ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘จงทำให้พระยะโฮวาปลาบปลื้มพระทัย’

‘จงทำให้พระยะโฮวาปลาบปลื้มพระทัย’

วัน​สำเร็จ​การ​ศึกษา​ของ​นัก​เรียน​กิเลียด​รุ่น​ที่ 131

‘จง​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ปลาบปลื้ม​พระทัย’

ครอบครัว เพื่อน​ฝูง และ​อีก​หลาย​คน​ได้​มา​ร่วม​แสดง​ความ​ยินดี​ใน​วัน​สำเร็จ​การ​ศึกษา​ของ​นัก​เรียน​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด​รุ่น​ที่ 131 ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 10 กันยายน 2011. เช้า​วัน​นั้น​ทั้ง​ผู้​บรรยาย​และ​นัก​เรียน​ต่าง​ก็​รู้สึก​ตื่นเต้น​จน​ท้อง​ไส้​ปั่นป่วน. แต่​เมื่อ​วัน​นั้น​จบ​ลง​ผู้​เข้า​ร่วม​ทั้ง 9,063 คน​ก็​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​และ​ยิ้ม​แย้ม​อย่าง​มี​ความ​สุข. พวก​เขา​ประทับใจ​กับ​คำ​บรรยาย การ​สาธิต และ​การ​สัมภาษณ์.

สตีเฟน เลตต์ สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ประธาน​กล่าว​เปิด​การ​ประชุม​ใน​ครั้ง​นี้. เขา​อธิบาย​ข้อ​คัมภีร์​หลาย​ข้อ​ที่​พูด​ถึง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ราว​กับ​ว่า​พระองค์​ทรง​มี​ร่าง​กาย​เหมือน​มนุษย์ และ​เขา​ได้​เน้น​ข้อ​คัมภีร์​บาง​ข้อ​ซึ่ง​พูด​ถึง​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ใช้​พระ​เนตร พระ​กรรณ พระ​หัตถ์ และ​พระ​พาหุ​ของ​พระองค์.

ข้อ​แรก​ที่​ผู้​บรรยาย​อ้าง​ถึง​คือ 2 โครนิกา 16:9 ซึ่ง​บอก​ว่า​พระ​ยะโฮวา “ทรง​ทอด​พระ​เนตร​ไป​ทั่ว​พิภพ​โลก, เพื่อ​จะ​สำแดง​ว่า​พระองค์​ทรง​ฤทธานุภาพ​สถิต​อยู่​กับ​คน​ทั้ง​ปวง​ที่​มี​ใจ​ซื่อ​สัตย์​สุจริต​ต่อ​พระองค์.” ผู้​บรรยาย​กระตุ้น​นัก​เรียน​ให้​รักษา​หัวใจ​ที่​ภักดี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​แต่​เพียง​ผู้​เดียว​เสมอ และ​สนับสนุน​ให้​เลียน​แบบ​พระเจ้า​โดย​มอง​หา​ส่วน​ดี​ของ​ผู้​คน. จาก​นั้น บราเดอร์​เลตต์​ได้​พิจารณา 1 เปโตร 3:12 ซึ่ง​บอก​ว่า​พระ​กรรณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​คอย​ฟัง​คำ​วิงวอน​ของ​คน​ชอบธรรม. เขา​กระตุ้น​นัก​เรียน​ให้​รักษา​การ​ติด​ต่อ​กับ​พระองค์​โดย​หมั่น​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ และ​ไม่​ลืม​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ปรารถนา​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​รับ​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ของ​พวก​เขา.

นอก​จาก​นี้ ผู้​บรรยาย​ยัง​อ้าง​ถึง​ยะซายา 41:13 ที่​กล่าว​ว่า “เรา, ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า, กำลัง​ยึด​มือ​ข้าง​ขวา​ของ​เจ้า​อยู่, กำลัง​กล่าว​แก่​เจ้า​ว่า, ‘อย่า​กลัว​เลย, เรา​จะ​ช่วย​เจ้า.’ ” บราเดอร์​เลตต์​กล่าว​ด้วย​น้ำ​เสียง​ที่​อบอุ่น​และ​จริง​ใจ​ว่า “ขอ​ให้​สังเกต​คำ​ตรัส​ที่​ทำ​ให้​ซาบซึ้ง​ใจ​ของ​พระ​ยะโฮวา. พระองค์​ทรง​ยื่น​พระ​หัตถ์​มา​จับ​มือ​เรา​ไว้.” แล้ว​เขา​ก็​แนะ​นำ​ว่า​นัก​เรียน​ควร​ยอม​ให้​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​พวก​เขา​เสมอ​และ​อย่า​ปฏิเสธ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระองค์. เขา​ยัง​สนับสนุน​ให้​นัก​เรียน​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​โดย​ยื่น​มือ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​แก่​คน​อื่น ๆ.

บราเดอร์​เลตต์​อ่าน​ข้อ​คัมภีร์​สุด​ท้าย​ที่​ยะซายา 40:11 และ​ชวน​ผู้​ฟัง​ให้​นึก​ภาพ​ตาม​ไป​ด้วย​ถึง​ความ​รัก​อัน​อบอุ่น​และ​อ่อนโยน​ของ​พระเจ้า. บราเดอร์​เลตต์​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​อุ้ม​เรา​ไว้​ใน​พระ​พาหุ​ของ​พระองค์. พระองค์​ทรง​กอด​เรา​ไว้​ใน​พระ​ทรวง.” เรา​ควร​ตอบ​สนอง​ความ​รัก​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร? เขา​แนะ​นำ​ว่า​นัก​เรียน​ควร​ทำ​ตัว​ให้​น่า​รัก​น่า​ทะนุถนอม​เหมือน​ลูก​แกะ​ตัว​น้อย​ที่​ขน​นุ่ม​น่า​กอด เพื่อ​พระ​ยะโฮวา​จะ​อยาก​กอด​เอา​ไว้​ใน​พระ​ทรวง​เสมอ.

“เรา​มี​ทรัพย์​นั้น​ใน​ภาชนะ​ดิน”

เดวิด สเปลน สมาชิก​อีก​คน​หนึ่ง​ของ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​เป็น​ผู้​บรรยาย​เรื่อง​นี้. (2 โครินท์ 4:7) ทรัพย์​ที่​กล่าว​ถึง​นี้​คือ​อะไร? คือ​ความ​รู้​หรือ​สติ​ปัญญา​ไหม? ผู้​บรรยาย​ตอบ​ว่า “ไม่​ใช่ ทรัพย์​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ถึง​คือ ‘งาน​รับใช้’ เพื่อ ‘ทำ​ให้​ความ​จริง​ปรากฏ​แจ้ง.’ ” (2 โครินท์ 4:1, 2, 5) บราเดอร์​สเปลน​บอก​ว่า​การ​ฝึก​อบรม​ตลอด​ห้า​เดือน​ที่​ผ่าน​มา​ได้​เตรียม​นัก​เรียน​ให้​พร้อม​ที่​จะ​ทำ​งาน​มอบหมาย​พิเศษ. พวก​เขา​ควร​ถือ​ว่า​งาน​มอบหมาย​นี้​เป็น​งาน​ที่​มี​ค่า​สูง​ยิ่ง.

ผู้​บรรยาย​อธิบาย​ว่า “ภาชนะ​ดิน” หมาย​ถึง​ร่าง​กาย​ของ​เรา. เขา​เทียบ​ให้​เห็น​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ภาชนะ​ที่​ทำ​จาก​ดิน​กับ​ภาชนะ​ทองคำ. ภาชนะ​ทองคำ​มัก​ไม่​ค่อย​ถูก​นำ​ออก​มา​ใช้ แต่​ภาชนะ​ดิน​มี​ไว้​เพื่อ​ใช้​งาน. ถ้า​เรา​เก็บ​ทรัพย์​ไว้​ใน​ภาชนะ​ทองคำ เรา​ก็​จะ​สนใจ​แต่​ตัว​ภาชนะ​แทน​ที่​จะ​สนใจ​ทรัพย์​ที่​อยู่​ข้าง​ใน. บราเดอร์​สเปลน​บอก​ว่า “แต่​พวก​คุณ​ไม่​ต้องการ​ดึง​ความ​สนใจ​มา​ที่​ตัว​เอง. ใน​ฐานะ​มิชชันนารี คุณ​คง​อยาก​ช่วย​ผู้​คน​ให้​มา​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา. พวก​คุณ​เป็น​เหมือน​ภาชนะ​ดิน​ที่​ไม่​ต้องการ​ออก​หน้า​ออก​ตา.”

ผู้​บรรยาย​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาชนะ​ดิน​บาง​ชนิด​สามารถ​ทน​ไฟ​ได้ และ​บาง​ชนิด​ก็​ถูก​นำ​ไป​เผา​เคลือบ​ด้วย​ความ​ร้อน​สูง​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ร้าว​หรือ​แตก​ง่าย. จุด​สำคัญ​คือ​อะไร? ใน​ช่วง​สอง​สาม​เดือน​แรก​ที่​มิชชันนารี​เริ่ม​งาน​มอบหมาย พวก​เขา​จะ​ต้อง​เจอ​กับ​การ​ทดสอบ​ที่​เป็น​เหมือน​ไฟ​ใน​เตา​เผา. แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​พวก​เขา​จะ​แข็ง​แกร่ง​ขึ้น​และ​สามารถ​ทน​คำ​วิพากษ์วิจารณ์​ต่าง ๆ ได้​โดย​ไม่​โกรธ​ง่าย. บราเดอร์​สเปลน​บอก​ว่า “คุณ​จะ​พบ​ว่า​คุณ​เข้มแข็ง​กว่า​ที่​คุณ​คิด​เสีย​อีก.” พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอบ​งาน​รับใช้​ที่​มี​ค่า​นี้​ให้​แก่​ภาชนะ​ดิน​อย่าง​คุณ แทน​ที่​จะ​มอบ​ให้​เหล่า​ทูตสวรรค์. แล้ว​ผู้​บรรยาย​ก็​สรุป​ว่า “นั่น​แสดง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เชื่อ​มั่น​ใน​ตัว​คุณ.”

‘ถ้า​เจ้า​วิ่ง​แข่ง​กับ​มนุษย์ . . . เจ้า​จะ​แข่ง​กับ​ม้า​ได้​อย่าง​ไร?’

แซมมูเอล เฮิร์ด สมาชิก​คน​หนึ่ง​ของ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ถาม​นัก​เรียน​ว่า “คุณ​วิ่ง​ได้​ไกล​และ​เร็ว​แค่​ไหน?” ทำไม​เขา​จึง​ถาม​เช่น​นั้น? ผู้​บรรยาย​เปรียบ​เทียบ​ประสบการณ์​ของ​นัก​เรียน​กับ​ผู้​พยากรณ์​ยิระมะยาห์. ผู้​พยากรณ์​ที่​ซื่อ​สัตย์​คน​นี้​เผชิญ​การ​ต่อ​ต้าน​ข่มเหง​อย่าง​หนัก. แต่​ท่าน​ยัง​จะ​ต้อง​เจอ​การ​ทดสอบ​ที่​หนัก​กว่า​นั้น​อีก. ดัง​นั้น พระ​ยะโฮวา​จึง​ถาม​ยิระมะยาห์​ว่า ‘ถ้า​เจ้า​วิ่ง​แข่ง​กับ​มนุษย์​และ​เขา​ทำ​ให้​เจ้า​เหน็ด​เหนื่อย​เจ้า​จะ​แข่ง​กับ​ม้า​ได้​อย่าง​ไร?’—ยิระมะยา 12:5, ฉบับ R​73

บราเดอร์​เฮิร์ด​บอก​นัก​เรียน​ว่า “ตอน​ที่​คุณ​ทำ​ข้อ​สอบ คุณ​คง​รู้สึก​ว่า​คุณ​ได้​วิ่ง​แข่ง​กับ​ม้า​แล้ว. แต่​ที่​จริง​คุณ​ก็​แค่​วิ่ง​แข่ง​กับ​คน ไม่​ใช่​ม้า. แต่​เมื่อ​คุณ​ไป​ที่​เขต​งาน ตอน​นั้น​แหละ​ที่​คุณ​จะ​ได้​วิ่ง​แข่ง​กับ​ม้า​เพราะ​คุณ​จะ​ต้อง​เจอ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​ยาก​และ​ใหญ่​โต​เกิน​กว่า​ที่​จะ​นึก​ออก​ได้​ใน​ตอน​นี้. คุณ​จะ​รับมือ​อย่าง​ไร? โรง​เรียน​กิเลียด​ได้​ฝึกฝน​คุณ​ให้​พร้อม​ที่​จะ​วิ่ง​แข่ง​กับ​ม้า​โดย​ไม่​หมด​แรง.” ผู้​บรรยาย​สนับสนุน​นัก​เรียน​ให้​ฝึกฝน​ตัว​เอง​ต่อ​ไป​โดย​พยายาม​รักษา​กิจวัตร​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​หมั่น​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ.

บราเดอร์​เฮิร์ด​ยอม​รับ​ว่า​บาง​คน​ที่​ถูก​ส่ง​ออก​ไป​เป็น​มิชชันนารี​อาจ​เผชิญ​ปัญหา​ที่​ทำ​ให้​ท้อ​ใจ​และ​เจอ​กับ​ผู้​คน​ที่​ไม่​แยแส. ส่วน​บาง​คน​ก็​อาจ​ทุกข์​ใจ​เพราะ​ความ​เจ็บ​ป่วย​หรือ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ไม่​มี​ความ​สามารถ. แต่​เขา​ให้​ความ​มั่น​ใจ​กับ​นัก​เรียน​ว่า ยัง​มี​ผู้​หนึ่ง​ที่​เป็น​แหล่ง​แห่ง​กำลัง​ซึ่ง​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​เอา​ชนะ​ปัญหา​เหล่า​นี้​และ​วิ่ง​ต่อ​ไป​โดย​ไม่​หมด​แรง. ผู้​บรรยาย​บอก​ว่า “ไม่​ว่า​คุณ​จะ​วิ่ง​แข่ง​กับ​คน​หรือ​กับ​ม้า ขอ​ให้​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​หัตถ์​อัน​ทรง​ฤทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​สามารถ​นำ​คุณ​ไป​ถึง​เส้น​ชัย​ได้. ด้วย​เหตุ​นี้ คุณ​ก็​สามารถ​เป็น​มิชชันนารี​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ซึ่ง​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​เกียรติ​และ​คำ​สรรเสริญ.”

จุด​เด่น​อื่น ๆ ของ​ระเบียบ​วาระ

‘จง​ไป​ขอ​ยืม​มา​ให้​มาก ๆ.’ จอห์น เอ็กรันน์ สมาชิก​คณะ​กรรมการ​สาขา​สหรัฐ​บรรยาย​เรื่อง​ผู้​พยากรณ์​เอลีชา​และ​หญิง​ม่าย​คน​หนึ่ง​ที่​ลูก​ของ​นาง​ถูก​ขาย​ไป​เป็น​ทาส. (2 กษัตริย์ 4:1-7) หญิง​ม่าย​คน​นี้​มี​หม้อ​น้ำมัน​เล็ก ๆ เพียง​ใบ​เดียว. เอลีชา​สั่ง​ให้​นาง​ไป​ขอ​ยืม​ภาชนะ​จาก​เพื่อน​บ้าน​มา​อีก. ท่าน​บอก​ว่า “จง​ไป​ขอ​ยืม . . . มา​ให้​มาก ๆ.” พระ​ยะโฮวา​ให้​เอลีชา​ทำ​การ​อัศจรรย์​โดย​ทำ​ให้​ภาชนะ​ทุก​ใบ​ที่​หญิง​ม่าย​หา​มา​ได้​เต็ม​ไป​ด้วย​น้ำมัน. หญิง​ม่าย​จึง​นำ​น้ำมัน​ไป​ขาย​และ​ได้​เงิน​มา​ใช้​หนี้​จน​หมด​แถม​ยัง​มี​เงิน​เหลือ​ไว้​ใช้สอย​ใน​ครอบครัว​ได้​อีก.

เรื่อง​นี้​ให้​บทเรียน​อะไร​แก่​ผู้​ที่​กำลัง​จะ​ไป​เป็น​มิชชันนารี? เมื่อ​หญิง​ม่าย​ไป​หา​ภาชนะ​มา​เพิ่ม เธอ​ไม่​มัว​แต่​จุก​จิก​เรื่อง​มาก. ผู้​บรรยาย​บอก​ว่า “เธอ​คง​ไม่​เกี่ยง​ว่า​จะ​เป็น​ภาชนะ​อะไร ขอ​ให้​ใส่​น้ำมัน​ได้ ยิ่ง​ใหญ่​ก็​ยิ่ง​ดี.” แล้ว​เขา​ก็​สนับสนุน​นัก​เรียน​ให้​ยินดี​รับ​งาน​มอบหมาย​ทุก​อย่าง ไม่​ว่า​ใหญ่​หรือ​เล็ก. บราเดอร์​เอ็กรันน์​บอก​ว่า “อย่า​เป็น​คน​เรื่อง​มาก.” เขา​ยัง​เตือน​นัก​เรียน​ด้วย​ว่า พระ​พร​ที่​หญิง​ม่าย​ได้​รับ​นั้น​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​นาง​เชื่อ​ฟัง​คำ​สั่ง​ของ​เอลีชา​มาก​แค่​ไหน. จุด​สำคัญ​คือ​อะไร? พระ​พร​ที่​เรา​ได้​รับ​ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เรา​กระตือรือร้น​และ​มี​ความ​เชื่อ​มาก​เพียง​ไร. ผู้​บรรยาย​บอก​ว่า “จง​ทำ​ให้​เต็ม​ที่ อย่า​หวง​ตัว.”

“เขา​ทั้ง​หลาย​เป็น​อาหาร​ของ​เรา.” นี่​เป็น​หัวข้อ​คำ​บรรยาย​ของ​วิลเลียม แซมมูเอล​สัน ผู้​ดู​แล​แผนก​โรง​เรียน​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​ยก​มา​จาก​อาฤธโม 14:9. เขา​เน้น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ของ​ยะโฮซูอะ​กับ​คาเลบ. คำ​ว่า “อาหาร” ใน​ข้อ​คัมภีร์​นี้​หมาย​ถึง​ชาว​คะนาอัน​ซึ่ง​เป็น​ศัตรู​ที่​เอา​ชนะ​ได้​ง่าย และ​เมื่อ​ชาว​อิสราเอล​มี​ชัย​แล้ว​พวก​เขา​ก็​จะ​รู้สึก​มี​กำลัง​กาย​กำลังใจ​มาก​ขึ้น. เรื่อง​นี้​ให้​บทเรียน​อะไร? ผู้​บรรยาย​บอก​กับ​นัก​เรียน​ว่า “เมื่อ​คุณ​ไป​รับใช้​ใน​เขต​งาน ขอ​ให้​มอง​อุปสรรค​และ​ปัญหา​ต่าง ๆ ว่า​เป็น​สิ่ง​ที่​เสริม​สร้าง​ความ​เชื่อ​และ​กำลัง​ของ​คุณ.”

“ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​จะ​เป็น​เหมือน​เรือ​ที่​ทอด​สมอ​อย่าง​มั่นคง​เพื่อ​ต้าน​พายุ​ที่​กำลัง​มา​ไหม?” ผู้​สอน​คน​หนึ่ง​ชื่อ​แซม โร​เบอร์​สัน พูด​ถึง​คำ​เตือน​ของ​อัครสาวก​เปาโล​ที่​ว่า​ความ​เชื่อ​ของ​บาง​คน “พัง​ทลาย​เหมือน​เรือ​อับปาง.” (1 ติโมเธียว 1:19) เขา​กระตุ้น​นัก​เรียน​ให้​ช่วย​คน​อื่น​ให้​มี​ความ​เชื่อ​มั่นคง​ใน​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เหมือน​สมอ​เรือ​ที่​มั่นคง​แข็งแรง. เขา​กล่าว​ว่า “งาน​ของ​คุณ​เปรียบ​ได้​กับ​งาน​ของ​ช่าง​ตี​เหล็ก.” ใน​แง่​ไหน? ช่าง​ตี​เหล็ก​จะ​เชื่อม​ห่วง​โซ่​แต่​ละ​ข้อ​เข้า​ด้วย​กัน​เพื่อ​จะ​ยึด​สมอ​เรือ​ไว้​ให้​แน่น. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน มิชชันนารี​ก็​ช่วย​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​พัฒนา​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ ที่​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย​ซึ่ง​จำเป็น​เพื่อ​ความ​รอด.

ผู้​บรรยาย​เปรียบ​ห่วง​โซ่​แต่​ละ​ข้อ​กับ​คุณลักษณะ​แปด​ประการ​ที่​กล่าว​ถึง​ใน 2 เปโตร 1:5-8. เขา​กล่าว​ว่า​ถ้า​มิชชันนารี​ช่วย​นัก​ศึกษา​ของ​พวก​เขา​ให้​มอง​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​คุณลักษณะ​เหล่า​นั้น​อย่าง​ไร นัก​ศึกษา​ก็​จะ​สร้าง​ความ​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​ไม่​มี​สิ่ง​ใด​จะ​ทำ​ให้​ขาด​สะบั้น​ได้. แล้ว​พวก​เขา​จะ​สามารถ​รับมือ​กับ​ความ​ทุกข์​ยาก​ที่​โหม​กระหน่ำ​เข้า​มา​ซึ่ง​เป็น​การ​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา.

ประสบการณ์​และ​การ​สัมภาษณ์

ไมเคิล เบอร์เนตต์ ผู้​สอน​อีก​คน​หนึ่ง​ขอ​ให้​นัก​เรียน​กิเลียด​สาธิต​การ​ประกาศ​จาก​ประสบการณ์​ของ​พวก​เขา​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้. ผู้​ฟัง​ต่าง​ยินดี​ที่​ได้​ฟัง​ประสบการณ์​ของ​นัก​เรียน​ที่​ประกาศ​กับ​ผู้​คน​ใน​ห้าง​สรรพ​สินค้า สนามบิน ตาม​บ้าน และ​แม้​แต่​กับ​คน​ที่​โทร​ผิด​เบอร์.

หลัง​จาก​นั้น ไมเคิล แฮนเซน สมาชิก​ครอบครัว​เบเธล​สหรัฐ​ได้​สัมภาษณ์​พี่​น้อง​ชาย​สาม​คน​ซึ่ง​มี​ประสบการณ์​ใน​งาน​มิชชันนารี​หลาย​ปี คือ​สตีเฟน แมกโดเวลล์ รับใช้​ใน​ปานามา มาร์ก นูแมร์ รับใช้​ใน​เคนยา และ​วิลเลียม ยาซอฟสกี รับใช้​ใน​ปารากวัย. ประสบการณ์​ของ​พวก​เขา​เน้น​จุด​สำคัญ​ของ​ส่วน​สัมภาษณ์​ที่​มี​ชื่อ​ว่า “มี​ความ​ยินดี​ใน​การ​ประพฤติ​ตาม​น้ำ​พระทัย​ของ​พระองค์.” (บทเพลง​สรรเสริญ 40:8) ตัว​อย่าง​เช่น มาร์ก นูแมร์​พูด​ถึง​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​ทำ​ให้​เขา​กับ​ภรรยา​มี​ความ​ยินดี​สมัย​ที่​เป็น​มิชชันนารี. มิตรภาพ​กับ​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น​ทำ​ให้​พวก​เขา​ชื่นชม​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง. นอก​จาก​นั้น ทั้ง​สอง​ยัง​มี​ความ​สุข​ที่​เห็น​พี่​น้อง​หลาย​คน​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​ได้​รับ เปลี่ยน​แปลง​ชีวิต​ของ​ตน​ขนาน​ใหญ่ และ​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​อวย​พร​ความ​พยายาม​ของ​คน​เหล่า​นี้​มาก​เพียง​ไร. เขา​รับรอง​ว่า​ใน​อนาคต​นัก​เรียน​ทุก​คน​จะ​ประสบ​ความ​ยินดี​อย่าง​เหลือ​ล้น​ซึ่ง​ไม่​มี​อะไร​เทียบ​ได้.

หลัง​จาก​ตัว​แทน​ของ​ชั้น​เรียน​ที่ 131 อ่าน​จดหมาย​ขอบคุณ​ที่​เขียน​ได้​อย่าง​ซาบซึ้ง บราเดอร์​เลตต์​กล่าว​ปิด​การ​ประชุม​โดย​สนับสนุน​นัก​เรียน​ที่​สำเร็จ​การ​ศึกษา​ให้​ประพฤติ​อย่าง​สุขุม​รอบคอบ. เขา​บอก​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ “ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ปลาบปลื้ม​พระทัย.” มิชชันนารี​เหล่า​นี้​จะ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ปลาบปลื้ม​พระทัย​อย่าง​แน่นอน ถ้า​พวก​เขา​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ต่อ ๆ ไป​ใน​เขต​งาน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย.—ยะซายา 65:19

[แผนภูมิ/แผนที่​หน้า 31]

สถิติ​ชั้น​เรียน

นัก​เรียน​มา​จาก 10 ประเทศ

เฉลี่ย​อายุ 34.7 ปี

เฉลี่ย​จำนวน​ปี​ที่​รับ​บัพติสมา 19.0 ปี

เฉลี่ย​จำนวน​ปี​ที่​รับใช้​เต็ม​เวลา 13.5 ปี

[แผนที่]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

นัก​เรียน​ได้​รับ​มอบหมาย​ไป​ยัง​ประเทศ​ต่าง ๆ ดัง​แสดง​ไว้​ข้าง​ล่าง

เขต​มอบหมาย​ของ​นัก​เรียน

เบนิน

บราซิล

บัลแกเรีย

บุรุนดี

แคเมอรูน

แคนาดา

สาธารณรัฐ​แอฟริกา​กลาง

เยอรมนี

กานา

ฮ่องกง

อินโดนีเซีย

เคนยา

ไลบีเรีย

ลิทัวเนีย

มาเลเซีย

โมซัมบิก

เนปาล

ปานามา

ปารากวัย

เซียร์รา​ลีโอน

สโลวาเกีย

แอฟริกา​ใต้

สหรัฐ​อเมริกา

เวเนซุเอลา

[ภาพ​หน้า 30]

นัก​เรียน​กิเลียด​สาธิต​ประสบการณ์​จาก​การ​ประกาศ

[ภาพ​หน้า 31]

ผู้​สำเร็จ​การ​ศึกษา​รุ่น​ที่ 131 ของ​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด

ราย​ชื่อ​ข้าง​ล่าง​นี้​นับ​จาก​แถว​หน้า​ไป​แถว​หลัง และ​เรียง​ลำดับ​จาก​ซ้าย​ไป​ขวา.

(1) Lesch, C.; Lesch, N.; Shakarjian, P.; Shakarjian, T.; Budden, R.; Budden, K.; Nash, T.; Nash, L.

(2) Tremblay, E.; Tremblay, C.; Garvey, D.; Garvey, G.; Gaunt, R.; Gaunt, P.; Lau, J.; Lau, J.

(3) Davis, S.; Davis, S.; Sargeant, J.; Sargeant, J.; Fonseca, C.; Fonseca, S.; Thenard, E.; Thenard, A.

(4) Petratyotin, A.; Petratyotin, R.; Reyes, N.; Reyes, N.; Eisiminger, B.; Eisiminger, S.; Hacker, J.; Hacker, C.

(5) Hartman, E.; Hartman, T.; Goolia, W.; Goolia, K.; Thomas, J.; Thomas, E.; Okazaki, N.; Okazaki, M.

(6) Mills, C.; Mills, A.; Benning, L.; Benning, T.; Sobiecki, S.; Sobiecki, T.; Gagnon, L.; Gagnon, E.

(7) Hansen, B.; Hansen, M.; Fahie, A.; Fahie, M.; Dalgaard, J.; Dalgaard, J.; Andersson, M.; Andersson, R.