ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความเครียด—ก่อผลกระทบต่อเราอย่างไร?

ความเครียด—ก่อผลกระทบต่อเราอย่างไร?

ความ​เครียด—ก่อ​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​อย่าง​ไร?

เกิด​อะไร​ขึ้น​เมื่อ​คุณ​วิ่ง​เพื่อ​จะ​ไป​ขึ้น​รถ​ประจำ​ทาง​หรือ​รถไฟ? แน่นอน คุณ​คง​รู้สึก​ได้​ว่า​ร่าง​กาย​ของ​คุณ​มี​ปฏิกิริยา คือ​ความ​ดัน​โลหิต​สูง​ขึ้น​และ​หัวใจ​ก็​เต้น​เร็ว​ขึ้น. ถึง​แม้​คุณ​จะ​วิ่ง​ไม่​ทัน​รถ​เที่ยว​นั้น โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​อัตรา​การ​เต้น​ของ​หัวใจ​และ​การ​หายใจ​จะ​กลับ​สู่​ภาวะ​ปกติ​ใน​เวลา​อัน​รวด​เร็ว.

แต่​อาจ​ไม่​ได้​เป็น​เช่น​นั้น​ถ้า​คุณ​ต้อง​จัด​การ​กับ​สภาพการณ์​ตึงเครียด​ที่​ยืดเยื้อ​ยาว​นาน. ความ​กังวล, อาการ​เกร็ง​ของ​กล้ามเนื้อ, ความ​ดัน​โลหิต​ที่​สูง​ขึ้น, และ​ระบบ​ย่อย​อาหาร​ที่​ไม่​ปกติ​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​นาน​เพื่อ​กลับ​คืน​สู่​ภาวะ​ปกติ. คน​จำนวน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ที่​พบ​ว่า​ความ​ตึงเครียด​ไม่​หมด​ไป​เสีย​ที. ตัว​อย่าง​เช่น หลาย​คน​รู้สึก​ว่า​ต้อง​จำ​ใจ​อยู่​กับ​งาน​ที่​ไม่​มี​ทาง​ก้าว​หน้า. ความ​ตึงเครียด​ส่ง​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​ร่าง​กาย​และ​สุขภาพ​ของ​คุณ?

ปฏิกิริยา​ของ​ร่าง​กาย​ต่อ​ความ​เครียด

นาย​แพทย์​อาเรียน ฟาน เดอร์ เมอร์เว ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​นี้​อธิบาย​ว่า​ร่าง​กาย​ของ​คุณ​มี​ปฏิกิริยา​เช่น​ไร​ต่อ​ความ​เครียด. ร่าง​กาย​จะ​เข้า​สู่​ภาวะ​พร้อม​ปฏิบัติการ​และ “สาร​เคมี​ใน​ระบบ​ประสาท​และ​ฮอร์โมน​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​เครียด​จะ​หลั่ง​ออก​มา​ทั่ว​ร่าง​กาย​ของ​คุณ เพื่อ​เตรียม​อวัยวะ​และ​ระบบ​ทุก​ส่วน​ให้​พร้อม​ตอบ​สนอง​ต่อ​เหตุ​ฉุกเฉิน.”

ทันใด​นั้น​คุณ​ก็​พร้อม​จะ​ลง​มือ​ทำ​สิ่ง​ที่​ไม่​ธรรมดา. นี่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ประสาท​สัมผัส​ทุก​ส่วน ทั้ง​การ​มอง​เห็น, การ​ได้​ยิน, และ​การ​สัมผัส. สมอง​ของ​คุณ​ตอบ​สนอง​อย่าง​รวด​เร็ว และ​ต่อม​หมวก​ไต​ก็​หลั่ง​ฮอร์โมน​ที่​ทรง​พลัง​ออก​มา​ทันที ซึ่ง​ให้​กำลัง​แก่​กล้ามเนื้อ รวม​ทั้ง​ช่วย​หัวใจ, ปอด, และ​อวัยวะ​อื่น ๆ ให้​พร้อม​สำหรับ​สิ่ง​ที่​อาจ​ต้อง​ทำ​ภาย​ใต้​สถานการณ์​ตึงเครียด.

ดัง​นั้น ใน​ภาวะ​ฉุกเฉิน การ​ตอบ​สนอง​ต่อ​ความ​เครียด​ของ​ร่าง​กาย​คุณ​จะ​ช่วย​ชีวิต​คุณ​ได้ เช่น มัน​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​กระโดด​หลบ​รถยนต์​ที่​กำลัง​วิ่ง​มา. อย่าง​ไร​ก็​ดี เป็น​คน​ละ​เรื่อง​ที​เดียว​ถ้า​ความ​เครียด​นั้น​ยัง​มี​อยู่​เรื่อย ๆ.

เมื่อ​ความ​เครียด​เป็น​ศัตรู

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​ร่าง​กาย​ของ​คุณ​ตึงเครียด​ตลอด​เวลา? กล้ามเนื้อ​ของ​คุณ​เกร็ง, ชีพ​จร​เต้น​เร็ว, และ​ความ​ดัน​โลหิต​สูง​อยู่​เสมอ นอก​จาก​นั้น คอเลสเทอรอล​ระดับ​สูง, ไขมัน, น้ำตาล, ฮอร์โมน, และ​สาร​เคมี​อื่น ๆ ตก​ค้าง​อยู่​ใน​กระแส​เลือด. สาร​เคมี​เหล่า​นี้​มี​ไว้​สำหรับ​กิจกรรม​ที่​เคร่ง​เครียด​ระยะ​สั้น​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ไม่​บ่อย​นัก แต่​ถ้า​มี​ใน​ระดับ​สูง​และ​ตก​ค้าง​อยู่​นาน ใน​ที่​สุด​จะ​ส่ง​ผล​เสีย​ต่อ​อวัยวะ​ใน​ร่าง​กาย. ผล​เป็น​อย่าง​ไร?

คุณ​อาจ​เริ่ม​ปวด​หลัง, ปวด​ศีรษะ, กล้ามเนื้อ​คอ​หด​เกร็ง, และ​กล้ามเนื้อ​ตึง. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​แพทย์ อาการ​เหล่า​นี้​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​เครียด​เรื้อรัง. ความ​เครียด​ที่​ยืดเยื้อ​อาจ​เป็น​อุปสรรค​ต่อ​ความ​คิด​สร้าง​สรรค์​และ​การ​ผลิตผล​งาน ทั้ง​ยัง​ทำลาย​ความ​กระตือรือร้น​และ​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​บุคคล. นอก​จาก​นั้น มัน​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​อาการ​ผิด​ปกติ​ใน​ระบบ​การ​ขับ​ถ่าย, ท้องร่วง, และ​หลอด​อาหาร​หด​เกร็ง. ผล​จาก​ความ​เครียด​เรื้อรัง​อาจ​ร้ายแรง​ยิ่ง​กว่า​นั้น. ความ​เครียด​ยืดเยื้อ​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ของ​โรค​เส้น​เลือด​สมอง, หัวใจ​ล้มเหลว, ไต​วาย, ปัญหา​เกี่ยว​กับ​หัวใจ​ร่วม​หลอด​เลือด, และ​โรค​เบาหวาน หรือ​ทำ​ให้​อาการ​ของ​โรค​เหล่า​นี้​หนัก​ยิ่ง​ขึ้น​ได้.

ฟาน เดอร์ เมอร์เว เขียน​ว่า “เนื่อง​จาก​การ​หลั่ง​คอร์ติซอล​ใน​กรณี​ที่​เกิด​ความ​เครียด​เรื้อรัง บ่อย​ครั้ง​ไขมัน​จึง​สะสม​รอบ ๆ ช่อง​ท้อง​และ​หลัง.” เชื่อ​กัน​ว่า​ความ​เครียด​ทำ​ให้​เกิด​โรค​ผิวหนัง เช่น ผิวหนัง​อักเสบ​ออก​ผื่น​และ​โรค​สะเก็ด​เงิน หรือ​ทำ​ให้​อาการ​หนัก​ขึ้น. นอก​จาก​นั้น ความ​เครียด​อย่าง​หนัก​ยัง​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​ความ​ซึมเศร้า, ความ​ก้าวร้าว​ที่​เพิ่ม​ขึ้น, และ​สภาพ​อ่อน​เพลีย​หมด​เรี่ยว​แรง. ความ​จำ​และ​สมาธิ​ก็​อาจ​ได้​รับ​ผล​เสียหาย​ถาวร​จาก​ความ​เครียด​เรื้อรัง. ระบบ​ภูมิ​คุ้ม​กัน​ซึ่ง​อ่อนแอ​ลง​เนื่อง​จาก​เครียด​ไม่​คลาย​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​นั้น​ป่วย​ง่าย​ตั้ง​แต่​เป็น​หวัด​ไป​จน​ถึง​มะเร็ง​และ​โรค​ภูมิ​ต้าน​ตน​เอง.

ความ​เครียด​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​รุนแรง​ต่อ​สวัสดิภาพ​ของ​เรา​ทุก​แง่​มุม ทั้ง​ทาง​จิต, ร่าง​กาย, อารมณ์, และ​จิตวิญญาณ ฉะนั้น เรา​จำเป็น​ต้อง​รู้​ว่า​จะ​ควบคุม​ความ​เครียด​ได้​อย่าง​ไร. กระนั้น เรา​ไม่​ต้องการ​ขจัด​ปฏิกิริยา​ความ​เครียด​ไป​เสีย​ทั้ง​หมด. ทำไม​จึง​ไม่​ต้องการ​เช่น​นั้น?

เรา​อาจ​เปรียบ​ความ​เครียด​เหมือน​กับ​ม้า​คึก​คะนอง. เรา​สามารถ​ขี่​ม้า​ได้​อย่าง​สนุก​เพลิดเพลิน. แต่​ถ้า​ม้า​พยศ​จน​เรา​รั้ง​ไม่​อยู่ มัน​ก็​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​ชีวิต​ของ​เรา. ทำนอง​เดียว​กัน ความ​เครียด​แต่​พอ​ประมาณ​ก็​ทำ​ให้​ชีวิต​สนุกสนาน​เพลิดเพลิน​ได้ และ​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​คิด​สร้าง​สรรค์, เกิด​ผล, กระตือรือร้น, และ​มี​สุขภาพ​ดี.

แต่​เรา​จะ​คุม​ความ​เครียด​ไม่​ให้​สูง​เกิน​ไป​ได้​อย่าง​ไร​เพื่อ​เรา​จะ​เพลิดเพลิน​กับ​ชีวิต​ให้​มาก​ที่​สุด? บทความ​ต่อ​ไป​จะ​พูด​ถึง​วิธี​ที่​ใช้​ปฏิบัติ​ได้​ใน​การ​ควบคุม​ความ​เครียด​รวม​ถึง​ปฏิกิริยา​ของ​เรา.

[กรอบ​หน้า 5]

‘ถูก​สร้าง​อย่าง​น่า​ประหลาด’ โดย​พระ​ผู้​สร้าง​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​สติ​ปัญญา

ทฤษฎี​ที่​เชื่อ​กัน​ทั่ว​ไป​กล่าว​ว่า ปฏิกิริยา​ของ​ร่าง​กาย​เรา​ต่อ​ความ​เครียด​เป็น​สิ่ง​ที่​ตก​ค้าง​จาก​การ​ที่​มนุษย์​ยุค​ดึกดำบรรพ์​ต้อง​เผชิญ​การ​คุกคาม​จาก​ช้าง​แมมมอท​และ​เสือ​เขี้ยว​ดาบ. แต่​จริง ๆ แล้ว​ไม่​ใช่​เช่น​นั้น ระบบ​ทาง​สรีรวิทยา​ที่​ซับซ้อน​ถูก​ออก​แบบ​โดย​พระ​ผู้​สร้าง​ที่​ชำนิ​ชำนาญ. ตัว​อย่าง​เช่น กลไก​อัน​ซับซ้อน​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ลิ่ม​เลือด รวม​ทั้ง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ต้าน​การ​ติด​เชื้อ​และ​รักษา​บาดแผล อีก​ทั้ง​กลไก​อัน​ยอด​เยี่ยม​ใน​การ​ตอบ​สนอง​ต่อ​ความ​เครียด​ล้วน​เป็น​หลักฐาน​ว่า​มี​ผู้​ออก​แบบ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​รัก​และ​สติ​ปัญญา.

ระบบ​เหล่า​นี้​ของ​ร่าง​กาย​ยืน​ยัน​ว่า​เรา “ถูก​สร้าง​ให้​เกิด​มา​อย่าง​น่า​พึง​กลัว​และ​น่า​ประหลาด.” (บทเพลง​สรรเสริญ 139:13-16) การ​จัด​เตรียม​ด้วย​ความ​รักใคร่​ทั้ง​ด้าน​วิญญาณ​และ​ด้าน​ร่าง​กาย รวม​ถึง​วิธี​ที่​ยอด​เยี่ยม​ที่​พระเจ้า​สร้าง​มนุษย์​ให้​เพลิดเพลิน​กับ​ชีวิต ทำ​ให้​แน่​ใจ​ได้​ว่า​ไม่​มี​สิ่ง​ใด​จะ​เป็น​สาเหตุ​ให้​เกิด​ความ​เจ็บ​ปวด ความ​เศร้า​เสียใจ หรือ​ความ​ตาย​ใน​อุทยาน​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​ใกล้​เข้า​มา.—วิวรณ์ 21:3-5

[แผน​ภาพ​หน้า 5]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

ผล​เสีย​ของ​ความ​เครียด​เรื้อรัง​ที่​มี​ต่อ​ร่าง​กาย

ปวด​หัว

กัด​ฟัน

ปวด​คอ

โรค​หัวใจ

แผล​ใน​กระเพาะ

ปวด​หลัง

กล้ามเนื้อ​หด​เกร็ง