เขียนโดยลูกา 4:1-44
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
พลังนั้นพาท่านไป: คำกรีก พะนือมา ที่แปลในข้อนี้ว่าพลัง หมายถึงพลังที่พระเจ้าใช้เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ เช่น กระตุ้นหรือผลักดันให้ใครคนหนึ่งทำสิ่งที่สอดคล้องกับความประสงค์ของพระองค์—มก 1:12; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”
มาร: มาจากคำกรีก เดียบอล็อส ซึ่งหมายถึง “ผู้หมิ่นประมาท, ผู้ใส่ร้าย” (ยน 6:70; 2ทธ 3:3) เกี่ยวข้องกับคำกริยา เดียบาล์โล ซึ่งหมายถึง “กล่าวหา, ฟ้องร้อง” ที่ ลก 16:1 แปลคำนี้ว่า “ฟ้อง”
มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่ด้วยอาหารเท่านั้น: พระเยซูยกข้อความนี้มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ ฉธบ 8:3 แต่ในหนังสือลูกามีข้อความที่สั้นกว่าหนังสือมัทธิว ถึงอย่างนั้น สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกเก่าแก่บางฉบับและฉบับแปลบางฉบับเพิ่มประโยคที่บอกว่า “แต่ด้วยคำพูดทุกคำที่มาจากพระเจ้า” ทำให้บันทึกของลูกาคล้ายกับบันทึกที่ มธ 4:4 ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่านั้นใช้ข้อความที่สั้นกว่าเหมือนที่ข้อนี้ใช้ แต่ก็น่าสังเกตว่าพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับใช้ข้อความแบบยาวที่มีเททรากรัมมาทอนอยู่ด้วย และอาจแปลข้อความนั้นได้ว่า “แต่ด้วยคำพูดทุกคำที่มาจากพระยะโฮวา”
อย่างถูกต้องเหมาะสม: หรือ “ตามลำดับ” คำกรีก คาเธ็ดเซส ที่แปลในข้อนี้ว่า “อย่างถูกต้องเหมาะสม” อาจหมายถึงการเรียบเรียงเรื่องราวตามเวลา เหตุการณ์ หรือเหตุผล แต่ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลาอย่างเคร่งครัด หลักฐานที่แสดงว่าลูกาไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลาเสมอไปเห็นได้จากบันทึกใน ลก 3:18-21 ดังนั้น เพื่อจะเรียบเรียงเหตุการณ์เกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูตามลำดับเวลาอย่างถูกต้องก็ต้องอาศัยข้อมูลจากหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม ส่วนใหญ่แล้วลูกาเรียบเรียงเรื่องราวตามลำดับเวลา แต่บางครั้งก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อวิธีเขียนของเขา
ให้ท่านเห็น: ดูเหมือนว่าหัวหน้าปีศาจทำให้พระเยซูเห็นนิมิตที่เหมือนจริงมาก
ประเทศ: ในข้อนี้หมายถึงรัฐบาลต่าง ๆ ของมนุษย์
มารพาพระเยซูขึ้นไปบนที่สูง: บันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 4:8 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามารพาพระเยซูขึ้นไปบน “ภูเขาที่สูงมาก” ในข้อนี้ลูกาบันทึกเหตุการณ์ที่มารมาล่อใจพระเยซูต่างจากที่มัทธิวบันทึก แต่ดูเหมือนว่าบันทึกของมัทธิวลำดับเหตุการณ์ได้ถูกต้อง (มธ 4:1-11) ดูเหมือนมีเหตุผลที่จะสรุปว่าซาตานล่อใจพระเยซู 2 ครั้งแรกโดยเริ่มด้วยคำพูดที่ว่า “ถ้าคุณเป็นลูกของพระเจ้าจริง ๆ” แล้วครั้งสุดท้ายมันค่อยล่อใจท่านให้ฝ่าฝืนกฎหมายข้อแรกในบัญญัติ 10 ประการ (อพย 20:2, 3) และดูเหมือนมีเหตุผลกว่าที่พระเยซูจะพูดว่า “ไปให้พ้น ซาตาน!” หลังจากท่านถูกล่อใจ 3 ครั้งแล้ว (มธ 4:10) และถึงแม้ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็สังเกตด้วยว่าก่อนที่มัทธิวจะพูดถึงการล่อใจครั้งที่ 2 ใน มธ 4:5 เขาใช้คำกรีกที่แปลว่า “จากนั้น” ดังนั้น บันทึกของมัทธิวน่าจะบอกลำดับเวลาอย่างเจาะจงมากกว่าบันทึกของลูกาใน ลก 4:5 ที่ใช้แค่คำว่า “แล้ว” ดังนั้น ถึงแม้ลูกาเรียบเรียงเรื่องราว “อย่างถูกต้องเหมาะสม” แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลาอย่างเคร่งครัด—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:3
ให้ท่านเห็น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:8
ประเทศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:8
ก้มกราบผมครั้งหนึ่ง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:9
ก้มกราบผมครั้งหนึ่ง: คำกริยากรีกที่แปลว่า “ก้มกราบ” ในที่นี้อยู่ในรูปกริยาอาโอริสต์ (Aorist) ซึ่งแสดงถึงการกระทำแค่ช่วงสั้น ๆ ดังนั้น การแปลว่า “ก้มกราบผมครั้งหนึ่ง” แสดงให้เห็นว่ามารซาตานไม่ได้ขอให้พระเยซูนมัสการมันไปเรื่อย ๆ แต่ให้ท่าน “ก้มกราบ” มันแค่ครั้งเดียว
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 6:13 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
กำแพงด้านที่สูงที่สุดของวิหาร: หรือ “จุดที่สูงที่สุดของวิหาร” แปลตรงตัวว่า “ปีกของวิหาร” คำกรีกที่แปลว่า “วิหาร” อาจหมายถึงเฉพาะตัววิหาร หรือหมายถึงสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในเขตวิหารก็ได้ ดังนั้น ข้อความนี้อาจหมายถึงส่วนบนสุดของกำแพงที่ล้อมรอบวิหาร
กำแพงด้านที่สูงที่สุดของวิหาร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:5
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 6:16 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
ที่ประชุมของชาวยิว: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ที่ประชุมของชาวยิว”
การอ่านกฎหมายของโมเสสและหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ให้ประชาชนฟัง: ในศตวรรษแรกจะมีการอ่านให้ประชาชนฟัง “ทุกวันสะบาโต” (กจ 15:21) ส่วนหนึ่งของการนมัสการในที่ประชุมของชาวยิวก็คือ การท่องบทสวดยืนยันความเชื่อของชาวยิวที่เรียกว่าเชมา (ฉธบ 6:4-9; 11:13-21) เชมาเป็นคำแรกของข้อคัมภีร์ที่ใช้เป็นบทสวดที่บอกว่า “ชาวอิสราเอล ฟังให้ดี [เชมา] พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของเรา” (ฉธบ 6:4) ส่วนสำคัญที่สุดของการนมัสการก็คือการอ่านหนังสือโทราห์หรือเพนทาทุก ในที่ประชุมของชาวยิวหลายแห่งมีการจัดตารางอ่านกฎหมายทั้งหมดของโมเสสให้จบภายใน 1 ปี ส่วนที่ประชุมของชาวยิวอื่น ๆ อาจใช้เวลา 3 ปี และยังมีการอ่านและอธิบายหนังสือของผู้พยากรณ์ด้วย หลังจากมีการอ่านให้ประชาชนฟังก็จะมีการบรรยาย ในท้องเรื่องนี้ เปาโลอยู่ในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย หลังจากมีการอ่านพระคัมภีร์ให้ประชาชนฟังเขาก็ได้รับเชิญให้พูดให้กำลังใจประชาชน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:16
ในวันสะบาโตเหมือนที่เคยทำเสมอ: ก่อนที่ชาวยิวจะไปเป็นเชลยที่บาบิโลน ไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาเคยชุมนุมกันในที่ประชุมของชาวยิวในวันสะบาโต แต่ดูเหมือนเริ่มมีธรรมเนียมนี้ตั้งแต่สมัยของเอสรากับเนหะมีย์ พระเยซูก็ทำตามธรรมเนียมนี้เพราะเป็นธรรมเนียมที่มีประโยชน์ต่อความเชื่อของผู้คน ตลอดช่วงชีวิตของพระเยซูในวัยเด็ก ครอบครัวของท่านจะไปที่ประชุมของชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธเป็นประจำ ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนก็มีการประชุมเพื่อนมัสการพระเจ้าคล้าย ๆ กันนี้
ยืนขึ้นเพื่อจะอ่าน: ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ข้อสังเกตว่าข้อความนี้เป็นครั้งแรกที่คัมภีร์ไบเบิลให้รายละเอียดเกี่ยวกับการนมัสการในที่ประชุมของชาวยิว ตามคำสอนสืบปากของชาวยิวปกติแล้วการนมัสการเริ่มโดยแต่ละคนจะอธิษฐานส่วนตัวตอนที่เดินเข้าไปในที่ประชุม จากนั้นก็จะมีการท่องข้อความจาก ฉธบ 6:4-9 และ 11:13-21 แล้วก็มีการอธิษฐานด้วยกัน ต่อด้วยการอ่านออกเสียงส่วนหนึ่งของเพนทาทุกตามที่กำหนดไว้ บันทึกใน กจ 15:21 บอกไว้ว่าในศตวรรษแรกมีการอ่านแบบนี้ “ทุกวันสะบาโต” หลังจากนั้น พวกเขาจะทำเหมือนที่ข้อนี้บอกคืออ่านหนังสือของผู้พยากรณ์และพูดถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้จากการอ่าน ตามธรรมเนียมแล้วผู้อ่านจะยืนขึ้นและเขาอาจเลือกได้เองว่าจะอ่านส่วนไหนของคำพยากรณ์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:15
ม้วนหนังสือของผู้พยากรณ์อิสยาห์: ม้วนหนังสืออิสยาห์ที่ค้นพบใกล้ทะเลตายเป็นแผ่นหนัง 17 แผ่นที่เอามาต่อกัน ม้วนหนังสือนี้ยาว 7.3 เมตร และมี 54 คอลัมน์ ม้วนหนังสือที่ใช้ในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธคงมีความยาวใกล้เคียงกัน เนื่องจากในศตวรรษแรกยังไม่มีการแบ่งพระคัมภีร์เป็นบทเป็นข้อ พระเยซูจึงต้องรู้ว่าข้อความที่ท่านอยากอ่านอยู่ตรงไหน การที่ท่านสามารถคลี่ม้วนหนังสือไปตรงข้อความที่มีคำพยากรณ์นั้นแสดงว่าท่านคุ้นเคยกับพระคัมภีร์เป็นอย่างดี
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 61:1 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
พระองค์แต่งตั้ง: ข้อนี้ลูกายกคำพยากรณ์ของอิสยาห์มาจากฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งอ่านว่า “พระองค์แต่งตั้ง” แต่พระเยซูคงจะอ่านคำพยากรณ์ของอิสยาห์จากข้อความภาษาฮีบรูโดยตรง (61:1, 2) ซึ่งที่นั่นใช้คำกริยาที่แปลว่า “แต่งตั้ง” คู่กับชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับใช้ชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ ทำให้อ่านว่า “พระยะโฮวาแต่งตั้ง”
ประกาศเรื่องการปลดปล่อยกับพวกเชลย: ในข้อนี้พระเยซูยกข้อความจากคำพยากรณ์ของอิสยาห์ซึ่งชาวยิวบางส่วนอาจคิดว่ามีความหมายตามตัวอักษร (อสย 61:1) แต่เป้าหมายหลักในงานรับใช้ของพระเยซูคือการปลดปล่อยผู้คนจากการเป็นเชลยทางความเชื่อ ดังนั้น การปลดปล่อยที่พระเยซูพูดถึงจึงมีความหมายในแง่นี้ คำพยากรณ์นี้และการที่พระเยซูใช้คำพยากรณ์นี้กับงานรับใช้ของตัวเองอาจทำให้นึกถึงปีที่น่ายินดีที่ชาวยิวฉลองทุก ๆ 50 ปี ซึ่งในปีนั้นจะมีการประกาศอิสรภาพให้ทุกคนที่อยู่ในแผ่นดิน—ลนต 25:8-12
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 61:2 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
เวลาได้รับพรจากพระยะโฮวา: แปลตรงตัวว่า “ปีที่พระยะโฮวายอมรับ” หรือ “ปีที่พระยะโฮวาโปรดปราน” ในข้อนี้พระเยซูยกข้อความจาก อสย 61:1, 2 ต้นฉบับภาษากรีกที่ลูกาเขียนใช้คำว่า “เวลาได้รับพร” ซึ่งเป็นคำที่เอามาจากฉบับเซปตัวจินต์ โดยฉบับเซปตัวจินต์ แปลข้อความนี้จากคำฮีบรูที่มีความหมายว่า “ปีที่ . . . จะเมตตาเป็นพิเศษ” พระเยซูใช้ข้อนี้กับตัวท่านเอง ทำให้รู้ว่างานรับใช้ของท่านเพื่อช่วยผู้คนให้รอดเป็นจุดเริ่มต้นของปีที่พระยะโฮวาเมตตาเป็นพิเศษและเป็น “เวลา” ที่ผู้คนจะ “ได้รับพร” จากพระองค์ พระเยซูหยุดอ่านคำพยากรณ์ของอิสยาห์ก่อนจะถึงข้อความถัดไปที่พูดถึง ‘วันที่พระเจ้าจะลงโทษ’ ซึ่งเป็นวันที่ค่อนข้างสั้นเพราะพระเยซูอยากเน้น “เวลาได้รับพรจากพระยะโฮวา” ที่มีระยะเวลานานกว่า และในช่วงเวลานี้พระเจ้าจะเมตตาคนที่มาหาพระองค์เพื่อจะได้รับความรอด—ลก 19:9, 10; ยน 12:47
แล้วนั่งลง: นี่เป็นสัญญาณที่แสดงว่าพระเยซูกำลังจะเริ่มพูด เป็นธรรมเนียมในที่ประชุมของชาวยิวว่าคนที่อ่านต่อหน้าคนอื่นจะไม่กลับไปนั่งที่เดิมหลังจากอ่านจบ แต่เขาจะนั่งลงเพื่อสอนตรงที่ที่ “ทุกคนในที่ประชุม” มองเห็นได้—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:1
ท่าน . . . นั่งลง: เป็นธรรมเนียมของครูสอนศาสนาชาวยิวที่จะนั่งลงเมื่อพวกเขาเริ่มสอนอย่างเป็นทางการ
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ภาษิต: หรือ “ตัวอย่างเปรียบเทียบ” คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
ถิ่นของตัวเอง: แปลตรงตัวว่า “บ้านของพ่อตัวเอง” คือนาซาเร็ธซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระเยซู ในท้องเรื่องนี้คำกรีกที่แปลว่า “ถิ่น” (พาตริส) น่าจะหมายถึงพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือเมืองที่เป็นบ้านเกิดของพระเยซูและครอบครัวของท่าน แต่คำนี้ยังอาจหมายถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กว้างกว่านั้นด้วย เช่น ประเทศ ในท้องเรื่องของ ยน 4:43, 44 คำกรีกนี้น่าจะหมายถึงแคว้นกาลิลีทั้งหมด จึงมีการแปลคำนี้ว่า “ถิ่น”
3 ปีครึ่ง: ที่ 1พก 18:1 เอลียาห์ประกาศว่าความแห้งแล้งจะสิ้นสุดลง “ในปีที่ 3” บางคนจึงบอกว่าสิ่งที่พระเยซูพูดขัดแย้งกับเรื่องราวใน 1 พงศ์กษัตริย์ แต่บันทึกในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่ได้ทำให้เราคิดว่าความแห้งแล้งสิ้นสุดลงก่อน 3 ปี คำว่า “ในปีที่ 3” น่าจะเริ่มตั้งแต่ครั้งแรกที่เอลียาห์ไปบอกให้อาหับรู้ว่าจะเกิดความแห้งแล้ง (1พก 17:1) ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงฤดูแล้งอยู่แล้ว ปกติแล้วฤดูนี้ยาวนานประมาณ 6 เดือนแต่ปีนั้นดูเหมือนว่าความแห้งแล้งยาวนานกว่าปกติ นอกจากนั้น ความแห้งแล้งไม่ได้สิ้นสุดทันทีตอนที่เอลียาห์ไปพบอาหับอีกครั้ง “ในปีที่ 3” แต่สิ้นสุดหลังจากการทดสอบเรื่องไฟที่ภูเขาคาร์เมลระหว่างเอลียาห์กับผู้พยากรณ์ของบาอัล (1พก 18:18-45) ดังนั้น คำพูดของพระเยซูที่บันทึกในข้อนี้และคำพูดของน้องชายต่างพ่อของพระเยซูที่พูดคล้าย ๆ กันใน ยก 5:17 จึงสอดคล้องอย่างดีกับเรื่องราวใน 1พก 18:1
ศาเรฟัท: เมืองของชาวฟีนิเซีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างเมืองไซดอนและไทระซึ่งไม่ใช่เขตของชาวอิสราเอล เมืองนี้มีชื่อภาษากรีกว่าซาเรพตา ชื่อฮีบรูของเมืองนี้มีอยู่ใน 1พก 17:9, 10 และ อบด 20 ปัจจุบันเมืองนี้มีชื่อว่าซาราแฟนด์อยู่ในประเทศเลบานอนและอยู่ห่างจากเมืองไซดอนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 13 กม. แต่ที่ตั้งของเมืองนี้ในสมัยโบราณอาจอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน—ดูภาคผนวก ข10
ได้รับการรักษา: หรือ “ถูกทำให้สะอาด” ซึ่งหมายถึงการที่นาอามานได้รับการรักษาให้หายจากโรคเรื้อน (2พก 5:3-10, 14) ตามกฎหมายของโมเสส โรคเรื้อนจะทำให้คนไม่สะอาดในสายตาพระเจ้า (ลนต 13:1-59) ดังนั้น มักมีการใช้คำกรีกนี้เพื่อหมายถึงการรักษาคนที่เป็นโรคเรื้อน—มธ 8:3; 10:8; มก 1:40, 41
เพื่อจะผลักท่านให้ตกเขา: คำสอนสืบปากของชาวยิวซึ่งต่อมาบันทึกไว้ในหนังสือทัลมุดบอกว่าบางครั้งคนที่ถูกตัดสินลงโทษจะถูกโยนลงมาจากหน้าผา แล้วก็ถูกหินขว้างซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าตายจริง เราไม่รู้ว่าฝูงชนในเมืองนาซาเร็ธคิดจะทำอย่างนั้นกับพระเยซูไหม แต่ที่แน่ ๆ ก็คือพวกเขาตั้งใจจะฆ่าท่าน
คาเปอร์นาอุม: มาจากชื่อฮีบรูที่หมายความว่า “หมู่บ้านของนาฮูม” หรือ “หมู่บ้านแห่งการปลอบโยน” (นฮม 1:1, เชิงอรรถ) เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับงานรับใช้ของพระเยซูตอนอยู่บนโลก เมืองนี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี และที่ มธ 9:1 เรียกเมืองนี้ว่า “เมืองที่ท่านอาศัย” เนื่องจากคาเปอร์นาอุมอยู่ต่ำกว่า ระดับน้ำทะเลมากกว่า 200 เมตร ส่วนนาซาเร็ธก็อยู่สูงกว่า ระดับน้ำทะเลประมาณ 360 เมตร ดังนั้น ในภาษากรีกจึงบอกว่าพระเยซู “ลง” ไปที่คาเปอร์นาอุม
ปีศาจร้าย: แปลตรงตัวว่า “วิญญาณปีศาจชั่วที่ไม่สะอาด”
มายุ่งกับพวกเราทำไม?: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:29
มายุ่งกับพวกเราทำไม?: คำถามนี้แปลตรงตัวว่า “เกี่ยวอะไรกับพวกเราและคุณ?” เป็นสำนวนภาษาเซมิติกที่ใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ยชว 22:24; วนฉ 11:12; 2ซม 16:10; 19:22; 1พก 17:18; 2พก 3:13; 2พศ 35:21; ฮชย 14:8) และในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็ใช้สำนวนนี้ด้วย (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28; ยน 2:4) สำนวนนี้อาจมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้สำนวนนี้ถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดชังและขับไล่ไสส่ง ซึ่งผู้แปลบางคนคิดว่าน่าจะแปลว่า “อย่ามายุ่งกับพวกเรา!” หรือ “ไปไกล ๆ เลย!” ในท้องเรื่องอื่น ๆ มีการใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากทำตามที่แนะนำ โดยไม่ได้มีความรู้สึกดูถูก ถือตัว หรือเกลียดชัง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:4
ซีโมนหรือที่เรียกกันว่าเปโตร: พระคัมภีร์เรียกเปโตรด้วยชื่อที่ต่างกัน 5 ชื่อ คือ (1) “ซีเมโอน” ซึ่งเป็นชื่อกรีกที่ทับศัพท์มาจากชื่อฮีบรู (สิเมโอน) (2) “ซีโมน” ซึ่งเป็นภาษากรีก (ทั้งซีเมโอนและซีโมนมาจากคำกริยาฮีบรูที่แปลว่า “ได้ยิน, ฟัง”) (3) “เปโตร” (ชื่อกรีกที่แปลว่า “หินก้อนหนึ่ง” และเขาเป็นคนเดียวในพระคัมภีร์ที่ใช้ชื่อนี้) (4) “เคฟาส” ชื่อภาษาเซมิติกที่มีความหมายตรงกับชื่อเปโตร (อาจเกี่ยวข้องกับคำฮีบรู เคฟิม [หิน] ที่ใช้ใน โยบ 30:6; ยรม 4:29) และ (5) “ซีโมนเปโตร” ซึ่งเป็นการรวม 2 ชื่อเข้าด้วยกัน—กจ 15:14; ยน 1:42; มธ 16:16
แม่ยายของซีโมน: คือแม่ยายของเปโตรหรือเคฟาส (ยน 1:42) เรื่องนี้สอดคล้องกับคำพูดของเปาโลที่ 1คร 9:5 ซึ่งพูดถึงเปโตรว่ามีภรรยาแล้ว ดูเหมือนว่าแม่ยายของเปโตรอยู่บ้านเดียวกับเปโตรและอันดรูว์น้องชายของเขา—มก 1:29-31; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2 ที่พูดถึงชื่ออื่น ๆ ของเปโตร
ป่วยมีไข้สูง: มัทธิวกับมาระโกบอกว่าแม่ยายของเปโตร “นอนป่วยเป็นไข้อยู่” (มธ 8:14; มก 1:30) แต่ลูกาซึ่งเป็นหมอเป็นคนเดียวที่อธิบายว่าอาการของเธอหนักแค่ไหนโดยบอกว่าเธอ “มีไข้สูง”—ดู “บทนำของหนังสือลูกา”
รัฐบาลของพระเจ้า: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำว่า “ข่าวดี” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าข่าวดีในข้อนี้) มักเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของพระเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่พระเยซูประกาศและสอน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2; 4:23; ลก 4:43
รัฐบาลสวรรค์: คำนี้มีประมาณ 30 ครั้งและทั้งหมดอยู่ในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ในหนังสือข่าวดีของมาระโกกับลูกา มีการใช้อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลของพระเจ้า” ซึ่งทำให้รู้ว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” ตั้งอยู่ในสวรรค์และปกครองจากสวรรค์—มธ 21:43; มก 1:15; ลก 4:43; ดนล 2:44; 2ทธ 4:18
รัฐบาลของพระเจ้า: ในข้อความต้นฉบับมีการใช้คำนี้ 14 ครั้งในหนังสือข่าวดีของมาระโก ส่วนในหนังสือมัทธิวใช้คำนี้แค่ 4 ครั้ง (มธ 12:28; 19:24; 21:31, 43) แต่มัทธิวใช้คำที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลสวรรค์” ประมาณ 30 ครั้ง (เทียบ มก 10:23 กับ มธ 19:23, 24) พระเยซูให้รัฐบาลของพระเจ้าเป็นเรื่องหลักในการประกาศของท่าน (ลก 4:43) มีการพูดถึงรัฐบาลของพระเจ้ามากกว่า 100 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม และคนที่พูดเรื่องนี้มากที่สุดก็คือพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2; 4:17; 25:34
ข่าวดี: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก อืออางเกะลิออน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยบางฉบับแปลว่า “กิตติคุณ” และมีการแปลคำกรีก อืออางเกะลิสเทส ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกันว่า “ผู้ประกาศข่าวดี”—กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5
ข่าวดี: คำกรีก อืออางเกะลิออน มาจากคำว่า อือ หมายถึง “ดี” และ อางเกะลอส หมายถึง “คนที่นำข่าวมาให้, คนที่ประกาศ” (ดูส่วนอธิบายศัพท์) คัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยบางฉบับแปลคำนี้ว่า “กิตติคุณ” และมีการแปลคำกรีกอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันว่า “ผู้ประกาศข่าวดี” (คำกรีก อืออางเกะลิสเทส)—กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5
รัฐบาล: เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก บาซิเล่อา ซึ่งหมายถึงรัฐบาลที่มีกษัตริย์ปกครอง รวมถึงเขตแดนและผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ด้วย มีการใช้คำกรีกนี้ 162 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่ง 55 ครั้งอยู่ในหนังสือมัทธิวและส่วนใหญ่แล้วหมายถึงการปกครองของพระเจ้าในสวรรค์ มัทธิวใช้คำนี้บ่อยมากจนอาจเรียกหนังสือของเขาว่า “หนังสือข่าวดีเรื่องรัฐบาล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “รัฐบาลของพระเจ้า”
ประกาศข่าวดี: คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้ อืออางเกะลิโศไม (“ประกาศข่าวดี”) มีทั้งหมด 54 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และหลายครั้งพบในหนังสือที่ลูกาเขียน (ลก 1:19; 2:10; 3:18; 4:18; 8:1; 9:6; 20:1; กจ 5:42; 8:4; 10:36; 11:20; 13:32; 14:15, 21; 15:35; 16:10; 17:18) มีความแตกต่างระหว่างคำ เครูสโซ ที่แปลว่า “ประกาศ” (มธ 3:1; 4:17; 24:14; ลก 4:18, 19; 8:1, 39; 9:2; 24:47; กจ 8:5; 28:31; วว 5:2) กับคำว่า อืออางเกะลิโศไม ที่แปลว่า “ประกาศข่าวดี” คำว่า เครูสโซ เน้นลักษณะ การประกาศว่าเป็นการแจ้งข่าวให้สาธารณชนทั่วไปรู้ ส่วนคำว่า อืออางเกะลิโศไม เน้นเรื่อง ที่ประกาศคือ “ข่าวดี” คำนามกรีกที่เกี่ยวข้องกันคือ อืออางเกะลิออน (“ข่าวดี”) มีทั้งหมด 76 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23; 24:14 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ข่าวดี”
รัฐบาลของพระเจ้า: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกตลอดทั้งเล่ม คำว่าข่าวดีมักจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องหลักที่พระเยซูประกาศและสอน คำว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” มีอยู่ 32 ครั้งในหนังสือลูกา 14 ครั้งในหนังสือมาระโก และ 4 ครั้งในหนังสือมัทธิว แต่มัทธิวใช้คำที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลสวรรค์” ประมาณ 30 ครั้ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2; 24:14; มก 1:15
วีดีโอและรูปภาพ
ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ที่กันดาร” (คำฮีบรู มิดห์บาร์ และคำกรีก เอะเรมอส) โดยทั่วไปหมายถึงพื้นที่แห้งแล้งแทบไม่มีใครอยู่อาศัยหรือเพาะปลูก มีแต่พุ่มไม้ ต้นหญ้า และทุ่งหญ้าประปราย นอกจากนั้นคำภาษาเดิมยังอาจหมายถึงเขตที่ไม่มีน้ำจนเรียกได้ว่าเป็นทะเลทราย ในหนังสือข่าวดี เมื่อพูดถึงที่กันดารก็มักหมายถึงที่กันดารยูเดียซึ่งยอห์นอาศัยอยู่และทำงานประกาศ และยังเป็นที่ที่พระเยซูถูกมารล่อใจด้วย—มก 1:12
ในเขตที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัยนี้ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มงานรับใช้ของเขา และพระเยซูก็ถูกมารล่อใจที่นี่ด้วย
ซาตานอาจให้พระเยซูยืนอยู่บน “กำแพงด้านที่สูงที่สุดของวิหาร” จริง ๆ และบอกให้ท่านกระโดดลงมา แต่เราไม่รู้ว่าพระเยซูยืนอยู่ที่ส่วนไหนของกำแพง เนื่องจากคำว่า “วิหาร” ที่ใช้ในข้อนี้อาจหมายถึงสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในเขตวิหาร พระเยซูอาจยืนที่มุมของวิหารทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (หมายเลข 1) หรือท่านอาจยืนอยู่อีกมุมหนึ่งของวิหารก็ได้ ไม่ว่าพระเยซูจะตกจากที่ไหน ท่านคงต้องเสียชีวิตแน่ ๆ ถ้าพระยะโฮวาไม่ช่วยไว้
ภาพนี้คือส่วนหนึ่งของม้วนหนังสืออิสยาห์ที่ค้นพบใกล้ทะเลตาย (1QIsa) ซึ่งเชื่อกันว่าทำขึ้นระหว่างปี 125 ถึง ปี 100 ก่อน ค.ศ. มีการพบม้วนหนังสือนี้ในปี 1947 ที่ถ้ำในคุมรานใกล้ทะเลตาย (ทะเลเดดซี) ส่วนที่อยู่ในกรอบคือข้อความจากอิสยาห์ 61:1, 2 ซึ่งเป็นส่วนที่พระเยซูอ่านตอนท่านไปที่ประชุมของชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธ ม้วนหนังสือนี้ประกอบด้วยแผ่นหนัง 17 แผ่นที่เย็บติดกันด้วยด้ายลินิน แผ่นหนังแต่ละแผ่นสูงประมาณ 26.4 ซม. และมีความกว้างตั้งแต่ประมาณ 25.2-62.8 ซม. ความยาวทั้งหมดของม้วนหนังสือนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่คือ 7.3 เมตร พระเยซูน่าจะเปิดม้วนหนังสือคล้ายกันนี้และอ่าน “ตรงข้อความ” ที่มีคำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์ (ลก 4:17) ข้อความที่อยู่ในกรอบยังมีเททรากรัมมาทอน 3 ครั้งด้วย
กำแพงหินปูนสีขาวในภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ประชุมของชาวยิวที่สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 ถึงต้นศตวรรษที่ 5 บางคนเชื่อว่าส่วนหนึ่งของหินบะซอลต์สีดำตรงส่วนฐานของกำแพงหินปูนเป็นซากที่ประชุมของชาวยิวที่หลงเหลือมาจากศตวรรษแรก ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง บริเวณนี้ก็อาจเป็นที่ที่พระเยซูเคยสอนประชาชนและรักษาผู้ชายที่ถูกปีศาจสิงตามบันทึกใน มก 1:23-27 และ ลก 4:33-36