กิจการของอัครสาวก 20:1-38
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
พวกเรา: ตั้งแต่ต้นของหนังสือกิจการจนถึง กจ 16:9 ลูกาบันทึกเรื่องราวเหมือนกับว่าเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ใน กจ 16:10 ลูกาเปลี่ยนวิธีเขียนของเขาโดยรวมตัวเขาเองเข้าไปในเรื่องราวด้วย ตั้งแต่ข้อนี้เขาใช้คำว่า “พวกเรา” ซึ่งดูเหมือนเป็นการแสดงว่าลูกาเดินทางร่วมกับเปาโลและเพื่อน ๆ ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:1 และ “บทนำของหนังสือกิจการ”) เมื่อประมาณปี ค.ศ. 50 ลูกาเริ่มเดินทางร่วมกับเปาโลจากเมืองโตรอัสไปถึงเมืองฟีลิปปี แต่ตอนที่เปาโลออกจากเมืองฟีลิปปีลูกาก็ไม่ได้ไปด้วย—กจ 16:10-17, 40; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:5; 27:1
พวกเรา: ในข้อนี้ลูกาใช้คำสรรพนาม “พวกเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเข้าร่วมในการเดินทางกับเปาโลอีกครั้งที่เมืองฟีลิปปี ก่อนหน้านี้เขาได้แยกกับเปาโลในเมืองฟีลิปปี (กจ 16:10-17, 40) แต่ตอนนี้เขาร่วมเดินทางกับเปาโลจากเมืองฟีลิปปีไปกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งหลังจากนั้นเปาโลจะถูกจับที่นั่น (กจ 20:5-21:18, 33) นี่เป็นส่วนที่ 2 ของหนังสือกิจการที่ลูกาบันทึกเรื่องราวเหมือนกับว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:10; 27:1
พวกเรา: เหมือนที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:10 และ 20:5 มีหลายส่วนในหนังสือกิจการที่ลูกาซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องราวใช้คำสรรพนาม “พวกเรา” (กจ 27:20) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีหลายช่วงที่ลูการ่วมเดินทางไปกับเปาโล ในหนังสือกิจการตั้งแต่ข้อนี้ไปจนถึง กจ 28:16 ลูกาก็ใช้คำว่าพวกเราซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกาเดินทางไปกรุงโรมกับเปาโล
เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ”—ดูภาคผนวก ข15
กินอาหาร: แปลตรงตัวว่า “หักขนมปัง” ขนมปังเป็นอาหารหลักที่ผู้คนในตะวันออกกลางสมัยโบราณกินกัน ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึงการกินอาหารทั่วไป ขนมปังในสมัยนั้นมักเป็นก้อนแบน ๆ ที่อบจนแข็ง จึงต้องแบ่งด้วยการหักไม่ใช่ใช้มีดตัด ดังนั้น การหักขนมปังกินจึงเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไปและพระเยซูก็ทำบ่อย ๆ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:19; ดู มธ 15:36; ลก 24:30 ด้วย) ตอนที่พระเยซูตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ ท่านหยิบขนมปังแผ่นหนึ่งขึ้นมาหัก ซึ่งเป็นวิธีแบ่งขนมปังตามปกติไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:26) บางคนคิดว่าเมื่อมีการใช้สำนวนนี้ในหนังสือกิจการบางครั้งก็หมายถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ (กจ 2:42, 46; 20:7, 11) บางคนคิดว่าเมื่อมีการพูดถึงสำนวนนี้ในหนังสือกิจการ บางครั้งก็หมายถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ แต่ทุกครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ ก็มักจะพูดถึงทั้งการหักขนมปังและการดื่มเหล้าองุ่น (มธ 26:26-28; มก 14:22-25; ลก 22:19, 20; 1คร 10:16-21; 11:23-26) และทั้ง 2 อย่างนี้มีความสำคัญเท่ากัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงการหักขนมปังอย่างเดียวโดยไม่พูดถึงการดื่มเหล้าองุ่นจึงไม่ได้หมายถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ แต่เป็นแค่การกินอาหารธรรมดาทั่วไป นอกจากนั้น ไม่มีที่ไหนที่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูตั้งใจให้มีการฉลองอาหารมื้อเย็นเพื่อระลึกถึงการตายของท่านบ่อยกว่าการฉลองปัสกาที่ทำกันแค่ปีละ 1 ครั้ง แต่เป็นแค่การกินอาหารธรรมดาทั่วไป
หยิบขนมปังแผ่นหนึ่ง . . . หัก: ขนมปังที่กินกันตามปกติในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณจะเป็นแผ่นบาง และถ้าไม่ใส่เชื้อก็จะหักได้ง่าย การที่พระเยซูหักขนมปังไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ นี่เป็นวิธีแบ่งขนมปังตามปกติ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:19
หักขนมปัง: ขนมปังในสมัยนั้นมักเป็นก้อนแบน ๆ ที่อบจนแข็ง จึงเป็นเรื่องปกติที่จะหักขนมปังก่อนกิน—มธ 15:36; 26:26; มก 6:41; 8:6; ลก 9:16
เขามีชีวิตแล้ว: หรือ “ชีวิตยังอยู่ในตัวเขา” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มักใช้คำกรีก พะซูเฆ เพื่อหมายถึง “ชีวิต”—มธ 6:25; 10:39; 16:25, 26; ลก 12:20; ยน 10:11, 15; 13:37, 38; 15:13
กินอาหาร: แปลตรงตัวว่า “หักขนมปัง” ขนมปังเป็นอาหารหลักที่ผู้คนในตะวันออกกลางสมัยโบราณกินกัน ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึงการกินอาหารทั่วไป ขนมปังในสมัยนั้นมักเป็นก้อนแบน ๆ ที่อบจนแข็ง จึงต้องแบ่งด้วยการหักไม่ใช่ใช้มีดตัด ดังนั้น การหักขนมปังกินจึงเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไปและพระเยซูก็ทำบ่อย ๆ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:19; ดู มธ 15:36; ลก 24:30 ด้วย) ตอนที่พระเยซูตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ ท่านหยิบขนมปังแผ่นหนึ่งขึ้นมาหัก ซึ่งเป็นวิธีแบ่งขนมปังตามปกติไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:26) บางคนคิดว่าเมื่อมีการใช้สำนวนนี้ในหนังสือกิจการบางครั้งก็หมายถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ (กจ 2:42, 46; 20:7, 11) บางคนคิดว่าเมื่อมีการพูดถึงสำนวนนี้ในหนังสือกิจการ บางครั้งก็หมายถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ แต่ทุกครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ ก็มักจะพูดถึงทั้งการหักขนมปังและการดื่มเหล้าองุ่น (มธ 26:26-28; มก 14:22-25; ลก 22:19, 20; 1คร 10:16-21; 11:23-26) และทั้ง 2 อย่างนี้มีความสำคัญเท่ากัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงการหักขนมปังอย่างเดียวโดยไม่พูดถึงการดื่มเหล้าองุ่นจึงไม่ได้หมายถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ แต่เป็นแค่การกินอาหารธรรมดาทั่วไป นอกจากนั้น ไม่มีที่ไหนที่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูตั้งใจให้มีการฉลองอาหารมื้อเย็นเพื่อระลึกถึงการตายของท่านบ่อยกว่าการฉลองปัสกาที่ทำกันแค่ปีละ 1 ครั้ง แต่เป็นแค่การกินอาหารธรรมดาทั่วไป
กินอาหาร: แปลตรงตัวว่า “หักขนมปัง”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:7
ผู้ดูแล: แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ในชาติอิสราเอลสมัยโบราณ พวกผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อจะทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานตามเมืองต่าง ๆ พวกผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อในประชาคมต่าง ๆ ในศตวรรษแรกก็ทำหน้าที่คล้ายกัน ในบันทึกเหตุการณ์นี้ที่เปาโลประชุมกับพวกผู้ดูแลที่มาจากเมืองเอเฟซัสแสดงให้เห็นชัดเจนว่าในประชาคมนั้นมีผู้ดูแลมากกว่า 1 คน ประชาคมหนึ่งจะมีผู้ดูแลกี่คนก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาคมนั้นมีพวกผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อที่มีคุณสมบัติกี่คน (1ทธ 3:1-7; ทต 1:5-8) ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกถึงทิโมธีซึ่งตอนนั้นน่าจะอยู่ในเมืองเอเฟซัส เขาก็พูดถึง “คณะผู้ดูแล” ในเมืองนั้น—1ทธ 1:3; 4:14
ความถ่อมตัว: ความถ่อมตรงกันข้ามกับความหยิ่ง คนถ่อมจะคิดว่าพระเจ้ายิ่งใหญ่กว่าเขามากและยอมรับว่าคนอื่นดีกว่าเขา ความถ่อมไม่ใช่ความอ่อนแอแต่เป็นคุณลักษณะที่ทำให้พระเจ้าพอใจ คริสเตียนที่ถ่อมจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี (อฟ 4:2; ฟป 2:3; คส 3:12; 1ปต 5:5) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำ ทาเพ่นอฟรอซูเน ที่ในข้อนี้แปลว่า “ความถ่อมตัว” มาจากคำกรีก 2 คำ คือ ทาเพ่นอโอ ที่แปลว่า “ทำให้ต่ำต้อย” และคำว่า เฟรน ที่แปลว่า “จิตใจ” ดังนั้น เมื่อเอา 2 คำนี้มารวมกันจึงมีความหมายตรงตัวว่า “จิตใจต่ำต้อย” คำที่เกี่ยวข้องกันคือ ทาเพ่นอส ซึ่งแปลว่า “ถ่อมตัว” (มธ 11:29) และ “คนอ่อนน้อมถ่อมตน” (ยก 4:6; 1ปต 5:5)—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 11:29
ถ่อมตัว: แปลตรงตัวว่า “ต่ำต้อยในหัวใจ” คำกรีกที่แปลว่า “ถ่อม” หมายถึงอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่โอ้อวด มีการใช้คำกรีกนี้ที่ ยก 4:6 และ 1ปต 5:5 ด้วย ซึ่งทั้งสองข้อนั้นแปลว่า “คนอ่อนน้อมถ่อมตน” สภาพหัวใจโดยนัยของคนเราจะเห็นได้จากความคิดที่เขามีต่อพระเจ้าและคนอื่น ๆ รวมทั้งนิสัยใจคอของเขาด้วย
ตามบ้าน: จากท้องเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเปาโลเคยไปเยี่ยมพวกผู้ดูแลจากเมืองเอเฟซัสเพื่อสอนพวกเขาให้ “กลับใจและเชื่อในพระเยซูผู้เป็นนาย” (กจ 20:21) ดังนั้น เปาโลไม่ได้พูดถึงแค่การไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบหรือการเยี่ยมให้กำลังใจเพื่อนร่วมความเชื่อเท่านั้น เพราะพวกเขาได้กลับใจและมีความเชื่อในพระเยซูอยู่แล้ว ในหนังสือ Word Pictures in the New Testament ดร. โรเบิร์ตสันให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจการ 20:20 ไว้ว่า “น่าสังเกตว่า ผู้ประกาศที่ยิ่งใหญ่ผู้นี้ทำงานประกาศตามบ้าน เขาไม่ใช่แค่ไปเยี่ยมเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเท่านั้น” (1930, Vol. III, pp. 349-350) ในหนังสือ The Acts of the Apostles With a Commentary p. 270 (1844) เอบิเอล แอบบอต ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำพูดของเปาโลที่กิจการ 20:20 ว่า “เขาไม่ได้พอใจแค่การบรรยายให้คนส่วนใหญ่ฟังเท่านั้น แต่เขายังกระตือรือร้นที่จะทำงานประกาศให้แต่ละคนฟังตามบ้านด้วย เปาโลเอาความจริงจากสวรรค์เข้าไปถึงในบ้าน และใส่ไว้ในหัวใจชาวเมืองเอเฟซัส”—สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า คาทออยคอน ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:42
ตามบ้านเรือน: มาจากสำนวนกรีก คาทออยคอน พจนานุกรมหลายฉบับและผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าคำกรีก คาทา สามารถใช้ในแง่ของการกระจายได้ด้วย ตัวอย่างเช่น พจนานุกรมหนึ่งบอกว่าสำนวนนี้หมายถึง “การกระจายไปตามบ้านทีละหลัง” (A Greek-English Lexicon of the New Testament and Other Early Christian Literature, Third Edition) แหล่งอ้างอิงอีกแหล่งบอกว่าคำ คาทา ที่ใช้ใน กจ 2:46; 5:42 ก็ใช้ในแง่ของการกระจาย และริชาร์ด เลนสกี นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พวกอัครสาวกไม่เคยหยุดทำงานนี้เลย พวกเขาออกไปประกาศอย่างเปิดเผยทุกวันที่วิหาร ซึ่งเป็นที่ที่สมาชิกของศาลแซนเฮดรินและตำรวจประจำวิหารสามารถเห็นและได้ยินพวกเขา และเนื่องจากคำว่า คาทออยคอน เป็นคำที่แสดงถึงการกระจาย จึงหมายความว่าพวกเขาไปตามบ้านต่าง ๆ ด้วย’” (The Interpretation of the Acts of the Apostles, 1961) แหล่งอ้างอิงเหล่านี้จึงสนับสนุนว่าการประกาศของพวกสาวกเป็นการประกาศตามบ้าน มีการใช้คำ คาทา ในความหมายคล้ายกันนี้ที่ ลก 8:1 ซึ่งในข้อนั้นบอกว่าพระเยซูไปประกาศ “ตามเมืองและตามหมู่บ้าน” การพยายามเข้าถึงผู้คนตามบ้านแบบนี้เกิดผลที่น่าทึ่ง—กจ 6:7; เทียบกับ กจ 4:16, 17; 5:28
กระตุ้น: เปาโลรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และเขาก็เต็มใจทำตามการชี้นำจากพลังของพระเจ้าที่ให้ไปกรุงเยรูซาเล็ม
ชีวิตผม: มาจากคำกรีก พะซูเฆ ซึ่งในท้องเรื่องนี้หมายถึงชีวิตของคนหนึ่ง—ดูภาคผนวก ก2
ประกาศ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ป่าวประกาศในฐานะผู้ส่งข่าวอย่างเปิดเผย” คำนี้เน้นลักษณะของการประกาศว่ามักเป็นการพูดอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ ไม่ใช่การเทศน์ให้คนแค่กลุ่มหนึ่งฟัง เรื่องหลักที่คริสเตียนประกาศยังคงเป็นเรื่อง “รัฐบาลของพระเจ้า”—กจ 28:31
รัฐบาลของพระเจ้า: นี่เป็นหัวเรื่องหลักของคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มและเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือกิจการด้วย (กจ 1:3; 8:12; 14:22; 19:8; 20:25; 28:23, 31) ฉบับแปลบางฉบับในยุคแรก เช่น ฉบับวัลเกต ภาษาละติน และฉบับเพชิตตา ภาษาซีรีแอก ก็ใช้คำว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” ฉบับแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูฉบับหนึ่งมีชื่อของพระเจ้าอยู่ด้วย สำนวนนี้จึงแปลได้ว่า “รัฐบาลของพระยะโฮวา”
ถ้ามีใครไม่รอด ก็จะมาโทษผมไม่ได้: แปลตรงตัวว่า “ผมสะอาดจากเลือดของทุกคน” เปาโลไม่ต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าเพราะเขาได้ประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าแล้ว เขาได้บอกข่าวสารที่ช่วยชีวิตให้ทุกคนได้รู้ (กจ 18:6; เทียบกับ อสค 33:6-8) เปาโลบอก “ทุกสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ” กับสาวกในเมืองเอเฟซัส เพราะเขาไม่อยากให้ใครต้องตายในวันที่พระเจ้ามาพิพากษา (กจ 20:27) วิธีอื่นที่อาจทำให้คริสเตียนมีความผิดและต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือการสนับสนุนองค์การต่าง ๆ ที่ทำให้คนตาย เช่น “บาบิโลนใหญ่” ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม (วว 17:6; 18:2, 4) หรือสนับสนุนองค์การอื่น ๆ ที่ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องตาย (วว 16:5, 6; เทียบกับ อสย 26:20, 21) นอกจากนั้น ความผิดที่เกี่ยวข้องกับเลือดยังรวมถึงการกินเลือดหรือการรับเลือดไม่ว่าจะในทางใดเข้าร่างกาย—กจ 15:20
ทุกสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ: หรือ “ความประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้า” สำนวนนี้หมายถึงทุกสิ่งที่พระเจ้าตั้งใจจะทำโดยทางรัฐบาลของพระองค์ ซึ่งรวมถึงทุกสิ่งที่พระองค์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะช่วยมนุษย์ให้รอด (กจ 20:25) คำกรีก บู่เล มีการแปลไว้ที่ ลก 7:30 ว่า “คำแนะนำ [หรือ “คำสั่ง,” เชิงอรรถ]” และที่ ฮบ 6:17 ว่า “ความประสงค์”
เอาใจใส่: หรือ “เฝ้าดู” พระยะโฮวารักทุกคนที่อยู่ในฝูงแกะของพระองค์ เพราะพระองค์ซื้อพวกเขามาด้วยสิ่งที่มีค่ามากซึ่งก็คือ “เลือดของลูกของพระองค์เอง” พระองค์ยอมจ่ายด้วยสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ดังนั้น ผู้ดูแลที่ถ่อมตัวจะคอยดูแลเอาใจใส่พี่น้องทุกคนในฝูงแกะนี้ พวกเขาจะคิดอยู่เสมอว่าพระยะโฮวารักแกะของพระองค์มาก—1ปต 5:1-3
ผู้ดูแล: มาจากคำกรีก เอะพิสคอพ็อส คำนี้เกี่ยวข้องกับคำกริยา เอะพิสคอเพะโอ ที่แปลว่า “ระวังให้ดี” (ฮบ 12:15) และเกี่ยวข้องกับคำนาม เอะพิสะคอเพ ที่แปลว่า “ตรวจตรา, ตรวจสอบ” (ลก 19:44, ฉบับแปลคิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์; 1ปต 2:12) “ทำหน้าที่ผู้ดูแล” (1ทธ 3:1) หรือ “หน้าที่ผู้ดูแล” (กจ 1:20) ดังนั้น ผู้ดูแลจะคอยเยี่ยม ตรวจตรา และชี้นำพี่น้องในประชาคม ความหมายพื้นฐานของคำกรีกที่แปลว่า “ผู้ดูแล” เกี่ยวข้องกับการคอยดูแลเพื่อปกป้อง พวกผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเอาใจใส่ความเชื่อของพี่น้อง ในข้อนี้เปาโลใช้คำว่า “ผู้ดูแล” (เอะพิสคอเพะโอ) ตอนที่เขาพูดกับ “ผู้ดูแล” (เพร็สบูเทะรอส) ที่มาจากประชาคมเอเฟซัส (กจ 20:17) และในจดหมายที่เขียนถึงทิตัส เขาก็ใช้คำว่า “ผู้ดูแล” (เอะพิสคอเพะโอ) ตอนที่พูดถึงคุณสมบัติของคนที่จะเป็น “ผู้ดูแล” (เพร็สบูเทะรอส) ในประชาคมคริสเตียน (ทต 1:5, 7) ดังนั้น คำว่า เอะพิสคอพ็อส และ เพร็สบูเทะรอส จึงหมายถึงคนกลุ่มเดียวกันคือผู้ดูแลในประชาคม โดยคำว่า เพร็สบูเทะรอส แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ และคำว่า เอะพิสคอพ็อส แสดงถึงหน้าที่รับผิดชอบของคนที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแล ในบันทึกเหตุการณ์นี้ที่เปาโลประชุมกับพวกผู้ดูแลที่มาจากเมืองเอเฟซัสแสดงให้เห็นชัดเจนว่าในประชาคมนั้นมีผู้ดูแลหลายคน ประชาคมหนึ่งจะมีผู้ดูแลกี่คนก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาคมนั้นมีผู้พวกผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อที่มีคุณสมบัติเป็น “ผู้ดูแล” กี่คน และตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงพี่น้องในเมืองฟีลิปปี เขาก็พูดถึง “พวกผู้ดูแล” (ฟป 1:1) ซึ่งแสดงว่าที่นั่นมีคณะผู้ดูแลคอยดูแลงานต่าง ๆ ในประชาคม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:20
พระเจ้า: สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ในข้อนี้ แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่น่าเชื่อถือส่วนใหญ่สนับสนุนการแปลว่า “พระเจ้า” และนักวิชาการหลายคนก็เชื่อว่าในพระคัมภีร์ต้นฉบับใช้คำว่า “พระเจ้า”
ด้วยเลือดของลูกของพระองค์เอง: แปลตรงตัวว่า “โดยทางเลือดของตัวเอง” สำนวนกรีกนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ด้วยเลือดของ” ดังนั้น เพื่อจะเข้าใจความหมายจึงต้องดูจากท้องเรื่อง ในภาษากรีกสามารถใช้คำ ฮอ อิดิออส (“ของ”) โดยไม่ต้องมีคำนามหรือสรรพนามอยู่ด้วย ในเอกสารพาไพรัสภาษากรีกที่ไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิลก็ใช้สำนวนนี้กับญาติใกล้ชิดที่รัก คนที่อ่านข้อคัมภีร์นี้จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าคำนี้ใช้เพื่อหมายถึงพระเยซูที่เป็นลูกชายคนเดียวของพระเจ้าซึ่งยอมสละเลือดของตัวเอง จากเหตุผลนี้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้แปลหลายคนยอมรับว่าควรจะใส่คำว่า “ลูก” ในข้อนี้ และแปลว่า “ด้วยเลือดของลูกของพระองค์เอง”
หน้าที่ผู้ดูแล: หรือ “งานมอบหมายฐานะผู้ดูแล” คำกรีก เอะพิสะคอเพ ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำนามกรีก เอะพิสคอพ็อส (ผู้ดูแล) และคำกริยากรีก เอะพิสคอเพะโอ (ระวังให้ดี) ที่ใช้ใน ฮบ 12:15 ในข้อนี้เปโตรยก สด 109:8 เพื่อให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงเสนอแนะให้เลือกคนหนึ่งมาแทนที่อัครสาวกยูดาสที่ไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งในหนังสือสดุดีใช้คำฮีบรู เพคัดดาห์ ที่แปลได้ว่า “ดูแล” “ผู้ดูแล” (กดว 4:16; อสย 60:17) และในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ สด 108:8 (108:8, LXX) ก็ใช้คำกรีกเดียวกันกับที่ลูกาใช้ใน กจ 1:20 จากคำพูดนี้ของเปโตรที่ได้รับการดลใจเห็นได้ชัดเจนว่าพวกอัครสาวกมีหน้าที่หรือได้รับงานมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล พวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระเยซู (มก 3:14) ดังนั้น ในวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นของประชาคมคริสเตียนจึงมีผู้ดูแล 12 คน และประชาคมก็เติบโตจาก 120 คนเป็นประมาณ 3,000 คนในวันเดียว (กจ 1:15; 2:41) หลังจากนั้น ก็มีการแต่งตั้งผู้ดูแลคนอื่น ๆ ให้ช่วยดูแลประชาคมที่กำลังเติบโต แต่หน้าที่ในฐานะผู้ดูแลของพวกอัครสาวกก็ยังมีความพิเศษด้วย เพราะดูเหมือนว่าพระยะโฮวาตั้งใจให้อัครสาวก 12 คนเป็น “หินฐานราก 12 ก้อน” ของเยรูซาเล็มใหม่ในอนาคต—วว 21:14; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:28
พระเจ้า: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ในข้อนี้ แต่สำเนาพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “พระเจ้า”
สิ่งที่พระเยซูผู้เป็นนายเคยพูด: อัครสาวกเปาโลเป็นคนเดียวที่ยกคำพูดนี้ของพระเยซู ถึงแม้ในหนังสือข่าวดีและส่วนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลจะมีคำพูดที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันนี้ (สด 41:1; สภษ 11:25; 19:17; มธ 10:8; ลก 6:38) เปาโลอาจได้ยินคำพูดนี้จากคนที่เคยได้ยินพระเยซูพูด หรือจากตัวพระเยซูเองหลังจากที่ท่านฟื้นขึ้นจากตาย หรือพระเจ้าเป็นผู้เปิดเผยให้เปาโลรู้—กจ 22:6-15; 1คร 15:6, 8
จูบท่านอย่างนุ่มนวล: คำกริยากรีกที่แปลว่า “จูบอย่างนุ่มนวล” ในข้อนี้อยู่ในรูปคำที่แสดงความรู้สึกมากกว่าคำว่า “จูบ” ใน มธ 26:48 การที่ยูดาสทักทายพระเยซูอย่างอบอุ่นและเป็นมิตรแบบนี้ แสดงว่าเขาเป็นคนหลอกลวงและเสแสร้งอย่างมาก
กอด . . . เปาโล: แปลตรงตัวว่า “ก้มลงที่คอเปาโล” ในคัมภีร์ไบเบิล การกอดและจูบใครคนหนึ่งพร้อมกับร้องไห้เป็นการแสดงความรักอย่างมาก นี่แสดงว่าพวกผู้ดูแลเหล่านี้ต้องรักเปาโลมากแน่ ๆ—ดู ปฐก 33:4; 45:14, 15; 46:29; ลก 15:20 ด้วย
จูบลาเปาโล: หรือ “จูบเปาโลด้วยความรัก” เปาโลแสดงความรักแท้ต่อพี่น้องและนี่ทำให้พี่น้องรักเขามากด้วย ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ความรักแบบนี้มักแสดงออกโดยการจูบ (ปฐก 27:26; 2ซม 19:39) และบางครั้งก็จะจูบพร้อมกับกอดอย่างอบอุ่นและร้องไห้ (ปฐก 33:4; 45:14, 15; ลก 15:20) คำกริยากรีกในข้อนี้คือ ฟิเละโอ ที่อยู่ในรูปคำที่แสดงความรู้สึกอย่างมาก บางครั้งมีการแปลคำนี้ว่า “จูบ” (มธ 26:48; มก 14:44; ลก 22:47) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักแปลว่า “รัก” (ยน 5:20; 11:3; 16:27)—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:49
วีดีโอและรูปภาพ
จากแผนที่เราจะเห็นว่าเมืองมิเลทัสโบราณตั้งอยู่ตรงชายฝั่งทางตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) จากบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เรารู้ว่าเปาโลไปเยี่ยมเมืองนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นช่วงท้ายของการเดินทางในฐานะมิชชันนารีรอบที่ 3 (ประมาณปี ค.ศ. 56) ตอนเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เปาโลนั่งเรือมาถึงเมืองมิเลทัส เขาเรียกพวกผู้ดูแลในประชาคมที่เมืองเอเฟซัสให้มาหาเพื่อประชุมเรื่องสำคัญ เพื่อพวกผู้ดูแลจะไปหาเปาโลที่เมืองมิเลทัส พวกเขาต้องเดินเท้าหรือใช้เรือซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร หลังจากร่ำลากัน เปาโลก็นั่งเรือต่อไปที่อื่น (กจ 20:17-38) ดูเหมือนเปาโลกลับมาเยี่ยมเมืองมิเลทัสอีกครั้งหลังจากถูกปล่อยตัวจากการถูกขังครั้งแรกในโรม เพราะตอนนั้นเปาโล “ให้โตรฟีมัสอยู่ที่เมืองมิเลทัสเพราะเขาล้มป่วย”—2
ทธ 4:20; ดูแผนที่ “การเดินทางของเปาโลหลังจากปี ค.ศ. 61”
1. ส่วนหนึ่งของอ่าวในสมัยโบราณ เนื่องจากการตกตะกอนของดิน ทำให้เมืองมิเลทัสตั้งอยู่บนพื้นดินที่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร
2. โรงละครสมัยโบราณที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ. มีการซ่อมแซมโรงละครนี้หลายครั้ง
3. แผนที่แสดงให้เห็นแนวชายฝั่งในสมัยโบราณ
หลังจากวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 สาวกของพระเยซูก็ยังประกาศข่าวดีตามบ้านต่อไป และถึงแม้ได้รับคำสั่งให้ “เลิกพูด” แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพวกสาวกก็ยัง “สอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูผู้เป็นพระคริสต์ ทั้งในวิหารและตามบ้านเรือนทุก ๆ วัน” (กจ 5:40-42) ประมาณปี ค.ศ. 56 อัครสาวกเปาโลบอกพวกผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสว่า “ผมไม่เคยลังเลที่จะ . . . สอนพวกคุณทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านด้วย” (กจ 20:20) เปาโลบอกด้วยว่าเขาพยายามประกาศกับพวกผู้ดูแลตอนที่พวกเขายังไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือเพื่อช่วยให้พวกเขา “กลับใจแล้วหันมาหาพระเจ้า และเชื่อในพระเยซูผู้เป็นนายของเรา” (กจ 20:21) เมื่อเปาโลเจอคนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้อง เขาก็จะกลับไปเยี่ยมที่บ้านและสอนเพิ่มเติม และถ้าคนที่เปาโลสอนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือแล้ว เปาโลก็จะช่วยคนเหล่านั้นให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:42; 20:20
หมาป่าในอิสราเอลเป็นนักล่าที่ชอบออกหากินตอนกลางคืน (ฮบก 1:8) หมาป่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ตะกละ ใจกล้า และโลภ มันมักจะฆ่าแกะมากเกินกว่าที่มันจะกินได้หรือลากไปได้ ในคัมภีร์ไบเบิล มักมีการใช้สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งลักษณะนิสัยของมันเป็นภาพเปรียบเทียบทั้งในด้านดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น ก่อนตายยาโคบพยากรณ์เกี่ยวกับตระกูลเบนยามินว่าเป็นนักสู้เหมือนหมาป่า (Canis lupus) (ปฐก 49:27) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีการเปรียบหมาป่ากับคนที่มีนิสัยไม่ดี เช่น ดุร้าย โลภ ตะกละ และเจ้าเล่ห์ คนที่ถูกเปรียบว่าเป็นหมาป่ามีทั้งผู้พยากรณ์เท็จ (มธ 7:15) ผู้ต่อต้านที่โหดร้ายซึ่งต่อต้านงานรับใช้ของคริสเตียน (มธ 10:16; ลก 10:3) และพวกผู้สอนเท็จซึ่งทำให้ประชาคมคริสเตียนตกอยู่ในอันตราย (กจ 20:29, 30) ผู้เลี้ยงแกะจะต้องรู้ว่าหมาป่าจะมาทำอันตรายอะไร พระเยซูพูดถึง “ลูกจ้าง” ซึ่ง “เมื่อเห็นหมาป่ามา เขาก็ทิ้งฝูงแกะแล้วหนีไป” พระเยซูต่างจากลูกจ้างคนนั้นที่ “ไม่ได้เป็นห่วงแกะจริง ๆ” ท่านเป็น “คนเลี้ยงแกะที่ดี” ซึ่งยอม “สละชีวิตเพื่อแกะ”—ยน 10:11-13