ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“จงแสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์”

“จงแสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์”

“จง​แสวง​หา​พระ​ยะโฮวา​และ​พึ่ง​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระองค์”

“ส่วน​พระ​ยะโฮวา พระ​เนตร​ของ​พระองค์​กวาด​มอง​ไป​ทั่ว​แผ่นดิน​โลก​เพื่อ​จะ​สำแดง​ฤทธิ์​ของ​พระองค์​เพื่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​หัวใจ​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ต่อ​พระองค์.”—2 โครนิกา 16:9, ล.ม.

1. อำนาจ​คือ​อะไร และ​มนุษย์​ได้​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ไร?

อำนาจ​อาจ​มี​ความหมาย​ได้​หลาย​อย่าง เช่น การ​ควบคุม, การ​บังคับ​บัญชา, หรือ​การ​มี​อิทธิพล​เหนือ​ผู้​อื่น; ความ​สามารถ​ใน​การ​กระทำ​หรือ​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​อย่าง​หนึ่ง​อย่าง​ใด; กำลัง​ทาง​กาย (ความ​แข็งแรง); หรือ ประสิทธิภาพ​ทาง​จิตใจ​หรือ​ทาง​ศีลธรรม. มนุษย์​มี​ประวัติ​ไม่​ดี​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​อำนาจ. ลอร์ด​แอก​ทัน นัก​ประวัติศาสตร์​กล่าว​ถึง​อำนาจ​ใน​มือ​นัก​การ​เมือง​ว่า “อำนาจ​มัก​ทำ​ให้​เสื่อม​ทราม และ​อำนาจ​สิทธิ์​ขาด​ทำ​ให้​เสื่อม​ทราม​อย่าง​สิ้นเชิง.” ประวัติศาสตร์​สมัย​ปัจจุบัน​เต็ม​ไป​ด้วย​ตัว​อย่าง​ซึ่ง​แสดง​ถึง​ความ​เป็น​จริง​โดย​ทั่ว​ไป​ใน​คำ​พูด​ของ​ลอร์ด​แอก​ทัน. ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 20 “มนุษย์​ใช้​อำนาจ​เหนือ​มนุษย์​อย่าง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​เขา” อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​เช่น​นี้​มา​ก่อน. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 8:9, ล.ม.) ผู้​เผด็จการ​ที่​ชั่ว​ร้าย​ได้​ใช้​อำนาจ​ของ​ตน​อย่าง​ผิด​มหันต์​และ​ทำลาย​ชีวิต​ผู้​คน​นับ​ล้าน. อำนาจ​ที่​ปราศจาก​การ​ควบคุม​โดย​ความ​รัก, สติ​ปัญญา, และ​ความ​ยุติธรรม​เป็น​อันตราย.

2. จง​อธิบาย​ถึง​คุณลักษณะ​อื่น ๆ ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​มี​ผล​ต่อ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์?

2 ไม่​เหมือน​กับ​มนุษย์​จำนวน​มาก พระเจ้า​ทรง​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​ใน​ทาง​ดี​เสมอ. “ส่วน​พระ​ยะโฮวา พระ​เนตร​ของ​พระองค์​กวาด​มอง​ไป​ทั่ว​แผ่นดิน​โลก​เพื่อ​จะ​สำแดง​ฤทธิ์​ของ​พระองค์​เพื่อ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​หัวใจ​เป็น​หนึ่ง​เดียว​ต่อ​พระองค์.” (2 โครนิกา 16:9, ล.ม.) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​อย่าง​มี​การ​ควบคุม. ความ​อด​ทน​ทำ​ให้​พระเจ้า​ทรง​ระงับ​การ​สำเร็จ​โทษ​คน​ชั่ว​ไว้ เพื่อ​ให้​พวก​เขา​มี​โอกาส​กลับ​ใจ. ความ​รัก​กระตุ้น​พระองค์​ทรง​บันดาล​ให้​ดวง​อาทิตย์​ส่อง​สว่าง​แก่​คน​ทุก​ชนิด—ทั้ง​คน​ชอบธรรม​และ​คน​ไม่​ชอบธรรม. ใน​ที่​สุด ความ​ยุติธรรม​จะ​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ใช้​อำนาจ​อัน​ไร้​ขีด​จำกัด​ของ​พระองค์​เพื่อ​ทำลาย​ตัวการ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ตาย คือ​ซาตาน​พญา​มาร.—มัดธาย 5:44, 45; เฮ็บราย 2:14; 2 เปโตร 3:9.

3. เหตุ​ใด​อำนาจ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​สูง​สุด​ของ​พระเจ้า​เป็น​เหตุ​ผล​อย่าง​หนึ่ง​สำหรับ​การ​ไว้​วางใจ​พระองค์?

3 อำนาจ​อัน​น่า​เกรง​ขาม​ของ​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​สำหรับ​ความ​ไว้​วางใจ​และ​ความ​เชื่อ​มั่น—ทั้ง​ใน​เรื่อง​คำ​สัญญา​และ​การ​คุ้มครอง​ของ​พระองค์. เด็ก​เล็ก​รู้สึก​ปลอด​ภัย​ใน​หมู่​คน​แปลก​หน้า​เมื่อ​เขา​จับ​มือ​บิดา​ของ​เขา​ไว้​แน่น เนื่อง​จาก​เขา​ทราบ​ว่า​บิดา​จะ​ไม่​ปล่อย​ให้​อันตราย​ใด ๆ มา​ถึง​ตัว​เขา. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา พระองค์​ผู้​ทรง​ไว้​ซึ่ง “อานุภาพ​ที่​จะ​ช่วย​ให้​รอด​ได้” จะ​ทรง​คุ้มครอง​เรา​ไว้​จาก​อันตราย​ถาวร​ใด ๆ ก็​ตาม​หาก​เรา​ดำเนิน​กับ​พระองค์. (ยะซายา 63:1; มีคา 6:8) และ​ใน​ฐานะ​พระ​บิดา​ที่​ดี พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทำ​ตาม​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์​เสมอ. อำนาจ​อัน​ไร้​ขีด​จำกัด​ของ​พระองค์​รับประกัน​ว่า ‘ถ้อย​คำ​ของ​พระองค์​จะ​มี​ผล​สัมฤทธิ์​แน่นอน​ดัง​ที่​พระองค์​ได้​ใช้​ให้​ไป​ทำ.’—ยะซายา 55:11, ล.ม.; ติโต 1:2.

4, 5. (ก) เกิด​ผล​เช่น​ไร​เมื่อ​กษัตริย์​อาซา​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เต็ม​ที่? (ข) อาจ​เกิด​อะไร​ขึ้น​หาก​เรา​หมาย​พึ่ง​ทาง​แก้​ปัญหา​จาก​มนุษย์?

4 เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​มาก​ที่​เรา​ควร​สำนึก​เสมอ​ถึง​การ​คุ้มครอง​จาก​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา? เนื่อง​จาก​เป็น​ไป​ได้​ที่​เรา​อาจ​ถูก​สถานการณ์​แวด​ล้อม​กดดัน​อย่าง​หนัก​และ​ลืม​ไป​ว่า​ความ​มั่นคง​แท้​จริง​ของ​เรา​นั้น​อยู่​ที่​ไหน. เรื่อง​นี้​เห็น​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​กษัตริย์​อาซา บุรุษ​ผู้​ซึ่ง​โดย​ปกติ​แล้ว​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา. ระหว่าง​รัชสมัย​ของ​อาซา กองทัพ​กล้า​แข็ง​ของ​เอธิโอเปีย​ซึ่ง​มี​จำนวน​นับ​ล้าน​ยก​มา​โจมตี​ยูดา. โดย​ตระหนัก​ว่า​ฝ่าย​ศัตรู​มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​ทาง​ทหาร อาซา​อธิษฐาน​ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, มี​เฉพาะ​แต่​พระองค์​ผู้​เดียว​ที่​จะ​ทรง​สงเคราะห์​ใน​ระหว่าง​พวก​ที่​มี​ฤทธิ์​กับ​ผู้​ที่​หา​มี​กำลัง​ไม่​เลย: ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, พระเจ้า​ของ​พวก​ข้าพเจ้า, ขอ​พระองค์​ทรง​โปรด​ช่วย, เพราะ​ข้าพเจ้า​ยึด​ถือ​พระองค์​เป็น​ที่​พึ่ง, และ​ได้​ออก​มา​ต่อ​สู้​หมู่​คณะ​ใหญ่​นี้​ใน​พระ​นาม​ของ​พระองค์. ข้า​แต่​พระ​ยะโฮวา, พระเจ้า​ของ​พวก​ข้าพเจ้า, ขอ​อย่า​ให้​มนุษย์​ได้​ชัย​ชนะ​ต่อ​พระองค์​เลย.” (2 โครนิกา 14:11) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทำ​ตาม​คำ​ทูล​ขอ​ของ​อาซา​และ​ทำ​ให้​ท่าน​ได้​ชัย​ชนะ​เด็ดขาด.

5 อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ที่​ได้​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​หลาย​ปี ความ​เชื่อ​มั่น​ของ​อาซา​ใน​อำนาจ​แห่ง​การ​ช่วย​ให้​รอด​ของ​พระ​ยะโฮวา​กลับ​คลอนแคลน. เพื่อ​จะ​พ้น​จาก​การ​คุกคาม​ทาง​ทหาร​ของ​อาณาจักร​ยิศราเอล​ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ ท่าน​หัน​ไป​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ซุเรีย. (2 โครนิกา 16:1-3) แม้​ว่า​สินบน​ที่​ท่าน​มอบ​ให้​แก่​เบ็นฮะดัด​กษัตริย์​แห่ง​ซุเรีย​ช่วย​ให้​ยูดา​พ้น​จาก​การ​คุกคาม​ของ​ยิศราเอล แต่​สัญญา​ไมตรี​ที่​อาซา​ทำ​กับ​ซุเรีย​แสดง​ถึง​การ​ขาด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา. ผู้​พยากรณ์​ฮะนานี​ถาม​ท่าน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ว่า “พวก​อายธิโอบ​กับ​พวก​ลูบีม​นั้น​เป็น​กองทัพ​ใหญ่​นัก, มี​รถ​รบ, และ​ทหาร​ม้า​เป็น​อัน​มาก​มิ​ใช่​หรือ? แต่​เมื่อ​ท่าน​ได้​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา, พระองค์​ทรง​มอบ​เขา​ไว้​ใน​มือ​ท่าน.” (2 โครนิกา 16:7, 8) อย่าง​ไร​ก็​ตาม อาซา​ไม่​ยอม​รับ​การ​ว่า​กล่าว​นี้. (2 โครนิกา 16:9-12) เมื่อ​เผชิญ​หน้า​กับ​ปัญหา ขอ​เรา​อย่า​ได้​หมาย​พึ่ง​ทาง​แก้​จาก​มนุษย์. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ให้​เรา​แสดง​ความ​มั่น​ใจ​ใน​พระเจ้า เพราะ​การ​ไว้​วางใจ​ใน​อำนาจ​ของ​มนุษย์​ย่อม​นำ​ไป​สู่​ความ​ผิด​หวัง​แน่นอน.—บทเพลง​สรรเสริญ 146:3-5.

จง​แสวง​หา​อำนาจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน

6. เหตุ​ใด​เรา​ควร “แสวง​หา​พระ​ยะโฮวา​และ​พึ่ง​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระองค์”?

6 พระ​ยะโฮวา​สามารถ​ประทาน​อำนาจ​แก่​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​และ​คุ้มครอง​พวก​เขา. คัมภีร์​ไบเบิล​กระตุ้น​เรา​ให้ “แสวง​หา​พระ​ยะโฮวา​และ​พึ่ง​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 105:4) เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​เมื่อ​เรา​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ โดย​อาศัย​กำลัง​จาก​พระเจ้า อำนาจ​ที่​เรา​มี​จะ​ถูก​ใช้​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ผู้​อื่น ไม่​ใช่​เพื่อ​ทำ​ให้​ผู้​อื่น​เสียหาย. ไม่​มี​ที่​ใด​ซึ่ง​เรา​จะ​พบ​ตัว​อย่าง​ใน​เรื่อง​นี้​ที่​ดี​กว่า​พระ​เยซู​คริสต์ ผู้​ทรง​กระทำ​การ​อัศจรรย์​หลาย​อย่าง​ด้วย “ฤทธิ์​เดช​ของ​พระเจ้า.” (ลูกา 5:17) พระ​เยซู​สามารถ​ทุ่มเท​ตัว​เอง​เพื่อ​จะ​เป็น​คน​ร่ำรวย, มี​ชื่อเสียง, หรือ​แม้​แต่​เป็น​กษัตริย์​ที่​ทรง​ไว้​ซึ่ง​อำนาจ​บริบูรณ์. (ลูกา 4:5-7) แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​ใช้​อำนาจ​ที่​พระเจ้า​ประทาน​เพื่อ​ฝึก​อบรม​และ​สั่ง​สอน เพื่อ​ช่วยเหลือ​และ​รักษา​โรค. (มาระโก 7:37; โยฮัน 7:46) ช่าง​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​อะไร​เช่น​นี้​สำหรับ​เรา!

7. คุณลักษณะ​สำคัญ​อะไร​ที่​เรา​ปลูกฝัง​เมื่อ​เรา​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ โดย​อาศัย​กำลัง​ที่​ได้​จาก​พระเจ้า​แทน​ที่​จะ​พึ่ง​อาศัย​กำลัง​ของ​ตัว​เรา​เอง?

7 นอก​จาก​นั้น เมื่อ​เรา​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ตาม “กำลัง​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​โปรด​ประทาน” นั่น​ย่อม​จะ​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​ความ​ถ่อม​ใจ​ไว้. (1 เปโตร 4:11) มนุษย์​ที่​แสวง​หา​อำนาจ​สำหรับ​ตัว​เอง​นั้น​ทำ​เกิน​สิทธิ์. ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ใน​เรื่อง​นี้​คือ​เอซัรฮาโดน​กษัตริย์​อัสซีเรีย​ผู้​ประกาศ​อย่าง​โอ้อวด​ว่า “เรา​คือ​ผู้​ทรง​ไว้​ซึ่ง​อำนาจ, เรา​คือ​ผู้​ทรง​ไว้​ซึ่ง​อำนาจ​ทั้ง​สิ้น, เรา​คือ​วีรบุรุษ, เรา​คือ​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่, เรา​คือ​ผู้​ใหญ่​ยิ่ง.” ตรง​กัน​ข้าม พระ​ยะโฮวา “ทรง​เลือก​สิ่ง​ที่​โลก​ถือ​ว่า​อ่อน​กำลัง เพื่อ​จะ​ให้​คน​มี​กำลัง​มาก​อับอาย.” ด้วย​เหตุ​นั้น หาก​คริสเตียน​แท้​จะ​อวด เขา​อวด​ใน​พระ​ยะโฮวา เพราะ​เขา​ทราบ​ว่า​สิ่ง​ที่​เขา​ทำ​นั้น​มิ​ได้​บรรลุ​ผล​ด้วย​กำลัง​ของ​ตน​เอง. ‘การ​ถ่อม​ตัว​เรา​เอง​ลง​ภาย​ใต้​พระ​หัตถ์​อัน​ทรง​ฤทธิ์​ของ​พระเจ้า’ ย่อม​จะ​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ปลื้ม​ปีติ​แท้.—1 โกรินโธ 1:26-31; 1 เปโตร 5:6.

8. เรา​ควร​ทำ​อะไร​เป็น​อันดับ​แรก​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​กำลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา?

8 เรา​จะ​ได้​กำลัง​จาก​พระเจ้า​โดย​วิธี​ใด? ประการ​แรก เรา​ต้อง​อธิษฐาน​ขอ. พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​รับรอง​แก่​เหล่า​สาวก​ว่า​พระ​บิดา​จะ​ทรง​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​แก่​ผู้​ที่​ทูล​ขอ. (ลูกา 11:10-13) ขอ​ให้​พิจารณา​วิธี​ที่​การ​อธิษฐาน​ขอ​ทำ​ให้​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​เปี่ยม​ด้วย​พลัง​เมื่อ​เขา​เลือก​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​แทน​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ที่​สั่ง​พวก​เขา​เลิก​ให้​คำ​พยาน​ถึง​พระ​เยซู. เมื่อ​พวก​เขา​อธิษฐาน​ขอ​ให้​พระยะโฮวา​ทรง​ช่วยเหลือ คำ​อธิษฐาน​ที่​จริง​ใจ​ของ​พวก​เขา​ได้​รับ​คำ​ตอบ และ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ประทาน​กำลัง​แก่​พวก​เขา​ที่​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ด้วย​ความ​กล้า​ต่อ ๆ ไป.—กิจการ 4:19, 20, 29-31, 33.

9. จง​บอก​ถึง​แหล่ง​ที่​สอง​ซึ่ง​สามารถ​ให้​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ และ​ยก​ตัว​อย่าง​จาก​พระ​คัมภีร์​ที่​แสดง​ถึง​ประสิทธิภาพ​ของ​กำลัง​จาก​แหล่ง​ดัง​กล่าว.

9 ประการ​ที่​สอง เรา​สามารถ​ได้​กำลัง​ฝ่าย​วิญญาณ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. (เฮ็บราย 4:12) อำนาจ​แห่ง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ปรากฏ​ชัด​ระหว่าง​สมัย​ของ​กษัตริย์​โยซียา. แม้​ว่า​กษัตริย์​ยูดา​องค์​นี้​ได้​ขจัด​รูป​เคารพ​ของ​พวก​นอก​รีต​ออก​ไป​จาก​แผ่นดิน​แล้ว การ​ค้น​พบ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​พระ​วิหาร​อย่าง​ไม่​คาด​คิด​กระตุ้น​ท่าน​ให้​ปฏิบัติการ​กวาด​ล้าง​เต็ม​ที่​ยิ่ง​ขึ้น. * หลัง​จาก​โยซียา​ได้​อ่าน​พระ​บัญญัติ​ด้วย​ตัว​ท่าน​เอง​ให้​ประชาชน​ฟัง ทั้ง​ชาติ​ก็​ทำ​สัญญา​ไมตรี​กับ​พระ​ยะโฮวา และ​มี​การ​รณรงค์​เพื่อ​กวาด​ล้าง​การ​บูชา​รูป​เคารพ​อีก​เป็น​คำรบ​สอง​ซึ่ง​ทำ​กัน​อย่าง​แข็งขัน​ยิ่ง​กว่า​เดิม. ผล​ดี​จาก​การ​ปฏิรูป​ของ​โยซียา​คือ ตลอด “รัชกาล​ของ​พระองค์​เขา​ทั้ง​หลาย​มิ​ได้​หัน​ไป​จาก​การ​ติด​ตาม​พระ​เยโฮวาห์.”—2 โครนิกา (พงศาวดาร) 34:33, ฉบับ​แปล​ใหม่.

10. วิธี​ที่​สาม​ที่​จะ​ได้​รับ​กำลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา​คือ​อะไร และ​เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ?

10 ประการ​ที่​สาม เรา​ได้​รับ​กำลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​คบหา​สมาคม​ใน​หมู่​เพื่อน​คริสเตียน. เปาโล​สนับสนุน​คริสเตียน​ให้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​เป็น​ประจำ​เพื่อ “เร้า​ใจ​ให้​เกิด​ความ​รัก​และ​การ​กระทำ​ที่​ดี” และ​หนุน​กำลังใจ​กัน. (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) เมื่อ​เปโตร​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​ออก​จาก​คุก​โดย​การ​อัศจรรย์ ท่าน​ต้องการ​จะ​อยู่​กับ​พวก​พี่​น้อง​จึง​ได้​ตรง​ไป​ยัง​บ้าน​มารดา​ของ​โยฮัน มาระโก ซึ่ง​ที่​นั่น “มี​หลาย​คน​ได้​ประชุม​อธิษฐาน​กัน​อยู่.” (กิจการ 12:12) แน่นอน พวก​เขา​ทุก​คน​สามารถ​อยู่​กับ​บ้าน​และ​อธิษฐาน. แต่​พวก​เขา​เลือก​ที่​จะ​มา​อยู่​ร่วม​กัน​เพื่อ​อธิษฐาน​และ​หนุน​กำลังใจ​กัน​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​ยุ่งยาก​ลำบาก​นั้น. เมื่อ​เปาโล​จวน​จะ​สิ้น​สุด​การ​เดิน​ทาง​อัน​ยาว​นาน​และ​เสี่ยง​ภัย​ไป​ยัง​กรุง​โรม ท่าน​พบ​กับ​พี่​น้อง​บาง​คน​ใน​เมือง​โปติโอลอย และ​ต่อ​มา​ก็​ได้​พบ​กับ​คน​อื่น ๆ ที่​เดิน​ทาง​มา​พบ​ท่าน. ปฏิกิริยา​ของ​ท่าน​นะ​หรือ? “เมื่อ​เปาโล​เห็น​เขา​แล้ว​ท่าน​จึง​ขอบ​พระเดช​พระคุณ​พระเจ้า​และ​มี​ใจ​ชื่น​บาน​ขึ้น.” (กิจการ 28:13-15) ท่าน​ได้​รับ​กำลัง​เข้มแข็ง​ขึ้น​จาก​การ​ได้​อยู่​ร่วม​กับ​เพื่อน​คริสเตียน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. เรา​เอง​ก็​เช่น​กัน​ได้​รับ​กำลัง​จาก​การ​คบหา​กับ​เพื่อน​คริสเตียน. ตราบ​เท่า​ที่​เรา​มี​อิสระ​และ​สามารถ​คบหา​สมาคม​กัน เรา​ต้อง​ไม่​พยายาม​ดำเนิน​เพียง​ลำพัง​ตัว​เอง​ใน​ทาง​แคบ​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​ชีวิต.—สุภาษิต 18:1; มัดธาย 7:14.

11. จง​กล่าว​ถึง​สถานการณ์​บาง​อย่าง​ที่​เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ “กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ” เป็น​พิเศษ.

11 โดย​การ​อธิษฐาน​เป็น​ประจำ, การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า, และ​การ​คบหา​สมาคม​กับ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ เรา “รับ​เอา​พลัง​ต่อ ๆ ไป​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​ใน​พลานุภาพ​แห่ง​ฤทธิ์​เดช​ของ​พระองค์.” (เอเฟโซ 6:10, ล.ม.) ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า เรา​ทุก​คน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ ‘พลัง​ใน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.’ บาง​คน​ทน​อยู่​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ที่​ทำ​ให้​อ่อน​เปลี้ย คน​อื่น ๆ ประสบ​ความ​ทุกข์​เนื่อง​ด้วย​วัย​ชรา​หรือ​จาก​การ​สูญ​เสีย​คู่​ชีวิต. (บทเพลง​สรรเสริญ 41:3) บาง​คน​อด​ทน​การ​ต่อ​ต้าน​จาก​คู่​สมรส​ที่​ไม่​เชื่อ. บิดา​มารดา โดย​เฉพาะ​บิดา​หรือ​มารดา​ไร้​คู่ อาจ​พบ​ว่า​การ​เอา​ใจ​ใส่​งาน​เต็ม​เวลา​ใน​ขณะ​ที่​เอา​ใจ​ใส่​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว​เป็น​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​ทำ​ให้​เหน็ด​เหนื่อย​มาก. หนุ่ม​สาว​คริสเตียน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​กำลัง​ที่​จะ​ต้านทาน​แรง​กดดัน​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน​และ​บอก​ปฏิเสธ​ยา​เสพย์ติด​และ​การ​ผิด​ศีลธรรม. ไม่​ควร​มี​ใคร​รีรอ​ที่​จะ​ทูล​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ให้​ประทาน “กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ” เพื่อ​รับมือ​ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นั้น.—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.

“ประทาน​แรง​แก่​ผู้​ที่​อิดโรย”

12. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ค้ำจุน​เรา​อย่าง​ไร​ใน​งาน​รับใช้​ของ​คริสเตียน?

12 นอก​จาก​นั้น​แล้ว พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​กำลัง​แก่​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ขณะ​ที่​พวก​เขา​ทำ​งาน​รับใช้​ของ​ตน. เรา​อ่าน​จาก​คำ​พยากรณ์​ของ​ยะซายา​ว่า “พระองค์​ทรง​ประทาน​แรง​แก่​ผู้​ที่​อิดโรย, ส่วน​ผู้​ที่​อ่อน​เปลี้ย, พระองค์​ทรง​ประทาน​กำลัง​ให้. . . . ผู้​ที่​คอย​ท่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ได้​รับ​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น; เขา​จะ​กาง​ปีก​บิน​ขึ้น​ไป​ดุจ​นก​อินทรี; เขา​จะ​วิ่ง​ไป, และ​ไม่​รู้​จัก​อ่อน​เปลี้ย, เขา​จะ​เดิน​ไป, และ​ไม่​รู้​จัก​อิดโรย.” (ยะซายา 40:29-31) อัครสาวก​เปาโล​เอง​ได้​รับ​กำลัง​ที่​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​ของ​ท่าน. ผล​ก็​คือ งาน​รับใช้​ของ​ท่าน​มี​ประสิทธิภาพ. ท่าน​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​เธซะโลนิเก​ว่า “ข่าว​ดี​ที่​เรา​ประกาศ​ไม่​ได้​มา​ถึง​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​โดย​วาจา​เท่า​นั้น​แต่​โดย​ฤทธิ์​และ​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์.” (1 เธซะโลนิเก 1:5, ล.ม.) การ​ประกาศ​และ​การ​สอน​ของ​ท่าน​มี​พลัง​ที่​จะ​ทำ​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ขนาน​ใหญ่​ใน​ชีวิต​ของ​คน​ที่​ฟัง​ท่าน.

13. อะไร​เสริม​กำลัง​ยิระมะยา​ให้​พากเพียร​ต่อ​ไป​แม้​เผชิญ​การ​ต่อ​ต้าน?

13 เมื่อ​เผชิญ​กับ​น้ำใจ​ไม่​แยแส​ใน​เขต​ทำ​งาน​ของ​เรา—เขต​ซึ่ง​เรา​อาจ​ได้​ประกาศ​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​เล่า​หลาย​ปี​โดย​ที่​มี​การ​ตอบรับ​เพียง​เล็ก​น้อย—เรา​อาจ​เริ่ม​ท้อ​ใจ. ยิระมะยา​ก็​รู้สึก​ท้อ​ใจ​คล้าย ๆ กัน​เนื่อง​ด้วย​การ​ต่อ​ต้าน, การ​เยาะเย้ย, และ​ความ​ไม่​แยแส​ที่​ท่าน​เผชิญ. ท่าน​บอก​กับ​ตัว​เอง​ว่า “ข้าพเจ้า​จะ​ไม่​พูด​ถึง [พระเจ้า] อีก, หรือ​จะ​ไม่​บอก​ใน​นาม​ของ​พระองค์​อีก​แล้ว.” แต่​ท่าน​ไม่​สามารถ​นิ่ง​เงียบ​อยู่​ได้. ข่าวสาร​ที่​ท่าน​มี​อยู่​นั้น “เหมือน​อย่าง​ไฟ​ปิด​ไว้​ใน​กระดูก​ทั้ง​ปวง​ของ​ตัว [ท่าน].” (ยิระมะยา 20:9) อะไร​ทำ​ให้​ท่าน​มี​พลัง​ขึ้น​อีก​ครั้ง​ใน​การ​เผชิญ​หน้า​กับ​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​อย่าง​มาก​เช่น​นั้น? ยิระมะยา​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ได้​อยู่​ด้วย​ข้าพเจ้า​เป็น​เหมือน​อย่าง​ผู้​มี​ฤทธิ์​อัน​พิลึก​พึง​กลัว.” (ยิระมะยา 20:11) ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ของ​ยิระมะยา​ต่อ​ความ​สำคัญ​ของ​ข่าวสาร​และ​งาน​มอบหมาย​ที่​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​แก่​ท่าน​ทำ​ให้​ท่าน​ตอบรับ​การ​หนุน​กำลังใจ​จาก​พระ​ยะโฮวา.

อำนาจ​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​และ​อำนาจ​ที่​ให้​การ​รักษา

14. (ก) ลิ้น​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​ทรง​พลัง​ขนาด​ไหน? (ข) จง​ยก​ตัว​อย่าง​เพื่อ​แสดง​ถึง​ความ​เสียหาย​ที่​ลิ้น​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ขึ้น​ได้.

14 ไม่​ใช่​อำนาจ​ทุก​อย่าง​ที่​เรา​มี​มา​จาก​พระเจ้า​โดย​ตรง. ตัว​อย่าง​เช่น ลิ้น​มี​อำนาจ​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ได้​เช่น​เดียว​กับ​มี​อำนาจ​ที่​ให้​การ​รักษา. ซะโลโม​เตือน​ว่า “ความ​ตาย​และ​ชีวิต​อยู่​ใน​อำนาจ​ลิ้น.” (สุภาษิต 18:21) ผล​ที่​เกิด​จาก​การ​สนทนา​สั้น ๆ ระหว่าง​ซาตาน​กับ​ฮาวา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คำ​พูด​อาจ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ได้​มาก​ขนาด​ไหน. (เยเนซิศ 3:1-5; ยาโกโบ 3:5) เรา​ก็​เช่น​กัน​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​ได้​มาก​ด้วย​ลิ้น​ของ​เรา. คำ​พูด​กระทบ​กระเทียบ​เกี่ยว​กับ​น้ำหนัก​ตัว​ของ​เด็ก​สาว​คน​หนึ่ง​อาจ​ส่ง​ผล​ให้​เธอ​กลาย​เป็น​โรค​อะโนเรกเซีย. การ​กล่าว​ซ้ำ​คำ​ให้​ร้าย​โดย​ไม่​ยั้ง​คิด​อาจ​ทำลาย​สัมพันธภาพ​ที่​มี​ต่อ​กัน​มา​ยาว​นาน​ชั่ว​ชีวิต. ถูก​แล้ว จำเป็น​ต้อง​ควบคุม​ลิ้น.

15. เรา​จะ​ใช้​ลิ้น​ของ​เรา​เพื่อ​เสริม​สร้าง​และ​ให้​การ​รักษา​ได้​อย่าง​ไร?

15 อย่าง​ไร​ก็​ตาม ลิ้น​อาจ​ช่วย​เสริม​สร้าง​ได้​เช่น​เดียว​กับ​ที่​ก่อ​ผล​เป็น​การ​ทำลาย. สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “คำ​พูด​พล่อย ๆ ของ​คน​บาง​จำพวก​เหมือน​การ​แทง​ของ​กระบี่; แต่​ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญญา​ย่อม​รักษา​แผล​ให้​หาย.” (สุภาษิต 12:18) คริสเตียน​ที่​สุขุม​ใช้​อำนาจ​ของ​ลิ้น​เพื่อ​ปลอบโยน​คน​ซึมเศร้า​และ​ผู้​โศก​เศร้า​เนื่อง​จาก​การ​สูญ​เสีย​ผู้​ที่​ตน​รัก. คำ​พูด​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​สามารถ​หนุน​กำลังใจ​วัยรุ่น​ที่​ต่อ​สู้​อยู่​กับ​แรง​กดดัน​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน. คำ​พูด​ที่​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​สามารถ​ให้​ความ​มั่น​ใจ​แก่​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​สูง​อายุ​ว่า​คน​อื่น​ยัง​ต้องการ​และ​รัก​เขา. คำ​พูด​ที่​แสดง​ความ​กรุณา​สามารถ​ทำ​ให้​โลก​สดใส​ขึ้น​สำหรับ​ผู้​ป่วย. ยิ่ง​กว่า​อื่น​ใด เรา​สามารถ​ใช้​ลิ้น​ของ​เรา​ใน​การ​แบ่ง​ปัน​ข่าวสาร​อัน​ทรง​พลัง​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ให้​แก่​ทุก​คน​ที่​ฟัง. การ​ประกาศ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​นั้น​อยู่​ใน​ขอบ​เขต​อำนาจ​ที่​เรา​ทำ​ได้ หาก​หัวใจ​เรา​ติดสนิท​อยู่​กับ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “อย่า​กีด​กัน​ความ​ดี​ไว้​จาก​คน​ใด ๆ ที่​เขา​ควร​จะ​ได้​ความ​ดี​นั้น, ใน​เมื่อ​เจ้า​มี​อำนาจ​อยู่​ใน​กำ​มือ​อาจ​จะ​ทำ​ได้.”—สุภาษิต 3:27.

จง​ใช้​อำนาจ​อย่าง​ถูก​ต้อง

16, 17. เมื่อ​ใช้​อำนาจ​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้ ผู้​ปกครอง, บิดา​มารดา, สามี, และ​ภรรยา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​ไร?

16 แม้​ว่า​ทรง​ไว้​ซึ่ง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ปกครอง​ประชาคม​ด้วย​ความ​รัก. (1 โยฮัน 4:8) โดย​เลียน​แบบ​พระองค์ คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า​ด้วย​ความ​รัก—ไม่​ใช้​อำนาจ​หน้า​ที่​ของ​ตน​ใน​ทาง​ผิด. จริง​อยู่ บาง​ครั้ง​ผู้​ดู​แล​จำเป็น​ต้อง “ว่า​กล่าว, ตำหนิ, กระตุ้น​เตือน” แต่​เขา​ทำ​อย่าง​นี้ “ด้วย​ความ​อด​กลั้น​ทน​นาน​ทุก​อย่าง และ​ด้วย​ศิลปะ​แห่ง​การ​สั่ง​สอน.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ดัง​นั้น ผู้​ปกครอง​คิด​รำพึง​อยู่​เป็น​ประจำ​ถึง​คำ​กล่าว​ของ​อัครสาวก​เปโตร​ซึ่ง​เขียน​ถึง​คน​ที่​มี​อำนาจ​หน้า​ที่​ใน​ประชาคม​ว่า “จง​บำรุง​เลี้ยง​ฝูง​แกะ​ของ​พระเจ้า​ใน​ความ​อารักขา​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย มิ​ใช่​เพราะ​ถูก​บังคับ แต่​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ; ไม่​ใช่​เพราะ​รัก​ผล​กำไร​โดย​มิ​ชอบ แต่​ด้วย​ใจ​จดจ่อ; ไม่​ใช่​เหมือน​เจ้านาย​กดขี่​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​เป็น​มรดก​ของ​พระเจ้า แต่​เป็น​แบบ​อย่าง​แก่​ฝูง​แกะ​นั้น.”—1 เปโตร 5:2, 3, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 2:7, 8.

17 ผู้​เป็น​บิดา​และ​สามี​มี​อำนาจ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​แก่​เขา​ด้วย และ​ควร​ใช้​อำนาจ​นี้​เพื่อ​ช่วยเหลือ, บำรุง​เลี้ยง, และ​ทะนุถนอม. (เอเฟโซ 5:22, 28-30; 6:4) ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​แสดง​ว่า​สามารถ​ใช้​อำนาจ​ได้​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​ด้วย​วิธี​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก. หาก​การ​ตี​สอน​มี​ความ​สมดุล​และ​คง​เส้น​คง​วา บุตร​จะ​ไม่​รู้สึก​ท้อ​ใจ. (โกโลซาย 3:21) สาย​สมรส​ได้​รับ​การ​เสริม​ให้​เหนียวแน่น​เมื่อ​สามี​ที่​เป็น​คริสเตียน​ใช้​ตำแหน่ง​ประมุข​ของ​ตน​ด้วย​ความ​รัก​และ​ภรรยา​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ต่อ​ตำแหน่ง​ประมุข​ของ​สามี ไม่​ประพฤติ​เกิน​ขอบ​เขต​หน้า​ที่​ของ​ตน​ตาม​ที่​พระเจ้า​ทรง​กำหนด​ไว้​ด้วย​การ​แสดง​อำนาจ​ข่ม​หรือ​ทำ​ตาม​ใจ​ชอบ.—เอเฟโซ 5:28, 33; 1 เปโตร 3:7.

18. (ก) เรา​ควร​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร​ใน​การ​ควบคุม​ความ​โกรธ​ของ​เรา? (ข) คน​ที่​มี​อำนาจ​ใน​หน้า​ที่​ควร​พยายาม​ปลูกฝัง​อะไร​ไว้​ใน​คน​ที่​เขา​ดู​แล?

18 คน​ที่​มี​อำนาจ​ใน​ครอบครัว​และ​ประชาคม​ควร​ระวัง​เป็น​พิเศษ​ที่​จะ​ควบคุม​ความ​โกรธ เนื่อง​จาก​ความ​โกรธ​เพาะ​ให้​เกิด​ความ​กลัว ไม่​ใช่​ความ​รัก. ผู้​พยากรณ์​นาฮูม​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​พิโรธ​ช้า​และ​ทรง​ฤทธิ์​ยิ่ง​ใหญ่.” (นาฮูม 1:3, ล.ม.; โกโลซาย 3:19) การ​ควบคุม​ความ​โกรธ​ของ​เรา​เอา​ไว้​เป็น​ข้อ​บ่ง​ชี้​ถึง​ความ​เข้มแข็ง แต่​การ​ระเบิด​โทโส​เป็น​หลักฐาน​ถึง​ความ​อ่อนแอ. (สุภาษิต 16:32) ทั้ง​ใน​ครอบครัว​และ​ประชาคม เป้าหมาย​คือ​การ​ปลูกฝัง​ความ​รัก—ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา, ความ​รัก​ต่อ​กัน​และ​กัน, และ​ความ​รัก​ต่อ​หลักการ​ที่​ถูก​ต้อง. ความ​รัก​เป็น​สาย​ใย​ที่​เหนียวแน่น​ที่​สุด​ของ​ความ​สามัคคี​และ​เป็น​แรง​กระตุ้น​ที่​มี​พลัง​ที่​สุด​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ถูก​ต้อง.—1 โกรินโธ 13:8, 13; โกโลซาย 3:14.

19. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​คำ​รับรอง​ที่​ปลอบโยน​อะไร และ​เรา​ควร​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร?

19 การ​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​หมาย​ถึง​การ​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​พระองค์. พระ​ยะโฮวา​ตรัส​โดย​ทาง​ยะซายา​ว่า “เจ้า​ไม่​เคย​ได้​รู้​หรือ​เจ้า​ไม่​เคย​ได้​ยิน​หรอก​หรือ? พระ​ยะโฮวา พระ​ผู้​สร้าง​ที่​สุด​ขอบ​เขต​ทั้ง​หลาย​แห่ง​แผ่นดิน​โลก​ทรง​เป็น​พระเจ้า​ถึง​เวลา​ไม่​กำหนด. พระองค์​ไม่​ทรง​เหนื่อย​ล้า​หรือ​ละเหี่ย​ไป.” (ยะซายา 40:28, ล.ม.) อำนาจ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​มี​ที่​สิ้น​สุด. หาก​เรา​ไว้​วางใจ​พระองค์​และ​ไม่​วางใจ​ตัว​เรา​เอง พระองค์​จะ​ไม่​ละ​ทิ้ง​เรา. พระองค์​ทรง​ให้​คำ​รับรอง​แก่​เรา​ว่า “อย่า​กลัว​เลย, ด้วย​ว่า​เรา​อยู่​กับ​เจ้า, อย่า​ท้อ​ใจ, เพราะ​เรา​เป็น​พระเจ้า​ของ​เจ้า, เรา​จะ​หนุน​กำลัง​เจ้า, เออ, เรา​จะ​ช่วย​เจ้า, เออ, เรา​จะ​ยก​ชู​เจ้า​ไว้​ด้วย​มือ​ขวา​อัน​ชอบธรรม​ของ​เรา.” (ยะซายา 41:10) เรา​ควร​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ใฝ่​พระทัย​ด้วย​ความ​รัก​ของ​พระองค์? เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู ขอ​ให้​เรา​ใช้​อำนาจ​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​แก่​เรา​เพื่อ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​และ​เสริม​สร้าง. ขอ​ให้​เรา​ควบคุม​ลิ้น​ของ​เรา​เพื่อ​ลิ้น​นั้น​จะ​ให้​การ​รักษา​แทน​ที่​จะ​ก่อ​ความ​เสียหาย. และ​ขอ​ให้​เรา​ตื่น​ตัว​ฝ่าย​วิญญาณ​อยู่​เสมอ ตั้ง​มั่นคง​ใน​ความ​เชื่อ และ​มี​กำลัง​เข้มแข็ง​ขึ้น​ใน​อำนาจ​แห่ง​พระ​ผู้​สร้าง​องค์​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​เรา พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.—1 โกรินโธ 16:13.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 ดู​เหมือน​ว่า ชาว​ยิว​ค้น​พบ​ต้น​ฉบับ​ของ​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ซึ่ง​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​พระ​วิหาร​หลาย​ศตวรรษ​ก่อน​หน้า​นั้น.

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม?

• พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร?

• เรา​จะ​ได้​รับ​กำลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา​โดย​วิธี​ใด​บ้าง?

• ควร​ใช้​อำนาจ​แห่ง​ลิ้น​อย่าง​ไร?

• อำนาจ​ใน​หน้า​ที่​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้​จะ​เป็น​พระ​พร​ได้​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 15]

พระ​เยซู​ทรง​ใช้​อำนาจ​จาก​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​ช่วยเหลือ​ผู้​อื่น

[ภาพ​หน้า 17]

การ​ประกาศ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อยู่​ใน​ขอบ​เขต​อำนาจ​ที่​เรา​ทำ​ได้ หาก​หัวใจ​เรา​ติด​สนิท​อยู่​กับ​พระ​คำ​ของ​พระองค์