เขียนโดยมัทธิว 11:1-30
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
สอน . . . ประกาศ: การสอนต่างจากการประกาศ เพราะคนที่สอนจะไม่ใช่แค่ประกาศให้คนอื่นฟัง แต่เขาจะแนะนำ อธิบาย หาเหตุผลโน้มน้าว และให้ข้อพิสูจน์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1; 28:20
สอนและประกาศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23
เมืองใกล้เคียง: น่าจะหมายถึงเมืองต่าง ๆ ของชาวยิวในเขตนั้น (แคว้นกาลิลี)
คริสต์: เป็นตำแหน่งซึ่งมาจากคำกรีก ฆะริสท็อส และมีความหมายเดียวกับคำว่า “เมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู มาชีอัค) ทั้งสองคำแปลว่า “ผู้ถูกเจิม” ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลมีการแต่งตั้งผู้ปกครองหรือผู้นำโดยการเจิมด้วยน้ำมัน
พระคริสต์: ตำแหน่ง “พระคริสต์” ในข้อนี้มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงในภาษากรีก ซึ่งดูเหมือนเป็นวิธีเน้นตำแหน่งของพระเยซูที่เป็นเมสสิยาห์
พระคริสต์: ในข้อนี้ ตำแหน่ง “พระคริสต์” ที่แปลว่า “ผู้ถูกเจิม” ในภาษากรีกมีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง นี่เป็นวิธีระบุว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่พระเจ้าสัญญาไว้ ท่านได้รับการเจิมเพื่อแต่งตั้งให้มีบทบาทพิเศษ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1; 2:4
คนที่เรารอคอย: แปลตรงตัวว่า “คนที่กำลังมา” คือเมสสิยาห์—สด 118:26; มธ 3:11; 21:9; 23:39
คนโรคเรื้อน: คนที่เป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง คำว่าโรคเรื้อนในพระคัมภีร์มีความหมายกว้างกว่าโรคเรื้อนที่รู้จักกันในปัจจุบัน ใครก็ตามที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคเรื้อนจะถูกไล่ออกจากชุมชนจนกว่าเขาจะหายจากโรค—ลนต 13:2, เชิงอรรถ, 45, 46; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
คนโรคเรื้อน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
คอยดูเถอะ: คำกรีก อีดู่ ที่แปลในข้อนี้ว่า “คอยดูเถอะ” มักใช้เพื่อกระตุ้นให้สนใจเรื่องที่กำลังจะพูด ให้นึกภาพเหตุการณ์หรือสนใจรายละเอียดบางอย่าง และยังใช้เพื่อเน้น หรือชี้ให้เห็นว่ามีอะไรใหม่หรือน่าตื่นเต้น ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะพบคำแบบนี้บ่อยที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ลูกา และหนังสือวิวรณ์ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็มักใช้คำคล้าย ๆ กันนี้ด้วย
คอยดูนะ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:23
ผู้ให้บัพติศมา: หรือ “คนจุ่ม” คำนี้ดูเหมือนเป็นฉายาของยอห์นซึ่งบอกให้รู้ว่าลักษณะเด่นของเขาคือการให้บัพติศมาด้วยการจุ่มในน้ำ โยเซฟุส ฟลาวิอุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวก็เคยเขียนเกี่ยวกับ “ยอห์นที่มีฉายาว่าผู้ให้บัพติศมา” ด้วย
ผู้ให้บัพติศมา: หรือ “คนจุ่ม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
มนุษย์พยายามกันมาก . . . คนที่พยายามจริง ๆ: คำกรีกที่แปลว่า “พยายาม” ในข้อนี้ถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการออกแรงหรือการพยายามทำอะไรบางอย่าง ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลบางคนเข้าใจว่าคำนี้มีความหมายในแง่ลบ (คือรัฐบาลพระเจ้าถูกโจมตีอย่างรุนแรงและผู้คนใช้ความรุนแรงเพื่อชิงเอารัฐบาลนี้) แต่เมื่อดูจากท้องเรื่องและจาก ลก 16:16 ซึ่งเป็นอีกที่เดียวในคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้คำกรีกนี้ทำให้เข้าใจว่าคำนี้น่าจะมีความหมายในแง่บวก คือหมายถึง “การติดตามบางอย่างด้วยความกระตือรือร้น, เสาะหาอย่างจริงจัง” ดังนั้น ข้อนี้จึงพูดถึงการออกแรงหรือพยายามอย่างจริงจังของคนที่ตอบรับการประกาศของยอห์นผู้ให้บัพติศมา ซึ่งการทำอย่างนั้นทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าในรัฐบาลของพระเจ้า
กฎหมายของโมเสส . . . คำสอนของพวกผู้พยากรณ์: คำว่า “กฎหมายของโมเสส” หมายถึงหนังสือในคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่ปฐมกาลจนถึงเฉลยธรรมบัญญัติ และ “คำสอนของพวกผู้พยากรณ์” หมายถึงหนังสือต่าง ๆ ของผู้พยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่เมื่อมีการใช้สองคำนี้ด้วยกันก็อาจหมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด—มธ 7:12; 22:40; ลก 16:16
หนังสือของพวกผู้พยากรณ์และกฎหมายของโมเสส: การเรียงประโยคแบบนี้มีอยู่ที่เดียวในคัมภีร์ไบเบิล ในข้ออื่น ๆ จะบอกว่า “กฎหมายของโมเสสและคำสอนของพวกผู้พยากรณ์” (มธ 5:17; 7:12; 22:40; ลก 16:16) ดูเหมือนว่าการเรียงทั้งสองแบบมีความหมายเหมือนกัน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:17) แต่การเรียงประโยคในข้อนี้อาจเน้นส่วนที่เป็นคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า
เอลียาห์: ชื่อภาษาฮีบรู แปลว่า “พระเจ้าของผมคือพระยะโฮวา”
โศกเศร้า: แปลตรงตัวว่า “ทุบตีตัวเอง” ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะเอามือทุบอกตัวเองหลายครั้งเพื่อแสดงความรู้สึกโศกเศร้าอย่างมากหรือแสดงความรู้สึกผิดและเสียใจ—อสย 32:12; นฮม 2:7; ลก 23:48
ไม่กินไม่ดื่ม: ดูเหมือนหมายถึงการใช้ชีวิตของยอห์นที่ไม่ได้ทำตามความต้องการของตัวเอง การใช้ชีวิตแบบนี้รวมถึงการอดอาหารและทำตามข้อเรียกร้องสำหรับคนที่เป็นนาศีร์ที่ให้ละเว้นจากเครื่องดื่มมึนเมา—กดว 6:2-4; มธ 9:14, 15; ลก 1:15; 7:33
คนเก็บภาษี: ชาวยิวหลายคนเก็บภาษีให้รัฐบาลโรมัน ผู้คนเลยเกลียดชาวยิวที่ทำงานนี้เพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงให้ความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจที่พวกเขาเกลียดเท่านั้น แต่ยังเก็บภาษีเกินกำหนดด้วย คนเก็บภาษีถูกเพื่อนร่วมชาติชาวยิวรังเกียจ และถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกับคนบาปและโสเภณี—มธ 11:19; 21:32
ผลที่ปรากฏออกมา: เช่นเดียวกับในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 11:19 ผลที่ปรากฏออกมาหมายถึงหลักฐานที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซูให้ไว้ซึ่งพิสูจน์ว่าเรื่องที่พวกเขาถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง เหมือนกับพระเยซูกำลังบอกว่า ‘ดูที่ผลงานและการกระทำที่ดีสิ แล้วคุณจะรู้ว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง’
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
คนเก็บภาษี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:46
สติปัญญาที่แท้จริงก็เห็นได้จากผลที่ปรากฏออกมา: ผลที่ปรากฏออกมาหมายถึงหลักฐานที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซูให้ไว้ซึ่งพิสูจน์ว่าเรื่องที่พวกเขาถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง เหมือนกับพระเยซูกำลังบอกว่า ‘ดูที่ผลงานและการกระทำที่ดีสิ แล้วคุณจะรู้ว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง’ ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 7:35
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
คาเปอร์นาอุม: มาจากชื่อฮีบรูที่หมายความว่า “หมู่บ้านของนาฮูม” หรือ “หมู่บ้านแห่งการปลอบโยน” (นฮม 1:1, เชิงอรรถ) เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับงานรับใช้ของพระเยซูตอนอยู่บนโลก เมืองนี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี และที่ มธ 9:1 เรียกเมืองนี้ว่า “เมืองที่ท่านอาศัย”
คาเปอร์นาอุม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:13
ฟ้า: ในข้อนี้เป็นคำเปรียบเทียบหมายถึงตำแหน่งที่ได้รับความโปรดปรานอย่างมาก
หลุมศพ: หรือ “ฮ้าเดส” คือสภาพของคนตาย (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “หลุมศพ”) แต่ในข้อนี้เป็นภาพเปรียบเทียบหมายถึงความตกต่ำที่เมืองคาเปอร์นาอุมต้องเจอ
จะรับโทษหนักกว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 10:12
รับโทษหนักกว่า: ดูเหมือนว่าคำพูดของพระเยซูในข้อนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริง (เทียบกับอติพจน์อื่น ๆ ที่พระเยซูใช้ เช่นที่ มธ 5:18; ลก 16:17; 21:33) เมื่อพระเยซูพูดว่า “ในวันพิพากษา เมืองนั้นจะรับโทษหนักกว่าเมืองโสโดมอีก” (มธ 10:15; 11:22, 24; ลก 10:14) ท่านไม่ได้หมายความว่ายังมีเมืองโสโดมอยู่ในตอนนั้น (เทียบกับ ยด 7) แต่พระเยซูกำลังเน้นว่าคนส่วนใหญ่ในเมืองโคราซิน เบธไซดา และคาเปอร์นาอุมไม่ตอบรับและสมควรจะถูกลงโทษขนาดไหน (ลก 10:13-15) น่าสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองโสโดมโบราณกลายมาเป็นภาษิตหรือคำเปรียบเทียบที่มักใช้เมื่อพูดถึงความโกรธและการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า—ฉธบ 29:23; อสย 1:9; พคค 4:6
เด็กเล็ก ๆ: หรือ “คนที่เป็นเหมือนเด็ก” คือคนที่ถ่อมตัวและยอมรับการสอน
มีภาระมาก: คนที่พระเยซูเรียกให้มาหาท่านเป็นคนที่ “มีภาระมาก” เพราะมีความวิตกกังวลและทำงานหนักเหน็ดเหนื่อย สำหรับพวกเขา การนมัสการพระยะโฮวากลายเป็นภาระหนักเพราะต้องทำตามธรรมเนียมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในกฎหมายของโมเสส (มธ 23:4) แม้แต่วันสะบาโตที่ตั้งขึ้นเพื่อทำให้พวกเขาสดชื่นก็กลายเป็นภาระ—อพย 23:12; มก 2:23-28; ลก 6:1-11
ผมจะทำให้คุณสดชื่นหายเหนื่อย: คำกรีกที่แปลว่า “ทำให้สดชื่น” อาจมีความหมายได้ 2 อย่างคือ การพักผ่อน (มธ 26:45; มก 6:31) และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยเพื่อจะฟื้นคืนกำลังขึ้นมาใหม่ (2คร 7:13; ฟม 7) ท้องเรื่องแสดงให้เห็นว่าการ “รับแอก” ของพระเยซู (มธ 11:29) เกี่ยวข้องกับการทำงานรับใช้ ไม่ใช่การพักผ่อน คำพูดของพระเยซูจึงหมายความว่าท่านจะช่วยให้คนที่เหน็ดเหนื่อยกลับมาสดชื่นและมีกำลังเรี่ยวแรงเพื่อพวกเขาจะเต็มใจรับแอกที่เบาและแบกง่ายของท่าน
จิตใจอ่อนโยน: คุณลักษณะภายในของคนที่เต็มใจทำตามความต้องการและการชี้นำของพระเจ้า และไม่พยายามควบคุมคนอื่น คำกรีกนี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนขี้ขลาดหรืออ่อนแอ ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำนี้แทนคำฮีบรูที่แปลได้ว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน” หรือ “ถ่อม” และใช้คำนี้เมื่อพูดถึงโมเสส (กดว 12:3) พูดถึงคนที่ยอมรับการสอน (สด 25:9) คนที่จะได้อยู่ในโลก (สด 37:11) และเมสสิยาห์ (ศคย 9:9; มธ 21:5) พระเยซูก็บอกว่าท่านเป็นคนอ่อนโยนหรืออ่อนน้อมถ่อมตน—มธ 11:29
มารับแอกของผมแบกไว้: พระเยซูใช้คำว่า “แอก” ในความหมายเป็นนัย คือหมายถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจและการชี้นำ ถ้าพระเยซูคิดถึงแอกที่พระเจ้าวางไว้บนท่านซึ่งเป็นแอกที่ต้องแบกกัน 2 คน ท่านก็กำลังเชิญพวกสาวกให้มาอยู่ใต้แอกเดียวกับท่าน และท่านจะช่วยพวกเขา ถ้าเป็นอย่างนั้นคำพูดนี้อาจแปลได้ว่า “มาอยู่ใต้แอกที่ผมแบกด้วยกัน” แต่ถ้าพระเยซูคิดถึงแอกที่ท่านวางไว้บนคนอื่น คำพูดนี้ก็จะหมายถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจและการชี้นำของพระคริสต์ในฐานะสาวกของท่าน—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แอก”
อ่อนโยน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:5
ถ่อมตัว: แปลตรงตัวว่า “ต่ำต้อยในหัวใจ” คำกรีกที่แปลว่า “ถ่อม” หมายถึงอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่โอ้อวด มีการใช้คำกรีกนี้ที่ ยก 4:6 และ 1ปต 5:5 ด้วย ซึ่งทั้งสองข้อนั้นแปลว่า “คนอ่อนน้อมถ่อมตน” สภาพหัวใจโดยนัยของคนเราจะเห็นได้จากความคิดที่เขามีต่อพระเจ้าและคนอื่น ๆ รวมทั้งนิสัยใจคอของเขาด้วย
วีดีโอและรูปภาพ
เมื่อพระเยซูพูดถึงคนที่อยู่ใน “วัง” (มธ 11:8; ลก 7:25) ผู้ฟังของท่านคงนึกถึงวังที่ใหญ่โตหรูหราหลายแห่งซึ่งเฮโรดมหาราชสร้างไว้ ในภาพนี้คือซากบางส่วนของวังฤดูหนาวที่เฮโรดสร้างในเมืองเยรีโค ห้องโถงด้านหน้าของวังมีขนาด 29 x 19 เมตร และมีระเบียงที่มีเสา นอกจากนั้น ยังมีลานหลายแห่งที่ล้อมรอบด้วยเสาระเบียงและห้องหลายห้อง รวมทั้งโรงอาบน้ำที่มีระบบน้ำร้อนน้ำเย็นด้วย ติดกับวังคือสวนที่เล่นระดับหลายชั้น ดูเหมือนว่าวังนี้ถูกเผาในช่วงที่เกิดการจลาจลไม่กี่สิบปีก่อนที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาจะเริ่มงานรับใช้ และอาร์เคลาอัสลูกของเฮโรดได้สร้างวังนี้ขึ้นใหม่
ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ขลุ่ยอาจทำมาจากไม้อ้อ ก้านไม้ รวมทั้งกระดูกหรืองาช้าง ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่คนนิยมมากที่สุด มีการเป่าขลุ่ยในงานรื่นเริง เช่น งานเลี้ยงหรืองานแต่งงาน (1พก 1:40; อสย 5:12; 30:29) เด็ก ๆ ก็ชอบเล่นเป่าขลุ่ยในที่สาธารณะ นอกจากนั้น ยังมีการเป่าขลุ่ยในเวลาที่โศกเศร้า และตอนที่มีการรับจ้างร้องไห้ก็มักจะมีการเป่าขลุ่ยในทำนองที่โศกเศร้าคลอไปด้วย ขลุ่ยในภาพนี้พบในซากปรักหักพังที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงเดียวกับตอนที่วิหารถูกกองทัพโรมันทำลาย ขลุ่ยนี้มีความยาวประมาณ 15 ซม. และน่าจะทำมาจากกระดูกส่วนขาของวัว
ตลาดบางแห่งตั้งอยู่ริมถนนเหมือนในรูปนี้ พ่อค้าแม่ค้ามักจะเอาสินค้ามาวางริมถนนจนกีดขวางทางเดิน ชาวบ้านจะมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ ถ้วยชามดินเผา และเครื่องแก้วราคาแพง รวมทั้งของสดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีตู้เย็น ผู้คนจึงต้องไปซื้ออาหารที่ตลาดทุกวัน คนที่มาซื้อของที่ตลาดจะได้ยินข่าวต่าง ๆ จากพวกพ่อค้าหรือคนที่มาจากเมืองอื่น เด็ก ๆ จะเล่นกันที่นั่น คนที่ตกงานก็จะมารอคนจ้าง พระเยซูเคยรักษาคนป่วยและเปาโลก็เคยประกาศที่ตลาด (กจ 17:17) แต่พวกครูสอนศาสนาและฟาริสีที่เย่อหยิ่งชอบเป็นจุดสนใจและให้คนมาทักทายในที่สาธารณะแบบนี้
ภาพมุมกว้างในวีดีโอนี้ถ่ายจากจุดชมวิวโอฟีร์ ซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี โคราซิน (หมายเลข 2) อยู่ห่างจากบริเวณที่น่าจะเป็นเมืองคาเปอร์นาอุมสมัยโบราณ (หมายเลข 1) ประมาณ 3 กิโลเมตร พระเยซูมักจะพักอยู่ที่เมืองคาเปอร์นาอุมในช่วง 2 ปีกว่าที่ท่านรับใช้ในแคว้นกาลิลี อัครสาวกเปโตรกับอันดรูว์อาศัยอยู่ในเมืองนี้ ด่านเก็บภาษีของมัทธิวก็อยู่ที่นี่หรือใกล้ ๆ เมืองนี้ด้วย (มก 1:21, 29; 2:1, 13, 14; 3:16; ลก 4:31, 38) บ้านเกิดของเปโตรกับอันดรูว์รวมทั้งฟีลิปอยู่ใกล้เมืองเบธไซดา (หมายเลข 3) (ยน 1:44) พระเยซูทำการอัศจรรย์หลายอย่างใน 3 เมืองนี้หรือในบริเวณใกล้ ๆ—ดูภาคผนวก ก7-ง, แผนที่ 3ข และ ก7-จ, แผนที่ 4
เมืองโคราซินและเบธไซดาอยู่ใกล้เมืองคาเปอร์นาอุมซึ่งเป็นเมืองที่พระเยซูพักอยู่ในช่วงที่ท่านรับใช้ในแคว้นกาลิลี พระเยซูทำงานรับใช้มากมายในแคว้นนี้ประมาณ 2 ปี ชาวยิวที่อาศัยอยู่ใน 2 เมืองนี้ได้เห็นพระเยซูทำการอัศจรรย์หลายอย่าง ซึ่งถ้าชาวไทระและชาวไซดอนที่ไหว้รูปเคารพได้เห็นการอัศจรรย์แบบเดียวกันนี้ พวกเขาก็คงกลับใจไปแล้ว เช่น ในเมืองเบธไซดา พระเยซูทำการอัศจรรย์เลี้ยงอาหารผู้คนมากกว่า 5,000 คน และต่อมาก็รักษาผู้ชายตาบอดคนหนึ่ง—มธ 14:13-21; มก 8:22; ลก 9:10-17
แอกแบบหนึ่งเป็นไม้คานหรือโครงไม้ที่วางพาดบนไหล่คนและมีของห้อยอยู่ที่ปลายไม้ทั้งสองด้าน ส่วนแอกอีกแบบหนึ่งเป็นไม้ที่วางขวางบนคอสัตว์ 2 ตัวเพื่อให้มันลากของหนักไป