ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทาสที่ถูกลืมแห่งทะเลใต้

ทาสที่ถูกลืมแห่งทะเลใต้

ทาส​ที่​ถูก​ลืม​แห่ง​ทะเล​ใต้

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฟิจิ

ฝูง​ชน​พา​กัน​ตื่นเต้น​เมื่อ​เห็น​เรือ​สอง​ลำ​ค่อย ๆ เคลื่อน​เข้า​มา​ใน​ทะเลสาบ​ของ​เกาะ​ปะการัง​วง​แหวน​ที่​อยู่​ไกล​โพ้น​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก. หลาย​ปี​ก่อน​หน้า​นี้ ผู้​รอด​ชีวิต​จาก​เรือ​อับปาง​คน​หนึ่ง​ได้​ฉีก​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​สอง​สาม​หน้า​ให้​แต่​ละ​ครอบครัว​ที่​อยู่​บน​เกาะ​นั้น. ผู้​คน​ที่​อ่อนน้อม​เหล่า​นี้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​หน้า​ที่​ตน​ได้​มา​อย่าง​กระตือรือร้น แล้ว​ตั้ง​แต่​นั้น​มา​พวก​เขา​ก็​เฝ้า​คอย​วัน​ที่​ผู้​สอน​ศาสนา​คริสเตียน​จะ​มา​หา​พวก​เขา.

บัด​นี้ นัก​เดิน​เรือ​เหล่า​นี้​ที่​มา​แวะ​พัก​สัญญา​ว่า​จะ​พา​พวก​เขา​ไป​ยัง​ที่​ที่​จะ​ได้​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า. ชาย​หญิง​ประมาณ 250 คน​ที่​เชื่อใจ​คน​เหล่า​นั้น​ก็​พา​กัน​ลง​เรือ หลาย​คน​ใน​พวก​เขา​กำ​หน้า​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ตน​ถือ​ว่า​เป็น​สมบัติ​อัน​ล้ำ​ค่า​ไว้​แน่น.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​การ​หลอก​ลวง​ที่​มี​เล่ห์​เหลี่ยม. พอ​ขึ้น​เรือ​แล้ว พวก​เขา​ก็​ถูก​มัด​แล้ว​โยน​ลง​ไป​ใต้​ท้อง​เรือ และ​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​เมือง​ท่า​คายาโอ​ใน​อเมริกา​ใต้​ซึ่ง​เป็น​การ​เดิน​ทาง​ที่​ไกล​มาก. สภาพ​ที่​ไม่​ถูก​สุขอนามัย​ทำ​ให้​หลาย​คน​เสีย​ชีวิต​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง. การ​ล่วง​ละเมิด​ทาง​เพศ​เป็น​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย​มาก. ผู้​ที่​รอด​ชีวิต​จาก​การ​เดิน​ทาง​ก็​ถูก​ขาย​เป็น​ทาส​เพื่อ​ไป​ทำ​งาน​ใน​ไร่​นา​และ​ใน​เหมือง​แร่​หรือ​ไม่​ก็​เป็น​คน​รับใช้​ใน​บ้าน พวก​เขา​ไม่​ได้​กลับ​ไป​ที่​เกาะ​ซึ่ง​เป็น​บ้าน​เกิด​เมือง​นอน​ของ​ตน​อีก​เลย.

การ​ค้า​ทาส​ใน​แปซิฟิก​ใต้​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?

ชาว​เกาะ​ที่​อยู่​ใน​หมู่​เกาะ​แปซิฟิก​ใต้​ถูก​จับ​ตัว​ไป​ระหว่าง​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 19 ถึง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 20. ใน​ช่วง​ต้น​ทศวรรษ 1860 การ​กระทำ​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​ชาว​เกาะ​นับ​พัน ๆ คน​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ยัง​อเมริกา​ใต้. ใน​ทศวรรษ​ต่อ​มา มี​การ​หัน​ความ​สนใจ​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​เมื่อ​ชาว​เกาะ​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย. ใน​ปี 1867 รอสส์ ลู​วิน อดีต​นาย​ทหาร​เรือ​คน​หนึ่ง​ได้​เสนอ​ที่​จะ​ขาย​ทาส​ให้​แก่​เจ้าของ​ไร่​อ้อย​และ​ไร่​ฝ้าย โดย​บอก​ว่า คน​เหล่า​นี้​เป็น “ชน​พื้นเมือง​ที่​ดี​ที่​สุด​และ​ใช้​งาน​ได้​คุ้มค่า​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​หา​ได้​ใน​หมู่​เกาะ​นี้ ด้วย​ราคา​หัว​ละ 7 [ปอนด์].”

ความ​พยายาม​ของ​กระทรวง​กิจการ​อาณานิคม​ของ​อังกฤษ​ที่​จะ​หยุด​ยั้ง​การ​ค้า​ทาส​นั้น​ไร้​ผล. เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​นำ​กฎหมาย​ของ​อังกฤษ​ไป​บังคับ​ใช้​กับ​พลเมือง​ของ​ชาติ​อื่น ๆ. อีก​เหตุ​ผล​หนึ่ง​คือ กฎหมาย​อังกฤษ​ไม่​ได้​ให้​คำ​นิยาม​สำหรับ​คำ​ว่า ความ​เป็น​ทาส ไว้​อย่าง​ครบ​ถ้วน. ด้วย​เหตุ​นี้ เมื่อ​ขึ้น​ศาล​พวก​นัก​ค้า​ทาส​จึง​โต้​แย้ง​ได้​อย่าง​เป็น​ผล​สำเร็จ​ว่า พวก​ชาว​เกาะ​เหล่า​นี้​แม้​จะ​ถูก​หลอก​และ​ถูก​บังคับ​ให้​ไป​ทำ​งาน แต่​พวก​เขา​ก็​หา​ได้​เป็น​ทาส​จริง ๆ ไม่ พวก​เขา​เป็น​แรงงาน​ที่​มี​สัญญา​ผูก​มัด ซึ่ง​จะ​ได้​รับ​ค่า​จ้าง​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​จะ​ถูก​ส่ง​ตัว​กลับ​บ้าน. นัก​ค้า​ทาส​บาง​คน​ยัง​อ้าง​ถึง​ขนาด​ที่​ว่า พวก​เขา​กำลัง​ช่วย​นำ​คน​เหล่า​นี้​ที่​เคย​เป็น​คน​นอก​ศาสนา​ให้​เข้า​มา​อยู่​ภาย​ใต้​กฎหมาย​ของ​อังกฤษ และ​กำลัง​สอน​คน​เหล่า​นี้​ทำ​งาน! ด้วย​เหตุ​นี้ การ​ค้า​ทาส​จึง​เฟื่องฟู​ขึ้น​อย่าง​น้อย​ก็​ใน​ช่วง​เวลา​หนึ่ง.

สถานการณ์​ผันแปร

เมื่อ​พลเมือง​ที่​รัก​ความ​ยุติธรรม​พา​กัน​คัดค้าน​โจมตี​เรื่อง​การ​ค้า​ทาส สถานการณ์​ก็​เริ่ม​ผันแปร. แม้​ว่า​ชาว​เกาะ​บาง​คน​ยอม​ไป​ทำ​งาน​ด้วย​ความ​สมัคร​ใจ แต่​การ​บังคับ​จับ​ตัว​ก็​เป็น​เรื่อง​ที่​ไม่​อาจ​ยอม​ได้​อีก​ต่อ​ไป. ทั้ง​ไม่​อาจ​ยอม​ให้​มี​การ​ข่มเหง​ทารุณ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​การ​เฆี่ยน​ด้วย​แส้, การ​ตี​ตรา​ด้วย​ไฟ, หรือ​สภาพ​ต่าง ๆ ที่​น่า​ตกใจ​ซึ่ง​แรงงาน​บาง​คน​ต้อง​ทน​ทำ​งาน​หรือ​ต้อง​ทน​อยู่.

สถานการณ์​ยิ่ง​ตึงเครียด​ขึ้น​อีก​เมื่อ เจ. ซี. แพทเทสัน บิชอป​นิกาย​แองกลิกัน ซึ่ง​เป็น​ผู้​คัดค้าน​เรื่อง​การ​ค้า​ทาส​อย่าง​กล้า​หาญ ได้​ถูก​สังหาร​โดย​ชาว​เกาะ​เหล่า​นั้น​ที่​เขา​พยายาม​ปก​ป้อง. โดย​ใช้​วิธี​หลอก​ลวง​แบบ​หนึ่ง​ที่​มัก​จะ​ใช้​กัน​อยู่​บ่อย ๆ พวก​นัก​ค้า​ทาส​ได้​ไป​ถึง​เกาะ​หนึ่ง​ก่อน​แพทเทสัน โดย​จงใจ​ปลอม​แปลง​เรือ​ให้​ดู​คล้าย​กับ​เรือ​ของ​เขา. ใน​กรณี​ดัง​กล่าว มี​การ​เชิญ​ชวน​ชาว​เกาะ​ให้​ขึ้น​ไป​พบ​บิชอป​บน​เรือ. ไม่​มี​ใคร​ได้​เห็น​หน้า​พวก​เขา​อีก​เลย. เมื่อ​แพทเทสัน​ตัว​จริง​มา​ถึง จึง​ไม่​แปลก​ที่​เขา​ได้​พบ​กับ​ฝูง​ชน​ที่​รู้สึก​โกรธ​แค้น แล้ว​เขา​ก็​ถูก​ฆ่า​เนื่อง​จาก​ความ​เข้าใจ​ผิด. เมื่อ​เกิด​เหตุ​การณ์​เช่น​นี้ และ​เพื่อ​ตอบ​สนอง​เสียง​เรียก​ร้อง​ของ​สาธารณชน เรือ​รบ​ของ​อังกฤษ​และ​ฝรั่งเศส​จึง​ไป​ประจำการ​อยู่​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก พร้อม​กับ​คำ​สั่ง​ที่​ให้​ไป​ยุติ​การ​ข่มเหง​ทารุณ​ต่าง ๆ.

รัฐบาล​ของ​รัฐ​นิวเซาท์เวลส์​และ​รัฐ​ควีนส์แลนด์​ใน​ออสเตรเลีย ได้​ร่วม​มือ​กับ​กระทรวง​กิจการ​อาณานิคม​ของ​อังกฤษ​ใน​การ​ออก​รัฐ​บัญญัติ​หลาย​มาตรา เพื่อ​หยุด​ยั้ง​การ​ข่มเหง​ทารุณ​และ​เพื่อ​วาง​ระเบียบ​ใน​การ​ทำ​สัญญา​ว่า​จ้าง​แรงงาน. มี​การ​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ตรวจ​สอบ​และ​เจ้าหน้าที่​ซึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​ของ​รัฐบาล​ให้​ประจำการ​อยู่​บน​เรือ​ที่​มี​การ​รับ​แรงงาน​รุ่น​ใหม่. ความ​พยายาม​ที่​เอา​จริง​เอา​จัง​เหล่า​นี้​ได้​ผล เมื่อ​มี​การ​พิพากษา​ลง​โทษ​โดย​อาศัย​ข้อ​กล่าวหา​เรื่อง​การ​ลัก​พา​ตัว​และ​การ​ฆาตกรรม แทน​ที่​จะ​อาศัย​ข้อ​กล่าวหา​เรื่อง​การ​ค้า​ทาส​ซึ่ง​ไม่​ค่อย​ได้​ผล. ปลาย​ทศวรรษ​ที่ 19 สถานการณ์​ก็​ผันแปร​ไป​ใน​แปซิฟิก​ใต้. การ​ลัก​พา​คน​ไป​เป็น​ทาส​ส่วน​ใหญ่​ก็​แทบ​จะ​ไม่​มี​ให้​เห็น และ​การ​ค้า “แรงงาน​ทาส” รุ่น​ใหม่ ๆ ก็​ลด​น้อย​ลง​เรื่อย ๆ จน​แทบ​จะ​ไม่​มี​เหลือ​เลย​เมื่อ​ถึง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 20.

ใน​ปี 1901 รัฐสภา​แห่ง​ชาติ​ชุด​ใหม่ ซึ่ง​ก็​คือ​เครือ​จักรภพ​แห่ง​ออสเตรเลีย ได้​เข้า​ไป​ควบคุม​เรื่อง​การ​ตรวจ​คน​เข้า​เมือง​ของ​ทั้ง​ประเทศ. นโยบาย​ของ​รัฐสภา​ใหม่​นี้​สะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​ความ​คิด​ของ​ประชาชน​ทั่ว​ไป ซึ่ง​ใน​ตอน​นั้น​ผู้​คน​ก็​เริ่ม​ไม่​พอ​ใจ​แรงงาน​จาก​ต่าง​ประเทศ เพราะ​หลาย​คน​กลัว​ว่า​จะ​กระทบ​ต่อ​คน​งาน​ท้องถิ่น. ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​เป็น​แรงงาน​ที่​มี​สัญญา​ผูก​มัด​หรือ​ไม่ ชาว​เกาะ​ที่​มา​จาก​แปซิฟิก​ใต้​ก็​ไม่​เป็น​ที่​ต้อนรับ​อีก​ต่อ​ไป. แรงงาน​หลาย​พัน​คน​ถูก​บังคับ​ให้​กลับ​ไป​ยัง​บ้าน​เกิด​ของ​ตน ซึ่ง​เรื่อง​นี้​ก็​ทำ​ให้​น่า​เศร้า​ใจ​ยิ่ง​ขึ้น เนื่อง​จาก​ตอน​นี้​บาง​คน​ได้​ถูก​พา​ตัว​ออก​จาก​ที่​ซึ่ง​พวก​เขา​ได้​ลง​หลัก​ปัก​ฐาน​แล้ว พวก​เขา​จึง​ต้อง​พลัด​พราก​จาก​คน​ที่​เขา​รัก.

การ​รำลึก​ถึง​ทาส​ที่​ถูก​ลืม

ใน​เดือน​กันยายน​ปี 2000 รัฐบาล​ของ​รัฐ​ควีนส์แลนด์​ได้​ออก​คำ​แถลง​การณ์​ซึ่ง​ถูก​นำ​ไป​แสดง​ไว้​เป็น​การ​ถาวร. แถลง​การณ์​นั้น​ยอม​รับ​ว่า​ชาว​เกาะ​จาก​ทะเล​ใต้​มี​บทบาท​ที่​สำคัญ​ทั้ง​ทาง​ด้าน​เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, และ​การ​พัฒนา​ใน​ภูมิภาค​ต่าง ๆ ของ​รัฐ​ควีนส์แลนด์. ขณะ​เดียว​กัน แถลง​การณ์​นั้น​ก็​แสดง​ความ​เสียใจ​ที่​เคย​มี​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา​อย่าง​โหด​ร้าย​ทารุณ.

ตลอด​ประวัติศาสตร์ ผู้​คน​มาก​มาย​ได้​ฉวย​โอกาส​ที่​จะ​สร้าง​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​ให้​ตน​เอง​จน​ไม่​คำนึง​ถึง​ชีวิต​และ​เสรีภาพ​ของ​ผู้​อื่น. คัมภีร์​ไบเบิล​สัญญา​ว่า ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​อัน​ชอบธรรม​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า ความ​อยุติธรรม​เช่น​นั้น​จะ​ไม่​มี​ทาง​เกิด​ขึ้น. ที่​จริง คน​เหล่า​นั้น​ที่​เป็น​พลเมือง​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​รัฐบาล​ฝ่าย​สวรรค์ “ต่าง​คน​ก็​จะ​นั่ง​อยู่​ใต้​ซุ้ม​เถา​องุ่น​และ​ใต้​ต้น​มะเดื่อ​เทศ​ของ​ตน; และ​จะ​ไม่​มี​อะไร​มา​ทำ​ให้​เขา​สะดุ้ง​กลัว.”—มีคา 4:4.

[ตาราง​แผนภูมิ/แผนที่​หน้า 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เส้น​ทาง​ที่​ทาส​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ยัง​ออสเตรเลีย​และ​อเมริกา​ใต้

มหาสมุทร​แปซิฟิก

ไมโครนีเซีย

หมู่​เกาะ​มาร์แชลล์

นิวกินี

หมู่​เกาะ​โซโลมอน

ตูวาลู

ออสเตรเลีย คิริบาส

ควีนส์แลนด์ วานูอาตู

นิวเซาท์เวลส์ นิวแคลิโดเนีย อเมริกา​ใต้

ซิดนีย์ ← ฟิจิ → คายาโอ

ซามัว

ตองกา

หมู่​เกาะ​คุก

เฟรนช์โปลินีเซีย

เกาะ​อีสเตอร์

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 24]

National Library of Australia, nla.pic-an11279871