เขียนโดยลูกา 21:1-38
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ตู้บริจาค: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 12:41
ตู้บริจาค: แหล่งอ้างอิงของชาวยิวโบราณบอกว่าตู้บริจาคหรือที่ใส่เงินถวายนี้มีรูปร่างคล้ายแตรและมีช่องเล็ก ๆ ด้านบนให้หยอดเงินลงไป ผู้คนจะใส่เงินถวายสำหรับหลายอย่างลงไปในตู้นี้ ในบันทึกที่ ยน 8:20 ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้เมื่อพูดถึงตู้บริจาคซึ่งดูเหมือนว่าตั้งอยู่ในลานสำหรับผู้หญิง (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:6 และภาคผนวก ข11) แหล่งอ้างอิงของพวกรับบีบอกว่า มีตู้บริจาค 13 ตู้ตั้งอยู่เป็นแถวตามผนังรอบลานนี้ เชื่อกันว่าในวิหารยังมีบริเวณหนึ่งที่ใช้เก็บรวบรวมเงินทั้งหมดจากตู้บริจาคเหล่านี้ด้วย
ยากจน: หรือ “ขัดสน” คำกรีก เพะนิฆร็อส ที่ใช้ในข้อนี้อาจหมายถึงคนที่ขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิตหรือคนที่มีชีวิตที่ลำบากมาก พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำกรีกนี้แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้
เหรียญเล็ก ๆ 2 เหรียญที่มีค่าน้อยมาก: แปลตรงตัวว่า “2 เลฟตัน” คำกรีกเลฟตันเป็นรูปพหูพจน์ของคำว่า เล็พทอส หมายถึงสิ่งที่เล็กและบาง เลฟตันเป็นเหรียญซึ่งมีค่าเท่ากับ 1/128 ของ 1 เดนาริอัน และดูเหมือนว่าเป็นเหรียญทองแดงหรือทองสัมฤทธิ์ที่เล็กที่สุดซึ่งใช้ในอิสราเอล—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เลฟตัน” และภาคผนวก ข14
เหรียญเล็ก ๆ 2 เหรียญที่มีค่าน้อยมาก: แปลตรงตัวว่า “2 เลฟตัน” คำกรีกเลฟตันเป็นรูปพหูพจน์ของคำว่า เล็พทอส หมายถึงสิ่งที่เล็กและบาง เลฟตันเป็นเหรียญซึ่งมีค่าเท่ากับ 1/128 ของ 1 เดนาริอัน และดูเหมือนว่าเป็นเหรียญทองแดงหรือทองสัมฤทธิ์ที่เล็กที่สุดซึ่งใช้ในอิสราเอล—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เลฟตัน” และภาคผนวก ข14
เงินทั้งหมดที่เธอมีสำหรับเลี้ยงชีวิต: ตามที่อธิบายในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 21:2 เหรียญที่แม่ม่ายคนนี้หยอดลงไปในตู้บริจาคคือ “2 เลฟตัน” ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1/64 ของค่าแรง 1 วัน เลฟตันเป็นเหรียญที่มีค่าน้อยที่สุดที่ใช้ในอิสราเอลสมัยนั้น และตามที่บอกใน มธ 10:29 เงิน 1 อัสซาริอัน (มีค่าเท่ากับ 8 เลฟตัน) สามารถซื้อนกกระจอกซึ่งเป็นนกที่มีราคาถูกที่สุดที่ใช้เป็นอาหารได้ 2 ตัว นี่หมายความว่าเงินที่แม่ม่ายคนนี้มีสามารถซื้อนกได้แค่ครึ่งตัวเท่านั้น ยังไม่พอสำหรับอาหารมื้อหนึ่งด้วยซ้ำ
ไม่เหลือหินซ้อนทับกันแม้แต่ก้อนเดียว: คำพยากรณ์ของพระเยซูเกิดขึ้นจริงอย่างน่าทึ่งในปี ค.ศ. 70 ตอนที่กองทัพโรมันทำลายกรุงเยรูซาเล็มและวิหาร เมืองทั้งเมืองพังราบเป็นหน้ากลองเหลือแค่กำแพงเมืองบางส่วน
ไม่เหลือหินซ้อนทับกันแม้แต่ก้อนเดียว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:2
ฉันเป็นพระคริสต์: หรือเป็นเมสสิยาห์—เทียบกับบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 24:5
ฉันเป็นพระคริสต์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:6
จุดจบ: หรือ “จุดจบสุดท้าย” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (เทะลอส) ต่างจากคำกรีกที่แปลว่า “สมัยสุดท้าย” (ซูนเทะเล่อา) ใน มธ 24:3—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
การจลาจล: หรือ “ความไม่สงบ, การปฏิวัติ” คำกรีก อาคาทาสตาเซีย มีความหมายหลักว่าความวุ่นวาย แต่ยังหมายถึงการต่อต้านผู้มีอำนาจ การกบฏ หรือความวุ่นวายทางการเมืองด้วย และที่ 2คร 6:5 มีการแปลคำกรีกนี้ว่า “การจลาจล” เมื่อพูดถึงการต่อต้านอย่างรุนแรงที่เปาโลเจอ
จุดจบ: หรือ “จุดจบสุดท้าย”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:6
สู้รบ: หรือ “ถูกกระตุ้น, ถูกปลุกเร้า” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับ “การเคลื่อนไปหาด้วยเจตนาร้าย” และอาจแปลได้อีกว่า “ลุกขึ้นต่อสู้” หรือ “เข้าสู่สงคราม”
ประเทศ: คำกรีก เอ็ธนอส มีความหมายกว้าง อาจหมายถึงผู้คนที่อาศัยในเขตปกครองหนึ่งหรือดินแดนหนึ่ง เช่น ในประเทศหนึ่ง และยังหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:14
สู้รบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:7
ประเทศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:7
โรคระบาด: ผู้เขียนหนังสือข่าวดี 3 เล่มบันทึกคำพยากรณ์สำคัญของพระเยซูเกี่ยวกับสมัยสุดท้าย แต่ลูกาเป็นคนเดียวที่พูดถึงโรคระบาดว่าเป็นหนึ่งใน “สัญญาณ” ของสมัยสุดท้าย (ลก 21:7; มธ 24:3, 7; มก 13:4, 8) หนังสือข่าวดี 3 เล่มนี้เสริมกันและกัน คำกรีกที่แปลว่า “โรคระบาด” มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลอีกแค่ครั้งเดียวคือที่ กจ 24:5 แต่ในข้อนั้นใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยเมื่อพูดถึงคนที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น จึงมีการแปลว่า “ตัวปัญหา”
ปรากฏการณ์ที่น่ากลัว: มาจากคำกริยากรีก ฟอเบะโอ ซึ่งมีความหมายว่า “กลัว” คำนี้มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคือในข้อนี้ และดูเหมือนว่าหมายถึงเหตุการณ์ที่น่ากลัว
พูดอะไร: หรือ “พูดอย่างมีพลัง” แปลตรงตัวว่า “ปาก” คำกรีก สะทอมา ที่ใช้ในข้อนี้หมายถึงคำพูดหรือพลังของคำพูด
จะไม่มีเส้นผมของคุณสักเส้นหนึ่งถูกทำลายไป: พระเยซูใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริงเพื่อให้สาวกมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้องแม้ “ทุกคนจะเกลียดชัง” (ลก 21:17) ท้องเรื่องแสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ได้หมายถึงการปกป้องทางร่างกาย แต่หมายถึงการปกป้องด้านความเชื่อหรือปกป้องจากผลเสียหายที่ถาวร (ลก 21:16) ดังนั้น สาวกของพระเยซูไม่คาดหมายว่าจะได้รับการปกป้องอย่างอัศจรรย์จากการถูกทำร้ายหรือความตาย แต่พวกเขาสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวามีอำนาจที่จะปลุกพวกเขาให้ฟื้นขึ้นมาจากความตายได้ (มธ 10:39) การใช้คำว่า “ไม่” 2 ครั้งในภาษากรีกเป็นการเน้นว่าคำสัญญาของพระเยซูในข้อนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ครั้งหนึ่งพระเยซูก็เคยบอกสาวกว่าพระเจ้าจะดูแลพวกเขาโดยพูดคล้าย ๆ กันว่า “แม้แต่ผมบนหัวของคุณ พระองค์ก็นับไว้แล้วทุกเส้น”—ลก 12:7; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:30
แม้แต่ผมบนหัวของคุณ . . . ก็นับไว้แล้วทุกเส้น: มีการกะประมาณกันว่าเฉลี่ยแล้วคนเรามีเส้นผมมากกว่า 100,000 เส้น การที่พระยะโฮวารู้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ขนาดนี้ยืนยันว่าพระองค์สนใจสาวกของพระคริสต์ทุกคนมาก
อดทน: คำนามกรีก ฮูพอมอเน ที่ใช้ในพระคัมภีร์หมายถึง “ความอดทน” อย่างกล้าหาญ มั่นคง และไม่ยอมแพ้ คนที่อดทนแบบนี้จะไม่หมดหวังแม้เจออุปสรรค การข่มเหง การทดสอบ หรือการล่อใจ ส่วนคำกริยากรีก ฮูพอเมะโน ที่แปลว่า “อดทน” มีความหมายตรงตัวว่า “อยู่ต่อ ๆ ไปภายใต้” มักมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการ “อยู่ต่อไปแทนที่จะหนี, ยืนหยัด, บากบั่น, ไม่ท้อถอย”—มธ 10:22; รม 12:12; ฮบ 10:32; ยก 5:11
ได้ชีวิต: หรือ “รักษาชีวิต” คำว่า “ชีวิต” ในข้อนี้มาจากคำกรีก พะซูเฆ ซึ่งมักหมายถึงชีวิตของคนเราไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคตขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง แต่ในท้องเรื่องนี้หมายถึง “ชีวิตในอนาคต” หรือ “ชีวิตแท้”
ยูเดีย: คือแคว้นหนึ่งซึ่งเป็นเมืองขึ้นของโรม
ไปที่ภูเขา: ยูเซบิอุสนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 4 บอกว่า คริสเตียนในยูเดียและเยรูซาเล็มหนีข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปที่เมืองเพลลาซึ่งอยู่แถบเทือกเขาของเขตเดคาโปลิส—ดูภาคผนวก ข10
ช่วงนั้นพระเจ้าจะพิพากษาด้วยความยุติธรรม: หรือ “ช่วงนั้นจะเป็นวันแห่งการแก้แค้น” คือวันที่พระเจ้าจะมาแก้แค้นและพิพากษาลงโทษ ก่อนหน้านั้นตอนที่พระเยซูอยู่ในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธ ท่านยกส่วนหนึ่งในคำพยากรณ์ของอิสยาห์ขึ้นมา (อสย 61:1, 2) และใช้กับตัวท่าน แต่ตอนนั้นท่านไม่ได้พูดถึงอีกส่วนของคำพยากรณ์ที่บอกว่า “วันที่พระเจ้าของเราจะลงโทษ” (ลก 4:16-21) แต่ตอนนี้พระเยซูกำลังประกาศเรื่อง “วันแห่งการแก้แค้น” ซึ่งเป็นการบอกล่วงหน้าว่าจะมีกองทัพมาตั้งค่ายล้อมกรุงเยรูซาเล็ม การแก้แค้นของพระเจ้าเป็นเรื่องหนึ่งที่มีเขียนไว้แล้วในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู คำกรีกที่แปลในข้อนี้ว่า “พิพากษาด้วยความยุติธรรม” หรือ “แก้แค้น” มีอยู่ใน ฉธบ 32:35; ยรม 46:10 (26:10, LXX); และ ฮชย 9:7 ของฉบับเซปตัวจินต์ ด้วย ในข้อคัมภีร์เหล่านี้ใช้คำกรีกที่ตรงกับคำฮีบรูซึ่งมีความหมายว่า “การแก้แค้น” หรือ “การคิดบัญชี”
ช่วงเวลาของคนต่างชาติ: หรือ “เวลากำหนดของชาติต่าง ๆ” คำกรีก ไคร็อส (ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์และแปลว่า “ช่วงเวลา”) อาจหมายถึงจุดหนึ่งของเวลา หรือช่วงเวลาที่แน่นอนหรือกำหนดไว้ หรือ “ฤดู” ที่จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น (มธ 13:30; 21:34; มก 11:13) มีการใช้คำว่า “เวลาที่กำหนดไว้” กับตอนที่พระเยซูเริ่มงานรับใช้ (มก 1:15) และ “เวลาที่กำหนดไว้” สำหรับการตายของท่าน (มธ 26:18) คำกรีก ไคร็อส ยังใช้หมายถึงช่วงเวลาในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมหรือตารางเวลาของพระเจ้า โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการประทับของพระคริสต์และรัฐบาลของท่าน (กจ 1:7; 3:19; 1ธส 5:1) เมื่อคิดถึงการใช้คำว่า ไคร็อส ในคัมภีร์ไบเบิล จึงดูเหมือนว่าคำว่า “ช่วงเวลาของคนต่างชาติ” ไม่ได้หมายถึงช่วงเวลากว้าง ๆ หรือเวลาที่ไม่มีกำหนด แต่หมายถึงช่วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน เป็นเวลาที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ส่วนคำว่า “คนต่างชาติ” หรือ “ชาติต่าง ๆ” มาจากคำกรีก เอ็ธนอส ที่อยู่ในรูปพหูพจน์ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลหลายคนมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงชาติต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ชาวยิว
โลก: คำกรีกที่แปลว่า “โลก” (ออยคู่เมะเน) หมายถึงโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์—ลก 4:5; กจ 17:31; รม 10:18; วว 12:9; 16:14
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
เมฆในท้องฟ้า: เมฆน่าจะบดบังการมองเห็นแทนที่จะช่วยให้เห็นชัดขึ้น แต่คนที่สังเกตจะ “เห็น” ด้วยตาแห่งความเข้าใจ—กจ 1:9
เห็น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:30
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
บนเมฆ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:30
เห็น: คำกริยากรีกที่แปลว่า “เห็น” มีความหมายตรงตัวว่า “เห็นบางสิ่ง, มองดู” แต่ในความหมายเป็นนัยคำนี้ยังหมายถึง “เข้าใจ, มองออก”—อฟ 1:18
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
ฟ้าสวรรค์และโลกจะสูญสิ้นไป: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:35
คำพูดของผมจะไม่มีวันสูญหายไป: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:35
คำพูดของผมจะไม่มีวันสูญหายไป: แปลตรงตัวว่า “คำพูดของผมจะไม่ไม่สูญหายไป” การใช้คำว่า “ไม่” 2 ครั้งในภาษากรีกเป็นการเน้นว่าการกระทำนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งในข้อนี้เน้นให้เห็นว่าคำพูดของพระเยซูจะคงอยู่ตลอดไป
ฟ้าสวรรค์และโลกจะสูญสิ้นไป: ข้อคัมภีร์อื่น ๆ ช่วยให้เห็นว่าฟ้าสวรรค์และโลกจะคงอยู่ตลอดไป (ปฐก 9:16; สด 104:5; ปญจ 1:4) ดังนั้น คำพูดของพระเยซูในข้อนี้เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริง หมายความว่าถึงแม้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเกิดขึ้น เหมือนที่ฟ้าสวรรค์และโลกจะสูญสิ้นไป แต่คำพูดของพระเยซูจะยังเป็นจริงแน่นอน (เทียบกับ มธ 5:18) นอกจากนั้น ฟ้าสวรรค์และโลกในข้อนี้ยังอาจมีความหมายเป็นนัย คือเป็นสิ่งเดียวกับที่ วว 21:1 เรียกว่า “ฟ้าสวรรค์เก่าและโลกเก่า”
ยืน: ในคัมภีร์ไบเบิล บางครั้งมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการที่คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งได้รับความโปรดปรานหรือการยอมรับจากผู้ที่มีอำนาจ (สด 5:5) ตัวอย่างเช่น ที่ วว 7:9, 15 ยอห์นเห็นชนฝูงใหญ่ “ยืนอยู่หน้าบัลลังก์และหน้าลูกแกะของพระเจ้า” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าและพระเยซู
พักบนภูเขา: ช่วง 4 วันสุดท้ายที่พระเยซูอยู่บนโลก ท่านทำงานรับใช้อย่างขยันขันแข็งในกรุงเยรูซาเล็มตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนท่านกับสาวกจะออกจากกรุงนี้ไปพักค้างคืนที่หมู่บ้านเบธานีซึ่งอยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกของภูเขามะกอก ท่านน่าจะไปพักที่บ้านของมาร์ธา มารีย์ และลาซารัส—มธ 21:17; มก 11:11
วีดีโอและรูปภาพ

แหล่งอ้างอิงของพวกรับบีบอกว่าในวิหารที่เฮโรดสร้างขึ้นมีตู้บริจาคซึ่งเรียกว่าโชฟาร์อยู่ 13 ตู้ คำฮีบรู โชฟาร์ แปลว่า “เขาแกะ” ทำให้รู้ว่าส่วนหนึ่งของตู้นี้อาจมีรูปร่างคล้ายเขาสัตว์หรือแตร ตอนที่พระเยซูตำหนิพวกที่ชอบโฆษณาความดีของตัวเองหรือเป่าแตรข้างหน้าตัวเองเวลาช่วยเหลือคนจน คนที่ได้ยินท่านพูดคงนึกถึงเสียงดังของเหรียญที่ถูกหยอดลงไปในตู้บริจาครูปร่างคล้ายแตรเหล่านี้ (มธ 6:2) เหรียญเล็ก ๆ 2 เหรียญที่แม่ม่ายหยอดลงไปคงไม่ทำให้เกิดเสียงดังเท่าไร แต่พระเยซูแสดงให้เห็นว่าแม่ม่ายคนนี้และเงินที่เธอบริจาคมีค่ามากในสายตาของพระยะโฮวา

มีการพบหินเหล่านี้ทางทิศใต้ของกำแพงกรุงเยรูซาเล็มด้านตะวันตก เชื่อกันว่าหินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของซากปรักหักพังบนภูเขาที่วิหารตั้งอยู่ซึ่งหลงเหลือมาจากศตวรรษแรก หินเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เพื่อเตือนใจถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็มและวิหารที่ถูกทำลายโดยพวกโรมัน

ภาพด้านซ้ายแสดงให้เห็นประตูชัยที่ตั้งอยู่ตรงลานกว้างในกรุงโรมประเทศอิตาลี ประตูชัยนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกย่องชัยชนะของแม่ทัพโรมันติตุสที่มีต่อกรุงเยรูซาเล็มและยูเดียในปี ค.ศ. 70 ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 71 ติตุสและจักรพรรดิเวสปาเชียนพ่อของเขาฉลองชัยชนะครั้งนี้ในเมืองหลวงของจักรวรรดิโรม ติตุสขึ้นเป็นจักรพรรดิต่อจากพ่อของเขาในปี ค.ศ. 79 สองปีหลังจากนั้น ติตุสตายกะทันหัน และหลังจากนั้นไม่นานก็มีการสร้างประตูชัยนี้เพื่อให้เกียรติเขา ตรงทางเข้าประตูทั้งสองฝั่งมีรูปสลักนูนที่แสดงถึงชัยชนะ ซึ่งในตอนแรกมีสีสันสดใส ด้านหนึ่ง (หมายเลข 1) เป็นรูปทหารโรมันที่แบกข้าวของเครื่องใช้จากวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม โดยข้าวของที่เห็นได้ชัดก็คือ เชิงตะเกียงที่มีเจ็ดกิ่ง โต๊ะตั้งขนมปังถวาย และมีแตรศักดิ์สิทธิ์วางอยู่บนนั้น ส่วนอีกด้านหนึ่ง (หมายเลข 2) เป็นรูปติตุสยืนบนรถรบที่ลากด้วยม้า 4 ตัว รูปสลักนูนนี้ทำให้นึกถึงตัวอย่างที่อัครสาวกเปาโลใช้ในจดหมาย 2 ฉบับของเขา (2คร 2:14; คส 2:15) คนที่ได้อ่านจดหมายของเปาโลคงจะคุ้นเคยดีกับขบวนแห่ฉลองชัยชนะของโรมัน ในตอนนั้น จักรพรรดิโรมันหรือครอบครัวของเขาจะต้องเป็นคนอนุญาตให้มีการแห่ขบวนแบบนี้ ประตูชัยแห่งติตุสช่วยยืนยันว่าคำพยากรณ์ที่พระเยซูพูดเกี่ยวกับกรุงเยรูซาเล็มว่าจะถูกยึดและผู้คนจะถูกจับเป็นเชลยนั้นเป็นความจริง—ลก 21:24

พระเยซูบอกล่วงหน้าว่าคนในกรุงเยรูซาเล็มและแคว้นยูเดียจะ “ล้มตายด้วยคมดาบ” (ลก 21:24) ดาบที่เห็นในภาพนี้มีอายุประมาณ 2,000 ปี และอาจเป็นของทหารคนหนึ่งในกองทัพโรมันซึ่งประจำการอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มช่วงปี ค.ศ. 66 ตอนที่มีการกบฏต่อโรม ดาบนี้ยาวประมาณ 60 ซม. และยังอยู่ในฝักที่ทำจากหนัง นักโบราณคดีเพิ่งค้นพบดาบเล่มนี้ (มีรายงานในปี 2011) ตอนที่พวกเขาขุดค้นซากร่องระบายน้ำแห่งหนึ่งระหว่างเมืองของดาวิดกับอุทยานประวัติศาสตร์ใกล้กำแพงด้านตะวันตกของกรุงเยรูซาเล็ม ร่องระบายน้ำนี้อาจเป็นที่ซ่อนของชาวกรุงเยรูซาเล็มในช่วงที่เกิดความวุ่นวายก่อนที่กรุงนั้นจะถูกทำลายในปี ค.ศ. 70

ในคำพยากรณ์สำคัญของพระเยซูเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเยรูซาเล็มและวิหาร ท่านบอกล่วงหน้าว่าชาวยูเดียจะ “ถูกจับไปเป็นเชลยในประเทศต่าง ๆ” (ลก 21:21, 24) เหรียญในภาพนี้เป็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าคำพยากรณ์ของพระเยซูเกิดขึ้นจริง เหรียญแบบนี้ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 71 เพื่อระลึกถึงการยึดครองยูเดีย ด้านหนึ่งของเหรียญเป็นรูปติตุสลูกชายของจักรพรรดิเวสปาเชียน เขาเป็นคนพิชิตยูเดียได้สำเร็จซึ่งเป็นการสานต่อสิ่งที่พ่อของเขาได้เริ่มไว้ อีกด้านหนึ่งของเหรียญเป็นรูปต้นปาล์ม ข้างหนึ่งของต้นปาล์มคือเชลยผู้ชายชาวยิวถูกมัดมือไพล่หลัง ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นผู้หญิงชาวยิวกำลังนั่งร้องไห้เสียใจ ข้อความบนเหรียญอ่านว่า “ยูเดีย แคพทา” มีความหมายว่า “ยูเดียในสภาพเชลยศึก”