ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อิบัน บัตตูตา เปิดเผยโลกในสมัยของเขา

อิบัน บัตตูตา เปิดเผยโลกในสมัยของเขา

อิบัน บัต​ตู​ตา เปิด​เผย​โลก​ใน​สมัย​ของ​เขา

ใน​ปี 1325 ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ออก​เดิน​ทาง​เป็น​ครั้ง​แรก​จาก​แทนเจียร์ ประเทศ​โมร็อกโก. นับ​แต่​นั้น เขา​เดิน​ทาง​อีก​หลาย​ครั้ง​สู่​ดินแดน​อัน​ห่าง​ไกล​ที่​สุด​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​สมัย​นั้น เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาลี เปอร์เซีย รัสเซีย ซีเรีย แทนซาเนีย ตุรกี รวม​ทั้ง​ดินแดน​อาหรับ​ทั้ง​หมด. ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​คือ​อา​บู อับดัลลาห์ อิบัน บัตตูตา. เขา​เดิน​ทาง​รวม​ทั้ง​หมด​เป็น​ระยะ​ทาง​ประมาณ 120,000 กิโลเมตร ซึ่ง​ไม่​มี​ใคร​ทำ​ได้​อย่าง​เขา​ใน​ยุค​ก่อน​จะ​มี​เครื่องจักร​ไอ​น้ำ.

อิบัน บัตตูตา​ถูก​ขนาน​นาม​ว่า​นัก​เดิน​ทาง​แห่ง​อิสลาม​และ​นัก​เดิน​ทาง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ก่อน​สมัย​ปัจจุบัน. บันทึก​ความ​ทรง​จำ​ของ​เขา​ที่​เขา​เขียน​ขึ้น​เมื่อ​กลับ​บ้าน​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย​หลัง​จาก​เดิน​ทาง​เป็น​เวลา​เกือบ 30 ปี ช่วย​เรา​เข้าใจ​วิถี​ชีวิต​และ​วัฒนธรรม​ใน​ศตวรรษ​ที่ 14 โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​โลก​มุสลิม​ยุค​กลาง.

ไป​ปฏิบัติ​ศาสนกิจ​ที่​เมกกะ

อิบัน บัตตูตา​ออก​จาก​แทนเจียร์​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​สถาน​ศักดิ์สิทธิ์​ต่าง ๆ และ​ทำ​ฮัจญ์ ซึ่ง​ก็​คือ​การ​ไป​ปฏิบัติ​ศาสนกิจ​ที่​เมกกะ อัน​เป็น​หน้า​ที่​สำหรับ​มุสลิม​ที่​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว​ทุก​คน​ซึ่ง​มี​ความ​สามารถ​ใน​ด้าน​ทรัพย์​สิน​และ​ด้าน​ร่าง​กาย​ที่​จะ​ไป​ได้. เมกกะ​อยู่​ห่าง​จาก​แทนเจียร์​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ราว ๆ 4,800 กิโลเมตร. เช่น​เดียว​กับ​ผู้​ปฏิบัติ​ศาสนกิจ​ส่วน​ใหญ่ อิบัน บัตตูตา​ร่วม​เดิน​ทาง​ไป​กับ​กอง​คาราวาน​ซึ่ง​จะ​ช่วย​เขา​ให้​ไป​ถึง​ที่​หมาย​ปลาย​ทาง​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย.

เนื่อง​จาก​บิดา​ของ​เขา​เป็น​กอฎี​หรือ​ผู้​พิพากษา​ใน​ท้องถิ่น อิบัน บัตตูตา​จึง​ได้​รับ​การ​ศึกษา​เพื่อ​จะ​เป็น​กอฎี​ด้วย ซึ่ง​เป็น​การ​ศึกษา​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​หา​ได้​ใน​แทนเจียร์. เมื่อ​ทราบ​เรื่อง​นี้ ผู้​ร่วม​ทาง​ก็​แต่ง​ตั้ง​เขา​ให้​เป็น​ผู้​พิพากษา​เมื่อ​เกิด​ข้อ​ขัด​แย้ง​ต่าง ๆ ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง.

สู่​อะเล็กซานเดรีย ไคโร และ​แม่น้ำ​ไนล์​ตอน​บน

กอง​คาราวาน​เดิน​ทาง​เลียบ​ชายฝั่ง​แอฟริกา​เหนือ​จน​ถึง​อียิปต์. ที่​นี่ อิบัน บัตตูตา​เห็น​ประภาคาร​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย​ที่​มี​ชื่อเสียง หนึ่ง​ใน​สิ่ง​มหัศจรรย์​ของ​โลก​โบราณ​ซึ่ง​ตอน​นั้น​บาง​ส่วน​ชำรุด​ทรุดโทรม​แล้ว. เขา​บอก​ว่า​ไคโร “มี​อาคาร​บ้าน​เรือน​มาก​มาย​มหาศาล ความ​งาม​และ​ความ​โอ่อ่า​หรูหรา​ไม่​มี​ที่​ใด​เทียบ​ได้ เป็น​ที่​นัด​พบ​ของ​นัก​เดิน​ทาง เป็น​ที่​หยุด​พัก​ของ​ผู้​อ่อน​แรง​และ​ผู้​แข็งแรง ซึ่ง​ล้วน​ผ่าน​เข้า​มา​ดุจ​คลื่น​ใน​ทะเล.” เขา​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​กับ​เรือ สวน ตลาด อาคาร​ทาง​ศาสนา และ​ประเพณี​ของ​นคร​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​แห่ง​นี้. ตาม​ที่​เขา​มัก​จะ​ปฏิบัติ เขา​ขอ​และ​ได้​รับ​การ​อุปถัมภ์​จาก​เหล่า​ผู้​นำ​ศาสนา ผู้​คง​แก่​เรียน และ​ผู้​มี​อิทธิพล​ใน​อียิปต์.

จาก​ไคโร​เขา​เดิน​ทาง​ตาม​แม่น้ำ​ไนล์​สู่​อียิปต์​ตอน​บน. ตลอด​ทาง​เขา​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​จาก​ผู้​นำ​ศาสนา สำนัก​ธรรม ที่​พัก​คน​เดิน​ทาง​และ​วิทยาลัย​ที่​ได้​เงิน​ทุน​จาก​การ​บริจาค ซึ่ง​สมัย​นั้น​มี​อยู่​ตาม​เมือง​ต่าง ๆ ของ​ชาว​มุสลิม. เขา​ตั้งใจ​จะ​ข้าม​ทะเล​ทราย​ไป​ยัง​ทะเล​แดง ลง​เรือ​ไป​ขึ้น​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​คาบสมุทร​อาหรับ แล้ว​เดิน​ทาง​ไป​เมดินา ซึ่ง​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​สุเหร่า​แห่ง​นบี​มุฮัมมัด แล้ว​ต่อ​ไป​ยัง​เมกกะ. แต่​เขา​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ไม่​ได้​เนื่อง​จาก​สงคราม เขา​จึง​กลับ​ไคโร.

เดิน​ทาง​อ้อม​ไป​ไกล

เนื่อง​จาก​ยัง​มุ่ง​มั่น​จะ​ไป​ให้​ถึง​เมดินา​และ​เมกกะ อิบัน บัตตูตา​จึง​เดิน​ทาง​ขึ้น​เหนือ​ไป​ยัง​กาซา​แล้ว​ต่อ​ไป​ยัง​เฮบโรน จาก​นั้น​ไป​ยัง​สถาน​ที่​ซึ่ง​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ที่​ฝัง​ศพ​ของ​อับราฮาม ยิศฮาค และ​ยาโคบ. ระหว่าง​ทาง​ไป​โดม ออฟ เดอะ ร็อก​ใน​เยรูซาเลม เขา​แวะ​ที่​เบทเลเฮม ซึ่ง​เขา​เห็น​ผู้​ที่​อ้าง​ว่า​เป็น​คริสเตียน​บูชา​สถาน​ที่​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู.

ต่อ​จาก​นั้น อิบัน บัตตูตา​เดิน​ทาง​ขึ้น​เหนือ​ไป​ยัง​ดามัสกัส ซึ่ง​ที่​นั่น​เขา​ศึกษา​กับ​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​มุสลิม​ที่​มี​ชื่อเสียง​บาง​คน และ​ได้​รับ​การ​รับรอง​ว่า​มี​คุณสมบัติ​เป็น​ผู้​สอน. เขา​บอก​ว่า สุเหร่า​อุมัยยะห์​ใน​เมือง​นี้ “งดงาม​ที่​สุด” ใน​โลก. ตลาด​ใน​เมือง​ขาย​อัญมณี เสื้อ​ผ้า เครื่อง​เขียน หนังสือ และ​เครื่อง​แก้ว. ส่วน​โต๊ะ​ของ​ผู้​รับรอง​เอกสาร​มี “พยาน​ห้า​หรือ​หก​คน​นั่ง​อยู่ และ​มี​ผู้​ที่​ได้​รับ​อำนาจ​จาก​กอฎี​ให้​ทำ​พิธี​แต่งงาน.” ที่​จริง ขณะ​อยู่​ใน​ดามัสกัส อิบัน บัตตูตา​เข้า​พิธี​แต่งงาน. อย่าง​ไร​ก็​ดี เจ้าสาว​ของ​เขา​เป็น​เพียง​หนึ่ง​ใน​ภรรยา​หลาย​คน​ที่​ผ่าน​มา​แล้ว​ก็​ผ่าน​ไป​ใน​บันทึก​เรื่อง​ราว​ชีวิต​ของ​เขา.

ที่​ดามัสกัส อิบัน บัตตูตา​ออก​เดิน​ทาง​ร่วม​กับ​ผู้​ปฏิบัติ​ศาสนกิจ​คน​อื่น ๆ ไป​ยัง​เมกกะ. ระหว่าง​ทาง คณะ​เดิน​ทาง​ของ​เขา​พัก​แรม​ที่​น้ำพุ​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​คน​ตัก​น้ำ​ที่​นั่น​ใช้​หนัง​ควาย​ทำ​เป็น​ที่​ใส่​น้ำ​ขนาด​ใหญ่. นัก​เดิน​ทาง​ให้​อูฐ​กิน​น้ำ​จาก​ที่​ใส่​น้ำ​เหล่า​นี้​และ​กรอก​น้ำ​ใส่​ถุง​หนัง​ก่อน​จะ​เดิน​ทาง​ข้าม​ทะเล​ทราย. สุด​ท้าย เขา​ก็​ไป​ถึง​เมกกะ. นี่​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​เจ็ด​ครั้ง​ที่​เขา​ทำ​พิธี​ที่​นั่น. ชาว​มุสลิม​ส่วน​ใหญ่​กลับ​บ้าน​หลัง​จาก​ทำ​พิธี. แต่​ไม่​ใช่​อิบัน บัตตูตา. เขา​ออก​เดิน​ทาง​ไป​แบก​แดด ซึ่ง​นัก​เขียน​ชีวประวัติ​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า เขา​ทำ​อย่าง​นั้น “เพียง​เพื่อ​หา​ความ​ท้าทาย.”

ตั้งใจ​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​โลก

ที่​แบก​แดด​ซึ่ง​ตอน​นั้น​เป็น​นคร​หลวง​ของ​อิสลาม อิบัน บัตตูตา​ประทับใจ​โรง​อาบ​น้ำ​สาธารณะ. เขา​เขียน​ว่า “แต่​ละ​แห่ง​จะ​มี​ห้อง​อาบ​น้ำ​ส่วน​ตัว​จำนวน​มาก และ​ทุก​ห้อง​จะ​มี​อ่าง​อยู่​มุม​หนึ่ง มี​ก๊อก​น้ำ​สอง​ก๊อก​ซึ่ง​มี​ทั้ง​น้ำ​ร้อน​และ​น้ำ​เย็น.” นาย​พล​ที่​เป็น​มิตร​คน​หนึ่ง​แนะ​นำ​ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​ให้​พบ​กับ​สุลต่าน​อา​บู ซา​อิด. จาก​การ​พบ​กัน​ครั้ง​นั้น อิบัน บัตตูตา​ได้​รับ​ของ​กำนัล​ที่​มี​ค่า นั่น​คือ​ม้า​หนึ่ง​ตัว ชุด​สำหรับ​ใช้​ใน​พิธีกรรม และ​จดหมาย​แนะ​นำ​ตัว​ซึ่ง​บอก​ให้​ผู้​ว่า​ราชการ​แห่ง​แบก​แดด​จัด​หา​อูฐ​และ​เสบียง​ให้​กับ​เขา.

ต่อ​จาก​นั้น อิบัน บัตตูตา​ลง​เรือ​ไป​ยัง​ท่า​เรือ​ต่าง ๆ บน​ชายฝั่ง​แอฟริกา​ตะวัน​ออก คือ​โมกาดิชู มอมบาซา และ​แซนซิบาร์ ก่อน​จะ​เดิน​ทาง​ไป​คาบสมุทร​อาหรับ​เข้า​สู่​อ่าว​เปอร์เซีย. ภาย​หลัง​เขา​พรรณนา​ผู้​คน ประเพณี และ​สินค้า​ที่​เขา​พบ​เห็น​ตาม​ทาง อีก​ทั้ง​การ​ที่​ชาว​โซมาเลีย​ต้อนรับ​เหล่า​พ่อค้า​อย่าง​ดี การ​เคี้ยว​หมาก​และ​การ​ทำ​สวน​มะพร้าว​ใน​เยเมน และ​การ​ดำ​น้ำ​หา​ไข่มุก​ใน​อ่าว​เปอร์เซีย. เขา​เดิน​ทาง​ต่อ​ไป​ยัง​อินเดีย​ด้วย​เส้น​ทาง​ที่​อ้อม​ไป​ไกล​มาก คือ​ผ่าน​อียิปต์ ซีเรีย และ​อะนา​โต​เลีย (ตุรกี) จาก​นั้น​ข้าม​ทะเล​ดำ อ้อม​ด้าน​เหนือ​ของ​ทะเล​แคสเปียน แล้ว​ลง​ใต้​สู่​ดินแดน​ที่​ปัจจุบัน​เป็น​คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน และ​ปากีสถาน.

จาก​อินเดีย​สู่​จีน

ที่​อินเดีย อิบัน บัตตูตา​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​กอฎี​ให้​สุลต่าน​แห่ง​เดลี​เป็น​เวลา​แปด​ปี. เนื่อง​จาก​รู้​ว่า​อิบัน บัตตูตา​รัก​การ​ท่อง​เที่ยว สุลต่าน​จึง​ส่ง​เขา​ไป​เป็น​ทูต​เพื่อ​เข้า​เฝ้า​จักรพรรดิ​โตกอน-เตมูร์​ชาว​มองโกเลีย​ของ​จีน. ตาม​ที่​กำหนด​ไว้ เมื่อ​เขา​ไป​ถึง เขา​จะ​ถวาย​เครื่อง​บรรณาการ​ที่​ประกอบ​ด้วย “ม้า​สาย​พันธุ์​แท้​หนึ่ง​ร้อย​ตัว ทาส​ผิว​ขาว​หนึ่ง​ร้อย​คน นัก​เต้น​และ​นัก​ร้อง​สาว​ชาว​ฮินดู​หนึ่ง​ร้อย​คน เสื้อ​ผ้า​หลาก​หลาย​ประเภท​หนึ่ง​พัน​สอง​ร้อย​ชิ้น เชิง​เทียน​และ​อ่าง​ที่​ทำ​จาก​ทอง​และ​เงิน เสื้อ​คลุม​ที่​ตัด​เย็บ​จาก​ผ้า​ยก หมวก แล่ง​ธนู ดาบ ถุง​มือ​ที่​ประดับ​ไข่มุก และ​ขันที​สิบ​ห้า​คน.”

ใน​เมือง​ท่า​กาลิกัต​ทาง​ใต้​ของ​อินเดีย อิบัน บัตตูตา​เห็น​เรือ​สินค้า​ลำ​ใหญ่​ที่​เรียก​ว่า​เรือ​สำเภา ซึ่ง​แล่น​อยู่​ใน​เส้น​ทาง​ที่​เขา​ตั้งใจ​จะ​ใช้​เพื่อ​ไป​เมือง​จีน. เรือ​เหล่า​นี้​อาจ​มี​ใบ​เรือ​มาก​ถึง 12 ใบ​ซึ่ง​ล้วน​ทำ​จาก​ไม้​ไผ่​สาน และ​มี​ลูกเรือ​ถึง 1,000 คน แยก​เป็น​กะลาสี 600 คน​และ​ทหาร 400 คน. อิบัน บัตตูตา​บันทึก​ว่า ครอบครัว​ของ​กะลาสี​อาศัย​อยู่​บน​เรือ​ด้วย และ “พวก​เขา [ปลูก] ผัก​และ​ขิง​ใน​ถัง​ไม้.”

อิบัน บัตตูตา​ปฏิบัติ​ภาระ​กิจ​ของ​เขา​ที่​เมือง​จีน​ไม่​สำเร็จ​เนื่อง​จาก​เรือ​แตก. เขา​จึง​ไป​ทำ​งาน​ให้​ผู้​ปกครอง​ชาว​มุสลิม​ใน​หมู่​เกาะ​มัลดีฟส์ และ​เป็น​คน​แรก​ที่​พรรณนา​เกี่ยว​กับ​ประเพณี​ใน​หมู่​เกาะ​นี้​ให้​โลก​ภาย​นอก​ได้​รับ​รู้. ใน​ที่​สุด เขา​ก็​ไป​ถึง​เมือง​จีน. แม้​เขา​จะ​ชอบ​หลาย​อย่าง​ที่​นั่น แต่​เขา​ก็​เห็น​บาง​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​เนื่อง​จาก​ภูมิหลัง​ทาง​ศาสนา​ของ​เขา. เขา​บันทึก​เกี่ยว​กับ​เมือง​จีน​ไว้​น้อย​มาก​จน​บาง​คน​สงสัย​ว่า​เขา​เดิน​ทาง​ไป​หลาย​แห่ง​ใน​เมือง​จีน​อย่าง​ที่​เขา​อ้าง​ไว้​จริง​หรือ​ไม่. เขา​อาจ​ไป​แค่​เมือง​ท่า​ต่าง ๆ ทาง​ภาค​ใต้​ของ​จีน​เท่า​นั้น.

โศก​เศร้า​เมื่อ​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน

เมื่อ​กลับ​มา​ถึง​ดามัสกัส อิบัน บัตตูตา​ก็​ได้​ข่าว​ว่า​บุตร​ชาย​ซึ่ง​เขา​ละ​ไว้​ที่​นั่น​เมื่อ 20 ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​ได้​เสีย​ชีวิต​ไป 12 ปี และ​บิดา​ของ​เขา​ซึ่ง​อยู่​ที่​แทนเจียร์​ก็​เสีย​ชีวิต​ไป 15 ปี​แล้ว. ตอน​นั้น​เป็น​ปี 1348 และ​กาฬโรค​กำลัง​ระบาด​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง. ที่​จริง อิบัน บัตตูตา​บันทึก​ว่า ผู้​คน​ล้ม​ตาย​ถึง​วัน​ละ 21,000 คน​ใน​ไคโร!

หนึ่ง​ปี​ให้​หลัง นัก​เดิน​ทาง​วัย 45 ปี​ก็​กลับ​ถึง​โมร็อกโก และ​พบ​ว่า​มารดา​ของ​เขา​เสีย​ชีวิต​เพราะ​กาฬโรค​เพียง​ไม่​กี่​เดือน​ก่อน​เขา​จะ​มา​ถึง. ตอน​ที่​เริ่ม​ออก​เดิน​ทาง เขา​อายุ 21 ปี. การ​เดิน​ทาง​อย่าง​ยาว​นาน​ถึง 24 ปี​ทำ​ให้​เขา​พอ​ใจ​แล้ว​ไหม? ดู​เหมือน​ว่า​ไม่ เพราะ​ไม่​นาน​เขา​ก็​ออก​เดิน​ทาง​สู่​สเปน. สาม​ปี​ต่อ​มา เขา​เดิน​ทาง​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย โดย​ไป​ถึง​แม่น้ำ​ไนเจอร์​และ​เมือง​ทิมบักทู​ของ​ประเทศ​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​มาลี​ใน​แอฟริกา.

ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​เขียน​บันทึก​ความ​ทรง​จำ

เมื่อ​รู้​เรื่อง​การ​เดิน​ทาง​ของ​อิบัน บัตตูตา สุลต่าน​แห่ง​เฟซ ประเทศ​โมร็อกโก​จึง​สั่ง​เขา​ให้​เขียน​บันทึก​การ​เดิน​ทาง​เพื่อ​ความ​บันเทิง​ของ​ราชสำนัก​และ​มอบหมาย​อาลักษณ์​ให้​เขา​คน​หนึ่ง คือ​อิบัน จูซัยย์. ผล​งาน​ที่​เขียน​เสร็จ​ไม่​เป็น​ที่​แพร่​หลาย​มาก​นัก​ใน​ภาษา​อาหรับ และ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​ทาง​ตะวัน​ตก​ก็​เพิ่ง​เริ่ม​ขึ้น​หลัง​จาก​นัก​วิชาการ​ชาว​ยุโรป​ค้น​พบ​บันทึก​นี้​ใน​ศตวรรษ​ที่ 19.

อิบัน จูซัยย์​เรียก​ผล​งาน​นี้​ว่า​บท​คัด​ย่อ​ของ​คำ​บอก​เล่า​จาก​นัก​เดิน​ทาง​ผู้​นี้ แต่​ดู​เหมือน​เขา​จะ​เปลี่ยน​แปลง​แก้ไข​เรื่อง​ราว​ไป​บ้าง. ถึง​อย่าง​นั้น บันทึก​เรื่อง​ราว​นี้​ก็​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​วิถี​ชีวิต การ​ค้า​ขาย ประเพณี ศาสนา และ​การ​เมือง​ของ​ดินแดน​ที่​อิบัน บัตตูตา​ได้​ไป​เยือน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​โลก​มุสลิม​ยุค​กลาง.

[ภาพ​หน้า 14]

ภาพ​วาด​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 13 โดย​อัล-วาซีตี เป็น​รูป​ของ​มุสลิม​ผู้​ทำ​ฮัจญ์​ใน​ยุค​กลาง

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Scala/White Images/Art Resource NY

[ภาพ​หน้า 16]

แผนที่​ภาษา​คา​ตา​ลัน​ที่​ทำ​ขึ้น​เมื่อ​ปี 1375 แสดง​ดินแดน​ส่วน​หนึ่ง​ที่​อิบัน บัตตูตา​เคย​เดิน​ทาง​ไป​ถึง

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Snark/Art Resource NY