ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กาลิเลโอขัดแย้งกับคริสตจักร

กาลิเลโอขัดแย้งกับคริสตจักร

กาลิเลโอ​ขัด​แย้ง​กับ​คริสตจักร

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อิตาลี

ใน​วัน​ที่ 22 มิถุนายน 1633 ชาย​ชรา​ผู้​กะปลกกะเปลี้ย​คน​หนึ่ง​คุกเข่า​ลง​ต่อ​หน้า​ศาล​ศาสนา​โรมัน​คาทอลิก. เขา​เป็น​นัก​วิทยาศาสตร์​ที่​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง​ที่​สุด​คน​หนึ่ง​ใน​ยุค​นั้น. การ​ศึกษา​ค้นคว้า​มา​นาน​หลาย​ปี​ทำ​ให้​เขา​เกิด​ความ​เชื่อ​มั่น​ทาง​วิทยาศาสตร์. แต่​ถ้า​เขา​อยาก​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป เขา​ต้อง​เลิก​เชื่อ​ใน​สิ่ง​ที่​เขา​รู้​ว่า​เป็น​ความ​จริง.

บุคคล​ผู้​นี้​ชื่อ กาลิเลโอ กาลิเลอี. คดี​ของ​กาลิเลโอ ตาม​ที่​หลาย​คน​เรียก​กัน ได้​ก่อ​ให้​เกิด​ข้อ​สงสัย, คำ​ถาม, และ​การ​ถกเถียง​กัน​ซึ่ง​ยัง​คง​มี​อยู่​ใน​ปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่​ผ่าน​มา​ประมาณ 370 ปี​แล้ว. คดี​นี้​ได้​ทิ้ง​ร่องรอย​ที่​ไม่​อาจ​ลบ​เลือน​ได้​ไว้​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ศาสนา​และ​วิทยาศาสตร์. ทำไม​จึง​เป็น​เรื่อง​ใหญ่​ขนาด​นั้น? ทำไม​คดี​ของ​กาลิเลโอ​จึง​กลาย​เป็น​ข่าว​ขึ้น​มา​อีก​ครั้ง​ใน​สมัย​ของ​เรา? คดี​นี้​เป็น​สัญลักษณ์​ที่​แสดง​ถึง “การ​แตก​แยก​กัน​ระหว่าง​วิทยาศาสตร์​กับ​ศาสนา” ไหม ดัง​ที่​นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ไว้?

หลาย​คน​ถือ​ว่า กาลิเลโอ​เป็น “บิดา​แห่ง​วิทยาศาสตร์​ยุค​ใหม่.” เขา​เป็น​ทั้ง​นัก​คณิตศาสตร์, นัก​ดาราศาสตร์, และ​นัก​ฟิสิกส์. กาลิเลโอ​เป็น​หนึ่ง​ใน​คน​กลุ่ม​แรก ๆ ที่​สำรวจ​ท้องฟ้า​ด้วย​กล้อง​โทรทรรศน์ เขา​ตี​ความ​สิ่ง​ที่​เขา​เห็น​ว่า​สนับสนุน​แนว​คิด​ซึ่ง​ยัง​เป็น​ที่​ถกเถียง​กัน​อย่าง​ดุเดือด​ใน​สมัย​ของ​เขา​ที่​ว่า โลก​โคจร​รอบ​ดวง​อาทิตย์​และ​ไม่​ใช่​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ. ไม่​แปลก​ที่​บาง​ครั้ง​ถือ​กัน​ว่า​กาลิเลโอ​เป็น​ผู้​วาง​รากฐาน​สำหรับ​วิธี​การ​ทดลอง​แบบ​สมัย​ใหม่!

กาลิเลโอ​ค้น​พบ​และ​ประดิษฐ์​คิด​ค้น​อะไร​บ้าง? ใน​ฐานะ​นัก​ดาราศาสตร์ เขา​ค้น​พบ​หลาย​สิ่ง เช่น ดาว​พฤหัสบดี​มี​ดวง​จันทร์​บริวาร, ทาง​ช้าง​เผือก​ประกอบ​ด้วย​ดวง​ดาว, ดวง​จันทร์​มี​ภูเขา, และ​ดาว​ศุกร์​มี​ข้าง​ขึ้น​ข้าง​แรม​เหมือน​ดวง​จันทร์. ใน​ฐานะ​นัก​ฟิสิกส์ เขา​ได้​ศึกษา​กฎ​ที่​ควบคุม​ทั้ง​การ​แกว่ง​ของ​ลูก​ตุ้ม และ​วัตถุ​ที่​ตก​ถึง​พื้น. เขา​ประดิษฐ์​เครื่อง​มือ​บาง​อย่าง เช่น บรรทัด​คำนวณ​ชนิด​หนึ่ง. โดย​ใช้​ข้อมูล​ที่​ได้​รับ​จาก​ฮอลแลนด์ เขา​ประดิษฐ์​กล้อง​โทรทรรศน์​ซึ่ง​ทำ​ให้​ส่อง​ดู​เอกภพ​ได้.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เผชิญ​หน้า​กับ​คณะ​สงฆ์​แห่ง​คริสตจักร​อย่าง​ยืดเยื้อ​ยาว​นาน​ทำ​ให้​ชีวิต​การ​งาน​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​ผู้​เรือง​นาม​คน​นี้​กลาย​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​ตึงเครียด ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​คดี​ของ​กาลิเลโอ. เรื่อง​นี้​มี​ความ​เป็น​มา​อย่าง​ไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

ขัด​แย้ง​กับ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก

เริ่ม​ตั้ง​แต่​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 16 กาลิเลโอ​เชื่อ​ใน​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส ที่​ว่า​โลก​โคจร​รอบ​ดวง​อาทิตย์ ไม่​ใช่​กลับ​กัน. ทฤษฎี​นี้​เรียก​กัน​ด้วย​ว่า ระบบ​เฮลิโอเซนทริก (ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง). ใน​ปี 1610 หลัง​จาก​กาลิเลโอ​ได้​ใช้​กล้อง​โทรทรรศน์​ส่อง​ดู​เทห์ฟากฟ้า ซึ่ง​ไม่​เคย​มี​ใคร​พบ​เห็น​มา​ก่อน เขา​ก็​เกิด​ความ​มั่น​ใจ​ว่า​ได้​ค้น​พบ​สิ่ง​ที่​สนับสนุน​ทฤษฎี​เฮลิโอเซนทริก​แล้ว.

ตาม​ที่​กล่าว​ใน​กรันเด ดีซีออนารีโอ เอนซีโกลเปดีโก อูเตเอเต กาลิเลโอ​ไม่​เพียง​แต่​ต้องการ​ค้น​พบ​สิ่ง​เหล่า​นี้. เขา​ต้องการ​ทำ​ให้ “ผู้​มี​ตำแหน่ง​สูง​ใน​ยุค​นั้น (พวก​กษัตริย์​และ​คาร์ดินัล)” เชื่อ​ว่า​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส​เป็น​เรื่อง​จริง. เขา​หวัง​อยู่​เสมอ​ว่า ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​สหาย​ที่​มี​อิทธิพล เขา​จะ​ชนะ​ข้อ​คัดค้าน​ของ​คริสตจักร​และ​ถึง​กับ​ได้​แรง​สนับสนุน​จาก​คริสตจักร​ด้วย​ซ้ำ.

ใน​ปี 1611 กาลิเลโอ​เดิน​ทาง​ไป​โรม ที่​ซึ่ง​เขา​พบ​กับ​บาทหลวง​ระดับ​สูง. เขา​ใช้​กล้อง​โทรทรรศน์​แสดง​ให้​คน​เหล่า​นั้น​เห็น​การ​ค้น​พบ​ทาง​ดาราศาสตร์​ของ​เขา. แต่​ปรากฏ​ว่า​เรื่อง​ราว​ไม่​ได้​เป็น​ไป​อย่าง​ที่​เขา​หวัง​ไว้. พอ​ถึง​ปี 1616 กาลิเลโอ​กลับ​ต้อง​มา​ถูก​ทาง​การ​สอบสวน.

นัก​เทววิทยา​แห่ง​ศาล​ศาสนา​โรมัน​คาทอลิก​เรียก​ทฤษฎี​เฮลิโอเซนทริก​ว่า “เรื่อง​โง่​เขลา​และ​เหลวไหล​ทาง​ปรัชญา​แถม​ผิด​จารีต​ประเพณี เนื่อง​จาก​ใน​หลาย​แง่ แนว​คิด​นี้​ขัด​แย้ง​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​กับ​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ทั้ง​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร, ตาม​คำ​อรรถาธิบาย​ที่​ยอม​รับ​กัน​ทั่ว​ไป, และ​ตาม​ความ​เข้าใจ​ของ​สันตะปาปา​และ​นัก​เทววิทยา.”

กาลิเลโอ​พบ​กับ​คาร์ดินัล​โรเบิร์ต เบลลาร์มีน ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​นัก​เทววิทยา​ฝ่าย​คาทอลิก​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ยุค​นั้น​และ​ได้​รับ​การ​ขนาน​นาม​ว่า “ผู้​ลง​ทัณฑ์​พวก​นอก​รีต.” เบลลาร์มีน​ตักเตือน​กาลิเลโอ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ให้​หยุด​เผยแพร่​ความ​คิด​เห็น​ของ​เขา​เรื่อง​ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง.

เผชิญ​หน้า​ศาล​ศาสนา

กาลิเลโอ​พยายาม​ดำเนิน​การ​อย่าง​สุขุม แต่​เขา​ไม่​ได้​ประกาศ​เพิกถอน​การ​สนับสนุน​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส. สิบ​เจ็ด​ปี​ต่อ​มา หรือ​ใน​ปี 1633 กาลิเลโอ​ปรากฏ​ตัว​ต่อ​หน้า​ศาล​ศาสนา. คาร์ดินัล​เบลลาร์มีน​เสีย​ชีวิต​ไป​แล้ว แต่​ตอน​นี้​ผู้​ต่อ​ต้าน​คน​สำคัญ​ของ​กาลิเลโอ​คือ​โปป​เออร์​บัน​ที่ 8 ซึ่ง​แต่​ก่อน​เคย​เห็น​พ้อง​กับ​เขา. นัก​เขียน​หลาย​คน​เรียก​การ​พิจารณา​คดี​ครั้ง​นี้​ว่า​หนึ่ง​ใน​คดี​ที่​โด่งดัง​ที่​สุด​และ​อยุติธรรม​ที่​สุด​ใน​สมัย​อดีต โดย​จัด​ไว้​ใน​ระดับ​เดียว​กับ​การ​พิจารณา​คดี​ของ​โสกราตีส​และ​พระ​เยซู.

อะไร​กระตุ้น​ให้​มี​การ​พิจารณา​คดี​ครั้ง​นี้? กาลิเลโอ​เขียน​หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​ชื่อ​บท​สนทนา​ว่า​ด้วย​ระบบ​โลก​สอง​ระบบ​สำคัญ. โดย​หลัก​แล้ว หนังสือ​เล่ม​นี้​สนับสนุน​ทฤษฎี​เฮลิโอเซนทริก. ผู้​เขียน​ถูก​เรียก​ตัว​ให้​ไป​ขึ้น​ศาล​ใน​ปี 1632 แต่​กาลิเลโอ​ผัด​เลื่อน​ไป เนื่อง​จาก​ป่วย​และ​มี​อายุ​เกือบ 70 ปี​แล้ว. เขา​เดิน​ทาง​ไป​โรม​ใน​ปี​ต่อ​มา หลัง​จาก​ถูก​ขู่​ว่า​จะ​ถูก​คุม​ตัว​ไป. ด้วย​คำ​สั่ง​ของ​โปป เขา​ถูก​สอบสวน​และ​ถึง​กับ​มี​การ​ขู่​ว่า​จะ​ถูก​ทรมาน.

ชาย​ชรา​ที่​เจ็บ​ป่วย​ผู้​นี้​ถูก​ทรมาน​จริง ๆ หรือ​ไม่​นั้น​ยัง​เป็น​ที่​ถกเถียง​กัน. ดัง​ที่​บันทึก​ใน​คำ​ตัดสิน​ลง​โทษ กาลิเลโอ​ถูก “สอบสวน​อย่าง​เข้มงวด.” ตาม​คำ​กล่าว​ของ​อิตาโล เมเรอู นัก​ประวัติศาสตร์​ด้าน​กฎหมาย​อิตาลี วลี​นี้​เป็น​คำ​เฉพาะ​ซึ่ง​ใน​สมัย​นั้น​ใช้​หมาย​ถึง​การ​ทรมาน. ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน​เห็น​ด้วย​กับ​การ​ตี​ความ​แบบ​นี้.

ไม่​ว่า​เขา​ถูก​ทรมาน​หรือ​ไม่ กาลิเลโอ​ก็​ถูก​ตัดสิน​ใน​วัน​ที่ 22 มิถุนายน 1633 ใน​ห้อง​โถง​ที่​ไม่​มี​การ​ตกแต่ง​ใด ๆ ต่อ​หน้า​สมาชิก​ศาล​ศาสนา. เขา​ถูก​ตัดสิน​ว่า​มี​ความ​ผิด​ฐาน “เชื่อถือ​หลัก​คำ​สอน​เท็จ​ที่​ขัด​กับ​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ซึ่ง​มา​จาก​พระเจ้า ที่​ว่า​ดวง​อาทิตย์ . . . ไม่​ได้​เคลื่อน​จาก​ทิศ​ตะวัน​ออก​ไป​ยัง​ทิศ​ตะวัน​ตก และ​ที่​ว่า​โลก​เคลื่อน​ที่​และ​ไม่​ใช่​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ.”

กาลิเลโอ​ไม่​ต้องการ​จะ​เป็น​ผู้​สละ​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ เขา​จึง​จำ​ต้อง​เพิกถอน​คำ​แถลง​ของ​ตน. หลัง​จาก​มี​การ​อ่าน​คำ​ตัดสิน​แล้ว นัก​วิทยาศาสตร์​ผู้​ชรา​ที่​สวม​ชุด​ผู้​ยินยอม​สารภาพ​ก็​ได้​คุกเข่า​ลง​และ​ประกาศ​อย่าง​เป็น​พิธี​การ​ว่า “ข้าพเจ้า​ขอ​เพิกถอน, สาป​แช่ง, และ​เกลียด​ชัง​ความ​ผิด​และ​ความ​เห็น​นอก​รีต​ที่​กล่าว​มา [ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส] และ​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​รวม​ถึง​ความ​ผิด​พลาด, ความ​เห็น​นอก​รีต, หรือ​นิกาย​อื่น ๆ ทั้ง​หมด​ที่​ขัด​กับ​คริสตจักร​บริสุทธิ์.”

มี​การ​เล่า​ลือ​กัน​มาก​แต่​ก็​ไม่​มี​หลักฐาน​ยืน​ยัน​ว่า หลัง​จาก​ประกาศ​เพิกถอน​ความ​เชื่อ​แล้ว กาลิเลโอ​กระทืบ​เท้า​แล้ว​ก็​ร้อง​ประท้วง​ออก​มา​ว่า “แต่​กระนั้น โลก​เคลื่อน​ที่!” นัก​วิจารณ์​อ้าง​ว่า ความ​อับอาย​เนื่อง​จาก​การ​ปฏิเสธ​สิ่ง​ที่​เขา​ค้น​พบ​ทำ​ให้​นัก​วิทยาศาสตร์​ผู้​นี้​ตรม​ทุกข์​ตราบ​จน​วัน​ตาย. เขา​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก แต่​มี​การ​เปลี่ยน​คำ​ตัดสิน​ลง​โทษ​ให้​กัก​บริเวณ​อยู่​แต่​ใน​บ้าน​ไป​ตลอด​ชีวิต. สายตา​ของ​เขา​ค่อย ๆ บอด​และ​แทบ​จะ​อยู่​ลำพัง​คน​เดียว.

ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​ศาสนา​และ​วิทยาศาสตร์​หรือ?

หลาย​คน​ลง​ความ​เห็น​ว่า ตัว​อย่าง​ของ​กาลิเลโอ​พิสูจน์​ว่า​วิทยาศาสตร์​กับ​ศาสนา​เข้า​กัน​ไม่​ได้​เลย. ที่​จริง ตลอด​หลาย​ศตวรรษ คดี​ของ​กาลิเลโอ​ทำ​ให้​ผู้​คน​หัน​หลัง​ให้​ศาสนา ทำ​ให้​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว ศาสนา​เป็น​สิ่ง​ที่​ขัด​ขวาง​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วิทยาศาสตร์. เป็น​เช่น​นั้น​จริง ๆ หรือ?

ที่​จริง โปป​เออร์บัน​ที่ 8 และ​นัก​เทววิทยา​ของ​ศาล​ศาสนา​โรมัน​คาทอลิก​ประณาม​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส โดย​อ้าง​ว่า ทฤษฎี​นั้น​ขัด​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล. ปรปักษ์​ของ​กาลิเลโอ​อ้าง​คำ​พูด​ของ​ยะโฮซูอะ​ที่​ว่า “โอ้​ดวง​อาทิตย์ จง​หยุด​นิ่ง​เสีย” ซึ่ง​ตาม​ความ​เห็น​ของ​พวก​เขา ต้อง​เข้าใจ​ตาม​ตัว​อักษร. (ยะโฮซูอะ 10:12) แต่​จริง ๆ แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​ขัด​แย้ง​กับ​ทฤษฎี​ของ​โคเพอร์นิคัส​ไหม? ไม่​เลย.

สิ่ง​ที่​ขัด​แย้ง​กัน​ก็​คือ​วิทยาศาสตร์​กับ​การ​ตี​ความ​พระ​คัมภีร์​ที่​ผิด​ไป​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด. กาลิเลโอ​ก็​เข้าใจ​เช่น​นั้น​ด้วย. เขา​เขียน​ไป​ยัง​ศิษย์​คน​หนึ่ง​ว่า “แม้​ว่า​พระ​คัมภีร์​ไม่​อาจ​ผิด​พลาด​ได้ แต่​ผู้​ตี​ความ​และ​ผู้​ให้​อรรถาธิบาย​อาจ​ผิด​พลาด​ได้​ใน​หลาย ๆ แนว​ทาง. หนึ่ง​ใน​แนว​ทาง​เหล่า​นี้ ซึ่ง​ร้ายแรง​อย่าง​ยิ่ง​และ​มี​บ่อย​มาก จะ​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​พวก​เขา​ต้องการ​เข้าใจ​แค่​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​เท่า​นั้น.” นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​จริงจัง​ทุก​คน​ย่อม​ต้อง​เห็น​พ้อง​ด้วย. *

กาลิเลโอ​กล่าว​ยิ่ง​กว่า​นั้น. เขา​อ้าง​ว่า​หนังสือ​สอง​เล่ม คือ​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​หนังสือ​แห่ง​ธรรมชาติ ถูก​เขียน​ขึ้น​โดย​ผู้​เขียน​คน​เดียว​กัน​และ​ไม่​อาจ​จะ​ขัด​แย้ง​กัน​ได้. กระนั้น เขา​เสริม​ว่า ไม่​มี​ใคร​สามารถ “อ้าง​ได้​อย่าง​แน่นอน​ว่า​นัก​ตี​ความ​ทุก​คน​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า.” การ​วิพากษ์วิจารณ์​เป็น​นัย ๆ ต่อ​การ​ตี​ความ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ของ​คริสตจักร​ครั้ง​นี้​คง​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​การ​ยั่ว​ยุ ซึ่ง​ทำ​ให้​ศาล​ศาสนา​โรมัน​คาทอลิก​ประณาม​นัก​วิทยาศาสตร์​ผู้​นี้. ถ้า​จะ​ว่า​ไป สามัญ​ชน​กล้า​ดี​อย่าง​ไร​จึง​มา​ก้าวก่าย​สิทธิ​ใน​การ​ตี​ความ​ของ​คริสตจักร?

โดย​อ้าง​ถึง​คดี​ของ​กาลิเลโอ ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​แนว​คิด​ที่​ว่า​ทั้ง​คริสตจักร​และ​โปป​ผิด​พลาด​ไม่​ได้. นัก​เทววิทยา​ฝ่าย​คาทอลิก​ชื่อ ฮันส์ คึง เขียน​ว่า ความ​ผิด​พลาด “ที่​เกิด​ขึ้น​หลาย​ครั้ง​และ​โต้​แย้ง​ไม่​ได้” ของ “คำ​สอน​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ของ​คริสตจักร” รวม​ทั้ง “การ​ประณาม​กาลิเลโอ” ทำ​ให้​มี​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​คำ​สอน​ที่​ว่า​คริสต์​จักร​และ​โปป​ผิด​พลาด​ไม่​ได้.

กาลิเลโอ​ได้​ชื่อเสียง​คืน​มา​หรือ?

ใน​เดือน​พฤศจิกายน 1979 หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​ได้​รับ​เลือก​ตั้ง โปป​จอห์น ปอล​ที่ 2 หวัง​จะ​ทบทวน​สถานภาพ​ของ​กาลิเลโอ​อีก​ครั้ง ซึ่ง​โปป​ยอม​รับ​ว่า กาลิเลโอ “ต้อง​ทน​ทุกข์​อย่าง​มาก . . . ด้วย​น้ำ​มือ​ของ​บุคคล​และ​สถาบัน​ของ​คริสตจักร.” สิบ​สาม​ปี​ต่อ​มา ใน​ปี 1992 คณะ​กรรมการ​ซึ่ง​โปป​องค์​เดียว​กัน​นั้น​แต่ง​ตั้ง​ขึ้น​ได้​ยอม​รับ​ว่า “นัก​เทววิทยา​บาง​คน​ใน​ยุค​เดียว​กับ​กาลิเลโอ . . . ไม่​เข้าใจ​ความ​หมาย​อัน​ลึกซึ้ง​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​ตัว​อักษร​ของ​พระ​คัมภีร์ เมื่อ​พวก​เขา​พรรณนา​โครง​สร้าง​ทาง​กายภาพ​ของ​เอกภพ​ที่​ถูก​สร้าง​ขึ้น​มา.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ข้อ​เท็จ​จริง​ก็​คือ ทฤษฎี​เฮลิโอเซนทริก​ไม่​ได้​ถูก​วิพากษ์วิจารณ์​โดย​นัก​เทววิทยา​เท่า​นั้น. โปป​เออร์​บัน​ที่ 8 ซึ่ง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​คดี​นี้ ยืนกราน​อย่าง​ขันแข็ง​ว่า​กาลิเลโอ​ต้อง​เลิก​บ่อน​ทำลาย​คำ​สอน​ที่​มี​มา​นาน​นับ​ศตวรรษ​ของ​คริสตจักร​ที่​ว่า​โลก​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ. คำ​สอน​นั้น​ไม่​ได้​มา​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​มา​จาก​อาริสโตเติล นัก​ปรัชญา​ชาว​กรีก.

หลัง​จาก​คณะ​กรรมการ​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ทบทวน​คดี​นี้​อย่าง​ถี่ถ้วน โปป​เรียก​การ​ตัดสิน​ลง​โทษ​กาลิเลโอ​ครั้ง​นั้น​ว่า “การ​ตัดสิน​ที่​หุนหัน​และ​น่า​เศร้า.” นัก​วิทยาศาสตร์​ผู้​นี้​ได้​ชื่อเสียง​กลับ​คืน​มา​ไหม? นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ที่​จะ​พูด​ว่า​กาลิเลโอ​ได้​ชื่อเสียง​กลับ​คืน​มา​นั้น​เป็น​เรื่อง​น่า​หัวเราะ เพราะ​ประวัติศาสตร์​ไม่​ได้​ประณาม​กาลิเลโอ แต่​ประณาม​ศาล​แห่ง​คริสตจักร.” นัก​ประวัติศาสตร์​ชื่อ ลุยจิ ฟีร์โป กล่าว​ว่า “ไม่​ใช่​สิทธิ​ของ​ผู้​ข่มเหง​ที่​จะ​ประกาศ​คืน​ชื่อเสียง​ให้​กับ​เหยื่อ.”

คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น “ตะเกียง​ส่อง​สว่าง​เข้า​ไป​ใน​ที่​มืด.” (2 เปโตร 1:19) กาลิเลโอ​ปก​ป้อง​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​การ​ตี​ความ​ผิด ๆ. แต่​คริสตจักร​ทำ​ตรง​กัน​ข้าม โดย​ปก​ป้อง​คำ​สอน​ที่​สืบ​ทอด​มา​ของ​มนุษย์​แทน​ที่​จะ​ปก​ป้อง​คัมภีร์​ไบเบิล.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 24 ผู้​อ่าน​ที่​สุจริต​ใจ​คง​พร้อม​จะ​ยอม​รับ​ว่า ข้อ​ความ​เกี่ยว​กับ​ดวง​อาทิตย์​ซึ่ง​หยุด​นิ่ง​บน​ท้องฟ้า​ไม่​ได้​มุ่ง​หมาย​ให้​เป็น​การ​วิเคราะห์​เชิง​วิทยาศาสตร์ แต่​เป็น​เพียง​การ​สังเกต​แบบ​ง่าย ๆ ว่า​สิ่ง​ต่าง ๆ ปรากฏ​อย่าง​ไร​ใน​มุม​มอง​ของ​มนุษย์​ที่​เห็น​เหตุ​การณ์. นัก​ดาราศาสตร์​ก็​เช่น​กัน มัก​จะ​พูด​ถึง​เรื่อง​การ​ขึ้น​และ​การ​ตก​ของ​ดวง​อาทิตย์, ดาว​เคราะห์, และ​ดาว​ฤกษ์. พวก​เขา​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​วัตถุ​ฟาก​ฟ้า​เหล่า​นี้​โคจร​รอบ​โลก​จริง ๆ แต่​หมาย​ความ​ว่า​สิ่ง​เหล่า​นี้​ดู​เหมือน​เคลื่อน​ที่​ข้าม​ท้องฟ้า​ของ​เรา​ไป​ต่าง​หาก.

[กรอบ/​ภาพ​หน้า 14]

ชีวิต​ของ​กาลิเลโอ

กาลิเลโอ​เกิด​ใน​ปี 1564 ที่​เมือง​ปีซา บิดา​ของ​เขา​เป็น​ชาว​เมือง​ฟลอเรนซ์ กาลิเลโอ​ศึกษา​แพทยศาสตร์​ที่​มหาวิทยาลัย​ปีซา. กาลิเลโอ​ไม่​ค่อย​สนใจ​ด้าน​แพทยศาสตร์ จึง​เลิก​ศึกษา​แล้ว​ไป​ศึกษา​ด้าน​ฟิสิกส์​และ​คณิตศาสตร์. ใน​ปี 1585 เขา​กลับ​ไป​อยู่​กับ​ครอบครัว​โดย​ไม่​ได้​ใบ​รับรอง​วุฒิ​การ​ศึกษา​ใด ๆ เลย. ถึง​อย่าง​นั้น เขา​ก็​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​จาก​นัก​คณิตศาสตร์​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​สมัย​นั้น เขา​จึง​ได้​รับ​ตำแหน่ง​ผู้​บรรยาย​วิชา​คณิตศาสตร์​ที่​มหาวิทยาลัย​ปีซา. หลัง​จาก​บิดา​เสีย​ชีวิต ความ​ลำบาก​ทาง​เศรษฐกิจ​ทำ​ให้​กาลิเลโอ​ต้อง​ย้าย​ไป​อยู่​ปาดัว ที่​นั่น เขา​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ให้​ดำรง​ตำแหน่ง​ที่​ทำ​ให้​มี​ราย​ได้​มาก​ขึ้น คือ​เป็น​หัวหน้า​ภาค​วิชา​คณิตศาสตร์​ประจำ​มหาวิทยาลัย​ปาดัว.

ระหว่าง 18 ปี​ที่​อยู่​ใน​เมือง​ปาดัว กาลิเลโอ​มี​บุตร​ชาย​และ​บุตร​สาว​รวม 3 คน​กับ​หญิง​สาว​ชาว​เวนิซ​ซึ่ง​เป็น​ภรรยา​นอก​กฎหมาย​ของ​เขา. ใน​ปี 1610 เขา​กลับ​ไป​ฟลอเรนซ์ ซึ่ง​ที่​นั่น​เขา​มี​ฐานะ​ทาง​เศรษฐกิจ​ดี​ขึ้น ทำ​ให้​สามารถ​อุทิศ​เวลา​เพื่อ​การ​ค้นคว้า​วิจัย​ได้​มาก​ขึ้น แต่​ก็​ต้อง​แลก​กับ​อิสรภาพ​ที่​เขา​เคย​มี​ใน​เขต​สาธารณรัฐ​เวนิซ. แกรนด์ดุ๊ก​แห่ง​ทัสคานี​ได้​ตั้ง​เขา​เป็น “นัก​ปรัชญา​และ​นัก​คณิตศาสตร์​อันดับ​หนึ่ง.” กาลิเลโอ​เสีย​ชีวิต​ที่​ฟลอเรนซ์​ใน​ปี 1642 ขณะ​ถูก​กัก​บริเวณ​ใน​บ้าน​เนื่อง​จาก​ถูก​ศาล​ศาสนา​ลง​โทษ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

From the book The Library of Original Sources, Volume VI, 1915

[ภาพ​หน้า 12]

กล้อง​โทรทรรศน์​ของ​กาลิเลโอ ซึ่ง​ช่วย​เขา​ให้​ยืน​ยัน​ว่า​โลก​ไม่​ใช่​ศูนย์กลาง​ของ​เอกภพ

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

Scala/Art Resource, NY

[ภาพ​หน้า 12]

ระบบ​จีโอเซนทริก (โลก​เป็น​ศูนย์กลาง)

ระบบ​เฮลิโอเซนทริก (ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

Background: © 1998 Visual Language

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 11]

Picture: From the book The Historian’s History of the World