ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“เครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในเอกภพ”

“เครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในเอกภพ”

“เครื่องจักร​แห่ง​การ​เรียน​รู้​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ที่​สุด​ใน​เอกภพ”

เคย​มี​ผู้​กล่าว​ว่า​สมอง​ของ​ทารก​เปรียบ​เสมือน “เครื่องจักร​แห่ง​การ​เรียน​รู้​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ที่​สุด​ใน​เอกภพ” ซึ่ง​เป็น​คำ​กล่าว​ที่​เหมาะ​สม​แล้ว. เมื่อ​ทารก​ลืม​ตา​ดู​โลก เขา​ก็​พร้อม​จะ​ซึมซับ​ภาพ เสียง และ​ความ​รู้สึก​ต่าง ๆ รอบ​ตัว​เขา.

ทารก​จะ​สนใจ​มาก​เมื่อ​เห็น​หน้า ได้​ยิน​เสียง และ​ได้​รับ​การ​สัมผัส​จาก​คน​อื่น. หนังสือ​วัย​ทารก (ภาษา​อังกฤษ) เขียน​โดย​เพเนโลพี ลีช กล่าว​ว่า “มี​การ​ศึกษา​วิจัย​กัน​มาก​ว่า​ทารก​สนใจ​มอง​อะไร​มาก​ที่​สุด หรือ​เสียง​อะไร​ที่​ทารก​ตั้งใจ​ฟัง และ​ความ​รู้สึก​แบบ​ไหน​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เขา​อยาก​สัมผัส​อีก​เรื่อย ๆ. ส่วน​ใหญ่​แล้ว ผู้​ใหญ่​ที่​เลี้ยง​ดู​เขา​นั่น​แหละ​ที่​ทารก​สนใจ​มอง ฟัง​เสียง และ​อยาก​ได้​รับ​การ​สัมผัส​มาก​ที่​สุด.” ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​พ่อ​แม่​มี​บทบาท​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​พัฒนาการ​ของ​ลูก!

“ข้าพเจ้า​เคย​พูด​อย่าง​เด็ก”

ทั้ง​พ่อ​แม่​และ​กุมาร​แพทย์​ต่าง​ก็​อัศจรรย์​ใจ​ที่​เด็ก​แรก​เกิด​สามารถ​เรียน​รู้​ภาษา​ได้​โดย​อาศัย​เพียง​แค่​การ​ฟัง​เท่า​นั้น. นัก​วิจัย​พบ​ว่า​ภาย​ใน​ไม่​กี่​วัน ทารก​ก็​เริ่ม​คุ้น​เคย​กับ​เสียง​ของ​แม่ และ​จะ​ชอบ​ฟัง​เสียง​แม่​มาก​กว่า​เสียง​คน​แปลก​หน้า; ภาย​ใน​ไม่​กี่​สัปดาห์ เด็ก​จะ​รู้​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​เสียง​พูด​ใน​ภาษา​ของ​พ่อ​แม่​กับ​เสียง​พูด​ใน​ภาษา​อื่น; และ​ภาย​ใน​ไม่​กี่​เดือน เด็ก​จะ​สังเกต​จังหวะ​การ​เว้น​ระหว่าง​คำ และ​รู้​ว่า​เสียง​ไหน​เป็น​เสียง​พูด​และ​เสียง​ไหน​เป็น​เสียง​ที่​ฟัง​ไม่​ได้​ศัพท์.

คริสเตียน​อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ตอน​ที่​ข้าพเจ้า​เป็น​เด็ก ข้าพเจ้า​เคย​พูด​อย่าง​เด็ก.” (1 โครินท์ 13:11) เด็ก​ทารก​พูด​อย่าง​ไร? ตาม​ปกติ เด็ก​จะ​พูด​อ้อ​แอ้​ไม่​ปะติดปะต่อ​กัน. เด็ก​แค่​ส่ง​เสียง​เรื่อย​เปื่อย​ไม่​มี​ความ​หมาย​อย่าง​นั้น​ไหม? ไม่​เลย! ใน​หนังสือ​ชื่อ​เด็ก​คิด​อะไร​อยู่?—พัฒนาการ​ของ​สมอง​และ​จิตใจ​ใน​ช่วง​ห้า​ขวบ​แรก​ของ​ชีวิต (ภาษา​อังกฤษ) ดร. ลีซ เอเลียต​บอก​ว่า​การ​พูด​เป็น “กระบวนการ​ที่​ซับซ้อน ซึ่ง​ต้อง​อาศัย​การ​ประสาน​งาน​อย่าง​ว่องไว​ของ​กล้ามเนื้อ​หลาย​สิบ​มัด​ที่​ควบคุม​ริมฝีปาก ลิ้น เพดาน​ปาก และ​กล่อง​เสียง.” เธอ​กล่าว​เสริม​ว่า “แม้​การ​พูด​อ้อ​แอ้​ของ​ทารก​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​เพียง​วิธี​น่า​รัก ๆ ซึ่ง​เด็ก​ใช้​เรียก​ความ​สนใจ แต่​ก็​เป็น​การ​ฝึก​ซ้อม​อัน​สำคัญ​มาก​สำหรับ​การ​พูด​ซึ่ง​ต้อง​อาศัย​การ​เคลื่อน​ไหว​และ​การ​ประสาน​งาน​ที่​ซับซ้อน.”

เมื่อ​เห็น​ลูก​พูด​อ้อ​แอ้ พ่อ​แม่​ก็​พูด​เล่น​กับ​ลูก​ด้วย​ท่าที​ที่​มี​ชีวิต​ชีวา และ​การ​ทำ​อย่าง​นี้​ก็​มี​ข้อ​ดี​ด้วย. การ​พูด​อย่าง​นี้​กระตุ้น​ให้​ลูก​พูด​ตอบ. การ​โต้​ตอบ​กัน​เช่น​นี้​ช่วย​ให้​เด็ก​เรียน​รู้​หลัก​พื้น​ฐาน​ของ​การ​สนทนา ซึ่ง​เป็น​ทักษะ​ที่​เขา​จะ​ได้​ใช้​ไป​ตลอด​ชีวิต.

เปลี่ยน​บทบาท

พ่อ​แม่​ที่​มี​ลูก​แรก​เกิด​ต้อง​คอย​ดู​แล​ลูก​เกือบ​ตลอด​เวลา. พอ​เด็ก​ร้อง ก็​มี​คน​ให้​นม. พอ​เด็ก​ร้อง ก็​มี​คน​เปลี่ยน​ผ้า​อ้อม. พอ​เด็ก​ร้อง ก็​มี​คน​อุ้ม. การ​ทะนุถนอม​อย่าง​นี้​เป็น​สิ่ง​เหมาะ​สม​และ​จำเป็น. ที่​พ่อ​แม่​ทำ​เช่น​นี้​เป็น​การ​ทำ​ตาม​บทบาท​ของ​ผู้​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล.1 เทสซาโลนิเก 2:7

เมื่อ​คำนึง​ถึง​เรื่อง​นี้ เป็น​ธรรมดา​ที่​เด็ก​อาจ​จะ​คิด​ว่า​เขา​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง และ​พวก​ผู้​ใหญ่ โดย​เฉพาะ​พ่อ​แม่​จะ​ต้อง​ทำ​ตาม​ความ​ต้องการ​ของ​เขา​ทุก​ประการ. นี่​เป็น​ความ​คิด​ที่​ผิด แต่​ก็​มี​เหตุ​ที่​เด็ก​จะ​คิด​อย่าง​นั้น. อย่า​ลืม​ว่า ใน​ช่วง​กว่า​หนึ่ง​ปี​ที่​ผ่าน​ไป พ่อ​แม่​ทำ​ให้​เด็ก​เข้าใจ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ. เด็ก​คิด​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​ปกครอง​จักรวรรดิ และ​พวก​ผู้​ใหญ่​มี​หน้า​ที่​ต้อง​คอย​รับใช้​เขา. จอห์น โรสมอนด์ ผู้​ให้​คำ​ปรึกษา​ด้าน​ครอบครัว​เขียน​ว่า “พ่อ​แม่​สอน​ให้​เด็ก​เกิด​ความ​คิด​ผิด ๆ แบบ​นี้​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​สอง​ปี; แต่​ต้อง​ใช้​เวลา​อย่าง​น้อย​สิบ​หก​ปี​ใน​การ​แก้ไข​ความ​คิด​นั้น! และ​ที่​น่า​แปลก นั่น​ก็​เป็น​หน้า​ที่​ของ​พ่อ​แม่ คือ​ตอน​แรก​ทำ​ให้​ลูก​เข้าใจ​ผิด แล้ว​ค่อย ๆ แก้ไข​ความ​เข้าใจ​ผิด​นั้น.”

เมื่อ​อายุ​ประมาณ​สอง​ขวบ เด็ก​เริ่ม​จะ​รู้​ว่า​ความ​คิด​ของ​เขา​ไม่​ถูก​ต้อง​ขณะ​ที่​พ่อ​แม่​เปลี่ยน​บทบาท​จาก​ผู้​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล เป็น​ผู้​สอน. ตอน​นี้ เด็ก​เริ่ม​เข้าใจ​แล้ว​ว่า​เขา​ไม่​ได้​เป็น​ผู้​นำ​พ่อ​แม่ แต่​พ่อ​แม่ ต่าง​หาก​ที่​เป็น​ผู้​นำ​ของ​เขา. จักรวรรดิ​ของ​เด็ก​ล่ม​สลาย​แล้ว และ​เขา​อาจ​ไม่​พอ​ใจ. ด้วย​ความ​หงุดหงิด เขา​พยายาม​จะ​รักษา​อำนาจ​ของ​ตน​ไว้. เด็ก​ทำ​อย่าง​ไร?

จัด​การ​กับ​การ​อาละวาด

เมื่อ​อายุ​ประมาณ​สอง​ขวบ เด็ก​หลาย​คน​เปลี่ยน​พฤติกรรม​อย่าง​น่า​ตกใจ และ​หลาย​คน​ร้อง​อาละวาด. พ่อ​แม่​อาจ​กลุ้ม​ใจ​มาก​จน​บาง​คน​เรียก​ช่วง​นี้​ว่า “วัย​ต่อ​ต้าน”! จู่ ๆ คำ​ที่​เด็ก​พูด​บ่อย​ที่​สุด​คือ “ไม่!” หรือ “ไม่​เอา!” เด็ก​อาจ​หงุดหงิด​กับ​ตัว​เอง​และ​พ่อ​แม่​เพราะ​กำลัง​สู้​กับ​ความ​รู้สึก​ที่​ขัด​แย้ง​ของ​ตน. เขา​ต้องการ​อยู่​ห่าง​จาก​คุณ แต่​อีก​ใจ​หนึ่ง​ก็​ยัง​ต้องการ​อยู่​ใกล้ ๆ คุณ. สำหรับ​พ่อ​แม่​ที่​สับสน พฤติกรรม​ของ​ลูก​ดู​เหมือน​ไม่​มี​เหตุ​ผล​เลย และ​ไม่​ว่า​วิธี​ไหน​ก็​ดู​เหมือน​ใช้​ไม่​ได้​ผล. เกิด​อะไร​ขึ้น?

ขอ​ให้​คิด​ถึง​การ​เปลี่ยน​แปลง​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ชีวิต​ของ​เด็ก​วัย​เตาะแตะ. ก่อน​หน้า​นี้​ไม่​นาน แค่​เด็ก​ร้อง ผู้​ใหญ่​ก็​จะ​รีบ​มา. ตอน​นี้​เขา​เริ่ม​เข้าใจ​แล้ว​ว่า “อำนาจ” ของ​เขา​มี​อยู่​เพียง​ชั่ว​คราว และ​อย่าง​น้อย​เขา​ต้อง​ทำ​บาง​อย่าง​ด้วย​ตัว​เอง. เด็ก​เข้าใจ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ว่า​เขา​ต้อง​อยู่​ใต้​อำนาจ ซึ่ง​สรุป​ได้​ด้วย​ข้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “บุตร​ทั้ง​หลาย จง​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา​ทุก​อย่าง.”—โกโลซาย 3:20

ใน​ช่วง​ที่​ยุ่งยาก​นี้ พ่อ​แม่​ควร​รักษา​อำนาจ​ของ​ตน​ไว้. ถ้า​พวก​เขา​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​หนักแน่น​แต่​แสดง​ถึง​ความ​รัก เด็ก​ก็​จะ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​บทบาท​ใหม่​ของ​ตัว​เอง​ได้. และ​จะ​เป็น​การ​เตรียม​เขา​ไว้​สำหรับ​การ​เติบโต​ขั้น​ต่อ​ไป.

สภาพ​ศีลธรรม

สัตว์​และ​แม้​แต่​เครื่องจักร​สามารถ​จด​จำ​และ​เลียน​แบบ​คำ​พูด​ได้. แต่​เฉพาะ​มนุษย์​เท่า​นั้น​ที่​สามารถ​พิจารณา​ดู​ตัว​เอง. ด้วย​เหตุ​นี้ เมื่อ​อายุ​สอง​หรือ​สาม​ขวบ เด็ก​จะ​เริ่ม​เกิด​ความ​รู้สึก​ต่าง ๆ เช่น ภูมิ​ใจ อาย และ​รู้สึก​ผิด. ความ​รู้สึก​เหล่า​นี้​เป็น​ก้าว​แรก​สู่​การ​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​คุณลักษณะ​ทาง​ศีลธรรม ซึ่ง​ก็​คือ​คน​ที่​สามารถ​ยืนหยัด​เพื่อ​สิ่ง​ถูก​ต้อง แม้​คน​อื่น​จะ​ทำ​ผิด​ก็​ตาม.

ประมาณ​ช่วง​นี้ พ่อ​แม่​จะ​ตื่นเต้น​ที่​เห็น​สิ่ง​น่า​ทึ่ง​อีก​อย่าง​หนึ่ง. เด็ก​เริ่ม​รับ​รู้​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น. ตอน​อายุ​สอง​ขวบ เขา​เพียง​แค่​เล่น​ข้าง ๆ คน​อื่น แต่​ตอน​นี้ เขา​อาจ​เล่น​ด้วย​กัน​กับ​คน​อื่น. นอก​จาก​นั้น เขา​จะ​รู้​ด้วย​ว่า​ตอน​ไหน​พ่อ​แม่​อารมณ์​ดี และ​อาจ​จะ​พยายาม​เอา​ใจ​พ่อ​แม่. ฉะนั้น นี่​น่า​จะ​เป็น​ช่วง​ที่​สอน​เด็ก​ได้​ง่าย​ขึ้น.

เด็ก​วัย​สาม​ขวบ​เรียน​รู้​ได้​มาก​ขึ้น​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด. เห็น​ได้​ชัด​ว่า นี่​เป็น​เวลา​ที่​พ่อ​แม่​ควร​ฝึก​ลูก​โดย​มี​เป้าหมาย​จะ​ช่วย​เขา​ให้​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

ภาย​ใน​ไม่​กี่​วัน ทารก​เริ่ม​คุ้น​เคย​กับ​เสียง​ของ​แม่ และ​จะ​ชอบ​ฟัง​เสียง​แม่​มาก​กว่า​เสียง​คน​แปลก​หน้า

[คำ​โปรย​หน้า 6]

เด็ก​วัย​สาม​ขวบ​เรียน​รู้​ได้​มาก​ขึ้น​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด อะไร​ดี​อะไร​ไม่​ดี

[กรอบ​หน้า 6]

ทำไม​เด็ก​ไม่​เลิก​อาละวาด?

จอห์น โรสมอนด์​เขียน​ใน​หนังสือ​อำนาจ​ของ​พ่อ​แม่​ฉบับ​ใหม่ (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “พ่อ​แม่​บาง​คน​คิด​ว่า​สาเหตุ​ที่​ลูก​อาละวาด​ก็​เพราะ​พ่อ​แม่​ไม่​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​ควร​จะ​ทำ​เมื่อ​ลูก​เรียก​ร้อง​อะไร​บาง​อย่าง. พ่อ​แม่​คิด​ไป​เอง​ว่า​ถ้า​เขา​ทำ​อะไร​ผิด​จน​ทำ​ให้​ลูก​อาละวาด เขา​ก็​ต้อง​แก้ไข​โดย​เร็ว​ที่​สุด. ดัง​นั้น เนื่อง​จาก​ตอน​แรก​เขา​ไม่​อนุญาต ตอน​นี้​เขา​จึง​ยอม​อนุญาต. หรือ​เนื่อง​จาก​ตอน​แรก​เขา​ตี​ลูก ตอน​นี้​เขา​จึง​ยอม​ให้​ลูก​ได้​มาก​กว่า​ที่​ลูก​ขอ​เสีย​อีก เพื่อ​พ่อ​แม่​จะ​ไม่​รู้สึก​ผิด. ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ก็​พอ​ใจ. ลูก​หยุด​อาละวาด พ่อ​แม่​โล่ง​อก และ​เนื่อง​จาก​เด็ก​รู้​แล้ว​ว่า​การ​อาละวาด​ได้​ผล เด็ก​จึง​อาละวาด​มาก​ขึ้น​และ​หนัก​ขึ้น.”