ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ปีพิเศษของไอน์สไตน์

ปีพิเศษของไอน์สไตน์

ปี​พิเศษ​ของ​ไอน์สไตน์

ใน​ปี 1905 เสมียน​ประจำ​สำนักงาน​สิทธิ​บัตร​วัย 26 ปี​นาม​อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้​พิมพ์​เผยแพร่​รายงาน​ทาง​วิทยาศาสตร์​สี่​ฉบับ​ซึ่ง​เปลี่ยน​แปลง​วิธี​ที่​เรา​มอง​เอกภพ​ของ​เรา—จาก​อณู​ที่​เล็ก​ที่​สุด​ไป​จน​ถึง​ดารา​จักร​ที่​ใหญ่​ที่​สุด. ต่อ​มา​รายงาน​เหล่า​นั้น​บาง​ฉบับ​ยัง​ได้​ช่วย​จุด​ประกาย​ให้​มี​การ​พัฒนา​สิ่ง​ประดิษฐ์​หลาย​อย่าง​ซึ่ง​เปลี่ยน​แปลง​ชีวิต​ผู้​คน​ใน​ช่วง 100 ปี​ที่​ผ่าน​มา​นี้​ด้วย.

อีซีดอร์ ราบี ผู้​ได้​รับ​รางวัล​โนเบล​สาขา​ฟิสิกส์ กล่าว​ว่า “แทบ​ไม่​มี​แนว​คิด​พื้น​ฐาน​สำคัญ​ใด ๆ เลย​ใน​ฟิสิกส์​สมัย​ใหม่​ที่​ไม่​มี​ต้นตอ​อย่าง​น้อย​ก็​บาง​ส่วน​จาก​ไอน์สไตน์.” ไอน์สไตน์​ค้น​พบ​อะไร​จริง ๆ เมื่อ​หนึ่ง​ศตวรรษ​มา​แล้ว?

ไข​ความ​ลับ​ของ​แสง

รายงาน​ของ​ไอน์สไตน์​ที่​พิมพ์​เผยแพร่​เมื่อ​เดือน​มีนาคม 1905 เปิด​เผย​ความ​ลับ​บาง​ประการ​เกี่ยว​กับ​สถานะ​ของ​แสง. ตอน​นั้น​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ค้น​พบ​แล้ว​ว่า ขณะ​ที่​แสง​เดิน​ทาง​ไป​ใน​อวกาศ แสง​มี​พฤติกรรม​เป็น​เหมือน​กับ​คลื่น​ของ​น้ำ​ที่​กระเพื่อม​อยู่​ใน​สระ​น้ำ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ทฤษฎี​คลื่น​ไม่​สามารถ​อธิบาย​ว่า​เหตุ​ใด​เมื่อ​แสง​สี​ฟ้า​ความ​เข้ม​ต่ำ​กระทบ​กับ​โลหะ​บาง​ชนิด​จึง​ทำ​ให้​เกิด​กระแส​ไฟฟ้า ส่วน​แสง​สี​แดง​ความ​เข้ม​สูง​ไม่​ก่อ​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​เช่น​นั้น. รายงาน​ของ​ไอน์สไตน์​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ปรากฏการณ์​ที่​เรียก​ว่า​โฟโตอิเล็กทริก​นี้.

ไอน์สไตน์​อธิบาย​ว่า บาง​ครั้ง​อาจ​ถือ​ได้​ว่า​แสง​ประกอบ​ด้วย​ก้อน​พลังงาน​เล็ก ๆ ซึ่ง​ต่อ​มา​เรียก​ว่า​โฟตอน. เมื่อ​โฟตอน​เหล่า​นี้​มี​ระดับ​พลังงาน หรือ​สี ที่​เหมาะ​สม มัน​ก็​สามารถ​กระแทก​อิเล็กตรอน​ออก​จาก​อะตอม​ของ​โลหะ​บาง​ชนิด​ได้. (โฟตอน​ของ​แสง​สี​แดง​มี​พลังงาน​อ่อน​เกิน​กว่า​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นี้​ได้.) อันตรกิริยา​นี้​ทำ​ให้​เกิด​กระแส​ไฟฟ้า​ไหล​อยู่​ใน​วัตถุ​นั้น. สิ่ง​ประดิษฐ์​สมัย​ใหม่ เช่น ท่อ​ของ​กล้อง​โทรทัศน์, เซลล์​พลัง​แสง​อาทิตย์, และ​เครื่องวัด​แสง​สำหรับ​การ​ถ่าย​ภาพ​ล้วน​ถูก​ออก​แบบ​ขึ้น​โดย​อาศัย​คำ​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​ปรากฏการณ์​โฟโตอิเล็กทริก​ของ​ไอน์สไตน์​ทั้ง​สิ้น.

ไอน์สไตน์​ได้​รับ​รางวัล​โนเบล​สาขา​ฟิสิกส์​ใน​ปี 1921 เนื่อง​ด้วย​คำ​อธิบาย​ลักษณะ​ของ​แสง​นี้. รายงาน​ของ​เขา​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​วิทยาศาสตร์​แขนง​ใหม่​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ทฤษฎี​ควอนตัม. และ​ทฤษฎี​ควอนตัม​ก็​เป็น​พื้น​ฐาน​ที่​สามารถ​นำ​ไป​ประยุกต์​ใช้​ได้​ใน​หลาย​วงการ เช่น วิทยาศาสตร์​นิวเคลียร์, อิเล็กทรอนิกส์, และ​นา​โน​เทคโนโลยี.

สาเหตุ​ที่​เกสร​สั่น​ไหว

ใน​ปี 1905 ไอน์สไตน์​ยัง​หัน​มา​สนใจ​เรื่อง​อะตอม​และ​โมเลกุล​อีก​ด้วย. เขา​ได้​ตั้ง​ทฤษฎี​ขึ้น​มา​ซึ่ง​อธิบาย​ผล​กระทบ​ของ​อะตอม​และ​โมเลกุล​ต่อ​ละออง​เกสร​เล็ก ๆ ซึ่ง​แขวน​ลอย​อยู่​ใน​น้ำ. ใน​ปี 1827 นัก​ชีววิทยา​ชื่อ​โรเบิร์ต บราวน์ ได้​ใช้​กล้อง​จุลทรรศน์​ส่อง​ดู​เห็น​ว่า​ละออง​เกสร​ซึ่ง​จม​อยู่​ใน​น้ำ​มี​การ​สั่น​ไหว​ไป​มา. เขา​เรียก​การ​เคลื่อน​ไหว​ของ​ละออง​เกสร​นี้​ว่า​การ​เคลื่อน​ไหว​แบบ​บราวน์ (Brownian motion) แต่​เขา​ไม่​สามารถ​อธิบาย​ได้​ว่า​มัน​เกิด​ขึ้น​เพราะ​อะไร.

ใน​รายงาน​ของ​ไอน์สไตน์​ที่​พิมพ์​เผยแพร่​เมื่อ​เดือน​พฤษภาคม 1905 เขา​ตั้ง​สมมุติฐาน​ว่า โมเลกุล​น้ำ​ที่​สั่น​ไป​มา​ทำ​ให้​เกิด​การ​เคลื่อน​ไหว​แบบ​บราวน์​ได้​โดย​วิธี​ใด. เขา​ไม่​เพียง​คำนวณ​ขนาด​ของ​โมเลกุล​น้ำ​แต่​ยัง​คาด​คะเน​คุณสมบัติ​เฉพาะ​ตัว​ของ​อะตอม​ใน​โมเลกุล​น้ำ​ด้วย. นัก​วิทยาศาสตร์​คน​อื่น ๆ คิด​ค้น​ต่อ​ยอด​จาก​การ​คาด​คะเน​นี้ และ​ขจัด​ข้อ​สงสัย​ที่​ว่า​อะตอม​มี​จริง​หรือ​ไม่. ฟิสิกส์​สมัย​ใหม่​ตั้ง​อยู่​บน​แนว​คิด​ที่​ว่า​สสาร​ทั้ง​หลาย​ประกอบ​ด้วย​อะตอม.

เวลา​เป็น​สิ่ง​สัมพัทธ์

ทฤษฎี​สัมพัทธภาพ​พิเศษ​ของ​ไอน์สไตน์ ซึ่ง​พิมพ์​เผยแพร่​ใน​เดือน​มิถุนายน 1905 ขัด​แย้ง​กับ​ความ​เชื่อ​พื้น​ฐาน​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​หลาย​คน อาทิ ไอแซ็ก นิวตัน ที่ว่าการ​วัด​เวลา​จะ​ได้​ค่า​คงที่​เสมอ​ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ที่​ใด​ใน​เอกภพ. นัย​แห่ง​ทฤษฎี​ของ​ไอน์สไตน์​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​ปัจจุบัน​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ที่​ค่อนข้าง​แปลก​พิสดาร.

ตัว​อย่าง​เช่น ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​กับ​เพื่อน​ของ​คุณ​ตั้ง​นาฬิกา​ให้​เดิน​ตรง​กัน​พอ​ดี. แล้ว​เพื่อน​ของ​คุณ​ขึ้น​เครื่องบิน​เดิน​ทาง​ไป​รอบ​โลก ส่วน​คุณ​อยู่​ที่​บ้าน. เมื่อ​เขา​กลับ​มา นาฬิกา​ของ​เขา​จะ​ช้า​กว่า​นาฬิกา​ของ​คุณ​เล็ก​น้อย. จาก​มุม​มอง​ของ​คุณ เวลา​ของ​เพื่อน​ที่​เดิน​ทาง​ไป​รอบ​โลก​นั้น​ช้า​ลง. แน่นอน ความ​แตกต่าง​นี้​มี​น้อย​มาก​จน​แทบ​จะ​วัด​ไม่​ได้​ใน​ระดับ​ความ​เร็ว​ของ​มนุษย์. แต่​ใน​ระดับ​ความ​เร็ว​ที่​ใกล้​กับ​ความ​เร็ว​แสง ไม่​เพียง​แต่​เวลา​จะ​ช้า​ลง​มาก​เท่า​นั้น แต่​วัตถุ​จะ​เล็ก​ลง​และ​มวล​ของ​มัน​จะ​เพิ่ม​ขึ้น. ทฤษฎี​ของ​ไอน์สไตน์​ยืน​ยัน​ว่า​แสง​ต่าง​หาก​ที่​มี​ความ​เร็ว​คงที่​ตลอด​ทั่ว​เอกภพ ไม่​ใช่​เวลา.

สูตร​ที่​เปลี่ยน​โลก

ใน​เดือน​กันยายน 1905 ไอน์สไตน์​พิมพ์​เผยแพร่​รายงาน​อีก​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​ภาค​ผนวก​ทาง​คณิตศาสตร์​ของ​ทฤษฎี​สัมพัทธภาพ​พิเศษ​ของ​เขา. รายงาน​ฉบับ​นี้​มี​สูตร​ซึ่ง​ปัจจุบัน​เป็น​ประหนึ่ง​สัญลักษณ์​แทน​ผล​งาน​ของ​เขา นั่น​คือ E=mc2. สมการ​นี้​กล่าว​ว่า พลังงาน​ที่​ถูก​ปลด​ปล่อย​ออก​มา​เมื่อ​อะตอม​หนึ่ง​ถูก​แบ่ง​แยก​จะ​เท่า​กับ​มวล​ของ​อะตอม​นั้น​ที่​เสีย​ไป​คูณ​ความ​เร็ว​ของ​แสง​ยก​กำลัง​สอง.

เนื่อง​จาก​ความ​บากบั่น​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​อย่าง​ไอน์สไตน์ มนุษยชาติ​จึง​ได้​รู้​เกี่ยว​กับ​ธรรมชาติ​ของ​เอกภพ​มาก​ขึ้น. แม้​กระนั้น ความ​รู้​ที่​มนุษย์​มี​อยู่​ใน​ปัจจุบัน​ก็​ยัง​คล้าย​กับ​ที่​โยบ​แห่ง​ยุค​โบราณ​ได้​พรรณนา​ไว้. เมื่อ​กล่าว​ถึง​ผล​งาน​ของ​พระ​ผู้​สร้าง ท่าน​ยอม​รับ​ด้วย​ความ​ถ่อม​ว่า “ดู​เถิด​กิจการ​เหล่า​นี้​เป็น​แต่​เพียง​ผิว​นอก​แห่ง​ราชกิจ​ของ​พระองค์. เรา​รู้​เรื่อง​ของ​พระองค์​จาก​เสียง​กระซิบ​ที่​แผ่ว​เบา​เท่า​นั้น.”—โยบ 26:14.

[แผน​ภูมิ/ภาพ​หน้า 20]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

แสง​มี​พฤติกรรม​เป็น​ทั้ง​คลื่น​และ​อนุภาค. ความ​เข้าใจ​นี้​ทำ​ให้​สามารถ​สร้าง​เครื่อง​คิด​เลข​พลัง​แสง​อาทิตย์​และ​ตัว​ตรวจ​จับ​แสง​ใน​กล้อง​ถ่าย​รูป​ดิจิตอล​ได้

[แผน​ภูมิ/ภาพ​หน้า 21]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

การ​เคลื่อน​ไหว​แบบ​บราวน์​ช่วย​พิสูจน์​ว่า​อะตอม​มี​อยู่​จริง

[แผน​ภูมิ/ภาพ​หน้า 21]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

E พลังงาน

= เท่า​กับ

m มวล

c2 ความ​เร็ว​แสง

c2 หมาย​ถึง c คูณ c หรือ​อีก​นัย​หนึ่ง 299,792 กิโลเมตร​ต่อ​วินาที​คูณ 299,792 กิโลเมตร​ต่อ​วินาที

เนื่อง​จาก c2 เป็น​ตัว​เลข​ที่​สูง​มาก (89,875,000,000 กิโลเมตร​2/วินาที​2) มวล​เพียง​เล็ก​น้อย​จึง​สามารถ​แปรรูป​เป็น​พลังงาน​มหาศาล. เมื่อ​อะตอม​ของ​ยูเรเนียม​หนึ่ง​อะตอม​ถูก​แบ่ง​แยก จะ​เกิด​อะตอม​ที่​เล็ก​กว่า​สอง​อะตอม​ทันที แต่​นอก​จาก​นั้น​มวล​ของ​มัน​จะ​สูญ​เสีย​ไป​ประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์​ด้วย; มวล​เพียง​เล็ก​น้อย​นี้​เปลี่ยน​ไป​เป็น​พลังงาน​มหาศาล​ที่​ปล่อย​ออก​มา

พลังงาน​ถูก​ปลด​ปล่อย

สาร​ชนิด​ใด​ก็​ตาม​เพียง 450 กรัม​ถ้า​เปลี่ยน​เป็น​พลังงาน​ทั้ง​หมด จะ​เท่า​กับ:

▪ 11,000 ล้าน​กิโล​วัตต์-ชั่วโมง

▪ พลังงาน​ที่​ต้อง​ใช้​เพื่อ​ขับ​เคลื่อน​รถยนต์​คัน​หนึ่ง​ไป​รอบ​โลก 180,000 รอบ

▪ พลังงาน​ที่​ต้อง​ใช้​เพื่อ​ขับ​เคลื่อน​เรือ​บรรทุก​น้ำมัน​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​ไป​รอบ​โลก 400 รอบ

▪ ความ​ต้องการ​พลังงาน​ไฟฟ้า​ของ​สหรัฐ​ใน​หนึ่ง​วัน

ใน​ทาง​กลับ​กัน​ก็​เป็น​จริง​ด้วย. ต้อง​ใช้​พลังงาน​มหาศาล​เพื่อ​จะ “สร้าง” อะตอม​ขึ้น​มา​เพียง​หนึ่ง​อะตอม

[ภาพ​หน้า 21]

ยิ่ง​คุณ​เดิน​ทาง​เร็ว​เท่า​ไร เวลา​ก็​จะ​ยิ่ง​ช้า​ลง​เท่า​นั้น

[ภาพ​หน้า 21]

นาฬิกา​บน​ดาว​เทียม​ของ​ระบบ​กำหนด​ตำแหน่ง​บน​พื้น​โลก (จีพีเอส) จะ​เดิน​ด้วย​ความ​เร็ว​ต่าง​จาก​นาฬิกา​ที่​อยู่​บน​โลก. ถ้า​ไม่​มี​การ​แก้ไข​ความ​คลาดเคลื่อน​ของ​เวลา​ตาม​หลัก​สัมพัทธภาพ​นี้​แล้ว สัญญาณ​จีพีเอส​ก็​จะ​ไม่​มี​ประโยชน์

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 20]

Einstein: Photo by Topical Press Agency/Getty Images; background: CERN photo, Geneva