เขียนโดยยอห์น 20:1-31
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
วันแรกของสัปดาห์: คือวันที่ 16 เดือนนิสาน สำหรับชาวยิววันถัดจากวันสะบาโตจะนับเป็นวันแรกของสัปดาห์
วันแรกของสัปดาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:1
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งแรกในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นก็พูดถึงเขาว่า “สาวกที่ท่าน [หรือ “พระเยซู”] รัก” “สาวกคนที่พระเยซูรัก” หรือ “สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก” (ยน 19:26; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์นลูกของเศเบดี และเป็นพี่น้องกับยากอบ (มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10) เหตุผลหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นคือ อัครสาวกยอห์นไม่เคยพูดถึงชื่อตัวเองในหนังสือข่าวดีที่เขาเขียน และที่ ยน 21:2 เขาเรียกตัวเองว่า “ลูกของเศเบดี” อีกเหตุผลหนึ่งอยู่ที่ ยน 21:20-24 ซึ่งในข้อนั้นพูดถึง “สาวกคนที่พระเยซูรัก” ว่าเป็นคนเขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้ นอกจากนั้น พระเยซูยังพูดถึงอัครสาวกคนนั้นว่า “ถ้าผมอยากให้เขาอยู่จนถึงตอนที่ผมมา นั่นก็ไม่เกี่ยวกับคุณ” ข้อนี้ทำให้รู้ว่าอัครสาวกคนนั้นจะอายุยืนกว่าเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากอัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ชื่อหนังสือยอห์น และ ยน 1:6; 21:20
สาวกอีกคนหนึ่ง: น่าจะเป็นอัครสาวกยอห์น ดูได้จากสไตล์การเขียนของเขาที่ไม่บอกชื่อของตัวเองในหนังสือข่าวดีที่เขาเขียน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23; 19:26; 20:2; 21:7; 21:20) นอกจากนั้น ในบันทึกที่ ยน 20:2-8 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังพระเยซูฟื้นขึ้นจากตายมีการพูดถึงยอห์นกับเปโตรคู่กัน คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่ายอห์นซึ่งเป็นสาวกจากแคว้นกาลิลีมารู้จักกับมหาปุโรหิตได้อย่างไร แต่การที่ยอห์นคุ้นเคยกับคนในบ้านของมหาปุโรหิตทำให้เขาสามารถคุยกับคนเฝ้าประตูเพื่อจะเข้าไปที่ลานบ้านของมหาปุโรหิตได้ และยังสามารถพาเปโตรเข้าไปข้างในได้ด้วย—ยน 18:16
พระองค์รักลูกของพระองค์มาก: ในข้อนี้พระเยซูพูดถึงสายสัมพันธ์ที่อบอุ่น เป็นเพื่อน และเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างท่านกับพระเจ้าผู้เป็นพ่อตั้งแต่ตอนที่พระองค์ทั้งสองเริ่มสร้างสิ่งต่าง ๆ (สภษ 8:30) ตอนที่ยอห์นบันทึกคำพูดนี้ของพระเยซู เขาใช้คำกริยากรีก ฟิเละโอ (“รักอย่างอบอุ่น”) คำกริยานี้มักใช้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากระหว่างเพื่อนสนิท ตัวอย่างเช่น มีการใช้คำนี้พูดถึงความสนิทสนมระหว่างพระเยซูกับลาซารัส (ยน 11:3, 36) และยังใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูก (มธ 10:37) นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำกริยา ฟิเละโอ เพื่อแสดงถึงความรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดมากที่พระยะโฮวามีต่อคนที่ติดตามพระเยซู และความรู้สึกสนิทสนมที่สาวกมีต่อพระเยซูด้วย—ยน 16:27
รักพวกคุณ: มีการแปลคำกริยากรีก ฟิเละโอ ว่า “รัก” “ชอบ” และ “จูบ” (มธ 23:6; ยน 12:25; มก 14:44) คำนี้อาจใช้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมาก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสนิท ตอนที่พระเยซูเดินไปที่อุโมงค์ฝังศพของลาซารัส ท่าน “ร้องไห้น้ำตาไหล” จนคนที่เห็นบอกว่า “ดูสิ เขารัก [รูปคำหนึ่งของคำกริยากรีก ฟิเละโอ] ลาซารัสมากจริง ๆ” (ยน 11:35, 36) นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูก (มธ 10:37) อย่างที่เห็นในข้อนี้ มีการใช้คำกริยา ฟิเละโอ เพื่อแสดงถึงความรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดมากที่พระยะโฮวามีต่อสาวกของพระเยซู รวมทั้งความรู้สึกสนิทสนมที่สาวกมีต่อพระเยซูด้วย นอกจากนั้น ที่ ยน 5:20 ยังมีการใช้คำกริยากรีกเดียวกันนี้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพระยะโฮวาและพระเยซู
พระเยซูถามซีโมนเปโตร: การคุยกันระหว่างพระเยซูกับเปโตรครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเปโตรปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้ง ในท้องเรื่องนี้พระเยซูถามย้ำถึง 3 ครั้งว่าเปโตรรู้สึกอย่างไรกับท่านจน “เปโตรรู้สึกทุกข์ใจ” (ยน 21:17) บันทึกของยอห์นที่ ยน 21:15-17 ใช้คำกริยากรีก 2 คำที่แตกต่างกันคือ อากาพาโอ และ ฟิเละโอ แต่ทั้ง 2 คำก็แปลว่ารัก พระเยซูถามเปโตร 2 ครั้งว่า “คุณรัก (อากาพาโอ) ผมไหม?” และทั้งสองครั้งเปโตรก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่าเขา “รัก” พระเยซู แล้วพระเยซูก็ถามเป็นครั้งที่ 3 ว่า “คุณรัก (ฟิเละโอ) ผมไหม?” และเปโตรก็ยืนยันอีกครั้งว่าเขารักท่าน ทุกครั้งที่เปโตรตอบกลับมาพระเยซูเน้นว่าความรักนั้นควรกระตุ้นเปโตรให้เลี้ยงและ “ดูแล” สาวกของท่านด้านความเชื่อ ซึ่งในข้อนี้พระเยซูเรียกพวกสาวกว่าลูกแกะหรือ “แกะตัวเล็ก ๆ” ของท่าน (ยน 21:16, 17; 1ปต 5:1-3) พระเยซูให้โอกาสเปโตรยืนยันความรักที่มีต่อท่านถึง 3 ครั้ง แล้วท่านก็มอบหมายให้เขาดูแลแกะหรือสาวกของท่าน การที่พระเยซูทำอย่างนี้ทำให้เห็นชัดว่าท่านให้อภัยเปโตรที่เคยปฏิเสธท่าน 3 ครั้ง
สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งที่ 3 ในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นพูดถึงเขาว่า “สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก” “สาวกที่ท่าน [พระเยซู] รัก” หรือ “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 13:23; 19:26; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23; 18:15) ในข้ออื่น ๆ อีก 4 ข้อที่พูดถึงสาวกคนนี้มีการใช้คำกรีก อากาพาโอ แต่ในข้อนี้ใช้คำกรีก ฟิเละโอ ที่มีความหมายเหมือนกัน และมีการใช้คำกรีก ฟิเละโอ ในพระคัมภีร์อีกหลายข้อด้วย—มธ 10:37; ยน 11:3, 36; 16:27; 21:15-17; 1คร 16:22; ทต 3:15; วว 3:19; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:20; 16:27; 21:15
ข้อคัมภีร์: อาจหมายถึง สด 16:10 หรือ อสย 53:10 ในตอนนั้นแม้แต่คนที่เป็นสาวกของพระเยซูก็ยังไม่เข้าใจคำพยากรณ์บางข้อเกี่ยวกับเมสสิยาห์ โดยเฉพาะคำพยากรณ์ที่บอกว่าเมสสิยาห์จะถูกปฏิเสธ ต้องทนทุกข์ ตาย และถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย—อสย 53:3, 5, 12; มธ 16:21-23; 17:22, 23; ลก 24:21; ยน 12:34
ภาษาฮีบรู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
รับโบนี!: เป็นคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ครูของฉัน” บางคนคิดว่าตอนแรกคำว่า “รับโบนี” แสดงถึงความเคารพมากกว่าหรือถ่ายทอดความรู้สึกที่อบอุ่นกว่าคำว่า “รับบี” ที่อยู่ใน ยน 1:38 แต่ยอห์นแปลทั้ง 2 คำนี้ว่าอาจารย์ อาจเป็นได้ว่าสมัยที่ยอห์นเขียนพระคัมภีร์ คำที่ต่อท้ายคำนี้ (ซึ่งมีความหมายว่า “ของฉัน”) ไม่มีความหมายพิเศษเหมือนแต่ก่อน
ภาษาฮีบรู: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ผู้เขียนพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ฮีบรู” เพื่อหมายถึงภาษาที่ชาวยิวพูดกัน (ยน 19:13, 17, 20; กจ 21:40; 22:2; วว 9:11; 16:16) และเป็นภาษาที่พระเยซูพูดกับเซาโลที่มาจากเมืองทาร์ซัสหลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตายและกลับไปสวรรค์แล้ว (กจ 26:14, 15) และที่ กจ 6:1 ก็พูดถึงสาวก 2 กลุ่มคือ “สาวกที่พูดภาษาฮีบรู” และ “สาวกที่พูดภาษากรีก” ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์บางคนบอกว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ควรใช้คำว่า “ภาษาอาราเมอิก” ไม่ใช่ “ภาษาฮีบรู” แต่มีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่าการใช้คำว่า “ภาษาฮีบรู” ถูกต้องกว่า ครั้งหนึ่งลูกาบอกว่าเปาโลพูดกับชาวกรุงเยรูซาเล็ม “เป็นภาษาฮีบรู” เพราะตอนนั้นเปาโลกำลังพูดกับคนที่ศึกษากฎหมายของโมเสสที่เขียนเป็นภาษาฮีบรู นอกจากนั้น เมื่อสำรวจชิ้นส่วนและเอกสารในม้วนหนังสือทะเลตายทั้งส่วนที่เป็นพระคัมภีร์และไม่ใช่พระคัมภีร์ที่เขียนในภาษาฮีบรูก็พบว่า เอกสารเหล่านั้นส่วนใหญ่เขียนในภาษาฮีบรู แสดงว่าภาษาฮีบรูเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น เอกสารเหล่านั้นบางส่วนก็เขียนในภาษาอาราเมอิกด้วย แสดงว่าในตอนนั้นมีการใช้ทั้งภาษาฮีบรูและอาราเมอิก ดังนั้น ถ้าผู้เขียนพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ภาษาฮีบรู” เขาก็ไม่น่าจะหมายถึงภาษาอาราเมอิกหรือภาษาซีเรีย (กจ 21:40; 22:2; เทียบกับ กจ 26:14) พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ 2พก 18:26 ก็พูดถึงทั้ง “ภาษาอาราเมอิก” และ “ภาษาของชาวยิว” ซึ่งโยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรกคิดว่าข้อคัมภีร์นี้พูดถึง 2 ภาษาที่แตกต่างกัน คือภาษาอาราเมอิกและภาษาฮีบรู (Jewish Antiquities, X, 8 [i, 2]) จริงอยู่ที่บางคำในภาษาอาราเมอิกและฮีบรูมีความคล้ายคลึงกันและมีบางคำในภาษาฮีบรูเอามาจากภาษาอาราเมอิก แต่ดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกจะใช้คำว่าภาษาฮีบรูเพื่อหมายถึงภาษาอาราเมอิก
อย่ารั้งผมไว้เลย: คำกริยากรีก ฮาพทอไม อาจแปลว่า “แตะต้อง” หรือ “รั้ง, หน่วงเหนี่ยว” พระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “อย่าแตะต้องผม” แต่ที่จริงพระเยซูไม่ได้ห้ามมารีย์มักดาลาจับตัวท่าน เพราะท่านไม่ได้ห้ามผู้หญิงคนอื่นที่ “จับเท้าท่าน” ตอนที่พวกเธอเห็นท่านหลังจากถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย (มธ 28:9) ดูเหมือนว่ามารีย์มักดาลากลัวว่าพระเยซูกำลังจะกลับขึ้นไปสวรรค์และเธออยากจะอยู่กับนายของเธอ เลยทำให้เธอรั้งพระเยซูไว้ไม่ให้ท่านไป แต่พระเยซูก็ทำให้เธอมั่นใจว่าท่านยังไม่ไปไหน โดยบอกว่าอย่ารั้งท่านไว้เลย แต่ให้ไปหาพวกสาวกและบอกข่าวเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน
พระเจ้าของผมซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ: บทสนทนาที่พระเยซูคุยกับมารีย์มักดาลาในวันที่ 16 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 แสดงให้เห็นว่าพระเยซูที่ฟื้นขึ้นจากตายแล้วมองพ่อของท่านว่าเป็นพระเจ้า เหมือนที่พระองค์เป็นพระเจ้าของมารีย์มักดาลา ก่อนหน้านั้น 2 วันตอนที่พระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมาน ท่านร้องเสียงดังว่า “พระเจ้า พระเจ้าของผม” ซึ่งเป็นการทำให้คำพยากรณ์ที่ สด 22:1 เป็นจริงและเป็นการยอมรับว่าพ่อของท่านเป็นพระเจ้า (มธ 27:46; มก 15:34; ลก 23:46) ในหนังสือวิวรณ์ พระเยซูก็เรียกพ่อของท่านว่า “พระเจ้า” (วว 3:2, 12) ข้อคัมภีร์เหล่านี้ยืนยันว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นจากตายและได้สง่าราศีในสวรรค์แล้ว ท่านก็ยังนมัสการพ่อของท่านและมองว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเหมือนกับสาวกคนอื่น ๆ
พวกยิว: น่าจะหมายถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:1
พวกผู้นำชาวยิว: แปลตรงตัวว่า “ชาวยิว” ในหนังสือข่าวดีของยอห์น คำนี้ถ่ายทอดความหมายได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง คำนี้อาจหมายถึงคนยิวทั่วไป หมายถึงคนที่อยู่ในยูเดีย หรือคนที่อยู่ใกล้หรืออยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม นอกจากนั้น คำนี้ยังหมายถึงคนยิวที่ยึดติดกับธรรมเนียมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของโมเสส และธรรมเนียมเหล่านี้ก็มักจะไม่สอดคล้องกับแนวคิดในกฎหมายนั้น (มธ 15:3-6) ในกลุ่ม “ชาวยิว” เหล่านี้ พวกที่มีบทบาทสำคัญที่สุดก็คือพวกหัวหน้าศาสนาที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเยซู ดังนั้น ในข้อนี้และในอีกหลายข้อของหนังสือยอห์นบท 7 คำว่า “ชาวยิว” จึงหมายถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว—ยน 7:13, 15, 35ก—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยิว”
โธมัส: ชื่อกรีกนี้มาจากคำภาษาอาราเมอิกที่แปลว่า “แฝด” อัครสาวกโธมัสมีชื่อกรีกอีกชื่อหนึ่งว่า ดิดุโมส (พระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “ดิดุมัส”) ซึ่งก็แปลว่าแฝดเหมือนกัน
ดิดุโมส: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 11:16
นายของผมและพระเจ้าของผม!: นักวิชาการบางคนมองว่าวลีนี้เป็นคำอุทานด้วยความตื่นเต้นดีใจที่ถึงแม้จะพูดกับพระเยซู แต่จริง ๆ แล้วเป็นการพูดกับพระเจ้าพ่อของท่าน ส่วนคนอื่นอ้างว่าวลีนี้ในภาษากรีกเป็นข้อความที่พูดกับพระเยซู แต่เพื่อจะเข้าใจจุดมุ่งหมายของการใช้วลี “นายของผมและพระเจ้าของผม” เราน่าจะดูจากท้องเรื่องทั้งหมดของพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ เนื่องจากมีการบันทึกว่าก่อนหน้านี้พระเยซูส่งข่าวไปถึงสาวกของท่านว่า “ผมกำลังจะขึ้นไปหาพ่อของผมซึ่งเป็นพ่อของพวกคุณ และไปหาพระเจ้าของผม ซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ” จึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่า โธมัสคิดว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 20:17) นอกจากนั้น โธมัสเคยได้ยินพระเยซูอธิษฐานถึง “พ่อ” ของท่านโดยเรียกว่า “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว” (ยน 17:1-3) ดังนั้น ที่โธมัสเรียกพระเยซูว่า “พระเจ้าของผม” อาจเพราะเหตุผลต่อไปนี้ (1) เขามองว่าพระเยซูเป็น “พระเจ้าองค์หนึ่ง” แต่ไม่ใช่พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:1) หรือ (2) เขาอาจเรียกพระเยซูเหมือนที่ผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระเจ้าเรียกทูตสวรรค์ซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวของพระองค์ โธมัสน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลที่หลายคนรวมทั้งผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลพูดกับทูตสวรรค์ที่เป็นผู้ส่งข่าวของพระเจ้าเหมือนกับว่าพูดอยู่กับพระยะโฮวาพระเจ้า (เทียบกับ ปฐก 16:7-11, 13; 18:1-5, 22-33; 32:24-30; วนฉ 6:11-15; 13:20-22) ดังนั้น โธมัสอาจเรียกพระเยซูว่า “พระเจ้าของผม” เพื่อยอมรับว่าพระเยซูเป็นตัวแทนและเป็นโฆษกของพระเจ้าเที่ยงแท้
บางคนบอกว่าในภาษากรีก หน้าคำที่แปลว่า “นาย” และ “พระเจ้า” มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงซึ่งทำให้เข้าใจว่าคำนี้หมายถึงพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด แต่ที่จริงในท้องเรื่องนี้อาจใช้คำนำหน้านามแบบนี้เพื่อให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์กรีกเท่านั้น ดังนั้น คำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงอาจไม่ได้ช่วยให้รู้ชัดเจนว่าโธมัสคิดอย่างไรตอนที่พูดว่า “พระเจ้าของผม”
ท่านเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง: หรือ “มีลักษณะอย่างพระเจ้า [หรือ “เป็นอย่างพระเจ้า”]” ยอห์นกำลังอธิบายบุคลิกลักษณะของ “โฆษก” (คำกรีก ฮอ ลอกอส ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าโฆษกในข้อนี้) ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ เหตุผลหนึ่งที่มีการพูดถึงพระเยซูว่าเป็น “พระเจ้าองค์หนึ่ง” หรือ “มีลักษณะอย่างพระเจ้า” ก็เพราะท่านมีตำแหน่งสูงกว่าทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ ท่านเป็นลูกคนแรกของพระเจ้าที่พระองค์ใช้ให้สร้างทุกสิ่ง ผู้แปลหลายคนมักจะแปลว่า “พระวาทะ (โฆษก) เป็นพระเจ้า” ซึ่งทำให้พระเยซูเท่าเทียมกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด แต่มีเหตุผลหนักแน่นหลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่ายอห์นไม่ได้บอกว่า “โฆษก” นี้เป็นบุคคลเดียวกันกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด เช่น ข้อความทั้งข้างหน้าและข้างหลังของประโยค “ท่านเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง” บอกชัดว่า “โฆษก” ผู้นี้อยู่ “กับ พระเจ้า” นอกจากนั้น ใน ยน 1:1, 2 ใช้คำกรีก เธะออส รวม 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 1 และ 3 คำว่า เธะออส มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง แต่ครั้งที่ 2 ไม่มีคำนำหน้านาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่าการไม่มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงเป็นจุดที่น่าสังเกต เมื่อมีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง เธะออส จะหมายถึงพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด แต่ถ้าไม่มี เธะออส จะกลายเป็นคำที่อธิบายลักษณะของ “โฆษก” ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน จึงแปลข้อนี้คล้าย ๆ กับฉบับแปลโลกใหม่โดยถ่ายทอดแนวคิดที่ว่า “โฆษก (พระวาทะ) เป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง หรือมีลักษณะแบบพระเจ้า” ฉบับแปลเก่าแก่ภาษาซาฮิดิกกับภาษาโบไฮริกซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาคอปติกที่อาจทำขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 และ 4 ก็สนับสนุนความเห็นนี้ ฉบับแปลเหล่านี้แปลคำว่า เธะออส ที่ปรากฏครั้งแรกใน ยน 1:1 ต่างจากครั้งที่ 2 ในข้อเดียวกัน การแปลแบบนี้ทำให้เห็นชัดว่า “โฆษก” มีบุคลิกลักษณะคล้ายกับพระเจ้า แต่ไม่เท่าเทียมกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุดซึ่งเป็นพ่อของท่าน ทำให้ข้อนี้สอดคล้องกับ คส 2:9 ที่บอกว่าพระคริสต์ “แสดงคุณลักษณะของพระเจ้าได้อย่างครบถ้วน” และ 2ปต 1:4 บอกว่า แม้แต่คนที่ร่วมปกครองกับพระคริสต์ก็จะ “ได้รับสภาพอย่างพระเจ้า” นอกจากนั้น ในฉบับเซปตัวจินต์ คำกรีก เธะออส มักจะแปลจากคำว่า เอล และ เอโลฮิม ในภาษาฮีบรู ซึ่งมีความหมายว่า “พระเจ้า” และทั้งสองคำมีความหมายพื้นฐานว่า “ผู้มีพลังอำนาจ” หรือ “ผู้มีกำลังมาก” สองคำนี้เป็นคำที่ใช้กับพระเจ้าองค์สูงสุด กับพระอื่น ๆ หรือกับมนุษย์ทั่วไปก็ได้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 10:34) การเรียกโฆษกว่า “พระเจ้าองค์หนึ่ง” หรือ “ผู้มีพลังอำนาจ” ก็สอดคล้องกับคำพยากรณ์ใน อสย 9:6 ที่บอกล่วงหน้าว่าเมสสิยาห์จะถูกเรียกว่า “พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจ” (ไม่ใช่ “พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด”) และท่านจะเป็น “บิดาถาวร” ของทุกคนที่ได้เป็นประชาชนในรัฐบาลของท่าน พ่อของท่านซึ่งก็คือ “พระยะโฮวาผู้เป็นจอมทัพ” ตั้งใจจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ—อสย 9:7
พระเจ้าของผมซึ่งเป็นพระเจ้าของพวกคุณ: บทสนทนาที่พระเยซูคุยกับมารีย์มักดาลาในวันที่ 16 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 แสดงให้เห็นว่าพระเยซูที่ฟื้นขึ้นจากตายแล้วมองพ่อของท่านว่าเป็นพระเจ้า เหมือนที่พระองค์เป็นพระเจ้าของมารีย์มักดาลา ก่อนหน้านั้น 2 วันตอนที่พระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมาน ท่านร้องเสียงดังว่า “พระเจ้า พระเจ้าของผม” ซึ่งเป็นการทำให้คำพยากรณ์ที่ สด 22:1 เป็นจริงและเป็นการยอมรับว่าพ่อของท่านเป็นพระเจ้า (มธ 27:46; มก 15:34; ลก 23:46) ในหนังสือวิวรณ์ พระเยซูก็เรียกพ่อของท่านว่า “พระเจ้า” (วว 3:2, 12) ข้อคัมภีร์เหล่านี้ยืนยันว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ฟื้นขึ้นจากตายและได้สง่าราศีในสวรรค์แล้ว ท่านก็ยังนมัสการพ่อของท่านและมองว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเหมือนกับสาวกคนอื่น ๆ