ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงทำดีเสมอ

จงทำดีเสมอ

จง​ทำ​ดี​เสมอ

“จง​ทำ​เช่น​นี้​ต่อ ๆ ไป คือ . . . ทำ​ดี.”—ลูกา 6:35.

1, 2. เหตุ​ใด​การ​ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​อื่น​จึง​มัก​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ได้​ยาก?

การ​ทำ​ดี​ต่อ​คน​อื่น​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย. คน​ที่​เรา​แสดง​ความ​รัก​อาจ​ไม่​ยอม​แสดง​ความ​รัก​ตอบ. แม้​ว่า​เรา​พยายาม​เต็ม​ที่​เพื่อ​เห็น​แก่​สวัสดิภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ผู้​คน​โดย​บอก ‘ข่าว​ดี​อัน​ยอด​เยี่ยม​ของ​พระเจ้า​ผู้​มี​ความ​สุข’ และ​พระ​บุตร แต่​พวก​เขา​อาจ​เมิน​เฉย​หรือ​ไม่​หยั่ง​รู้​ค่า. (1 ติโม. 1:11) คน​อื่น ๆ แสดง​ความ​เกลียด​ชัง​และ “ประพฤติ​ตัว​เป็น​ปฏิปักษ์​กับ​เสา​ทรมาน​ของ​พระ​คริสต์.” (ฟิลิป. 3:18) ใน​ฐานะ​คริสเตียน เรา​ควร​ปฏิบัติ​อย่าง​ไร​ต่อ​พวก​เขา?

2 พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​บอก​เหล่า​สาวก​ว่า “จง​ทำ​เช่น​นี้​ต่อ ๆ ไป คือ รัก​ศัตรู​ของ​เจ้า ทำ​ดี.” (ลูกา 6:35) ให้​เรา​มา​พิจารณา​คำ​แนะ​นำ​นี้​กัน​อย่าง​ละเอียด. เรา​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​จุด​อื่น​ด้วย​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​เกี่ยว​กับ​การ​ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​อื่น.

“จง​รัก​ศัตรู”

3. (ก) จง​สรุป​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ดัง​บันทึก​ไว้​ที่​มัดธาย 5:43-45 โดย​ใช้​สำนวน​ของ​คุณ​เอง. (ข) พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​ใน​ศตวรรษ​แรก​สร้าง​ทัศนะ​แบบ​ไหน​ขึ้น​มา​เกี่ยว​กับ​ชาว​ยิว​และ​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว?

3 ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ที่​มี​ชื่อเสียง พระ​เยซู​ทรง​บอก​ผู้​ฟัง​ให้​รัก​ศัตรู​และ​อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​ที่​ข่มเหง​พวก​เขา. (อ่าน​มัดธาย 5:43-45.) คน​ที่​อยู่​ที่​นั่น​ใน​โอกาส​นั้น​คือ​ชาว​ยิว​ซึ่ง​รู้​จัก​พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​ดี ที่​ว่า “เจ้า​อย่า​แก้แค้น​หรือ​ผูก​พยาบาท​ลูก​หลาน​ญาติ​พี่​น้อง​ของ​เจ้า แต่​เจ้า​จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง.” (เลวี. 19:18) พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​ใน​ศตวรรษ​แรก​ตี​ความ​ว่า “ลูก​หลาน​ญาติ​พี่​น้อง” และ “เพื่อน​บ้าน” ใน​ที่​นี้​หมาย​ถึง​ชาว​ยิว​เท่า​นั้น. พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เรียก​ร้อง​ให้​ชาว​อิสราเอล​แยก​อยู่​ต่าง​หาก​จาก​ชาติ​อื่น ๆ แต่​พวก​เขา​สร้าง​ทัศนะ​ขึ้น​มา​ว่า​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว​ทุก​คน​เป็น​ศัตรู​ที่​ต้อง​เกลียด.

4. เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ต้อง​ปฏิบัติ​อย่าง​ไร​ต่อ​ศัตรู?

4 ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม พระ​เยซู​ตรัส​อย่าง​หนักแน่น​ว่า “จง​รัก​ศัตรู​ของ​เจ้า​ต่อ ๆ ไป​และ​อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​ที่​ข่มเหง​เจ้า​ต่อ ๆ ไป.” (มัด. 5:44) สาวก​ของ​พระองค์​ต้อง​กระทำ​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​ทุก​คน​ที่​แสดง​ตัว​เป็น​ปฏิปักษ์​ต่อ​พวก​เขา. ตาม​ที่​ผู้​เขียน​กิตติคุณ​ลูกา​บันทึก​ไว้ พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เรา​บอก​พวก​เจ้า​ที่​ฟัง​อยู่​ว่า จง​ทำ​เช่น​นี้​ต่อ ๆ ไป คือ รัก​ศัตรู​ของ​เจ้า ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​ที่​เกลียด​ชัง​เจ้า อวย​พร​ผู้​ที่​แช่ง​ด่า​เจ้า อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​ที่​สบประมาท​เจ้า.” (ลูกา 6:27, 28) เช่น​เดียว​กับ​คน​ที่​อยู่​ใน​ศตวรรษ​แรก​ซึ่ง​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู เรา “ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​ที่​เกลียด​ชัง” เรา​โดย​ตอบ​การ​กระทำ​ที่​ไม่​เป็น​มิตร​ด้วย​การ​กระทำ​ที่​ดี​งาม. เรา “อวย​พร​ผู้​ที่​แช่ง​ด่า” เรา​โดย​พูด​กับ​พวก​เขา​อย่าง​กรุณา. และ​เรา “อธิษฐาน​เพื่อ​ผู้​ที่​ข่มเหง” เรา​ซึ่ง​ใช้​ความ​รุนแรง​ทาง​กาย​หรือ​การ​กระทำ​ที่ “สบประมาท” แบบ​อื่น ๆ ต่อ​เรา. การ​อธิษฐาน​เช่น​นั้น​เป็น​คำ​ขอ​ที่​แสดง​ว่า​เรา​รัก​ศัตรู​เพราะ​เรา​ขอ​เพื่อ​ให้​ผู้​ข่มเหง​เปลี่ยน​ใจ​และ​ลง​มือ​ทำ​ใน​แนว​ทาง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พอ​พระทัย.

5, 6. เหตุ​ใด​เรา​ควร​รัก​ศัตรู?

5 เหตุ​ใด​เรา​จึง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ศัตรู? พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เพื่อ​แสดง​ว่า​เจ้า​เป็น​บุตร​ของ​พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์.” (มัด. 5:45) หาก​เรา​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​นั้น เรา​จะ​กลาย​เป็น “บุตร” ของ​พระเจ้า ใน​แง่​ที่​ว่า​เรา​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​ผู้ “ทรง​บันดาล​ให้​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​ส่อง​แสง​แก่​คน​ดี​และ​คน​ชั่ว อีก​ทั้ง​ทรง​บันดาล​ให้​ฝน​ตก​แก่​คน​ชอบธรรม​และ​คน​อธรรม.” ตาม​บันทึก​ที่​ลูกา​เขียน​ไว้ พระเจ้า “ทรง​กรุณา​ต่อ​คน​อกตัญญู​และ​คน​ชั่ว.”—ลูกา 6:35.

6 พระ​เยซู​ทรง​เน้น​ให้​เห็น​ความ​สำคัญ​ที่​เหล่า​สาวก​จะ ‘รัก​ศัตรู​ของ​พวก​เขา​ต่อ ๆ ไป’ โดย​ตรัส​ว่า “ถ้า​เจ้า​รัก​คน​ที่​รัก​เจ้า เจ้า​จะ​ได้​บำเหน็จ​อะไร? พวก​คน​เก็บ​ภาษี​ก็​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​มิ​ใช่​หรือ? และ​ถ้า​เจ้า​ทักทาย​แต่​พี่​น้อง​ของ​เจ้า เจ้า​ทำ​อะไร​เป็น​พิเศษ​เล่า? ชน​ต่าง​ชาติ​ก็​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​มิ​ใช่​หรือ?” (มัด. 5:46, 47) ถ้า​เรา​จำกัดความ​รัก​ของ​เรา​ไว้​เฉพาะ​ต่อ​คน​ที่​แสดง​ความ​รัก​ตอบ เรา​ก็​คง​ไม่​สม​ควร​ได้​รับ “บำเหน็จ” หรือ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระเจ้า. แม้​แต่​คน​เก็บ​ภาษี ซึ่ง​คน​ทั่ว​ไป​เหยียด​หยาม ก็​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​ที่​รัก​พวก​เขา.—ลูกา 5:30; 7:34.

7. เหตุ​ใด​จึง​ไม่​มี​อะไร​พิเศษ​ถ้า​เรา​ทักทาย​เฉพาะ “พี่​น้อง” ของ​เรา?

7 โดย​ทั่ว​ไป​ชาว​ยิว​ทักทาย​กัน​โดย​ใช้​คำ “สันติ​สุข.” (วินิจ. 19:20; โย. 20:19) คำ​นี้​แสดง​เป็น​นัย ๆ ถึง​ความ​ปรารถนา​ให้​คน​ที่​เขา​ทักทาย​มี​สุขภาพ​ดี, ปลอด​ภัย, และ​เจริญ​รุ่งเรือง. คง​ไม่​มี​อะไร “พิเศษ” ถ้า​เรา​จะ​ทักทาย​เฉพาะ​คน​ที่​เรา​ถือ​ว่า​เป็น “พี่​น้อง.” ดัง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ชี้ “ชน​ต่าง​ชาติ” ก็​ทำ​คล้าย ๆ กัน​นั้น.

8. พระ​เยซู​ทรง​สนับสนุน​ผู้​ฟัง​ให้​ทำ​อะไร​เมื่อ​ตรัส​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้อง​เป็น​คน​ดี​พร้อม”?

8 บาป​ที่​ตก​ทอด​มา​ทำ​ให้​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​จะ​ปราศจาก​ตำหนิ​หรือ​สมบูรณ์. (โรม 5:12) ถึง​กระนั้น พระ​เยซู​ตรัส​ลง​ท้าย​คำ​บรรยาย​ส่วน​นี้​โดย​ตรัส​ว่า “ฉะนั้น เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้อง​เป็น​คน​ดี​พร้อม​อย่าง​ที่​พระ​บิดา​ของ​เจ้า​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​ดี​พร้อม.” (มัด. 5:48) โดย​ตรัส​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​สนับสนุน​ผู้​ฟัง​ให้​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา ‘พระ​บิดา​ของ​พวก​เขา​ที่​สถิต​ใน​สวรรค์’ ด้วย​การ​ทำ​ให้​ความ​รัก​ของ​ตน​ครบ​ถ้วน​สมบูรณ์​โดย​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ศัตรู. เรา​ถูก​คาด​หมาย​ให้​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน.

เหตุ​ใด​จึง​ให้​อภัย?

9. ถ้อย​คำ​ที่​ว่า ‘ขอ​ทรง​ทรง​ยก​หนี้​ให้​พวก​ข้าพเจ้า’ หมาย​ถึง​อะไร?

9 เรา​ทำ​ดี​ต่อ ๆ ไป​เมื่อ​เรา​แสดง​ความ​เมตตา​โดย​ให้​อภัย​คน​ที่​ทำ​ผิด​ต่อ​เรา. ที่​จริง ส่วน​หนึ่ง​ใน​คำ​อธิษฐาน​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​มี​ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “ขอ​ทรง​ยก​หนี้​ความ​ผิด [แปล​ตรง​ตัว​ว่า “หนี้”] ให้​พวก​ข้าพเจ้า​อย่าง​ที่​พวก​ข้าพเจ้า​ได้​ยก​หนี้​ความ​ผิด [แปล​ตรง​ตัว​ว่า “หนี้”] ให้​ผู้​ที่​ทำ​ผิด​ต่อ​พวก​ข้าพเจ้า.” (มัด. 6:12) กิตติคุณ​ของ​ลูกา​แสดง​ว่า “หนี้” ที่​พระ​เยซู​ทรง​นึก​ถึง​ได้​แก่​บาป​หรือ​ความ​ผิด เพราะ​ที่​นั่น​กล่าว​ว่า “ขอ​ทรง​อภัย​บาป​ของ​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย เพราะ​ข้าพเจ้า​ก็​ให้​อภัย​ทุก​คน​ที่​เป็น​หนี้​ความ​ผิด [แปล​ตรง​ตัว​ว่า “หนี้”] ต่อ​ข้าพเจ้า​เช่น​กัน.”—ลูกา 11:4.

10. เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​การ​ให้​อภัย?

10 เรา​ต้อง​เลียน​แบบ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​คน​บาป​ที่​กลับ​ใจ. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ไว้​ว่า “จง​กรุณา​ต่อ​กัน แสดง​ความ​เห็น​ใจ​กัน ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​อย่าง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่าง​ใจ​กว้าง​โดย​พระ​คริสต์​เช่น​กัน.” (เอเฟ. 4:32) ดาวิด​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เพลง​ดัง​นี้: “พระ​ยะโฮวา​ทรง​พระ​เมตตา​กรุณา, พระองค์​ทรง​พระ​พิโรธ​ช้า ๆ, และ​ทรง​พระ​เมตตา​บริบูรณ์. . . . พระองค์​ไม่​ได้​ทรง​กระทำ​แก่​พวก​ข้าพเจ้า​ตาม​การ​ผิด, และ​มิ​ได้​ทรง​ปรับ​โทษ​ตาม​ความ​อสัตย์​อธรรม​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​นั้น. . . . ทิศ​ตะวัน​ออก​ไกล​จาก​ทิศ​ตะวัน​ตก​มาก​เท่า​ใด, พระองค์​ได้​ทรง​ถอน​เอา​การ​ล่วง​ละเมิด​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​ไป​ให้​ห่าง​ไกล​มาก​เท่า​นั้น. บิดา​เมตตา​บุตร​ของ​ตน​มาก​ฉัน​ใด, พระ​ยะโฮวา​ทรง​พระ​เมตตา​คน​ที่​ยำเกรง​พระองค์​มาก​ฉัน​นั้น. เพราะ​พระองค์​ทรง​ทราบ​ร่าง​กาย​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​แล้ว; พระองค์​ทรง​ระลึก​อยู่​ว่า​พวก​ข้าพเจ้า​เป็น​แต่​ผงคลี​ดิน.”—เพลง. 103:8-14.

11. พระเจ้า​ทรง​ให้​อภัย​แก่​ใคร?

11 คน​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​ให้​อภัย​จาก​พระเจ้า​ได้​ก็​ต่อ​เมื่อ​พวก​เขา​ได้​ให้​อภัย​คน​ที่​ทำ​ผิด​ต่อ​พวก​เขา​เท่า​นั้น. (มโก. 11:25) พระ​เยซู​ทรง​เน้น​จุด​นี้​โดย​ตรัส​อีก​ว่า “เพราะ​ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ให้​อภัย​การ​ผิด​ที่​มนุษย์​ทำ​ต่อ​เจ้า พระ​บิดา​ของ​เจ้า​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ก็​จะ​ให้​อภัย​เจ้า​ด้วย แต่​ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ไม่​ให้​อภัย​ความ​ผิด​ของ​พวก​เขา พระ​บิดา​ของ​เจ้า​ก็​จะ​ไม่​ให้​อภัย​ความ​ผิด​ของ​เจ้า​เช่น​กัน.” (มัด. 6:14, 15) เห็น​ได้​ชัด​ว่า พระเจ้า​ทรง​ให้​อภัย​เฉพาะ​คน​ที่​ให้​อภัย​ผู้​อื่น​อย่าง​ใจ​กว้าง. และ​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ทำ​ดี​ต่อ ๆ ไป​ก็​คือ​การ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล ที่​ว่า “พระ​ยะโฮวา​เต็ม​พระทัย​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่าง​ไร ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​จง​ทำ​อย่าง​นั้น.”—โกโล. 3:13.

“จง​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น”

12. พระ​เยซู​ทรง​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​เกี่ยว​กับ​การ​ตัดสิน​ผู้​อื่น?

12 มี​การ​กล่าว​ถึง​อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ทำ​ดี​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​บอก​ผู้​ฟัง​ให้​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น และ​จาก​นั้น​ทรง​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ที่​มี​พลัง​เพื่อ​เน้น​จุด​นี้. (อ่าน​มัดธาย 7:1-5.) ให้​เรา​มา​พิจารณา​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​หมาย​ถึง​อะไร​เมื่อ​พระองค์​ตรัส​ว่า “จง​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น.”

13. ผู้​ที่​ฟัง​พระ​เยซู​จะ ‘ไม่​ถือสา’ ได้​อย่าง​ไร?

13 กิตติคุณ​ของ​มัดธาย​อ้าง​ถึง​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ว่า “จง​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น​เพื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​ถูก​ตัดสิน.” (มัด. 7:1) ตาม​บันทึก​ใน​หนังสือ​ลูกา พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น​แล้ว​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​ถูก​ตัดสิน จง​เลิก​กล่าว​โทษ​ผู้​อื่น​แล้ว​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​ถูก​กล่าว​โทษ​เลย. อย่า​ถือสา​เขา​แล้ว​เขา​จะ​ไม่​ถือสา​เจ้า.” (ลูกา 6:37) พวก​ฟาริซาย​ใน​ศตวรรษ​แรก​พิพากษา​ผู้​อื่น​อย่าง​ไร้​ความ​ปรานี​โดย​ยึด​ถือ​จารีต​ประเพณี​ที่​ไม่​มี​กำหนด​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์. ใคร​ก็​ตาม​ใน​หมู่​ผู้​ฟัง​พระ​เยซู​ที่​ทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ต้อง “เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น.” แทน​ที่​จะ​ตัดสิน​ผู้​อื่น พวก​เขา​ต้อง “อย่า​ถือสา” ซึ่ง​หมาย​ถึง​ให้​อภัย​ข้อ​บกพร่อง​ของ​ผู้​อื่น. อัครสาวก​เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​คล้าย ๆ กัน​เกี่ยว​กับ​การ​ให้​อภัย ดัง​ที่​กล่าว​ไว้​ก่อน​หน้า​นี้.

14. ด้วย​การ​ให้​อภัย สาวก​ของ​พระ​เยซู​จะ​กระตุ้น​ผู้​คน​ให้​ทำ​อะไร?

14 ด้วย​การ​ให้​อภัย สาวก​ของ​พระ​เยซู​จะ​กระตุ้น​ผู้​คน​ให้​มี​น้ำใจ​ให้​อภัย. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​ตัดสิน​ผู้​อื่น​อย่าง​ไร เจ้า​จะ​ถูก​ตัดสิน​อย่าง​นั้น และ​เจ้า​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ไร เขา​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​เจ้า​อย่าง​นั้น.” (มัด. 7:2) เรา​เก็บ​เกี่ยว​สิ่ง​ที่​เรา​หว่าน​ใน​ส่วน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​วิธี​ที่​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น.—กล​า. 6:7.

15. พระ​เยซู​ทรง​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​ผิด​ที่​จะ​วิพากษ์วิจารณ์​มาก​เกิน​ไป?

15 พึง​จำ​ไว้​ว่า​เพื่อ​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ผิด​ที่​จะ​วิพากษ์วิจารณ์​มาก​เกิน​ไป พระ​เยซู​ทรง​ถาม​ว่า “เหตุ​ใด​เจ้า​จึง​มอง​ดู​เศษ​ฟาง​ใน​ตา​พี่​น้อง​ของ​เจ้า แต่​ไม่​มอง​ท่อน​ไม้​ใน​ตา​ของ​เจ้า​เอง? หรือ​เจ้า​จะ​พูด​กับ​พี่​น้อง​ของ​เจ้า​ได้​อย่าง​ไร​ว่า ‘ให้​ข้า​เอา​เศษ​ฟาง​ออก​จาก​ตา​เจ้า​เถิด’ ใน​เมื่อ​มี​ไม้​ทั้ง​ท่อน​อยู่​ใน​ตา​ของ​เจ้า​เอง?” (มัด. 7:3, 4) คน​ที่​มี​แนว​โน้ม​จะ​วิพากษ์วิจารณ์​คน​อื่น​สังเกต​เห็น​ข้อ​บกพร่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ใน “ตา” ของ​พี่​น้อง. จริง ๆ แล้ว คน​ที่​วิพากษ์วิจารณ์​ผู้​อื่น​กำลัง​พูด​ใน​เชิง​ว่า​ความ​สามารถ​ใน​การ​รับ​รู้​ของ​พี่​น้อง​บกพร่อง​และ​วิจารณญาณ​ของ​เขา​ใช้​ไม่​ได้. แม้​ข้อ​บกพร่อง​นั้น​เป็น​เรื่อง​เล็ก​น้อย—เหมือน​เศษ​ฟาง—ผู้​วิพากษ์วิจารณ์​เสนอ​ตัว​จะ​ช่วย “เอา​เศษ​ฟาง​ออก.” ด้วย​ความ​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด เขา​อาสา​จะ​ช่วย​พี่​น้อง​ให้​มอง​เห็น​ชัด​ขึ้น.

16. เหตุ​ใด​จึง​กล่าว​ได้​ว่า​พวก​ฟาริซาย​มี “ท่อน​ไม้” ใน​ตา​ของ​พวก​เขา?

16 คน​ที่​ชอบ​วิพากษ์วิจารณ์​คน​อื่น​เป็น​พิเศษ​ได้​แก่​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง: เมื่อ​ชาย​ตา​บอด​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​รักษา​จาก​พระ​คริสต์​ประกาศ​ว่า​พระ​เยซู​ต้อง​เป็น​ผู้​ที่​มา​จาก​พระเจ้า พวก​ฟาริซาย​ตอบ​อย่าง​แค้น​เคือง​ว่า “เจ้า​เกิด​มา​มี​แต่​บาป เจ้า​จะ​มา​สอน​พวก​เรา​หรือ?” (โย. 9:30-34) ใน​เรื่อง​วิสัย​ทัศน์​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​ตัดสิน​อย่าง​ถูก​ต้อง ถือ​ได้​ว่า​พวก​ฟาริซาย​มี “ท่อน​ไม้” ใน​ตา​เขา​เอง​และ​บอด​สนิท. ด้วย​เหตุ​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​อย่าง​หนักแน่น​ว่า “คน​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด! จง​เอา​ท่อน​ไม้​ออก​จาก​ตา​เจ้า​เอง​ก่อน แล้ว​เจ้า​จึง​จะ​มอง​เห็น​ชัด​ว่า​จะ​เอา​เศษ​ฟาง​ออก​จาก​ตา​ของ​พี่​น้อง​เจ้า​อย่าง​ไร.” (มัด. 7:5; ลูกา 6:42) ถ้า​เรา​ตั้งใจ​จะ​ทำ​ดี​และ​ปฏิบัติ​อย่าง​เหมาะ​สม​ต่อ​ผู้​อื่น เรา​จะ​ไม่​เป็น​คน​ที่​วิพากษ์วิจารณ์​ผู้​อื่น​อย่าง​รุนแรง​ราว​กับ​ว่า​คอย​มอง​หา​เศษ​ฟาง​ใน​ตา​ของ​พี่​น้อง. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​จะ​ยอม​รับ​ว่า​เรา​เอง​ก็​ไม่​สมบูรณ์​และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​ตัดสิน​และ​วิพากษ์วิจารณ์​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ.

วิธี​ที่​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น

17. เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ไร​เมื่อ​คำนึง​ถึง​กฎ​ที่​มัดธาย 7:12?

17 ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา พระ​เยซู​ทรง​ชี้​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ถือ​ว่า​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​เป็น​บุตร​โดย​ทรง​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​พวก​เขา. (อ่าน​มัดธาย 7:7-12.) เป็น​เรื่อง​น่า​สังเกต​ว่า พระ​เยซู​ทรง​วาง​กฎ​การ​ประพฤติ​ไว้​ว่า “ด้วย​เหตุ​นั้น สารพัด​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​ทำ​ต่อ​เจ้า จง​ทำ​อย่าง​นั้น​ต่อ​เขา.” (มัด. 7:12) เฉพาะ​แต่​เมื่อ​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์​อย่าง​นี้​เรา​จึง​จะ​พิสูจน์​ได้​ว่า​เรา​เป็น​สาวก​แท้​ของ​พระ​เยซู​คริสต์.

18. “พระ​บัญญัติ” แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ที่​เรา​อยาก​ให้​ผู้​อื่น​ปฏิบัติ​ต่อ​เรา?

18 หลัง​จาก​กล่าว​ว่า​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ที่​เรา​อยาก​ให้​ผู้​อื่น​ปฏิบัติ​ต่อ​เรา พระ​เยซู​ตรัส​เสริม​ว่า “ที่​จริง พระ​บัญญัติ​และ​คำ​สอน​ของ​พวก​ผู้​พยากรณ์​มุ่ง​หมาย​อย่าง​นี้.” เมื่อ​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ระบุ เรา​กำลัง​ทำ​สอดคล้อง​กับ​น้ำใจ​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง “พระ​บัญญัติ” ซึ่ง​ก็​คือ​ข้อ​เขียน​ส่วน​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​หนังสือ​เยเนซิศ​จน​ถึง​พระ​บัญญัติ. นอก​จาก​การ​เปิด​เผย​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​จะ​ก่อ​ให้​เกิด​พงศ์พันธุ์​ซึ่ง​จะ​ทำลาย​ความ​ชั่ว หนังสือ​เหล่า​นี้​ยัง​กล่าว​ถึง​ข้อ​กฎหมาย​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​ชาติ​อิสราเอล​ผ่าน​ทาง​โมเซ​ใน​ปี 1513 ก่อน​สากล​ศักราช. (เย. 3:15) นอก​เหนือ​จาก​สิ่ง​อื่น​แล้ว พระ​บัญญัติ​ยัง​แสดง​ไว้​อย่าง​ชัดเจน​ด้วย​ว่า​ชาว​อิสราเอล​ต้อง​เป็น​คน​ยุติธรรม, ไม่​ลำเอียง, และ​ทำ​ดี​ต่อ​คน​ตก​ทุกข์​ได้​ยาก​และ​คน​ต่าง​ด้าว​ที่​อาศัย​ใน​ประเทศ​ของ​เขา.—เลวี. 19:9, 10, 15, 34.

19. “คำ​สอน​ของ​พวก​ผู้​พยากรณ์” แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​ควร​ทำ​ดี?

19 โดย​ทรง​อ้าง​ถึง “คำ​สอน​ของ​พวก​ผู้​พยากรณ์” พระ​เยซู​ทรง​นึก​ถึง​หนังสือ​พยากรณ์​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู. หนังสือ​เหล่า​นี้​มี​คำ​พยากรณ์​เกี่ยว​กับ​พระ​มาซีฮา​ซึ่ง​มา​สำเร็จ​ใน​พระ​คริสต์​เอง. ข้อ​เขียน​เช่น​นั้น​ยัง​แสดง​ด้วย​ว่า​พระเจ้า​ทรง​อวย​พร​ประชาชน​ของ​พระองค์​เมื่อ​พวก​เขา​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระองค์​และ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​เหมาะ​สม. ตัว​อย่าง​เช่น คำ​พยากรณ์​ของ​ยะซายา​ให้​คำ​แนะ​นำ​นี้​แก่​ชาว​อิสราเอล: “พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ดัง​ต่อ​ไป​นี้​ว่า ‘จง​ถือ​รักษา​พระ​บัญญัติ​ไว้, และ​จง​กระทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง. . . . ความ​สุข​ย่อม​มี​แก่​คน​ที่​ประพฤติ​เช่น​นั้น, และ​แก่​บุตร​มนุษย์​ที่​ถือ​รักษา​ไว้​อย่าง​เคร่งครัด . . . และ​สงวน​มือ​ของ​เขา​ไว้​ไม่​ให้​ทำ​ชั่ว​ใด ๆ.’ ” (ยซา. 56:1, 2) จริง​ที​เดียว พระเจ้า​ทรง​คาด​หมาย​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​ทำ​ดี​เสมอ.

ทำ​ดี​ต่อ​ผู้​อื่น​เสมอ

20, 21. ฝูง​ชน​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ของ​พระ​เยซู และ​เหตุ​ใด​คุณ​ควร​ใคร่ครวญ​คำ​สอน​นั้น?

20 เรา​ได้​พิจารณา​จุด​สำคัญ​เพียง​ไม่​กี่​จุด​จาก​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ไว้​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ซึ่ง​ไม่​มี​คำ​สอน​ใด​จะ​เทียบ​ได้. แม้​กระนั้น เรา​เข้าใจ​ปฏิกิริยา​ของ​คน​ที่​ได้​ยิน​พระองค์​ตรัส​ใน​โอกาส​นั้น​ได้​ไม่​ยาก. บันทึก​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​กล่าว​ว่า “ครั้น​พระ​เยซู​ตรัส​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​จบ​แล้ว ฝูง​ชน​ก็​อัศจรรย์​ใจ​ใน​วิธี​สอน​ของ​พระองค์ เพราะ​พระองค์​สอน​พวก​เขา​อย่าง​ผู้​ที่​ได้​รับ​อำนาจ​จาก​พระเจ้า ไม่​เหมือน​พวก​อาลักษณ์​ของ​เขา.”—มัด. 7:28, 29.

21 พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​พิสูจน์​พระองค์​เอง​ว่า​ทรง​เป็น “ที่​ปรึกษา​มหัศจรรย์” ที่​มี​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า​อย่าง​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย. (ยซา. 9:6) คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เยี่ยม​ซึ่ง​แสดง​ถึง​ความ​รู้​ที่​พระ​เยซู​ทรง​มี​เกี่ยว​กับ​ทัศนะ​ของ​พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ต่อ​เรื่อง​ต่าง ๆ. นอก​จาก​จุด​ต่าง ๆ ที่​เรา​พิจารณา​กัน​ไป​แล้ว คำ​บรรยาย​นั้น​ยัง​กล่าว​ถึง​เรื่อง​ความ​สุข​แท้, วิธี​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม, วิธี​แสดง​ความ​ชอบธรรม, สิ่ง​ที่​เรา​ต้อง​ทำ​เพื่อ​จะ​มี​อนาคต​ที่​มั่นคง​และ​น่า​ยินดี รวม​ถึง​เรื่อง​อื่น ๆ อีก​มาก. คุณ​น่า​จะ​อ่าน​มัดธาย​บท 5 ถึง​บท 7 อีก​ครั้ง​อย่าง​ละเอียด​ถี่ถ้วน​และ​จริงจัง. ใคร่ครวญ​คำ​แนะ​นำ​อัน​ยอด​เยี่ยม​ของ​พระ​เยซู​ที่​บันทึก​ไว้​ใน​สาม​บท​นี้. จง​นำ​คำ​สอน​ที่​พระ​คริสต์​ตรัส​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​มา​ใช้​ใน​ชีวิต. แล้ว​คุณ​จะ​สามารถ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย​มาก​ขึ้น, ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​เหมาะ​สม, และ​ทำ​ดี​อยู่​เสมอ.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ศัตรู​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​เรา​ควร​ให้​อภัย​ผู้​อื่น?

• พระ​เยซู​ตรัส​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​ตัดสิน​ผู้​อื่น?

• ตาม​ใน​มัดธาย 7:12 เรา​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 10]

คุณ​รู้​ไหม​ว่า​ทำไม​พระ​เยซู​จึง​ตรัส​ว่า “จง​เลิก​ตัดสิน​ผู้​อื่น”?

[ภาพ​หน้า 8]

ทำไม​เรา​ควร​อธิษฐาน​เพื่อ​คน​ที่​ข่มเหง​เรา?

[ภาพ​หน้า 10]

คุณ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ที่​คุณ​อยาก​ให้​ผู้​อื่น​ปฏิบัติ​ต่อ​คุณ​ไหม?