เขียนโดยลูกา 18:1-43
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
ความจำเป็นที่จะต้องอธิษฐานเสมอ: มีเฉพาะลูกาที่พูดถึงตัวอย่างเปรียบเทียบซึ่งบันทึกในข้อ 2-8 นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าหนังสือข่าวดีของเขาเน้นเรื่องการอธิษฐาน—ลก 1:10, 13; 2:37; 3:21; 6:12; 9:28, 29; 11:1; 18:1-8; 22:39-46; 23:46
ผู้พิพากษา: พระเยซูอาจกำลังพูดถึงผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รัฐบาลโรมันตั้งขึ้น ดูเหมือนว่าผู้พิพากษาในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ผู้พิพากษาของชาวยิวเพราะระบบการพิจารณาคดีของยิวต้องมีผู้ชายอย่างน้อย 3 คนทำหน้าที่ตัดสินคดีความ นอกจากนั้น ผู้พิพากษาคนนี้ก็ไม่นับถือพระเจ้าและไม่เกรงใจใคร ซึ่งหมายความว่าเขาไม่สนใจเลยว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร
ผู้พิพากษา: พระเยซูอาจกำลังพูดถึงผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รัฐบาลโรมันตั้งขึ้น ดูเหมือนว่าผู้พิพากษาในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ผู้พิพากษาของชาวยิวเพราะระบบการพิจารณาคดีของยิวต้องมีผู้ชายอย่างน้อย 3 คนทำหน้าที่ตัดสินคดีความ นอกจากนั้น ผู้พิพากษาคนนี้ก็ไม่นับถือพระเจ้าและไม่เกรงใจใคร ซึ่งหมายความว่าเขาไม่สนใจเลยว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร
ไม่เกรงใจใครทั้งนั้น: ในท้องเรื่องนี้หมายความว่าความคิดของคนทั่วไปไม่มีผลกับผู้พิพากษาคนนี้และเขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 18:2
มารบกวนเรา: แปลตรงตัวว่า “ชกเราใต้ [คือ ใต้ตา] จนจบ” คำกริยากรีก ฮูโพพิอาโศ ในข้อนี้มีความหมายว่า “ชกหน้า, ทำให้ตาเขียว” แต่ในท้องเรื่องนี้ใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงการทำให้คนอื่นรำคาญอยู่เรื่อย ๆ หรือรบกวนเขาไม่หยุดหย่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนมองว่าคำนี้หมายถึงการทำลายชื่อเสียงคนอื่น ในท้องเรื่องนี้มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงความรู้สึกของผู้พิพากษาที่ตอนแรกไม่ยอมฟังการร้องขอความเมตตาของแม่ม่ายคนหนึ่ง แต่สุดท้ายเขาก็ทำตามคำขอของแม่ม่ายเพราะเธอรบเร้าไม่หยุด (ลก 18:1-4) ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ได้บอกว่าพระเจ้าเป็นเหมือนผู้พิพากษาที่ไม่ดี แต่ต้องการเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับผู้พิพากษาคนนี้ ถ้าผู้พิพากษาที่ไม่ดียังทำสิ่งที่ถูกต้องได้ พระเจ้าก็จะทำมากกว่านั้นอีก และผู้รับใช้ของพระเจ้าก็ต้องทำเหมือนกับแม่ม่าย พวกเขาต้องขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาอยู่เรื่อย ๆ แล้วพระเจ้าที่ยุติธรรมก็จะตอบคำอธิษฐานและช่วยให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม—ลก 18:6, 7
ความเชื่อแบบนี้: แปลตรงตัวว่า “ความเชื่อนี้” ในภาษากรีกมีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงอยู่หน้าคำว่า “ความเชื่อ” ทำให้รู้ว่าความเชื่อที่พระเยซูพูดถึงในท้องเรื่องนี้ไม่ใช่ความเชื่อทั่ว ๆ ไป แต่เป็นความเชื่อแบบพิเศษเหมือนที่แม่ม่ายในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูมี (ลก 18:1-8) นี่รวมถึงการเชื่อว่าจะได้ตามที่อธิษฐานขอและเชื่อว่าพระเจ้าจะให้ความยุติธรรมกับคนที่พระองค์เลือกไว้ เป็นไปได้ว่าพระเยซูทิ้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อไว้โดยไม่คาดหมายให้สาวกตอบ แต่ท่านอยากให้พวกเขาคิดถึงความเชื่อของตัวเองว่ามีมากขนาดไหน การที่พระเยซูยกตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับการอธิษฐานและความเชื่อเป็นเรื่องที่เหมาะสมมาก เพราะท่านเพิ่งอธิบายกับสาวกไปว่าพวกเขากำลังจะเจอการทดสอบอะไร—ลก 17:22-37
วิหาร: คนที่ไปอธิษฐานที่วิหารไม่ได้เข้าไปในห้องบริสุทธิ์หรือห้องบริสุทธิ์ที่สุด แต่พวกเขาสามารถเข้าไปในลานต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัววิหารได้ ดูเหมือนว่าตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ทำให้คิดถึงภาพผู้ชายชาวยิว 2 คนที่กำลังยืนอยู่ในลานใดลานหนึ่งของวิหาร—ดูภาคผนวก ข11
ขโมย: หรือ “คนชอบรีดไถ, คนกรรโชกทรัพย์” ตอนที่โรมปกครองอิสราเอล คนเก็บภาษีชาวยิวมักถูกมองว่าเป็นขโมยหรือคนชอบรีดไถ ตำแหน่งของพวกคนเก็บภาษีเปิดโอกาสให้พวกเขาทำให้ตัวเองร่ำรวยได้ง่าย ๆ โดยการขูดรีดจากประชาชน (และทำให้พวกโรมันซึ่งเป็นนายของพวกเขาร่ำรวยด้วย) พระเยซูอาจคิดถึงเรื่องนี้ตอนที่ท่านยกตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องฟาริสีที่คิดว่าตัวเองดีและชมตัวเองให้พระเจ้าฟังว่าเขาไม่ได้เป็นขโมยหรือคนชอบรีดไถ
ถือศีลอดอาหารสัปดาห์ละ 2 ครั้ง: ถึงแม้ในกฎหมายของโมเสสไม่มีคำว่า “ถือศีลอดอาหาร” แต่เป็นที่เข้าใจว่าคำสั่งให้ “แสดงความเสียใจต่อบาปของตัวเอง” ปีละครั้งในวันไถ่บาปนั้นรวมถึงการถือศีลอดอาหารด้วย (ลนต 16:29, เชิงอรรถ; กดว 29:7, เชิงอรรถ; สด 35:13) ต่อมา มีการตั้งธรรมเนียมถือศีลอดอาหารประจำปีแบบอื่น ๆ เพื่อระลึกถึงความทุกข์ต่าง ๆ ที่คนในชาติยิวเคยเจอ แต่พวกฟาริสีถือศีลอดอาหารกัน “สัปดาห์ละ 2 ครั้ง” คือในวันที่ 2 และวันที่ 5 ของสัปดาห์ เพราะพวกเขาอยากให้คนอื่นเห็นว่าเป็นคนเคร่งศาสนา (มธ 6:16) แหล่งอ้างอิงบางแหล่งบอกว่าพวกเขาเลือกถือศีลอดอาหารในวันที่มีตลาดซึ่งจะมีคนมากมายเข้ามาในเมือง และพวกเขายังถือศีลอดอาหารในวันที่มีการประชุมพิเศษในที่ประชุมของชาวยิว รวมทั้งตอนที่ศาลท้องถิ่นนัดประชุมกันด้วย
เมตตาผม: คำกรีกที่แปลในข้อนี้ว่า “เมตตา” มีอยู่แค่ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกและเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับการคืนดีหรือไถ่บาป ที่ ฮบ 2:17 แปลคำนี้ว่า “ถวายเครื่องบูชาไถ่บาป . . . เพื่อการคืนดีกับพระเจ้า”
เด็กทารก: คำกรีก บะเระฟอส ที่ใช้ในข้อนี้หมายถึงเด็กที่เล็กมาก ๆ ทารก หรือแม้แต่เด็กที่ยังไม่เกิด (ลก 1:41; 2:12; กจ 7:19; 2ทธ 3:15; 1ปต 2:2) ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 19:13 และ มก 10:13 ใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งคือ ไพดิออน ซึ่งคำนี้ไม่ได้ใช้กับเด็กทารกเท่านั้น (มธ 2:8; ลก 1:59) แต่ยังใช้กับลูกสาวของไยรอสที่อายุ 12 ปีด้วย (มก 5:39-42) การที่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีใช้คำกรีกแตกต่างกันอาจแสดงว่ามีเด็กหลายวัยอยู่ที่นั่น แต่ลูกาอาจเน้นว่ามีเด็กทารกอยู่ที่นั่นด้วย
เหมือนเด็กเล็ก ๆ: หมายถึงการมีคุณลักษณะที่ดีเหมือนเด็กเล็ก ๆ เช่น ถ่อมตัว ไว้ใจคนอื่น ยอมรับการสอนและคำแนะนำ—มธ 18:5
เหมือนเด็กเล็ก ๆ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:15
อาจารย์ที่ดีจริง ๆ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:17
อาจารย์ที่ดีจริง ๆ: ดูเหมือนว่าผู้ชายคนนี้ใช้คำว่า “อาจารย์ที่ดีจริง ๆ” เพื่อเป็นตำแหน่งและเพื่อเอาอกเอาใจพระเยซู เพราะผู้นำศาสนาในสมัยนั้นเรียกร้องให้คนอื่นเรียกพวกเขาด้วยตำแหน่งนี้ ถึงแม้พระเยซูไม่คัดค้านเมื่อมีคนเรียกท่านว่า “อาจารย์” และ “นาย” (ยน 13:13) แต่ท่านต้องการให้เกียรติทั้งหมดกับพ่อของท่าน
พระเยซูบอกเขาว่า: พระเยซูเห็นว่าหัวหน้าชุมชนคนนี้กระตือรือร้นมาก บันทึกใน มก 10:21 จึงบอกว่าท่าน “รัก” เขา แต่อาจเป็นเพราะพระเยซูเห็นว่าเขาต้องเป็นคนเสียสละมากกว่านี้เพื่อจะเข้ามาเป็นสาวก ท่านจึงบอกเขาว่า ไปขายทุกอย่างที่คุณมีอยู่และเอาเงินไปแจกคนจน แต่ชายหนุ่มคนนี้ก็ไม่สามารถทิ้งทรัพย์สมบัติเพื่อมาเป็นสาวกได้ ต่างจากเปโตรกับคนอื่น ๆ ที่ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อจะติดตามพระเยซู—มธ 4:20, 22; ลก 18:23, 28
ตัวอูฐจะลอดรูเข็มเย็บผ้ายังง่ายกว่า: พระเยซูใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริงเพื่อเน้นจุดหนึ่งที่ท่านสอน เหมือนกับที่อูฐจริง ๆ ไม่สามารถลอดรูเข็มเย็บผ้าได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่คนรวยจะเข้ารัฐบาลของพระเจ้าถ้าเขายังให้ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระยะโฮวา พระเยซูไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนรวยได้เข้าในรัฐบาลของพระเจ้าเลย เพราะท่านบอกว่า “สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ พระเจ้าทำได้” (ลก 18:27) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก เบะลอเน ที่แปลว่า “เข็มเย็บผ้า” มีใช้แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ บางครั้งคำนี้ใช้หมายถึงเข็มสำหรับเย็บแผล ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 19:24 และ มก 10:25 มีการใช้คำกรีก ราฟิส ซึ่งแปลว่า “เข็ม” คำนี้มาจากคำกริยากรีกที่มีความหมายว่า “เย็บ”
ยุคหน้า: หรือ “ยุคที่กำลังจะมาถึง” คำกรีก ไอโอน ที่มักจะแปลว่า “ยุค” อาจหมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง ในข้อนี้พระเยซูกำลังพูดถึงช่วงเวลาในอนาคตที่พระเจ้าปกครองซึ่งตอนนั้นทุกคนจะมีชีวิตตลอดไป—มก 10:29, 30; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม: เยรูซาเล็มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร พระคัมภีร์จึงมักบอกว่าผู้นมัสการพระเจ้า “ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม” (มก 10:32) พระเยซูและสาวกกำลังเดินขึ้นจากหุบเขาจอร์แดน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:1) ซึ่งจุดต่ำสุดของหุบเขานี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร นี่หมายความว่าพวกเขาต้องเดินไต่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรเพื่อไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม
ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:17
ถุยน้ำลายใส่: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:34
ถุยน้ำลายใส่: การถุยน้ำลายใส่คน ๆ หนึ่งหรือถุยน้ำลายใส่หน้าเขาเป็นการแสดงความดูถูก การเป็นศัตรู หรือแสดงถึงความโกรธอย่างมาก ซึ่งทำให้คนที่ถูกถุยน้ำลายใส่ได้รับความอับอาย (กดว 12:14; ฉธบ 25:9) ในข้อนี้พระเยซูบอกว่าท่านจะต้องเจอกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นจริงตามคำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์ที่บอกว่า “ผมไม่ได้หันหน้าหนีคนที่มาดูถูกหรือถ่มน้ำลายใส่ผม” (อสย 50:6) พระเยซูถูกถุยน้ำลายใส่ตอนที่อยู่ต่อหน้าศาลแซนเฮดริน (มก 14:65) และท่านถูกทหารโรมันถุยน้ำลายใส่ตอนที่โดนปีลาตสอบสวน (มก 15:19)
เยรีโค: เมืองแรกของชาวคานาอันที่ชาวอิสราเอลยึดครองได้ เมืองนี้อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (กดว 22:1; ยชว 6:1, 24, 25) ต่อมาเมืองเยรีโคโบราณก็ถูกทิ้งร้าง แต่หลังจากชาวยิวกลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน พวกเขาก็สร้างเมืองขึ้นใหม่ในบริเวณเดิมเพราะที่นี่มีแหล่งน้ำที่ดี (ปัจจุบันคือไอเอสซุลตาน) ในสมัยพระเยซู มีเมืองเยรีโคอีกเมืองหนึ่งที่พวกโรมันสร้างขึ้นใหม่ห่างจากเมืองเก่าของชาวยิวไปทางใต้ประมาณ 2 กม. นี่อาจเป็นเหตุผลที่บันทึกในมัทธิวและมาระโกบอกว่าตอนนั้นพระเยซู “ออกจากเมืองเยรีโค” (มธ 20:29; มก 10:46) แต่บันทึกของลูกาบอกว่าพระเยซูเดินทางใกล้ถึงเมืองเยรีโค พระเยซูอาจรักษาผู้ชายตาบอดตอนที่ท่านเดินทางออกจากเมืองเยรีโคของชาวยิวเพื่อจะไปที่เมืองเยรีโคของชาวโรมัน—ดูภาคผนวก ข4 และ ข10
ผู้ชายตาบอดคนหนึ่ง: เรื่องราวในมัทธิว (20:30) บอกว่ามีผู้ชายตาบอด 2 คน แต่มาระโก (10:46) กับลูกาพูดถึงแค่คนเดียว โดยดูเหมือนเน้นที่บาร์ทิเมอัส และมีเฉพาะมาระโกเท่านั้นที่บันทึกชื่อของเขาไว้
ลูกหลานดาวิด: การเรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานดาวิด” แสดงว่าผู้ชายตาบอดคนนี้ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าท่านเป็นเมสสิยาห์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 6
กษัตริย์ชื่อดาวิด: แม้ในรายชื่อบรรพบุรุษนี้จะพูดถึงกษัตริย์หลายองค์ แต่ดาวิดเป็นคนเดียวที่มัทธิวใส่คำนำหน้าว่า “กษัตริย์” และมีการเรียกราชวงศ์ของอิสราเอลว่า “ราชวงศ์ดาวิด” (1พก 12:19, 20) มัทธิวเรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานของดาวิด” ในข้อ 1 เพื่อเน้นเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องหลักในคัมภีร์ไบเบิล และระบุว่าพระเยซูจะได้รับตำแหน่งกษัตริย์เป็นมรดกตามสัญญาที่พระเจ้าทำกับดาวิด—2ซม 7:11-16
ลูกหลานของดาวิด: คำนี้แสดงว่าพระเยซูเป็นผู้รับมรดกตามสัญญาเรื่องรัฐบาลที่พระเจ้าทำกับดาวิด สัญญานี้จะเป็นจริงโดยลูกหลานคนหนึ่งของดาวิด—2ซม 7:11-16; สด 89:3, 4