิ่ง​อับอาย​มาก​ขึ้น​ไป​อีก

เอา​เสื้อ​ชั้น​นอก​ของ​ท่าน​มา . . . แบ่ง​กัน: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:35

จับ​ฉลาก: ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “ฉลาก

9 โมง​เช้า: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ชั่วโมง​ที่ 3” บาง​คน​บอก​ว่า​บันทึก​ของ​มาระโก​ดู​เหมือน​ขัด​แย้ง​กับ ยน 19:14-16 ที่​บอก​ว่า “ตอน​นั้น​เป็น​เวลา​ประมาณ​เที่ยง​วัน” ที่​ปีลาต​สั่ง​ให้​ทหาร​เอา​พระ​เยซู​ไป​ประหาร แม้​พระ​คัมภีร์​ไม่​ได้​อธิบาย​ว่า​ทำไม​การ​บันทึก​เรื่อง​เวลา​จึง​แตกต่าง​กัน แต่​เรา​อาจ​เข้าใจ​เรื่อง​นี้​ได้​โดย​คิด​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​ต่าง ๆ ดัง​นี้ ส่วน​ใหญ่​แล้ว​หนังสือ​ข่าว​ดี​ทั้ง 4 เล่ม​จะ​พูด​ตรง​กัน​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ใน​วัน​สุด​ท้าย​ที่​พระ​เยซู​มี​ชีวิต​บน​โลก​และ​เวลา​ที่​เกิด​เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น เช่น ทั้ง 4 เล่ม​บอก​ว่า​พวก​ปุโรหิต​และ​พวก​ผู้​นำ​ประชุม​กัน​ตอน​รุ่ง​เช้า แล้ว​จาก​นั้น​พวก​เขา​ก็​สั่ง​ให้​พา​พระ​เยซู​ไป​หา​ปอนทิอัส​ปีลาต​ผู้​ว่า​ราชการ​โรมัน (มธ 27:1, 2; มก 15:1; ลก 22:66-23:1; ยน 18:28) นอก​จาก​นั้น ทั้ง​มัทธิว มาระโก และ​ลูกา​บอก​ว่า​ตอน​ที่​พระ​เยซู​อยู่​บน​เสา​ทรมาน ท้องฟ้า​ก็​มืด​ไป​ทั่ว​แผ่นดิน​ตั้ง​แต่ “เที่ยง​วัน . . . จน​ถึง​เวลา​บ่าย 3 โมง” (มธ 27:45, 46; มก 15:33, 34; ลก 23:44) เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​การ​บอก​เวลา​ประหาร​พระ​เยซู​ต่าง​กัน​ก็​คือ การ​เฆี่ยน​อาจ​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​กระบวนการ​ประหาร เพราะ​บาง​ครั้ง​มี​การ​เฆี่ยน​อย่าง​รุนแรง​จน​ถึง​ตาย ใน​กรณี​ของ​พระ​เยซู ท่าน​ก็​น่า​จะ​ถูก​เฆี่ยน​หนัก​มาก​เพราะ​ต้อง​ให้​ผู้​ชาย​อีก​คน​หนึ่ง​ช่วย​แบก​เสา​ทรมาน​หลัง​จาก​ที่​ท่าน​แบก​คน​เดียว​ไป​ได้​สัก​พัก (ลก 23:26; ยน 19:17) ถ้า​มอง​ว่า​การ​เฆี่ยน​เป็น​ตอน​เริ่ม​ต้น​ของ​การ​ประหาร กว่า​พระ​เยซู​จะ​ถูก​ตรึง​บน​เสา​ทรมาน​จริง ๆ ก็​ผ่าน​ไป​ช่วง​หนึ่ง​หลัง​จาก​ถูก​เฆี่ยน​แล้ว บันทึก​ใน มธ 27:26 และ มก 15:15 สนับสนุน​จุด​นี้​เพราะ​ทั้ง​สอง​คน​พูด​ถึง​ทั้ง​การ​เฆี่ยน​และ​การ​ประหาร​บน​เสา ดัง​นั้น แต่​ละ​คน​อาจ​บอก​เวลา​การ​ประหาร​ต่าง​กัน ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​พวก​เขา​มอง​ว่า​การ​ประหาร​เริ่ม​ตอน​ไหน ตอน​ถูก​เฆี่ยน​หรือ​ตอน​ถูก​ตรึง และ​นี่​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ปีลาต​แปลก​ใจ​เมื่อ​รู้​ว่า​พระ​เยซู​ตาย​แล้ว​หลัง​จาก​ถูก​ตรึง​บน​เสา​ได้​ไม่​นาน เพราะ​เขา​อาจ​มอง​ว่า​การ​ประหาร​เพิ่ง​เริ่ม​ต้น (มก 15:44) นอก​จาก​นั้น บ่อย​ครั้ง​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​สะท้อน​ให้​เห็น​ว่า​ใน​สมัย​นั้น​มี​การ​แบ่ง​เวลา​กลางวัน​ออก​เป็น 4 ช่วง ช่วง​ละ 3 ชั่วโมง​เหมือน​กับ​ตอน​กลางคืน การ​แบ่ง​วัน​แบบ​นี้​ทำ​ให้​รู้​ว่า​ทำไม​มี​การ​พูด​ถึง​เวลา 9 โมง​เช้า เที่ยง​วัน และ​บ่าย 3 โมง โดย​นับ​จาก​ตอน​ที่​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​ประมาณ 6 โมง​เช้า (มธ 20:1-5; ยน 4:6; กจ 2:15; 3:1; 10:3, 9, 30) เหตุ​ผล​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​นั้น​ไม่​มี​เครื่อง​บอก​เวลา​ที่​แน่นอน การ​บอก​เวลา​จึง​มัก​ใช้​คำ​ว่า “ประมาณ” เหมือน​ที่​เห็น​ใน ยน 19:14 (มธ 27:46; ลก 23:44; ยน 4:6; กจ 10:3, 9) สรุป​แล้ว มาระโก​อาจ​รวม​เวลา​ตั้ง​แต่​ตอน​ที่​พระ​เยซู​ถูก​เฆี่ยน​ไป​จน​ถึง​ถูก​ตรึง​บน​เสา ใน​ขณะ​ที่​ยอห์น​พูด​ถึง​เวลา​ตอน​ที่​ตรึง​บน​เสา​เท่า​นั้น นอก​จาก​นั้น ผู้​เขียน​ทั้ง​สอง​คน​อาจ​บอก​เวลา​แบบ​คร่าว ๆ โดย​เลือก​ช่วง​ที่​ใกล้​ที่​สุด​ของ​เวลา​แต่​ละ​ช่วง​ซึ่ง​นาน 3 ชั่วโมง และ​ยอห์น​ใช้​คำ​ว่า “ประมาณ” เมื่อ​พูด​ถึง​เวลา​ที่​พระ​เยซู​ถูก​ประหาร ทั้ง​หมด​นี้​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​หนังสือ​ข่าว​ดี​บอก​เวลา​แตกต่าง​กัน และ​สุด​ท้าย การ​ที่​ยอห์น​บอก​เวลา​ต่าง​จาก​มาระโก​เมื่อ​เขียน​หนังสือ​ของ​เขา​หลาย​สิบ​ปี​หลัง​จาก​นั้น​แสดง​ว่า​ยอห์น​ไม่​ได้​ลอก​ข้อ​ความ​จาก​บันทึก​ของ​มาระโก

โจร: มา​จาก​คำ​กรีก เล็สเทส ซึ่ง​อาจ​หมาย​ถึง​การ​ปล้น​โดย​ใช้​กำลัง​และ​บาง​ครั้ง​อาจ​หมาย​ถึง​การ​ปฏิวัติ มี​การ​ใช้​คำ​เดียว​กัน​นี้​กับ​บารับบัส (ยน 18:40) ซึ่ง​ที่ ลก 23:19 บอก​ว่า​เขา​ถูก​ขัง​คุก​ข้อ​หา “ปลุกระดม” และ “ฆ่า​คน​ตาย” บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ ลก 23:32, 33, 39 พูด​ถึง​ผู้​ชาย 2 คน​นี้​ว่า​เป็น “ผู้​ร้าย” ซึ่ง​มา​จาก​คำ​กรีก (คาคู่รก็อส) ที่​มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “คน​ที่​ทำ​ชั่ว”

สำเนา​พระ​คัมภีร์​บาง​ฉบับ​ใน​ยุค​หลัง​มี​ข้อ​ความ​ใน​ข้อ​นี้​ว่า “คำ​ซึ่ง​เขียน​ไว้​แล้ว​นั้น​ต้อง​สำเร็จ คือ​ที่​ว่า​ท่าน​ต้อง​นับ​เข้า​ใน​หมู่​คน​อธรรม” ซึ่ง​ยก​มา​จาก อสย 53:12 แต่​ข้อ​ความ​นี้​ไม่​มี​ใน​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ที่​เก่าแก่​ที่​สุด​และ​น่า​เชื่อถือ​ที่​สุด และ​ดู​เหมือน​ไม่​เคย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​หนังสือ​มาระโก​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ ข้อ​ความ​คล้าย​กัน​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ข้อ​ความ​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​อยู่​ที่ ลก 22:37 บาง​คน​จึง​คิด​ว่าผู้​คัด​ลอกคน​หนึ่ง​เอา​ข้อ​ความ​ใน​หนังสือ​ลูกา​มา​ใส่​ใน​หนังสือ​มาระโก—ดูภาค​ผนวก ก​3

ส่าย​หัว: มัก​มี​การ​ทำ​แบบ​นี้​พร้อม​กับ​พูด​อะไร​บาง​อย่าง​ออก​มา​ด้วย เป็น​ท่า​ทาง​ที่​แสดง​ถึง​การ​ดูถูก เหยียด​หยาม หรือ​เยาะเย้ย ผู้​คน​ที่​เดิน​ผ่าน​ไป​มา​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ที่ สด 22:7 เป็น​จริง​โดย​ไม่​ตั้งใจ

เสา​ทรมาน: หรือ “เสา​ประหาร”—ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “เสา”; “เสา​ทรมาน”; และข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 10:38 และ 16:24 ซึ่ง​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย

เสา​ทรมาน: หรือ “เสา​ประหาร”—ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “เสา”; “เสา​ทรมาน”; และข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 10:38 และ 16:24 ซึ่ง​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย

ราว​ ๆ 9 โมง​เช้า: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ชั่วโมง​ที่ 3” ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก ชาว​ยิว​นับ​ช่วง​กลางวัน​ยาว 12 ชั่วโมง​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​ตอน​ประมาณ 6 โมง​เช้า (ยน 11:9) ดัง​นั้น ชั่วโมง​ที่ 3 จึง​หมาย​ถึง​ประมาณ 9 โมง​เช้า ชั่วโมง​ที่ 6 หมาย​ถึง​ประมาณ​เที่ยง และ​ชั่วโมง​ที่ 9 หมาย​ถึง​ประมาณ​บ่าย 3 โมง เนื่อง​จาก​ผู้​คน​สมัย​นั้น​ไม่​มี​เครื่อง​บอก​เวลา​ที่​แน่นอน บันทึก​ใน​พระ​คัมภีร์​จึง​มัก​บอก​เวลา​แบบ​ประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9

ราว​ ๆ 9 โมง​เช้า: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ชั่วโมง​ที่ 3” ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก ชาว​ยิว​นับ​ช่วง​กลางวัน​ยาว 12 ชั่วโมง​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​ตอน​ประมาณ 6 โมง​เช้า (ยน 11:9) ดัง​นั้น ชั่วโมง​ที่ 3 จึง​หมาย​ถึง​ประมาณ 9 โมง​เช้า ชั่วโมง​ที่ 6 หมาย​ถึง​ประมาณ​เที่ยง และ​ชั่วโมง​ที่ 9 หมาย​ถึง​ประมาณ​บ่าย 3 โมง เนื่อง​จาก​ผู้​คน​สมัย​นั้น​ไม่​มี​เครื่อง​บอก​เวลา​ที่​แน่นอน บันทึก​ใน​พระ​คัมภีร์​จึง​มัก​บอก​เวลา​แบบ​ประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9

เที่ยง​วัน: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ชั่วโมง​ที่ 6”—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 20:3

มืด: บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ใน​ลูกา​ให้​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​ว่า​ตอน​นั้น “ไม่​มี​แสง​อาทิตย์” (ลก 23:44, 45) ความ​มืด​นี้​เป็น​การ​อัศจรรย์​จาก​พระเจ้า ไม่​ใช่​เกิด​จาก​สุริยุปราคา เพราะ​สุริยุปราคา​จะ​เกิด​ใน​ช่วง​วัน​ขึ้น​เดือน​ใหม่ แต่​ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​ปัสกา​ซึ่ง​ดวง​จันทร์​เต็ม​ดวง นอก​จาก​นั้น ความ​มืด​นี้​เกิด​ขึ้น​นาน​ถึง 3 ชั่วโมง แต่​สุริยุปราคา​เต็ม​ดวง​ที่​นาน​ที่​สุด​ไม่​อาจ​เกิด​ขึ้น​นาน​ขนาด​นั้น​ได้ อย่าง​มาก​สุด​ก็​ไม่​ถึง 8 นาที

บ่าย 3 โมง: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ชั่วโมง​ที่ 9”—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 20:3

เอลี เอลี ลามา​สะบักธานี?: แม้​บาง​คน​มอง​ว่า​คำ​พูด​นี้​เป็น​ภาษา​อาราเมอิก แต่​ดู​เหมือน​น่า​จะ​เป็น​ภาษา​ฮีบรู​ใน​สมัย​นั้น​ที่​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ภาษา​อาราเมอิก คำ​ทับ​ศัพท์​ภาษา​กรีก​นี้​ที่​ใช้​ใน​มัทธิว​และ​มาระโก​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​จริง​ ๆ แล้ว​คำ​พูด​นี้​เป็น​ภาษา​อะไร

พระเจ้า พระเจ้า​ของ​ผม: การ​ที่​พระ​เยซู​ร้อง​เรียก​พ่อ​ของ​ท่าน​ที่​อยู่​ใน​สวรรค์​แบบ​นี้​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ที่ สด 22:1 เป็น​จริง และ​ทำ​ให้​คน​ที่​ได้​ยิน​เสียง​ร้อง​ของ​ท่าน​นึก​ถึง​คำ​พยากรณ์​อื่น​ ๆ มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​ท่าน​ที่​บอก​ไว้​ใน สด 22 นั่น​คือ ท่าน​จะ​ถูก​เยาะเย้ย ดูถูก​ดูหมิ่น ถูก​ทำ​ร้าย​ที่​มือ​และ​เท้า และ​เสื้อ​ผ้า​ของ​ท่าน​จะ​ถูก​เอา​ไป​จับ​ฉลาก—สด 22:6-8, 16, 18

เอลี เอลี ลามา​สะบักธานี?: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:46

พระเจ้า พระเจ้า​ของ​ผม: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:46

เอลียาห์: ชื่อ​ภาษา​ฮีบรู แปล​ว่า “พระเจ้า​ของ​ผม​คือ​พระ​ยะโฮวา”

เหล้า​องุ่น​เปรี้ยว: หรือ “น้ำ​ส้ม​สาย​ชู​ที่​ทำ​จาก​องุ่น” ดู​เหมือน​หมาย​ถึง​เหล้า​องุ่น​เจือ​จาง​ที่​มี​รส​เปรี้ยว​ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​ภาษา​ละติน​ว่า อะเซตุม (น้ำ​ส้ม​สาย​ชู) หรือ​เป็น​เหล้า​องุ่น​ผสม​น้ำ​ที่​เรียก​ว่า พอสก้า นี่​เป็น​เครื่อง​ดื่ม​ราคา​ถูก​สำหรับ​คน​ยาก​จน​ซึ่ง​รวม​ถึง​ทหาร​โรมัน​ที่​มัก​จะ​ดื่ม​ตอน​กระหาย​น้ำ นอก​จาก​นั้น ฉบับ​เซปตัวจินต์ ก็​ใช้​คำ​กรีก ออคซอส ที่ สด 69:21 ซึ่ง​เป็น​คำ​พยากรณ์​ว่า​จะ​มี​คน​เอา “น้ำ​ส้ม​สาย​ชู” มา​ให้​เมสสิยาห์​ดื่ม

ไม้​อ้อ: หรือ “ท่อน​ไม้, แท่ง​ไม้” ใน​บันทึก​ของ​ยอห์น​ใช้​คำ​ว่า “กิ่ง​หุสบ”—ยน 19:29; ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “หุสบ

สิ้น​ใจ​ตาย: หรือ “หมด​ลม, หยุด​หายใจ” คำ​ว่า “ใจ” (คำ​กรีก พะนือมา) ใน​ข้อ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง “ลม​หายใจ” หรือ “พลัง​ชีวิต” ที่​สรุป​ได้​แบบ​นั้น​เพราะ​บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ มก 15:37 ตอน​ที่​พระ​เยซู​สิ้น​ใจ​ตาย​มี​การ​ใช้​คำ​กริยา​กรีก เอ็คพะเนะโอ ซึ่ง​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “หายใจ​ออก” บาง​คน​คิด​ว่า​การ​ใช้​คำ​กรีก​ที่​แปล​ว่า “สิ้น​ใจ” หมาย​ความ​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​พยายาม​อีก​ต่อ​ไป​ที่​จะ​มี​ชีวิต​อยู่ เพราะ​ท่าน​ทำ​ทุก​อย่าง​สำเร็จ​แล้ว (ยน 19:30) ท่าน​เต็ม​ใจ “ยอม​พลี​ชีวิต”—อสย 53:12; ยน 10:11

สิ้น​ใจ​ตาย: หรือ “หมด​ลม”—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:50

ม่าน: ม่าน​ที่​ตกแต่ง​อย่าง​สวย​งาม​นี้​กั้น​ระหว่าง​ห้อง​บริสุทธิ์​กับ​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ใน​วิหาร คำ​สอน​สืบ​ปาก​ของ​ชาว​ยิว​บอก​ว่า​ม่าน​นี้​หนัก​มาก​และ​มี​ความ​ยาว​ประมาณ 18 เมตร กว้าง 9 เมตร และ​หนา 7.4 ซม. การ​ที่​ม่าน​ขาด​แยก​เป็น​สอง​ส่วน ไม่​ได้​แสดง​ถึง​ความ​โกรธ​ที่​พระ​ยะโฮวา​มี​ต่อ​คน​ที่​ฆ่า​ลูก​ชาย​พระองค์​เท่า​นั้น แต่​ยัง​หมาย​ความ​ด้วย​ว่า​ทาง​ที่​จะ​เข้า​ไป​ใน​สวรรค์​ได้​เปิด​ออก​แล้ว—ฮบ 10:19, 20; ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์

ห้อง​บริสุทธิ์​ของ​วิหาร: คำ​กรีก นาออส ใน​ข้อ​นี้​หมาย​ถึง​ส่วน​ของ​วิหาร​ซึ่ง​รวม​ทั้ง​ห้อง​บริสุทธิ์​กับ​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด

องครักษ์: มา​จาก​คำ​กรีก สเพะคู่ลาโทร ซึ่ง​เป็น​คำ​ที่​ยืม​มา​จาก​คำ​ละติน (speculator) คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง องค์​รักษ์ ผู้​ส่ง​ข่าว และ​บาง​ครั้ง​ก็​หมาย​ถึง​เพชฌฆาต ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ยัง​มี​คำ​กรีก​อีก​ประมาณ 30 คำ​ที่​มา​จาก​คำ​ละติน ซึ่ง​เป็น​คำ​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​ทหาร การ​พิจารณา​คดี เงิน และ​เรื่อง​ทั่ว​ไป​ใน​บ้าน มี​การ​ใช้​คำ​ละติน​มาก​ที่​สุด​ใน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ของ​มัทธิว​และ​มาระโก ที่​จริง มาระโก​ใช้​คำ​ละติน​มาก​กว่า​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​อื่น ๆ จึง​ทำ​ให้​เชื่อ​ได้​ว่า​มาระโก​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ของ​เขา​ใน​กรุง​โรม​และ​เขียน​เพื่อ​คน​ต่าง​ชาติ​โดย​เฉพาะ​ชาว​โรมัน—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ ยน 19:20

ละติน: นี่​เป็น​ครั้ง​เดียว​ที่​มี​การ​พูด​ถึง​ภาษา​ละติน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ตอน​ที่​พระ​เยซู​อยู่​บน​โลก ภาษา​ละติน​เป็น​ภาษา​ที่​เจ้าหน้าที่​โรมัน​ใน​อิสราเอล​ใช้​กัน มี​การ​ใช้​ภาษา​นี้​ใน​ข้อ​ความ​จารึก​ของ​ทาง​การ แต่​ไม่​ได้​เป็น​ภาษา​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ใช้ เนื่อง​จาก​ผู้​คน​ใน​อิสราเอล​ใช้​หลาย​ภาษา​จึง​ทำ​ให้​เข้าใจ​ได้​ว่า​ทำไม ยน 19:19 ถึง​บอก​ว่า​ปีลาต​ให้​เขียน​ป้าย​ติด​ไว้​บน​เสา​ทรมาน​ของ​พระ​เยซู​ใน 3 ภาษา คือ​ภาษา​ละติน​ที่​เป็น​ภาษา​ทาง​การ ภาษา​ฮีบรู และ​ภาษา​กรีก (คีนี) ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​มี​คำ​และ​สำนวน​หลาย​อย่าง​มา​จาก​ภาษา​ละติน—ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “ภาษา​ละติน”; “บท​นำ​ของ​หนังสือ​มาระโก

นาย​ร้อย: คำ​ว่า “นาย​ร้อย” หมาย​ถึง​นาย​ทหาร​ใน​กองทัพ​โรมัน​ที่​มี​ทหาร​อยู่​ใต้​บังคับ​บัญชา​ประมาณ 100 นาย นาย​ทหาร​คน​นี้​อาจ​อยู่​ตอน​ที่​พระ​เยซู​ถูก​พิจารณา​คดี​ต่อ​หน้า​ปีลาต และ​อาจ​ได้​ยิน​ชาว​ยิว​พูด​กัน​ว่า​พระ​เยซู​อ้าง​ว่า​เป็น​ลูก​ของ​พระเจ้า (มก 15:16; ยน 19:7) ใน​ข้อ​นี้​มาระโก​ใช้​คำ​กรีก เค็นทูริโอน ซึ่ง​เป็น​คำ​ที่​ยืม​มา​จาก​ภาษา​ละติน มี​คำ​นี้​อยู่​ที่ มก 15:44, 45 ด้วย—ดู “บท​นำ​ของ​หนังสือ​มาระโก” และข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มก 6:27; ยน 19:20

มารีย์​มักดาลา: คำ​ว่า​มักดาลา​ที่​ต่อ​ท้าย​ชื่อ​ของ​เธอ​อาจ​เป็น​ชื่อ​เมือง​มักดาลา​ที่​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​ทะเลสาบ​กาลิลี เมือง​นี้​อยู่​ตรง​กลาง​ระหว่าง​เมือง​คาเปอร์นาอุม​กับ​เมือง​ทิเบเรียส เชื่อ​กัน​ว่า​เมือง​มักดาลา​เป็น​บ้าน​เกิด​ของ​มารีย์​หรือ​เป็น​เมือง​ที่​เธอ​อาศัย​อยู่—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 15:39; ลก 8:2

มารีย์​มักดาลา: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:56

ยากอบ​น้อย: อัครสาวก​คน​หนึ่ง​ของ​พระ​เยซู​และ​เป็น​ลูก​ของ​อัลเฟอัส (มธ 10:2, 3; มก 3:18; ลก 6:15; กจ 1:13) คำ​ว่า “น้อย” อาจ​บ่ง​ชี้​ว่า​ยากอบ​คน​นี้​อายุ​น้อย​กว่า​หรือ​ตัว​เล็ก​กว่า​อัครสาวก​ยากอบ​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​เป็น​ลูก​ของ​เศเบดี

โยเสส: ย่อ​มา​จาก​ชื่อ​ภาษา​ฮีบรู​โยสิฟียาห์ ซึ่ง​แปล​ว่า “ขอ​ยาห์​เพิ่ม​เติม​ให้ (ทำ​ให้​มี​มาก​ขึ้น), ยาห์​เพิ่ม​เติม​ให้​แล้ว (ทำ​ให้​มี​มาก​ขึ้น​แล้ว)” แม้​สำเนา​พระ​คัมภีร์​บาง​ฉบับ​ใช้​คำ​ว่า “โยเซฟ” แต่​สำเนา​ที่​เก่าแก่​ส่วน​ใหญ่​ใช้​คำ​ว่า “โยเสส”—เทียบ​กับ​บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ มธ 27:56

สะโลเม: น่า​จะ​มา​จาก​คำ​ฮีบรู​ที่​หมาย​ความ​ว่า “สันติ​สุข” สะโลเม​เป็น​สาวก​คน​หนึ่ง​ของ​พระ​เยซู เมื่อ​เทียบ​บันทึก​ใน มธ 27:56 กับ มก 3:17 และ 15:40 ก็​ทำ​ให้​รู้​ว่า​สะโลเม​น่า​จะ​เป็น​แม่​ของ​อัครสาวก​ยากอบ​กับ​ยอห์น เพราะ​มัทธิว​เรียก​เธอ​ว่า “แม่​ของ​ยากอบ​กับ​ยอห์น​ที่​เป็น​ภรรยา​ของ​เศเบดี” ส่วน​มาระโก​เรียก​เธอ​ว่า “สะโลเม” นอก​จาก​นั้น เมื่อ​เทียบ​กับ​บันทึก​ที่ ยน 19:25 ก็​ทำ​ให้​รู้​ว่า​สะโลเม​อาจ​เป็น​น้อง​สาว​ของ​มารีย์​แม่​พระ​เยซู และ​ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น ยากอบ​กับ​ยอห์น​ก็​เป็น​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ของ​พระ​เยซู นอก​จาก​นั้น บันทึก​ที่ มธ 27:55, 56, มก 15:41 และ ลก 8:3 ทำ​ให้​รู้​ว่า​สะโลเม​น่า​จะ​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​ผู้​หญิง​ที่​คอย​ติด​ตาม​รับใช้​พระ​เยซู​โดย​ใช้​ทรัพย์​สิน​ของ​ตัว​เอง

วัน​เตรียม: เนื่อง​จาก​ดู​เหมือน​ว่า​มาระโก​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​เพื่อ​ผู้​อ่าน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว​เป็น​หลัก เขา​จึง​อธิบาย​คำ​นี้​ว่า​เป็น​วัน​ก่อน​สะบาโต ไม่​มี​คำ​อธิบาย​แบบ​นี้​ใน​หนังสือ​ข่าว​ดี​เล่ม​อื่น ๆ (มธ 27:62; ลก 23:54; ยน 19:31) ใน​วัน​นี้​ชาว​ยิว​จะ​เตรียม​ตัว​สำหรับ​วัน​สะบาโต​โดย​ทำ​อาหาร​เพิ่ม​และ​ทำ​งาน​ต่าง ๆ ที่​ต้อง​ทำ​ให้​เสร็จ​ก่อน​วัน​สะบาโต วัน​เตรียม​ที่​พูด​ถึง​ใน​ข้อ​นี้​ตรง​กับ​วัน​ที่ 14 เดือน​นิสาน—ดูส่วน​อธิบาย​ศัพท์

อาริมาเธีย: ชื่อ​ของ​เมือง​นี้​มา​จาก​คำ​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “ความ​สูง” บันทึก​ใน ลก 23:51 เรียก​เมือง​นี้​ว่า “เมือง . . . ของ​ชาว​ยูเดีย”—ดู​ภาค​ผนวก ข​10

ศาล​แซนเฮดริน: คือ​ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม คำ​กรีก​ที่​แปล​ว่า “แซนเฮดริน” (ซูนเอ็ดริออน ) มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “นั่ง​ลง​กับ” แม้​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​ทั่ว​ ๆ ไป​เพื่อ​หมาย​ถึง​ที่​ประชุม​หรือ​การ​ประชุม แต่​ใน​อิสราเอล​คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​คณะ​ผู้​พิพากษา​หรือ​ศาล​ที่​ตัดสิน​คดี​ทาง​ศาสนา—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 5:22 และส่วน​อธิบาย​ศัพท์; ดู​ภาค​ผนวก ข​12 เพื่อ​จะ​เห็น​ตำแหน่ง​ที่​น่า​จะ​เป็น​ศาล​แซนเฮดริน

โยเซฟ: ผู้​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​แต่​ละ​คน​ให้​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​โยเซฟ​คน​ละ​อย่าง มัทธิว​ซึ่ง​เป็น​คน​เก็บ​ภาษี​บอก​ว่า​โยเซฟ​เป็น “เศรษฐี” มาระโก​ซึ่ง​เขียน​สำหรับ​ชาว​โรมัน​บอก​ว่า​โยเซฟ​เป็น “สมาชิก​สภา​ผู้​มี​ชื่อเสียง” ที่​รอ​คอย​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า ส่วน​ลูกา​ซึ่ง​เป็น​หมอ​ที่​มี​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​บอก​ว่า​โยเซฟ “เป็น​คน​ดี​และ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า” และ​ไม่​ได้​ออก​เสียง​สนับสนุน​ให้​สภา​ตัดสิน​ลง​โทษ​พระ​เยซู และ​มี​ยอห์น​คน​เดียว​ที่​บอก​ว่า​โยเซฟ​เป็น “สาวก​คน​หนึ่ง​ของ​พระ​เยซู​ที่​ไม่​เปิด​เผย​ตัว​เพราะ​กลัว​พวก​ยิว”—มธ 27:57-60; มก 15:43-46; ลก 23:50-53; ยน 19:38-42

อาริมาเธีย: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:57

สมาชิก​สภา: คือ​สมาชิก​ของ​ศาล​แซนเฮดริน​ซึ่ง​เป็น​ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 26:59 และ​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “แซนเฮดริน

อุโมงค์​ฝัง​ศพ: หรือ “อุโมงค์​รำลึก” เป็น​ห้อง​หรือ​ช่อง​ที่​เจาะ​เข้า​ไป​ใน​หินปูน​เนื้อ​อ่อน ไม่​ได้​เป็น​ถ้ำ​ตาม​ธรรมชาติ ใน​อุโมงค์​แบบ​นี้​มัก​จะ​มี​ชั้น​ยาว​หรือ​ซอก​บน​ผนัง​ที่​ใช้​วาง​ศพ—ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “อุโมงค์​รำลึก

อุโมงค์​ฝัง​ศพ: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:60

หิน​ก้อน​หนึ่ง: ดู​เหมือน​เป็น​แผ่น​หิน​กลม เพราะ​ใน​ข้อ​นี้​บอก​ว่า​หิน​ก้อน​นี้​ถูก​กลิ้ง​มา​ปิด​ปาก​อุโมงค์ และ​ตอน​ที่​พระ​เยซู​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย มก 16:4 ก็​บอก​ว่า​หิน​นี้ “ถูก​กลิ้ง​ออก​ไป” หิน​นี้​น่า​จะ​หนัก​ประมาณ 1 ตัน​หรือ​มาก​กว่า​นั้น บันทึก​ใน​มัทธิว​ใช้​คำ​ว่า “หิน​ก้อน​ใหญ่”—มธ 27:60

วีดีโอและรูปภาพ

ศาล​แซนเฮดริน
ศาล​แซนเฮดริน

ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ที่​เรียก​ว่า​ศาล​แซนเฮดริน​ใหญ่​ประกอบ​ด้วย​สมาชิก 71 คน (ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “แซนเฮดริน”) หนังสือ​มิชนาห์​บอก​ว่า​มี​การ​จัด​ที่​นั่ง​ใน​ศาล​เป็น​รูป​ครึ่ง​วง​กลม​ซ้อน​กัน 3 แถว และ​มี​ผู้​คัด​ลอก 2 คน​คอย​บันทึก​คำ​พิพากษา​ของ​ศาล ราย​ละเอียด​ทาง​สถาปัตยกรรม​บาง​อย่าง​ใน​ภาพ​นี้​วาด​ขึ้น​โดย​มี​ต้น​แบบ​จาก​ซาก​อาคาร​หลัง​หนึ่ง​ที่​พบ​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ซึ่ง​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​เคย​เป็น​ห้อง​พิจารณา​คดี​ของ​ศาล​แซนเฮดริน​ใน​ศตวรรษ​แรก—ดูภาค​ผนวก ข​12, แผนที่ “กรุง​เยรูซาเล็ม​และ​บริเวณ​โดย​รอบ”

1. มหา​ปุโรหิต

2. สมาชิก​ศาล​แซนเฮดริน

3. จำเลย

4. เสมียน​ศาล

ตะปู​ใน​กระดูก​ส้น​เท้า
ตะปู​ใน​กระดูก​ส้น​เท้า

นี่​เป็น​ภาพ​จำลอง​กระดูก​ส้น​เท้า​ของ​มนุษย์​ที่​ถูก​ตอก​ด้วย​ตะปู​เหล็ก​ยาว 11.5 ซม. มี​การ​ขุด​พบ​ชิ้น​ส่วน​จริง​จาก​ยุค​โรมัน​ใน​ปี ค.ศ. 1968 ทาง​ตอน​เหนือ​ของ​กรุง​เยรูซาเล็ม หลักฐาน​ทาง​โบราณคดี​ชิ้น​นี้​ทำ​ให้​รู้​ว่า​อาจ​มี​การ​ใช้​ตะปู​ใน​การ​ประหาร​ชีวิต​คน​ที่​ถูก​ตรึง​บน​เสา​ไม้ ตะปู​นี้​อาจ​คล้าย​กับ​ตะปู​ที่​ทหาร​โรมัน​ใช้​ตรึง​พระ​เยซู​คริสต์​บน​เสา ชิ้น​ส่วน​นี้​ถูก​พบ​ใน​หีบ​หิน​ซึ่ง​เป็น​กล่อง​เก็บ​กระดูก​ที่​แห้ง​แล้ว​ของ​คน​ตาย​หลัง​จาก​เนื้อหนัง​ย่อย​สลาย​ไป​หมด​แล้ว นี่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คน​ที่​ถูก​ประหาร​ชีวิต​บน​เสา​อาจ​ได้​รับ​การ​ฝัง​ศพ​ด้วย

อุโมงค์​ฝัง​ศพ
อุโมงค์​ฝัง​ศพ

ชาว​ยิว​มัก​จะ​ฝัง​ศพ​คน​ตาย​ไว้​ใน​ถ้ำ​หรือ​ห้อง​ที่​เจาะ​เข้า​ไป​ใน​หิน ปกติ​แล้ว​อุโมงค์​ฝัง​ศพ​ของ​พวก​เขา​จะ​อยู่​นอก​เมือง ยก​เว้น​อุโมงค์​ของ​กษัตริย์ อุโมงค์​ฝัง​ศพ​ของ​ชาว​ยิว​มัก​เป็น​แบบ​เรียบ​ง่าย เพราะ​ชาว​ยิว​ไม่​นมัสการ​คน​ตาย​และ​ไม่​เชื่อ​ว่า​คน​ตาย​แล้ว​มี​วิญญาณ​ที่​เป็น​อมตะ