ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

รับมือการสูญเสียคู่ชีวิต

รับมือการสูญเสียคู่ชีวิต

คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ให้สามี “รักภรรยาเหมือนรักตัวเอง” และภรรยา “ควรนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง.” ทั้งสองคนจะ “เป็นเนื้อหนังอันเดียวกัน.” (เอเฟ. 5:33 เย. 2:23, 24) เมื่อเวลาผ่านไปคู่สมรสก็ยิ่งรักกันมากขึ้นผูกพันกันมากขึ้น เหมือนกับต้นไม้สองต้นที่อยู่ข้างกันและรากพันกัน.

แต่ถ้าคู่สมรสตายไปจะเป็นอย่างไร? ความตายทำให้สายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมั่นคงของทั้งสองขาดสะบั้น. คนที่ยังอยู่มักรู้สึกโศกเศร้า เหงา บางครั้งถึงกับโกรธและโทษตัวเองด้วยซ้ำ. ดาเนียลลา ซึ่งแต่งงานมา 58 ปี * บอกหลังจากที่สามีตายว่า “เมื่อก่อนดิฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนที่สูญเสียคู่ชีวิตถึงเศร้าโศกเสียใจมากขนาดนั้น แต่พอเจอกับตัวเองถึงได้เข้าใจ.”

ความเจ็บปวดที่ดูเหมือนจะไม่มีวันหมดไป

นักวิจัยบางคนบอกว่าไม่มีอะไรที่ทำให้คนเราเครียดได้มากเท่ากับการสูญเสียคู่สมรส. หลายคนที่คู่สมรสเสียชีวิตเห็นด้วยกับเรื่องนี้. ตัวอย่างเช่น มิลลี กล่าวหลังจากที่เป็นม่ายมาหลายปีว่า “ดิฉันรู้สึกเหมือนเป็นคนพิการ.” นั่นคือความรู้สึกของเธอหลังจากสูญเสียสามีที่แต่งงานกันมานานถึง 25 ปี.

ซูซาน เคยคิดว่าคนที่สูญเสียคู่ชีวิตไม่น่าจะเป็นทุกข์โศกเศร้านานหลายปี เมื่อเวลาผ่านไปก็น่าจะดีขึ้น. แต่หลังจากที่เธอแต่งงานได้ 38 ปี สามีเธอเสียชีวิต. ตอนนี้ 20 ปีผ่านไป แล้ว เธอบอกว่า “ดิฉันยังคิดถึงสามีทุกวัน.” เธอมักจะร้องไห้ตอนที่คิดถึงสามีมากๆ.

พระคัมภีร์บอกว่าความเจ็บปวดจากการสูญเสียคู่ชีวิตเป็นเรื่องที่ทรมานใจและยืดเยื้อยาวนาน. เมื่อซาราห์ตาย อับราฮาม “ไว้ทุกข์ร้องไห้คร่ำครวญถึงนาง.” (เย. 23:1, 2) ทั้งที่อับราฮามเชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย แต่ท่านก็ยังโศกเศร้ามากเมื่อภรรยาที่รักตาย. (ฮีบรู 11:17-19) หลังจากราเฮ็ลภรรยาที่รักของยาโคบตาย ท่านก็ยังคิดถึงนางอยู่เสมอ และพูดถึงเรื่องของนางให้ลูกฟัง.—เย. 44:27; 48:7

เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวเหล่านี้ในพระคัมภีร์? คนที่สูญเสียคู่ชีวิตมักเป็นทุกข์โศกเศร้านานหลายปี. เราไม่ควรคิดว่าที่เขาร้องไห้และโศกเศร้านั้นเป็นเพราะเขาอ่อนแอหรือไม่เข้มแข็ง. ความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่สูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต. พวกเขาอาจต้องได้รับความช่วยเหลือและการปลอบโยนเป็นเวลานาน.

รับมือเป็นวันไป

เมื่อคนเราสูญเสียคู่ชีวิต เขาไม่ใช่แค่กลับไปใช้ชีวิตเหมือนตอนที่เคยเป็นโสด. หลังจากที่แต่งงานกันมานานหลายปี ปกติแล้วสามีรู้ว่าเขาจะปลอบโยนภรรยาอย่างไรตอนที่เธอเศร้าหรือตอนที่เธอว้าวุ่นใจ. พอสามีจากไป ความรักความห่วงใยที่ภรรยาเคยได้รับก็หมดไปด้วย. คล้ายกัน ภรรยาก็รู้ว่าจะทำอย่างไรให้สามีรู้สึกมั่นใจและมีความสุข. ไม่มีอะไรจะสามารถทดแทนสิ่งที่ภรรยาเคยทำ เช่น สัมผัสที่อ่อนโยน คำพูดที่ให้กำลังใจ และความสนใจในเรื่องที่สามีสนใจหรือในเรื่องที่เขาจำเป็นต้องได้รับ. ถ้าภรรยาตาย สามีอาจรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า. เพราะเหตุนี้ หลายคนที่สูญเสียคู่ชีวิตจึงวิตกกังวลหรือถึงกับกลัวว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป. หลักการอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่จะช่วยคนที่สูญเสียคู่ชีวิตให้รู้สึกมั่นใจและสงบใจได้?

“อย่าวิตกกังวลกับพรุ่งนี้เลย เพราะว่าพรุ่งนี้ก็จะมีความวิตกกังวลของพรุ่งนี้. แต่ละวันมีความทุกข์พออยู่แล้ว.” (มัด. 6:34) พระเยซูกล่าวถึงความกังวลในเรื่องสิ่งจำเป็นต่างในชีวิต แต่คำแนะนำนี้ได้ช่วยหลายคนที่สูญเสียคู่สมรสให้อดทนกับความทุกข์โศกเศร้าได้. ชาลส์ ซึ่งภรรยาตายไปหลายเดือนแล้วบอกว่า “ผมยังคิดถึงโมนิกมาก และบางครั้งความรู้สึกคิดถึงดูเหมือนว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ. แต่ผมรู้ว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาและในที่สุด ความรู้สึกนี้ก็จะลดน้อยลง.”

ชาลส์ยังรู้สึกโศกเศร้าอยู่. เขาทำอย่างไร? เขาบอกว่า “ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ผมรับมือเป็นวันไป.” ชาลส์ไม่ยอมให้ความโศกเศร้าครอบงำเขาจนไม่มีแรงที่จะทำอะไร. ความเจ็บปวดไม่ได้หมดไปเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็ไม่รุนแรงจนถึงกับรับมือไม่ไหว. ถ้าคุณสูญเสียคู่ชีวิต ขอให้พยายามรับมือความโศกเศร้าเจ็บปวดเป็นวันไป. เมื่อถึงพรุ่งนี้ คุณอาจได้รับความช่วยเหลือหรือการหนุนใจที่จำเป็น.

เมื่อพระยะโฮวาสร้างมนุษย์ พระองค์ไม่ประสงค์ให้คนเราตาย. แต่ความตายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การงานของพญามาร.’ (1 โย. 3:8; โรม 6:23) ซาตานใช้ความตายและการกลัวความตายครอบงำผู้คนให้ตกเป็นทาส. (ฮีบรู 2:14, 15) ซาตานชอบเมื่อเห็นคนเราสิ้นหวัง ไม่มีความสุขความยินดีอย่าง แท้จริงในชีวิต หรือถึงกับเลิกคิดถึงความหวังที่จะอยู่ในโลกใหม่ของพระเจ้า. ความทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียคู่ชีวิตเป็นผลมาจากบาปของอาดามและการกบฏของซาตาน. (โรม 5:12) พระยะโฮวาจะขจัดผลเสียหายทั้งหมดที่ซาตานทำให้เกิดขึ้น รวมถึงความตายที่เหมือนกับอาวุธอันร้ายกาจที่ซาตานใช้ด้วย. มนุษย์เรา รวมทั้งคนที่สูญเสียคู่ชีวิตด้วย จะไม่ต้องกลัวความตายอีกต่อไป.

สำหรับคนที่จะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย ชีวิตในโลกใหม่จะมีบางอย่างที่เปลี่ยนไป. ความสัมพันธ์ของผู้คนจะไม่เหมือนกับในตอนนี้. ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษคนอื่นที่จะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายจะค่อยเปลี่ยนเป็นมนุษย์สมบูรณ์ไปพร้อมกับลูกหลานของพวกเขา. เราจะไม่เห็นคนแก่หรือปัญหาที่เกิดจากความแก่ชราอีกต่อไป. คนรุ่นหลังอาจมองบรรพบุรุษของตนต่างจากในเวลานี้มาก. การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวมนุษย์ดีขึ้น.

เราอาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับคนที่จะเป็นขึ้นจากตาย เช่น คนที่สูญเสียคู่ชีวิตสองคนหรือมากกว่านั้นจะเป็นอย่างไร? พวกซาดูกายเคยถามพระเยซูเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่สามีคนแรกตาย คนที่สองตาย และจนถึงคนที่ห้าก็ตายอีก. (ลูกา 20:27-33) ความสัมพันธ์ของพวกเขากับทุกคนที่เคยเป็นคู่สมรสจะเป็นอย่างไรเมื่อกลับเป็นขึ้นจากตาย? เรายังไม่รู้คำตอบ และไม่มีประโยชน์ที่เราจะคาดเดาหรือกังวลเกี่ยว กับเรื่องนี้. ที่สำคัญในตอนนี้ก็คือ เราต้องไว้วางใจพระเจ้า. เรามั่นใจได้ว่าไม่ว่าพระยะโฮวาจะทำอะไรในอนาคตจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่เราอยากเห็น และไม่มีอะไรที่เราต้องกลัว.

การกลับเป็นขึ้นจากตายเป็นความหวังที่ปลอบโยนเรา

คำสอนที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งในพระคำของพระเจ้าคือคำสอนเรื่องคนที่เรารักซึ่งตายไปจะกลับมามีชีวิตอีก. เรื่องราวที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เรามั่นใจว่า “ทุกคนซึ่งอยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยิน [พระเยซู] และออกมา.” (โย. 5:28, 29) ผู้คนในเวลานั้นจะมีความสุขความยินดีอย่างมากเมื่อพวกเขาได้พบกับคนที่เขารักอีก. และเราคงนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาจะมีความสุขขนาดไหน.

เมื่อหลายพันล้านคนถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย คนที่อยู่บนแผ่นดินโลกจะมีความสุขความยินดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน. (มโก. 5:39-42; วิ. 20:13) การนึกภาพถึงสิ่งมหัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตน่าจะช่วยปลอบโยนทุกคนที่สูญเสียคนที่รัก.

เมื่อถึงเวลาที่มีการปลุกคนให้กลับเป็นขึ้นจากตาย ยังจะมีใครโศกเศร้าเสียใจอีกไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่. ยะซายา 25:8 บอกเราว่า พระยะโฮวา “จะทรงทำลายความตายให้สาบสูญ.” แน่นอน ความโศกเศร้าเสียใจก็จะหมดไปด้วย. คำพยากรณ์ในยะซายายังบอกด้วยว่า “พระยะโฮวาจะทรงเช็ดน้ำตาจากหน้าของคนทั่วไป.” เมื่อคนตายถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาหมดแล้ว คุณจะลืมความทุกข์โศกเศร้าใดที่เคยมีเนื่องจากการเสียชีวิตของสามีหรือภรรยา.

เราไม่รู้ทั้งหมดว่าพระเจ้าจะทำอะไรบ้างในโลกใหม่. พระยะโฮวาบอกว่า “ท้องฟ้าสูงกว่าแผ่นดินโลกฉันใด, ทางของเราก็สูงกว่าทางของเจ้า, และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าฉันนั้น.” (ยซา. 55:9) ถ้าเราเชื่อมั่นในคำสัญญาของพระเยซูเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายก็แสดงว่าเราไว้วางใจพระยะโฮวาเช่นเดียวกับอับราฮาม. สิ่งสำคัญสำหรับคริสเตียนทุกคนในตอนนี้คือทำสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ แล้วเราจะเป็นผู้ที่คู่ควรจะอยู่ในโลกใหม่ และได้อยู่กับคนที่เรารักที่จะกลับเป็นขึ้นจากตาย.—ลูกา 20:35

 มีเหตุผลที่จะหวัง

ถ้าคุณคิดถึงความหวังอันยอดเยี่ยมนี้อยู่เสมอ คุณก็จะไม่วิตกกังวลเกินไปเกี่ยวกับอนาคต. คนส่วนใหญ่แทบไม่มีความหวังอะไรสำหรับอนาคต. แต่พระยะโฮวาสัญญาสิ่งที่ดีกว่า. ถึงแม้ว่าเราไม่รู้แน่ชัดทั้งหมดว่าพระองค์จะทำอะไร แต่เรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะให้ทุกสิ่งที่เราต้องการและจำเป็นต้องได้รับ. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ความหวังที่เห็นแล้วก็ไม่ใช่ความหวัง เพราะเมื่อคนเราเห็นสิ่งหนึ่งแล้ว เขายังหวังจะเห็นสิ่งนั้นหรือ? แต่ถ้าเราหวังในสิ่งที่เรายังไม่เห็น เราจะคอยท่าสิ่งนั้นต่อไปด้วยความเพียรอดทน.” (โรม 8:24, 25) ความหวังที่มั่นคงในคำสัญญาของพระเจ้าจะช่วยคุณให้รับมือได้เมื่อสูญเสียคู่ชีวิต. ถ้าคุณอดทนได้ในตอนนี้ คุณจะมีอนาคตที่ยอดเยี่ยมเมื่อถึงเวลาที่พระยะโฮวาจะ “ประทานให้ตามที่ใจปรารถนา.” พระองค์จะ “ประทานแก่สรรพสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ให้อิ่มตามความประสงค์.”—เพลง. 37:4; 145:16; ลูกา 21:19

เมื่อใกล้ถึงเวลาที่พระเยซูจะสิ้นชีวิต อัครสาวกของพระองค์รู้สึกทุกข์ใจ กลัว และว้าวุ่นใจ. พระเยซูปลอบใจพวกเขาโดยบอกว่า “อย่าทุกข์ใจไปเลย. จงแสดงความเชื่อในพระเจ้า และจงแสดงความเชื่อในเราด้วย.” พระองค์บอกพวกเขาว่า “เราจะไม่ทิ้งพวกเจ้าไว้ให้อยู่ตามลำพัง. เราจะมาหาพวกเจ้า.” (โย. 14:1-4, 18, 27) คำพูดของพระเยซูได้ช่วยสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์ทั้งในศตวรรษแรกและในทุกวันนี้ให้มีเหตุผลที่จะหวังและช่วยพวกเขาให้อดทน. คนที่อยากจะเห็นคนที่พวกเขารักกลับเป็นขึ้นจากตายก็มีเหตุผลที่จะหวังเหมือนกัน. พระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์จะไม่ทิ้งคุณไว้ตามลำพัง. คนที่ตายจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาอย่างแน่นอน. ในไม่ช้า คุณจะได้อยู่กับคนที่คุณรักอีกครั้งหนึ่ง.

^ วรรค 3 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.