ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

นี่เป็นสถานนมัสการของเรา

นี่เป็นสถานนมัสการของเรา

“ใจอันแรงกล้าที่ข้าพเจ้ามีเพื่อพระนิเวศของพระองค์เป็นเหมือนไฟที่ลุกโชติช่วง”—โย. 2:17

เพลง 127, 118

1, 2. (ก) ในอดีตผู้รับใช้พระยะโฮวานมัสการพระองค์ที่ไหนบ้าง? (ข) พระเยซูรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลม? (ค) เราจะเรียนรู้อะไรในบทความนี้?

ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาพระเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบันมีสถานที่สำหรับการนมัสการพระองค์ เช่น เมื่อเฮเบลถวายเครื่องบูชาแก่พระเจ้า เขาอาจสร้างแท่นบูชาขึ้นมา (เย. 4:3, 4) โนอาห์ อับราฮาม ยิศฮาค ยาโคบ และโมเซต่างก็สร้างแท่นบูชา (เย. 8:20; 12:7; 26:25; 35:1; เอ็ก. 17:15) พระยะโฮวาบอกชาวอิสราเอลให้สร้างพลับพลา (เอ็ก. 25:8) ต่อมา พระองค์ก็บอกพวกเขาให้สร้างพระวิหาร (1 กษัต. 8:27, 29) หลังจากที่ประชาชนของพระเจ้ากลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน พวกเขามาประชุมกันเป็นประจำในที่ประชุมของคนยิว (มโก. 6:2; โย. 18:20; กิจ. 15:21) คริสเตียนในยุคแรกมาประชุมกันในบ้านของพี่น้อง (กิจ. 12:12; 1 โค. 16:19) ปัจจุบันนี้ ประชาชนของพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกมาที่หอประชุมราชอาณาจักรในหลายหมื่นแห่งเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและนมัสการพระองค์ที่นั่น

2 พระเยซูให้ความนับถืออย่างยิ่งต่อพระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลม ความรักของพระเยซูต่อพระวิหารทำให้เหล่าสาวกของท่านนึกถึงคำพูดของผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญที่ว่า “ด้วยใจเร่าร้อนรักพระวิหารของพระองค์นั้นเผาข้าพเจ้าจนเกรียมไป” (เพลง. 69:9; โย. 2:17) แม้หอประชุมไม่ใช่ “วิหารของพระยะโฮวา” เหมือนกับพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม (2 โคร. 5:13; 33:4) แต่เราก็ควรมีความนับถืออย่างยิ่งต่อสถานนมัสการของเรา ในบทความนี้เราจะเรียนรู้หลักการต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลที่สอนเราในเรื่องต่อไปนี้คือ การประพฤติเมื่ออยู่ที่หอประชุม การดูแลรักษาหอประชุม และการช่วยค่าใช้จ่ายของหอประชุม *

เราแสดงความนับถือต่อการประชุมของเรา

3-5. หอประชุมราชอาณาจักรคืออะไร? และเราควรรู้สึกอย่างไรกับการประชุมของเรา?

3 หอประชุมราชอาณาจักรคือสถานที่หลักที่ผู้คนมาพบกันเพื่อนมัสการพระยะโฮวา การประชุมเป็นของขวัญจากพระเจ้าและยังช่วยเสริมความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ให้แน่นแฟ้น ในการประชุมแต่ละครั้งเราได้รับกำลังใจและการชี้นำที่จำเป็นจากองค์การของพระองค์ นับว่าเป็นเกียรติที่เราได้รับเชิญจากพระยะโฮวาและพระเยซูลูกของพระองค์ให้มากินที่ “โต๊ะของพระยะโฮวา” ทุกสัปดาห์ (1 โค. 10:21) เราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นคำเชิญที่พิเศษมาก

4 พระยะโฮวาบอกเราอย่างชัดเจนว่าพระองค์อยากให้เรามาประชุมเพื่อนมัสการพระองค์และเพื่อให้กำลังใจกัน (อ่านฮีบรู 10:24, 25) เนื่องจากเรานับถือพระยะโฮวา เราจะไม่ขาดการประชุมนอกจากจำเป็นจริง ๆ เราแสดงว่าเราเห็นคุณค่าการประชุมเมื่อเราเตรียมตัวสำหรับการประชุมและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่—เพลง. 22:22

5 ความประพฤติของเราระหว่างการประชุมและการช่วยกันดูแลรักษาหอประชุมจะแสดงให้เห็นว่าเรานับถือพระยะโฮวามากแค่ไหน เนื่องจากชื่อของพระยะโฮวาอยู่ที่ป้ายหอประชุมเราจึงอยากให้การประพฤติของเราทำให้ชื่อของพระองค์ได้รับคำสรรเสริญ—เทียบกับ 1 กษัตริย์ 8:17

6. บางคนพูดอย่างไรเกี่ยวกับหอประชุมของเราและคนที่เข้าร่วมประชุม? (ดูภาพแรก)

6 เมื่อเราแสดงความนับถือต่อหอประชุม คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พยานพระยะโฮวาก็จะสังเกตเห็น เช่น ชายคนหนึ่งในตุรกีบอกว่า “ที่นั่นสะอาดและเป็นระเบียบมาก ผู้คนก็แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย หน้าตายิ้มแย้ม และเข้ามาทักทายอย่างอบอุ่น ทั้งหมดนี้ทำให้ผมประทับใจมาก” ชายคนนี้เริ่มเข้าร่วมประชุมทุกรายการและไม่นานก็รับบัพติสมา ในเมืองหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย พี่น้องได้เชิญเพื่อนบ้าน นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ให้มาดูหอประชุมใหม่ของพวกเขา นายกเทศมนตรีรู้สึกประทับใจที่เห็นว่าอาคารถูกสร้างอย่างมีคุณภาพ ได้รับการออกแบบอย่างดี และมีสวนที่สวยงาม เขาบอกว่า “ความสะอาดของหอประชุมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของพวกคุณจริง ๆ”

การประพฤติของเราอาจแสดงว่าเราไม่นับถือพระเจ้า (ดูข้อ 7, 8)

7, 8. เมื่อเราอยู่ที่หอประชุม เราจะแสดงความนับถือต่อพระยะโฮวาอย่างไร?

7 พระยะโฮวาเป็นผู้ที่เชิญเราให้มาประชุม พระองค์สนใจการแต่งกายและความประพฤติของเราเมื่ออยู่ที่นั่น อย่างไรก็ตาม เราควรเป็นคนสมดุลในเรื่องนี้ เช่น เมื่อเราเข้าร่วมประชุม เราจะไม่เข้มงวดหรือเป็นทางการมากเกินไป แต่ก็ไม่ทำตัวสบายเกินไปหรือใส่ชุดลำลอง จริงอยู่ พระยะโฮวาอยากให้เราและคนที่เราเชิญให้มาประชุมรู้สึกสบายใจ แต่เราก็ไม่อยากแสดงความไม่นับถือต่อการประชุมไม่ว่าในทางใด เราจึงหลีกเลี่ยงการแต่งตัวรุ่มร่ามไม่เรียบร้อยหรือลำลองเกินไป นอกจากนั้น เราจะไม่ส่งข้อความ พูดคุยกัน หรือกินอาหารระหว่างการประชุม พ่อแม่ควรสอนลูก ๆ ไม่ให้วิ่งหรือเล่นในหอประชุม—ผู้ป. 3:1

8 เมื่อพระเยซูเห็นผู้คนค้าขายในพระวิหารของพระเจ้า ท่านโกรธมากและไล่พวกเขาออกไป (โย. 2:13-17) เรานมัสการพระยะโฮวาและเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ที่หอประชุม ดังนั้น จึงไม่ถูกต้องที่จะทำธุรกิจการค้าที่หอประชุม—เทียบกับนะเฮมยา 13:7, 8

เราช่วยสร้างหอประชุมราชอาณาจักร

9, 10. (ก) ประชาชนของพระยะโฮวาสร้างหอประชุมอย่างไร และผลเป็นอย่างไร? (ข) องค์การของพระยะโฮวาช่วยสร้างหอประชุมให้กับประชาคมต่าง ๆ ที่มีเงินจำกัดอย่างไร?

9 ประชาชนของพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกทำงานหนักในการสร้างหอประชุม มีการออกแบบ ก่อสร้าง และซ่อมแซมปรับปรุงหอประชุมโดยอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ผลก็คือ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราได้สร้างหอประชุมราชอาณาจักรมากกว่า 28,000 หลังทั่วโลก หรือประมาณวันละ 5 หลัง

10 นอกจากนั้น องค์การของพระยะโฮวายังมอบหมายอาสาสมัครและใช้เงินบริจาคเพื่อช่วยสร้างหอประชุมที่ไหนก็ตามที่มีความจำเป็น เราทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า คนที่มีมากกว่าจะช่วยคนที่มีน้อยกว่า (อ่าน 2 โครินท์ 8:13-15) ผลก็คือมีการสร้างหอประชุมหลายหลังสำหรับประชาคมต่าง ๆ ที่มีเงินจำกัด

11. พี่น้องบางคนพูดถึงหอประชุมใหม่ของพวกเขาอย่างไร และนี่ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร?

11 พี่น้องจากประชาคมหนึ่งในคอสตาริกาเขียนว่า “เมื่อยืนอยู่หน้าหอประชุมเรารู้สึกว่าต้องฝันไปแน่ ๆ เราไม่อยากเชื่อเลยว่าหอประชุมที่สวยงามจะสร้างเสร็จแค่ 8 วันเท่านั้น! นี่เป็นไปได้เพราะการอวยพรจากพระยะโฮวา การจัดเตรียมขององค์การ และการสนับสนุนจากพี่น้องที่รักของเรา ที่จริง สถานนมัสการนี้เป็นของขวัญที่มีค่าเหมือนอัญมณีที่พระยะโฮวามอบให้เรา นั่นทำให้เรามีความสุขมากจริง ๆ” การได้ยินพี่น้องชายหญิงขอบคุณพระยะโฮวาสำหรับสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อพวกเขาก็ทำให้เรามีความสุขมากเช่นเดียวกัน และเรายินดีที่พี่น้องทั่วโลกสามารถมีหอประชุมของพวกเขาเอง เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวากำลังอวยพรงานก่อสร้างหอประชุมเพราะหลังจากหอประชุมสร้างเสร็จก็มีคนมาร่วมประชุมมากขึ้นเพื่อเรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวา—เพลง. 127:1

12. คุณจะมีส่วนช่วยในการก่อสร้างหอประชุมได้อย่างไร?

12 คุณจะมีส่วนช่วยในการก่อสร้างหอประชุมได้อย่างไร? บางทีคุณอาจอาสาสมัครช่วยในงานนี้ได้ และเราทุกคนสามารถบริจาคเงินเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้างหอประชุม เมื่อเราสนับสนุนงานนี้เท่าที่ทำได้ นั่นทำให้เรามีความสุขในการให้ และสำคัญยิ่งกว่านั้นคือเราได้สรรเสริญพระยะโฮวา การทำอย่างนั้นเป็นการเลียนแบบตัวอย่างของผู้รับใช้พระเจ้าในสมัยคัมภีร์ไบเบิลที่เต็มใจบริจาคเพื่อการก่อสร้างสถานนมัสการของพวกเขา—เอ็ก. 25:2; 2 โค. 9:7

เรารักษาหอประชุมให้สะอาด

13, 14. คัมภีร์ไบเบิลสอนเราอย่างไรว่าเราต้องรักษาหอประชุมให้สะอาดและเป็นระเบียบ?

13 พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่สะอาดบริสุทธิ์และยังเป็นพระเจ้าที่เป็นระเบียบ เราจึงต้องรักษาหอประชุมให้สะอาดและเป็นระเบียบ (อ่าน 1 โครินท์ 14:33, 40) และเพื่อจะเป็นคนสะอาดบริสุทธิ์เหมือนพระยะโฮวา เราไม่ได้แค่ทำให้การนมัสการ ความคิด และการกระทำของเราสะอาดเท่านั้น แต่เรายังรักษาร่างกายของเราให้สะอาดด้วย—วิ. 19:8

14 เมื่อเรารักษาหอประชุมให้สะอาดและเป็นระเบียบ เราจะภูมิใจเมื่อเชิญคนมายังการประชุมของเรา แล้วผู้คนจะเห็นว่าเราทำตามสิ่งที่เราสอนเรื่องโลกใหม่ที่สะอาด พวกเขาจะเห็นว่าเรานมัสการพระเจ้าที่สะอาดและบริสุทธิ์ซึ่งจะทำให้โลกนี้เป็นอุทยานที่สวยงาม—ยซา. 6:1-3; วิ. 11:18

15, 16. (ก) ทำไมจึงไม่ง่ายที่จะรักษาหอประชุมให้สะอาด แต่ทำไมเราต้องทำ? (ข) การทำความสะอาดหอประชุมของคุณมีการจัดระเบียบอย่างไร และเราถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ทำอะไร?

15 ผู้คนมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องความสะอาด เพราะอะไร? อาจเป็นเพราะการอบรมเลี้ยงดูหรือพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ เช่น บางคนอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่น ถนนหนทางก็สกปรกและเต็มไปด้วยโคลน ส่วนคนอื่น ๆ อาจไม่มีน้ำเพียงพอหรือไม่มีน้ำยาทำความสะอาด แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนและไม่ว่าผู้คนรอบตัวเราจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับความสะอาด เราควรรักษาหอประชุมให้สะอาดและเป็นระเบียบ เพราะหอประชุมเป็นสถานนมัสการพระยะโฮวา—บัญ. 23:14

16 ถ้าเราอยากให้หอประชุมสะอาดเท่าที่เป็นไปได้ต้องมีการจัดระเบียบอย่างดี เช่น ผู้ปกครองควรจัดตารางทำความสะอาดสำหรับประชาคมและทำให้แน่ใจว่ามีอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดเพียงพออยู่เสมอ ผู้ปกครองควรมีการมอบหมายหน้าที่ด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการทำความสะอาดทุกจุด บางจุดจำเป็นต้องทำความสะอาดหลังการประชุมทุกครั้ง แต่บางจุดก็ไม่จำเป็นต้องทำบ่อย เราทุกคนถือว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ได้ช่วยกันทำความสะอาดหอประชุมของเรา

เราดูแลรักษาหอประชุมของเรา

17, 18. (ก) เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาในอดีตดูแลรักษาพระวิหาร? (ข) ทำไมเราต้องดูแลรักษาหอประชุมของเรา?

17 เราดูแลรักษาหอประชุมให้อยู่ในสภาพดีเสมอโดยซ่อมแซมถ้าเห็นว่าจำเป็นซึ่งผู้รับใช้พระยะโฮวาในอดีตก็ทำเหมือนกัน เช่น ช่วงที่กษัตริย์ยะโฮอาศแห่งยูดาห์ปกครอง เขาได้สั่งปุโรหิตให้ใช้เงินที่ประชาชนบริจาคให้พระวิหารเพื่อเป็นค่าซ่อมแซมพระวิหารในส่วนที่เสียหาย (2 กษัต. 12:4, 5) มากกว่า 200 ปีต่อมา กษัตริย์โยซียาห์ก็ใช้เงินบริจาคของพระวิหารเพื่อจ่ายค่าซ่อมแซมพระวิหาร—อ่าน 2 โครนิกา 34:9-11

18 คณะกรรมการสาขาในบางประเทศได้สังเกตว่าผู้คนในประเทศของเขาไม่ค่อยดูแลรักษาอาคารหรืออุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี และอาจมีไม่กี่คนในประเทศเหล่านั้นที่รู้วิธีดูแลรักษาอาคาร หรือพวกเขาอาจมีเงินไม่พอที่จะจ่ายค่าซ่อมแซม แต่เรารู้ดีว่าถ้าเราไม่ซ่อมแซมหอประชุมของเราเมื่อเห็นว่าจำเป็น ไม่นาน หอประชุมก็จะเริ่มดูไม่เรียบร้อยและผู้คนก็จะสังเกตเห็น นั่นทำให้คุณค่าของข่าวสารที่เราประกาศลดน้อยลง แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เมื่อเราทุกคนทำสุดความสามารถเพื่อดูแลรักษาหอประชุมของเรา เราก็สรรเสริญพระยะโฮวาและไม่ทำให้เงินบริจาคของพี่น้องสูญเปล่า

เราต้องดูแลรักษาหอประชุมให้อยู่ในสภาพดีเสมอ (ดูข้อ 16, 18)

19. คุณจะทำอะไรเพื่อแสดงว่าคุณนับถือสถานนมัสการพระยะโฮวา?

19 หอประชุมเป็นอาคารที่อุทิศให้แก่พระยะโฮวา หอประชุมไม่ได้เป็นของใครหรือประชาคมใด อย่างที่เราได้เรียนในบทความนี้ หลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราให้มีความคิดที่ถูกต้องต่อสถานนมัสการพระเจ้าของเรา เพราะเรานับถือพระยะโฮวา เราจึงแสดงความนับถือต่อการประชุมของเรารวมทั้งหอประชุมด้วย เรายินดีบริจาคเงินเพื่อสร้างหอประชุม เราพยายามดูแลรักษาหอประชุมให้สะอาดและอยู่ในสภาพดีเสมอ เรามีใจแรงกล้าเหมือนพระเยซูโดยมีความนับถือต่อสถานที่ที่เราใช้ในการนมัสการพระยะโฮวา—โยฮัน 2:17

^ วรรค 2 แม้ในบทความนี้พูดถึงหอประชุมในท้องถิ่น แต่เรื่องนี้ใช้ได้กับหอประชุมใหญ่และสถานที่อื่น ๆ ที่ใช้ในการนมัสการพระยะโฮวา