ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มาร์ติน ลูเทอร์ บุรุษผู้หนึ่งและมรดกตกทอดของเขา

มาร์ติน ลูเทอร์ บุรุษผู้หนึ่งและมรดกตกทอดของเขา

มาร์ติน ลูเทอร์ บุรุษ​ผู้​หนึ่ง​และ​มรดก​ตก​ทอด​ของ​เขา

“กล่าว​กัน​ว่า​หนังสือ​ที่​เขียน​เกี่ยว​กับ [มาร์ติน ลูเทอร์] มี​มาก​กว่า​ที่​เขียน​เกี่ยว​กับ​บุคคล​อื่น​ใด​ใน​ประวัติศาสตร์ เว้น​แต่​งาน​เขียน​เกี่ยว​กับ​ผู้​เป็น​นาย​ของ​เขา ซึ่ง​ก็​คือ​พระ​เยซู​คริสต์.” นิตยสาร​ไทม์ ได้​กล่าว​ไว้​เช่น​นั้น. ถ้อย​คำ​ของ​ลูเทอร์​และ​กิจการ​งาน​ของ​เขา​มี​ส่วน​ก่อ​ให้​เกิด​การ​ปฏิรูป​ศาสนา—การ​เคลื่อน​ไหว​ทาง​ศาสนา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “การ​ปฏิวัติ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​มนุษยชาติ.” โดย​วิธี​นี้ เขา​จึง​ช่วย​ทำ​ให้​สภาพการณ์​ทาง​ศาสนา​ใน​ยุโรป​เปลี่ยน​แปลง​ไป​และ​ปิด​ฉาก​ยุค​กลาง​ใน​ทวีป​นั้น. ลูเทอร์​ยัง​วาง​พื้น​ฐาน​ซึ่ง​ถือ​ว่า​เป็น​มาตรฐาน​ด้าน​ภาษา​เขียน​ของ​ภาษา​เยอรมัน​อีก​ด้วย. คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ที่​เขา​แปล​ยัง​คง​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​เยอรมัน​ที่​นิยม​กัน​มาก​ที่​สุด.

มาร์ติน ลูเทอร์​เป็น​บุคคล​ชนิด​ใด? เขา​กลาย​มา​เป็น​บุคคล​ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ความ​เป็น​ไป​ของ​ยุโรป​ดัง​ที่​กล่าว​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

ลูเทอร์​กลาย​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน

มาร์ติน ลูเทอร์​เกิด​ใน​เมือง​ไอสเลเบิน ประเทศ​เยอรมนี ใน​เดือน​พฤศจิกายน ปี 1483. แม้​ว่า​บิดา​ของ​เขา​จะ​เป็น​คน​งาน​ใน​เหมือง​แร่​ทองแดง แต่​เขา​ก็​หา​ทาง​ที่​จะ​มี​ราย​ได้​เพียง​พอ​เพื่อ​จะ​แน่​ใจ​ว่า​มาร์ติน​จะ​ได้​รับ​การ​ศึกษา​ที่​ดี. ใน​ปี 1501 มาร์ติน​ได้​เป็น​นัก​ศึกษา​ที่​มหาวิทยาลัย​ใน​เมือง​แอร์​ฟูร์ท. ณ ห้อง​สมุด​ของ​ที่​นั่น เขา​ได้​มี​โอกาส​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ครั้ง​แรก. เขา​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​ชอบ​หนังสือ​เล่ม​นี้​มาก​จริง ๆ และ​ข้าพเจ้า​หวัง​ว่า​สัก​วัน​หนึ่ง​จะ​โชค​ดี​พอ​ที่​จะ​เป็น​เจ้าของ​หนังสือ​นี้​สัก​เล่ม.”

เมื่อ​อายุ 22 ปี ลูเทอร์​เข้า​ไป​อยู่​ใน​อาราม​เอากุสติน​แห่ง​เมือง​แอร์​ฟูร์ท. ต่อ​มา​เขา​ได้​เข้า​เรียน​ที่​มหาวิทยาลัย​ใน​เมือง​วิทเทนแบร์ก และ​ได้​รับ​ปริญญา​เอก​สาขา​วิชา​เทววิทยา. ลูเทอร์​คิด​ว่า​ตัว​เขา​ไม่​คู่​ควร​กับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า และ​บาง​ครั้ง​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​ซึมเศร้า​เพราะ​ความ​รู้สึก​ผิด. แต่​จาก​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล, การ​อธิษฐาน, และ​การ​คิด​รำพึง​ช่วย​เขา​ให้​เข้าใจ​ดี​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​ทัศนะ​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ต่อ​คน​บาป. ลูเทอร์​ได้​มา​ตระหนัก​ว่า​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า​นั้น​ไม่​ใช่​ได้​รับ​เสมือน​เป็น​ค่า​จ้าง. ถ้า​จะ​พูด​ให้​ถูก​ก็​คือ เป็น​พระ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ซึ่ง​ให้​แก่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​แสดง​ความ​เชื่อ.—โรม 1:16; 3:23, 24, 28.

ลูเทอร์​มา​ลง​ความ​เห็น​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ความ​เข้าใจ​ใหม่​ของ​เขา​ถูก​ต้อง? คูร์ท อาลันด์ ศาสตราจารย์​ด้าน​ประวัติศาสตร์​คริสตจักร​ยุค​แรก​และ​การ​วิจัย​ข้อ​ความ​จากต้น​ฉบับ​เดิม​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่ เขียน​ดัง​นี้: “เขา​ได้​ใคร่ครวญ​คัมภีร์​ไบเบิล​ตลอด​ทั้ง​เล่ม​เพื่อ​ตัดสิน​ว่า ความ​รู้​ใหม่​ที่​ได้​พบ​นั้น​ยัง​เป็น​ความ​จริง​อยู่​หรือ​ไม่ เมื่อ​เทียบ​กับ​ข้อ​ความ​อื่น ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล และ​เขา​ก็​พบ​ว่า​เขา​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​ทุก​ที่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.” หลัก​คำ​สอน​เรื่อง​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ว่า​ชอบธรรม​โดย​พระเจ้า​หรือ​ได้​รับ​ความ​รอด​ไม่​ใช่​โดย​การ​ทำ​งาน​ที่​ดี​หรือ​การ​ชด​ใช้​โทษ​บาป แต่​โดย​ความ​เชื่อ ก็​ยัง​คง​เป็น​เสา​เอก​แห่ง​การ​สอน​ของ​ลูเทอร์.

ขุ่นเคือง​ใน​เรื่อง​การ​ลด​โทษ​บาป

ความ​เข้าใจ​ของ​ลูเทอร์​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​พระเจ้า​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​คน​บาป​ทำ​ให้​เขา​ขัด​แย้ง​กับ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก. ใน​สมัย​นั้น​มี​ความ​เชื่อ​อย่าง​กว้างขวาง​ว่า หลัง​จาก​ตาย​แล้ว คน​บาป​จะ​ต้อง​ถูก​ลง​โทษ​ช่วง​เวลา​หนึ่ง. อย่าง​ไร​ก็​ดี กล่าว​กัน​ว่า โดย​อำนาจ​ของ​โปป ช่วง​เวลา​นั้น​อาจ​สั้น​ลง​ได้​โดย​แลก​กับ​เงิน. พ่อค้า​อย่าง โยฮัน เททเซิล ผู้​เป็น​ตัว​แทน​ของ​อาร์ชบิชอป​อัลเบิร์ต​แห่ง​ไมนซ์ หา​กำไร​จาก​การ​ขาย​ใบ​ลด​โทษ​บาป​ให้​ประชาชน. หลาย​คน​จึง​มอง​ว่า​การ​ลด​โทษ​บาป​เป็น​เหมือน​หลัก​ประกัน​สำหรับ​บาป​ที่​จะ​ทำ​ใน​อนาคต.

ลูเทอร์​เดือดดาล​กับ​เรื่อง​การ​ขาย​ใบ​ลด​โทษ​บาป. เขา​รู้​ว่า​มนุษย์​ไม่​สามารถ​ต่อ​รอง​กับ​พระเจ้า​ได้. ใน​ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​ปี 1517 เขา​เขียน​ข้อ​คัดค้าน​อัน​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี 95 ข้อ ประณาม​ความ​ไม่​ถูก​ต้อง​ของ​คริสตจักร​ใน​เรื่อง​เงิน, หลัก​คำ​สอน, และ​ศาสนา. โดย​ต้องการ​ที่​จะ​สนับสนุน​การ​ปฏิรูป ไม่​ใช่​ขืน​อำนาจ ลูเทอร์​จึง​ส่ง​สำเนา​ข้อ​คัดค้าน​ของ​ตน​ให้​อาร์ชบิชอป​อัลเบิร์ต​แห่ง​ไมนซ์​รวม​ทั้ง​ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน. นัก​ประวัติศาสตร์​หลาย​คน​ชี้​ว่า​ปี 1517 หรือ​เวลา​ใกล้​เคียง เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​การ​ปฏิรูป.

การ​โอด​ครวญ​เกี่ยว​กับ​การ​กระทำ​ผิด​ของ​คริสตจักร​ไม่​ได้​มี​เพียง​ลูเทอร์​เท่า​นั้น. เมื่อ​ร้อย​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​นัก​ปฏิรูป​ศาสนา​ชาว​เช็ก ยาน ฮุส ก็​ตำหนิ​การ​ขาย​ใบ​ลด​โทษ​บาป. แม้​แต่​ก่อน​สมัย​ของ​ฮุส ก็​ยัง​มี​จอห์น วิคลิฟฟ์​แห่ง​อังกฤษ​ที่​ได้​ชี้​ให้​เห็น​ว่า จารีต​ประเพณี​บาง​อย่าง​ของ​คริสตจักร​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์. บุคคล​ที่​ร่วม​สมัย​เดียว​กับ​ลูเทอร์​คือ เอราสมุส แห่ง​รอตเทอร์ดัม​และ​ทินเดล​แห่ง​อังกฤษ​ก็​สนับสนุน​ให้​มี​การ​ปฏิรูป. แต่​โดย​อาศัย​แท่น​พิมพ์​ด้วย​ระบบ​ตัว​เรียง​ที่​โยฮันเนส กูเทนเบิร์ก​ประดิษฐ์​ขึ้น​ใน​เยอรมนี ข้อ​เขียน​ของ​ลูเทอร์​จึง​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​และ​แพร่​หลาย​ไป​ไกล​กว่า​ของ​นัก​ปฏิรูป​คน​อื่น ๆ.

แท่น​พิมพ์​ของ​กูเทนเบิร์ก​แห่ง​ไมนซ์​ใช้​งาน​ใน​ปี 1455. ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ต่อ​มา มี​แท่น​พิมพ์​ตาม​เมือง​ต่าง ๆ ใน​เยอรมนี 60 เมือง และ​ใน​แถบ​ยุโรป​อีก 12 ประเทศ. นับ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ประวัติศาสตร์​ที่​สาธารณชน​ทั่ว​ไป​รับ​รู้​ข่าวสาร​ที่​พวก​เขา​สนใจ​อย่าง​รวด​เร็ว. บาง​ที ข้อ​คัดค้าน 95 ข้อ​ของ​ลูเทอร์​อาจ​ถูก​พิมพ์​และ​เผยแพร่​ออก​ไป​โดย​ปราศจาก​การ​เห็น​ชอบ​จาก​เขา​ก็​ได้. หัวข้อ​เรื่อง​การ​ปฏิรูป​คริสตจักร​ก็​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​ข้อ​ถกเถียง​เฉพาะ​บาง​แห่ง​เท่า​นั้น แต่​กลาย​เป็น​การ​โต้​เถียง​ที่​แพร่​กระจาย​ไป​ทั่ว และ​มาร์ติน ลูเทอร์​กลาย​เป็น​บุคคล​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ไป​ใน​ทันที​ใน​ประเทศ​เยอรมนี.

ปฏิกิริยา​ของ “ดวง​อาทิตย์​และ​ดวง​จันทร์”

เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ​ที่​ยุโรป​ตก​อยู่​ใน​กำ​มือ​ของ​สอง​สถาบัน​ที่​ทรง​อำนาจ​คือ จักรวรรดิ​โรมัน​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​และ​คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก. ฮันส์ ลิลเย อดีต​ประธาน​สหพันธ์​ลูเทอรัน​โลก​อธิบาย​ไว้​ว่า “จักรพรรดิ​และ​โปป​คู่​กัน​เหมือน​ดวง​อาทิตย์​กับ​ดวง​จันทร์.” อย่าง​ไร​ก็​ดี ยัง​เป็น​ข้อ​สงสัย​อยู่​มาก​ว่า ใคร​ที่​หมาย​ถึง​ดวง​อาทิตย์​และ​ใคร​ที่​หมาย​ถึง​ดวง​จันทร์. พอ​มา​ถึง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 16 ยุค​เรือง​อำนาจ​ที่​สุด​ของ​ทั้ง​สอง​สถาบัน​ก็​ผ่าน​ไป. บรรยากาศ​แห่ง​การ​เปลี่ยน​แปลง​แพร่​กระจาย​ไป​ทั่ว.

โปป​ลีโอ​ที่ 10 ตอบ​โต้​ข้อ​คัดค้าน 95 ข้อ​ของ​ลูเทอร์​โดย​ข่มขู่​เขา​ว่า​จะ​ไล่​ออก​จาก​ศาสนา​เว้น​เสีย​แต่​ว่า​เขา​จะ​ยอม​ถอน​คำ​พูด. ลูเทอร์​จึง​เผา​กฤษฎีกา​ซึ่ง​บรรจุ​คำ​ขู่​ของ​โปป​ใน​ที่​สาธารณะ​อย่าง​ไม่​เกรง​กลัว​และ​ได้​ตี​พิมพ์​ผล​งาน​อื่น ๆ เพิ่ม​อีก เพื่อ​เร้า​ผู้​มี​อำนาจ​ทั้ง​หลาย​ให้​ปฏิรูป​คริสตจักร​ถึง​แม้​โปป​จะ​ไม่​เห็น​ชอบ​ด้วย​ก็​ตาม. ใน​ปี 1521 โปป​ลีโอ​ที่ 10 ขับ​ลูเทอร์​ออก​จาก​ศาสนา. เมื่อ​ลูเทอร์​คัดค้าน​ว่า​เขา​ถูก​ลง​โทษ​โดย​ปราศจาก​การ​พิจารณา​ความ​อย่าง​ยุติธรรม จักรพรรดิ​ชาลส์​ที่ 5 จึง​เรียก​นัก​ปฏิรูป​ผู้​นี้​มา​ปรากฏ​ตัว​ต่อ​หน้า​สภา​ของ​จักรพรรดิ​ที่​เมือง​วอมส์. การ​เดิน​ทาง 15 วัน​ของ​ลูเทอร์​จาก​วิทเทนแบร์ก​สู่​วอมส์ ใน​เดือน​เมษายน​ปี 1521 เหมือน​กับ​ขบวน​ฉลอง​ชัย​ชนะ. ประชาชน​อยู่​ฝ่าย​เขา และ​ผู้​คน​ทุก​หน​แห่ง​อยาก​จะ​เห็น​เขา.

ที่​วอมส์ ลูเทอร์​ยืน​อยู่​ต่อ​หน้า​จักรพรรดิ, เจ้า​ชาย, และ​ทูต​ของ​โปป. ยาน ฮุส ก็​เคย​เผชิญ​หน้า​การ​พิจารณา​คดี​แบบ​เดียว​กัน​นี้​ใน​สภา​คอนสตันซ์​ใน​ปี 1415 และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ถูก​เผา​บน​หลัก. ขณะ​ที่​สายตา​ของ​คริสตจักร​และ​จักรพรรดิ​จ้อง​มอง​มา​ที่​เขา ลูเทอร์​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ถอน​คำ​พูด​เว้น​แต่​ว่า​ผู้​ที่​เป็น​ปฏิปักษ์​กับ​เขา​จะ​พิสูจน์​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​เขา​เป็น​ฝ่าย​ผิด. แต่​ไม่​มี​ใคร​สัก​คน​ที่​มี​ความ​จำ​ใน​เรื่อง​พระ​คัมภีร์​เทียบเท่า​กับ​เขา. เอกสาร​ที่​เรียก​ว่า​ประกาศิต​แห่ง​วอมส์​เปิด​เผย​ผล​การ​พิจารณา​คดี​นั้น. เอกสาร​นั้น​ประกาศ​ว่า​ลูเทอร์​เป็น​คน​นอก​กฎหมาย​และ​มี​การ​สั่ง​ห้าม​งาน​เขียน​ของ​เขา. เนื่อง​จาก​ถูก​ขับ​ออก​จาก​ศาสนา​โดย​โปป​และ​ถูก​ประกาศ​ว่า​เป็น​คน​นอก​กฎหมาย​โดย​จักรพรรดิ ตอน​นี้​ชีวิต​ของ​เขา​จึง​ตก​อยู่​ใน​อันตราย.

แล้ว​สถานการณ์​ก็​พลิก​ผัน​อย่าง​คาด​ไม่​ถึง​และ​น่า​ทึ่ง. ใน​การ​เดิน​ทาง​กลับ​วิทเทนแบร์ก เฟรเดอริก​แห่ง​แซกโซนี​ผู้​หวัง​ดี​ได้​วาง​แผนการ​ที่​ทำ​ให้​เชื่อ​ว่า​ลูเทอร์​ถูก​ลัก​พา​ตัว​ไป. นั่น​ทำ​ให้​ศัตรู​ของ​ลูเทอร์​หา​ตัว​เขา​ไม่​พบ. ลูเทอร์​หลบ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​ปราสาท​วาร์ทบูร์ก​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ผู้​คน เขา​ไว้​หนวด​เครา​และ​ปลอม​ตัว​เป็น​ขุนนาง​โดย​ใช้​ชื่อ​ว่า​ยุงเคอร์ เยอร์ก.

คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​กันยายน​เป็น​ที่​ต้องการ​มาก

เพื่อ​หลบ​ภัย​จาก​จักรพรรดิ​และ​โปป ลูเทอร์​จึง​อาศัย​อยู่​ที่​ปราสาท​วาร์ทบูร์ก​สิบ​เดือน. หนังสือ​ชื่อ​วาร์ทบูร์ก มรดก​โลก (ภาษา​เยอรมัน) อธิบาย​ว่า “ช่วง​เวลา​ที่​อยู่​ใน​วาร์ทบูร์ก​เป็น​ช่วง​ที่​เขา​ผลิต​และ​สร้าง​สรรค์​ผล​งาน​มาก​ที่​สุด​ใน​ชีวิต​ของ​เขา.” หนึ่ง​ใน​ความ​สำเร็จ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​เขา​คือ การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​ของ​เอราสมุส​เป็น​ภาษา​เยอรมัน​เสร็จ​สมบูรณ์​ที่​นั่น. ผล​งาน​ชิ้น​นี้​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​นาม​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​กันยายน​เพราะ​พิมพ์​ออก​ใน​เดือน​กันยายน​ปี 1522 โดย​ไม่​มี​การ​ระบุ​ชื่อ​ลูเทอร์​ฐานะ​ผู้​แปล. ราคา​ของ​หนังสือ​นี้​ประมาณ​หนึ่ง​กิลเดอร์​ครึ่ง ซึ่ง​เท่า​กับ​ค่า​จ้าง​หนึ่ง​ปี​สำหรับ​แม่บ้าน. กระนั้น ก็​ยัง​มี​ความ​ต้องการ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​กันยายน​อย่าง​มาก. ภาย​ใน 12 เดือน​มี​การ​ตี​พิมพ์ 2 ครั้ง​จำนวน 6,000 เล่ม​และ​มี​การ​ตี​พิมพ์​อย่าง​น้อย 69 ครั้ง​ใน​ช่วง 12 ปี​ต่อ​มา.

ใน​ปี 1525 มาร์ติน ลูเทอร์​แต่งงาน​กับ​คา​ทา​รีนา ฟอน โบ​รา​ซึ่ง​เดิม​เคย​เป็น​แม่ชี​มา​ก่อน. คา​ทา​รีนา​จัด​การ​งาน​ใน​บ้าน​เป็น​อย่าง​ดี และ​ยัง​สามารถ​รับมือ​กับ​ค่า​ใช้​จ่าย​ที่​เกิด​จาก​ความ​ใจ​กว้าง​ของ​สามี. เพราะ​บ้าน​ของ​ลูเทอร์​ไม่​ได้​มี​แค่​ภรรยา​และ​ลูก​หก​คน​เท่า​นั้น แต่​ยัง​มี​บรรดา​เพื่อน​ฝูง, เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน, และ​ผู้​ลี้​ภัย​อีก​ด้วย. ใน​ช่วง​ท้าย​ของ​ชีวิต ลูเทอร์​มี​ชื่อเสียง​ฐานะ​เป็น​ที่​ปรึกษา​ถึง​ขนาด​เหล่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​มา​เยี่ยม​ที่​บ้าน​เขา​มา​พร้อม​กับ​ปากกา​และ​กระดาษ​เพื่อ​จด​ข้อ​คิด​เห็น​ของ​เขา. ข้อ​ความ​เหล่า​นี้​ได้​รวบ​รวม​ไว้​ใน​หนังสือที่​ชื่อ​ว่า ลูเทอส์ ทิชเรเดน (คำ​ปราศรัย​ที่​โต๊ะ​ของ​ลูเทอร์ ภาษา​เยอรมัน). มี​ช่วง​หนึ่ง​ที่​หนังสือ​นี้​ขาย​ดี​มาก จะ​เป็น​รอง​ก็​เพียง​แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​เท่า​นั้น.

ผู้​แปล​ที่​มี​พรสวรรค์​และ​นัก​เขียน​ที่​มี​ผล​งาน​ออก​มา​มาก​มาย

งาน​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ของ​ลูเทอร์​แล้ว​เสร็จ​ใน​ปี 1534. เขา​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ทำ​ให้​งาน​ของ​เขา​สมดุล​ทั้ง​ใน​เรื่อง​ของ​ลีลา​การ​เขียน, ท่วง​ทำนอง, และ​คำ​ศัพท์. ผล​ก็​คือ​คน​ธรรมดา​สามัญ​ก็​สามารถ​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้. เมื่อ​กล่าว​ถึง​วิธี​การ​แปล​ของ​เขา ลูเทอร์​เขียน​ว่า “เรา​ควร​สนทนา​กับ​พวก​แม่บ้าน, เด็ก ๆ ที่​อยู่​ตาม​ท้องถนน​และ​คน​ธรรมดา​ที่​อยู่​ใน​ตลาด แล้ว​สังเกต​ว่า​พวก​เขา​พูด​กัน​อย่าง​ไร ครั้น​แล้ว​ก็​แปล​ไป​ตาม​นั้น.” คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​ลูเทอร์​จึง​เป็น​การ​วาง​พื้น​ฐาน​ที่​เป็น​มาตรฐาน​สำหรับ​ภาษา​เขียน​ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​เยอรมนี.

ลูเทอร์​มี​ทั้ง​พรสวรรค์​ใน​ฐานะ​ผู้​แปล​และ​ความ​ชำนาญ​ใน​ฐานะ​นัก​เขียน. ว่า​กัน​ว่า​เขา​ได้​เขียน​บทความ​ทุก ๆ สอง​สัปดาห์​ตลอด​ชีวิต​การ​ทำ​งาน​ของ​เขา. งาน​เขียน​บาง​ชิ้น​ก่อ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​เหมือน​กับ​ตัว​ผู้​แต่ง. ถ้า​งาน​เขียน​ของ​เขา​ใน​ช่วง​แรก​มี​รูป​แบบ​ที่​รุนแรง อายุ​ที่​มาก​ขึ้น​ก็​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ความ​รุนแรง​ลด​ลง​แต่​อย่าง​ใด. งาน​เขียน​ใน​ช่วง​หลัง ๆ ของ​เขา​ยิ่ง​รุนแรง​มาก​ขึ้น. ตาม​ที่​มี​กล่าว​ไว้​ใน​สารานุกรม​เทววิทยา​และ​คริสตจักร (ภาษา​เยอรมัน) งาน​ของ​ลูเทอร์​เผย​ให้​เห็น​ถึง “ความ​โกรธ​อย่าง​ที่​ไม่​มี​การ​เหนี่ยว​รั้ง​ของ​เขา” และ “การ​ขาด​ความ​ถ่อม​ใจ​และ​ความ​รัก” รวม​ทั้ง “มี​ความ​รู้สึก​ที่​รุนแรง​ที่​จะ​ทำ​ตาม​หน้า​ที่​รับผิดชอบ.”

เมื่อ​เกิด​การ​จลาจล​ของ​ชาว​นา​ขึ้น​และ​เขต​ปกครอง​ต่าง ๆ นอง​ไป​ด้วย​เลือด มี​คน​ถาม​ความ​เห็น​ของ​ลูเทอร์​เกี่ยว​กับ​การ​จลาจล​ที่​เกิด​ขึ้น. ชาว​นา​มี​เหตุ​อัน​ควร​ที่​จะ​ฟ้องร้อง​ผู้​ปกครอง​นคร​ของ​พวก​เขา​หรือ​ไม่? ลูเทอร์​ไม่​ได้​พยายาม​รักษา​ความ​นิยม​ชม​ชอบ​ไว้​โดย​ตอบ​คำ​ถาม​ใน​แบบ​ที่​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​จะ​พอ​ใจ. เขา​เชื่อ​ว่า​ผู้​รับใช้​พระเจ้า​ควร​เชื่อ​ฟัง​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​อำนาจ. (โรม 13:1) ใน​การ​ตัดสิน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา ลูเทอร์​กล่าว​ว่า​ต้อง​ปราบ​ผู้​ที่​กระด้าง​กระเดื่อง​โดย​การ​ใช้​กำลัง. เขา​กล่าว​ว่า “ใคร​ก็​ตาม​ที่​สามารถ​ทำ​ได้ ให้​เขา​แทง, ทุบ​ตี, และ​ฆ่า.” ฮันส์ ลิลเย กล่าว​ว่า​คำ​ตอบ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ลูเทอร์​เสื่อม “ความ​นิยม​อย่าง​ที่​ไม่​มี​ใคร​เทียบ​ได้​เท่า​ที่​เคย​มี​มา​ท่ามกลาง​ประชาชน.” ยิ่ง​กว่า​นั้น ข้อ​เขียน​ใน​ช่วง​หลัง ๆ ของ​ลูเทอร์​เกี่ยว​กับ​ชาว​ยิว​ที่​ปฏิเสธ​การ​เปลี่ยน​มา​เป็น​คริสเตียน​ที่​เขียน​ใน​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​ชาว​ยิว​และ​การ​โกหก​ของ​พวก​เขา (ภาษา​เยอรมัน) เป็น​เหตุ​ให้​หลาย​คน​ตรา​หน้า​เขา​ว่า​เป็น​ผู้​แต่ง​หนังสือ​ต่อ​ต้าน​ชาว​ยิว.

มรดก​ของ​ลูเทอร์

การ​ปฏิรูป​ศาสนา​ซึ่ง​ลูเทอร์, แคลวิน, และ​ซวิงลี กระตุ้น​ให้​เกิด​นำ​ไป​สู่​มุม​มอง​ใหม่​ต่อ​ศาสนา​ที่​เรียก​ว่า นิกาย​โปรเตสแตนต์. มรดก​ส่วน​ใหญ่​ของ​ลูเทอร์​ที่​ให้​แก่​นิกาย​โปรเตสแตนต์​คือ​หลัก​คำ​สอน​สำคัญ​เรื่อง​การ​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ว่า​ชอบธรรม​โดย​อาศัย​ความ​เชื่อ. แต่​ละ​เขต​ปกครอง​ของ​เยอรมนี​เข้า​ข้าง​ไม่​โปรเตสแตนต์​ก็​คาทอลิก. นิกาย​โปรเตสแตนต์​แพร่​หลาย​และ​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​มาก​จาก​ประชาชน​ใน​สแกนดิเนเวีย, สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, และ​เนเธอร์แลนด์. ทุก​วัน​นี้​มี​ผู้​นับถือ​หลาย​ร้อย​ล้าน​คน.

หลาย​คน​ที่​ไม่​รับ​เอา​ความ​เชื่อ​ของ​ลูเทอร์​ทุก​อย่าง​ก็​ยัง​คง​นับถือ​เขา​มาก. ใน​ปี 1983 อดีต​สาธารณรัฐ​ประชาธิปไตย​เยอรมัน ซึ่ง​รวม​เอา​เมือง​ไอสเลเบิน, แอร์​ฟูร์ท, วิทเทนแบร์ก, และ​วาร์ทบูร์ก​ไว้​ภาย​ใน​พรม​แดน ได้​จัด​งาน​ฉลอง​วัน​เกิด​ของ​ลูเทอร์​ครบ​รอบ​ที่ 500. รัฐ​สังคม​นิยม​นี้​ยอม​รับ​เขา​ใน​ฐานะ​เป็น​บุคคล​สำคัญ​ใน​ประวัติศาสตร์​และ​วัฒนธรรม​เยอรมัน. ยิ่ง​กว่า​นั้น นัก​เทววิทยา​คาทอลิก​แห่ง​ทศวรรษ 1980 ได้​สรุป​ถึง​ผล​กระทบ​ของ​ลูเทอร์​และ​กล่าว​ดัง​นี้: “ไม่​มี​ใคร​สัก​คน​หลัง​จาก​ลูเทอร์ ที่​เทียบ​กับ​เขา​ได้.” ศาสตราจารย์​อาลันด์​เขียน​ดัง​นี้: “ใน​แต่​ละ​ปี สิ่ง​พิมพ์​ใหม่ ๆ อย่าง​น้อย 500 ฉบับ​เขียน​เกี่ยว​กับ​มาร์ติน ลูเทอร์​และ​การ​ปฏิรูป​ศาสนา ซึ่ง​มี​ใน​ภาษา​หลัก ๆ หลาย​ภาษา​ของ​โลก.”

มาร์ติน ลูเทอร์​เป็น​ผู้​มี​สติ​ปัญญา​เฉียบ​แหลม, มี​ความ​จำเป็น​เลิศ, และ​ทำ​งาน​อย่าง​ขยัน​ขันแข็ง. แต่​เขา​ก็​เป็น​คน​ที่​ใจ​ร้อน​และ​ชอบ​ดูถูก​คน​อื่น และ​เขา​ยัง​แสดง​ปฏิกิริยา​รุนแรง​ต่อ​คน​ที่​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​พวก​หลอก​ลวง. ก่อน​ที่​เขา​จะ​สิ้น​ใจ​ที่​ไอสเลเบิน​ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ ปี 1546 เหล่า​เพื่อน​พ้อง​ของ​ลูเทอร์​ถาม​เขา​ว่า​ยัง​คง​ยืนหยัด​ใน​ความ​เชื่อ​ที่​เขา​ได้​สอน​คน​อื่น​หรือ​ไม่. เขา​ตอบ​ว่า “ใช่.” ลูเทอร์​สิ้น​ชีวิต​ไป แต่​หลาย​คน​ก็​ยัง​ยึด​ถือ​ความ​เชื่อ​นั้น.

[ภาพ​หน้า 27]

ลูเทอร์​ต่อ​ต้าน​การ​ขาย​ใบ​ลด​โทษ​บาป

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Mit freundlicher Genehmigung: Wartburg-Stiftung

[ภาพ​หน้า 28]

ลูเทอร์​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ถอน​คำ​พูด​เว้น​แต่​ว่า​ผู้​ที่​เป็น​ปฏิปักษ์​กับ​เขา​จะ​พิสูจน์​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​เขา​เป็น​ฝ่าย​ผิด

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book The Story of Liberty, 1878

[ภาพ​หน้า 29]

ห้อง​ของ​ลูเทอร์​ใน​ปราสาท​วาร์ทบูร์ก​เป็น​สถาน​ที่​ที่​เขา​ใช้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Both images: Mit freundlicher Genehmigung: Wartburg-Stiftung

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

From the book Martin Luther The Reformer, 3​rd Edition, published by Toronto Willard Tract Depository, Toronto, Ontario

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 30]

From the book The History of Protestantism (Vol. I)