เขียนโดยมาระโก 7:1-37
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ไม่ได้ล้างมือ . . . มือนั้นไม่สะอาด: คำอธิบายของมาระโกในข้อนี้และในข้อ 3 และ 4 น่าจะช่วยผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘มือไม่สะอาด’ หรือไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมการล้างมือของชาวยิว (ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”) การล้างมือตามพิธีกรรมแบบนี้เป็นการยึดติดกับธรรมเนียมแทนที่จะสนใจเรื่องสุขอนามัย ในสมัยต่อมาหนังสือทัลมุดของบาบิโลน (โซทาห์ 4ข) บอกว่าการกินอาหารโดยไม่ล้างมือเป็นความผิดร้ายแรงพอ ๆ กับการมีเพศสัมพันธ์กับโสเภณี และยังบอกด้วยว่าคนที่ไม่ให้ความสำคัญกับการล้างมือจะถูก “ถอนรากถอนโคนออกจากโลก”
ไม่ได้ล้างมือ . . . มือนั้นไม่สะอาด: คำอธิบายของมาระโกในข้อนี้และในข้อ 3 และ 4 น่าจะช่วยผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘มือไม่สะอาด’ หรือไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมการล้างมือของชาวยิว (ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”) การล้างมือตามพิธีกรรมแบบนี้เป็นการยึดติดกับธรรมเนียมแทนที่จะสนใจเรื่องสุขอนามัย ในสมัยต่อมาหนังสือทัลมุดของบาบิโลน (โซทาห์ 4ข) บอกว่าการกินอาหารโดยไม่ล้างมือเป็นความผิดร้ายแรงพอ ๆ กับการมีเพศสัมพันธ์กับโสเภณี และยังบอกด้วยว่าคนที่ไม่ให้ความสำคัญกับการล้างมือจะถูก “ถอนรากถอนโคนออกจากโลก”
ล้างมือ: กฎหมายของโมเสสกำหนดไว้ว่าปุโรหิตต้องล้างมือและเท้าก่อนทำงานรับใช้ที่แท่นบูชาและก่อนเข้าไปในเต็นท์เข้าเฝ้า (อพย 30:18-21) แต่ตามที่อธิบายในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 7:2 การที่พวกฟาริสีและชาวยิวคนอื่น ๆ ในสมัยพระเยซูชำระตัวตามพิธีกรรมเป็นเพราะพวกเขายึดติดกับธรรมเนียมที่มนุษย์ตั้งขึ้น มาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีเพียงคนเดียวที่พูดถึงธรรมเนียมการล้างมือจนถึงข้อศอก
ล้างตัว: ในข้อนี้สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่หลายฉบับใช้คำกรีก บาพทิโศ (จุ่ม) ซึ่งเป็นคำที่ส่วนใหญ่แล้วใช้เมื่อพูดถึงการรับบัพติศมาของคริสเตียน แต่ใน ลก 11:38 ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในความหมายกว้าง ๆ ด้วย คือหมายถึงการล้างหรือชำระหลายครั้งตามธรรมเนียมของชาวยิว ส่วนสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่อื่น ๆ ใช้คำกรีก รานทิโศ ซึ่งหมายถึง “พรม, ชำระด้วยการประพรม” (ฮบ 9:13, 19, 21, 22) ไม่ว่าสำเนาพระคัมภีร์จะใช้คำไหน ความหมายทั่วไปก็เหมือนกัน คือ ชาวยิวที่เคร่งจะไม่กินอาหารจนกว่าจะได้ล้างหรือชำระตัวตามพิธีกรรม หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในกรุงเยรูซาเล็มแสดงว่าในสมัยนั้นชาวยิวใช้อ่างหรือสระสำหรับล้างชำระตามพิธีกรรม ซึ่งทำให้เห็นว่าการแปลคำกริยากรีก บาพทิโศ ว่า “จุ่ม” ก็ถูกต้องเหมือนกัน
จุ่มในน้ำ: คำกรีก บาพทิสม็อส ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับการชำระทางพิธีกรรมซึ่งชาวยิวที่เคร่งศาสนาในสมัยพระเยซูบางคนทำเป็นประจำ พวกเขาเอาถ้วย เหยือก และภาชนะทองแดงที่ใช้กินอาหารจุ่มในน้ำ
คนทำดีเอาหน้า: คำกรีก ฮูพอคริเทส แต่เดิมหมายถึงนักแสดงละครเวทีชาวกรีก (และต่อมาก็ชาวโรมัน) ซึ่งใส่หน้ากากขนาดใหญ่เพื่อให้เสียงของเขาดังขึ้น ในภายหลังมีการใช้คำนี้ในเชิงเปรียบเทียบเพื่อหมายถึงคนที่ปิดบังตัวตนหรือเจตนาที่แท้จริงของตัวเองโดยการหลอกลวงและเสแสร้ง พระเยซูจึงเรียกพวกผู้นำศาสนาชาวยิวว่า “คนทำดีเอาหน้า” หรือ “คนเสแสร้ง”—มธ 6:5, 16
คนเสแสร้ง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:2
วิหาร: หรือ “คลังศักดิ์สิทธิ์” คำนี้อาจหมายถึงบริเวณหนึ่งของวิหารที่มี “ตู้บริจาค” ตั้งอยู่ตามที่ ยน 8:20 บอกไว้ และบริเวณนี้น่าจะอยู่ในลานสำหรับผู้หญิง ซึ่งมีตู้บริจาคอยู่ 13 ตู้ (ดูภาคผนวก ข11) เชื่อกันว่าในวิหารยังมีบริเวณหนึ่งที่ใช้เก็บรวบรวมเงินทั้งหมดจากตู้บริจาคด้วย
โกระบาน: คำกรีก คอร์บาน เป็นคำที่ยืมมาจากคำฮีบรู คอร์บัน ซึ่งแปลว่า “เครื่องบูชา” หนังสือเลวีนิติและกันดารวิถีใช้คำฮีบรูนี้บ่อย ๆ เมื่อพูดถึงเครื่องบูชาทั้งที่มีเลือดและไม่มีเลือด (ลนต 1:2, 3; 2:1; กดว 5:15; 6:14, 21) อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือ คอร์บานาส ซึ่งใน มธ 27:6 แปลคำนี้ว่า “เงินของวิหาร”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:6
ของที่อุทิศให้พระเจ้า: พวกครูสอนศาสนาและฟาริสีสอนว่าเงิน บ้าน ที่ดิน หรืออะไรก็ตามที่คนเราอุทิศให้พระเจ้าแล้วจะถือเป็นสมบัติของวิหาร ตามคำสอนนี้ คนที่เป็นลูกสามารถเก็บสิ่งที่เขาอุทิศให้วิหารไว้ใช้เองได้โดยอ้างว่าเขาได้อุทิศสิ่งนั้นให้พระเจ้าแล้ว ดูเหมือนว่ามีบางคนหลบเลี่ยงความรับผิดชอบในการดูแลพ่อแม่โดยการทำแบบนี้—มก 7:12
ในข้อนี้สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับมีข้อความว่า “ใครมีหูฟังได้ จงฟังเถิด” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่สำคัญในยุคแรก ดังนั้น ข้อความนี้จึงไม่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อความต้นฉบับของหนังสือมาระโก อย่างไรก็ตาม มีข้อความคล้ายกันซึ่งได้รับการดลใจอยู่ที่ มก 4:9, 23 ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงคิดว่าผู้คัดลอกคนหนึ่งเอาข้อความจากข้อเหล่านั้นมาใส่ในข้อนี้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 14—ดูภาคผนวก ก3
พระเยซูพูดอย่างนี้ก็เพื่อยืนยันว่าอาหารทุกอย่างสะอาดกินได้เลย: ข้อความนี้ในต้นฉบับภาษากรีกอาจทำให้ผู้อ่านคิดว่าเป็นคำพูดของพระเยซูที่ต่อเนื่องจากประโยคก่อนหน้านี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เข้าใจว่าข้อความนี้เป็นข้อสังเกตของมาระโกเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูเพิ่งพูดไป นี่ไม่ได้หมายความว่าตอนนั้นพระเยซูกำลังยืนยันว่าชาวยิวสามารถกินอาหารที่ไม่สะอาดตามกฎหมายของโมเสสได้แล้ว เนื่องจากกฎหมายของโมเสสยังมีผลบังคับใช้จนถึงตอนที่พระเยซูเสียชีวิต ดังนั้น เราต้องเข้าใจคำพูดของมาระโกโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นี้ด้วย (ลนต บท 11; กจ 10:9-16; คส 2:13, 14) พวกผู้นำศาสนาที่ยึดติดกับธรรมเนียมเชื่อว่าแม้แต่อาหารที่ “สะอาด” ก็อาจทำให้คนเราไม่สะอาดได้ถ้าเขาไม่ได้ล้างมือจนถึงข้อศอกตามธรรมเนียมก่อนแม้กฎหมายของโมเสสจะไม่ได้บอกอย่างนั้น ดังนั้น คำพูดของมาระโกน่าจะหมายความว่าพระเยซูกำลังยืนยันว่าอาหารที่ “สะอาด” ตามกฎหมายของโมเสสจะไม่ทำให้คนกินไม่สะอาดเพียงเพราะเขาไม่ได้ล้างมือตามพิธีกรรมที่มนุษย์ตั้งขึ้น นอกจากนั้น บางคนยังเข้าใจว่ามาระโกกำลังบอกว่าคำพูดของพระเยซูจะมีผลอย่างไรกับคริสเตียนในยุคต่อมา ตอนที่มาระโกเขียนหนังสือข่าวดีของเขา เปโตรได้เห็นนิมิตหนึ่งซึ่งมีคำพูดคล้ายกับข้อความของหนังสือมาระโก ในนิมิตนั้นเปโตรได้ยินเสียงที่บอกว่าอาหารที่ถือว่าไม่สะอาดตามกฎหมายของโมเสส “พระเจ้าทำให้สะอาดแล้ว” (กจ 10:13-15) ไม่ว่าจะอย่างไร คำพูดในส่วนนี้น่าจะเป็นของมาระโกที่ได้รับการดลใจให้สรุปคำพูดของพระเยซู ไม่ใช่คำพูดของพระเยซูเอง
การผิดศีลธรรมทางเพศ: คำกรีก พอร์เน่อา ที่ใช้ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์ ซึ่งสื่อความหมายว่ามีการทำผิดศีลธรรมทางเพศหลายครั้ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:32 และส่วนอธิบายศัพท์
การผิดศีลธรรมทางเพศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 15:19
อิจฉา: แปลตรงตัวว่า “ไม่ดี, ชั่ว” ตาที่สุขภาพไม่ดีจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจน คล้ายกัน ตาที่มองคนอื่นด้วยความอิจฉาจะไม่สามารถมองไปที่สิ่งสำคัญจริง ๆ ได้ (มธ 6:33) คนที่มีตาแบบนี้จะโลภ ไม่รู้จักพอ ไม่จดจ่อ เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไม่สามารถประเมินสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และใช้ชีวิตอย่างเห็นแก่ตัว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:22
คุณอิจฉาตาร้อน: คำกรีกที่แปลว่า “อิจฉาตาร้อน” ในข้อนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ไม่ดี, ชั่ว” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:23) คำว่า “ตา” ในข้อนี้ใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงเจตนา ความคิด หรืออารมณ์ของคนเรา—เทียบกับคำว่า “อิจฉาตาร้อน” ที่ มก 7:22
การเล่นชู้: คำกรีกที่แปลว่า “การเล่นชู้” (มอยเฆ่อา) ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เล่นชู้, มีชู้”
การประพฤติไร้ยางอาย: คำกรีก อาเซ็ลเก่อา หมายถึงการทำผิดกฎหมายของพระเจ้าอย่างร้ายแรงและมีทัศนะที่หน้าด้านไร้ยางอายหรือดูหมิ่นอย่างมาก—ดูส่วนอธิบายศัพท์
ความอิจฉาตาร้อน: คำกรีกในข้อนี้ที่แปลว่า “อิจฉา” มีความหมายตรงตัวว่า “ไม่ดี, ชั่ว” คำว่า “ตา” ในข้อนี้ใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงเจตนา ความคิด หรืออารมณ์ของคนเรา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:23; 20:15
ชาวฟีนิเซีย: หรือ “ชาวคานาอัน” มาจากคำกรีก ฆานาไนอา คนที่อาศัยอยู่ในฟีนิเซียยุคแรก ๆ สืบเชื้อสายมาจากคานาอันหลานชายของโนอาห์ (ปฐก 9:18; 10:6) และในสมัยพระเยซู คำว่า “คานาอัน” มักจะหมายถึงเขตฟีนิเซีย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 7:26 ซึ่งพูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่มาจาก “ฟีนิเซียในแคว้นซีเรีย”
ชาวกรีก: ดูเหมือนว่าผู้หญิงต่างชาติคนนี้จะมีเชื้อสายกรีก ไม่ใช่แค่พูดภาษากรีกเท่านั้น
ฟีนิเซียในแคว้นซีเรีย: ในสมัยพระเยซู ฟีนิเซียเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซีเรียที่อยู่ใต้การปกครองของโรม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 15:22 ซึ่งในข้อนั้นบอกว่าผู้หญิงคนนี้เป็น “ชาวฟีนิเซีย” หรือ “ชาวคานาอัน”
ลูก ๆ . . . ลูกหมา: เนื่องจากหมาเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาดตามกฎหมายของโมเสส คัมภีร์ไบเบิลจึงมักใช้คำนี้ในเชิงดูถูก (ลนต 11:27; มธ 7:6; ฟป 3:2; วว 22:15) แต่ทั้งในบันทึกของมัทธิว (15:26) และมาระโก พระเยซูใช้รูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็ก ซึ่งแปลได้ว่า “ลูกหมา” หรือ “หมาที่เลี้ยงในบ้าน” ทำให้ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้นุ่มนวลขึ้น นี่อาจทำให้เห็นว่าพระเยซูใช้คำที่แสดงถึงความรักใคร่เอ็นดูซึ่งคนที่ไม่ใช่ชาวยิวใช้เรียกสัตว์เลี้ยงในบ้านของเขา การที่พระเยซูเปรียบชาวยิวเป็นเหมือน “ลูก” และคนที่ไม่ใช่ยิวเป็นเหมือน “ลูกหมา” อาจเพื่อให้เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับใครก่อน เพราะในบ้านที่มีทั้งลูกและหมา ลูกจะได้กินอาหารก่อน
เดคาโปลิส: ดูส่วนอธิบายศัพท์ และภาคผนวก ข10
หูหนวกและพูดไม่ค่อยได้: มาระโกเป็นคนเดียวที่บันทึกว่าพระเยซูรักษาผู้ชายที่หูหนวกและพูดไม่ค่อยได้—มก 7:31-37
พาเขาแยกออกมาจากฝูงชน: ปกติแล้วพระเยซูไม่ได้ทำแบบนี้ตอนที่รักษาคนป่วย ท่านอาจไม่อยากให้ผู้ชายคนนี้รู้สึกอาย ท่านอยากช่วยเขาในวิธีที่กรุณาที่สุดเท่าที่จะทำได้
บ้วนน้ำลาย: ชาวยิวและชาวต่างชาติบางคนถือว่าการบ้วนน้ำลายเป็นวิธีหรือสัญลักษณ์ของการรักษาโรค ดังนั้น พระเยซูอาจบ้วนน้ำลายเพื่อสื่อสารให้ผู้ชายคนนี้รู้ว่าเขากำลังจะได้รับการรักษา ไม่ว่าจะอย่างไร พระเยซูไม่ได้ใช้น้ำลายเพื่อรักษาโรคของเขา
ถอนหายใจยาว ๆ: มาระโกมักจะบันทึกความรู้สึกของพระเยซู เขาอาจได้ข้อมูลเหล่านี้จากเปโตรซึ่งเป็นคนที่มีอารมณ์และความรู้สึกลึกซึ้ง (ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”) คำกริยากรีกนี้อาจหมายถึงการถอนหายใจและอธิษฐานด้วยความทุกข์ใจ การที่พระเยซูทำอย่างนี้แสดงว่าท่านเห็นอกเห็นใจผู้ชายคนนี้หรือท่านรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นมนุษย์เจอความทุกข์ คำกริยากรีกที่เกี่ยวข้องกับคำนี้มีอยู่ที่ รม 8:22 ซึ่งบอกว่าสิ่งที่พระเจ้าสร้างทั้งหมดกำลัง “คร่ำครวญ”
เอฟฟาธา: คำทับศัพท์ภาษากรีกที่บางคนคิดว่ามีรากศัพท์มาจากคำฮีบรู ซึ่งใน อสย 35:5 มีการแปลคำฮีบรูนี้ว่า “ได้ยิน” คนที่ได้ยินพระเยซูพูดคำนี้คงต้องรู้สึกประทับใจไม่รู้ลืม เปโตรอาจเป็นหนึ่งในนั้นและต่อมาเขาอาจเล่าเรื่องนี้ให้มาระโกฟังแบบคำต่อคำ มีแค่ไม่กี่ครั้งที่มีการบันทึกคำพูดของพระเยซูแบบคำต่อคำ เช่นในข้อนี้และตอนที่พระเยซูพูดว่า “ทาลิธา คูม”—มก 5:41