เขียนโดยมัทธิว 10:1-42
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
อัครสาวก: หรือ “ผู้ถูกส่งออกไป” คำกรีก อาพอสทอล็อส มาจากคำกริยา อาพอสเทลโล ซึ่งมีความหมายว่า “ส่งออกไป” (มธ 10:5; ลก 11:49; 14:32) ความหมายหลักของคำนี้เห็นได้ชัดจากคำพูดของพระเยซูที่ ยน 13:16 ซึ่งแปลคำนี้ว่า “คนที่ถูกใช้ไป”
ซีโมนหรือที่เรียกกันว่าเปโตร: พระคัมภีร์เรียกเปโตรด้วยชื่อที่ต่างกัน 5 ชื่อ คือ (1) “ซีเมโอน” ซึ่งเป็นชื่อกรีกที่ทับศัพท์มาจากชื่อฮีบรู (สิเมโอน) (2) “ซีโมน” ซึ่งเป็นภาษากรีก (ทั้งซีเมโอนและซีโมนมาจากคำกริยาฮีบรูที่แปลว่า “ได้ยิน, ฟัง”) (3) “เปโตร” (ชื่อกรีกที่แปลว่า “หินก้อนหนึ่ง” และเขาเป็นคนเดียวในพระคัมภีร์ที่ใช้ชื่อนี้) (4) “เคฟาส” ชื่อภาษาเซมิติกที่มีความหมายตรงกับชื่อเปโตร (อาจเกี่ยวข้องกับคำฮีบรู เคฟิม [หิน] ที่ใช้ใน โยบ 30:6; ยรม 4:29) และ (5) “ซีโมนเปโตร” ซึ่งเป็นการรวม 2 ชื่อเข้าด้วยกัน—กจ 15:14; ยน 1:42; มธ 16:16
เลวี: ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 9:9 สาวกคนนี้มีชื่อว่ามัทธิว เมื่อมาระโกกับลูกาพูดถึงเขาในฐานะอดีตคนเก็บภาษี ทั้งสองคนเรียกเขาว่าเลวี (ลก 5:27, 29) แต่เมื่อพูดถึงเขาในฐานะอัครสาวกคนหนึ่ง มาระโกกับลูกาเรียกเขาว่ามัทธิว (มก 3:18; ลก 6:15; กจ 1:13) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าเลวีมีอีกชื่อหนึ่งว่ามัทธิวตั้งแต่ก่อนมาเป็นสาวกของพระเยซูหรือไม่ มาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีเพียงคนเดียวที่บอกว่ามัทธิว เลวีเป็นลูกของอัลเฟอัส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 3:18
เลวี: ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 9:9 สาวกคนนี้มีชื่อว่ามัทธิว เมื่อมาระโกกับลูกาพูดถึงเขาในฐานะอดีตคนเก็บภาษี ทั้งสองคนเรียกเขาว่าเลวี (มก 2:14) แต่เมื่อพูดถึงเขาในฐานะอัครสาวกคนหนึ่ง มาระโกกับลูกาเรียกเขาว่ามัทธิว (มก 3:18; ลก 6:15; กจ 1:13) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าเลวีมีอีกชื่อหนึ่งว่ามัทธิวตั้งแต่ก่อนมาเป็นสาวกของพระเยซูหรือไม่—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 2:14
คนเก็บภาษี: ชาวยิวหลายคนเก็บภาษีให้รัฐบาลโรมัน ผู้คนเลยเกลียดชาวยิวที่ทำงานนี้เพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงให้ความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจที่พวกเขาเกลียดเท่านั้น แต่ยังเก็บภาษีเกินกำหนดด้วย คนเก็บภาษีถูกเพื่อนร่วมชาติชาวยิวรังเกียจ และถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกับคนบาปและโสเภณี—มธ 11:19; 21:32
ยากอบลูกของอัลเฟอัส: ดูเหมือนว่าเป็นคนเดียวกับสาวกที่ชื่อ “ยากอบน้อย” ซึ่งพูดถึงใน มก 15:40 และยังเชื่อกันว่าอัลเฟอัสเป็นคนเดียวกับโคลปัส (ยน 19:25) ถ้าเป็นอย่างนั้น อัลเฟอัสก็เป็นสามีของ “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 27:56; 28:1; มก 15:40; 16:1; ลก 24:10) อัลเฟอัสที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะเป็นคนละคนกับอัลเฟอัสที่พูดถึงใน มก 2:14 ซึ่งเป็นพ่อของเลวี
บาร์โธโลมิว: แปลว่า “ลูกชายของโทลไม” เชื่อกันว่าเขาคือนาธานาเอลที่ยอห์นพูดถึง (ยน 1:45, 46) เมื่อเทียบบันทึกในหนังสือข่าวดีเล่มต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า มัทธิวกับลูกาพูดชื่อบาร์โธโลมิวคู่กับฟีลิป เหมือนที่ยอห์นพูดชื่อนาธานาเอลคู่กับฟีลิป—มธ 10:3; ลก 6:14
มัทธิว: มีอีกชื่อหนึ่งว่าเลวี—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 2:14; ลก 5:27
คนเก็บภาษี: เนื่องจากมัทธิวผู้เขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้เป็นคนเก็บภาษี เขาจึงพูดถึงตัวเลขและค่าเงินบ่อย ๆ (มธ 17:27; 26:15; 27:3) มัทธิวพูดถึงตัวเลขอย่างเจาะจงมากกว่าผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนอื่น ๆ เขาแบ่งรายชื่อบรรพบุรุษของพระเยซูออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 14 ชั่วคน (มธ 1:1-17) ในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู มัทธิวพูดถึงคำขอ 7 อย่าง (มธ 6:9-13) เขายังพูดถึงตัวอย่างเปรียบเทียบ 7 เรื่องใน มธ 13 และคำสาปแช่ง 7 อย่างใน มธ 23:13-36 ด้วย สำหรับคำว่า “คนเก็บภาษี” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:46
ยากอบลูกของอัลเฟอัส: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 3:18
ธัดเดอัส: ในรายชื่ออัครสาวกที่ ลก 6:16 และ กจ 1:13 ไม่มีชื่อธัดเดอัส แต่มีชื่อ “ยูดาสลูกของยากอบ” ซึ่งทำให้สรุปได้ว่าธัดเดอัสเป็นอีกชื่อหนึ่งของอัครสาวกที่ยอห์นเรียกว่า “ยูดาสที่ไม่ใช่ยูดาสอิสคาริโอท” (ยน 14:22) เหตุผลหนึ่งที่มีการใช้ชื่อธัดเดอัสอาจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนระหว่างอัครสาวกคนนี้กับยูดาสอิสคาริโอทซึ่งเป็นคนทรยศ
คานาไนโอส: ชื่อนี้ช่วยให้แยกออกระหว่างอัครสาวกซีโมนและอัครสาวกซีโมนเปโตร (มก 3:18) เชื่อกันว่าชื่อนี้มาจากภาษาฮีบรูหรืออาราเมอิกที่มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” ลูกาเรียกซีโมนคนนี้ว่า “คนกระตือรือร้น” โดยใช้คำกรีก เศโลเทศ ซึ่งก็มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” (ลก 6:15; กจ 1:13) อาจเป็นไปได้ว่าซีโมนคนนี้เคยเป็นพวกเซลอตซึ่งเป็นกลุ่มชาวยิวที่ต่อต้านจักรวรรดิโรม หรือเขาอาจได้ชื่อนี้เพราะเป็นคนกระตือรือร้นและมีศรัทธาอย่างแรงกล้า
อิสคาริโอท: อาจมีความหมายว่า “คนที่มาจากเคริโอท” ซีโมนพ่อของยูดาสก็ถูกเรียกว่า “อิสคาริโอท” ด้วย (ยน 6:71) เชื่อกันว่าคำนี้บอกให้รู้ว่าซีโมนและยูดาสมาจากเมืองเคริโอทเฮสโรนที่อยู่ในแคว้นยูเดีย (ยชว 15:25) ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยูดาสก็เป็นอัครสาวกคนเดียวในจำนวน 12 คนที่มาจากแคว้นยูเดีย ส่วนที่เหลือมาจากแคว้นกาลิลี
ประกาศ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ป่าวประกาศในฐานะผู้ส่งข่าวอย่างเปิดเผย” คำนี้เน้นลักษณะ ของการประกาศว่ามักเป็นการพูดอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ ไม่ใช่การเทศน์ให้คนแค่กลุ่มหนึ่งฟัง
รัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว: ข่าวเรื่องรัฐบาลใหม่ที่จะปกครองโลกเป็นเรื่องหลักที่พระเยซูประกาศ (มธ 10:7; มก 1:15) ประมาณ 6 เดือนก่อนพระเยซูรับบัพติศมา ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็ประกาศเรื่องคล้ายกันนี้ (มธ 3:1, 2) แต่การประกาศของพระเยซูทำให้คำว่า “มาใกล้แล้ว” ชัดเจนขึ้น เพราะตอนนั้นพระเยซูซึ่งถูกเจิมเพื่อจะเป็นกษัตริย์ของรัฐบาลนี้ปรากฏตัวแล้ว ไม่มีบันทึกว่าหลังจากพระเยซูตายสาวกของท่านยังประกาศว่ารัฐบาลของพระเจ้า “มาใกล้แล้ว”
ประกาศ: คือการป่าวประกาศอย่างเปิดเผย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
รัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:17
คนโรคเรื้อน: คนที่เป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง คำว่าโรคเรื้อนในพระคัมภีร์มีความหมายกว้างกว่าโรคเรื้อนที่รู้จักกันในปัจจุบัน ใครก็ตามที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคเรื้อนจะถูกไล่ออกจากชุมชนจนกว่าเขาจะหายจากโรค—ลนต 13:2, เชิงอรรถ, 45, 46; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
คนโรคเรื้อน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
อยู่ที่นั่นจนกว่าจะจากเมืองนั้นไป: พระเยซูกำลังสอนสาวกว่าเมื่อพวกเขาไปเมืองไหน พวกเขาต้องพักอยู่ในบ้านที่ให้การต้อนรับและไม่ “ย้ายไปบ้านอื่น” (ลก 10:1-7) การที่พวกสาวกไม่ย้ายไปบ้านที่สะดวกสบาย น่าอยู่กว่า หรือให้ความบันเทิงได้มากกว่าเป็นการแสดงว่าพวกเขาให้งานประกาศสำคัญกว่าเรื่องพวกนี้
พักอยู่ที่บ้านนั้น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 6:10
ทักทาย: เป็นเรื่องปกติที่ชาวยิวจะทักทายว่า “ขอให้พวกคุณมีความสงบสุข”—มธ 10:13; ลก 24:36, เชิงอรรถ; ยน 20:19, เชิงอรรถ
สะบัดฝุ่นออกจากเท้า: เป็นท่าทางที่แสดงว่าพวกสาวกจะไม่รับผิดชอบต่อผลที่ตามมาตอนที่พระเจ้ามาพิพากษา มีสำนวนคล้าย ๆ กันนี้อยู่ที่ มก 6:11 และ ลก 9:5 แต่บันทึกที่มาระโกและลูกามีข้อความเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้เขารู้ว่าคุณเตือนเขาแล้ว” เปาโลกับบาร์นาบัสก็ทำตามคำแนะนำนี้ของพระเยซูตอนที่พวกเขาอยู่ในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย (กจ 13:51) ตอนที่เปาโลอยู่ในเมืองโครินธ์ เขาก็ทำคล้าย ๆ กันโดยสะบัดเสื้อและพูดด้วยว่า “พวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกัน ผมพ้นความรับผิดชอบแล้ว” (กจ 18:6) พวกสาวกน่าจะคุ้นเคยกับท่าทางแบบนี้อยู่แล้ว เพราะเวลาคนยิวที่เคร่งเดินทางผ่านเขตแดนของคนต่างชาติ พวกเขามักจะสะบัดฝุ่นผงที่คิดว่าไม่สะอาดออกจากรองเท้าก่อนจะกลับเข้าเขตแดนของชาวยิว แต่เห็นได้ว่าพระเยซูไม่ได้คิดถึงความหมายนี้ตอนที่ให้คำแนะนำกับสาวก
รับโทษหนักกว่า: ดูเหมือนว่าคำพูดของพระเยซูในข้อนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริง (เทียบกับอติพจน์อื่น ๆ ที่พระเยซูใช้ เช่นที่ มธ 5:18; ลก 16:17; 21:33) เมื่อพระเยซูพูดว่า “ในวันพิพากษา เมืองนั้นจะรับโทษหนักกว่าเมืองโสโดมอีก” (มธ 10:15; 11:22, 24; ลก 10:14) ท่านไม่ได้หมายความว่ายังมีเมืองโสโดมอยู่ในตอนนั้น (เทียบกับ ยด 7) แต่พระเยซูกำลังเน้นว่าคนส่วนใหญ่ในเมืองโคราซิน เบธไซดา และคาเปอร์นาอุมไม่ตอบรับและสมควรจะถูกลงโทษขนาดไหน (ลก 10:13-15) น่าสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองโสโดมโบราณกลายมาเป็นภาษิตหรือคำเปรียบเทียบที่มักใช้เมื่อพูดถึงความโกรธและการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า—ฉธบ 29:23; อสย 1:9; พคค 4:6
จะรับโทษหนักกว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 10:12
คอยดูเถอะ: คำกรีก อีดู่ ที่แปลในข้อนี้ว่า “คอยดูเถอะ” มักใช้เพื่อกระตุ้นให้สนใจเรื่องที่กำลังจะพูด ให้นึกภาพเหตุการณ์หรือสนใจรายละเอียดบางอย่าง และยังใช้เพื่อเน้น หรือชี้ให้เห็นว่ามีอะไรใหม่หรือน่าตื่นเต้น ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะพบคำแบบนี้บ่อยที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ลูกา และหนังสือวิวรณ์ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็มักใช้คำคล้าย ๆ กันนี้ด้วย
เหมือนนกเขา: นกเขาถูกใช้ในการนมัสการและยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วย มีการใช้นกเขาเป็นเครื่องบูชา (มก 11:15; ยน 2:14-16) นกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไม่มีพิษมีภัย (มธ 10:16) นกเขาที่โนอาห์ปล่อยออกไปคาบใบมะกอกกลับมาที่เรือ ทำให้รู้ว่าน้ำกำลังลดลง (ปฐก 8:11) และเวลาของการหยุดพักและความสงบสุขใกล้เข้ามาแล้ว (ปฐก 5:29) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูรับบัพติศมา พระยะโฮวาอาจใช้นกเขาเพื่อทำให้นึกถึงบทบาทของพระเยซูลูกที่บริสุทธิ์และไม่มีบาปของพระองค์ ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่จะสละชีวิตเพื่อมนุษย์และทำให้มนุษย์ได้หยุดพักและมีความสงบสุขตอนที่ท่านปกครองเป็นกษัตริย์ พลังของพระเจ้าที่ลงมาบนพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาอาจดูเหมือนนกเขากระพือปีกอยู่ใกล้ที่เกาะ
จำไว้นะว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่า “คอยดูเถอะ” ที่ มธ 1:23
ฉลาดเหมือนงู: คำว่า “ฉลาด” ในข้อนี้หมายถึง สุขุมรอบคอบ ระมัดระวัง และมีไหวพริบ นักสัตววิทยาสังเกตว่างูส่วนใหญ่จะระแวดระวังและมักจะหนีแทนที่จะจู่โจม ดังนั้น พระเยซูกำลังเตือนสาวกว่าพวกเขาต้องฉลาดสุขุมเมื่อรับมือกับผู้ต่อต้าน และต้องระวังและหลีกเลี่ยงอันตรายต่าง ๆ เมื่อทำงานประกาศ
ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกเขา: คำเตือนของพระเยซูสองส่วนนี้ (ให้ฉลาดและไม่เป็นพิษเป็นภัย) เสริมกันและกัน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่า ฉลาดเหมือนงู ในข้อนี้) คำกรีกที่แปลว่า “ไม่เป็นพิษเป็นภัย” (แปลตรงตัวว่า “ไม่ปะปน” หมายถึง “ไม่เสีย, บริสุทธิ์”) ยังมีอยู่ที่ รม 16:19 (“ไร้เดียงสา ในเรื่องความชั่ว”) และ ฟป 2:15 (“ไม่มีที่ติและมีใจบริสุทธิ์ เป็นลูกของพระเจ้า”) แต่ที่ มธ 10:16 คำว่า “ไม่เป็นพิษเป็นภัย” น่าจะหมายรวมถึงการเป็นคนจริงใจ ซื่อสัตย์ ไม่หลอกลวง และมีเจตนาบริสุทธิ์ บางครั้งในหนังสือและบทกวีภาษาฮีบรูมีการใช้นกเขา (นกพิราบ) เป็นภาพเปรียบเทียบหมายถึงคุณลักษณะเหล่านี้และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายกัน (พซม 2:14; 5:2; เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:16) สิ่งพระเยซูต้องการจะบอกก็คือ ตอนที่สาวกของท่านเจอการข่มเหงเหมือนแกะในฝูงหมาป่า พวกเขาต้องมีคุณลักษณะของสัตว์ทั้งสองชนิด คืองูกับนกเขา โดยเป็นคนฉลาดสุขุม มีไหวพริบ มีใจบริสุทธิ์ ไม่มีที่ติ และไม่เป็นพิษเป็นภัย—ลก 10:3
ศาลสูง: หมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นคณะผู้พิพากษาที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ศาลนี้ประกอบด้วยมหาปุโรหิต และพวกผู้นำกับครูสอนศาสนา 70 คน สำหรับชาวยิวคำตัดสินของศาลนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”
ศาลแซนเฮดริน: คือศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม คำกรีกที่แปลว่า “แซนเฮดริน” (ซูนเอ็ดริออน ) มีความหมายตรงตัวว่า “นั่งลงกับ” แม้มีการใช้คำนี้ในความหมายทั่ว ๆ ไปเพื่อหมายถึงที่ประชุมหรือการประชุม แต่ในอิสราเอลคำนี้อาจหมายถึงคณะผู้พิพากษาหรือศาลที่ตัดสินคดีทางศาสนา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22 และส่วนอธิบายศัพท์; ดูภาคผนวก ข12 เพื่อจะเห็นตำแหน่งที่น่าจะเป็นศาลแซนเฮดริน
ศาล: คำกรีก ซูนเอ็ดริออน ที่แปลว่า “ศาล” ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์ พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน” และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22; 26:59) แต่ก็มีการใช้คำนี้ในความหมายทั่ว ๆ ไปด้วยเพื่อหมายถึงที่ประชุมหรือการประชุม และในข้อคัมภีร์นี้ หมายถึงศาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ในที่ประชุมของชาวยิว ศาลท้องถิ่นเหล่านี้มีอำนาจตัดสินลงโทษโดยการเฆี่ยนและขับไล่ออกจากชุมชน—มธ 23:34; มก 13:9; ลก 21:12; ยน 9:22; 12:42; 16:2
เพราะคุณเป็นสาวกของผม: หรือ “เพราะเห็นแก่ชื่อของผม” ในคัมภีร์ไบเบิล บางครั้งคำว่า “ชื่อ” หมายถึงตัวคนที่เป็นเจ้าของชื่อ ชื่อเสียงของเขา และทุกสิ่งที่เขาเป็น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:9) ในกรณีของพระเยซู ชื่อของท่านยังหมายถึงอำนาจและตำแหน่งที่พระเจ้าผู้เป็นพ่อให้กับท่าน (มธ 28:18; ฟป 2:9, 10; ฮบ 1:3, 4) ในข้อนี้พระเยซูบอกว่าผู้คนจะเกลียดชังสาวกเพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชื่อของท่าน ซึ่งก็คือตำแหน่งผู้ปกครองที่พระเจ้าแต่งตั้ง คือกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และเป็นผู้ที่ทุกคนต้องยอมอยู่ใต้อำนาจเพื่อจะได้ชีวิต—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 15:21
อดทน: คำกริยากรีกที่แปลว่า “อดทน” (ฮูพอเมะโน ) มีความหมายตรงตัวว่า “อยู่ต่อ ๆ ไปภายใต้” มักมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการ “อยู่ต่อไปแทนที่จะหนี, ยืนหยัด, บากบั่น, ไม่ท้อถอย” (มธ 10:22; รม 12:12; ฮบ 10:32; ยก 5:11) ในท้องเรื่องนี้ คำนี้หมายถึงการทำหน้าที่สาวกของพระคริสต์ต่อไปไม่ว่าจะเจอการต่อต้านหรือปัญหาใด ๆ ก็ตาม—มธ 24:9-12
เพราะคุณเป็นสาวกของผม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:9
อดทน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:13
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
แล้ว . . . จะไม่ยิ่ง: พระเยซูมักใช้วิธีหาเหตุผลแบบนี้ ท่านจะเริ่มด้วยการพูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งที่ผู้ฟังคุ้นเคยหรือยอมรับกันอยู่แล้ว จากนั้นท่านก็โยงมาที่ข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเชื่อยิ่งกว่าเรื่องแรก นี่เป็นการสอนเรื่องสำคัญโดยอาศัยข้อเท็จจริงง่าย ๆ—มธ 10:25; 12:12; ลก 11:13; 12:28
เบเอลเซบูบ: อาจแผลงมาจากคำว่าบาอัลเซบูบ ที่หมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งแมลงวัน” ซึ่งก็คือพระบาอัลที่ชาวฟีลิสเตียในเมืองเอโครนนมัสการ (2พก 1:3) สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับใช้ชื่อคล้าย ๆ กันว่าเบเอลเซบูลหรือบีเซบูล ซึ่งอาจหมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งที่อยู่อันสูงส่ง” หรืออาจเป็นการเล่นคำฮีบรู ซีเวล (มูลสัตว์) ซึ่งไม่ได้เป็นคำในพระคัมภีร์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ชื่อนี้ก็จะหมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งมูลสัตว์” ข้อความใน มธ 12:24 บอกให้รู้ว่าเบเอลเซบูบเป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกซาตาน ซึ่งเป็นหัวหน้าหรือเจ้าแห่งปีศาจ
กว่านั้นอีก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่า “แล้ว . . . จะไม่ยิ่ง” ที่ มธ 7:11
ในที่สว่าง: คือพูดอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ
ป่าวประกาศจากดาดฟ้า: เป็นสำนวนหมายถึง “ประกาศให้รู้ทั่วกัน” ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล หลังคาบ้านจะมีลักษณะแบนเป็นดาดฟ้า ซึ่งเป็นที่ที่ผู้คนจะขึ้นไปประกาศข่าวหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อต้องการให้คนอื่นรู้ทั่วกัน—2ซม 16:22
เกเฮนนา: คำนี้มาจากคำฮีบรู เกฮินโนม ซึ่งหมายความว่า “หุบเขาฮินโนม” หุบเขานี้อยู่ทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม (ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”) ในสมัยพระเยซู หุบเขานี้เป็นที่เผาขยะ จึงเหมาะที่จะใช้คำว่า “เกเฮนนา” เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายอย่างสิ้นเชิง—ดูส่วนอธิบายศัพท์
ชีวิตที่คุณจะได้รับในอนาคต: หมายถึงชีวิตที่จะได้รับหลังฟื้นขึ้นจากตาย คำกรีก พะซูเฆ และคำฮีบรู เนเฟช (ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลว่า “จิตวิญญาณ”) มีความหมายหลัก ๆ ว่า (1) คน (2) สัตว์ (3) ชีวิตของคนหรือสัตว์ (ปฐก 1:20; 2:7; กดว 31:28; 1ปต 3:20) อาจพบตัวอย่างการใช้คำกรีก พะซูเฆ เพื่อหมายถึง “ชีวิต” ได้ที่ มธ 6:25; 10:39; 16:25, 26; มก 8:35-37; ลก 12:20; ยน 10:11, 15; 12:25; 13:37, 38; 15:13; กจ 20:10 ข้อคัมภีร์เหล่านี้ช่วยให้เข้าใจคำพูดของพระเยซูในข้อนี้ได้อย่างถูกต้อง
พระองค์ผู้ที่ทำลายคุณได้ตลอดไป: มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถทำลายเราได้ตลอดไป (หมายถึงทำให้ไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตตลอดไป) และมีแต่พระองค์เท่านั้นที่สามารถปลุกคนตายให้ฟื้นเพื่อจะมีชีวิตตลอดไปได้ คำว่า “คุณ” ในประโยคนี้แปลจากคำกรีก พะซูเฆ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงว่า พะซูเฆ (คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลว่า “จิตวิญญาณ”) เป็นสิ่งที่ตายได้และถูกทำลายได้ ข้อคัมภีร์อื่นที่ยืนยันเรื่องนี้คือ มก 3:4; ลก 17:33; ยน 12:25; กจ 3:23
เกเฮนนา: หมายถึงการทำลายอย่างสิ้นเชิง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22 และส่วนอธิบายศัพท์
นกกระจอก: คำกรีก สตรู่ธีออน อยู่ในรูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็ก จึงหมายถึงนกตัวเล็ก ๆ ชนิดใดก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักจะหมายถึงนกกระจอกซึ่งเป็นนกราคาถูกที่สุดที่ซื้อมาเป็นอาหาร
แค่ไม่กี่บาท: แปลตรงตัวว่า “1 อัสซาริอัน” ซึ่งมีค่าเท่ากับค่าแรง 45 นาที (ดูภาคผนวก ข14) ในข้อนี้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระเยซูเดินทางประกาศในแคว้นกาลิลีรอบที่ 3 ท่านบอกว่านกกระจอก 2 ตัวมีค่าเท่ากับ 1 อัสซาริอัน แต่ในอีกโอกาสหนึ่งน่าจะประมาณ 1 ปีต่อมาในช่วงที่ท่านประกาศที่แคว้นยูเดีย พระเยซูบอกว่านกกระจอก 5 ตัวซื้อได้ในราคา 2 อัสซาริอัน (ลก 12:6, เชิงอรรถ) การเปรียบเทียบ 2 เหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่า นกกระจอกมีราคาถูกมากจนพ่อค้าแถมตัวที่ 5 ให้ฟรี ๆ
แม้แต่ผมบนหัวของคุณ . . . ก็นับไว้แล้วทุกเส้น: มีการกะประมาณกันว่าเฉลี่ยแล้วคนเรามีเส้นผมมากกว่า 100,000 เส้น การที่พระยะโฮวารู้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ขนาดนี้ยืนยันว่าพระองค์สนใจสาวกของพระคริสต์ทุกคนมาก
ยอมแบก: หรือ “ยอมรับ” ในข้อนี้ใช้ในความหมายเป็นนัย หมายถึงการรับเอาหน้าที่รับผิดชอบและผลที่ตามมาจากการเป็นสาวกของพระเยซู
เสาทรมาน: หรือ “เสาประหาร” นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก สเทารอส ในวรรณกรรมกรีกโบราณคำนี้มักหมายถึงเสาหรือหลักที่ตั้งตรง เมื่อใช้ในความหมายเป็นนัย บางครั้งจะหมายถึงความทุกข์ ความอับอาย การทรมาน และแม้แต่ความตายที่คนเราต้องเจอเพราะเป็นสาวกของพระเยซู—ดูส่วนอธิบายศัพท์
ในนาม: คำกรีกที่แปลว่า “นาม” (ออนอมา) ไม่ได้หมายถึงชื่อของใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในท้องเรื่องนี้คำว่า “ในนาม” หมายถึงการยอมรับอำนาจและตำแหน่งของพระเจ้าผู้เป็นพ่อและลูกของพระองค์ รวมถึงการยอมรับบทบาทของพลังบริสุทธิ์ การยอมรับนี้ทำให้คนเรามีสายสัมพันธ์แบบใหม่กับพระเจ้า—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:41
เพราะคนนั้นเป็นผู้พยากรณ์: แปลตรงตัวว่า “ในนามของผู้พยากรณ์” สำนวนกรีก “ในนามของ” ที่ใช้ในข้อนี้แสดงถึงการยอมรับตำแหน่งหน้าที่ของผู้พยากรณ์และงานที่เขาทำ—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:19
รางวัลเหมือนที่ผู้พยากรณ์ได้รับ: คนที่ยอมรับและสนับสนุนผู้พยากรณ์แท้ของพระเจ้าจะได้รับรางวัลมากมาย เรื่องราวของแม่ม่ายที่ 1พก 17 เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้
วีดีโอและรูปภาพ

ชาวฮีบรูโบราณนิยมใช้ไม้เท้า ไม้เท้าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น พยุงตัว (อพย 12:11; ศคย 8:4; ฮบ 11:21) ป้องกันอันตราย (2ซม 23:21) นวดข้าว (อสย 28:27) ตีกิ่งมะกอก (ฉธบ 24:20; อสย 24:13) และอื่น ๆ อีกมากมาย ย่ามใส่อาหารเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ที่มักทำจากหนัง ซึ่งคนเดินทาง คนเลี้ยงแกะ ชาวนาชาวไร่ และคนอื่น ๆ ชอบใช้กัน ย่ามนี้ใช้ใส่อาหาร เสื้อผ้า และของอื่น ๆ ตอนที่พระเยซูส่งอัครสาวกออกไปเดินทางประกาศ ท่านก็พูดเรื่องไม้เท้าและย่ามใส่อาหารด้วย ท่านสั่งให้พวกอัครสาวกเอาไปแต่ไม้เท้าและย่ามที่มีอยู่เท่านั้น พวกเขาไม่ต้องกังวลและไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไปเผื่อ เพราะพระยะโฮวาจะดูแลพวกเขา

หมาป่าในอิสราเอลเป็นนักล่าที่ชอบออกหากินตอนกลางคืน (ฮบก 1:8) หมาป่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ตะกละ ใจกล้า และโลภ มันมักจะฆ่าแกะมากเกินกว่าที่มันจะกินได้หรือลากไปได้ ในคัมภีร์ไบเบิล มักมีการใช้สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งลักษณะนิสัยของมันเป็นภาพเปรียบเทียบทั้งในด้านดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น ก่อนตายยาโคบพยากรณ์เกี่ยวกับตระกูลเบนยามินว่าเป็นนักสู้เหมือนหมาป่า (Canis lupus) (ปฐก 49:27) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีการเปรียบหมาป่ากับคนที่มีนิสัยไม่ดี เช่น ดุร้าย โลภ ตะกละ และเจ้าเล่ห์ คนที่ถูกเปรียบว่าเป็นหมาป่ามีทั้งผู้พยากรณ์เท็จ (มธ 7:15) ผู้ต่อต้านที่โหดร้ายซึ่งต่อต้านงานรับใช้ของคริสเตียน (มธ 10:16; ลก 10:3) และพวกผู้สอนเท็จซึ่งทำให้ประชาคมคริสเตียนตกอยู่ในอันตราย (กจ 20:29, 30) ผู้เลี้ยงแกะจะต้องรู้ว่าหมาป่าจะมาทำอันตรายอะไร พระเยซูพูดถึง “ลูกจ้าง” ซึ่ง “เมื่อเห็นหมาป่ามา เขาก็ทิ้งฝูงแกะแล้วหนีไป” พระเยซูต่างจากลูกจ้างคนนั้นที่ “ไม่ได้เป็นห่วงแกะจริง ๆ” ท่านเป็น “คนเลี้ยงแกะที่ดี” ซึ่งยอม “สละชีวิตเพื่อแกะ”—ยน 10:11-13

แส้แบบที่ทำให้เจ็บปวดมากที่สุดเรียกว่า ฟลาเกลลุม แส้นี้ทำจากเชือกหรือหนังถักหลายเส้นและมีด้ามจับ มีการเอาเศษกระดูกหรือเศษโลหะมัดติดกับเส้นหนังเพื่อให้แส้หนักขึ้นและทำให้คนที่ถูกเฆี่ยนเจ็บปวดมากขึ้น

หลังคาบ้านที่แบนเป็นดาดฟ้าเป็นที่ที่คนในครอบครัวมักจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน พ่ออาจเรียกทุกคนในบ้านมาคุยกันเรื่องพระยะโฮวาที่นั่น ตัวอย่างเช่น ในช่วงเทศกาลเก็บพืชผลจะมีการสร้างเพิงบนดาดฟ้า (ลนต 23:41, 42; ฉธบ 16:13-15) มีการทำงานบ้านบนนั้นด้วย เช่น การตากต้นป่าน (ยชว 2:6) บางครั้งคนก็ขึ้นไปนอนบนดาดฟ้า (1ซม 9:25, 26) กิจกรรมทุกอย่างที่ทำกันบนนั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นได้ง่าย (2ซม 16:22) การประกาศข่าวจากดาดฟ้าจะทำให้เพื่อนบ้านและคนที่ผ่านไปมาบนถนนได้ยินกันทั่ว

หุบเขาฮินโนม ภาษากรีกเรียกว่า เกเฮนนา เป็นหุบเขาแคบ ๆ อยู่ทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็มสมัยโบราณ ในสมัยพระเยซู หุบเขานี้เป็นที่เผาขยะ จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายอย่างสิ้นเชิง

นกกระจอกเป็นนกราคาถูกที่สุดที่ซื้อมาเป็นอาหาร นกกระจอก 2 ตัวสามารถซื้อได้ในราคาเท่ากับค่าแรง 45 นาที คำกรีกที่แปลว่านกกระจอกอาจหมายถึงนกตัวเล็ก ๆ ชนิดใดก็ได้ รวมถึงนกกระจอกบ้านที่พบได้ทั่วไป (Passer domesticus biblicus) และนกกระจอกสเปน (Passer hispaniolensis) ซึ่งยังมีอยู่มากในอิสราเอล