เขียนโดยลูกา 22:1-71
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อที่เรียกกันว่าปัสกา: จริง ๆ แล้วการฉลองปัสกาซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 เดือนนิสานต่างจากเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 21 เดือนนิสาน (ลนต 23:5, 6; กดว 28:16, 17; ดูภาคผนวก ข15) แต่ในสมัยของพระเยซู การฉลองปัสกามีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับเทศกาลนี้ จนทำให้บางครั้งผู้คนมองว่า “เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ” มีทั้งหมด 8 วันเพราะรวมวันที่ 14 เดือนนิสานซึ่งเป็นวันปัสกาเข้าไปด้วย โยเซฟุสเคยพูดถึง “การฉลอง 8 วันซึ่งเรียกว่าเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ” เหตุการณ์ที่พูดถึงใน ลก 22:1-6 เกิดขึ้นในวันที่ 12 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33—ดูภาคผนวก ข12
อิสคาริโอท: อาจมีความหมายว่า “คนที่มาจากเคริโอท” ซีโมนพ่อของยูดาสก็ถูกเรียกว่า “อิสคาริโอท” ด้วย (ยน 6:71) เชื่อกันว่าคำนี้บอกให้รู้ว่าซีโมนและยูดาสมาจากเมืองเคริโอทเฮสโรนที่อยู่ในแคว้นยูเดีย (ยชว 15:25) ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยูดาสก็เป็นอัครสาวกคนเดียวในจำนวน 12 คนที่มาจากแคว้นยูเดีย ส่วนที่เหลือมาจากแคว้นกาลิลี
อิสคาริโอท: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:4
เจ้าหน้าที่ดูแลวิหาร: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้แปลตรงตัวว่า “เจ้าหน้าที่” แต่มีการเพิ่มคำว่า “ดูแลวิหาร” เพื่อให้รู้ว่าคนเหล่านี้ทำหน้าที่อะไร ลูกาเป็นคนเดียวที่พูดถึงพวกเขา (กจ 4:1; 5:24, 26) เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นหัวหน้าคนที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในวิหาร ตอนที่ยูดาสไปวางแผนกับพวกผู้นำเพื่อทำให้การจับกุมพระเยซูดูเหมือนเป็นเรื่องถูกต้อง พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อาจอยู่ที่นั่นด้วย
เงิน: หมายถึงโลหะเงินที่ใช้เป็นเงินตรา ตามที่บอกไว้ใน มธ 26:15 เงินจำนวนนี้คือ ‘เหรียญเงิน 30 เหรียญ’ มัทธิวเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่พูดถึงจำนวนเงินที่พระเยซูถูกขายโดยผู้ทรยศ นี่อาจเป็นเหรียญเงินที่ทำจากเมืองไทระซึ่งมีน้ำหนัก 30 เชเขล จำนวนเงินนี้แสดงให้เห็นว่าพวกปุโรหิตใหญ่ดูถูกพระเยซู เพราะตามกฎหมายของโมเสสเงินจำนวนนี้เท่ากับค่าตัวทาสคนหนึ่ง (อพย 21:32) เหมือนกับตอนที่เศคาริยาห์ไปขอค่าจ้างในการพยากรณ์จากชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์ พวกเขาก็ชั่งเงินให้เศคาริยาห์ “30 เชเขล” ทำให้เห็นว่าพวกเขามองเศคาริยาห์ไม่ต่างอะไรกับทาสคนหนึ่งเท่านั้น—ศคย 11:12, 13
เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อที่เรียกกันว่าปัสกา: จริง ๆ แล้วการฉลองปัสกาซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 เดือนนิสานต่างจากเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 21 เดือนนิสาน (ลนต 23:5, 6; กดว 28:16, 17; ดูภาคผนวก ข15) แต่ในสมัยของพระเยซู การฉลองปัสกามีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับเทศกาลนี้ จนทำให้บางครั้งผู้คนมองว่า “เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ” มีทั้งหมด 8 วันเพราะรวมวันที่ 14 เดือนนิสานซึ่งเป็นวันปัสกาเข้าไปด้วย โยเซฟุสเคยพูดถึง “การฉลอง 8 วันซึ่งเรียกว่าเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ” เหตุการณ์ที่พูดถึงใน ลก 22:1-6 เกิดขึ้นในวันที่ 12 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33—ดูภาคผนวก ข12
ในวันแรกเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ: อย่างที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:1 ในสมัยพระเยซูการฉลองปัสกา (วันที่ 14 เดือนนิสาน) กับเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ (วันที่ 15-21 เดือนนิสาน) มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก จนทำให้บางครั้งผู้คนมองว่า “เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ” มีทั้งหมด 8 วันเพราะรวมวันที่ 14 เดือนนิสานเข้าไปด้วย (ดูภาคผนวก ข15) วันที่พูดถึงในข้อนี้หมายถึงวันที่ 14 เดือนนิสานเพราะข้อนี้บอกว่าวันนั้นต้องถวายสัตว์สำหรับปัสกา (อพย 12:6, 15, 17, 18; ลนต 23:5; ฉธบ 16:1-7) เหตุการณ์ที่พูดถึงในข้อ 7-13 ดูเหมือนเกิดขึ้นตอนบ่ายของวันที่ 13 เดือนนิสานซึ่งเป็นวันเตรียมอาหารสำหรับปัสกา และในเย็นวันนั้นหลังดวงอาทิตย์ตกก็จะเป็นวันปัสกาซึ่งตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสาน—ดูภาคผนวก ข12
พอถึงเวลา: คือเวลาเย็นซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นของวันที่ 14 เดือนนิสาน—ดูภาคผนวก ก7 และ ข12
รับถ้วย: ถ้วยที่พูดถึงในข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองปัสกาในสมัยพระเยซู (ลก 22:15) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่ามีการใช้เหล้าองุ่นในการฉลองปัสกาในอียิปต์ และพระยะโฮวาก็ไม่ได้สั่งให้ทำอย่างนั้น ดังนั้น ดูเหมือนว่ามีการตั้งธรรมเนียมส่งผ่านถ้วยเหล้าองุ่นให้คนที่เข้าร่วมเทศกาลนี้ในภายหลัง พระเยซูไม่ได้ตำหนิการดื่มเหล้าองุ่นพร้อมกับอาหารปัสกา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านดื่มเหล้าองุ่นสำหรับปัสกากับพวกอัครสาวกหลังจากที่ได้อธิษฐานขอบคุณพระเจ้า และหลังจากนั้นท่านก็ยังส่งเหล้าองุ่นให้พวกเขาดื่มตอนที่ตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์—ลก 22:20
หยิบขนมปังแผ่นหนึ่ง . . . หัก: ขนมปังที่กินกันตามปกติในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณจะเป็นแผ่นบาง และถ้าไม่ใส่เชื้อก็จะหักได้ง่าย การที่พระเยซูหักขนมปังไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ นี่เป็นวิธีแบ่งขนมปังตามปกติ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:19
หมายถึง: คำกรีก เอ็สทิน (มีความหมายตรงตัวว่า “คือ”) แต่ในข้อนี้มีความหมายว่า “หมายถึง, แปลว่า, เป็นสัญลักษณ์หมายถึง” พวกอัครสาวกเข้าใจความหมายคำพูดนี้ของพระเยซูได้ชัดเจน เพราะในตอนนั้นร่างกายที่สมบูรณ์แบบของพระเยซูอยู่ตรงหน้าพวกเขา และพวกเขาก็กำลังจะกินขนมปังไม่ใส่เชื้อด้วย ดังนั้น ขนมปังจะต้องไม่ใช่ร่างกายจริง ๆ ของพระเยซู น่าสังเกตว่ามีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ มธ 12:7 และคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลคำนั้นว่า “ความหมาย”
หยิบขนมปังแผ่นหนึ่ง . . . หัก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:26
หมายถึง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:26
อาหารมื้อเย็น: ดูเหมือนว่าหมายถึงอาหารปัสกาที่พระเยซูกินกับพวกสาวกก่อนที่ท่านจะตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ นี่แสดงว่าพระเยซูฉลองปัสกาตามธรรมเนียมที่ผู้คนยอมรับกันในสมัยนั้น ท่านไม่ได้เปลี่ยนธรรมเนียมนี้และไม่ได้ตั้งการฉลองใหม่ระหว่างที่กำลังกินอาหารปัสกา โดยวิธีนี้ท่านจึงทำตามกฎหมายของโมเสสเพราะท่านเกิดเป็นคนยิว แต่หลังจากพระเยซูฉลองปัสกาตามที่กฎหมายของโมเสสกำหนดแล้ว ท่านก็สามารถตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นแบบใหม่เพื่อระลึกถึงการตายของท่านที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันปัสกาเดียวกันนั้น
สัญญาใหม่ที่จะเริ่มมีผลเมื่อผมสละเลือด: มีเฉพาะหนังสือข่าวดีของลูกาเท่านั้นที่บันทึกว่าในเหตุการณ์นี้พระเยซูพูดถึง “สัญญาใหม่” โดยยกจาก ยรม 31:31 สัญญาใหม่นี้เป็นสัญญาระหว่างพระยะโฮวากับคริสเตียนผู้ถูกเจิม เครื่องบูชาของพระเยซูทำให้สัญญานี้มีผลบังคับใช้ (ฮบ 8:10) ในข้อนี้พระเยซูใช้คำว่า “เลือด” และ “สัญญา” เหมือนกับที่โมเสสใช้ตอนที่เขาทำหน้าที่คนกลางและตั้งสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายที่ภูเขาซีนาย (อพย 24:8; ฮบ 9:19-21) เช่นเดียวกับเลือดของวัวและแพะที่ทำให้สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างพระเจ้ากับชาวอิสราเอลมีผลบังคับใช้ เลือดของพระเยซูก็ทำให้สัญญาใหม่ระหว่างพระยะโฮวากับอิสราเอลของพระเจ้ามีผลบังคับใช้ในวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33—ฮบ 9:14, 15
. . . เพื่อพวกคุณ: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความตั้งแต่ตรงกลางข้อ 19 (“ที่จะต้องสละ . . . ”) จนถึงตอนจบของข้อ 20 แต่ข้อความนี้มีอยู่ในสำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำเนาเก่าแก่ที่ช่วยยืนยันข้อความดั้งเดิมในต้นฉบับภาษากรีก ดูภาคผนวก ก3
แต่รู้ไหม คนที่ทรยศผมนั่งร่วมโต๊ะกับผมด้วย: ดูเหมือนว่าจริง ๆ แล้วเหตุการณ์ที่พูดถึงในข้อ 21-23 ไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน เมื่อเทียบบันทึกใน มธ 26:20-29 และ มก 14:17-25 กับบันทึกใน ยน 13:21-30 ทำให้รู้ว่ายูดาสออกไปจากห้องก่อนที่พระเยซูจะตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ และยูดาสไม่ได้อยู่ด้วยแน่ ๆ ตอนที่พระเยซูชมพวกอัครสาวกว่า “พวกคุณคอยอยู่เคียงข้างผมเสมอตอนที่ผมลำบาก” เพราะยูดาสไม่ได้ทำอย่างนั้น และเขาก็ไม่ได้มีส่วนร่วมใน “สัญญาว่าจะให้ปกครองในรัฐบาล”—ลก 22:28-30
ทุกสิ่งที่บอกไว้เกี่ยวกับ ‘ลูกมนุษย์’ จะต้องเกิดขึ้น: หรือ “‘ลูกมนุษย์’ จะไปตามทางของท่าน” ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนบอกว่าสำนวนนี้เป็นวิธีพูดแบบอ้อม ๆ ที่หมายความว่า “กำลังจะตาย”
ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม: คำกรีก อือเออร์เกะเทส (แปลตรงตัวว่า “คนที่ทำดีกับ [คนอื่น]”) มักใช้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสำหรับพวกเจ้านายหรือคนที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะคนที่รู้จักกันว่าชอบบริจาคเพื่อสังคม แต่สาวกของพระเยซูซึ่งเป็น “คนที่นำหน้า” ไม่ควรมองว่าตัวเองเป็น “ผู้ทำประโยชน์เพื่อสังคม” และพี่น้องร่วมความเชื่อเป็นหนี้บุญคุณพวกเขา เพราะพวกเขาจะต้องไม่เป็นเหมือนพวกผู้ปกครองในโลก—ลก 22:26
คนที่นำหน้า: คำกรีก เฮเกะออไม ที่ใช้ในข้อนี้มีอยู่ที่ ฮบ 13:7, 17, 24 ด้วย ซึ่งในข้อเหล่านั้นใช้คำนี้เมื่อพูดถึงผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียน
รับใช้: มาจากคำกริยากรีก เดียคอเนะโอ คำนี้เกี่ยวข้องกับคำนาม เดียคอนอส (ผู้รับใช้, คนรับใช้) ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานรับใช้คนอื่นอย่างถ่อมตัวและไม่ย่อท้อ มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระคริสต์ (รม 15:8) ผู้รับใช้ของพระคริสต์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง (รม 16:1; 1คร 3:5-7; คส 1:23) ผู้ช่วยงานรับใช้ (ฟป 1:1; 1ทธ 3:8) คนรับใช้ในบ้าน (ยน 2:5, 9) และเจ้าหน้าที่รัฐบาล—รม 13:4
รับใช้: มาจากคำกริยากรีก เดียคอเนะโอ คำนี้เกี่ยวข้องกับคำนาม เดียคอนอส (ผู้รับใช้, คนรับใช้) ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานรับใช้คนอื่นอย่างถ่อมตัวและไม่ย่อท้อ มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระคริสต์ (รม 15:8) ผู้รับใช้ของพระคริสต์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง (รม 16:1; 1คร 3:5-7; คส 1:23) ผู้ช่วยงานรับใช้ (ฟป 1:1; 1ทธ 3:8) คนรับใช้ในบ้าน (ยน 2:5, 9) และเจ้าหน้าที่รัฐบาล—รม 13:4
รับใช้: คำกริยากรีก เดียคอเนะโอ มีอยู่ 2 ครั้งในข้อนี้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:26
ผมทำสัญญากับพวกคุณว่าจะให้พวกคุณปกครองในรัฐบาล: คำกริยากรีก เดียทิเธไม ที่แปลในข้อนี้ว่า “ทำสัญญา” เกี่ยวข้องกับคำนาม เดียเธเค ที่แปลว่า “สัญญา” ซึ่งในต้นฉบับภาษาเดิมที่ กจ 3:25, ฮบ 8:10, และ 10:16 มีการใช้ทั้งคำกริยาและคำนามนี้ ในข้อนี้พระเยซูพูดถึงสัญญา 2 อย่าง คือสัญญาระหว่างท่านกับพ่อของท่าน และสัญญาระหว่างท่านกับสาวกที่ถูกเจิมซึ่งจะร่วมปกครองในรัฐบาล
กินและดื่มร่วมโต๊ะกับผม: การกินอาหารกับใครคนหนึ่งหมายถึงการเป็นเพื่อนและมีสันติสุขระหว่างกัน ดังนั้น คนที่มีสิทธิพิเศษได้ร่วมโต๊ะกับกษัตริย์เป็นประจำก็ได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษและสนิทสนมกับกษัตริย์ (1พก 2:7) ในข้อนี้พระเยซูสัญญาว่าสาวกที่ซื่อสัตย์ของท่านจะมีความสนิทสนมแบบนั้นกับท่าน—ลก 22:28-30; ดู ลก 13:29; วว 19:9 ด้วย
พลั่ว: หรือ “พลั่วสำหรับสาดข้าว” อาจทำจากไม้ ใช้สำหรับตักเมล็ดข้าวที่นวดแล้วโยนขึ้นไปในอากาศเพื่อให้ลมพัดเอาแกลบและฟางออกไป
ร่อนพวกคุณเหมือนร่อนข้าวสาลี: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล หลังจากข้าวสาลีถูกนวดและฝัดแล้ว เมล็ดข้าวก็จะถูกร่อนหรือเขย่าแรง ๆ ผ่านตะแกรงเพื่อแยกแกลบและฟางออก (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:12) สิ่งที่พระเยซูกำลังจะเจอก็เป็นการทดสอบพวกสาวกด้วย พระเยซูจึงเปรียบการทดสอบนี้ว่าเป็นเหมือนการร่อนข้าวสาลี
กลับมา: หรือ “หันกลับ” ดูเหมือนว่าพระเยซูหมายถึงตอนที่เปโตรกลับมาหรือฟื้นตัวหลังจากที่เขาพลาดพลั้งทำผิดเพราะกลัวคนและมั่นใจในตัวเองมากเกินไป—เทียบกับ สภษ 29:25
ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น: แปลตรงตัวว่า “ตอนไก่ขัน” นี่เป็นชื่อที่ใช้เรียกช่วงที่ 3 ของเวลากลางคืนตามการแบ่งเวลาแบบกรีกและโรมัน คือตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงประมาณตี 3 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาก่อนหน้านี้) น่าจะเป็นช่วงเวลานี้เองที่ “ไก่ขัน” (มก 14:72) คนทั่วไปในดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยอมรับกันมานานแล้วว่าเสียงไก่ขันเป็นเครื่องบอกเวลาอย่างหนึ่ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:34; มก 14:30, 72
ไก่: หนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มพูดถึงไก่ขัน แต่เฉพาะเรื่องราวในมาระโกเพิ่มรายละเอียดว่าไก่จะขัน 2 ครั้ง (มธ 26:34, 74, 75; มก 14:30, 72; ลก 22:60, 61; ยน 13:38; 18:27) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการเลี้ยงไก่ในกรุงเยรูซาเล็มสมัยพระเยซูซึ่งเป็นการสนับสนุนบันทึกนี้ในคัมภีร์ไบเบิล ไก่ที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะขันก่อนเช้ามืด—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:35
อธิษฐานไปเรื่อย ๆ: หรือ “อธิษฐานต่อ ๆ ไป” ดูเหมือนลูกาเป็นคนเดียวที่บันทึกคำเตือนนี้และอาจเป็นตอนที่พระเยซูพูดกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คน (เทียบกับบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 26:36, 37) ส่วนคำเตือนครั้งที่ 2 ซึ่งคล้ายกันมีบันทึกที่ ลก 22:46 และเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ มธ 26:41 และ มก 14:38 ในคำเตือนครั้งที่ 2 พระเยซูพูดกับสาวกแค่ 3 คนตอนที่ท่านไปอธิษฐานในสวนเกทเสมนี (มธ 26:37-39; มก 14:33-35) การที่ลูกาบันทึกคำเตือนทั้ง 2 ครั้ง (ลก 22:40, 46) แสดงให้เห็นว่าหนังสือข่าวดีของเขาเน้นเรื่องการอธิษฐาน ตัวอย่างคำอธิษฐานอื่น ๆ ของพระเยซูซึ่งมีบันทึกในลูกาเท่านั้นอยู่ที่ ลก 3:21; 5:16; 6:12; 9:18, 28; 11:1; 23:46
ขอให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไปจากผม: ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ถ้วย” มักใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงความต้องการของพระเจ้า หรือ “ส่วนแบ่งที่ให้” กับคนหนึ่ง (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:22) พระเยซูคงต้องเป็นห่วงมากที่การตายของท่านในข้อหาหมิ่นประมาทและปลุกระดมจะทำให้ชื่อของพระเจ้าเสื่อมเสีย ความรู้สึกนี้กระตุ้นพระเยซูให้อธิษฐานขอให้ “ถ้วย” นี้ผ่านพ้นไปจากท่าน
ขอให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไปจากผม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 14:36
ทูตสวรรค์องค์หนึ่ง: จากหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม มีลูกาเท่านั้นที่บอกว่ามีทูตสวรรค์ลงมาจากสวรรค์และให้กำลังใจพระเยซู
เหงื่อเป็นเหมือนเลือด: ลูกาอาจพูดให้เห็นภาพโดยบอกว่าเหงื่อของพระเยซูผุดออกมาเป็นเม็ดเหมือนเลือด หรืออาจกำลังอธิบายลักษณะการหยดของเหงื่อว่าคล้ายกับเลือดที่หยดจากบาดแผล แต่บางคนก็บอกว่าเลือดของพระเยซูอาจผุดออกมาจากผิวหนังและปนกับเหงื่อของท่านจริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อคนเราอยู่ในภาวะเครียดจัด ในกรณีเช่นนี้ เลือดหรือสารประกอบของเลือดอาจซึมออกมาจากผนังหลอดเลือดซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่าไดอะพีดีซิส (diapedesis) ส่วนอีกภาวะหนึ่งที่ทำให้เลือดปนออกมากับเหงื่อหรือปนออกมากับของเหลวในร่างกายเรียกว่าภาวะ “เหงื่อออกเป็นเลือด” (hematidrosis) อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งที่คาดกันว่าอาจเกิดขึ้นกับพระเยซู
. . . หยดลงบนพื้น: ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ไม่มีข้อ 43, 44 แต่ข้อความนี้มีอยู่ในสำเนาเก่าแก่บางฉบับและในฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่
ฟันทาสของมหาปุโรหิต: เหตุการณ์นี้มีบันทึกอยู่ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม และบันทึกทั้งหมดก็ให้ข้อมูลที่เสริมกัน (มธ 26:51; มก 14:47; ลก 22:50) ลูกาซึ่งเป็น “หมอที่พี่น้องรัก” (คส 4:14) เป็นคนเดียวที่บอกว่าพระเยซู “แตะใบหูของคนนั้นและเขาก็หาย” (ลก 22:51) ส่วนยอห์นก็เป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่บอกว่าซีโมนเปโตรเป็นคนชักดาบขึ้นมาฟันทาสคนนั้นที่ชื่อมัลคัสจนหูขาด ดูเหมือนว่ายอห์นคือสาวกที่ “รู้จักกับมหาปุโรหิต” และคนในบ้านของเขา (ยน 18:15, 16) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะบอกได้ว่าทาสคนที่บาดเจ็บชื่ออะไร บันทึกใน ยน 18:26 ก็ทำให้เห็นด้วยว่ายอห์นคุ้นเคยกับคนในบ้านของมหาปุโรหิตเป็นอย่างดี เพราะในข้อนั้นยอห์นบันทึกว่าทาสที่บอกว่าเปโตรเป็นสาวกของพระเยซูเป็น “ญาติกับคนที่ถูกเปโตรฟันหูขาด”
ฟันทาสของมหาปุโรหิต: เหตุการณ์นี้มีบันทึกอยู่ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม และบันทึกทั้งหมดก็ให้ข้อมูลที่เสริมกัน (มธ 26:51; มก 14:47; ลก 22:50) ลูกาซึ่งเป็น “หมอที่พี่น้องรัก” (คส 4:14) เป็นคนเดียวที่บอกว่าพระเยซู “แตะใบหูของคนนั้นและเขาก็หาย” (ลก 22:51) ส่วนยอห์นก็เป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่บอกว่าซีโมนเปโตรเป็นคนชักดาบขึ้นมาฟันทาสคนนั้นที่ชื่อมัลคัสจนหูขาด ดูเหมือนว่ายอห์นคือสาวกที่ “รู้จักกับมหาปุโรหิต” และคนในบ้านของเขา (ยน 18:15, 16) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะบอกได้ว่าทาสคนที่บาดเจ็บชื่ออะไร บันทึกใน ยน 18:26 ก็ทำให้เห็นด้วยว่ายอห์นคุ้นเคยกับคนในบ้านของมหาปุโรหิตเป็นอย่างดี เพราะในข้อนั้นยอห์นบันทึกว่าทาสที่บอกว่าเปโตรเป็นสาวกของพระเยซูเป็น “ญาติกับคนที่ถูกเปโตรฟันหูขาด”
สาวกคนหนึ่ง: ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ ยน 18:10 แสดงให้เห็นว่าซีโมนเปโตรเป็นคนฟันทาสของมหาปุโรหิต และทาสคนนั้นชื่อมัลคัส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:10
ฟันทาสของมหาปุโรหิต: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:10
และเขาก็หาย: จากหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม มีลูกาเท่านั้นที่บอกว่าพระเยซูรักษาทาสของมหาปุโรหิต—มธ 26:51; มก 14:47; ยน 18:10
เวลา: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมง” คำกรีก โฮรา ที่ใช้ในข้อนี้หมายถึงเวลาที่ค่อนข้างสั้น
เจ้าแห่งความมืด: หรือ “อำนาจของความมืด” ซึ่งหมายถึงอำนาจของผู้ที่อยู่ในความมืดทางความเชื่อ (เทียบกับ คส 1:13) ที่ กจ 26:18 พูดถึงความมืดพร้อมกับการพูดถึง “อำนาจของซาตาน” ซาตานใช้อำนาจครอบงำตัวแทนของมันที่เป็นมนุษย์เพื่อให้ทำสิ่งชั่วและทำให้พระเยซูถูกประหาร ตัวอย่างเช่น บันทึกที่ ลก 22:3 บอกว่า “ซาตานก็ดลใจยูดาสที่เรียกกันว่าอิสคาริโอท” แล้วเขาก็ทรยศพระเยซู—ปฐก 3:15; ยน 13:27-30
ไก่ขัน: หนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มพูดถึงเหตุการณ์นี้ แต่เฉพาะมาระโกเท่านั้นที่บอกว่าไก่ขันเป็นครั้งที่สอง (มธ 26:34, 74, 75; มก 14:30; ลก 22:34, 60, 61; ยน 13:38; 18:27) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการเลี้ยงไก่ในกรุงเยรูซาเล็มสมัยพระเยซูซึ่งเป็นการสนับสนุนบันทึกนี้ในคัมภีร์ไบเบิล ไก่ที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะขันก่อนเช้ามืด—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:35
ไก่ขัน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 14:72
ทายมาสิว่าใครตบ?: คำกรีกที่แปลว่า “ทาย” แปลตรงตัวว่า “พยากรณ์” ถึงอย่างนั้นในข้อนี้คำนี้ไม่ได้หมายถึงการทำนาย แต่หมายถึงการบอกว่าใครเป็นคนตบโดยอาศัยการเปิดเผยจากพระเจ้า ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มก 14:65 และ ลก 22:64 แสดงให้เห็นว่าคนที่สอบสวนพระเยซูปิดหน้าท่านไว้ นี่ทำให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงท้าให้พระเยซูทายว่าใครเป็นคนตบท่าน
ทายมาสิ: คำกรีกที่แปลว่า “ทาย” แปลตรงตัวว่า “พยากรณ์” ถึงอย่างนั้นในข้อนี้คำนี้ไม่ได้หมายถึงการทำนาย แต่หมายถึงพูดออกมาโดยอาศัยการเปิดเผยจากพระเจ้า เนื่องจากข้อนี้บอกว่าคนที่สอบสวนพระเยซูปิดหน้าท่านไว้ คำพูดของพวกเขาจึงเป็นการท้าให้พระเยซูที่ถูกปิดตาอยู่ทายว่าใครเป็นคนตบท่าน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:68
ศาลสูง: หมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นคณะผู้พิพากษาที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ศาลนี้ประกอบด้วยมหาปุโรหิต และพวกผู้นำกับครูสอนศาสนา 70 คน สำหรับชาวยิวคำตัดสินของศาลนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”
คณะผู้นำ: มาจากคำกรีก เพร็สบูเทะริออน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า เพร็สบูเทะรอส (แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ”) คำว่า เพร็สบูเทะริออน ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (เช่นที่ ลก 15:25 และ กจ 2:17) แต่ก็มีความหมายในแง่อื่นด้วย ในข้อนี้คำว่า “คณะผู้นำ” ดูเหมือนหมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม ศาลนี้ประกอบด้วยพวกปุโรหิตใหญ่ ครูสอนศาสนา และพวกผู้นำ คัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงคน 3 กลุ่มนี้พร้อม ๆ กัน—มธ 16:21; 27:41; มก 8:31; 11:27; 14:43, 53; 15:1; ลก 9:22; 20:1; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ผู้นำ” และข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าศาลแซนเฮดรินในข้อนี้
ศาลแซนเฮดริน: คือศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม คำกรีกที่แปลว่า “ศาลแซนเฮดริน” หรือ “แซนเฮดริน” (ซูนเอ็ดริออน) มีความหมายตรงตัวว่า “นั่งลงกับ” แม้มีการใช้คำนี้ในความหมายทั่ว ๆ ไปเพื่อหมายถึงที่ประชุมหรือการประชุม แต่ในอิสราเอลคำนี้อาจหมายถึงคณะผู้พิพากษาหรือศาลที่ตัดสินคดีทางศาสนาด้วย และคำกรีกนี้ยังอาจหมายถึงกลุ่มคนที่ประกอบกันเป็นศาลหรือหมายถึงตัวอาคารหรือที่ตั้งของศาลก็ได้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”; ดูภาคผนวก ข12 เพื่อจะเห็นตำแหน่งที่น่าจะเป็นศาลแซนเฮดริน
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
ข้างขวาของพระองค์ผู้มีฤทธิ์อำนาจ: การอยู่ข้างขวาของผู้มีอำนาจหมายถึงการมีความสำคัญเป็นที่สองรองจากผู้นั้น (สด 110:1; กจ 7:55, 56) บันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ ลก 22:69 ใช้สำนวนคล้าย ๆ กันว่า “ข้างขวาของพระเจ้าผู้มีฤทธิ์อำนาจ” สำนวนทั้งสองนี้อาจแสดงด้วยว่าพระเยซูจะได้รับฤทธิ์อำนาจเพราะท่านอยู่ข้างขวาของพระเจ้า
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
ข้างขวาของพระเจ้าผู้มีฤทธิ์อำนาจ: การอยู่ข้างขวาของผู้ปกครองที่มีอำนาจหมายถึงการมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากเขา (สด 110:1; กจ 7:55, 56) สำนวนกรีก “ข้างขวาของ . . . ผู้มีฤทธิ์อำนาจ” มีอยู่ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 26:64 และ มก 14:62 ด้วย ดังนั้น การที่ลูกมนุษย์นั่งอยู่ “ข้างขวาของพระเจ้าผู้มีฤทธิ์อำนาจ” ทำให้รู้ว่าพระเยซูจะได้รับอำนาจมากจากพระเจ้า—มก 14:62; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:64
วีดีโอและรูปภาพ
บ้านบางหลังในอิสราเอลมีห้องชั้นบน คนที่จะขึ้นไปห้องชั้นบนอาจใช้บันไดพาดหรือบันไดไม้ที่อยู่ในบ้าน หรือเขาอาจใช้บันไดหินหรือบันไดพาดที่อยู่นอกตัวบ้าน ในห้องชั้นบนขนาดใหญ่ซึ่งอาจคล้ายกับในรูปนี้ พระเยซูได้ฉลองปัสกาครั้งสุดท้ายกับพวกสาวกและตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ (ลก 22:12, 19, 20) ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 สาวกประมาณ 120 คนก็น่าจะอยู่ในห้องชั้นบนของบ้านหลังหนึ่งในกรุงเยรูซาเล็มตอนที่พระเจ้าเทพลังบริสุทธิ์ลงมาบนพวกเขา—กจ 1:15; 2:1-4
มีการปลูกต้นองุ่น (Vitis vinifera [vi-nif-era]) มานานหลายพันปี ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในบริเวณที่พระเยซูอาศัยอยู่ คนงานในสวนมักใช้ไม้ที่เขาหาได้เพื่อค้ำต้นองุ่น ในช่วงฤดูหนาว ผู้ดูแลสวนจะตัดแต่งต้นองุ่นที่เขาปลูกเมื่อปีก่อน. และในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ถ้ามีบางกิ่งที่ไม่เกิดผล คนงานก็จะตัดทิ้งไป (ยน 15:2) การทำแบบนี้จะช่วยให้ต้นองุ่นเกิดผลที่มีคุณภาพมากขึ้น.พระเยซูเปรียบว่าพระยะโฮวาเป็นเหมือนผู้ดูแลสวน ตัวท่านเองเป็นต้นองุ่น และสาวกก็เป็นกิ่ง เหมือนกับกิ่งของต้นองุ่นที่ต้องได้รับสารอาหารจากลำต้น สาวกของพระเยซูก็จะได้รับอาหารที่ช่วยให้พวกเขามีความเชื่อเข้มแข็ง ถ้าพวกเขาติดสนิทกับ “ต้นองุ่นแท้”—ยน 15:1, 5
ศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มที่เรียกว่าศาลแซนเฮดรินใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 71 คน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการจัดที่นั่งในศาลเป็นรูปครึ่งวงกลมซ้อนกัน 3 แถว และมีผู้คัดลอก 2 คนคอยบันทึกคำพิพากษาของศาล รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมบางอย่างในภาพนี้วาดขึ้นโดยมีต้นแบบจากซากอาคารหลังหนึ่งที่พบในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งบางคนเชื่อว่าเคยเป็นห้องพิจารณาคดีของศาลแซนเฮดรินในศตวรรษแรก—ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”
1. มหาปุโรหิต
2. สมาชิกศาลแซนเฮดริน
3. จำเลย
4. เสมียนศาล