เขียนโดยลูกา 6:1-49
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เดินผ่านนาข้าว: อาจหมายถึงการเดินบนคันนาที่อยู่ระหว่างนา 2 แปลง
สะบาโต: ดูส่วนอธิบายศัพท์
เดินผ่านนาข้าว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:1
ทำผิดกฎ: พระยะโฮวาสั่งชาวอิสราเอลไม่ให้ทำงานในวันสะบาโต (อพย 20:8-10) แต่พวกผู้นำศาสนาชาวยิวถือว่าพวกเขามีสิทธิ์กำหนดเองว่าอะไรเป็นงานที่ห้ามทำ พวกเขามองว่าสาวกของพระเยซูทำผิดเพราะเกี่ยวข้าว (เด็ดรวงข้าว) และนวดข้าว (บดข้าว) ในวันสะบาโต (ลก 6:1, 2) แต่การตั้งกฎแบบนั้นเป็นการทำเกินคำสั่งของพระยะโฮวา
ทำผิดกฎ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:2
ขนมปังที่ตั้งถวาย: หรือ “ขนมปังถวาย” มาจากคำฮีบรูที่แปลตรงตัวว่า “ขนมปังตรงหน้า” ขนมปังนี้อยู่ตรงหน้าพระยะโฮวาในความหมายที่ว่าเป็นของที่ต้องถวายให้พระองค์เสมอ—อพย 25:30; ดูส่วนอธิบายศัพท์ และภาคผนวก ข5
วิหารของพระเจ้า: ในข้อนี้หมายถึงเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ เหตุการณ์ที่พระเยซูพูดถึง (1ซม 21:1-6) เกิดขึ้นตอนที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ที่เมืองโนบ ซึ่งอาจเป็นเมืองในเขตตระกูลเบนยามินใกล้กับกรุงเยรูซาเล็ม—ดูภาคผนวก ข7 (ในภาพเล็ก)
ขนมปังที่ตั้งถวาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:4
วิหารของพระเจ้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 2:26
เจ้าเหนือวันสะบาโต: พระเยซูพูดแบบนี้เพื่อหมายถึงตัวท่านเอง (มก 2:28; ลก 6:5) นี่แสดงว่าในวันสะบาโต พระเยซูสามารถทำงานที่พ่อในสวรรค์สั่งไว้ได้ (เทียบกับ ยน 5:19; 10:37, 38) พระเยซูทำการอัศจรรย์ที่น่าทึ่งที่สุดหลายอย่างในวันสะบาโต ซึ่งรวมถึงการรักษาคนป่วย (ลก 13:10-13; ยน 5:5-9; 9:1-14) นี่เป็นภาพล่วงหน้าว่าช่วงที่พระเยซูปกครองซึ่งเป็นเหมือนวันหยุดพักสะบาโต ท่านจะช่วยเหลือมนุษย์อย่างไรบ้าง—ฮบ 10:1
เจ้าเหนือวันสะบาโต: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:8
มือขวาลีบ: ผู้เขียนหนังสือข่าวดี 3 เล่มบันทึกเหตุการณ์ที่พระเยซูรักษาผู้ชายคนนี้ในวันสะบาโต แต่ลูกาเป็นคนเดียวที่ให้รายละเอียดว่ามือที่ลีบหรือเป็นอัมพาตคือมือข้างขวา (มธ 12:10; มก 3:1) ลูกามักจะให้รายละเอียดทางการแพทย์ที่มัทธิวกับมาระโกไม่ได้ให้ ตัวอย่างคล้ายกันสามารถดูได้โดยเปรียบเทียบบันทึกที่ มธ 26:51 และ มก 14:47 กับบันทึกใน ลก 22:50, 51—ดู “บทนำของหนังสือลูกา”
รู้ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่: ลูกาบันทึกว่าพระเยซูรู้ว่าพวกครูสอนศาสนากับฟาริสีคิดอะไรอยู่ แต่มัทธิวกับมาระโกไม่ได้บันทึกเรื่องนี้—เทียบกับบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 12:10-13; มก 3:1-3
อัครสาวก: หรือ “ผู้ถูกส่งออกไป” คำกรีก อาพอสทอล็อส มาจากคำกริยา อาพอสเทลโล ซึ่งมีความหมายว่า “ส่งออกไป” (มธ 10:5; ลก 11:49; 14:32) ความหมายหลักของคำนี้เห็นได้ชัดจากคำพูดของพระเยซูที่ ยน 13:16 ซึ่งแปลคำนี้ว่า “คนที่ถูกใช้ไป”
อัครสาวก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2
คนกระตือรือร้น: ชื่อนี้ช่วยให้แยกออกระหว่างอัครสาวกซีโมนและอัครสาวกซีโมนเปโตร (ลก 6:14) คำกรีก เศโลเทศ ที่ใช้ในข้อนี้และใน กจ 1:13 มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 10:4 และ มก 3:18 เรียกอัครสาวกซีโมนคนนี้ว่า “คานาไนโอส” เชื่อกันว่าชื่อนี้มาจากภาษาฮีบรูหรืออาราเมอิกที่มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” อาจเป็นไปได้ว่าซีโมนคนนี้เคยเป็นพวกเซลอตซึ่งเป็นกลุ่มชาวยิวที่ต่อต้านจักรวรรดิโรม หรือเขาอาจได้ชื่อนี้เพราะเป็นคนกระตือรือร้นและมีศรัทธาอย่างแรงกล้า
ที่ต่อมากลายเป็นคนทรยศ: สำนวนนี้น่าสนใจเพราะทำให้รู้ว่ายูดาสได้เปลี่ยนไป ตอนที่ยูดาสเข้ามาเป็นสาวกเขายังไม่ได้เป็นคนทรยศ และตอนที่พระเยซูแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวกเขาก็ยังไม่เป็นคนทรยศ เขาไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าให้เป็นคนทรยศด้วย แต่เนื่องจากเขาใช้เสรีภาพในการเลือกในทางที่ผิด เขาจึง “กลายเป็นคนทรยศ” หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวกได้ระยะหนึ่งแล้ว ทันทีที่เขาเริ่มเปลี่ยนไปพระเยซูก็รู้ อย่างที่บอกไว้ใน ยน 6:64
เมื่อมาถึงที่ราบแห่งหนึ่ง: จากท้องเรื่อง พระเยซูลงมาจากภูเขาหลังจากที่ท่านอธิษฐานทั้งคืนเพื่อเลือกอัครสาวก 12 คน (ลก 6:12, 13) พระเยซูเจอที่ราบแห่งหนึ่งตรงเชิงเขาซึ่งอาจอยู่ไม่ไกลจากเมืองคาเปอร์นาอุมซึ่งเป็นศูนย์กลางงานรับใช้ของท่าน มีคนมากมายมารวมตัวกันที่นั่นและพระเยซูรักษาพวกเขาทุกคน บันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 5:1, 2 บอกว่าพระเยซู “เดินขึ้นภูเขาและ . . . เริ่มสอน” คำพูดนี้อาจหมายความว่าพระเยซูเดินขึ้นไปบนจุดที่สูงกว่าบนที่ราบนั้น เมื่อเทียบบันทึกของมัทธิวและลูกาทำให้สรุปได้ว่า ตอนเดินลงเขา พระเยซูอาจหยุดอยู่ตรงที่ราบแห่งหนึ่ง ท่านขึ้นไปอยู่ตรงจุดที่สูงกว่าคนอื่นและเริ่มสอน หรืออาจเป็นได้ว่าข้อมูลใน มธ 5:1 เป็นข้อมูลแบบสรุปและไม่ได้ให้รายละเอียดมากเหมือนกับลูกา
คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า: คำกรีกที่แปลว่า “คนที่รู้ตัว” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “คนที่ยากจน (ขัดสน, ขาดแคลน, เป็นขอทาน)” ในท้องเรื่องนี้คำนี้ใช้กับคนที่จำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างและรู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้น ใน ลก 16:20, 22 มีการใช้คำเดียวกันนี้เมื่อพูดถึงลาซารัสที่เป็น “ขอทาน” คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับได้แปลข้อความนี้ว่า “คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณ” ซึ่งทำให้นึกถึงคนที่รู้ตัวว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 6:20
ขอทาน: หรือ “คนยากจน” คำกรีกนี้อาจหมายถึงคนที่ยากจนหรือขาดแคลนมาก พระเยซูใช้คำนี้เพื่อให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างชายคนนี้กับชายเศรษฐีในตัวอย่างเปรียบเทียบของท่าน มีการใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยที่ มธ 5:3 โดยแปลว่า “คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า” ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “คนที่ยากจน (ขัดสน, ขาดแคลน, เป็นขอทาน) ด้านจิตวิญญาณ” ทำให้นึกถึงคนที่รู้ตัวว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:3
มีความสุข: คำกรีก มาคาริออส ที่ใช้ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความรู้สึกสบายใจ แต่เมื่อมีการใช้คำนี้กับมนุษย์ก็จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคนที่ได้รับพรและความโปรดปรานจากพระเจ้า นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระเจ้าและพูดถึงพระเยซูตอนที่ท่านได้รับสง่าราศีในสวรรค์—1ทธ 1:11; 6:15
สาวก: คำกรีก มาเธเทส ที่แปลว่า “สาวก” หมายถึงผู้เรียนหรือคนที่ถูกสอน และแสดงถึงความรู้สึกผูกพันกับผู้สอน เป็นความผูกพันที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตของสาวก แม้มีคนกลุ่มใหญ่มาฟังพระเยซู แต่ดูเหมือนว่าหลัก ๆ แล้วท่านพูดเพื่อจะสอนพวกสาวกซึ่งนั่งใกล้ท่านมากที่สุด—มธ 5:1, 2; 7:28, 29
และพูดว่า: คำบรรยายบนภูเขาของพระเยซูมีบันทึกทั้งในมัทธิว (บท 5-7) และลูกา (6:20-49) ลูกาบันทึกคำบรรยายนี้แบบสั้น บันทึกของมัทธิวยาวกว่าของลูกาประมาณ 4 เท่าและครอบคลุมเนื้อหาเกือบทั้งหมดที่ลูกาเขียนไว้ บันทึกของทั้ง 2 คนเริ่มต้นและจบคล้าย ๆ กัน หลายครั้งก็ใช้สำนวนเดียวกัน มีเนื้อหาและการลำดับเรื่องราวคล้าย ๆ กัน เมื่อพูดถึงเหตุการณ์เดียวกันบางครั้งทั้ง 2 คนใช้คำต่างกันมากแต่เรื่องราวก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน น่าสังเกตว่าหลายส่วนของคำบรรยายบนภูเขาที่ลูกาไม่ได้บันทึกไว้เป็นเรื่องที่พระเยซูพูดซ้ำในโอกาสอื่น ๆ ด้วย เช่น ในคำบรรยายบนภูเขาพระเยซูพูดเรื่องการอธิษฐาน (มธ 6:9-13) และการมีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ (มธ 6:25-34) หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีครึ่ง ดูเหมือนว่าพระเยซูพูดเรื่องนี้อีกครั้งและลูกาก็บันทึกไว้ (ลก 11:2-4; 12:22-31) นอกจากนั้น เนื่องจากลูกาเขียนหนังสือข่าวดีเพื่อคริสเตียนจากทุกภูมิหลัง เขาจึงอาจข้ามบางส่วนของคำบรรยายบนภูเขาซึ่งอาจมีแค่ชาวยิวเท่านั้นที่สนใจ—มธ 5:17-27; 6:1-18
พวกคุณที่ยากจน: คำกรีกที่แปลว่า “ยากจน” หมายถึง “ขัดสน, ขาดแคลน, เป็นขอทาน” ความสุขอย่างแรกในคำบรรยายบนภูเขาของพระเยซูที่ลูกาบันทึกต่างจากใน มธ 5:3 ซึ่งมัทธิวใช้คำกรีกที่แปลว่า “ยากจน” เหมือนกันแต่เพิ่มอีกคำหนึ่งด้วย ทำให้สำนวนในมัทธิวแปลตรงตัวว่า “คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณ” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:3; ลก 16:20) สำนวนนี้หมายถึงคนที่รู้ตัวว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพระเจ้า ถึงแม้บันทึกของลูกาจะใช้แค่คำว่า “ยากจน” แต่ก็ไม่ขัดกับบันทึกของมัทธิวเพราะปกติแล้วคนที่ยากจนและถูกกดขี่มักรู้ตัวมากกว่าคนอื่น ๆ ว่าพวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า ที่จริงพระเยซูบอกว่าเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ท่านมาในฐานะเมสสิยาห์คือมาเพื่อ “ประกาศข่าวดีกับคนจน” (ลก 4:18) คนที่ติดตามพระเยซูและมีความหวังที่จะได้รับสิ่งดีต่าง ๆ จากรัฐบาลของพระเจ้าส่วนใหญ่แล้วเป็นคนจนและคนธรรมดา (1คร 1:26-29; ยก 2:5) นอกจากนั้น บันทึกของมัทธิวยังทำให้เห็นชัดเจนว่าการเป็นคนจนไม่ได้ทำให้ได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าโดยอัตโนมัติ ดังนั้น คำอธิบายเกี่ยวกับความสุขอย่างแรกในคำบรรยายบนภูเขาของมัทธิวและลูกาจึงเสริมกันและกัน
มีความสุข: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:3
พวกเขาได้รางวัลแค่นั้นแหละ: แปลตรงตัวว่า “พวกเขาได้รางวัลของตัวเองครบแล้ว” คำกรีก อาพเอะโฆ ในข้อนี้มีความหมายว่า “ได้อย่างครบถ้วน” มักมีคำนี้อยู่ในใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงว่า “จ่ายเงินครบจำนวนแล้ว” คนที่ทำดีเอาหน้าชอบให้ทานเพื่อให้คนอื่นเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีคนเห็นสิ่งที่เขาทำและยกย่องเขาว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน แต่นั่นคือรางวัลทั้งหมดที่เขาได้รับ พวกเขาไม่ควรคาดหมายว่าจะได้อะไรจากพระเจ้า
คุณมีพร้อมทุกอย่างแล้ว: คำกรีก อาพเอะโฆ ในข้อนี้มีความหมายว่า “ได้อย่างครบถ้วน” มักมีคำนี้อยู่ในใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงว่า “จ่ายเงินครบจำนวนแล้ว” พระเยซูบอกว่าคนรวยเป็นคนน่าสงสารในแง่ที่ว่าพวกเขาอาจต้องเจอกับความเจ็บปวด โศกเศร้า และความทุกข์ ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะพวกเขามีชีวิตที่ดีและสะดวกสบาย แต่พระเยซูเตือนว่าคนที่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สมบัติอาจไม่สนใจที่จะรับใช้พระเจ้าและพลาดโอกาสที่จะได้ความสุขแท้ คนเหล่านี้จะ “ได้อย่างครบถ้วน” คือพวกเขาจะมีพร้อมทุกอย่างหรือมีความสะดวกสบายในชีวิต แต่นั่นคือรางวัลทั้งหมดที่เขาได้รับ พวกเขาไม่ควรคาดหมายว่าจะได้อะไรจากพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:2
รักศัตรูของคุณ: คำแนะนำของพระเยซูในข้อนี้สอดคล้องกับแนวคิดของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—อพย 23:4, 5; โยบ 31:29; สภษ 24:17, 18; 25:21
รักศัตรูของคุณ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:44
ให้คนอื่นยืม: หมายถึงการให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย กฎหมายของโมเสสห้ามไม่ให้ชาวอิสราเอลคิดดอกเบี้ยเมื่อให้เพื่อนร่วมชาติที่ยากจนยืมเงิน (อพย 22:25) และกฎหมายนี้ยังสนับสนุนให้พวกเขาให้คนยากจนยืมอย่างใจกว้าง—ฉธบ 15:7, 8; มธ 25:27
ให้อภัยคนอื่นเสมอ แล้วพระเจ้าจะให้อภัยคุณ: หรือ “ให้ปล่อยไปเสมอ แล้วคุณจะถูกปล่อย” คำกรีกที่แปลว่า “ให้อภัย” มีความหมายตรงตัวว่า “ปล่อยให้เป็นอิสระ, ปล่อยตัว (เช่น ปล่อยตัวนักโทษ)” แต่เนื่องจากในท้องเรื่องนี้ใช้คำนี้เพื่อพูดถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับการตัดสินหรือกล่าวโทษคนอื่น ดังนั้น คำนี้จึงหมายถึงการไม่เอาผิดและให้อภัยแม้จะดูเหมือนว่าคนนั้นสมควรถูกลงโทษ
ให้มีนิสัยชอบแบ่งปัน: หรือ “ให้อยู่เรื่อย ๆ” คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้อยู่ในรูปของการกระทำที่ต่อเนื่อง
กระเป๋าของคุณ: คำกรีกนี้แปลตรงตัวว่า “อกของคุณ” แต่ในท้องเรื่องนี้น่าจะหมายถึงการดึงเสื้อชั้นนอกที่หลวม ๆ ขึ้นมาเหนือเข็มขัด การ ‘เทใส่กระเป๋า’ อาจเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมที่พ่อค้าจะเทของใส่ช่องในเสื้อชั้นนอกของผู้ซื้อ
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
เศษผง . . . ท่อนไม้: พระเยซูกำลังใช้การเปรียบเทียบแบบเกินจริงหรืออติพจน์เมื่อพูดถึงคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ท่านเปรียบความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเป็นเหมือน “เศษผง” คำกรีก คาร์ฟอส ในที่นี้อาจหมายถึงฟางหรือเสี้ยนไม้ด้วย นี่เป็นเหตุผลที่คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำนี้ว่า “เสี้ยนไม้” หรือ “ผงขี้เลื่อย” คนที่ชอบวิจารณ์ถือว่าคนอื่นมีมุมมองที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า มีแนวคิดด้านศีลธรรมและการตัดสินใจที่บกพร่อง การที่เขาเสนอจะ “เขี่ยเศษผงออกจากตา” ของคนอื่นเป็นการโอ้อวดว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะช่วยคนอื่นให้เห็นอะไร ๆ ชัดขึ้นและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่พระเยซูบอกว่าคนที่ชอบวิจารณ์นั่นแหละที่มีมุมมองไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า และมีการตัดสินใจที่บกพร่อง เหมือนกับว่าพวกเขามี “ท่อนไม้” หรือคานหลังคา อยู่ในตาของตัวเอง (มธ 7:4, 5) บางคนบอกว่าการที่พระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่มีพลังและน่าขันแบบนี้แสดงว่าท่านคุ้นเคยกับงานของช่างไม้เป็นอย่างดี
เศษผง . . . ท่อนไม้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 7:3
คนอวดดี: คำกรีก ฮูพอคริเทส แต่เดิมหมายถึงนักแสดงละครเวทีชาวกรีก (และต่อมาก็ชาวโรมัน) ซึ่งใส่หน้ากากขนาดใหญ่เพื่อให้เสียงของเขาดังขึ้น ในภายหลังมีการใช้คำนี้ในเชิงเปรียบเทียบเพื่อหมายถึงคนที่ปิดบังตัวตนหรือเจตนาที่แท้จริงของตัวเองโดยการหลอกลวงและเสแสร้ง ที่ มธ 6:5, 16 พระเยซูเรียกพวกผู้นำศาสนาชาวยิวว่า “คนทำดีเอาหน้า” หรือ “คนเสแสร้ง” แต่ในข้อนี้ (ลก 6:42) พระเยซูใช้คำนี้เพื่อหมายถึงสาวกที่สนใจแต่ความผิดพลาดของคนอื่น แต่ไม่มองความผิดพลาดของตัวเอง
น้ำมาท่วม: การเกิดลมพายุฤดูหนาวแบบกะทันหันเป็นเรื่องปกติในอิสราเอล โดยเฉพาะในเดือนเทเบทซึ่งตรงกับช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ทำให้มีลมพัดแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน—ดูภาคผนวก ข15
วีดีโอและรูปภาพ

1. ที่ราบเยนเนซาเรท เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมที่อุดมสมบูรณ์ มีขนาดประมาณ 5 x 2.5 กม. ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นที่ที่พระเยซูชวนชาวประมง 4 คน คือ เปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์นให้มารับใช้ด้วยกันกับท่าน—มธ 4:18-22
2. บริเวณที่เชื่อกันว่าพระเยซูบรรยายบนภูเขา—มธ 5:1; ลก 6:17, 20
3. คาเปอร์นาอุม พระเยซูพักอยู่ในเมืองนี้ และท่านเจอมัทธิวในเมืองนี้หรือใกล้กับเมืองนี้—มธ 4:13; 9:1, 9

เสื้อชั้นนอกของชาวอิสราเอลในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นชุดที่ยาวและหลวม ชุดแบบนี้สามารถดึงช่วงบนของเสื้อขึ้นมาไว้เหนือเข็มขัดได้ ทำให้มีช่องที่เป็นเหมือนกระเป๋าใหญ่เอาไว้ใส่เมล็ดข้าว เงิน ข้าวของต่าง ๆ หรือแม้แต่ลูกแกะหรือเด็กทารก (อพย 4:6, 7; กดว 11:12; 2พก 4:39; โยบ 31:33; อสย 40:11) ใน ลก 6:38 คำกรีกที่แปลว่า “กระเป๋าของคุณ” แปลตรงตัวว่า “อกของคุณ” แต่ในท้องเรื่องนี้หมายถึงเสื้อชั้นนอกที่ถูกพับขึ้น การ ‘เทใส่กระเป๋า’ อาจเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมที่พ่อค้าจะเทของใส่ช่องในเสื้อชั้นนอกของผู้ซื้อ

พระเยซูคงเลือกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ท่านใช้อย่างรอบคอบแน่นอน ตัวอย่างเช่น ท่านพูดถึงมะเดื่อ (หมายเลข 1) และต้นองุ่น (หมายเลข 2) ด้วยกันหลายครั้ง และคำพูดของท่านที่ ลก 13:6 แสดงให้เห็นว่าต้นมะเดื่อมักปลูกอยู่ในสวนองุ่น (2พก 18:31; ยอล 2:22) สำนวน “นั่งใต้ต้นองุ่นและต้นมะเดื่อของตัวเอง” เป็นภาพที่แสดงถึงความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงปลอดภัย (1พก 4:25; มคา 4:4; ศคย 3:10) ตรงกันข้าม มีการพูดถึงต้นหนามและวัชพืชตอนที่พระยะโฮวาสาปแช่งแผ่นดินหลังจากที่อาดัมทำบาป (ปฐก 3:17, 18) ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าต้นหนามที่พระเยซูพูดถึงใน มธ 7:16 เป็นต้นหนามชนิดไหน แต่ต้นหนามในภาพนี้ (Centaurea iberica [Pron: ibāʹrikə]) (หมายเลข 3) เป็นชนิดที่ขึ้นเองอยู่ตามป่าในอิสราเอล