ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การนอนหลับ—จำเป็นแค่ไหน?

การนอนหลับ—จำเป็นแค่ไหน?

การ​นอน​หลับ—จำเป็น​แค่​ไหน?

บาง​คน​คิด​ว่า​การ​นอน​หลับ​เป็น​การ​เสีย​เวลา​โดย​ใช่​เหตุ. คน​พวก​นี้​เอา​เวลา​ไป​ใช้​กับ​กิจ​ธุระ​การ​งาน​และ​การ​คบหา​กับ​เพื่อน​ฝูง​แทบ​ไม่​ว่าง​เว้น แล้ว​นอน​เฉพาะ​ตอน​ที่​เหนื่อย​จริง ๆ. แต่​มี​คน​อีก​พวก​หนึ่ง​ที่​นอน​ไม่​หลับ คืน​แล้ว​คืน​เล่า​ที่​พวก​เขา​พลิก​ไป​พลิก​มา​จน​รุ่ง​เช้า คน​พวก​นี้​คง​จะ​ยอม​ทำ​อะไร​ก็​ได้​เพื่อ​ให้​ตน​นอน​หลับ​เต็ม​อิ่ม​สัก​คืน.

ทำไม​บาง​คน​พยายาม​เท่า​ไร​ก็​นอน​ไม่​หลับ​แต่​บาง​คน​กลับ​พยายาม​นอน​ให้​น้อย​ที่​สุด? เรา​ควร​จะ​มอง​ว่า​การ​นอน​หลับ​เป็น​การ​เสีย​เวลา​ไหม​หรือ​ว่า​เป็น​สิ่ง​จำเป็น? เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้ เรา​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​ระหว่าง​ที่​เรา​หลับ.

ความ​ลึกลับ​แห่ง​การ​หลับ

ยัง​ไม่​เป็น​ที่​เข้าใจ​กัน​จริง ๆ ว่า​อะไร​ทำ​ให้​เรา​ตก​เข้า​สู่​ภาวะ​ไม่​รู้สึก​ตัว​และ​หลับ​ไป. แต่​นัก​วิจัย​พิสูจน์​แล้ว​ว่า การ​นอน​หลับ​เป็น​กระบวนการ​ที่​ซับซ้อน​ซึ่ง​ถูก​ควบคุม​โดย​สมอง และ​เป็น​ไป​ตาม​นาฬิกา​ชีวภาพ​ซึ่ง​ทำ​งาน​ตลอด 24 ชั่วโมง.

พฤติกรรม​การ​นอน​หลับ​ของ​เรา​เปลี่ยน​ไป​เมื่อ​มี​อายุ​มาก​ขึ้น. ทารก​แรก​เกิด​นอน​หลับ​เป็น​ช่วง​สั้น ๆ วัน​ละ​หลาย​ครั้ง วัน​หนึ่ง​รวม​กัน​แล้ว​ประมาณ 18 ชั่วโมง. ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การ​นอน​หลับ​กล่าว​ว่า ถึง​แม้​ผู้​ใหญ่​บาง​คน​ดู​เหมือน​ต้องการ​นอน​หลับ​แค่​วัน​ละ​สาม​ชั่วโมง แต่​บาง​คน​ต้อง​นอน​ถึง​วัน​ละ​สิบ​ชั่วโมง.

การ​วิจัย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ยัง​แสดง​ว่า ความ​ผันแปร​ของ​นาฬิกา​ชีวภาพ​เป็น​เหตุ​ให้​วัยรุ่น​บาง​คน​ไม่​อยาก​ตื่น​ใน​ตอน​เช้า. ดู​เหมือน​ว่า​นาฬิกา​ชีวภาพ​จะ​เดิน​ช้า​ลง​ใน​ช่วง​ที่​ย่าง​เข้า​สู่​วัย​เจริญ​พันธุ์ ซึ่ง​ทำ​ให้​หนุ่ม​สาว​อยาก​เข้า​นอน​ดึก​ขึ้น​และ​ตื่น​สาย​ขึ้น. การ​นอน​ช้า​ลง​นี้​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​และ​มัก​จะ​หาย​ไป​ใน​ช่วง​วัยรุ่น​ตอน​กลาง​ถึง​ตอน​ปลาย.

นาฬิกา​ชีวภาพ​ของ​เรา​ถูก​ควบคุม​ด้วย​สาร​เคมี​ต่าง ๆ ซึ่ง​หลาย​ชนิด​ก็​เป็น​ที่​รู้​จัก​แล้ว. สาร​ชนิด​หนึ่ง​คือ​เมลาโทนิน ซึ่ง​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ฮอร์โมน​ที่​ทำ​ให้​รู้สึก​ง่วง​นอน. เมลาโทนิน​ถูก​ผลิต​ขึ้น​ใน​สมอง และ​นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​มัน​เป็น​สาร​ที่​ทำ​ให้​กระบวนการ​เผา​ผลาญ​ภาย​ใน​ร่าง​กาย​ทำ​งาน​ช้า​ลง​ใน​ช่วง​ก่อน​ที่​เรา​จะ​หลับ​ไป. เมื่อ​ร่าง​กาย​หลั่ง​เมลาโทนิน​ออก​มา อุณหภูมิ​ของ​ร่าง​กาย​จะ​ลด​ลง เลือด​จะ​ไหล​ไป​เลี้ยง​สมอง​น้อย​ลง และ​กล้ามเนื้อ​ของ​เรา​จะ​ค่อย ๆ คลาย​ตัว​และ​อ่อน​ลง. เกิด​อะไร​ขึ้น​ต่อ​จาก​นั้น​เมื่อ​เรา​ดิ่ง​สู่​โลก​แห่ง​ความ​ลี้​ลับ​ยาม​นิทรา?

‘ปัจจัย​บำรุง​ตัว​หลัก​ของ​ธรรมชาติ’

เมื่อ​เรา​หลับ​ไป​ได้​ราว ๆ สอง​ชั่วโมง ลูก​ตา​ของ​เรา​จะ​เริ่ม​กลอก​ไป​มา​อย่าง​รวด​เร็ว. การ​สังเกต​ปรากฏการณ์​นี้​ทำ​ให้​นัก​วิทยาศาสตร์​แบ่ง​การ​นอน​หลับ​เป็น​สอง​ระยะ คือ​การ​นอน​หลับ​แบบ​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว (rapid eye movement, REM) และ​การ​นอน​หลับ​แบบ​ไม่​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว (non-REM). การ​นอน​หลับ​แบบ​ไม่​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว​อาจ​แบ่ง​ได้​อีก​เป็น​การ​นอน​แบบ​ค่อย ๆ หลับ​ลึก​มาก​ขึ้น​ถึง​สี่​ขั้น​ตอน. ระหว่าง​การ​นอน​หลับ​ปกติ​ใน​ตอน​กลางคืน จะ​มี​การ​นอน​หลับ​แบบ​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว​เกิด​ขึ้น​หลาย​ครั้ง สลับ​กับ​แบบ​ไม่​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว.

ความ​ฝัน​ส่วน​ใหญ่​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​การ​นอน​หลับ​แบบ​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว. กล้ามเนื้อ​ยัง​ผ่อน​คลาย​มาก​ที่​สุด​ใน​ระยะ​นี้​ด้วย ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​ที่​นอน​หลับ​ตื่น​ขึ้น​มา​ด้วย​ความ​รู้สึก​สดชื่น​กระปรี้กระเปร่า. นอก​จาก​นั้น นัก​วิจัย​บาง​คน​เชื่อ​ว่า ข้อมูล​ที่​เพิ่ง​ได้​รับ​จะ​ถูก​ประทับ​ไว้​ใน​ความ​ทรง​จำ​ระยะ​ยาว​ระหว่าง​การ​นอน​ใน​ช่วง​นี้.

ระหว่าง​การ​หลับ​ลึก (การ​นอน​หลับ​แบบ​ไม่​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว​ขั้น​ที่ 3 และ 4) ความ​ดัน​โลหิต​จะ​ลด​ลง​และ​หัวใจ​เต้น​ช้า​ลง ทำ​ให้​ระบบ​ไหล​เวียน​โลหิต​ได้​พัก​และ​ช่วย​ป้องกัน​โรค​หลอด​เลือด​หัวใจ. นอก​จาก​นั้น การ​ผลิต​ฮอร์โมน​ที่​ควบคุม​การ​เจริญ​เติบโต​จะ​เพิ่ม​ถึง​ขีด​สุด​ใน​ช่วง​การ​นอน​หลับ​แบบ​ไม่​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว วัยรุ่น​บาง​คน​มี​การ​ผลิต​ฮอร์โมน​ที่​ควบคุม​การ​เจริญ​เติบโต​นี้​ใน​ตอน​กลางคืน​มาก​กว่า​ตอน​กลางวัน​ถึง 50 เท่า.

การ​นอน​หลับ​ดู​เหมือน​จะ​ส่ง​ผล​ต่อ​ความ​อยาก​อาหาร​อีก​ด้วย. นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ค้น​พบ​ว่า การ​นอน​หลับ​เป็น “ปัจจัย​บำรุง​ตัว​หลัก​ที่​ช่วย​หล่อ​เลี้ยง​ชีวิต” อย่าง​แท้​จริง ตาม​ที่​เชกสเปียร์​กล่าว​ไว้. สมอง​ของ​เรา​ถือ​ว่า​การ​อด​นอน​คือ​การ​อด​อาหาร. ขณะ​ที่​เรา​นอน​หลับ ร่าง​กาย​เรา​จะ​หลั่ง​สาร​เล​ปติ​นอ​อก​มา ซึ่ง​โดย​ปกติ​แล้ว​ฮอร์โมน​นี้​จะ​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​รู้​ว่า​เรา​กิน​อาหาร​พอ​แล้ว. เมื่อ​เรา​นอน​น้อย​กว่า​ที่​ควร ร่าง​กาย​ของ​เรา​ก็​จะ​ผลิต​เลปติน​ได้​น้อย​ลง และ​เรา​ก็​จะ​รู้สึก​ต้องการ​คาร์โบไฮเดรต​มาก​ขึ้น. ดัง​นั้น การ​อด​นอน​อาจ​ทำ​ให้​มี​การ​บริโภค​คาร์โบไฮเดรต​มาก​ขึ้น ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เป็น​โรค​อ้วน​ได้.—ดู​กรอบ​ข้าง​ล่าง.

สำคัญ​ต่อ​สุขภาพ

แต่​ไม่​ใช่​แค่​นั้น. การ​นอน​หลับ​ยัง​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​เผา​ผลาญ​อนุ​มูล​อิสระ​ได้​ง่าย​ขึ้น​ซึ่ง​เป็น​โมเลกุล​ที่​เชื่อ​กัน​ว่า​ทำ​ให้​เซลล์​แก่​ลง​หรือ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​มะเร็ง​ด้วย. ใน​การ​ศึกษา​วิจัย​ที่​มหาวิทยาลัย​ชิคาโก​ได้​ทำ​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ มี​การ​ให้​ชาย​หนุ่ม​ที่​มี​สุขภาพ​ดี 11 คน​นอน​วัน​ละ​แค่​สี่​ชั่วโมง​เป็น​เวลา​หก​วัน. เมื่อ​ช่วง​เวลา​นี้​สิ้น​สุด​ลง เซลล์​ใน​ร่าง​กาย​ของ​พวก​เขา​ทำ​งาน​เหมือน​เซลล์​ของ​คน​อายุ 60 ปี และ​ระดับ​อินซูลิน​ใน​เลือด​ก็​มี​พอ ๆ กับ​คน​ที่​ป่วย​เป็น​โรค​เบาหวาน! การ​อด​นอน​ถึง​กับ​ส่ง​ผล​ต่อ​การ​ผลิต​เม็ด​เลือด​ขาว​และ​ฮอร์โมน​คอร์ติซอล ซึ่ง​ทำ​ให้​มี​โอกาส​ติด​เชื้อ​และ​เป็น​โรค​เกี่ยว​กับ​ระบบ​ไหล​เวียน​โลหิต​ได้​ง่าย​ขึ้น.

ไม่​มี​ข้อ​สงสัย การ​นอน​หลับ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​เพื่อ​จะ​มี​จิตใจ​และ​ร่าง​กาย​ที่​แข็งแรง. นัก​วิจัย​ที่​ชื่อ วิลเลียม เดอเมนท์ ผู้​ก่อ​ตั้ง​ศูนย์​วิจัย​การ​นอน​หลับ​แห่ง​แรก​ใน​มหาวิทยาลัย​สแตนฟอร์ด สหรัฐ​อเมริกา แสดง​ความ​เห็น​ดัง​นี้: “ดู​เหมือน​การ​นอน​หลับ​เป็น​เครื่อง​บ่ง​ชี้​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ว่า​คุณ​จะ​มี​อายุ​ยืน​แค่​ไหน.” เดโบราห์ ซูเชกี นัก​วิจัย​แห่ง​ศูนย์​วิจัย​การ​นอน​หลับ​ที่​นคร​เซาเปาลู บราซิล ให้​ความ​เห็น​ว่า “ถ้า​คน​ทั่ว​ไป​รู้​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​ร่าง​กาย​ของ​คน​ที่​อด​นอน พวก​เขา​จะ​คิด​ทบทวน​อีก​ครั้ง​ก่อน​ลง​ความ​เห็น​ว่า การ​นอน​หลับ​เป็น​การ​เสีย​เวลา​หรือ​มี​ไว้​เฉพาะ​สำหรับ​คน​ขี้​เกียจ​เท่า​นั้น.”—ดู​กรอบ​ข้าง​บน.

แต่​การ​นอน​ทุก​อย่าง​ช่วย​ฟื้นฟู​กำลัง​ไหม? ทำไม​บาง​คน​นอน​หลับ​ทั้ง​คืน​แต่​ก็​ยัง​รู้สึก​ไม่​สดชื่น? บทความ​ถัด​ไป​จะ​ช่วย​คุณ​เข้าใจ​ความ​ผิด​ปกติ​ที่​สำคัญ​บาง​อย่าง​ของ​การ​นอน​หลับ​และ​จะ​อธิบาย​ว่า​คุณ​จะ​นอน​อย่าง​มี​คุณภาพ​ได้​อย่าง​ไร.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

ผล​ของ​การ​อด​นอน

ผล​ระยะ​สั้น

▪ ง่วง​นอน

▪ อารมณ์​แปรปรวน

▪ ความ​จำ​ระยะ​สั้น​เสื่อม

▪ สูญ​เสีย​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​สร้าง​สรรค์, วาง​แผน, และ​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ

▪ ไม่​มี​สมาธิ

ผล​ระยะ​ยาว

▪ อ้วน

▪ แก่​เร็ว

▪ อ่อน​เพลีย

▪ มี​ความ​เสี่ยง​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​เป็น​โรค​ติด​เชื้อ, โรค​เบาหวาน, โรค​หลอด​เลือด​หัวใจ, และ​โรค​กระเพาะ

▪ ความ​จำ​เสื่อม​เรื้อรัง

[กรอบ​หน้า 6]

งีบ​ตอน​บ่าย

คุณ​เคย​รู้สึก​ง่วง​จน​แทบ​จะ​ฝืน​ไม่​ไหว​ใน​ช่วง​หลัง​อาหาร​เที่ยง​ไหม? นี่​ไม่​ได้​เป็น​สัญญาณ​ว่า​คุณ​กำลัง​นอน​หลับ​ไม่​เพียง​พอ​เสมอ​ไป. เป็น​เรื่อง​ปกติ​ที่​จะ​รู้สึก​ง่วง​ตอน​บ่าย ๆ เนื่อง​จาก​อุณหภูมิ​ของ​ร่าง​กาย​ลด​ลง​ตาม​ธรรมชาติ. นอก​จาก​นั้น ไม่​นาน​มา​นี้​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ค้น​พบ​โปรตีน​ตัว​หนึ่ง​ที่​ชื่อ​ไฮโปเครติน หรือ​ออเรกซิน ซึ่ง​สมอง​ผลิต​ขึ้น​และ​ช่วย​ให้​เรา​ตื่น​ตัว. ไฮโปเครติน​กับ​อาหาร​เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​ไร?

เมื่อ​เรา​กิน​อาหาร ร่าง​กาย​จะ​ผลิต​เลปติน​เพื่อ​ให้​เรา​รู้สึก​อิ่ม. แต่​เลปติน​จะ​ยับยั้ง​การ​ผลิต​ไฮโปเครติน. พูด​ง่าย ๆ คือ ยิ่ง​มี​เลปติน​ใน​สมอง​มาก​เท่า​ไร ก็​จะ​มี​ไฮโปเครติน​น้อย​ลง​และ​รู้สึก​ง่วง​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. นี่​อาจ​เป็น​เหตุ​ที่​ผู้​คน​ใน​บาง​ประเทศ​มี​ช่วง​พัก​ตอน​บ่าย​วัน​ทำ​งาน ซึ่ง​ทำ​ให้​พวก​เขา​ได้​งีบ​หลับ​บ้าง​หลัง​อาหาร​เที่ยง.

[แผนภูมิ​หน้า 5]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ขั้น​ต่าง ๆ ของ​การ​นอน​หลับ

แผนภูมิ​แบบ​ง่าย

ขั้น​ต่าง ๆ ของ​การ​นอน​หลับ

ช่วง​ตื่น

การ​นอน​หลับ​แบบ​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว

การ​นอน​หลับ​แบบ​ไม่​มี​การ​กลอก​ตา​เร็ว

ภาวะ​หลับ​ตื้น 1

2

3

ภาวะ​หลับ​ลึก 4

1 2 3 4 5 6 7 8

ชั่วโมง​ที่​นอน​หลับ

[ภาพ​หน้า 4, 5]

การ​นอน​หลับ​ให้​เพียง​พอ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​เพื่อ​จะ​มี​จิตใจ​และ​ร่าง​กาย​ที่​แข็งแรง

[ภาพ​หน้า 5]

การ​ผลิต​ฮอร์โมน​ที่​ควบคุม​การ​เจริญ​เติบโต​จะ​เพิ่ม​ถึง​ขีด​สุด​ใน​ช่วง​การ​นอน​หลับ