ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉันติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไหม?

ฉันติดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไหม?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า

ฉัน​ติด​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​ไหม?

สาม​คน​นี้​มี​อะไร​เหมือน​กัน?

“ผม​ชอบ​ส่ง​ข้อ​ความ​มาก ๆ! ผม​คิด​ว่า​มัน​เป็น​สิ่ง​ที่​ยอด​เยี่ยม​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา. คุณ​คง​เดา​ได้​ว่า​มัน​ควบคุม​ชีวิต​ผม​ไว้​แล้ว.”—แอลัน *

“คุณ​แม่​ซื้อ​ทีวี​มา​ให้​และ​ดิฉัน​ดีใจ​จริง ๆ! แต่​แทน​ที่​จะ​เข้า​นอน ดิฉัน​กลับ​นั่ง​ดู​ทีวี​กระทั่ง​ดึกดื่น. ดิฉัน​เลือก​จะ​ดู​ทีวี​มาก​กว่า​จะ​ใช้​เวลา​อยู่​กับ​คน​ใน​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ.”—เทเรซา

“ไม่​ว่า​จะ​ทำ​อะไร​หรือ​อยู่​ที่​ไหน​ดิฉัน​ก็​ได้​แต่​นึก​เอา​ว่า​มี​คน​ใส่​ข้อ​ความ​ไว้​ใน​เว็บเพจ​ของ​ดิฉัน. ถ้า​ตื่น​ขึ้น​มา​ตอน​ดึก ๆ ดิฉัน​ต้อง​เข้า​อินเทอร์เน็ต. มี​โอกาส​เมื่อ​ไร ดิฉัน​จะ​เพิ่ม​ข้อ​ความ​เข้า​ไป​ใน​บล็อก​ของ​ดิฉัน.”—แอนนา

ใน​บรรดา​หนุ่ม​สาว​เหล่า​นี้ คุณ คิด​ว่า​คน​ไหน​ได้​พูด​ถึง​การ​ติด​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​ใน​บาง​รูป​แบบ?

แอลัน เทเรซา แอนนา

สมัย​พ่อ​แม่​คุณ​เป็น​วัยรุ่น สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​โดย​ทั่ว​ไป​ก็​มี​แต่​ทีวี​และ​วิทยุ. สมัย​นั้น โทรศัพท์​ก็​เป็น​แค่​โทรศัพท์ คือ​ใช้​พูด​คุย​เท่า​นั้น และ​มัก​จะ​แขวน​ติด​ผนัง. ฟัง​ดู​ล้า​สมัย​มาก​ไป​หน่อย​ใช่​ไหม? เด็ก​สาว​คน​หนึ่ง​ชื่อ​แอนนา​คง​จะ​คิด​อย่าง​นั้น. เธอ​พูด​ว่า “พ่อ​แม่​ของ​หนู​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​ยุค​มืด​ทาง​เทคโนโลยี. พ่อ​แม่​เพิ่ง​รู้​วิธี​ที่​จะ​ใช้​ประโยชน์​บาง​อย่าง​จาก​โทรศัพท์​มือ​ถือ!”

ทุก​วัน​นี้ คุณ​สามารถ​รับ​โทรศัพท์, ฟัง​เพลง, ดู​การ​แสดง, เล่น​เกม, ส่ง​อีเมล​ให้​เพื่อน, ถ่าย​รูป, และ​เล่น​อินเทอร์เน็ต​ได้​โดย​ใช้​อุปกรณ์​เครื่อง​เดียว​ที่​พก​อยู่​ใน​กระเป๋า​ของ​คุณ. เนื่อง​จาก​คุณ​เติบโต​ขึ้น​มา​กับ​คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์​มือ​ถือ, ทีวี, และ​อินเทอร์เน็ต คุณ​อาจ​คิด​ว่า​การ​ใช้​อุปกรณ์​เหล่า​นี้​ตลอด​เวลา​ไม่​มี​ผล​เสีย​อะไร. แต่​พ่อ​แม่​อาจ​คิด​ว่า​คุณ​ติด​สิ่ง​เหล่า​นี้. ถ้า​พ่อ​แม่​เตือน​ด้วย​ความ​เป็น​ห่วง อย่า​เมิน​เฉย​ต่อ​คำ​พูด​เหล่า​นั้น​โดย​คิด​ว่า​พวก​ท่าน​ไม่​ทัน​สมัย. กษัตริย์​โซโลมอน​ผู้​มี​ปัญญา​ตรัส​ว่า “ผู้​ที่​ให้​คำ​ตอบ​ก่อน​ได้​ยิน​เรื่อง, ก็​เป็น​การ​โฉด​เขลา.”—สุภาษิต 18:13

คุณ​รู้​ไหม​ว่า​ทำไม​พ่อ​แม่​เป็น​ห่วง​เรื่อง​นี้? ทำ​บท​ทดสอบ​ต่อ​ไป​นี้​แล้ว​ดู​ว่า​คุณ​ส่อ​อาการ​ติด​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​บาง​รูป​แบบ​หรือ​ไม่.

‘ฉัน​เป็น​คน​ติด​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​ไหม?’

สารานุกรม​เล่ม​หนึ่ง​นิยาม​การ​เสพ​ติด​ว่า​เป็น “พฤติกรรม​ซึ่ง​ทำ​ซ้ำ ๆ มาก​เกิน​ไป​จน​เป็น​นิสัย ที่​คน​นั้น​เลิก​ไม่​ได้​หรือ​ไม่​เต็ม​ใจ​จะ​เลิก​แม้​มี​ผล​เสียหาย.” เมื่อ​คิด​ถึง​คำ​นิยาม​นี้ เยาวชน​ทั้ง​สาม​คน​ตาม​ที่​กล่าว​ใน​บทความ​นี้​ยัง ติด​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​อยู่ หรือ​เคย​ติด. แล้ว​คุณ​ล่ะ? ให้​เรา​พิจารณา​คำ​นิยาม​นี้​เป็น​ส่วน ๆ. อ่าน​คำ​พูด​ที่​ยก​ขึ้น​มา และ​ดู​ว่า​คุณ​เอง​ได้​พูด​หรือ​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​คล้าย ๆ กัน​หรือ​ไม่. แล้ว​เขียน​คำ​ตอบ​ลง​ใน​ช่อง​ว่าง.

พฤติกรรม​ที่​ควบคุม​ไม่​ได้. “ผม​เคย​ใช้​เวลา​หลาย​ชั่วโมง​เล่น​เกม​อิเล็กทรอนิกส์. เกม​เหล่า​นั้น​แย่ง​เวลา​นอน​หลับ​ของ​ผม​และ​เมื่อ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น​ผม​ก็​จะ​พูด​แต่​เรื่อง​นี้. ผม​ปลีก​ตัว​จาก​ครอบครัว​และ​หลงใหล​ไป​ใน​โลก​จินตนาการ​เกี่ยว​กับ​เกม​ต่าง ๆ ที่​ผม​เล่น.”—แอนดรูว์.

ใน​ความ​เห็น​ของ​คุณ จะ​ใช้​เวลา​เล่น​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​ได้​วัน​ละ​กี่​ชั่วโมง​ถึง​จะ​สม​เหตุ​สม​ผล? ______

พ่อ​แม่​ของ​คุณ​คิด​ว่า​คุณ​ควร​ใช้​เวลา​มาก​แค่​ไหน? ______

คุณ​ใช้​เวลา​ส่ง​ข้อ​ความ, ดู​ทีวี, อัพ​โหลด​ภาพ​และ​ความ​คิด​เห็น​ขึ้น​ไป​บน​เว็บไซต์, เล่น​เกม​อิเล็กทรอนิกส์, และ​อื่น ๆ รวม​ทั้ง​หมด กี่​ชั่วโมง? ______

หลัง​จาก​ดู​คำ​ตอบ​ของ​คุณ​ข้าง​ต้น คุณ​คิด​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​กับ​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​มาก​เกิน​ไป​ไหม?

▫ ใช่ ▫ ไม่

เลิก​ไม่​ได้​หรือ​ไม่​เต็ม​ใจ​จะ​เลิก. “พ่อ​แม่​เห็น​ผม​ส่ง​ข้อ​ความ​ตลอด​เวลา​และ​บอก​ว่า​ผม​ใช้​เวลา​มาก​ไป. แต่​เมื่อ​เทียบ​กับ​เด็ก ๆ รุ่น​เดียว​กัน ผม​ส่ง​ข้อ​ความ​น้อย​มาก. ผม​หมาย​ความ​ว่า ถ้า​เทียบ​กับ​พ่อ​แม่​ก็​แน่​ล่ะ ผม​ส่ง​ข้อ​ความ​มาก​กว่า. แต่​มัน​ก็​เหมือน​เทียบ​แอปเปิล​กับ​ส้ม​นั่น​แหละ พ่อ​แม่​อายุ 40 ปี​แล้ว แต่​อายุ​ผม​เพิ่ง 15 เท่า​นั้น​เอง.”—แอลัน

พ่อ​แม่​และ​เพื่อน​ของ​คุณ​เคย​พูด​ไหม​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​มาก​เกิน​ไป​กับ​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์?

▫ ใช่ ▫ ไม่

คุณ​ไม่​เต็ม​ใจ​หรือ​ไม่​สามารถ​ควบคุม​การ​ใช้​สื่อ​ประเภท​นี้​ไหม?

▫ ใช่ ▫ ไม่

ผล​เสีย. “เพื่อน​ของ​ดิฉัน​ส่ง​ข้อ​ความ​ตลอด​เวลา แม้​กระทั่ง​ระหว่าง​ขับ​รถ. นั่น ไม่​ปลอด​ภัย​เลย!”—จูลี

“เมื่อ​หนู​ได้​โทรศัพท์​มือ​ถือ​มา​ครั้ง​แรก หนู​มัก​จะ​โทรศัพท์​และ​ส่ง​ข้อ​ความ​ไป​หา​คน​อื่น​เสมอ. หนู​แทบ​ไม่​ทำ​อย่าง​อื่น​เลย. ความ​สัมพันธ์​กับ​ครอบครัว​และ​กับ​เพื่อน ๆ ก็​พลอย​เสีย​ไป​ด้วย. ตอน​นี้​หนู​สังเกต​ว่า​เวลา​ออก​ไป​เที่ยว​หรือ​คุย​กับ​เพื่อน พวก​เขา​มัก​จะ​พูด​แทรก​ขึ้น​มา​ว่า ‘เดี๋ยว​นะ ฉัน​ต้อง​ตอบ​ข้อ​ความ​ก่อน.’ นี่​ก็​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​หนู​ไม่​สนิท​กับ​เพื่อน ๆ.”—เชอร์ลีย์

คุณ​เคย​อ่าน​หรือ​ส่ง​ข้อ​ความ​ระหว่าง​ขับ​รถ​หรือ​เมื่อ​อยู่​ใน​ห้อง​เรียน​ไหม?

▫ ใช่ ▫ ไม่

เมื่อ​คุณ​คุย​กับ​คน​ใน​ครอบครัว​หรือ​เพื่อน ๆ คุณ​ขัด​จังหวะ​เขา​ไหม​ด้วย​การ​ตอบ​อีเมล รับ​โทรศัพท์ หรือ​ส่ง​ข้อ​ความ?

▫ ใช่ ▫ ไม่

การ​ใช้​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​ของ​คุณ​ได้​แย่ง​เอา​เวลา​นอน​หลับ​หรือ​รบกวน​เวลา​ศึกษา​ไหม?

▫ ใช่ ▫ ไม่

วิธี​ใช้​เครื่อง​มือ​อย่าง​สมดุล

ถ้า​คุณ​ใช้​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​บาง​ประเภท—ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์​มือ​ถือ หรือ​อุปกรณ์​อื่น ๆ—ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​สี่​ข้อ​ข้าง​ล่าง​นี้. การ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ได้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ปฏิบัติ​ตาม​การ​ชี้​แนะ​ง่าย ๆ ว่า อะไร​ควร​หรือ​ไม่​ควร​ก็​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​ปลอด​ภัย​และ​ควบคุม​อุปกรณ์​เหล่า​นั้น​ได้.

1. เนื้อหา​เป็น​อย่าง​ไร? “สิ่ง​ใด​ที่​จริง สิ่ง​ใด​ที่​ควร​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​จริงจัง สิ่ง​ใด​ที่​ชอบธรรม สิ่ง​ใด​ที่​บริสุทธิ์ สิ่ง​ใด​ที่​น่า​รัก สิ่ง​ใด​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง​ใน​ทาง​ดี ถ้า​มี​คุณ​ความ​ดี​ประการ​ใด​และ​ถ้า​มี​สิ่ง​ใด​ที่​น่า​สรรเสริญ จง​ใคร่ครวญ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ต่อ ๆ ไป.”—ฟิลิปปอย 4:8

ควร ติด​ต่อ​สื่อ​ความ​กับ​เพื่อน ๆ และ​ครอบครัว​เสมอ บอก​เล่า​ข่าว​คราว​และ​แง่​คิด​ดี ๆ.—สุภาษิต 25:25; เอเฟโซส์ 4:29

ไม่​ควร แพร่​การ​ซุบซิบ​นินทา​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย ส่ง​ข้อ​ความ​หรือ​ภาพ​ที่​ผิด​ศีลธรรม หรือ​ดู​วิดีโอ​คลิป หรือ​รายการ​ทีวี​ที่​เสื่อม​ศีลธรรม.—โกโลซาย 3:5; 1 เปโตร 4:15

2. ฉัน​ใช้​มัน​เมื่อ​ไร? “มี​วาระ​กำหนด​ไว้​สำหรับ​ทุก​สิ่ง.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:1

ควร กำหนด​ว่า​ควร​ใช้​เวลา​มาก​แค่​ไหน​สำหรับ​การ​ใช้​โทรศัพท์​และ​รับ​ส่ง​ข้อ​ความ ดู​ทีวี หรือ​เล่น​เก​ม. จง​แสดง​ความ​นับถือ โดย​ปิด​อุปกรณ์​เมื่อ​อยู่​ใน​งาน​สำคัญ เช่น การ​ประชุม​เพื่อ​การ​นมัสการ. คุณ​จะ​ตอบ​ข้อ​ความ​เหล่า​นั้น​เวลา​ใด​ก็​ได้​ภาย​หลัง.

ไม่​ควร ยอม​ให้​การ​ใช้​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​ขัด​จังหวะ​ใน​เวลา​ที่​คุณ​ตั้งใจ​จะ​อยู่​กับ​เพื่อน​และ​ครอบครัว ศึกษา หรือ​ทำ​กิจกรรม​เพื่อ​การ​นมัสการ.—เอเฟโซส์ 5:15-17; ฟิลิปปอย 2:4

3. ฉัน​กำลัง​คบหา​กับ​ใคร? “อย่า​ให้​ใคร​ชัก​นำ​ให้​หลง. การ​คบหา​ที่​ไม่​ดี​ย่อม​ทำ​ให้​นิสัย​ดี​เสีย​ไป.”—1 โครินท์ 15:​33

ควร ใช้​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​เพื่อ​เสริม​สาย​สัมพันธ์​ที่​คุณ​มี​กับ​ผู้​ที่​สนับสนุน​คุณ​ให้​พัฒนา​นิสัย​ที่​ดี.—สุภาษิต 22:17

ไม่​ควร หลอก​ตัว​เอง เพราะ​คุณ​จะ​รับ​เอา​มาตรฐาน ภาษา และ​วิธี​คิด​ของ​คน​ที่​คุณ​เลือก​จะ​คบหา​ด้วย​ผ่าน​ทาง​อีเมล ข้อ​ความ ทีวี วิดีโอ หรือ​อินเทอร์เน็ต.—สุภาษิต 13:20

4. ฉัน​ใช้​เวลา​มาก​เท่า​ไร? “ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​สิ่ง​ไหน​สำคัญ​กว่า.”—ฟิลิปปอย 1:10

ควร จด​บันทึก​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​กับ​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​มาก​เท่า​ไร.

ไม่​ควร มอง​ข้าม​ความ​คิด​เห็น​ของ​เพื่อน ๆ หรือ​คำ​แนะ​นำ​ของ​พ่อ​แม่​ถ้า​พวก​เขา​บอก​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​มาก​เกิน​ไป​กับ​สิ่ง​เหล่า​นั้น.—สุภาษิต 26:12

แอนดรูว์​ที่​เรา​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น พูด​ถึง​การ​ใช้​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​อย่าง​สมดุล​และ​สรุป​อย่าง​ดี​ว่า “อิเล็กทรอนิกส์​เป็น​เรื่อง​สนุก แต่​แค่​ช่วง​เวลา​สั้น ๆ เท่า​นั้น. ผม​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ไม่​ยอม​ให้​เทคโนโลยี​แยก​ผม​ออก​จาก​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ.”

ถ้า​ต้องการ​อ่าน​บทความ​ชุด “หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า” เพิ่ม​เติม ให้​ดาวน์​โหลด​ตื่นเถิด! ฉบับ​อื่น ๆ จาก​เว็บไซต์ www.jw.org.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 25]

สิ่ง​ที่​คน​รุ่น​เดียว​กับ​คุณ​พูด

“พ่อ​แม่​มัก​จะ​บอก​ผม​ว่า ‘เรา​น่า​จะ​เอา​โทรศัพท์​ทา​กาว​ติด​มือ​ลูก​ให้​หมด​เรื่อง​หมด​ราว​ไป​เลย!’ ตอน​แรก ผม​ก็​หัวเราะ แต่​ที​หลัง​ผม​เข้าใจ​ว่า​ท่าน​ไม่​ได้​พูด​เล่น. เดี๋ยว​นี้​ผม​จำกัด​การ​ส่ง​ข้อ​ความ​และ​รู้สึก​สบาย​ใจ​อย่าง​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน!”

“ดิฉัน​เคย​คิด​ว่า​ต้อง​เปิด​ดู​ข้อ​ความ​ใน​อินเทอร์เน็ต​ทุก​ครั้ง​ที่​มี​โอกาส. ดิฉัน​ไม่​ทำ​การ​บ้าน ไม่​อ่าน​หนังสือ​เรียน. พอ​ดิฉัน​พยายาม​ลด​การ​ดู​อินเทอร์เน็ต ดิฉัน​ก็​รู้สึก​โล่ง​ใจ. เคล็ดลับ​คือ​การ​รู้​จัก​ประมาณ​ตน.”

[ภาพ]

โจวาร์นี

มาไรอาห์

[กรอบ​หน้า 26]

“ดิฉัน​เคย​ติด​เว็บไซต์​เครือข่าย​ทาง​สังคม”

“สอง​สาม​ปี​ก่อน ครอบครัว​ของ​เรา​ย้าย​บ้าน. ดิฉัน​ต้องการ​ติด​ต่อ​กับ​เพื่อน และ​พวก​เขา​ชวน​ดิฉัน​เข้า​ร่วม​กับ​เว็บไซต์​ที่​แลก​เปลี่ยน​รูป​ถ่าย​กัน. ดู​เหมือน​ว่า​นั่น​เป็น​วิธี​ที่​ดี​มาก​เพื่อ​รู้​ข่าว​คราว​ของ​กัน​และ​กัน​เสมอ. ดิฉัน​จะ​ติด​ต่อ​กับ​คน​ที่​รู้​จัก​เท่า​นั้น ไม่​ใช่​กับ​คน​แปลก​หน้า แล้ว​จะ​ผิด​ตรง​ไหน​ล่ะ?

“ตอน​แรก ทุก​อย่าง​ไป​ได้​ดี. ดิฉัน​เข้า​เว็บไซต์​สัปดาห์​ละ​ครั้ง​เพื่อ​ดู​รูป​เพื่อน​และ​พิมพ์​คำ​ติ​ชม​และ​อ่าน​คำ​ติ​ชม​จาก​เพื่อน​เกี่ยว​กับ​รูป​ของ​ดิฉัน​ด้วย. แต่​ไม่​นาน​ดิฉัน​ก็​ติด. ก่อน​จะ​รู้​ตัว ดิฉัน​เข้า​เว็บไซต์​เกือบ​ตลอด​เวลา. เนื่อง​จาก​ดิฉัน​ใช้​อินเทอร์เน็ต​มาก เพื่อน​ของ​เพื่อน​ก็​เริ่ม​รู้​จัก​ดิฉัน​และ​ชักชวน​ดิฉัน​เป็น​เพื่อน​ของ​พวก​เขา. คุณ​คง​นึก​ภาพ​ออก เพื่อน​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า​คน​นี้​คุย​สนุก คุณ​ก็​เลย​รับ​เขา​เป็น​เพื่อน. ก่อน​จะ​ทัน​รู้​ตัว คุณ​ก็​มี​เพื่อน​ทาง​อินเทอร์เน็ต 50 คน​เข้า​ไป​แล้ว.

“ไม่​นาน​นัก ดิฉัน​ก็​เอา​แต่​คิด​เรื่อง​เล่น​อินเทอร์เน็ต. แม้​แต่​ขณะ​ที่​กำลัง​เปิด​เว็บไซต์ ดิฉัน​ก็​ยัง​คิด​อยู่​เรื่อย ๆ ว่า​เมื่อ​ไร​จะ​ได้​กลับ​มา​เปิด​ดู​อีก และ​คิด​จะ​เอา​รูป​ใหม่ ๆ เข้า​ไป​ใน​เว็บไซต์. ดิฉัน​ได้​อ่าน​ความ​คิด​เห็น เอา​ภาพ​ใส่​ใน​เว็บไซต์ และ​ไม่​ทัน​ไร​เวลา​ก็​ผ่าน​ไป​หลาย​ชั่วโมง.

“เวลา​ผ่าน​ไป​ปี​ครึ่ง แต่​ใน​ที่​สุด​ดิฉัน​ตระหนัก​ว่า​ได้​ติด​เสีย​แล้ว. แต่​มา​ตอน​นี้ ดิฉัน​ควบคุม​การ​ใช้​อินเทอร์เน็ต​อย่าง​เข้มงวด​และ​พยายาม​ผูก​มิตร​กับ​คน​ที่​ได้​พบ​ปะ​กัน​จริง ๆ ซึ่ง​มี​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​เหมือน​กัน. เพื่อน​บาง​คน​ไม่​เข้าใจ​การ​กระทำ​ของ​ดิฉัน ทว่า ดิฉัน​ได้​รับ​บทเรียน​แล้ว.”—เอลเลน อายุ 18

[กรอบ​หน้า 26]

ถาม​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​สิ

บาง​ครั้ง​คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​เมื่อ​คุณ​เริ่ม​ยก​เอา​เรื่อง​การ​บันเทิง​ขึ้น​มา​พูด​กับ​พ่อ​แม่. เชอรีล​เด็ก​สาว​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “คราว​หนึ่ง​คุณ​พ่อ​สงสัย​ว่า​ซีดี​แผ่น​หนึ่ง​ของ​หนู​มี​เพลง​ไม่​ดี หนู​จึง​ขอ​ให้​ท่าน​นั่ง​ลง​แล้ว​ฟัง​ทุก​เพลง​ใน​แผ่น​ซีดี​นั้น​ด้วย​กัน. คุณ​พ่อ​ตก​ลง. พอ​ฟัง​เสร็จ ท่าน​ก็​บอก​ว่า​ไม่​เห็น​มี​อะไร​ที่​ไม่​ดี!”

ข้าง​ล่าง​นี้ เขียน​คำ​ถาม​ที่​คุณ อยาก​ถาม​พ่อ​แม่​เกี่ยว​กับ​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์.

[กรอบ​หน้า 27]

ถึง​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่

ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​ใช้​เวลา​มาก​เกิน​ไป​กับ​อินเทอร์เน็ต รับ​ส่ง​ข้อ​ความ​มาก​เกิน​ไป หรือ​ชอบ​อยู่​กับ​เครื่อง​เล่น​เอ็ม​พี 3 มาก​กว่า​อยู่​กับ​คุณ​ไหม? ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร?

คุณ​อาจ​จะ​ยึด​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ไป​ก็​ได้. แต่​อย่า​เหมา​รวม​ไป​หมด​ว่า​สื่อ​เหล่า​นั้น​เป็น​สิ่ง​ไม่​ดี. ถ้า​จะ​ว่า​ไป คุณ​เอง​ก็​ใช้​อุปกรณ์​บาง​อย่าง​ซึ่ง​พ่อ​แม่​ของ​คุณ ไม่​เคย​ใช้. ดัง​นั้น อย่า​ยึด​อุปกรณ์​ของ​ลูก​ไป​นอก​จาก​จะ​มี​เหตุ​ผล​จริง ๆ แต่​คุณ​น่า​จะ​ถือ​โอกาส​นี้​สอน​ลูก​ให้​รู้​จัก​ใช้​สื่อ​อิเล็กทรอนิกส์​อย่าง​สุขุม​และ​พอ​ประมาณ. คุณ​จะ​ทำ​ได้​อย่าง​ไร?

นั่ง​ลง​พูด​คุย​กับ​ลูก. ที​แรก บอก​เรื่อง​ที่​คุณ​เป็น​ห่วง. แล้ว​ฟัง ว่า​ลูก​พูด​อย่าง​ไร. (สุภาษิต 18:13) ต่อ​จาก​นั้น หา​ทาง​แก้​ใน​เชิง​ปฏิบัติ. อย่า​กลัว​ที่​จะ​วาง​ข้อ​จำกัด​ที่​แน่นอน แต่​มี​เหตุ​ผล. (ฟิลิปปอย 4:5) เอลเลน ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​พูด​ว่า “ตอน​ที่​ดิฉัน​มี​ปัญหา​เรื่อง​การ​ส่ง​ข้อ​ความ พ่อ​แม่​ของ​ดิฉัน​ไม่​ได้​ยึด​โทรศัพท์​ไป แต่​วาง​กฎเกณฑ์. วิธี​ที่​พ่อ​แม่​แก้​ปัญหา​ช่วย​ดิฉัน​ให้​เป็น​คน​สมดุล​ใน​การ​ส่ง​ข้อ​ความ แม้​ใน​ตอน​ที่​พ่อ​แม่​ไม่​ได้​คอย​เฝ้า​ดู.”

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​ลูก​ของ​คุณ​ไม่​ยอม​ฟัง? อย่า​สรุป​ว่า​ถึง​อย่าง​ไร​ลูก​ก็​จะ​ไม่​เชื่อ​ฟัง. แทน​ที่​จะ​คิด​อย่าง​นั้น จง​อด​ทน​และ​ให้​เวลา​ลูก​คิด​ทบทวน. เป็น​ไป​ได้​ที่​ลูก​เห็น​ด้วย​กับ​คุณ​อยู่​แล้ว และ​จะ​ปรับ​ปรุง​ตัว​เขา​เอง​อย่าง​ที่​ควร​ทำ. วัยรุ่น​หลาย​คน​คล้าย​กับ​เฮลีย์ ซึ่ง​บอก​ว่า “ที​แรก​หนู​ไม่​พอ​ใจ​ที่​พ่อ​แม่​บอก​ว่า​หนู​ติด​คอมพิวเตอร์. แต่​ที​หลัง ยิ่ง​หนู​คิด​ถึง​เรื่อง​นี้​มาก​เท่า​ไร หนู​ก็​เข้าใจ​ว่า​พ่อ​แม่​พูด​ถูก.”

[ภาพ​หน้า 27]

คุณ​ควบคุม​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์ หรือ​ปล่อย​ให้​มัน​ควบคุม​คุณ?