ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณมองพี่น้องที่อ่อนแอเหมือนพระยะโฮวามองไหม?

คุณมองพี่น้องที่อ่อนแอเหมือนพระยะโฮวามองไหม?

“อวัยวะในร่างกายที่ดูเหมือนอ่อนแอกว่ากลับเป็นอวัยวะที่ยิ่งจำเป็นต้องมี”—1 โค. 12:22

1, 2. ทำไมเปาโลเข้าใจคนที่อ่อนแอ?

เราทุกคนรู้สึกอ่อนแอในบางครั้ง บางวันเราอาจรู้สึกไม่ดี หมดแรงและไม่อยากจะทำอะไร ลองคิดดูสิว่า ถ้าความรู้สึกแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ช่วงสั้น ๆ แต่ยืดเยื้อยาวนาน เราอยากให้คนอื่นมองเราอย่างไร? เราคงอยากให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกของเราและเห็นอกเห็นใจเรา

2 บางครั้ง อัครสาวกเปาโลก็รู้สึกอ่อนแอเนื่องจากปัญหาและความกดดันจากทั้งภายนอกและภายในประชาคมจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดด้วยซ้ำ (2 โค. 1:8; 7:5) เพราะเปาโลเคยเจอกับตัวเองมาแล้วเขาจึงเข้าใจว่าคนที่อ่อนแอรู้สึกอย่างไร เขาบอกว่า “มีใครที่อ่อนแอแล้วข้าพเจ้าไม่อ่อนแอด้วย?” (2 โค. 11:29) เมื่อเปาโลพูดถึงพี่น้องแต่ละคนในประชาคมว่าเป็นเหมือนอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เขาพูดถึงพี่น้องบางคนที่ ‘ดูเหมือนเป็นอวัยวะที่อ่อนแอกว่าแต่กลับเป็นอวัยวะที่ยิ่งจำเป็นต้องมี’ (1 โค. 12:22) เปาโลหมายถึงอะไร? พระ ยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับคนที่ดูเหมือนอ่อนแอ? เราจะมองพี่น้องเหมือนพระยะโฮวามองได้อย่างไร? และการทำแบบนี้จะเกิดผลดีต่อตัวเราอย่างไร?

พระยะโฮวามองคนอ่อนแออย่างไร?

3. ทำไมเราอาจมองพี่น้องในแง่ลบ?

3 ในสมัยนี้คนส่วนใหญ่ชอบเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า พวกเขาคิดว่าคนที่ยังหนุ่มแน่นและมีกำลังมากเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จได้ ความคิดแบบโลกอาจมีผลต่อเราเหมือนกัน เราอาจเริ่มมองพี่น้องที่มักมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือในแง่ลบ เราจะมองพี่น้องแต่ละคนในประชาคมเหมือนที่พระยะโฮวามองได้อย่างไร?

4, 5. (ก) ใน 1 โครินท์บท 12 เปาโลยกตัวอย่างอะไร และตัวอย่างนี้สอนให้รู้ว่าพระยะโฮวามองเราทุกคนอย่างไร? (ข) เราได้ประโยชน์อะไรเมื่อช่วยคนที่อ่อนแอ?

4 พระยะโฮวามองว่าพี่น้องทุกคนในประชาคมเป็นคนสำคัญ จากจดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินท์ ในบทที่ 12 เปาโลเตือนเราว่าอวัยวะทุกส่วนของร่างกายสำคัญแม้อวัยวะนั้นจะเป็นส่วนที่อ่อนแอที่สุดก็ตาม (อ่าน 1 โครินท์ 12:12, 18, 21-23) บางคนที่เชื่อเรื่องวิวัฒนาการบอกว่าในร่างกายของเรามีอวัยวะบางส่วนที่ไม่จำเป็น * ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้บางคนคิดว่านิ้วก้อยที่เท้าของเราดูเหมือนไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายคนพบว่านิ้วก้อยนั้นช่วยให้เราทรงตัวและยืนได้มั่นคง

5 เปาโลยกตัวอย่างเรื่องอวัยวะในร่างกายเพื่อช่วยให้เข้าใจว่าทุกคนในประชาคมเป็นคนสำคัญ ซาตานต้องการให้เราเชื่อว่าเราไม่มีค่า แต่สำหรับพระยะโฮวาแล้วพระองค์มองผู้รับใช้ทุกคนว่าสำคัญและเป็นเหมือนอวัยวะที่ “จำเป็นต้องมี” แม้แต่คนที่ดูเหมือนว่าอ่อนแอกว่า (โยบ 4:18, 19) เรามั่นใจได้ว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีค่าในประชาคมและในสังคมพี่น้องทั่วโลก เช่น เมื่อคิดถึงเวลาที่เราได้ช่วยพี่น้องสูงอายุในประชาคม แน่นอนพวกเขาได้ประโยชน์จากความช่วยเหลือของเรา แต่เราได้รับประโยชน์จากการช่วยพวกเขาไหม? เราได้ประโยชน์ด้วย เมื่อเราช่วยคนอื่นเราก็มีความสุขมากขึ้น บางครั้งเราได้ฝึกความอดทน เรารักพี่น้องมากขึ้นและพัฒนานิสัยที่ดีแบบคริสเตียนด้วย (เอเฟ. 4:15, 16) พระยะโฮวาอยากให้เรามองพี่น้องทุกคนว่าเป็นคนสำคัญแม้ว่าคนนั้นดูเหมือนอ่อนแอก็ตาม ถ้าเราคิดแบบนี้เสมอ เราจะไม่คาดหมายจากคนอื่นมากเกินไปและเราจะมีส่วนทำให้พี่น้องในประชาคมรักกันมากขึ้น

6. เมื่อพูดถึงบางคนในประชาคมว่า “อ่อนแอ” และ “เข้มแข็ง” เปาโลหมายถึงอะไร?

6 เมื่อพูดถึงบางคนในประชาคม บางครั้งเปาโลใช้คำว่า “อ่อนแอ” และ “คนที่อ่อนแอ” เพียงเพื่อทำให้เห็นว่าคนที่ไม่มีความเชื่อมองพี่น้องว่าอ่อนแอ แต่เปาโลเองไม่ได้บอกว่าคริสเตียนบางคนแย่กว่าคนอื่น เพราะบางครั้งเปาโลก็ยังมองตัวเองว่าอ่อนแอด้วยซ้ำ (1 โค. 1:26, 27; 2:3) เมื่อเปาโลพูดถึงพี่น้องบางคนว่า “เข้มแข็ง” ก็ไม่ได้หมายความว่าพี่น้องเหล่านั้นดีกว่าคนอื่น (โรม 15:1) เปาโลเพียงแต่บอกว่าพี่น้องที่มีประสบการณ์มากกว่าควรอดทนและคอยช่วยคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า

เราต้องเปลี่ยนวิธีที่เรามองคนอื่นไหม?

7. ทำไมบางครั้งไม่ง่ายที่เราจะช่วยคนอ่อนแอ?

7 พระยะโฮวาคอยช่วยคนที่อ่อนแอ และพระองค์ชื่น ใจเมื่อเห็นเราเลียนแบบพระองค์ (เพลง. 41:1; เอเฟ. 5:1) แต่เราต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ไม่ง่ายที่จะทำอย่างนี้ ทำไม? บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าพี่น้องก็ควรรับผิดชอบปัญหาของเขาเอง หรือเราอาจเลี่ยงไม่คุยกับพวกเขาเพราะเราไม่รู้ว่าจะให้กำลังใจพวกเขาอย่างไร ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องหญิงที่ชื่อซินเทีย * เธอต้องการความช่วยเหลือเพราะถูกสามีทิ้ง เธอบอกว่า “ถ้าพี่น้องหลบเลี่ยงไม่คุยกับฉันและทำตัวเหมือนคนไม่รู้จักกันฉันคงแย่แน่ ๆ เมื่อเรากำลังมีปัญหาเราอยากให้มีคนอยู่ใกล้ ๆ” ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ดาวิดก็เคยรู้สึกเสียใจเมื่อเพื่อนหลบเลี่ยงไม่คุยกับเขา—เพลง. 31:12

8. อะไรจะช่วยเราให้เข้าใจสภาพการณ์ของพี่น้อง?

8 อะไรจะช่วยเราให้เข้าใจสภาพการณ์ของคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น? เราต้องจำไว้เสมอว่า มีหลายคนในตอนนี้กำลังทนทุกข์จากปัญหาสุขภาพ เขาอาจซึมเศร้าเรื้อรัง หรือถูกกดดันจากครอบครัวที่ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา ถ้าเราต้องตกอยู่ในสภาพการณ์แบบนี้เราคงอยากให้คนอื่นเห็นอกเห็นใจเรา ลองคิดถึงตัวอย่างของชาวอิสราเอลก่อนเข้าแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา พวกเขาเคยทนทุกข์อย่างมากในอียิปต์ พระยะโฮวาเลยเตือนพวกเขาไม่ให้เป็นคนใจแข็ง แต่ให้พร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้องที่ยากจนและอ่อนแอ—เลวี. 25:35-38; บัญ. 15:7, 11

9. เมื่อพี่น้องของเรารู้สึกอ่อนแอ สิ่งแรกที่เราควรทำคืออะไร?

9 ถ้าพี่น้องมีปัญหา เราต้องไม่บ่นต่อว่าเขาทันทีหรือคิดว่าตัวเราดีกว่าเขา แทนที่จะคิดอย่างนั้น เราอยากช่วยพี่น้องในเวลาที่เขาอ่อนแอ (โยบ 33:6, 7; มัด. 7:1) ลองคิดถึงตัวอย่างนี้ ถ้าคนหนึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการขี่มอเตอร์ไซค์ เขาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล พอถึงที่นั่นหมอและพยาบาลคงไม่เสียเวลามาซักไซ้ไล่เลียงว่าใครถูกใครผิด แต่พวกเขาคงพยายามรักษาคนเจ็บก่อน พวกเราก็เหมือนกัน เมื่อพี่น้องของเรารู้สึกอ่อนแอ แทนที่จะบ่นว่าเขา สิ่งแรกที่เราควรทำก็คือช่วยเขาให้กลับมาใกล้ชิดพระเจ้าเหมือนเมื่อก่อน—อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:14

10. ทำไมบางคน “มั่งมีเพราะความเชื่อ” ทั้ง ๆ ที่ดูอ่อนแอ?

10 บางคนในประชาคมอาจดูอ่อนแอในความเชื่อแต่เมื่อเราคิดถึงสภาพการณ์ในชีวิตของเขา พวกเขาอาจไม่ได้อ่อนแออย่างที่เราคิด ตัวอย่างเช่น ลองคิดดูว่ามันยากแค่ไหนที่พี่น้องหญิงบางคนต้องอยู่กับสามีที่ไม่ได้เป็นพยานหรือแม่ม่ายที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังแต่ยังพยายามมาประชุมสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังมีพี่น้องวัยรุ่นหลายคนที่เจอความกดดันในโรงเรียนให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พี่น้องเหล่านี้ทั้งหมดภักดีและมีรักแท้ต่อพระยะโฮวา ดังนั้น ถ้าเราคิดถึงทุกสิ่งที่พวกเขาได้ทำเพื่อรับใช้พระยะโฮวาจะช่วยเราให้มองพวกเขาว่า “มั่งมีเพราะความเชื่อ” แม้พวกเขาดูเหมือนอ่อนแอก็ตาม—ยโก. 2:5

มองเขาเหมือนพระยะโฮวามอง

11, 12. (ก) เราควรมองพี่น้องที่ทำผิดอย่างไร? (ข) ทำไมพระยะโฮวาให้อภัยอาโรน และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

11 เราต้องมองพี่น้องของเราเหมือนพระยะโฮวามองแม้ว่าพวกเขาทำผิดอยู่บ้าง ขอเราดูตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อช่วยเราให้รู้ว่าพระยะโฮวามองคนที่อ่อนแออย่างไร (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 130:3) ลองนึกดูว่าถ้าเราอยู่กับโมเซเราจะรู้สึกอย่างไรตอนที่ฟังอาโรนแก้ตัวต่าง ๆ นานาเรื่องการทำลูกวัวทองคำ (เอ็ก. 32: 21-24) และเราจะรู้สึกอย่างไรถ้าเห็นอาโรนโดนมิระยามเป่าหูแล้วก็มาบ่นต่อว่าโมเซผู้นำของเขาเรื่องที่ไปแต่งงานกับหญิงต่างชาติ (อาฤ. 12:1, 2) หรือเราจะรู้สึกอย่างไรที่เห็นอาโรนกับโมเซไม่ได้ให้เกียรติพระเจ้าตอนที่พระองค์ให้เขาตีหินเพื่อเอาน้ำให้ชาวอิสราเอลดื่มอย่างอัศจรรย์—อาฤ. 20:10-13

12 เราอาจคิดว่าพระยะโฮวาน่าจะลงโทษอาโรนเมื่อคิดถึงความผิดทั้งหมดทั้งมวลที่เขาทำ พระยะโฮวารู้ว่าถึงแม้อาโรนอ่อนแอแต่เขาก็ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร อาโรนทำผิดเพราะถูกกดดันจากคนรอบข้างและฟังคนผิด นอกจากนั้น อาโรนเต็มใจยอมรับผิดและยอมให้พระยะโฮวาสอนเขา (เอ็ก. 32:26; อาฤ. 12:11; 20:23-27) อาโรนรักพระเจ้า เขาสำนึกผิดและกลับใจ พระยะโฮวาจึงให้อภัยเขา หลายปีหลังจากนั้น อาโรนและครอบครัวของเขาก็ยังเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา—เพลง. 115:10-12; 135:19, 20

13. เราจะเปลี่ยนความคิดที่อาจมีต่อพี่น้องของเราอย่างไร? ขอยกตัวอย่าง

13 จากตัวอย่างของอาโรน ถ้าพี่น้องของคุณทำผิดคุณควรมองเขาอย่างไร? คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดไหม? (1 ซามู. 16:7) เช่น ถ้ามีวัยรุ่นคนหนึ่งในประชาคมที่ทำตัวไม่ค่อยน่ารักอาจเป็นเพราะเขาดูความบันเทิงที่ไม่ดี แทนที่คุณจะด่วนสรุปว่าวัยรุ่นคนนั้นเป็นคนไม่ดี ก่อนอื่น ต้องคิดว่าคุณจะช่วยเขาอย่างไร คุณต้องค่อย ๆ สอนเขาให้รู้ว่าจะเลือกความบันเทิงที่ดีได้อย่างไร การทำแบบนี้จะทำให้คุณอดทนและรักเขามากขึ้น

14, 15. (ก) พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเมื่อเอลียาห์กลัว? (ข) เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระยะโฮวาช่วยเอลียาห์?

14 พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับคนที่ซึมเศร้าและสิ้น หวัง? ขอเราดูว่าพระองค์เคยช่วยเอลียาห์ผู้รับใช้ที่สิ้นหวังอย่างไร ตอนนั้น มีเอลียาห์เพียงคนเดียวที่เป็นผู้ส่งข่าวของพระเจ้า เขากล้าเผชิญหน้ากับเหล่าผู้ทำนาย 450 คนของบาอัล แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งราชินีอีซาเบลขู่จะฆ่าเอลียาห์ พอรู้อย่างนั้นเขาก็กลัวมากถึงกับวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนไปที่เบเออร์-เชบาซึ่งไกลออกไปถึง 150 กิโลเมตร และเข้าไปในป่าด้วยความเหนื่อยล้าทั้งกลัวและสิ้นหวังจนถึงกับอยากตาย—1 กษัต. 18:19; 19:1-4

15 พระยะโฮวาทำอะไรเมื่อเห็นเอลียาห์ที่ทั้งกลัวและสิ้นหวัง พระองค์ทิ้งเอลียาห์ไหม? ไม่เลย พระยะโฮวาส่งทูตสวรรค์ไปช่วยเขา มีถึงสองครั้งที่ทูตสวรรค์เอาอาหารไปให้เอลียาห์กินเพื่อเขาจะมีเรี่ยวแรงและเดินทางต่อไปได้ (อ่าน 1 กษัตริย์ 19:5-8) นอกจากนั้น ก่อนให้คำแนะนำ พระยะโฮวาฟังเอลียาห์แล้วค่อยช่วยเหลือเขาตามที่เขาจำเป็นต้องได้รับ

16, 17. เราจะช่วยพี่น้องเหมือนที่พระยะโฮวาช่วยเอลียาห์ได้อย่างไร?

16 เราจะช่วยพี่น้องคนอื่นเหมือนที่พระยะโฮวาช่วยเอลียาห์ได้อย่างไร? อย่ารีบแนะนำพี่น้องว่าเขาควรทำอะไร (สุภา. 18:13) เมื่อพี่น้องซึมเศร้าและรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ก่อนอื่นคุณควรฟังและสนใจเขา (1 โค. 12:23) การทำอย่างนี้จะทำให้รู้ว่าคุณควรช่วยเหลือเขาอย่างไร

17 ขอให้คิดถึงเรื่องของซินเทียตอนที่ถูกสามีทิ้ง เธอกับลูกสาวสองคนคิดว่าไม่เหลือใครอีกแล้ว พี่น้องในประชาคมช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร? ซินเทียบอกว่า “พี่น้องมาถึงบ้านเราภายใน 45 นาที พวกเขาร้องไห้กับฉัน และในสองสามวันแรกพวกเขาไม่ปล่อยให้ฉันอยู่คนเดียวเลย” ในตอนนั้น ซินเทียและลูก ๆ รู้สึกหมดแรงและหดหู่ แต่พี่น้องก็ชวนพวกเขาไปพักที่บ้านและทำอาหารให้กิน เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่พระคัมภีร์บอกไว้ในหนังสือยาโกโบว่า “ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดไม่มีเสื้อผ้าและอาหารเพียงพอในแต่ละวัน แล้วพวกท่านคนหนึ่งบอกเขาว่า ‘จงไปอย่างมีความสุข ขอให้ร่างกายอบอุ่นและอิ่มหนำเถิด’ แต่ไม่ได้ให้สิ่งจำเป็นแก่เขา จะมีประโยชน์อะไรเล่า? ทำนองเดียวกัน ความเชื่อแบบที่ไม่มีการทำตามก็เป็นความเชื่อที่ตายแล้ว” (ยโก. 2:15-17) ซินเทียและลูก ๆ ของเธอได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นจริง ๆ ในตอนนั้น หลังจากนั้นเพียงหกเดือนพวกเขาเข้มแข็งพอที่จะเป็นไพโอเนียร์สมทบได้—2 โค. 12:10

ประโยชน์หลายอย่าง

18, 19. (ก) เราจะช่วยคนที่อ่อนแออย่างไร? (ข) ใครได้รับประโยชน์บ้างเมื่อเราช่วยคนที่อ่อนแอ?

18 เมื่อเราเจ็บป่วยมานานเราอาจต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัวได้ เมื่อพี่น้องของเราทำผิดหรือต้องเจอปัญหาหนักในชีวิตพวกเขาก็ต้องใช้เวลาเพื่อจะฟื้นตัวเหมือนกัน แน่นอน เพื่อจะเข้มแข็งขึ้นพวกเขาต้องอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำ อธิษฐานถึงพระยะโฮวา และเข้าร่วมประชุม แต่สิ่งที่สำคัญด้วยก็คือ พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา ดังนั้น ช่วงที่พี่น้องกำลังฟื้นตัวเราต้องอดทนกับเขา แสดงให้เขาเห็นเสมอว่าเรารักเขาและให้เขารู้ว่าเขาเป็นส่วนสำคัญของประชาคม—2 โค. 8:8

19 การช่วยคนอื่นทำให้เรามีความสุขมาก และเรายังได้ฝึกความอดทนและได้เรียนที่จะเห็นอกเห็นใจพวกเขา แต่ไม่ใช่เราเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ พี่น้องในประชาคมของเราก็จะรักกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเรา “ช่วยคนที่อ่อนแอ” เราก็กำลังเลียนแบบพระยะโฮวาพ่อที่รักเราและมองว่าเราทุกคนมีค่า—กิจ. 20:35

^ วรรค 4 หนังสือเชื้อสายของมนุษย์ (ภาษาอังกฤษ) ที่เขียนโดยชาลส์ ดาร์วินบอกว่า อวัยวะหลายส่วนในร่างกายของเราไม่มีประโยชน์ นักวิวัฒนาการอีกคนหนึ่งบอกว่ามีอวัยวะหลายสิบอย่างที่ไม่จำเป็น เช่น ไส้ติ่งและต่อมไทมัส

^ วรรค 7 ชื่อสมมุติ