กิจการของอัครสาวก 6:1-15
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
คนยิวที่พูดภาษากรีก: แปลตรงตัวว่า “พวกเฮเลน” ดูเหมือนเป็นชาวยิวที่พูดภาษากรีก คนกลุ่มนี้เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มจากที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมัน ที่ กจ 6:1 มีการใช้คำนี้กับคริสเตียน แต่ในท้องเรื่องของข้อนี้แสดงให้เห็นว่าคำนี้ถูกใช้เพื่อหมายถึงชาวยิวที่พูดภาษากรีกที่ไม่ใช่คริสเตียน ศิลาจารึกของทีโอโดทุสซึ่งพบที่เนินเขาโอเฟลในกรุงเยรูซาเล็มให้หลักฐานว่ามีคนยิวที่พูดภาษากรีกจำนวนมากเดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:1
สาวกที่พูดภาษากรีก: แปลตรงตัวว่า “พวกเฮเลน” ไม่มีการใช้คำกรีก เฮ็ลเลนิสเทส เลยในหนังสือทั่วไปของชาวกรีกหรือของชาวยิวที่พูดภาษากรีก แต่ในท้องเรื่องนี้และในพจนานุกรมหลายฉบับสนับสนุนการแปลคำนี้ว่า “สาวกที่พูดภาษากรีก” ในตอนนั้น คริสเตียนทุกคนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มรวมทั้งคนที่พูดภาษากรีกเป็นลูกหลานของชาวยิว หรือเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว (กจ 10:28, 35, 44-48) มีการใช้คำว่า “สาวกที่พูดภาษากรีก” เพื่อแยกให้เห็นว่าเป็นคนละกลุ่มกับ “สาวกที่พูดภาษาฮีบรู” (แปลตรงตัวว่า “พวกฮีบรู” มาจากคำกรีก เฮ็บไรออส) ดังนั้น “พวกเฮเลน” ที่พูดถึงในข้อนี้คือชาวยิวที่พูดภาษากรีก คนกลุ่มนี้เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มจากที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมัน ซึ่งรวมถึงเดคาโปลิสด้วย แต่สาวกที่พูดภาษาฮีบรูส่วนใหญ่อาจเป็นชาวยูเดียและกาลิลี คริสเตียนชาวยิว 2 กลุ่มนี้น่าจะมีพื้นเพภูมิหลังที่แตกต่างกันอยู่บ้าง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:29
สาวกที่พูดภาษาฮีบรู: แปลตรงตัวว่า “พวกฮีบรู” มาจากคำกรีก เฮ็บไรออส (ในรูปเอกพจน์) ที่ปกติแล้วหมายถึงคนอิสราเอลหรือคนฮีบรู (2คร 11:22; ฟป 3:5) แต่ในท้องเรื่องนี้มีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงสาวกชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรูซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับสาวกชาวยิวที่พูดภาษากรีก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าสาวกที่พูดภาษากรีกในข้อนี้และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
การแจกอาหารประจำวัน: หรือ “งานรับใช้ประจำวัน” มาจากคำกรีก เดียคอเนีย ซึ่งมักจะแปลว่า “งานรับใช้” แต่ในข้อนี้มีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของงานรับใช้ซึ่งก็คือการดูแลพี่น้องในประชาคมที่ขัดสน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:2 ซึ่งพูดถึงคำกริยา เดียคอเนะโอ ที่แปลว่า “แจกอาหาร”; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:3 ด้วย
รับใช้พระเยซูกับอัครสาวก: หรือ “ให้การสนับสนุน (จัดเตรียมให้) พวกเขา” คำกรีก เดียคอเนะโอ อาจหมายถึงการช่วยเหลือคนอื่น ๆ ด้านร่างกายโดยจัดหาอาหาร ทำอาหาร ยกอาหารมาให้และอื่น ๆ มีการใช้คำนี้ในความหมายคล้ายกันที่ ลก 10:40 (“ทำงาน”) ลก 12:37; 17:8 (“คอยรับใช้”) และ กจ 6:2 (“แจกอาหาร”) และคำนี้ยังหมายถึงการรับใช้คนอื่นในแบบที่คล้ายกันนี้ด้วย ในข้อ 2 และ 3 พูดถึงพวกผู้หญิงที่สนับสนุนพระเยซูและสาวกเพื่อช่วยพวกเขาให้ทำงานที่พระเจ้ามอบหมายได้สำเร็จ การทำแบบนี้เป็นวิธีที่พวกเธอยกย่องสรรเสริญพระเจ้า และพระองค์ก็เห็นคุณค่าสิ่งที่พวกเธอทำโดยให้บันทึกเรื่องราวที่พวกเธอแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างใจกว้างไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้คนรุ่นหลังได้อ่าน (สภษ 19:17; ฮบ 6:10) มีการใช้คำกริยากรีกนี้กับพวกผู้หญิงที่พูดถึงใน มธ 27:55; มก 15:41 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:26 ซึ่งพูดถึงคำนาม เดียคอนอส ที่เกี่ยวข้องกัน
แจกอาหาร: หรือ “รับใช้” มีการใช้คำกรีก เดียคอเนะโอ ในข้อนี้เพื่อพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของการรับใช้ก็คือ การดูแลเพื่อนร่วมความเชื่อในประชาคมที่ขัดสนและสมควรได้รับความช่วยเหลือ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:1 ซึ่งพูดถึงคำนาม เดียคอเนีย ที่แปลว่า “การแจกอาหาร”; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:3 ด้วย
ภาษาฮีบรู: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ผู้เขียนพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ฮีบรู” เพื่อหมายถึงภาษาที่ชาวยิวพูดกัน (ยน 19:13, 17, 20; กจ 21:40; 22:2; วว 9:11; 16:16) และเป็นภาษาที่พระเยซูพูดกับเซาโลที่มาจากเมืองทาร์ซัสหลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตายและกลับไปสวรรค์แล้ว (กจ 26:14, 15) และที่ กจ 6:1 ก็พูดถึงสาวก 2 กลุ่มคือ “สาวกที่พูดภาษาฮีบรู” และ “สาวกที่พูดภาษากรีก” ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์บางคนบอกว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ควรใช้คำว่า “ภาษาอาราเมอิก” ไม่ใช่ “ภาษาฮีบรู” แต่มีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่าการใช้คำว่า “ภาษาฮีบรู” ถูกต้องกว่า ครั้งหนึ่งลูกาบอกว่าเปาโลพูดกับชาวกรุงเยรูซาเล็ม “เป็นภาษาฮีบรู” เพราะตอนนั้นเปาโลกำลังพูดกับคนที่ศึกษากฎหมายของโมเสสที่เขียนเป็นภาษาฮีบรู นอกจากนั้น เมื่อสำรวจชิ้นส่วนและเอกสารในม้วนหนังสือทะเลตายทั้งส่วนที่เป็นพระคัมภีร์และไม่ใช่พระคัมภีร์ที่เขียนในภาษาฮีบรูก็พบว่า เอกสารเหล่านั้นส่วนใหญ่เขียนในภาษาฮีบรู แสดงว่าภาษาฮีบรูเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น เอกสารเหล่านั้นบางส่วนก็เขียนในภาษาอาราเมอิกด้วย แสดงว่าในตอนนั้นมีการใช้ทั้งภาษาฮีบรูและอาราเมอิก ดังนั้น ถ้าผู้เขียนพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ภาษาฮีบรู” เขาก็ไม่น่าจะหมายถึงภาษาอาราเมอิกหรือภาษาซีเรีย (กจ 21:40; 22:2; เทียบกับ กจ 26:14) พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ 2พก 18:26 ก็พูดถึงทั้ง “ภาษาอาราเมอิก” และ “ภาษาของชาวยิว” ซึ่งโยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรกคิดว่าข้อคัมภีร์นี้พูดถึง 2 ภาษาที่แตกต่างกัน คือภาษาอาราเมอิกและภาษาฮีบรู (Jewish Antiquities, X, 8 [i, 2]) จริงอยู่ที่บางคำในภาษาอาราเมอิกและฮีบรูมีความคล้ายคลึงกันและมีบางคำในภาษาฮีบรูเอามาจากภาษาอาราเมอิก แต่ดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกจะใช้คำว่าภาษาฮีบรูเพื่อหมายถึงภาษาอาราเมอิก
การแจกอาหารประจำวัน: หรือ “งานรับใช้ประจำวัน” มาจากคำกรีก เดียคอเนีย ซึ่งมักจะแปลว่า “งานรับใช้” แต่ในข้อนี้มีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของงานรับใช้ซึ่งก็คือการดูแลพี่น้องในประชาคมที่ขัดสน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:2 ซึ่งพูดถึงคำกริยา เดียคอเนะโอ ที่แปลว่า “แจกอาหาร”; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:3 ด้วย
รับใช้พระเยซูกับอัครสาวก: หรือ “ให้การสนับสนุน (จัดเตรียมให้) พวกเขา” คำกรีก เดียคอเนะโอ อาจหมายถึงการช่วยเหลือคนอื่น ๆ ด้านร่างกายโดยจัดหาอาหาร ทำอาหาร ยกอาหารมาให้และอื่น ๆ มีการใช้คำนี้ในความหมายคล้ายกันที่ ลก 10:40 (“ทำงาน”) ลก 12:37; 17:8 (“คอยรับใช้”) และ กจ 6:2 (“แจกอาหาร”) และคำนี้ยังหมายถึงการรับใช้คนอื่นในแบบที่คล้ายกันนี้ด้วย ในข้อ 2 และ 3 พูดถึงพวกผู้หญิงที่สนับสนุนพระเยซูและสาวกเพื่อช่วยพวกเขาให้ทำงานที่พระเจ้ามอบหมายได้สำเร็จ การทำแบบนี้เป็นวิธีที่พวกเธอยกย่องสรรเสริญพระเจ้า และพระองค์ก็เห็นคุณค่าสิ่งที่พวกเธอทำโดยให้บันทึกเรื่องราวที่พวกเธอแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างใจกว้างไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้คนรุ่นหลังได้อ่าน (สภษ 19:17; ฮบ 6:10) มีการใช้คำกริยากรีกนี้กับพวกผู้หญิงที่พูดถึงใน มธ 27:55; มก 15:41 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:26 ซึ่งพูดถึงคำนาม เดียคอนอส ที่เกี่ยวข้องกัน
ถูกต้อง: แปลตรงตัวว่า “ทำให้พอใจ” พระเจ้าและพวกอัครสาวกคงไม่พอใจถ้าต้องทิ้งการ “สอนคำสอนของพระเจ้า”—กจ 6:4
แจกอาหาร: หรือ “รับใช้” มีการใช้คำกรีก เดียคอเนะโอ ในข้อนี้เพื่อพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของการรับใช้ก็คือ การดูแลเพื่อนร่วมความเชื่อในประชาคมที่ขัดสนและสมควรได้รับความช่วยเหลือ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:1 ซึ่งพูดถึงคำนาม เดียคอเนีย ที่แปลว่า “การแจกอาหาร”; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:3 ด้วย
ผู้ชาย . . . ที่มีชื่อเสียงดี: หรือ “ผู้ชาย . . . ที่คนพูดถึงในแง่ดี” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้คือ มาร์ทูเระโอ (“ให้หลักฐานยืนยัน”) จำเป็นต้องมีผู้ชายที่มีคุณสมบัติเพราะงานนี้ไม่ใช่แค่การแจกจ่ายอาหาร แต่ต้องดูแลเรื่องเงิน ซื้อของ และทำบันทึกอย่างละเอียดรอบคอบ ในข้อคัมภีร์นี้บอกว่าพี่น้องชายที่ถูกเลือกต้องแสดงหลักฐานให้เห็นในชีวิตว่าพวกเขาเต็มไปด้วยพลังของพระเจ้าและมีสติปัญญา ปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาคมตอนนี้เป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก พี่น้องต้องเจอกับความยากลำบาก และพวกเขาก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีพี่น้องชายที่มีประสบการณ์ มีวิจารณญาณที่ดี สุขุมรอบคอบ และมีความเข้าใจ คนหนึ่งที่ถูกเลือกก็คือสเทเฟน และคำให้การของเขาต่อหน้าศาลแซนเฮดรินก็แสดงให้เห็นว่าเขามีคุณสมบัติที่เหมาะสม—กจ 7:2-53
สอนคำสอนของพระเจ้า: คำว่า “สอน” ในข้อนี้มาจากคำกรีก เดียคอเนีย มีการใช้คำนี้ทั้งที่ กจ 6:1 และ 6:4 จึงทำให้เห็นชัดเจนว่าในท้องเรื่องนี้พูดถึงงานรับใช้ 2 อย่าง คือการแจกจ่ายอาหารให้คนที่ขัดสนอย่างเท่าเทียมกัน และการให้ความรู้ที่เสริมความเชื่อจากคำสอนของพระเจ้า พวกอัครสาวกรู้ว่าไม่เหมาะถ้าพวกเขาจะทุ่มเทเวลาไปกับการแจกจ่ายอาหาร แทนที่จะให้ความสนใจกับงานหลักของพวกเขาก็คือการช่วยประชาคมให้เข้มแข็งโดยการศึกษาอย่างจริงจัง รวมทั้งค้นคว้า สอน และบำรุงเลี้ยงพี่น้อง แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าการช่วยเหลือแม่ม่ายที่ขัดสนในประชาคมเป็นส่วนสำคัญของงานรับใช้ด้วย ต่อมา พระยะโฮวาได้ดลใจให้ยากอบเขียนว่าถ้าใครอยากจะนมัสการพระเจ้าในแบบที่พระองค์ยอมรับ พวกเขาต้อง “ดูแลลูกกำพร้ากับแม่ม่ายที่มีความทุกข์ยาก” (ยก 1:27) แต่พวกอัครสาวกก็รู้ว่างานที่สำคัญกว่าสำหรับพวกเขาก็คือการดูแลความเชื่อของสาวกทุกคน รวมทั้งพวกแม่ม่ายด้วย
อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย: เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างแคว้นฟรีเจียและแคว้นปิสิเดีย ดังนั้น ในบางช่วงผู้คนก็มองว่าเมืองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นฟรีเจีย และบางช่วงพวกเขาก็มองว่าเป็นส่วนของแคว้นปิสิเดีย นอกจากนั้น เมืองนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นกาลาเทียของโรมด้วย ซากของเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้เมืองเยาวัคของประเทศตุรกีในปัจจุบัน มีการพูดถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียในข้อนี้และที่ กจ 14:19, 21 ด้วย การเดินทางจากเมืองเปอร์กาที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาที่เมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก เพราะเมืองอันทิโอกอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 เมตร (ดูภาคผนวก ข13) และยังมีกองโจรซุ่มอยู่ตามจุดต่าง ๆ บนภูเขาด้วย เมือง “อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย” เป็นคนละเมืองกับเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย (กจ 6:5; 11:19; 13:1; 14:26; 15:22; 18:22) และส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึงเมืองอันทิโอกในหนังสือกิจการก็มักจะหมายถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย
ได้ชื่อว่า . . . ตามการชี้นำจากพระเจ้า: คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลส่วนใหญ่ใช้แค่คำว่า “ได้ชื่อว่า” แต่คำกรีกที่มักจะแปลว่า “ได้ชื่อว่า, เรียก” เป็นคนละคำกับที่ใช้ในข้อนี้ (มธ 1:16; 2:23; มก 11:17; ลก 1:32; กจ 1:12, 19) คำนี้มาจากคำกริยากรีก ฆเรมาทีโศ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีคำนี้อยู่ 9 ครั้งและส่วนใหญ่แล้วมักใช้เมื่อพูดถึงสิ่งที่มาจากพระเจ้า (มธ 2:12, 22; ลก 2:26; กจ 10:22; 11:26; รม 7:3; ฮบ 8:5; 11:7; 12:25) ตัวอย่างเช่น ที่ กจ 10:22 มีการใช้คำนี้กับสำนวน “ผ่านทางทูตสวรรค์บริสุทธิ์” และที่ มธ 2:12, 22 ก็ใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความฝันที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า คำนามที่เกี่ยวข้องกันคือ ฆเรมาทิสม็อส มีอยู่ที่ รม 11:4 ซึ่งพจนานุกรมและฉบับแปลส่วนใหญ่แปลว่า “พระเจ้าตอบ, คำตอบของพระเจ้า” เป็นไปได้ว่าพระยะโฮวาชี้นำให้เซาโลกับบาร์นาบัสใช้ชื่อคริสเตียน บางคนเชื่อว่าพวกคนต่างชาติในอันทิโอกอาจใช้ชื่อคริสเตียนเพื่อเรียกสาวกของพระเยซูแบบเยาะเย้ยดูถูก แต่การใช้คำกรีก ฆเรมาทีโศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าเป็นผู้ตั้งชื่อคริสเตียน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พวกยิวจะเรียกคนที่ติดตามพระเยซูว่า “คริสเตียน” (มาจากคำกรีก) หรือ “พวกเมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู) เพราะพวกเขาไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ พวกเขาจึงไม่น่าจะเรียกสาวกของพระเยซูว่าคริสเตียน เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เหมือนเป็นการยอมรับพระเยซูว่าเป็นผู้ถูกเจิมหรือพระคริสต์
คริสเตียน: คำกรีก ฆริสทิอานอส มีความหมายว่า “ผู้ติดตามพระคริสต์” มีอยู่แค่ 3 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (กจ 11:26; 26:28; 1ปต 4:16) คำนี้มาจากคำว่า ฆะริสท็อส ที่มีความหมายว่าพระคริสต์หรือผู้ถูกเจิม คริสเตียนติดตามตัวอย่างและทำตามคำสอนของ “พระคริสต์” หรือผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา (ลก 2:26; 4:18) สาวกได้ชื่อว่า “คริสเตียน . . . ตามการชี้นำจากพระเจ้า” และดูเหมือนพวกเขาได้ชื่อนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 44 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บันทึกอยู่ในข้อนี้ ชื่อนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะตอนที่เปาโลไปพบกับกษัตริย์เฮโรดอากริปปา ที่ 2 ประมาณปี ค.ศ. 58 อากริปปาก็รู้แล้วว่าคริสเตียนเป็นใคร (กจ 26:28) นักประวัติศาสตร์ทาซิทุสก็ทำให้เห็นว่าประมาณปี ค.ศ. 64 ผู้คนทั่วไปในโรมก็รู้จักคำว่า “คริสเตียน” แล้ว นอกจากนั้น ระหว่างปี ค.ศ. 62 ถึง 64 เปโตรก็เขียนจดหมายฉบับแรกถึงคริสเตียนที่กระจัดกระจายในจักรวรรดิโรมัน ในตอนนั้น ดูเหมือนว่าชื่อคริสเตียนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และผู้คนรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร (1ปต 1:1, 2; 4:16) การได้ชื่อนี้จากพระเจ้าทำให้ไม่มีใครเข้าใจผิดอีกแล้วว่าสาวกของพระเยซูคริสต์เป็นลัทธิหนึ่งของศาสนายิว
สเทเฟน . . . ฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปาร์เมนัส และนิโคเลาส์: พี่น้องชายทั้ง 7 คนนี้มีชื่อกรีก แสดงให้เห็นว่าท่ามกลางพี่น้องชายที่มีคุณสมบัติทั้งหมดในกรุงเยรูซาเล็ม พวกอัครสาวกตั้งใจเลือกชาวยิวหรือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่พูดภาษากรีก แต่มีนิโคเลาส์คนเดียวที่ถูกเรียกว่าชาวเมืองอันทิโอกซึ่งเคยเข้าศาสนายิว นี่แสดงให้เห็นว่าเขาอาจเป็นคนเดียวในกลุ่มนี้ที่ไม่ใช่ชาวยิวแท้ ๆ ส่วนชื่อของพี่น้องชายที่ถูกเลือกอีก 6 คนเป็นชื่อกรีกที่ใช้กันทั่วไปแม้แต่ในหมู่ชาวยิว จึงดูเหมือนว่าพวกอัครสาวกที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองในตอนนั้นได้เลือกพี่น้องชายทั้ง 7 คนนี้โดยคำนึงถึงความรู้สึกของชาวยิวที่พูดภาษากรีก—กจ 6:1-6
อันทิโอก: ที่นี่เป็นที่แรกในคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงเมืองอันทิโอก เมืองนี้อยู่ห่างออกไปทางเหนือของกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 500 กม. อันทิโอกกลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมันในปี 64 ก่อน ค.ศ. พอถึงศตวรรษที่ 1 เมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย ถึงแม้เมืองอันทิโอกของซีเรียจะเป็นเมืองที่สวยงามและมีอิทธิพลอย่างมากทางการเมือง การค้า และวัฒนธรรม แต่เมืองนี้ก็ขึ้นชื่อในเรื่องของศีลธรรมที่เสื่อมทราม ว่ากันว่าการที่มีคนยิวอยู่ในเมืองนี้เป็นจำนวนมากทำให้มีคนที่พูดภาษากรีกเปลี่ยนมานับถือศาสนายิวจำนวนมากด้วย นิโคเลาส์ก็เป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน บาร์นาบัสกับอัครสาวกเปาโลเคยทำงานประกาศอยู่ที่เมืองอันทิโอกประมาณ 1 ปี เปาโลก็เคยใช้เมืองนี้เป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารี เมืองนี้เป็นเมืองที่สาวกของพระเยซู “ได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรกตามการชี้นำจากพระเจ้า” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 11:26) เมืองอันทิโอกในข้อนี้เป็นคนละเมืองกับเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียที่พูดถึงใน กจ 13:14—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:14 และภาคผนวก ข13
วางมือบนพวกเขา: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีการวางมือทั้งบนคนและบนสัตว์ การวางมือแบบนี้มีความหมายหลายอย่าง (ปฐก 48:14; ลนต 16:21; 24:14) ปกติแล้วการวางมือบนคนหมายถึงการยอมรับว่าคนนั้นมีหน้าที่พิเศษ หรือแต่งตั้งคนนั้นให้ทำงานที่พิเศษ (กดว 8:10) ตัวอย่างเช่น โมเสสวางมือบนโยชูวาเพื่อยอมรับว่าเขาจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโมเสส ผลคือโยชูวา “ได้รับพลังจากพระเจ้าซึ่งทำให้เขามีสติปัญญา” และสามารถนำชาติอิสราเอลได้อย่างดี (ฉธบ 34:9) ในบันทึกนี้ที่ กจ 6:6 พวกอัครสาวกวางมือบนพวกพี่น้องชายเพื่อแต่งตั้งพวกเขาให้ทำหน้าที่รับผิดชอบบางอย่าง พวกอัครสาวกทำอย่างนั้นหลังจากที่ได้อธิษฐานแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการพึ่งการชี้นำจากพระเจ้า ต่อมา คณะผู้ดูแลในประชาคมก็วางมือเพื่อแต่งตั้งทิโมธีให้ทำหน้าที่พิเศษ (1ทธ 4:14) ทิโมธีก็ได้รับอำนาจให้แต่งตั้งคนอื่นโดยการวางมือบนพวกเขา แต่เขาจะทำอย่างนั้นหลังจากเขาได้พิจารณาคุณสมบัติของพี่น้องคนนั้นแล้ว—1ทธ 5:22
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
สิ่งมหัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ” มาจากคำกรีก เทะราส ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักใช้คำนี้คู่กับคำ เซเม่ออน ที่หมายถึง “ปาฏิหาริย์” ในหลายท้องเรื่อง (มธ 24:24; ยน 4:48; กจ 7:36; 14:3; 15:12; 2คร 12:12) หลัก ๆ แล้วคำว่า เทะราส หมายถึงสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกทึ่งหรืออัศจรรย์ใจ เมื่อมีการใช้คำนี้ในท้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบอกอนาคตก็จะมีการใส่คำว่า “หมายสำคัญ” ไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาด้วย
ที่ประชุมของเสรีชน: ช่วงที่โรมปกครอง คนที่เป็น “เสรีชน” คือคนที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส เชื่อกันว่าคนที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมนี้คือชาวยิวที่เคยถูกพวกโรมันจับไปเป็นเชลยแล้วหลังจากนั้นก็ถูกปล่อยตัว ส่วนคนอื่น ๆ คิดว่าเสรีชนที่พูดถึงในข้อนี้เป็นทาสที่ได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระแล้วก็เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว
ผู้นำ: แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (เช่นที่ ลก 15:25; กจ 2:17) แต่ก็มีความหมายในแง่อื่นด้วย ในข้อนี้คำว่า “ผู้นำ” หมายถึงพวกผู้นำชาวยิวซึ่งคัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงพวกเขาพร้อมกับพวกปุโรหิตใหญ่และครูสอนศาสนา สมาชิกศาลแซนเฮดรินก็ประกอบด้วยคนจาก 3 กลุ่มนี้—มธ 21:23; 26:3, 47, 57; 27:1, 41; 28:12; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ผู้นำ”
ผู้นำ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
ชาวนาซาเร็ธ: เป็นฉายาเรียกพระเยซู และต่อมาก็ใช้เรียกสาวกของท่านด้วย (กจ 24:5) เนื่องจากชาวยิวหลายคนมีชื่อว่าเยซู จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเพิ่มคำเพื่อระบุตัวตน ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คำที่เพิ่มเข้าไปก็มักจะเป็นถิ่นเดิมหรือบ้านเกิดของคนนั้น (2ซม 3:2, 3; 17:27; 23:25-39; นฮม 1:1; กจ 13:1; 21:29) ตอนพระเยซูเป็นเด็กท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี จึงเป็นเรื่องปกติที่จะใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อของท่าน พระเยซูถูกเรียกว่า “ชาวนาซาเร็ธ” ในหลายโอกาส และมีหลายคนเรียกท่านแบบนี้ (มก 1:23, 24; 10:46, 47; 14:66-69; 16:5, 6; ลก 24:13-19; ยน 18:1-7) พระเยซูก็ยอมรับชื่อนี้และเรียกตัวเองแบบนี้ด้วย (ยน 18:5-8; กจ 22:6-8) บนป้ายที่ปีลาตให้ติดไว้บนเสาทรมานของพระเยซู เขาเขียนในภาษาฮีบรู ละติน และกรีกว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19, 20) ตั้งแต่วันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 พวกอัครสาวกและคนอื่น ๆ ก็มักพูดถึงพระเยซูว่าเป็นชาวนาซาเร็ธด้วย—กจ 2:22; 3:6; 4:10; 6:14; 10:38; 26:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:23 ด้วย
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
เหมือนหน้าทูตสวรรค์: ทั้งคำฮีบรูและคำกรีกที่แปลว่า “ทูตสวรรค์” มีความหมายว่า “ผู้ส่งข่าว” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:51) เนื่องจากทูตสวรรค์เป็นผู้ส่งข่าวจากพระเจ้า พวกเขาจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัว แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาสงบนิ่งเพราะมั่นใจว่ามีพระเจ้าคอยหนุนหลังอยู่ หน้าของสเทเฟนก็เป็นเหมือนทูตสวรรค์ที่เป็นผู้ส่งข่าวจากพระเจ้า สีหน้าของเขาไม่ได้แสดงว่าเขาทำผิดอะไร แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาสงบนิ่งและสีหน้าของเขาแสดงให้เห็นว่าเขามั่นใจว่ามีพระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่” คอยหนุนหลังอยู่—กจ 7:2
ทูตของพระเจ้า: หรือ “ผู้ส่งข่าว” คำกรีก อางเกะลอส และคำฮีบรู มาลาค ที่มีความหมายเหมือนกันมีอยู่เกือบ 400 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิล ทั้ง 2 คำมีความหมายหลักว่า “ผู้ส่งข่าว” ในท้องเรื่องที่พูดถึงผู้ส่งข่าวของพระเจ้าที่มาจากสวรรค์ ก็จะมีการแปลว่า “ทูตสวรรค์” หรือ “ทูตของพระเจ้า” แต่ในท้องเรื่องที่พูดถึงมนุษย์ ก็จะแปลว่า “ผู้ส่งข่าว” ในท้องเรื่องส่วนใหญ่จะบอกชัดเจนว่ากำลังพูดถึงทูตสวรรค์หรือมนุษย์ แต่ถ้าไม่ชัดเจนก็มักจะมีการใช้เชิงอรรถเพื่อแสดงให้เห็นการแปลอีกแบบหนึ่ง (ปฐก 16:7; 32:3; โยบ 4:18, เชิงอรรถ; 33:23, เชิงอรรถ; ปญจ 5:6, เชิงอรรถ; อสย 63:9, เชิงอรรถ; มธ 1:20; ยก 2:25; วว 22:8; ดูส่วนอธิบายศัพท์) ในหนังสือวิวรณ์ที่มีภาพเชิงสัญลักษณ์มากมาย บางครั้งคำว่าทูตหรือทูตสวรรค์อาจหมายถึงมนุษย์ก็ได้—วว 2:1, 8, 12, 18; 3:1, 7, 14
วีดีโอและรูปภาพ

ภาพที่เห็นอยู่นี้คือศิลาจารึกของทีโอโดทุสซึ่งเป็นแผ่นหินปูนที่มีข้อความจารึก แผ่นหินนี้กว้าง 42 ซม. ยาว 72 ซม. ศิลานี้ถูกพบตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่เนินเขาโอเฟลในกรุงเยรูซาเล็ม ข้อความบนศิลานี้เขียนเป็นภาษากรีก และพูดถึงทีโอโดทุสซึ่งเป็นปุโรหิตที่ “สร้างที่ประชุมของชาวยิวเพื่อเป็นที่อ่านและสอนกฎหมายของโมเสส” ข้อความจารึกนี้ทำขึ้นก่อนกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70 และให้หลักฐานว่ามีชาวยิวที่พูดภาษากรีกอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษแรก (กจ 6:1) บางคนเชื่อว่าที่ประชุมของชาวยิวแห่งนี้เป็นที่เดียวกับที่เรียกกันว่า “ที่ประชุมของเสรีชน” (กจ 6:9) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสและพ่อกับปู่ของเขามีตำแหน่ง อาร์ฆีซูนาโกกอส (“หัวหน้าที่ประชุมของชาวยิว”) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงหลายครั้ง (มก 5:35; ลก 8:49; กจ 13:15; 18:8, 17) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสสร้างที่พักสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นชาวยิวที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม โดยเฉพาะคนที่มาร่วมเทศกาลสำคัญประจำปี—กจ 2:5

นี่เป็นภาพเมืองอันทาเกียของประเทศตุรกีในปัจจุบัน เมืองนี้ตั้งอยู่ตรงที่ที่เคยเป็นเมืองอันทิโอกในสมัยโบราณ เมืองอันทิโอกเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมัน พอถึงในศตวรรษที่ 1 ว่ากันว่าเมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย บางคนคิดว่าเมืองนี้มีประชากรประมาณ 250,000 คนหรือมากกว่านั้น หลังจากสเทเฟนถูกฝูงชนในกรุงเยรูซาเล็มฆ่าและสาวกของพระเยซูเริ่มถูกข่มเหง สาวกบางคนก็ย้ายมาที่เมืองอันทิโอก พวกเขาประกาศข่าวดีกับคนที่พูดภาษากรีกและมีหลายคนสนใจ (กจ 11:19-21) ต่อมาอัครสาวกเปาโลใช้เมืองนี้เป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารี และ “ที่เมืองอันทิโอกนี่เองที่สาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก” (กจ 11:26) เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียเป็นคนละเมืองกับ “อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย” (ซึ่งอยู่ตอนกลางของตุรกี) ที่พูดถึงใน กจ 13:14; 14:19, 21 และ 2ทธ 3:11