ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

รอด​อย่าง​น่า​ประหลาด

หนังสือ​พิมพ์​เลอ มงด์ แห่ง​กรุง​ปารีส​รายงาน​ว่า แม้​ป่า​ไม้​ของ​ฝรั่งเศส​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก​จาก​พายุ​ที่​รุนแรง​ใน​เดือน​ธันวาคม 1999 การ​เฝ้า​สังเกต​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​เผย​ให้​เห็น​ว่า​สัตว์​ป่า​ขนาด​ใหญ่​ไม่​ได้​รับ​ผล​กระทบ​มาก​อย่าง​ที่​คาด​กัน​ไว้. มี​การ​พบ​ซาก​สัตว์​เพียง 20 ตัว—กวาง 10 ตัว, กวาง​โรเดียร์ 5 ตัว, และ​หมูป่า 5 ตัว—ใน​พื้น​ที่ 625,000 ไร่​ใน​ป่า​ซึ่ง​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​ฝรั่งเศส. สัตว์​เหล่า​นั้น​ทำ​ตาม “สัญชาตญาณ​ซึ่ง​ยัง​เป็น​สิ่ง​ที่​ลึกลับ” โดย​หา​ทาง​หนี บาง​ที​อาจ​หลบ​อยู่​ใต้​ต้น​ไม้​ที่​หัก​โค่น​ลง​มา​หรือ​รวม​กลุ่ม​กัน​อยู่​ใน​ที่​โล่ง. ชอง-ปอล วีดเม แห่ง​สำนักงาน​ป่า​ไม้​ของ​ฝรั่งเศส​กล่าว​ว่า “เรา​ทราบ​เกี่ยว​กับ [พฤติกรรม] ของ​กวาง​และ​หมูป่า​น้อย​กว่า​พฤติกรรม​ของ​สิงโต​และ​สัตว์​ที่​อยู่​ไกล ๆ ชนิด​อื่น.”

โรค​ชั้น​ประหยัด

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ เดลี โยมิอูริ รายงาน​ว่า ใน​ช่วง​แปด​ปี​ที่​ผ่าน​มา มี​ผู้​โดยสาร 25 คน​ที่​เดิน​ทาง​มา​ถึง​สนามบิน​นา​ริ​ตะ​ของ​ญี่ปุ่น “ได้​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​ที่​เรียก​กัน​ว่า​โรค​ชั้น​ประหยัด.” แม้​จะ​มี​ชื่อ​ว่า “โรค​ชั้น​ประหยัด” แต่​ผู้​โดยสาร​ชั้น​หนึ่ง​ก็​เป็น​โรค​นี้​ได้​เช่น​กัน. การ​นั่ง​เป็น​เวลา​หลาย​ชั่วโมง​อาจ​ทำ​ให้​เลือด​ที่​ขา​ไหล​เวียน​ไม่​สะดวก​และ​ทำ​ให้​เลือด​จับ​ตัว​เป็น​ลิ่ม. ถ้า​ลิ่ม​เลือด​ไหล​เข้า​ปอด ก็​อาจ​ทำ​ให้​หายใจ​ลำบาก​หรือ​ถึง​กับ​เสีย​ชีวิต. โตชิโร มากิโน หัวหน้า​คลินิก​ท่า​อากาศยาน​สากล​โตเกียว​แห่ง​ใหม่​ของ​วิทยาลัย​การ​แพทย์​นิปปอน​กล่าว​ว่า ทุก​ปี ผู้​โดยสาร​ประมาณ 100 ถึง 150 คน​ซึ่ง​เดิน​ทาง​มา​ถึง​สนามบิน​นา​ริ​ตะ​มี​อาการ​บาง​อย่าง​ของ​โรค​นี้. เขา​แนะ​นำ​ว่า “ผู้​โดยสาร​ที่​ต้อง​เดิน​ทาง​นาน​กว่า​เจ็ด​หรือ​แปด​ชั่วโมง​ควร​ดื่ม​น้ำ​ให้​มาก​กว่า​ปกติ​และ​ใช้​มาตรการ​ป้องกัน​บาง​อย่าง เช่น การ​เหยียด​และ​งอ​ขา.”

โตเกียว​ร้อน​ขึ้น

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ เดลี โยมิอูริ รายงาน​ว่า “จำนวน​วัน​เฉลี่ย​ต่อ​ปี​ที่​อุณหภูมิ​ใน​กรุง​โตเกียว​ลด​ต่ำ​กว่า​จุด​เยือก​แข็ง​นั้น​ลด​ลง 95 เปอร์เซ็นต์​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 20.” ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1990 เฉลี่ย​แล้ว​ใน​หนึ่ง​ปี​มี​เพียง 3.2 วัน​เท่า​นั้น​ที่​อุณหภูมิ​ใน​กรุง​โตเกียว​ต่ำ​กว่า​จุด​เยือก​แข็ง เทียบ​กับ 61.7 วัน​ใน​สิบ​ปี​แรก​ของ​ศตวรรษ. นัก​อุตุนิยมวิทยา​ผู้​มี​ประสบการณ์​มาก​คน​หนึ่ง​ใน​กรม​อุตุนิยมวิทยา​ของ​ญี่ปุ่น​ให้​ความ​เห็น​ว่า ภาวะ​ที่​โลก​ร้อน​ขึ้น​ทำ​ให้​อุณหภูมิ​ไม่​ลด​ต่ำ​ลง​เหมือน​เมื่อ​ก่อน และ​เขา​แสดง​ความ​เป็น​ห่วง​ว่า​อีก​ไม่​นาน “ฤดู​หนาว​ที่​หนาว​จริง ๆ” ใน​กรุง​โตเกียว​นั้น​อาจ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ใน​อดีต. ตาม​คำ​แถลง​ของ​กรม​นั้น ถ้า​ก๊าซ​เรือน​กระจก​ยัง​คง​ถูก​ปล่อย​ออก​มา​ใน​ระดับ​นี้​ต่อ​ไป คาด​กัน​ว่า​อุณหภูมิ​ของ​โลก​จะ​สูง​ขึ้น 1.0 ถึง 3.5 องศา​เซลเซียส​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 21. ถ้า​ทั่ว​ประเทศ​ญี่ปุ่น​มี​อุณหภูมิ​สูง​ขึ้น 3.5 องศา กรุง​โตเกียว​ก็​จะ​ร้อน​พอ ๆ กับ​กรุง​ไนโรบี​สมัย​ปัจจุบัน.

ซิฟิลิส​กลับ​มา

โรค​ซิฟิลิส​เกือบ​จะ​สาบสูญ​ไป​จาก​ฝรั่งเศส​หลาย​สิบ​ปี​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​เลอ ฟิกาโร แห่ง​ฝรั่งเศส​รายงาน​ว่า ปี​ที่​แล้ว​แพทย์​ได้​สังเกต​การ​ระบาด​ครั้ง​ใหม่​ของ​โรค​ติด​ต่อ​ทาง​เพศ​สัมพันธ์​ชนิด​นี้ ส่วน​ใหญ่​ใน​หมู่​ผู้​รัก​ร่วม​เพศ. มี​การ​พบ​การ​ระบาด​ของ​ซิฟิลิส​คล้าย ๆ กัน​ใน​บริเตน​และ​ไอร์แลนด์​ด้วย​ใน​ปี 2000. ซิฟิลิส​เป็น​โรค​ที่​เกิด​จาก​เชื้อ​แบคทีเรีย​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​แผล​และ​ผื่น​ขึ้น​บน​ผิวหนัง​ใน​ระยะ​แรก​และ​ถ้า​ไม่​ได้​รับ​การ​รักษา​ก็​จะ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​ต่อ​ระบบ​ประสาท​รวม​ทั้ง​หัวใจ​และ​หลอด​เลือด. เลอ ฟิกาโร ให้​ความ​เห็น​ว่า การ​ระบาด​ครั้ง​ใหม่​ของ​ซิฟิลิส​นั้น​น่า​เป็น​ห่วง เพราะ​โรค​นี้ “ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​เลย​สำหรับ​แพทย์​รุ่น​ใหม่​ซึ่ง​ไม่​เคย​วินิจฉัย​โรค​นี้​สัก​ครั้ง​เดียว​ระหว่าง​การ​ฝึก​อบรม​ทาง​การ​แพทย์.” แพทย์​จึง​อาจ​วินิจฉัย​ผิด ซึ่ง​ทำ​ให้​การ​รักษา​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ล่า​ช้า​ไป. ผู้​เชี่ยวชาญ​เฉพาะ​โรค​คาด​ว่า กิจ​ปฏิบัติ​ทาง​เพศ​ที่​อันตราย​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​ซิฟิลิส​กลับ​มา​อีก​ครั้ง. ดัง​นั้น พวก​เขา​กลัว​ว่า​แนว​โน้ม​นี้​จะ​เป็น​ลาง​บอก​ถึง “การ​ระบาด​อย่าง​รุนแรง​ครั้ง​ใหม่​ของ​โรค​เอดส์.”

ข้อ​ควร​ระวัง​สำหรับ​นัก​เดิน​ทาง​ที่​สูง​อายุ

จดหมาย​ข่าว​เรื่อง​สุขภาพ​และ​โภชนาการ​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ทัฟตส์ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ผู้​สูง​อายุ​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ประเทศ​ด้อย​พัฒนา​กำลัง​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น และ​หลาย​คน​ป่วย​เพราะ​รับประทาน​อาหาร​หรือ​น้ำ​ที่​ปน​เปื้อน​แบคทีเรีย. “โรค​ท้องร่วง​ของ​นัก​ท่อง​เที่ยว” ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​อาจ​นำ​ไป​สู่​ปัญหา​สุขภาพ​ที่​ร้ายแรง​กว่า​นั้น​สำหรับ​ผู้​สูง​อายุ​วัย 60 ปี​ขึ้น​ไป. นอก​จาก​ว่า​คุณ​กำลัง​รับประทาน​อาหาร​ใน​โรงแรม​หรือ​ภัตตาคาร​ชั้น​หนึ่ง​ใน​เมือง​ใหญ่​ที่​ทัน​สมัย จดหมาย​ข่าว​เรื่อง​สุขภาพ​และ​โภชนาการ เตือน​ดัง​นี้:

□ อย่า​ดื่ม​น้ำ​จาก​ก๊อก​หรือ​แปรง​ฟัน​ด้วย​น้ำ​นั้น. ใช้​แต่​น้ำ​บรรจุ​ขวด, น้ำ​ต้ม, หรือ​น้ำ​ที่​ฆ่า​เชื้อ​แล้ว. อย่า​ใส่​น้ำ​แข็ง​ใน​เครื่อง​ดื่ม​นอก​จาก​คุณ​แน่​ใจ​ว่า​น้ำ​แข็ง​นั้น​ทำ​จาก​น้ำ​สะอาด.

□ อย่า​รับประทาน​ปลา​หรือ​เนื้อ​สัตว์​นอก​จาก​จะ​สุก​ดี​แล้ว.

□ อย่า​ดื่ม​ผลิตภัณฑ์​จาก​นม​ที่​ไม่​ผ่าน​การ​พาสเจอร์ไรซ์ และ​อย่า​รับประทาน​ผัก​ดิบ.

□ อย่า​รับประทาน​ผลไม้​นอก​จาก​คุณ​จะ​ปอก​เปลือก​เอง​หลัง​จาก​ล้าง​ผลไม้​นั้น​ใน​น้ำ​สะอาด. หลัง​จาก​ปอก​เปลือก​แล้ว ควร​ล้าง​มือ​ก่อน​จะ​รับประทาน.

□ อย่า​รับประทาน​อาหาร​ที่​ขาย​ข้าง​ถนน แม้​ว่า​จะ​ทำ​ร้อน ๆ.

“คน​พลัด​ถิ่น​ภาย​ใน​ประเทศ” จำนวน​มาก

หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “ผู้​คน​เหล่า​นั้น​มี​จำนวน​มาก​พอ ๆ กับ​คน​ติด​เชื้อ​เอชไอวี และ​มี​มาก​เป็น​สอง​เท่า​ของ​ผู้​ลี้​ภัย. กลุ่ม​ที่​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ระหว่าง​ชาติ​เรียก​เขา​เหล่า​นั้น​ว่า ‘คน​พลัด​ถิ่น​ภาย​ใน​ประเทศ.’” แม้​ว่า​จำ​ต้อง​หนี​จาก​บ้าน​เนื่อง​จาก​ภาวะ​สงคราม แต่​พวก​เขา​ยัง​คง​อยู่​ใน​ประเทศ​ของ​ตน. สหประชาชาติ​กะ​ประมาณ​ว่า​มี​คน​พลัด​ถิ่น​เช่น​นี้ 25 ถึง 30 ล้าน​คน​ทั่ว​โลก. ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ค่าย​ผู้​ลี้​ภัย แต่​อยู่​กับ​ครอบครัว​อื่น​หรือ​อยู่​ตาม​ถนน. เดนนิส แมกนามารา ผู้​ประสาน​งาน​พิเศษ​แห่ง​องค์การ​สหประชาชาติ​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​นี้​กล่าว​ว่า แทน​ที่​จะ​ไป​ลี้​ภัย​ใน​ประเทศ​อื่น “หลาย​คน​พยายาม​อยู่​ใกล้​บ้าน​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้ เพราะ​ไร่​นา​ของ​พวก​เขา​อยู่​ที่​นั่น.” บาง​ครั้ง​หน่วย​งาน​บรรเทา​ทุกข์​ไม่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เข้า​ถึง​คน​เหล่า​นี้ ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์​เป็น​ผู้​หญิง​และ​เด็ก. แมก​นามา​รา​กล่าว​เสริม​ว่า “ผู้​ชาย​เป็น​คน​ทำ​สงคราม. ผู้​หญิง​และ​เด็ก​เป็น​ผู้​รับ​เคราะห์. ผู้​หญิง​พลัด​ถิ่น​เสี่ยง​อยู่​เสมอ​ต่อ​การ​ถูก​ข่ม​ขืน​โดย​ทหาร​ที่​ข่มเหง​พวก​เขา.”

ลิ้น​ที่​เป็น​เบ้า​ดูด

กิ้งก่า​คามี​เลียน​จับ​กิ้งก่า​อื่น ๆ และ​แม้​แต่​นก​ซึ่ง​มี​น้ำหนัก​ถึง 10 เปอร์เซ็นต์​ของ​ตัว​มัน​ได้​อย่าง​ไร? จน​กระทั่ง​ปัจจุบัน มี​การ​เชื่อ​กัน​ว่า​เหยื่อ​ติด​อยู่​กับ​ผิว​ลิ้น​ซึ่ง​หยาบ​และ​เหนียว​ของ​กิ้งก่า​คามี​เลียน. แต่​นั่น​ไม่​ได้​อธิบาย​ว่า​สัตว์​ชนิด​นี้​จับ​เหยื่อ​ที่​มี​น้ำหนัก​ค่อนข้าง​มาก​โดย​วิธี​ใด. วารสาร​ข่าว​วิทยาศาสตร์ บิลด์ แดร์ วิสเซนชาฟท์-ออนไลน์ ของ​เยอรมนี​รายงาน​ว่า เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ นัก​วิทยาศาสตร์​ใน​เมือง​แอนต์เวิร์ป เบล​เยี่ยม ได้​ทำ​การ​บันทึก​ภาพ​วิดีโอ​ความ​เร็ว​สูง​ตอน​ที่​กิ้งก่า​คามีเลียน​แลบ​ลิ้น​ออก​มา​เร็ว​ปาน​สาย​ฟ้า​แลบ. นัก​วิทยาศาสตร์​พบ​ว่า​เมื่อ​ลิ้น​มัน​แลบ​ออก​มา ปลาย​ลิ้น​ของ​กิ้งก่า​คามี​เลียน​จะ​ม้วน​เป็น​รูป​กลม ๆ. ก่อน​จะ​ถึง​ตัว​เหยื่อ กล้ามเนื้อ​สอง​มัด​ที่​ลิ้น​จะ​หด​ตัว ทำ​ให้​ปลาย​ลิ้น​กลาย​เป็น​เบ้า​ดูด​ที่​ยึด​เหยื่อ​ไว้.

ทะเล​ทราย​คืบ​คลาน​เข้า​มา

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ การ์เดียน แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “ทะเล​ทราย​สะฮารา​ข้าม​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​แล้ว เพราะ​ความ​เสียหาย​ร้ายแรง​จาก​การ​เสื่อม​สภาพ​ของ​ดิน​ประกอบ​กับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​ภูมิ​อากาศ​ได้​ทำ​ให้​ภาค​ใต้​ของ​ยุโรป​เปลี่ยน​เป็น​ทะเล​ทราย.” ใน​การ​ประชุม​ของ​สหประชาชาติ​ว่า​ด้วย​การ​ต่อ​สู้​กับ​การ​เปลี่ยน​เป็น​ทะเล​ทราย ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ใน​เดือน​ธันวาคม 2000 ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​สาเหตุ​ส่วน​หนึ่ง​เกิด​จาก​การ​ทำ​ธุรกิจ​การ​เกษตร​ระดับ​โลก ซึ่ง​ทำ​ให้​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​เกษตรกร​ราย​ย่อย​หลาย​ราย​จะ​แข่งขัน​ด้วย. ดัง​นั้น เกษตรกร​จึง​ทิ้ง​ที่​ดิน​ของ​ตน​ซึ่ง​เคย​รักษา​ไว้​นับ​พัน ๆ ปี​โดย​การ​ทำ​นา​แบบ​ขั้น​บันได​และ​การ​ชล​ประทาน​ที่​รอบคอบ และ​ใน​ที่​สุด​ดิน​ก็​ถูก​ชะ​ไป. ปัญหา​นี้​อยู่​ใน​ขั้น​วิกฤติ​ใน​อิตาลี​ทาง​ใต้, สเปน, และ​กรีซ. ส่วน​บัลแกเรีย, ฮังการี, โรมาเนีย, มอลโดวา, รัสเซีย, และ​จีน​ก็​กำลัง​ประสบ​กับ​การ​เปลี่ยน​เป็น​ทะเล​ทราย​เพิ่ม​ขึ้น​ด้วย. เคลาส์ เทิพเฟอร์ ผู้​อำนวย​การ​ฝ่าย​บริหาร​ของ​โครงการ​สิ่ง​แวด​ล้อม​แห่ง​สหประชาชาติ​กล่าว​ว่า “ดิน​เป็น​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​ซึ่ง​สำคัญ​ต่อ​ความ​เป็น​อยู่​ที่​ดี​ของ​มนุษย์​และ​สิ่ง​แวด​ล้อม​ไม่​น้อย​ไป​กว่า​น้ำ​สะอาด​และ​อากาศ​สะอาด.”

พบ​ต้น​น้ำ​แอมะซอน

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า ทีม​นัก​สำรวจ 22 คน​ได้​ยืน​ยัน​ตำแหน่ง “ต้น​น้ำ​ของ​แม่น้ำ​สาย​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก เป็น​การ​ยุติ​การ​คาด​คะเน​และ​การ​ค้น​พบ​ที่​ขัด​แย้ง​กัน​มา​หลาย​ทศวรรษ.” แม่น้ำ​แอมะซอน​เริ่ม​ต้น​ด้วย​ธาร​น้ำ​เล็ก ๆ ที่​ไหล​จาก​เขา​เนวาโด มิสมี ซึ่ง​สูง 5,000 เมตร ใน​เทือก​เขา​แอนดีส​ทาง​ใต้​ของ​เปรู. จาก​ที่​นั่น แม่น้ำ​นี้​ไหล​วน​เวียน​ผ่าน​หุบเขา​ที่​มี​หญ้า​และ​มอส​ที่​ซึ่ง​ธาร​น้ำ​และ​แม่น้ำ​สาย​อื่น ๆ ไหล​มา​รวม​กัน​ก่อน​ที่​จะ​ไหล​ต่อ​ไป​อีก​เป็น​ระยะ​ทาง 6,000 กิโลเมตร​สู่​มหาสมุทร​แอตแลนติก. แอนดรูว์ พีโทสกี หัวหน้า​ทีม พรรณนา​ต้น​น้ำ​นี้​ว่า “มัน​เป็น​สถาน​ที่​ที่​สวย​งาม. คุณ​กำลัง​ยืน​อยู่​ใน​หุบเขา​สี​เขียว ณ ฐาน​สี​เทา​เข้ม​ของ​หน้าผา​อัน​น่า​ครั่นคร้าม​ซึ่ง​สูง​ประมาณ 40 เมตร. มัน​เงียบ​สงบ​มาก.”