ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เม่น—นักท่องชนบท

เม่น—นักท่องชนบท

เม่น—นัก​ท่อง​ชนบท

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

หมอก​สี​ขาว​แผ่​คลุม​ลุ่ม​แม่น้ำ​ไทน์​ทาง​ภาค​เหนือ​ของ​อังกฤษ อีกา​รู้ก​ส่ง​เสียง​ร้อง​มา​แต่​ไกล​ท่ามกลาง​ความ​เงียบ​สงบ​ใน​ยาม​เย็น. ขณะ​ที่​ผม​เดิน​ไป​ตาม​ทาง​ใน​ป่า ผม​ได้​ยิน​เสียง​กรอบแกรบ​ดัง​แว่ว ๆ ออก​มา​จาก​ใบ​ไม้​ที่​ร่วง​หล่น​อยู่​บน​พื้น—ทั้ง​สี​แดง, น้ำตาล, และ​เหลือง—จน​ทำ​ให้​ผม​ต้อง​หัน​ไป​มอง. ผม​เห็น​ขา​หลัง​เล็ก ๆ สั้น ๆ แวบ​หนึ่ง​ผลุบ​เข้า​ไป​ใน​โพรง​ริม​ตลิ่ง​แห้ง​ของ​ลำธาร​ที่​ผม​เดิน​ลัด​เลาะ​มา.

เมื่อ​เข้า​ไป​ดู​ใกล้ ๆ ผม​เห็น​เม่น​ตัว​หนึ่ง​กำลัง​จัดแจง​ที่​ทาง​สำหรับ​การ​จำศีล​ใน​ช่วง​ฤดู​หนาว​ไว้​อย่าง​ดี. เจ้า​เม่น​ตัว​นั้น​ขน​ใบ​ไม้, หญ้า​แห้ง, และ​ใบ​เฟิร์น​เข้า​ไป​แล้ว. มัน​กำลัง​ทำ​ที่​ไว้​นอน​ตลอด​วัน​ตลอด​คืน​ใน​ฤดู​หนาว.

เม่น​ตัว​น้อย​ที่​น่า​รัก​นี้​ซึ่ง​พบ​ได้​ตาม​เชิง​เขา, ใน​ทุ่ง, และ​ใน​ป่า ไม่​มี​ทาง​ที่​จะ​ถูก​มอง​เป็น​สัตว์​ชนิด​อื่น​ไป​ได้. หัว​และ​คอ​ของ​เม่น​มี​ขน​หยาบ ๆ สี​น้ำตาล​สลับ​ขาว แต่​ลักษณะ​ที่​เด่น​ที่​สุด​ของ​มัน​คือ​ขน​หนาม​ที่​มี​ปลาย​สี​เหลือง​ซึ่ง​เอา​ไว้​ป้องกัน​ตัว. ขน​หนาม​นี้​ยาว​ประมาณ 2 เซนติเมตร​และ​แหลม​มาก ขน​หนาม​นี้​งอก​ออก​มา​จาก​ขน​หยาบ​และ​อยู่​เป็น​กลุ่ม ๆ ใน​ลักษณะ​ที่​กระจาย​ออก​จาก​จุด​ศูนย์กลาง​แผ่​คลุม​รอบ​ตัว​มัน. ขน​หนาม​แต่​ละ​อัน​มี​ร่อง​ตาม​ยาว​ประมาณ 22 ถึง 24 ร่อง​และ​ขน​นั้น​งอก​ขึ้น​เกือบ​เป็น​มุม​ฉาก​จาก​ฐาน​ที่​เป็น​รูป​ครึ่ง​วง​กลม. ขน​หนาม​แต่​ละ​อัน​มี​ส่วน​คอด​ตรง​โคน​ซึ่ง​ทำ​ให้​พับ​ลง​ได้. นี่​หมาย​ความ​ว่า ถ้า​เม่น​ตก​ลง​มา​จาก​ที่​สูง มัน​ก็​จะ​รอด​ชีวิต​ได้​เนื่อง​จาก​ขน​หนาม​ของ​มัน​จะ​พับ​ราบ​ลง​ทำ​ให้​หนาม​ไม่​ตำ​ตัว​มัน​เอง. ช่าง​เป็น​การ​ออก​แบบ​ที่​น่า​ทึ่ง​อะไร​เช่น​นี้!

เมื่อ​ตกใจ เม่น​จะ​ทำ​ท่า​ป้องกัน​ตัว​โดย​ม้วน​ตัว​จน​เป็น​ลูก​กลม ๆ. กล้ามเนื้อ​ที่​แข็งแรง​ของ​มัน​จะ​ดึง​หนัง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​หนาม​แหลม​ให้​ยืด​ไป​ปิด​หัว​และ​ข้าง​ลำ​ตัว​ของ​มัน​จน​มิด เหมือน​กับ​เชือก​ที่​รูด​ปิด​ปาก​ถุง​หนัง​นุ่ม ๆ. เกราะ​ป้องกัน​นี้​หุ้ม​ห่อ​ทั้ง​หัว, หาง, ขา, และ​ท้อง​ของ​มัน​ด้วย​หนาม​แหลม​คม. เม่น​สามารถ​อยู่​ใน​ท่า​นี้​ได้​นาน​ที​เดียว.

เม่น​มัก​จะ​หิว​ตอน​ค่ำ ๆ. มัน​กิน​แมลง​และ​หนอน​เป็น​อาหาร​เย็น แต่​ก็​อาจ​กิน​หนู, กบ, กิ้งก่า, รวม​ทั้ง​ถั่ว​เปลือก​แข็ง​และ​ลูก​ไม้​เป็น​ครั้ง​คราว. เม่น​มี​หู​ไว​มาก. จมูก​มัน​ก็​ไว​เช่น​กัน ดัง​ที่​คุณ​คง​เดา​ได้​เมื่อ​เห็น​ปลาย​จมูก​แหลม ๆ และ​รู​จมูก​ที่​เปียก​ของ​มัน.

ศัตรู​ตาม​ธรรมชาติ​และ​ไม่​ใช่​ธรรมชาติ

นอก​จาก​สุนัข​จิ้งจอก​และ​ตัว​แบดเจอร์​แล้ว เม่น​แทบ​จะ​ไม่​มี​ศัตรู​ตาม​ธรรมชาติ​เลย. แบดเจอร์​สามารถ​แกะ​เม่น​ที่​ม้วน​ตัว​อยู่​ออก​มา​ได้​ง่าย ๆ ด้วย​กรง​เล็บ​ขา​หน้า​อัน​ทรง​พลัง โดย​ไม่​สะทก​สะท้าน​กับ​ขน​เม่น​เลย. หลาย​ครั้ง​ผม​เห็น​หนัง​เม่น​กอง​อยู่ ซึ่ง​คง​เป็น​ซาก​ที่​เหลือ​จาก​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​ตัว​แบดเจอร์. ส่วน​สุนัข​จิ้งจอก​นั้น​จัด​การ​กับ​ขน​เม่น​ไม่​ได้ แต่​มัน​อาจ​กลิ้ง​เม่น​ลง​ไป​ใน​น้ำ ซึ่ง​ทำ​ให้​เม่น​ต้อง​คลาย​ตัว​ออก​หรือ​ไม่​ก็​จม​น้ำ​ตาย. เนื่อง​จาก​เม่น​ว่าย​น้ำ​เก่ง มัน​จึง​มี​โอกาส​ว่าย​ไป​ซ่อน​ตาม​หิน​หรือ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​โพรง​ริม​ตลิ่ง ก่อน​ที่​มัน​จะ​ถูก​สุนัข​จิ้งจอก​จับ​กิน.

ชาว​ยิปซี​และ​ชาว​ชนบท​บาง​คน​กิน​เม่น​โดย​อบ​ใน​ดิน​เหนียว. เมื่อ​ดิน​เย็น​และ​ทุบ​ดิน​นั้น​ให้​แตก ขน​เม่น​จะ​หลุด​ออก​มา​เหลือ​แต่​เนื้อ​ที่​สุก​ดี​แล้ว ซึ่ง​เป็น “อาหาร​รส​เลิศ” ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​ชื่อ​เดอะ ยิปซีส์ ของ​นาย​ชอง-ปอล เคล​แบร์. ปัจจุบัน น่า​เศร้า​ที่​เห็น​เม่น​จำนวน​มาก​ถูก​รถ​ทับ​ตาย. พวก​มัน​เสี่ยง​ที่​จะ​ถูก​รถ​ทับ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ตอน​ที่​มัน​เพิ่ง​ตื่น​จาก​การ​จำศีล​และ​กำลัง​หา​อาหาร. แต่​ถ้า​เม่น​สามารถ​รอด​จาก​ศัตรู​ตาม​ธรรมชาติ​และ​ไม่​ใช่​ธรรมชาติ​เหล่า​นี้ มัน​ก็​อยู่​ได้​ถึง​หก​ปี​หรือ​ราว ๆ นั้น และ​โต​ขึ้น​จน​มี​ขนาด​ยาว​ประมาณ 25 เซนติเมตร.

การ​ผสม​พันธุ์, การ​จำศีล, และ​การ​หา​อาหาร

เม่น​จะ​ผสม​พันธุ์​กัน​ใน​ช่วง​เดือน​พฤษภาคม​ถึง​กรกฎาคม และ​จะ​ผสม​พันธุ์​ครั้ง​ที่​สอง​ช่วง​ปลาย​ฤดู​ผสม​พันธุ์. มัน​มี​ระยะ​ตั้ง​ท้อง​นาน​สี่​ถึง​หก​สัปดาห์ และ​มี​ลูก​ครอก​ละ​สาม​ถึง​สี่​ตัว แต่​ละ​ตัว​หนัก​ไม่​เกิน 30 กรัม. ช่วง​สอง​สัปดาห์​แรก​ที่​เกิด​มา พวก​มัน​จะ​มอง​ไม่​เห็น​และ​ไม่​ได้​ยิน​อะไร และ​อ่อนแอ​มาก. จาก​นั้น ขน​นุ่ม ๆ ของ​มัน​ก็​จะ​ค่อย ๆ เปลี่ยน​เป็น​ขน​หนาม. นอก​จาก​นี้ มัน​ยัง​เริ่ม​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ม้วน​ตัว​จน​มิด​ได้​ด้วย. ถ้า​ถูก​รบกวน​ก่อน​หน้า​นี้ มัน​จะ​ดีด​ตัว​ขึ้น​ทันที​และ​ขู่​เสียง​แหลม. นี่​ทำ​ให้​สัตว์​นัก​ล่า​หลาย​ชนิด​ตกใจ​และ​หนี​ไป.

เม่น​สะสม​ไขมัน​ระหว่าง​ฤดู​ร้อน​ซึ่ง​ทำ​ให้​มัน​อยู่​ได้​ตลอด​ช่วง​จำศีล. ใน​ช่วง​นี้ อุณหภูมิ​ของ​ร่าง​กาย​จะ​ต่ำ​ลง​มาก​และ​การ​หายใจ​ก็​แผ่ว​เบา​จน​แทบ​ตรวจ​จับ​ไม่​ได้. เม่น​มี​ต่อม​จำศีล​พิเศษ​ซึ่ง​ตรวจ​วัด​ความ​ร้อน​ใน​ร่าง​กาย. ถ้า​อุณหภูมิ​ร่าง​กาย​ลด​ต่ำ​เกิน​ไป​ใน​ช่วง​จำศีล ต่อม​นี้​ก็​จะ​ผลิต​ความ​ร้อน​มาก​ขึ้น จน​พอ​ที่​จะ​ทำ​ให้​เม่น​รู้สึก​ตัว​และ​หา​ที่​จำศีล​ที่​อบอุ่น​กว่า​และ​มิดชิด​กว่า. ช่วง​ที่​จำศีล​ใน​ฤดู​หนาว เม่น​ไม่​ได้​ตัด​ขาด​จาก​โลก​ภาย​นอก​โดย​สิ้นเชิง. ถ้า​รู้สึก​ได้​ว่า​มี​เสียง​ดัง​อยู่​ใกล้ ๆ มัน​ก็​จะ​ขยับ​ตัว​เล็ก​น้อย.

ถ้า​ถูก​ขัง​ไว้​ใน​สวน ไม่​นาน​เม่น​จะ​ปีน​กำแพง, รั้ว, หรือ​แม้​แต่​ท่อ​ระบาย​น้ำ​เพื่อ​หา​ทาง​ออก เพราะ​มัน​ต้อง​ออก​หา​กิน​ใน​พื้น​ที่​กว้าง ๆ. ด้วย​เหตุ​ผล​นี้ มัน​จึง​เป็น​สัตว์​ป่า​และ​ไม่​เหมาะ​จะ​นำ​มา​เป็น​สัตว์​เลี้ยง​ใน​บ้าน. และ​ก็​ดี​กว่า​ที่​จะ​ให้​มัน​อยู่​แบบ​นั้น เพราะ​เม่น​ป่า​มัก​จะ​มี​หมัด​เต็ม​ไป​หมด. แต่​เม่น​ผู้​น่า​รัก​ที่​ชอบ​ท่อง​เที่ยว​ไป​ตาม​ชนบท​ทั่ว​เขต​บริเตน​นี้​ทำ​ให้​มี​สิ่ง​ที่​น่า​สนใจ​เพิ่ม​ขึ้น ซึ่ง​ผม​รู้สึก​หยั่ง​รู้​ค่า​เสมอ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา.

[ภาพ​หน้า 15]

เม่น​ตัว​หนึ่ง​ม้วน​ตัว​จน​เป็น​ลูก​กลม ๆ

[ภาพ​หน้า 16]

ภาพ​เม่น​โดย​บีทริกซ์ พอตเตอร์ จาก​หนังสือ​นิทาน​เด็ก​ที่​เธอ​เขียน​ใน​ปี 1905 ชื่อ “เรื่อง​ราว​ของ​คุณนาย​ทิกกี-วิงเคิล”

[ภาพ​หน้า 16]

เม่น​ธรรมดา อายุ​หนึ่ง​สัปดาห์

[ภาพ​หน้า 17]

เม่น​แคระ​แอฟริกา​ใต้