ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความถ่อมเป็นความอ่อนแอหรือความเข้มแข็ง?

ความถ่อมเป็นความอ่อนแอหรือความเข้มแข็ง?

ทัศนะ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล

ความ​ถ่อม​เป็น​ความ​อ่อนแอ​หรือ​ความ​เข้มแข็ง?

โลก​มัก​เสนอ​ภาพ​คน​ที่​ภูมิ​ใจ​และ​มี​ความ​เชื่อ​มั่น​ใน​ตัว​เอง​สูง​ว่า​เป็น​ผู้​ที่​พึง​เอา​อย่าง. ส่วน​คน​ใจ​ถ่อม​และ​อ่อน​สุภาพ​มัก​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​คน​อ่อนแอ, ขี้ขลาด, หรือ​ช่าง​ประจบ​ประแจง. แต่​ความ​ถ่อม​ใจ​แท้ ๆ คือ​ความ​อ่อนแอ​จริง​หรือ? และ​จริง ๆ แล้ว​ความ​หยิ่ง​ทะนง​คือ​ความ​เข้มแข็ง​ไหม? คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้?

ใน​ตอน​เริ่ม​ต้น กล่าว​ได้​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ชมเชย​ความ​ภูมิ​ใจ​บาง​รูป​แบบ. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง คริสเตียน​ควร​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ที่​มี​พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​ของ​ตน​และ​ที่​ว่า​พระองค์​ทรง​รู้​จัก​พวก​เขา. (บทเพลง​สรรเสริญ 47:4; ยิระมะยา 9:24; 2 เธซะโลนิเก 1:3, 4) พ่อ​แม่​ย่อม​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ที่​ลูก​ของ​เขา​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ด้าน​ความ​ประพฤติ​แบบ​คริสเตียน​และ​ยืนหยัด​อย่าง​กล้า​หาญ​เพื่อ​การ​นมัสการ​แท้. (สุภาษิต 27:11) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ภูมิ​ใจ​ก็​ยัง​มี​แง่​ที่​ไม่​ดี​ด้วย​เช่น​กัน.

การ​พิจารณา​ความ​ภูมิ​ใจ​และ​ความ​ถ่อม​ใจ​อย่าง​ละเอียด

ความ​หมาย​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ความ​ภูมิ​ใจ​คือ​ความ​หยิ่ง​ใน​ศักดิ์ศรี​ของ​ตน​เอง​มาก​เกิน​ควร. ความ​ภูมิ​ใจ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​คน​นั้น​มี​ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​เหมาะ​สม​โดย​คิด​ว่า​ตน​เป็น​คน​สำคัญ​และ​เหนือ​กว่า​ผู้​อื่น บาง​ที​อาจ​เป็น​เพราะ​ความ​สวย, เชื้อชาติ, ฐานะ​ใน​สังคม, ความ​สามารถ​พิเศษ, หรือ​ความ​ร่ำรวย. (ยาโกโบ 4:13-16) คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​ผู้​คน​ที่ “เป็น​คน​เย่อหยิ่ง​จองหอง.” (2 ติโมเธียว 3:4, ล.ม.) กล่าว​อีก​นัย​หนึ่ง พวก​เขา​ยึด​ความ​คิด​เห็น​ของ​ตัว​เอง​มาก​เกิน​ไป เป็น​ความ​คิด​เห็น​ที่​ไม่​มี​เหตุ​ผล​อัน​ควร.

ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม คน​ถ่อม​จะ​พยายาม​มอง​ตัว​เอง​อย่าง​สุจริต​ใจ​และ​ตาม​ความ​เป็น​จริง โดย​ยอม​รับ​ความ​ไม่​สมบูรณ์ อีก​ทั้ง​ฐานะ​ต่ำต้อย​ของ​ตัว​เอง​จำเพาะ​พระเจ้า. (1 เปโตร 5:6) ยิ่ง​กว่า​นั้น พวก​เขา​ยอม​รับ​และ​รู้สึก​ชื่นชม​เมื่อ​เห็น​ผู้​อื่น​มี​คุณลักษณะ​ดี​เด่น​กว่า​ตน. (ฟิลิปปอย 2:3) ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ไม่​อิจฉา​เป็น​ทุกข์​เป็น​ร้อน หรือ​ยอม​ให้​ความ​ริษยา​มี​ชัย​แก่​ตน. (ฆะลาเตีย 5:26) ดัง​นั้น จึง​เป็น​ไป​ตาม​เหตุ​ผล​ที่​ว่า​ความ​ถ่อม​แท้​ช่วย​เสริม​สร้าง​สัมพันธภาพ​อัน​ดี​กับ​ผู้​อื่น​และ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​มั่นคง​ปลอด​ภัย​ทาง​อารมณ์.

ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู. ก่อน​เสด็จ​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก พระองค์​ทรง​เป็น​กาย​วิญญาณ​มี​ฤทธิ์​อำนาจ​ใน​สวรรค์. และ​ขณะ​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก พระองค์​ทรง​เป็น​มนุษย์​สมบูรณ์ ปราศจาก​บาป. (โยฮัน 17:5; 1 เปโตร 2:21, 22) พระองค์​ทรง​เพียบ​พร้อม​ด้วย​พระ​ปรีชา​สามารถ, เชาวน์​ปัญญา, และ​ความ​รู้​อย่าง​ที่​ไม่​มี​ผู้​ใด​เทียบ​ได้. กระนั้น พระองค์​ไม่​เคย​โอ้อวด แต่​ทรง​ถ่อม​พระทัย​เสมอ. (ฟิลิปปอย 2:6) ใน​โอกาส​หนึ่ง พระองค์​ถึง​กับ​ล้าง​เท้า​ให้​พวก​อัครสาวก และ​พระองค์​แสดง​ความ​สน​พระทัย​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​เด็ก​เล็ก ๆ. (ลูกา 18:15, 16; โยฮัน 13:4, 5) ที่​จริง พระองค์​ให้​เด็ก​คน​หนึ่ง​มา​ยืน​อยู่​ข้าง ๆ และ​ตรัส​ดัง​นี้: “ถ้า​ผู้​ใด​ถ่อม​จิตต์​ใจ​ลง​เหมือน​เด็ก​เล็ก ๆ คน​นี้, ผู้​นั้น​จะ​เป็น​ใหญ่​ใน​แผ่นดิน​สวรรค์.” (มัดธาย 18:2-4) ใช่​แล้ว ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระ​เยซู​และ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์ ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​แท้​จริง​เป็น​ผล​มา​จาก​ความ​ถ่อม​ใจ ไม่​ใช่​ความ​หยิ่ง​ทะนง.—ยาโกโบ 4:10.

ความ​ถ่อม​ใจ​เป็น​พลัง​เข้มแข็ง

ถึง​แม้​ทรง​เป็น​แบบ​อย่าง​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ แต่​พระ​เยซู​ไม่​ใช่​คน​ขี้ขลาด​หรือ​อ่อนแอ. พระองค์​ทรง​พูด​ความ​จริง​อย่าง​กล้า​หาญ และ​แน่นอน​ว่า​พระองค์​ไม่​กลัว​หน้า​มนุษย์. (มัดธาย 23:1-33; โยฮัน 8:13, 44-47; 19:10, 11) ด้วย​เหตุ​นี้ พระองค์​จึง​ได้​รับ​ความ​นับถือ​จาก​บาง​คน​ที่​ต่อ​ต้าน​พระองค์​ด้วย​ซ้ำ. (มาระโก 12:13, 17; 15:5) ถึง​กระนั้น พระ​เยซู​ไม่​เคย​แสดง​อำนาจ​บาตร​ใหญ่. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ, ความ​กรุณา​และ​ความ​รัก พระองค์​ชนะ​ใจ​ผู้​คน​อย่าง​ที่​คน​หยิ่ง​ยโส​ไม่​มี​วัน​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้. (มัดธาย 11:28-30; โยฮัน 13:1; 2 โกรินโธ 5:14, 15) กระทั่ง​ทุก​วัน​นี้ มี​หลาย​ล้าน​คน​ยอม​อยู่​ใต้​พระ​คริสต์​อย่าง​ภักดี เพราะ​พวก​เขา​มี​ความ​รัก​แท้​และ​มี​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ต่อ​พระองค์.—วิวรณ์ 7:9, 10.

พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​สนับสนุน​ความ​ถ่อม​ใจ เพราะ​คน​ถ่อม​พร้อม​จะ​รับ​คำ​แนะ​นำ และ​การ​สอน​คน​เช่น​นั้น​ก็​เป็น​ที่​น่า​ยินดี. (ลูกา 10:21; โกโลซาย 3:10, 12) เช่น​เดียว​กับ​อะโปลโลส คริสเตียน​ผู้​สอน​ที่​มี​วาทศิลป์​ใน​ยุค​แรก คน​ถ่อม​ยินดี​ปรับ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ของ​ตน​เมื่อ​ได้​รับ​ข้อมูล​ใหม่ ๆ ที่​ถูก​ต้อง. (กิจการ 18:24-26) และ​คน​ถ่อม​ไม่​หวาด​หวั่น​ที่​จะ​ถาม ส่วน​คน​หยิ่ง​ยโส​มัก​จะ​ไม่​ทำ​เช่น​นั้น เพราะ​เกรง​ว่า​จะ​เผย​ความ​ไม่​รู้​ของ​ตัว​เอง.

โปรด​สังเกต​ตัว​อย่าง​ของ​ขันที​ชาว​เอธิโอเปีย​ใน​ศตวรรษ​แรก ซึ่ง​รู้สึก​สับสน​เกี่ยว​กับ​ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​ใน​พระ​คัมภีร์. สาวก​คริสเตียน​ที่​ชื่อ​ฟิลิป​ได้​ถาม​เขา​ว่า “ซึ่ง​ท่าน​อ่าน​นั้น​ท่าน​เข้าใจ​หรือ”? ชาว​เอธิโอเปีย​คน​นั้น​ตอบ​ว่า “ถ้า​ไม่​มี​ใคร​อธิบาย​ให้, ที่​ไหน​จะ​เข้าใจ​ได้?” ช่าง​มี​ความ​ถ่อม​ใจ​เสีย​นี่​กระไร โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง เมื่อ​นึก​ถึง​ขันที​ซึ่ง​คง​จะ​ดำรง​ตำแหน่ง​สูง​ใน​ประเทศ​ของ​เขา! เพราะ​ความ​ถ่อม​นี่​เอง เขา​จึง​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​อัน​ลึกซึ้ง​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์.— กิจการ 8:26-38.

ชาย​เอธิโอเปีย​ผู้​นี้​แตกต่าง​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​จาก​พวก​อาลักษณ์​และ​ฟาริซาย​ชาว​ยิว ซึ่ง​ถือ​ตัว​ว่า​เจน​จัด​ฉลาด​ใน​เรื่อง​ศาสนา​ยิ่ง​กว่า​คน​อื่น​สมัย​นั้น. (มัดธาย 23:5-7) แทน​ที่​จะ​ถ่อม​ใจ​ฟัง​พระ​เยซู​และ​สาวก​ทั้ง​หลาย​ของ​พระองค์ พวก​เขา​กลับ​เยาะเย้ย​และ​พยายาม​จับ​ผิด. ด้วย​เหตุ​นี้ ความ​หยิ่ง​ทะนง​ได้​ทำ​ให้​พวก​เขา​จม​อยู่​ใน​ความ​มืด​ทึบ​ฝ่าย​วิญญาณ.—โยฮัน 7:32, 47-49; กิจการ 5:29-33.

คุณ​เป็น​เหมือน​ดิน​อ่อน​นุ่ม​หรือ​ดิน​แข็ง​กระด้าง?

คัมภีร์​ไบเบิล​เปรียบ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ช่าง​ปั้น​หม้อ​และ​มนุษย์​เป็น​เหมือน​ดิน​เหนียว. (ยะซายา 64:8) ความ​ถ่อม​ช่วย​ให้​คน​เรา​เป็น​เหมือน​ดิน​เหนียว​ที่​อ่อน​นุ่ม​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระเจ้า เป็น​คน​ที่​พระองค์​ทรง​ปั้น​ให้​เป็น​ภาชนะ​ที่​น่า​ปรารถนา ส่วน​คน​หยิ่ง​จองหอง​เปรียบ​เหมือน​ดิน​เหนียว​ที่​แข็ง​กระด้าง ซึ่ง​มี​แต่​จะ​ถูก​ทุบ​ทิ้ง. ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​น่า​อับอาย​ของ​คน​หยิ่ง​จองหอง​ก็​คือ​ฟาโรห์​ผู้​โอหัง​แห่ง​อียิปต์​โบราณ ซึ่ง​ได้​ท้าทาย​พระ​ยะโฮวา​จน​ตัว​เอง​ต้อง​เสีย​ชีวิต. (เอ็กโซโด 5:2; 9:17; บทเพลง​สรรเสริญ 136:15) การ​ตาย​ของ​ฟาโรห์​เป็น​ตัว​อย่าง​อัน​ดี​ดัง​ที่​กล่าว​ใน​สุภาษิต​ว่า “ความ​เย่อหยิ่ง​นำ​ไป​ถึง​ความ​พินาศ, และ​จิตต์​ใจ​ที่​จองหอง​นำ​ไป​ถึง​การ​ล้ม​ลง.”—สุภาษิต 16:18.

ที่​กล่าว​มา​ข้าง​ต้น​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ไม่​ต้อง​ต่อ​ต้าน​ความ​หยิ่ง​ทะนง​เพื่อ​เอา​ชนะ​ความ​รู้สึก​ดัง​กล่าว. ตัว​อย่าง​เช่น อัครสาวก​ของ​พระ​เยซู​เคย​โต้​เถียง​กัน​บ่อย​ครั้ง​ว่า​ใคร​เป็น​คน​สำคัญ​ที่​สุด​ท่ามกลาง​พวก​เขา. (ลูกา 22:24-27) กระนั้น​ก็​ดี พวก​เขา​ไม่​ปล่อย​ให้​ความ​หยิ่ง​ทะนง​เข้า​ครอบงำ แต่​รับ​ฟัง​พระ​เยซู​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ปรับ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ได้.

กษัตริย์​ซะโลโม​เขียน​ไว้​ดัง​นี้: “บำเหน็จ​แห่ง​การ​ถ่อม​ใจ​ลง​และ​ความ​ยำเกรง​พระ​ยะโฮวา​ก็​เป็น​ทาง​นำ​มา​ถึง​ทรัพย์​สมบัติ​และ​เกียรติศักดิ์​และ​ชีวิต.” (สุภาษิต 22:4) แน่นอน เรา​มี​เหตุ​ผล​อัน​ดี​ที่​จะ​พัฒนา​ความ​ถ่อม​ใจ! ความ​ถ่อม​ใจ​ไม่​ใช่​แค่​คุณลักษณะ​ที่​เข้มแข็ง​และ​น่า​รัก​เท่า​นั้น แต่​คุณลักษณะ​ดัง​กล่าว​ยัง​ช่วย​เรา​ให้​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า​และ​รับ​ชีวิต​นิรันดร์​เป็น​รางวัล​ด้วย.—2 ซามูเอล 22:28; ยาโกโบ 4:10.

คุณ​เคย​สงสัย​ไหม?

▪ ความ​ภูมิ​ใจ​ทุก​รูป​แบบ​ไม่​ดี​เสีย​เลย​หรือ?—2 เธซะโลนิเก 1:3, 4.

▪ ความ​ถ่อม​ใจ​ส่ง​เสริม​การ​เรียน​รู้​อย่าง​ไร?—กิจการ 8:26-38.

▪ จำเป็น​ไหม​ที่​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ต้อง​พัฒนา​ความ​ถ่อม?—ลูกา 22:24-27.

▪ คน​ถ่อม​ใจ​มี​อนาคต​เช่น​ไร​รอ​อยู่​เบื้อง​หน้า?—สุภาษิต 22:4.

[ภาพ​หน้า 20, 21]

เด็ก ๆ อยาก​เข้า​มา​หา​พระ​เยซู​เพราะ​พระองค์​เป็น​ผู้​ถ่อม​พระทัย