ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัมภีร์ไบเบิลมีรหัสซ่อนไว้ไหม?

คัมภีร์ไบเบิลมีรหัสซ่อนไว้ไหม?

คัมภีร์​ไบเบิล​มี​รหัส​ซ่อน​ไว้​ไหม?

ใน​ปี 1995 ประมาณ​สอง​ปี​หลัง​การ​ลอบ​สังหาร​นาย​ยิตซัค รา​บิน นายก​รัฐมนตรี​ของ​อิสราเอล นัก​หนังสือ​พิมพ์​คน​หนึ่ง​อ้าง​ว่า โดย​ใช้​เทคโนโลยี​คอมพิวเตอร์​ช่วย เขา​ได้​ค้น​พบ​การ​ทำนาย​ถึง​เหตุ​การณ์​นั้น​ซ่อน​อยู่​ใน​ข้อ​ความ​ดั้งเดิม​ภาษา​ฮีบรู​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. นัก​หนังสือ​พิมพ์​คน​นั้น ชื่อ​ไมเคิล โดรสนิน เขียน​ว่า​เขา​พยายาม​จะ​เตือน​ท่าน​นายก​รัฐมนตรี​ใน​ช่วง​หนึ่ง​ปี​ก่อน​การ​ลอบ​สังหาร​แต่​ไร้​ผล.

ปัจจุบัน​นี้​มี​หนังสือ​และ​บทความ​อื่น ๆ ซึ่ง​ถูก​ตี​พิมพ์​ออก​มา​อ้าง​ว่า​รหัส​ลับ​นี้​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​อย่าง​สมบูรณ์​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า. รหัส​เหล่า​นี้​มี​อยู่​จริง​ไหม? รหัส​ที่​ซ่อน​อยู่​ควร​จะ​เป็น​พื้น​ฐาน​ที่​ทำ​ให้​เรา​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ไหม?

แนว​คิด​ใหม่​หรือ?

แนว​คิด​ที่​ว่า​มี​รหัส​ซ่อน​อยู่​ใน​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่. นี่​เป็น​แนว​คิด​หลัก​ของ​ลัทธิ​คาบาลา ซึ่ง​เป็น​รหัสยลัทธิ​แบบ​ดั้งเดิม​ของ​ชาว​ยิว. ตาม​การ​สอน​ของ​อาจารย์​ใน​ลัทธิ​คาบาลา ความหมาย​พื้น​ฐาน​ของ​ข้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ใช่​ความหมาย​ที่​แท้​จริง. พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​ใช้​ตัว​อักษร​แต่​ละ​ตัว​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​สัญลักษณ์ ซึ่ง​เมื่อ​เข้าใจ​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​แล้ว​ก็​จะ​เผย​ถึง​ความ​จริง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า. ตาม​ทัศนะ​ของ​พวก​เขา พระเจ้า​เป็น​ผู้​กำหนด​ตัว​อักษร​ภาษา​ฮีบรู​แต่​ละ​ตัว​และ​ตำแหน่ง​ของ​ตัว​อักษร​นั้น​ใน​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เพื่อ​วัตถุ​ประสงค์​พิเศษ​จำเพาะ.

ตาม​คำ​กล่าว​ของ​เจฟฟรีย์ ซาติโนเวอร์ นัก​วิจัย​รหัส​คัมภีร์​ไบเบิล นัก​ถอด​รหัส​ชาว​ยิว​เหล่า​นี้​เชื่อ​ว่า​ตัว​อักษร​ภาษา​ฮีบรู​ที่​ใช้​บันทึก​เรื่อง​ราว​แห่ง​การ​ทรง​สร้าง​ใน​พระ​ธรรม​เยเนซิศ​มี​รหัส​ลึกลับ​อัน​น่า​ทึ่ง​อยู่. เขา​เขียน​ว่า “กล่าว​โดย​สรุป พระ​ธรรม​เยเนซิศ​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​คำ​พรรณนา; พระ​ธรรม​นี้​เป็น​เครื่อง​มือ​ใน​การ​ทรง​สร้าง​เลย​ที​เดียว เป็น​แบบ​พิมพ์​เขียว​แห่ง​พระทัย​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​สำแดง​ให้​เห็น​ทาง​กายภาพ.”

รับบี​ชาว​คาบาลา​ใน​ศตวรรษ​ที่ 13 ชื่อ​บักยา เบน อะเชอร์​แห่ง​เมือง​ซาราโกซา สเปน เขียน​เกี่ยว​กับ​ข้อมูล​ที่​ซ่อน​อยู่​ซึ่ง​เปิด​เผย​แก่​เขา​จาก​การ​อ่าน​เฉพาะ​ตัว​อักษร​ทุก ๆ ตัว​ที่ 42 ใน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​พระ​ธรรม​เยเนซิศ. วิธี​การ​กระโดด​ข้าม​ตัว​อักษร​จำนวน​ใด​จำนวน​หนึ่ง​เพื่อ​พยายาม​ค้น​พบ​ข่าวสาร​ที่​ซ่อน​อยู่​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​แนว​คิด​สมัย​ใหม่​เรื่อง​รหัส​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล.

คอมพิวเตอร์ “เปิด​เผย” รหัส

ก่อน​ยุค​คอมพิวเตอร์ มนุษย์​มี​ความ​สามารถ​จำกัด​ใน​การ​ตรวจ​สอบ​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​วิธี​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​เดือน​สิงหาคม​ปี 1994 วารสาร​วิทยาศาสตร์​สถิติ (ภาษา​อังกฤษ) จัด​พิมพ์​บทความ​ซึ่ง​เอลียาฮู ริปส์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ฮีบรู​แห่ง​เยรูซาเลม​และ​เพื่อน​นัก​วิจัย​ของ​เขา​ได้​กล่าว​อ้าง​สิ่ง​ที่​น่า​ตกตะลึง. พวก​เขา​อธิบาย​ว่า โดย​การ​ลบ​ช่อง​ว่าง​ระหว่าง​ตัว​อักษร​ออก​ไป​ทั้ง​หมด​และ​ใช้​การ​กระโดด​ด้วย​ลำดับ​ที่​เท่า​กัน​ระหว่าง​ตัว​อักษร​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ของ​พระ​ธรรม​เยเนซิศ พวก​เขา​พบ​ชื่อ​ของ​รับบี​ผู้​มี​ชื่อเสียง 34 คน​ซ่อน​อยู่​ใน​ข้อ​ความ พร้อม​ด้วย​ข้อมูล​อื่น ๆ เช่น วัน​เกิด​และ​วัน​ตาย อยู่​ใกล้ ๆ ชื่อ​ของ​พวก​เขา. * หลัง​การ​ทดสอบ​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก พวก​นัก​วิจัย​ตี​พิมพ์​บท​สรุป​ว่า ข้อมูล​ที่​เข้า​รหัส​ไว้​ใน​พระ​ธรรม​เยเนซิศ​ตาม​หลัก​ของ​สถิติ​ไม่​อาจ​เกิด​ขึ้น​โดย​บังเอิญ​ได้ แต่​พิสูจน์​แล้ว​ว่า​เป็น​ข้อมูล​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ซึ่ง​จงใจ​ซ่อน​ไว้​เป็น​รหัส​ใน​พระ​ธรรม​เยเนซิศ​เมื่อ​หลาย​พัน​ปี​ก่อน.

โดย​อาศัย​วิธี​การ​นี้ นัก​หนังสือ​พิมพ์​โดรสนิน​ทำ​การ​ทดสอบ​ด้วย​ตัว​เอง โดย​ค้น​หา​ข้อมูล​ที่​ซ่อน​อยู่​ใน​พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​โดรสนิน เขา​พบ​ชื่อ​ของ​ยิตซัค รา​บิน ฝัง​อยู่​ใน​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​ลำดับ​ทุก ๆ 4,772 ตัว. ถ้า​นำ​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​เรียง​กัน​บรรทัด​ละ 4,772 ตัว เขา​เห็น​ชื่อ​ของ​นาย​รา​บิน (อ่าน​ตาม​แนว​ตั้ง) ตัด​กับ​บรรทัด​หนึ่ง (พระ​บัญญัติ 4:42 อ่าน​ตาม​แนว​นอน) ซึ่ง​โดรสนิน​แปล​ว่า “ผู้​ลอบ​สังหาร​ซึ่ง​จะ​ลอบ​สังหาร.”

จริง ๆ แล้ว พระ​บัญญัติ 4:42 พูด​ถึง​ผู้​ฆ่า​คน​โดย​ไม่​เจตนา. ด้วย​เหตุ​นี้ หลาย​คน​จึง​วิจารณ์​ว่า​โดรสนิน​ตี​ความ​ตาม​ใจ​ตน​เอง และ​อ้าง​ว่า​วิธี​การ​ของ​เขา​ซึ่ง​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​วิทยาศาสตร์​จะ​ใช้​เพื่อ​หา​ข่าวสาร​คล้าย ๆ กัน​ใน​ข้อ​ความ​ใด​ก็​ได้. แต่​โดรสนิน​ยืน​ยัน​หนักแน่น โดย​ท้าทาย​ว่า “เมื่อ​ผู้​ที่​วิจารณ์​ผม​พบ​ข่าวสาร​เกี่ยว​กับ​การ​ลอบ​สังหาร​ท่าน​นายก​รัฐมนตรี​ซ่อน​เป็น​รหัส​อยู่​ใน [นวนิยาย​เรื่อง] โมบี ดิก ผม​ถึง​จะ​เชื่อ​พวก​เขา.”

ข้อ​พิสูจน์​ถึง​การ​ดล​ใจ​หรือ?

ศาสตราจารย์​เบรน​ดัน แมกเคย์ แห่ง​แผนก​วิทยาศาสตร์​คอมพิวเตอร์​ที่​มหาวิทยาลัย​แห่ง​ชาติ​ออสเตรเลีย รับ​คำ​ท้า​ของ​โดรสนิน​และ​ใช้​คอมพิวเตอร์​ค้น​หา​เป็น​การ​ใหญ่​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​อังกฤษ​ของ​โมบี ดิก. * โดย​ใช้​วิธี​การ​เดียว​กัน​ซึ่ง​โดรสนิน​พรรณนา​ไว้ แมกเคย์​อ้าง​ว่า​ได้​พบ “คำ​ทำนาย” ของ​การ​ลอบ​สังหาร​นาง​อินทิรา คานธี, มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี, อับราฮาม ลิงคอล์น, และ​คน​อื่น ๆ อีก. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​แมกเคย์ เขา​ค้น​พบ​ว่า โมบี ดิก ยัง “พยากรณ์” ถึง​การ​สังหาร​นาย​ยิตซัค รา​บิน ด้วย​เช่น​กัน.

กลับ​มา​ที่​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ของ​พระ​ธรรม​เยเนซิศ ศาสตราจารย์​แมกเคย์​และ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ได้​ท้าทาย​ผล​การ​ทดลอง​ของ​ริปส์​และ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​เขา​ด้วย. คำ​วิจารณ์​คือ​ว่า​ผล​การ​วิจัย​ไม่​ได้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ข่าวสาร​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ที่​เข้า​รหัส​ไว้​เท่า​ใด​นัก แต่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​วิธี​การ​และ​ทัศนะ​ของ​ผู้​วิจัย​มาก​กว่า นั่น​คือ​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มี​การ​เลือก​ข้อมูล​ตาม​การ​ตัดสิน​ของ​ผู้​ที่​ทำ​การ​วิจัย. การ​ถกเถียง​ของ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ใน​เรื่อง​นี้​ยัง​คง​ดำเนิน​อยู่.

อีก​ประเด็น​หนึ่ง​ถูก​ยก​ขึ้น​มา​เมื่อ​มี​การ​อ้าง​ว่า​ข่าวสาร​ที่​เข้า​รหัส​ไว้​นั้น​ถูก​ซ่อน​อยู่​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู “มาตรฐาน” หรือ “ดั้งเดิม” อย่าง​จงใจ. ริปส์​และ​เพื่อน​นัก​วิจัย​ของ​เขา​กล่าว​ว่า​พวก​เขา​ทำ​การ​ค้นคว้า​ใน “ข้อ​ความ​มาตรฐาน​ของ​พระ​ธรรม​เยเนซิศ​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ทั่ว​ไป.” โดรสนิน​เขียน​ว่า “คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​เล่ม​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ดั้งเดิม​ซึ่ง​มี​อยู่​ตอน​นี้​เหมือน​กัน​ทุก​ตัว​อักษร​ที​เดียว.” แต่​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง​ไหม? แทน​ที่​จะ​มี​ข้อ​ความ “มาตรฐาน” มี​การ​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู​อยู่​ใน​ปัจจุบัน​หลาย​ฉบับ ซึ่ง​อาศัย​ฉบับ​สำเนา​โบราณ​คน​ละ​ฉบับ​กัน. แม้​ว่า​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​เปลี่ยน​ไป แต่​ฉบับ​สำเนา​แต่​ละ​ฉบับ​ไม่​ได้​เหมือน​กัน​ทุก​ตัว​อักษร.

ฉบับ​แปล​หลาย​ฉบับ​ใน​ปัจจุบัน​อาศัย​โคเดกซ์​เลนินกราด ซึ่ง​เป็น​ฉบับ​สำเนา​มาโซเรต​ภาษา​ฮีบรู​ที่​ครบ​ถ้วน​และ​เก่า​แก่​ที่​สุด ซึ่ง​มี​การ​คัด​ลอก​เมื่อ​ปี ส.ศ. 1000. แต่​ริปส์​และ​โดรสนิน​ใช้​อีก​ฉบับ​หนึ่ง ชื่อ​ฉบับ​โค​เรน. ชโลโม สเติร์นเบิร์ก รับบี​นิกาย​ออร์โทด็อกซ์​และ​นัก​คณิตศาสตร์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ฮาร์เวิร์ด อธิบาย​ว่า​โคเดกซ์​เลนินกราด “แตกต่าง​จาก​ฉบับ​โค​เรน​ซึ่ง​ใช้​โดย​โดรสนิน 41 ตัว​อักษร​เฉพาะ​ใน​พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ​เล่ม​เดียว.” ม้วน​หนังสือ​ทะเล​ตาย​มี​ส่วน​ของ​ข้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​คัด​ลอก​เมื่อ 2,000 ปี​ที่​แล้ว. วิธี​สะกดของ​ม้วน​หนังสือ​เหล่า​นี้​มัก​แตกต่าง​อย่าง​มาก​จาก​ข้อ​ความ​มาโซเรต​ใน​ยุค​หลัง ๆ. ใน​ม้วน​หนังสือ​บาง​ม้วน มี​การ​สอด​แทรก​ตัว​อักษร​บาง​ตัว​เข้า​ไป​มาก​มาย​เพื่อ​ระบุ​เสียง​สระ เนื่อง​จาก​ยัง​ไม่​มี​การ​คิด​ค้น​เครื่องหมาย​สระ​ขึ้น. ใน​ม้วน​หนังสือ​ม้วน​อื่น ๆ มี​การ​ใช้​ตัว​อักษร​น้อย​กว่า. การ​เทียบ​กัน​ระหว่าง​ฉบับ​สำเนา​ที่​มี​อยู่​ทุก​ฉบับ​แสดง​ว่า​ความหมาย​ของ​ข้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​เปลี่ยน​ไป. แต่​การ​เทียบ​กัน​เช่น​นั้น​แสดง​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​การ​สะกด​และ​จำนวน​ตัว​อักษร​ของ​ฉบับ​ต่าง ๆ มี​ความ​แตกต่าง​กัน.

การ​ค้น​หา​ข่าวสาร​ที่​คิด​กัน​ว่า​ซ่อน​อยู่​ต้อง​อาศัย​ข้อ​ความ​ที่​ไม่​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​เลย. การ​เปลี่ยน​ตัว​อักษร​หนึ่ง​ตัว​ก็​จะ​เปลี่ยน​ลำดับ​ตัว​อักษร​และ​ข่าวสาร​ไป​โดย​สิ้นเชิง ถ้า​มี​ข่าวสาร​นั้น​อยู่​จริง. พระเจ้า​ทรง​รักษา​ข่าวสาร​ของ​พระองค์​โดย​ทาง​คัมภีร์​ไบเบิล. แต่​พระองค์​ไม่​ทรง​รักษา​ตัว​อักษร​แต่​ละ​ตัว​ไม่​ให้​เปลี่ยน​ไป ประหนึ่ง​ว่า​พระองค์​ทรง​หมกมุ่น​กับ​เรื่อง​ธรรมดา ๆ เช่น การ​เปลี่ยน​แปลง​ตัว​สะกด​ตลอด​เวลา​หลาย​ศตวรรษ. นี่​หมายความ​ว่า​พระองค์​ไม่​ได้​ซ่อน​ข่าวสาร​ลับ​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มิ​ใช่​หรือ?—ยะซายา 40:8; 1 เปโตร 1:24, 25.

เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​รหัส​ที่​ซ่อน​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ไว้​อย่าง​ชัดเจน​ยิ่ง​ว่า “พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​เป็น​ประโยชน์​เพื่อ​การ​สั่ง​สอน, เพื่อ​การ​ว่า​กล่าว, เพื่อ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​เรียบร้อย, เพื่อ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​ชอบธรรม. เพื่อ​คน​ของ​พระเจ้า​จะ​เป็น​ผู้​ที่​มี​คุณสมบัติ​ครบ​ถ้วน, เตรียม​พร้อม​สำหรับ​การ​ดี​ทุก​อย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) ข่าวสาร​ที่​ชัดเจน​และ​ตรง​ไป​ตรง​มา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ยาก​เกิน​จะ​เข้าใจ​หรือ​นำ​ไป​ใช้​ได้ แต่​หลาย​คน​จงใจ​เพิกเฉย​เสีย. (พระ​บัญญัติ 30:11-14) คำ​พยากรณ์​ซึ่ง​เปิด​เผย​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​พื้น​ฐาน​อัน​หนักแน่น​ที่​จะ​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​มา​จาก​การ​ดล​ใจ. * ไม่​เหมือน​รหัส​ที่​ซ่อน​อยู่ คำ​พยากรณ์​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​ตี​ความ และ​ไม่​ได้ “เกิด​จาก​การ​แปล​ความหมาย​ตาม​อำเภอใจ​แต่​อย่าง​ใด.”—2 เปโตร 1:19-21, ล.ม.

อัครสาวก​เปโตร​เขียน​ว่า “มิ​ใช่​โดย​การ​ติด​ตาม​นิยาย​ที่​เขา​แต่ง​ขึ้น​ด้วย​ความ​ฉลาด​แกม​โกง​นั้น​หรอก​ที่​เรา​ทำ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​รู้​จัก​อำนาจ​และ​การ​ประทับ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา.” (2 เปโตร 1:16, ล.ม.) แนว​คิด​เรื่อง​รหัส​ลับ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ต้นตอ​มา​จาก​รหัสยลัทธิ​ของ​ชาว​ยิว โดย​ใช้​วิธี​การ​ที่ “แต่ง​ขึ้น​ด้วย​ความ​ฉลาด​แกม​โกง” ซึ่ง​บดบัง​และ​บิดเบือน​ความหมาย​ที่​ชัดเจน​ของ​ข้อ​ความ​ซึ่ง​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เอง​ก็​ประณาม​วิธี​การ​ที่​ลึกลับ​เช่น​นั้น​อย่าง​ไม่​สงสัย.—พระ​บัญญัติ 13:1-5; 18:9-13.

เรา​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​ที่​มี​ข่าวสาร​และ​คำ​แนะ​นำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ชัดเจน ซึ่ง​สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​รู้​จัก​พระเจ้า​ได้! นี่​ยอด​เยี่ยม​กว่า​มาก​นัก​เมื่อ​เทียบ​กับ​การ​พยายาม​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​ผู้​สร้าง​โดย​ค้น​หา​ข่าวสาร​ที่​ซ่อน​อยู่​ซึ่ง​เป็น​ผล​ผลิต​ของ​การ​แปล​ความหมาย​ตาม​อำเภอใจ​และ​จินตนาการ​ที่​อาศัย​คอมพิวเตอร์.—มัดธาย 7:24, 25.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 ใน​ภาษา​ฮีบรู จำนวน​ตัว​เลข​อาจ​เขียน​เป็น​ตัว​อักษร​ได้​ด้วย. ดัง​นั้น วัน​ที่​เหล่า​นี้​ถูก​กำหนด​โดย​อาศัย​ตัว​อักษร​ภาษา​ฮีบรู​ไม่​ใช่​ด้วย​ตัว​เลข.

^ วรรค 13 ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​ที่​ไม่​มี​ตัว​สระ. ผู้​อ่าน​จะ​ใส่​สระ​เข้า​ไป​เอง​ตาม​บริบท. ถ้า​ไม่​คำนึง​ถึง​บริบท ความหมาย​ของ​คำ​คำ​หนึ่ง​อาจ​เปลี่ยน​ไป​ได้​อย่าง​สิ้นเชิง​โดย​การ​ใส่​สระ​ตัว​อื่น. ภาษา​อังกฤษ​มี​ตัว​สระ​ที่​แน่นอน ทำ​ให้​การ​ค้น​หา​คำ​โดย​วิธี​นี้​ยาก​กว่า​และ​มี​ข้อ​จำกัด​มาก​กว่า​หลาย​เท่า.

^ วรรค 19 เพื่อ​จะ​ได้​ข้อมูล​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​การ​ดล​ใจ​ให้​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​คำ​พยากรณ์ ดู​จุลสาร​หนังสือ​สำหรับ​ทุก​คน จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.