เขียนโดยยอห์น 2:1-25
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
คานา: อาจมาจากคำฮีบรู คาเนห์ ที่แปลว่า “ต้นอ้อ” ดังนั้น ชื่อเมืองนี้น่าจะหมายถึง “ที่ที่มีต้นอ้อ” มีเฉพาะยอห์นเท่านั้นที่พูดถึงเมืองนี้ และเรียกเมืองนี้ว่าเมืองคานาในแคว้นกาลิลี (ยน 2:11; 4:46; 21:2) ที่เรียกแบบนี้อาจเป็นเพราะเขาอยากให้เห็นว่าเมืองนี้เป็นคนละเมืองกับเมืองคานาห์ (คำฮีบรู คานาห์) ที่ตั้งอยู่ในเขตแดนของตระกูลอาเชอร์ (ยชว 19:24, 28) ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าที่ตั้งของเมืองคานาในคัมภีร์ไบเบิลคือเมืองกีร์เบต คานาในปัจจุบันซึ่งอยู่ห่างจากเมืองนาซาเร็ธไปทางเหนือประมาณ 13 กม. ในเมืองกีร์เบต คานามีเนินเขาลูกหนึ่งอยู่ทางเหนือสุดของหุบเขาเบท เนโทฟา (ที่ราบเอลบัททุฟ) และบนเนินเขานี้มีซากหมู่บ้านโบราณอยู่ ทุกวันนี้ยังมีการเรียกบริเวณนั้นในภาษาอาหรับว่า คานา เอลเจลลิล ซึ่งมีความหมายว่าเมืองคานาในแคว้นกาลิลี และใกล้ ๆ บริเวณนั้นก็เป็นที่ลุ่มชื้นแฉะที่มีต้นอ้ออยู่เยอะ ทำให้เหมาะที่จะเรียกเมืองนั้นว่าเมืองคานา ที่นั่นยังมีซากของบ่อเก็บน้ำใต้ดินและซากปรักหักพังที่เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ประชุมของชาวยิว (สร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 1 หรือศตวรรษที่ 2) นอกจากนั้น ยังมีการพบเศษภาชนะดินเหนียวและเหรียญที่เชื่อกันว่าทำขึ้นในศตวรรษที่ 1 ด้วย แต่คำสอนของคริสตจักรบอกว่าเมืองคานาในคัมภีร์ไบเบิลคือเมืองคาฟร์ คานนา ที่อยู่ห่างจากเมืองนาซาเร็ธไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 6.5 กม. พวกเขาอาจเชื่ออย่างนี้เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ในที่ที่พวกนักแสวงบุญจากนาซาเร็ธสามารถเดินทางไปได้ง่าย แต่ชื่อของเมืองนี้ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับเมืองคานาในแคว้นกาลิลีที่พูดถึงในคัมภีร์ไบเบิล
แม่: แปลตรงตัวว่า “ผู้หญิง” พระเยซูใช้คำว่า “ผู้หญิง” บ่อย ๆ เพื่อเรียกแม่ของท่านและผู้หญิงคนอื่น ๆ (ยน 4:21) และในหลายท้องเรื่องถือว่าเป็นคำสุภาพ (มธ 15:28) ไม่ใช่คำหยาบคายหรือคำที่ไม่แสดงความนับถือ และในพระคัมภีร์ภาษาเดิม ทูตสวรรค์กับพระเยซูซึ่งฟื้นขึ้นจากตายแล้วก็ใช้คำนี้เรียกมารีย์มักดาลาตอนที่เธอร้องไห้อยู่หน้าอุโมงค์ฝังศพของพระเยซู แสดงว่าคำนี้ไม่ได้แสดงถึงความก้าวร้าวหรือไม่นับถือ (ยน 20:13, 15) ตอนที่พระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมาน ท่านก็ใช้คำนี้พูดถึงแม่ของท่านเมื่อฝากฝังแม่ไว้กับอัครสาวกยอห์นที่ท่านรัก (ยน 19:26) ท่านทำแบบนี้ตามหน้าที่ของลูกที่บอกไว้ในพระคัมภีร์ (อพย 20:12; ฉธบ 5:16; มธ 15:4) แหล่งอ้างอิงหลายแหล่งก็ยืนยันว่ามีการใช้คำว่า “ผู้หญิง” ในแบบที่แสดงความรักและความนับถือแบบนี้จริง ๆ
เราอย่าไปกังวลเลยแม่: ตอนที่มารีย์บอกพระเยซูว่า “ทำยังไงดี เหล้าองุ่นจะหมดแล้ว?” (ยน 2:3) เธอน่าจะอยากขอให้พระเยซูทำอะไรบางอย่าง นี่เป็นเรื่องที่น่าสังเกตเพราะจนถึงตอนนั้นพระเยซูยังไม่เคยทำการอัศจรรย์อะไรเลย พระเยซูตอบแม่ของท่านด้วยสำนวนภาษาเซมิติกที่แปลตรงตัวว่า “เกี่ยวอะไรกับผมและคุณล่ะ?” ส่วนใหญ่แล้วมีการใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายจริง ๆ ก็ต้องดูตามท้องเรื่อง ถึงแม้บางครั้งสำนวนนี้ถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดชังและขับไล่ไสส่ง (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28) แต่ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนว่าเป็นการปฏิเสธอย่างนุ่มนวล (ตัวอย่างการใช้สำนวนนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อปฏิเสธอย่างนุ่มนวลอยู่ที่ 2ซม 16:9, 10 และ 1พก 17:18) คำพูดของพระเยซูในประโยคถัดไปที่บอกว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาของผมทำให้รู้เหตุผลที่ท่านยังไม่จัดการอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่คิดจะช่วยอะไรเลย เราเห็นเรื่องนี้ได้จากคำพูดของมารีย์ในข้อ 5
ถัง: นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลหลายคนบอกว่าหน่วยตวงที่พูดถึงในข้อนี้ (คำกรีก เม็ทเรเทส) มีความจุเท่ากับหน่วยตวงบัทของฮีบรู การค้นพบชิ้นส่วนไหที่มีคำว่า “บัท” ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรฮีบรูโบราณทำให้นักวิชาการบางคนเข้าใจว่า 1 บัทน่าจะมีความจุประมาณ 22 ลิตร (1พก 7:26; อสร 7:22; อสค 45:14) ถ้าเป็นอย่างนั้น โอ่งหินแต่ละใบในบันทึกนี้อาจมีความจุตั้งแต่ 44 ถึง 66 ลิตร โอ่งหิน 6 ใบจึงจุได้ประมาณ 260 ถึง 390 ลิตร แต่นักวิชาการคนอื่น ๆ เชื่อว่าคำว่าถังในข้อนี้อาจเป็นหน่วยตวงของกรีกที่มีความจุได้ถึง 40 ลิตร—ดูภาคผนวก ข14
ทำการอัศจรรย์ครั้งแรก: การที่พระเยซูเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นเป็นการอัศจรรย์ครั้งแรกที่ท่านทำ และมียอห์นคนเดียวที่บันทึกเรื่องนี้
เทศกาลปัสกา: ดูเหมือนเป็นเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 32 ซึ่งเป็นปัสกาครั้งที่ 3 ของพระเยซูตอนที่ท่านรับใช้อยู่บนโลก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:13; 5:1; 11:55 และภาคผนวก ก7
เทศกาลปัสกา: พระเยซูเริ่มทำงานประกาศหลังจากท่านรับบัพติศมาในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 29 ดังนั้น ในข้อนี้จึงต้องพูดถึงเทศกาลปัสกาที่พระเยซูฉลองหลังจากนั้นไม่นานซึ่งเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 30 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:1 และภาคผนวก ก7) การเปรียบเทียบบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มทำให้รู้ว่าช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก ท่านได้ฉลองปัสกา 4 ครั้ง และทำให้ได้ข้อสรุปว่างานรับใช้ของท่านกินเวลา 3 ปีครึ่ง หนังสือข่าวดี 3 เล่มคือ มัทธิว มาระโก และลูกา พูดถึงเทศกาลปัสกาแค่ครั้งเดียวคือครั้งสุดท้ายที่พระเยซูฉลองก่อนจะเสียชีวิต แต่ยอห์นพูดถึงเทศกาลปัสกา 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งเขาใช้คำว่าปัสกา (ยน 2:13; 6:4; 11:55) และอีกครั้งหนึ่งซึ่งอยู่ใน ยน 5:1 เขาใช้คำว่า “เทศกาลของชาวยิว” ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าการเปรียบเทียบบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มช่วยให้เราเห็นภาพชีวิตของพระเยซูได้ครบถ้วนมากขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:1; 6:4; 11:55
เทศกาลปัสกา: คือเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 33 ดูเหมือนเป็นปัสกาครั้งที่ 4 ซึ่งมีการพูดถึงในหนังสือข่าวดีของยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:13; 5:1; 6:4
เทศกาลของชาวยิว: ถึงแม้ยอห์นไม่ได้บอกว่าเทศกาลนี้คือเทศกาลอะไร แต่มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าเทศกาลนี้น่าจะเป็นเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 31 ปกติแล้วยอห์นจะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เรียงตามลำดับเวลา ในท้องเรื่องแสดงให้เห็นว่ามีการฉลองเทศกาลนี้ไม่นานหลังจากที่พระเยซูบอกว่า “อีก 4 เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าว” (ยน 4:35) ฤดูเกี่ยวข้าวโดยเฉพาะข้าวบาร์เลย์เป็นช่วงเดียวกับเทศกาลปัสกา (วันที่ 14 เดือนนิสาน) ดังนั้น ดูเหมือนพระเยซูพูดประโยคนี้ประมาณ 4 เดือนก่อนหน้านั้น ก็คือช่วงเดือนคิสเลฟ (พฤศจิกายน/ธันวาคม) จริง ๆ แล้วในช่วงเดือนคิสเลฟถึงเดือนนิสานยังมีเทศกาลอีก 2 อย่างที่ฉลองกัน คือเทศกาลฉลองการอุทิศวิหารและเทศกาลปูริม แต่กฎหมายของพระเจ้าไม่ได้กำหนดให้ชาวอิสราเอลต้องไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อฉลองเทศกาล 2 อย่างนี้ ดังนั้น คำว่า “เทศกาลของชาวยิว” ในข้อนี้จึงน่าจะหมายถึงเทศกาลปัสกาซึ่งเป็นเทศกาลที่พระเยซูต้องไปเข้าร่วมที่กรุงเยรูซาเล็ม (ฉธบ 16:16) จริงที่ยอห์นบันทึกอีกแค่ไม่กี่เหตุการณ์ก่อนที่จะพูดถึงเทศกาลปัสกา (ยน 6:4) แต่เมื่อดูภาคผนวก ก7 ก็จะเห็นว่ายอห์นพูดถึงการรับใช้ช่วงแรก ๆ ของพระเยซูไม่มาก และเขาไม่ได้พูดถึงหลายเหตุการณ์ที่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีอีก 3 คนได้พูดถึงแล้ว ที่จริง เรื่องราวของพระเยซูในหนังสือข่าวดีอีก 3 เล่มก็สนับสนุนข้อสรุปที่ว่า เทศกาลปัสกาประจำปีที่ยอห์นพูดถึงในข้อนี้เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ที่บันทึกใน ยน 2:13 และ ยน 6:4—ดูภาคผนวก ก7 และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ยน 2:13
ปีที่ 15 ที่ซีซาร์ทิเบริอัสปกครอง: ซีซาร์ออกัสตัสตายในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 14 (ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ในวันที่ 15 กันยายนของปีนั้นทิเบริอัสยอมให้สภาสูงของโรมประกาศแต่งตั้งเขาเป็นจักรพรรดิ ถ้านับจากตอนที่ออกัสตัสตาย ปีที่ 15 ที่ทิเบริอัสปกครองก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 28 ไปจนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 29 แต่ถ้านับจากตอนประกาศแต่งตั้งทิเบริอัสเป็นจักรพรรดิ ปีที่ 15 ที่เขาปกครองก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 28 ไปจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 29 ดูเหมือนยอห์นเริ่มทำงานรับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29 (ตามเวลาในซีกโลกเหนือ) ซึ่งอยู่ในช่วงปีที่ 15 ที่ทิเบริอัสปกครอง ในปีนั้นยอห์นน่าจะมีอายุประมาณ 30 ปีซึ่งเป็นอายุที่ปุโรหิตในตระกูลเลวีเริ่มทำงานรับใช้ในวิหาร (กดว 4:2, 3) คล้ายกัน ใน ลก 3:21-23 ก็บอกว่าพระเยซูรับบัพติศมาจากยอห์นและ “เริ่มงานประกาศเมื่ออายุได้ 30 ปี” พระเยซูตายในฤดูใบไม้ผลิเดือนนิสาน ดังนั้น ดูเหมือนว่างานรับใช้ 3 ปีครึ่งของท่านจะเริ่มต้นในฤดูใบไม้ร่วง คือประมาณเดือนเอธานิม (กันยายน/ตุลาคม) ยอห์นน่าจะอายุมากกว่าพระเยซู 6 เดือนและดูเหมือนเขาเริ่มงานรับใช้ก่อนพระเยซู 6 เดือนด้วย (ลก บท 1) จึงมีเหตุผลที่จะสรุปว่ายอห์นเริ่มงานรับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:23; ยน 2:13
วิหาร: ดูเหมือนว่าหมายถึงส่วนของวิหารที่เรียกว่าลานสำหรับคนต่างชาติ—ดูภาคผนวก ข11
คนขายวัว แกะ และนกเขา: ชาวอิสราเอลต้องไปถวายเครื่องบูชาที่วิหารตามกฎหมายของพระเจ้า และชาวอิสราเอลที่มาจากเมืองอื่น ๆ จำเป็นต้องมีอาหารกินในช่วงที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาบางคนมาจากเมืองที่ไกลมาก กฎหมายของพระเจ้าจึงอนุญาตให้พวกเขาขายผลผลิตและสัตว์ที่มีอยู่ แล้วเอาเงินไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อจะซื้อสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชา เช่น วัว แกะ แพะ และนกเขา รวมทั้งสิ่งจำเป็นอื่น ๆ (ฉธบ 14:23-26) ต่อมา พวกพ่อค้าเริ่มเอาสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาเข้าไปขายถึงในวิหาร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าวิหารในข้อนี้) พ่อค้าบางคนอาจฉ้อโกงโดยคิดราคาเกินจริงด้วย
คนรับแลกเงิน: ในสมัยนั้นมีการใช้เหรียญหลายชนิด แต่ดูเหมือนมีเหรียญบางชนิดเท่านั้นที่ใช้สำหรับจ่ายภาษีบำรุงวิหารและซื้อสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชา ดังนั้น ชาวยิวซึ่งเดินทางมาที่กรุงเยรูซาเล็มจะต้องแลกเงินเพื่อเอาไปใช้ที่วิหาร พระเยซูคงรู้สึกว่าพวกคนรับแลกเงินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงมากจนเป็นเหมือนการขูดรีดประชาชน
เอาเชือกมาทำเป็นแส้: คำกรีกที่แปลว่า “เชือก” (ซะฆอยนีออน) อาจหมายถึงเชือกที่ทำจากต้นกก ต้นอ้อ หรือวัสดุอื่น ๆ เมื่อพระเยซูใช้แส้ไล่ “แกะและวัวออกจากบริเวณวิหาร” พ่อค้าที่ขายสัตว์เหล่านี้ก็คงจะตามสัตว์ของพวกเขาออกจากวิหารด้วย ในข้อถัดไปที่บอกว่าพระเยซูไล่คนขายนกเขาออกไปจากวิหารไม่มีการพูดถึงแส้ แสดงว่าท่านไม่ได้ใช้แส้เพื่อไล่พวกพ่อค้า ถึงอย่างนั้น สิ่งที่พระเยซูทำก็ทำให้พวกที่มาค้าขายต้องออกไปจากวิหาร
ไล่คนพวกนั้นรวมทั้งแกะและวัวออกจากบริเวณวิหาร: ตอนอยู่บนโลก พระเยซูขับไล่พวกพ่อค้าออกจากวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม 2 ครั้ง เหตุการณ์ในข้อนี้เป็นการขับไล่ครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 30 ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่พระเยซูไปกรุงเยรูซาเล็มในฐานะลูกของพระเจ้าที่ได้รับการเจิม (ดูภาคผนวก ก7) หลังจากนั้น ในวันที่ 10 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 ท่านขับไล่พวกพ่อค้าออกจากวิหารเป็นครั้งที่ 2 เหตุการณ์นี้มีบันทึกอยู่ในหนังสือข่าวดีของมัทธิว (21:12, 13) มาระโก (11:15-18) และลูกา (19:45, 46)—ดูภาคผนวก ก7
คนรับแลกเงิน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:12
ตลาด: หรือ “ที่ค้าขาย” สำนวนกรีก ออนคอน เอ็มพอริออน ที่แปลว่า “ตลาด” หมายถึง “ที่ที่ผู้คนมาค้าขาย” สำนวนนี้มีที่เดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคือในข้อนี้ การขายสัตว์สำหรับเป็นเครื่องบูชาในวิหารเป็นแหล่งรายได้หลักที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยและอิทธิพลให้กับครอบครัวของปุโรหิตใหญ่อันนาส
ความรักแรงกล้าที่ผมมีต่อวิหารของพระองค์: คำกรีก (เศลอส) ที่แปลว่า “ความรักแรงกล้า” ในข้อนี้หมายถึงความสนใจอย่างจริงจังและกระตือรือร้นในแง่ดีซึ่งแสดงออกโดยการทุ่มเททำสุดความสามารถเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ข้อคัมภีร์ที่พวกสาวกนึกถึงคือ สด 69:9 ในข้อนั้นมีคำนามฮีบรู (คินอาห์) ที่แปลว่า “ความรักแรงกล้า” ซึ่งอาจหมายถึง “การเรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะ หรือการไม่ยอมให้มีคู่แข่ง” ตอนที่พระเยซูเห็นว่ามีการค้าขายในบริเวณวิหาร ท่านก็โกรธมาก และความรักแรงกล้าก็กระตุ้นท่านให้ไล่พวกเขาออกไป
รื้อวิหารหลังนี้ลงมาสิ แล้วผมจะสร้างขึ้นใหม่ภายใน 3 วัน: มีเฉพาะยอห์นเท่านั้นที่บันทึกคำพูดนี้ของพระเยซู ชาวยิวคิดว่าท่านกำลังพูดถึงวิหารของเฮโรด ตอนที่พระเยซูถูกพิจารณาคดี พวกผู้ต่อต้านยกคำพูดนี้ของท่านขึ้นมาและเอามาใช้อย่างบิดเบือน (มธ 26:61; 27:40; มก 14:58) เหมือนที่บอกไว้ใน ยน 2:21 พระเยซูกำลังพูดถึงวิหารที่หมายถึงร่างกายของท่านเอง ท่านเปรียบเทียบการตายและการฟื้นขึ้นจากตายของท่านว่าเป็นเหมือนการรื้อวิหารและสร้างขึ้นใหม่ ถึงแม้พระเยซูจะบอกว่า “ผมจะสร้างขึ้นใหม่” แต่พระคัมภีร์ข้ออื่น ๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าเป็นผู้ปลุกท่านให้ฟื้นขึ้นมา (กจ 10:40; รม 8:11; ฮบ 13:20) หลังจากถูกประหารและฟื้นขึ้นมาในวันที่ 3 (มธ 16:21; ลก 24:7, 21, 46) พระเยซูได้รับร่างกายใหม่ ซึ่งเป็นร่างกายสำหรับสวรรค์ที่พ่อของท่านสร้างขึ้น (กจ 2:24; 1ปต 3:18) ในพระคัมภีร์ การเปรียบวิหารเป็นเหมือนคนไม่ใช่เรื่องแปลก เช่น มีการบอกล่วงหน้าว่าเมสสิยาห์จะเป็น “หินหัวมุมหลัก” (สด 118:22; อสย 28:16, 17; กจ 4:10, 11) เปาโลกับเปโตรก็ใช้การเปรียบเทียบแบบเดียวกันนี้กับพระเยซูและสาวกของท่านใน 1คร 3:16, 17; 6:19; อฟ 2:20; และ 1ปต 2:6, 7
วิหารหลังนี้ใช้เวลาสร้างตั้ง 46 ปี: พวกยิวกำลังพูดถึงวิหารที่สร้างขึ้นใหม่โดยกษัตริย์เฮโรด วิหารหลังแรกในกรุงเยรูซาเล็มที่สร้างโดยกษัตริย์โซโลมอนถูกทำลายในปี 607 ก่อน ค.ศ. และหลังจากชาวยิวกลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน วิหารก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ภายใต้การดูแลของเศรุบบาเบล (อสร 6:13-15; ฮกก 2:2-4) ตามบันทึกของโยเซฟุส (Jewish Antiquities, XV, 380 [xi, 1]) เฮโรดเริ่มสร้างวิหารขึ้นใหม่ในปีที่ 18 ที่เขาปกครอง ถ้านับตามวิธีของชาวยิว ปีที่เริ่มสร้างก็น่าจะตรงกับปีที่ 18/17 ก่อน ค.ศ. ที่จริงมีการต่อเติมวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนถึง 6 ปีก่อนที่วิหารนี้จะถูกทำลายในปี ค.ศ. 70
วิหารที่หมายถึงร่างกายของท่าน: คำพูดของอัครสาวกยอห์นในข้อนี้บอกให้รู้ว่าพระเยซูกำลังเปรียบเทียบการตายและการฟื้นขึ้นจากตายของท่านว่าเป็นเหมือนการรื้อวิหารและสร้างขึ้นใหม่
ท่านรู้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ในใจ: พระเยซูสามารถรู้ความคิด การหาเหตุผล และแรงกระตุ้นของมนุษย์ได้ ผู้พยากรณ์อิสยาห์ก็บอกล่วงหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาพูดถึงเมสสิยาห์ว่า “ท่านผู้นั้นจะได้รับพลังจากพระยะโฮวา” ดังนั้น พระเยซูจะไม่ตัดสิน “ตามที่ตาเห็น”—อสย 11:2, 3; มธ 9:4; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 2:8
พระเยซูรู้: คำกรีก พะนือมา ที่ใช้ในข้อนี้อาจหมายถึงพลังหรือความสามารถของพระเยซูที่จะหยั่งรู้หรือเข้าใจเรื่องต่าง ๆ คำพยากรณ์ใน อสย 11:2, 3 บอกเกี่ยวกับเมสสิยาห์ว่า “ท่านผู้นั้นจะได้รับพลังจากพระยะโฮวา” ท่านจึงไม่ได้ตัดสิน “ตามที่ตาเห็น” พลังนี้ทำให้พระเยซูสามารถเข้าใจว่าคนอื่นคิดอะไรและมีเจตนาอะไร—ยน 2:24, 25
วีดีโอและรูปภาพ
ภาพที่เห็นนี้เป็นโอ่งหินจากกรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษแรก แม้ปกติจะมีการทำโอ่งหรือไหจากดินเผา (อสย 30:14; พคค 4:2) แต่ในงานแต่งงานที่คานา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าโอ่งนั้นเป็นโอ่งหิน (ยน 2:6) มีการพบโอ่งหินจำนวนมากในกรุงเยรูซาเล็ม เชื่อกันว่าผู้คนชอบใช้โอ่งแบบนี้เพราะมันถูกมองว่าเป็นภาชนะที่สะอาดทางพิธีกรรม ซึ่งต่างจากภาชนะที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ เช่น ดินเผา (ลนต 11:33) นี่ทำให้เข้าใจว่าทำไมอัครสาวกยอห์นจึงพูดถึงโอ่งหินที่ใช้ใส่น้ำสำหรับ “พิธีชำระล้างตามกฎของชาวยิว”