ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ดนตรีที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย

ดนตรีที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย

ดนตรี​ที่​ทำ​ให้​พระเจ้า​พอ​พระทัย

ดนตรี​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “ศิลปะ​ที่​เก่า​แก่​และ​เป็น​ธรรมชาติ​มาก​ที่​สุด​ใน​บรรดา​งาน​วิจิตร​ศิลป์​ทุก​ประเภท.” เช่น​เดียว​กับ​ภาษา ดนตรี​เป็น​ความ​สามารถ​พิเศษ​ที่​ทำ​ให้​มนุษย์​แตกต่าง​จาก​สัตว์. ดนตรี​ปลุก​เร้า​อารมณ์, ทำ​ให้​เพลิดเพลิน, และ​ติด​ตรึง​ใจ. ยิ่ง​กว่า​อื่น​ใด ดนตรี​ทำ​ให้​พระเจ้า​พอ​พระทัย​ได้.

ดัง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ให้​เห็น ชาว​ยิศราเอล​เป็น​ชน​ชาติ​ที่​รัก​ดนตรี. พจนานุกรม​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​อุงเกอร์ (ภาษา​อังกฤษ) ให้​ความ​เห็น​ว่า ดนตรี​เป็น “ศิลปะ​ที่​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​โบราณ.” เนื่อง​จาก​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ประจำ​วัน ทั้ง​การ​ขับ​ร้อง​และ​การ​เล่น​ดนตรี​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ใน​การ​นมัสการ​ของ​พวก​เขา. แต่​โดย​มาก​จะ​ใช้​เสียง​ขับ​ร้อง​ของ​มนุษย์.

กษัตริย์​ดาวิด​แต่ง​ตั้ง​ตัว​แทน​จาก​ท่ามกลาง​ชาว​เลวี “สำหรับ​ร้อง​เพลง” ที่​พลับพลา ก่อน​การ​เฉลิม​ฉลอง​พระ​วิหาร​ซึ่ง​สร้าง​โดย​ซะโลโม ราชบุตร​ของ​ท่าน. (1 โครนิกา 6:31, 32) เมื่อ​หีบ​สัญญา​ไมตรี ซึ่ง​เล็ง​ถึง​การ​ประทับ​ของ​พระ​ยะโฮวา มา​ถึง​กรุง​ยะรูซาเลม ดาวิด​จัด​ให้​ชาว​เลวี​บาง​คน “สรรเสริญ​ฉลอง​พระเดช​พระคุณ​พระ​ยะโฮวา.” พวก​เขา​ร้อง​สรรเสริญ​พร้อม​กับ​เสียง “พิณ​สิบ​สาย​และ​กระจับปี่ . . . ฉิ่ง​ฉาบ . . . ประกอบ​เพลง​แตร.” คน​เหล่า​นั้น “ทรง​เลือก​ออก​ชื่อ​ไว้ . . . เพื่อ​จะ​ได้​ขอบ​พระเดช​พระคุณ​พระ​ยะโฮวา, เพราะ​ความ​เมตตา​กรุณา​ของ​พระองค์​ถาวร​อยู่​เป็น​นิตย์.”—1 โครนิกา 16:4-6, 41; 25:1.

วลี “พระ​กรุณาคุณ​ของ [พระ​ยะโฮวา] ดำรง​อยู่​เป็น​นิตย์” ปรากฏ​หลาย​ครั้ง​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ ซึ่ง​เป็น​พระ​ธรรม​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ดนตรี​มาก​ที่​สุด. ตัว​อย่าง​เช่น วลี​นี้​เป็น​ส่วน​ที่​สอง​ของ​ทั้ง 26 ข้อ​ของ​เพลง​สรรเสริญ​บท 136. ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ความ​สั้น​ของ​วลี​นี้​ทำ​ให้​ร้อง​ได้​ง่าย. ใคร ๆ ที่​เคย​ได้​ยิน​วลี​นี้​ก็​จำ​ได้.”

จ่า​หน้า​ของ​บทเพลง​สรรเสริญ​บ่ง​ชี้​ว่า​มี​การ​ใช้​เครื่อง​ดนตรี​อย่าง​แพร่​หลาย. เพลง​สรรเสริญ​บท 150 (ล.ม.) กล่าว​ถึง​เขา​สัตว์, พิณ, รำมะนา, ขลุ่ย, ฉิ่ง​และ​ฉาบ นอก​เหนือ​จาก​เครื่อง​สาย. อย่าง​ไร​ก็​ดี สิ่ง​ที่​มี​เสน่ห์​มาก​ที่​สุดคือ​เสียง​ของ​มนุษย์. ข้อ 6 กระตุ้น​เตือน​ว่า “ทุก​สิ่ง​ที่​หายใจ ให้​สรรเสริญ​ยาห์. เจ้า​ทั้ง​หลาย จง​สรรเสริญ​ยาห์!”

เนื่อง​จาก​ดนตรี​แสดง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เรา อารมณ์​โศก​เศร้า​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​กระตุ้น​ให้​มี​เพลง​คร่ำ​ครวญ​หรือ​เพลง​สวด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชาว​ยิศราเอล​ร้อง​เพลง​ใน​ลักษณะ​นี้​ไม่​มาก. สารานุกรม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​การ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) * ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า “เฉพาะ​ใน​เพลง​คร่ำ​ครวญ​หรือ​เพลง​โศก​เท่า​นั้น​ที่​มัก​จะ​ใช้​เพลง​แบบ​เพลง​สวด​แทน​ที่​จะ​ใช้​เพลง​แบบ​มี​ท่วง​ทำนอง​ของ​ดนตรี​หรือ​การ​ปรับ​เปลี่ยน​เสียง​หรือ​การ​เน้น​ถ้อย​คำ​ธรรมดา ๆ ที่​พูด​กัน.”

พระ​เยซู​และ​อัครสาวก​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​ใน​คืน​ก่อน​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​พวก​เขา​คง​ร้อง​เพลง​ฮัลเลล​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ. (บทเพลง​สรรเสริญ 113-118) การ​ทำ​เช่น​นี้​คง​ได้​เสริม​กำลัง​สาวก​ของ​พระ​เยซู​สัก​เพียง​ไร​ให้​เผชิญ​กับ​การ​สูญ​เสีย​นาย​ของ​ตน! ยิ่ง​กว่า​นั้น ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ของ​พวก​เขา​ที่​จะ​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​องค์​บรม​เดชานุภาพ​แห่ง​เอกภพ พระ​ยะโฮวา คง​ต้อง​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น​ขณะ​ที่​พวก​เขา​ร้อง​วลี​ที่​ว่า “เพราะ​พระ​กรุณาคุณ​ของ​พระองค์​ดำรง​อยู่​เป็น​นิตย์” ถึง​ห้า​ครั้ง.—บทเพลง​สรรเสริญ 118:1-4, 29.

คริสเตียน​แห่ง​เมือง​เอเฟโซ​และ​โกโลซาย​ใน​ยุค​แรก​ร้อง “เพลง​สรรเสริญ​และ​คำ​สดุดี​แด่​พระเจ้า” (ตาม​ตัว​อักษร​คือ “เพลง​ทาง​ศาสนา”). พวก​เขา​ร้อง “เพลง​ฝ่าย​วิญญาณ” ใน​หัวใจ​ของ​ตน​ควบ​คู่​ไป​กับ​เพลง​เหล่า​นี้. (เอเฟโซ 5:19, ล.ม.; โกโลซาย 3:16, ล.ม.) ด้วย​เพลง​และ​คำ​พูด พวก​เขา​ใช้​ปาก​อย่าง​เหมาะ​สม​เพื่อ​สรรเสริญ. พระ​เยซู​ได้​ตรัส​มิ​ใช่​หรือ​ว่า “ใจ​เต็ม​บริบูรณ์​ด้วย​อะไร​ปาก​ก็​พูด​อย่าง​นั้น.”—มัดธาย 12:34.

ดนตรี​ที่​พระเจ้า​ไม่​พอ​พระทัย

ไม่​ใช่​ดนตรี​ทุก​แบบ​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​พระเจ้า​พอ​พระทัย. ลอง​พิจารณา​เหตุ​การณ์​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ที่​ภูเขา​ซีนาย ที่​ซึ่ง​โมเซ​ได้​รับ​พระ​บัญญัติ รวม​ทั้ง​พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ. เมื่อ​โมเซ​ลง​มา​จาก​ภูเขา ท่าน​ได้​ยิน​เสียง​อะไร? “มิ​ใช่​เสียง​ร้อง​เพลง​เกี่ยว​กับ​การ​กระทำ​ที่​ทรง​ฤทธิ์ และ​มิ​ใช่​เสียง​ร้อง​เพลง​แห่ง​การ​แพ้” แต่​เป็น “เสียง​ร้อง​เพลง​อีก​แบบ​หนึ่ง.” นั่น​คือ​ดนตรี​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​บูชา​รูป​เคารพ กิจ​ปฏิบัติ​ที่​ยั่ว​ยุ​ให้​พระเจ้า​ทรง​พิโรธ​และ​ยัง​ผล​ให้​คน​ร้อง​เพลง​และ​เล่น​ดนตรี​เหล่า​นั้น​เสีย​ชีวิต​ไป​ประมาณ 3,000 คน.—เอ็กโซโด 32:18, 25-28, ล.ม.

แม้​ว่า​มนุษย์​มี​ความ​สามารถ​แต่ง, เล่น, และ​ชื่นชม​กับ​ดนตรี​ทุก​ประเภท แต่​นั่น​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​ดนตรี​ทุก​ประเภท​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า. ทำไม​หรือ? คริสเตียน​อัครสาวก​เปาโล​อธิบาย​ว่า “คน​ทั้ง​ปวง​ได้​ทำ​ผิด​ทุก​คน, และ​ขาด​การ​ถวาย​เกียรติยศ​แก่​พระเจ้า.” (โรม 3:23) พิธีกรรม​เพื่อ​การ​เจริญ​พันธุ์​แบบ​นอก​รีต, หลัก​คำ​สอน​เรื่อง​สภาพ​อมตะ​ของ​จิตวิญญาณ​มนุษย์, และ​การ​นมัสการ​มาเรีย​ใน​ฐานะ “แม่​พระ” มัก​มี​อยู่​ใน​เนื้อหา​ของ​เพลง​ต่าง ๆ. ทว่า ความ​เชื่อ​และ​กิจ​ปฏิบัติ​เหล่า​นี้​ลบหลู่​พระเจ้า​แห่ง​ความ​จริง เพราะ​ขัด​กับ​สิ่ง​ที่​มี​การ​เผย​ใน​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระองค์ คัมภีร์​ไบเบิล.—พระ​บัญญัติ 18:10-12; ยะเอศเคล 18:4; ลูกา 1:35, 38.

เลือก​ดนตรี​อย่าง​ฉลาด

ทาง​เลือก​เกี่ยว​กับ​ดนตรี​ที่​มี​อยู่​ใน​ปัจจุบัน​ทำ​ให้​น่า​หัว​หมุน. ปก​แผ่น​ซีดี​ถูก​ออก​แบบ​เพื่อ​กระตุ้น​ลูกค้า​ให้​ซื้อ​เพลง​ทุก​ประเภท. แต่​ถ้า​ผู้​นมัสการ​พระเจ้า​ปรารถนา​จะ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย เขา​จะ​ระมัดระวัง​และ​เลือก​อย่าง​ฉลาด​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​เนื้อร้อง​และ​ทำนอง​ที่​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ความ​เชื่อ​ของ​ศาสนา​เท็จ​หรือ​การ​เพ่งเล็ง​เรื่อง​การ​ผิด​ศีลธรรม​และ​ลัทธิ​ผี​ปิศาจ.

อัลเบิร์ต ผู้​ซึ่ง​เคย​รับใช้​เป็น​มิชชันนารี​คริสเตียน​ใน​แอฟริกา ยอม​รับ​ว่า​เขา​มี​โอกาส​เล่น​เปียโน​น้อย​มาก​เมื่อ​อยู่​ที่​นั่น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​ฟัง​แผ่น​เสียง​ชนิด​ลองเพลย์​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก​ซึ่ง​เขา​นำ​ไป​ด้วย​ไม่​กี่​แผ่น. เมื่อ​กลับ​มา​บ้าน​เกิด ตอน​นี้​อัลเบิร์ต​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง. เวลา​ฟัง​ดนตรี​ของ​เขา​มี​จำกัด. เขา​บอก​ว่า “นัก​แต่ง​เพลง​คน​โปรด​ของ​ผม​คือ​เบโธเฟน. ตลอด​เวลา​หลาย​ปี ผม​สะสม​แผ่น​เสียง​ผล​งาน​เพลง​ซิมโฟนี, คอน​แชร์​โต, โซ​นา​ตา, และ​ควอร์เตต​ของ​เขา.” การ​ฟัง​ดนตรี​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เขา​เพลิดเพลิน​มาก. แน่นอน แต่​ละ​คน​มี​รสนิยม​ของ​ตน​เอง​ใน​เรื่อง​ดนตรี แต่​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​เรา​จำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ไว้​เสมอ​ที่​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​กิน​จะ​ดื่ม​ก็​ดี, หรือ​จะ​ทำ​ประการ​ใด​ก็​ดี, จง​กระทำ​ทุก​สิ่ง​ให้​เป็น​ที่​ถวาย​เกียรติยศ​แก่​พระเจ้า.”—1 โกรินโธ 10:31.

ดนตรี​และ​การ​อุทิศ​ตัว

ซูซี​ชอบ​ดนตรี​มาก. เธอ​อธิบาย​ว่า “ดิฉัน​เริ่ม​เล่น​เปียโน​ตอน​อายุ 6 ขวบ เล่น​ไวโอลิน​ตอน​อายุ 10 ขวบ และ​ใน​ที่​สุด​ก็​เล่น​พิณ​ตอน​อายุ 12.” ต่อ​มา​ซูซี​เข้า​วิทยาลัย​การ​ดนตรี​แห่ง​กรุง​ลอนดอน ประเทศ​อังกฤษ เพื่อ​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​พิณ. เธอ​ศึกษา​เป็น​เวลา​สี่​ปี​กับ​นัก​เล่น​พิณ​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ชาว​สเปน และ​ศึกษา​ต่อ​อีก​หนึ่ง​ปี​ที่​โรง​เรียน​ศิลปะ​แห่ง​ปารีส ได้​รับ​ปริญญา​เกียรติ​นิยม​ทาง​ดนตรี​รวม​ทั้ง​ประกาศนียบัตร​การ​เล่น​พิณ​และ​การ​สอน​เปียโน.

ซูซี​เริ่ม​สมทบ​กับ​ประชาคม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​กรุง​ลอนดอน. ที่​นั่น เธอ​พบ​ความ​สนใจ​และ​ความ​รัก​ที่​แท้​จริง​ท่ามกลาง​เพื่อน​พยาน​ฯ. ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย ความ​รัก​ของ​เธอ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​มี​เพิ่ม​มาก​ขึ้น และ​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ของ​เธอ​ต่อ​การ​รับใช้​พระองค์​กระตุ้น​ให้​เธอ​หา​วิธี​รับใช้​พระองค์. นี่​นำ​ไป​สู่​การ​อุทิศ​ตัว​และ​รับ​บัพติสมา. ซูซี​บอก​ว่า “การ​มี​อาชีพ​เป็น​นัก​ดนตรี​เป็น​วิถี​ชีวิต​ที่​ต้อง​ทุ่มเท ดัง​นั้น ชีวิต​ที่​ต้อง​อุทิศ​ตัว​จึง​ไม่​ใช่​เรื่อง​แปลก​สำหรับ​ดิฉัน.” เวลา​แสดง​คอนเสิร์ต​ของ​เธอ​น้อย​ลง​ขณะ​ที่​เธอ​เข้า​ร่วม​การ​รับใช้​ของ​คริสเตียน​คือ​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู.—มัดธาย 24:14; มาระโก 13:10.

ตอน​นี้​เธอ​ใช้​เวลา​ไม่​มาก​ใน​การ​เล่น​ดนตรี เธอ​รู้สึก​เช่น​ไร? เธอ​ยอม​รับ​ว่า “บาง​ครั้ง​ดิฉัน​รู้สึก​ข้องขัดใจ​อยู่​บ้าง​ที่​ไม่​มี​เวลา​ฝึก​ซ้อม​มาก​กว่า​นี้ แต่​ดิฉัน​ยัง​เล่น​เครื่อง​ดนตรี​ต่าง ๆ และ​เพลิดเพลิน​กับ​ดนตรี. ดนตรี​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระ​ยะโฮวา. ดิฉัน​ชื่นชม​กับ​ดนตรี​มาก​ขึ้น​ใน​ตอน​นี้​เมื่อ​ดิฉัน​ทำ​ให้​งาน​รับใช้​พระองค์​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต.”—มัดธาย 6:33.

ดนตรี​ที่​สรรเสริญ​พระเจ้า

อัลเบิร์ต​และ​ซูซี​พร้อม​กับ​พยาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​อีก​เกือบ​หก​ล้าน​คน​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ด้วย​เสียง​ดนตรี​เป็น​ประจำ. ที่​การ​ประชุม​คริสเตียน ณ หอ​ประชุม​ต่าง ๆ ใน 234 ดินแดน ใน​ที่​ที่​เป็น​ไป​ได้ พวก​เขา​เริ่ม​และ​จบ​การ​ประชุม​ด้วย​การ​ร้อง​เพลง​ถวาย​แด่​พระ​ยะโฮวา. ใน​คีย์​เมเจอร์​และ​ไมเนอร์ ทำนอง​อัน​ไพเราะ​คลอ​ไป​กับ​เนื้อร้อง​ซึ่ง​อาศัย​พระ​คัมภีร์​ที่​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.

ทุก​คน​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​เปล่ง​เสียง​ร้อง​เพลง​ด้วย​ความ​รู้สึก​อบอุ่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​พระเจ้า​ที่​ใฝ่​พระทัย (เพลง​บท 44). พวก​เขา​ร้อง​เพลง​บท​หนึ่ง​ที่​สดุดี​พระ​ยะโฮวา (เพลง​บท 190). เพลง​ของ​พวก​เขา​แสดง​ถึง​ความ​ยินดี​และ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ภราดรภาพ​ของ​คริสเตียน, การ​ดำเนิน​ชีวิต​แบบ​คริสเตียน, และ​คุณลักษณะ​ของ​คริสเตียน. สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​พวก​เขา​ชื่นชม​มาก​ขึ้น​คือ​ดนตรี​รูป​แบบ​ต่าง ๆ ที่​พยาน​ฯ จาก​เอเชีย, ออสเตรเลีย, ยุโรป, และ​อเมริกา​เหนือ​และ​ใต้​ใช้​เมื่อ​แต่ง​ทำนอง​ดนตรี. *

“จง​ร้อง​เพลง​บท​ใหม่​ถวาย​แก่​พระ​ยะโฮวา: ให้​ชน​ชาว​แผ่นดิน​โลก​ทั้ง​สิ้น​ร้อง​เพลง​ถวาย​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา. จง​ร้อง​เพลง​ถวาย​แก่​พระ​ยะโฮวา, จง​ถวาย​ชัย​แก่​พระ​นาม​ของ​พระองค์” นี่​เป็น​ถ้อย​คำ​เริ่ม​ต้น​ของ​เพลง​พระ​ราช​นิพนธ์​ซึ่ง​บันทึก​ใน​สมัย​ของ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ. “จง​ประกาศ​ความ​รอด​ของ​พระองค์​ทุก ๆ วัน​ต่อ​ไป. จง​ประกาศ​พระ​เกียรติ​ของ​พระองค์​ใน​ท่ามกลาง​ชน​ประเทศ​ทั้ง​ปวง, และ​ประกาศ​การ​อัศจรรย์​ของ​พระองค์​ใน​ท่ามกลาง​บรรดา​มนุษย์​โลก.” (บทเพลง​สรรเสริญ 96:1-3) นี่​เป็น​สิ่ง​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​ทำ​อยู่​ใน​ละแวก​บ้าน​คุณ และ​พวก​เขา​เชิญ​คุณ​ให้​ร่วม​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​แบบ​เดียว​กัน. คุณ​จะ​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​ที่​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร ที่​ซึ่ง​คุณ​สามารถ​เรียน​รู้​วิธี​ที่​จะ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ดนตรี​ที่​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.

^ วรรค 22 เพลง​เหล่า​นี้​อยู่​ใน​หนังสือ​จง​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.

[ภาพ​หน้า 28]

การ​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา