ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ต้นตอของอคติ

ต้นตอของอคติ

ต้นตอ​ของ​อคติ

อคติ​อาจ​มี​สาเหตุ​หลาย​อย่าง. กระนั้น ปัจจัย​สอง​อย่าง​ที่​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​แล้ว​คือ (1) ความ​พยายาม​จะ​หา​แพะ​รับ​บาป และ (2) ความ​ไม่​พอ​ใจ​เนื่อง​จาก​ประสบการณ์​ใน​อดีต​ที่​เคย​ได้​รับ​ความ​อยุติธรรม.

ดัง​ที่​กล่าว​ใน​บทความ​ก่อน เมื่อ​เกิด​ภัย​พิบัติ ผู้​คน​มัก​มอง​หา​ว่า​จะ​โยน​ความ​ผิด​ให้​ใคร. เมื่อ​บุคคล​ที่​มี​ตำแหน่ง​สำคัญ​กล่าวหา​ชน​กลุ่ม​น้อย​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก ข้อ​กล่าวหา​นั้น​ก็​กลาย​เป็น​ที่​ยอม​รับ​และ​ทำ​ให้​เกิด​อคติ. ตัว​อย่าง​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ คือ ระหว่าง​ช่วง​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ใน​ประเทศ​แถบ​ตะวัน​ตก มัก​มี​การ​กล่าว​โทษ​คน​งาน​ต่าง​ด้าว​ว่า​ทำ​ให้​เกิด​การ​ว่าง​งาน แม้​ว่า​ตาม​ปกติ​แล้ว​พวก​เขา​จะ​ทำ​งาน​ที่​คน​ท้องถิ่น​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ยอม​ทำ.

แต่​ใช่​ว่า​อคติ​ทุก​อย่าง​จะ​เกิด​จาก​การ​หา​แพะ​รับ​บาป. อคติ​อาจ​มี​รากฐาน​มา​จาก​ประวัติศาสตร์. รายงาน​ชื่อ​ยูเนสโก​ต้าน​การ​เหยียด​เชื้อชาติ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ไม่​ใช่​การ​พูด​เกิน​จริง​ที่​จะ​บอก​ว่า การ​ค้า​ทาส​ทำ​ให้​เกิด​โครง​สร้าง​ของ​แนว​คิด​เรื่อง​การ​เหยียด​เชื้อชาติ​และ​ความ​เกลียด​ชัง​ทาง​วัฒนธรรม​ต่อ​คน​ผิว​ดำ.” พวก​ค้า​ทาส​พยายาม​หา​เหตุ​ผล​ว่า​การ​ที่​ตน​ค้า​ทาส​ซึ่ง​เป็น​การ​กระทำ​ที่​น่า​รังเกียจ​เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​แล้ว​โดย​อ้าง​ว่า​คน​แอฟริกา​ต่ำต้อย​กว่า. อคติ​ที่​ไม่​มี​เหตุ​ผล​นี้ ซึ่ง​ภาย​หลัง​ได้​แผ่​ขยาย​ไป​ถึง​ผู้​คน​ใน​ประเทศ​ที่​เป็น​อาณานิคม​อื่น ๆ ด้วย ก็​ยัง​มี​อยู่​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้.

ตลอด​ทั่ว​โลก ประวัติ​แห่ง​การ​กดขี่​และ​ความ​อยุติธรรม​คล้าย ๆ กัน​นี้​ทำ​ให้​อคติ​ยัง​คง​มี​อยู่​เสมอ​มา. การ​เป็น​ศัตรู​กัน​ระหว่าง​ชาว​คาทอลิก​กับ​ชาว​โปรเตสแตนต์​ใน​ไอร์แลนด์​มี​มา​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 16 เมื่อ​ผู้​ปกครอง​ชาว​อังกฤษ​ข่มเหง​และ​เนรเทศ​ชาว​คาทอลิก. ความ​โหด​เหี้ยม​ทารุณ​ซึ่ง​ทำ​โดย​พวก​ที่​เรียก​กัน​ว่า​คริสเตียน​ระหว่าง​ช่วง​สงคราม​ครูเสด​ยัง​คง​ปลุก​เร้า​ความ​รู้สึก​ชิง​ชัง​ท่ามกลาง​ชาว​มุสลิม​ที่​อยู่​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง. ความ​เป็น​ศัตรู​กัน​ระหว่าง​ชาว​เซิร์บ​กับ​ชาว​โครแอต​ใน​คาบสมุทร​บอลข่าน​รุนแรง​ยิ่ง​ขึ้น​เนื่อง​จาก​การ​สังหาร​หมู่​พลเรือน​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง. ดัง​ที่​ตัว​อย่าง​เหล่า​นี้​แสดง​ให้​เห็น ประวัติ​ความ​เป็น​ศัตรู​กัน​ระหว่าง​ชน​สอง​กลุ่ม​อาจ​ทำ​ให้​มี​อคติ​มาก​ขึ้น.

การ​เพาะ​บ่ม​ความ​ไม่​รู้

เด็ก​เล็ก ๆ ไม่​มี​อคติ​ภาย​ใน​หัวใจ. ตรง​กัน​ข้าม นัก​วิจัย​สังเกต​ว่า​เด็ก​มัก​จะ​เต็ม​ใจ​เล่น​กับ​เด็ก​ต่าง​เชื้อชาติ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​อายุ 10 หรือ 11 ปี เด็ก​อาจ​ไม่​ยอม​รับ​คน​เผ่า​อื่น, เชื้อชาติ​อื่น, หรือ​ศาสนา​อื่น. ใน​ช่วง​ที่​เด็ก​กำลัง​เติบโต เขา​ได้​รับ​แนว​ความ​คิด​หลาย​อย่าง​ที่​อาจ​ติด​ตัว​เขา​ไป​ตลอด​ชีวิต.

เขา​ได้​รับ​แนว​คิด​เหล่า​นี้​โดย​วิธี​ใด? เด็ก​ได้​รับ​เจตคติ​ใน​แง่​ลบ ทั้ง​ทาง​คำ​พูด​และ​ที่​ไม่​ได้​แสดง​ออก​มา​เป็น​คำ​พูด ที​แรก​จาก​พ่อ​แม่​ของ​เขา​แล้ว​ก็​จาก​เพื่อน​หรือ​ครู. ต่อ​มา เขา​อาจ​ได้​รับ​อิทธิพล​มาก​ขึ้น​จาก​เพื่อน​บ้าน, หนังสือ​พิมพ์, วิทยุ, หรือ​โทรทัศน์. แม้​ว่า​เขา​คง​จะ​รู้​น้อย​มาก​หรือ​ไม่​รู้​อะไร​เลย​เกี่ยว​กับ​กลุ่ม​คน​ที่​เขา​ไม่​ชอบ แต่​พอ​เขา​เป็น​ผู้​ใหญ่ เขา​ก็​คิด​ว่า​คน​พวก​นั้น​ต่ำต้อย​กว่า​และ​ไม่​น่า​ไว้​ใจ. เขา​อาจ​ถึง​กับ​จง​เกลียด​จง​ชัง​พวก​นั้น​ด้วย​ซ้ำ.

เมื่อ​มี​การ​เดิน​ทาง​และ​การ​ค้า​ขาย​กัน​มาก​ขึ้น การ​ติด​ต่อ​ระหว่าง​วัฒนธรรม​และ​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​ที่​ต่าง​กัน​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​หลาย​ประเทศ. กระนั้น​ก็​ตาม คน​ที่​มี​อคติ​อย่าง​รุนแรง​มัก​จะ​ยึด​ติด​กับ​ความ​คิด​เดิม ๆ. เขา​อาจ​ยืนกราน​ที่​จะ​เหมา​ว่า​คน​เป็น​พัน ๆ หรือ​กระทั่ง​เป็น​ล้าน ๆ มี​ลักษณะ​ที่​ไม่​ดี​บาง​อย่าง​เหมือน​กัน​หมด. เมื่อ​มี​ประสบการณ์​ที่​ไม่​ดี​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง แม้​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​เพียง​คน​เดียว​ใน​กลุ่ม​นั้น ก็​ทำ​ให้​เขา​มี​อคติ​เพิ่ม​มาก​ขึ้น. ส่วน​ประสบการณ์​ที่​ดี​กลับ​ถูก​มอง​ข้าม​โดย​ถือ​ว่า​เป็น​ข้อ​ยก​เว้น.

การ​หลุด​พ้น

แม้​ว่า​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ตำหนิ​เรื่อง​การ​มี​อคติ​โดย​หลักการ แต่​มี​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​หลุด​พ้น​จาก​อิทธิพล​ของ​มัน​ได้. ที่​จริง หลาย​คน​ที่​มี​อคติ​อย่าง​มาก​กลับ​ยืน​ยัน​ว่า​พวก​เขา​ไม่​มี​อคติ. ส่วน​บาง​คน​ก็​กล่าว​ว่า​นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​สำคัญ โดย​เฉพาะ​เมื่อ​คน​ที่​มี​อคติ​ไม่​ได้​แสดง​ออก​มา. กระนั้น การ​มี​อคติ​เป็น เรื่อง​สำคัญ เพราะ​สิ่ง​นี้​ทำ​ร้าย​และ​ทำ​ให้​ผู้​คน​แตก​แยก​กัน. ถ้า​อคติ​เกิด​จาก​ความ​ไม่​รู้ ความ​เกลียด​ชัง​ก็​มัก​เป็น​ผล​มา​จาก​อคติ. นัก​เขียน​ชาลส์ เคเลบ โคลตัน (1780?-1832) ชี้​ว่า “เรา​เกลียด​บาง​คน​เพราะ​เรา​ไม่​รู้​จัก​พวก​เขา; และ​เรา​จะ​ไม่​พยายาม​รู้​จัก​เขา​เพราะ​เรา​เกลียด​พวก​เขา.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​อคติ​เป็น​สิ่ง​ที่​เรียน​รู้​ได้ ก็​ย่อม​ถูก​ขจัด​ออก​ไป​จาก​ความ​คิด​ได้​เช่น​กัน. โดย​วิธี​ใด?

[กรอบ​หน้า 7]

ศาสนา—พลัง​ที่​ทำ​ให้​มี​การ​ยอม​รับ​กัน​หรือ​มี​อคติ?

ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​ลักษณะ​เด่น​ของ​อคติ กอร์ดอน ดับเบิลยู. ออลล์พอร์ต กล่าว​ว่า “โดย​ทั่ว​ไป สมาชิก​ของ​คริสตจักร​ดู​เหมือน​มี​อคติ​มาก​กว่า คน​ที่​ไม่​ได้​เป็น​สมาชิก.” เรื่อง​นี้​ไม่​แปลก เพราะ​ศาสนา​มัก​เป็น​ต้น​เหตุ ของ​การ​มี​อคติ​แทน​ที่​จะ​เป็น​วิธี​แก้. ตัว​อย่าง​เช่น นัก​เทศน์​นัก​บวช​ได้​ปลุก​เร้า​ให้​เกลียด​ชัง​ชาว​ยิว​มา​หลาย​ศตวรรษ​แล้ว. ตาม​หนังสือ​ประวัติศาสตร์​ศาสนา​คริสต์ (ภาษา​อังกฤษ) ฮิตเลอร์​เคย​พูด​ไว้​ว่า “เกี่ยว​กับ​พวก​ยิว ข้าพเจ้า​เพียง​แต่​ดำเนิน​ตาม​นโยบาย​เดียว​กับ​ที่​คริสตจักร​คาทอลิก​ใช้​มา 1,500 ปี​แล้ว.”

ระหว่าง​การ​นอง​เลือด​ใน​คาบสมุทร​บอลข่าน คำ​สอน​ของ​คริสตจักร​ออร์โทด็อกซ์​และ​คริสตจักร​คาทอลิก​ดู​เหมือน​ไม่​สามารถ​ทำ​ให้​มี​การ​ยอม​รับ​นับถือ​เพื่อน​บ้าน​ที่​ถือ​ศาสนา​อื่น.

ใน​รวันดา​ก็​เช่น​กัน สมาชิก​คริสตจักร​ฆ่า​คน​ที่​นับถือ​ศาสนา​เดียว​กัน. หนังสือ​พิมพ์​แนชันแนล คาทอลิก รีพอร์ตเตอร์ ชี้​ว่า การ​ต่อ​สู้​ที่​นั่น​เกี่ยว​ข้อง​กับ “การ​ฆ่า​ล้าง​ชาติ​พันธุ์​อย่าง​แท้​จริง ซึ่ง​น่า​เศร้า​ที่​แม้​แต่​ชาว​คาทอลิก​ก็​มี​ส่วน​ร่วม​ด้วย.”

คริสตจักร​คาทอลิก​เอง​ก็​ยอม​รับ​ประวัติ​ของ​คริสตจักร​ใน​เรื่อง​การ​ไม่​ยอม​รับ​ศาสนา​อื่น. ใน​ปี 2000 โปป​จอห์น​ปอล​ที่ 2 ได้​ขอ​อภัย​สำหรับ “การ​กระทำ​ที่​ออก​นอก​ลู่​นอก​ทาง​ใน​อดีต” ใน​พิธี​มิสซา​ที่​กรุง​โรม. ระหว่าง​พิธี​นั้น มี​การ​กล่าว​อย่าง​เจาะจง​ถึง​เรื่อง “การ​ไม่​ยอม​รับ​ศาสนา​อื่น​และ​ความ​ไม่​ยุติธรรม​ที่​มี​ต่อ​ชาว​ยิว, ผู้​หญิง, ชน​พื้นเมือง, ผู้​ที่​อพยพ​เข้า​เมือง, คน​ยาก​จน​และ​เด็ก​ที่​ยัง​ไม่​เกิด.”

[ภาพ​หน้า 6]

บน: ค่าย​อพยพ บอสเนีย​และ​เฮอร์เซโกวีนา วัน​ที่ 20 ตุลาคม 1995

ผู้​อพยพ​ชาว​เซิร์บ​แห่ง​บอสเนีย​สอง​คน​กำลัง​คอย​ให้​สงคราม​กลาง​เมือง​ยุติ​ลง

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photo by Scott Peterson/Liaison

[ภาพ​หน้า 7]

ถูก​สอน​ให้​เกลียด​ชัง

เด็ก​อาจ​ได้​รับ​เจตคติ​ที่​ไม่​ดี​จาก​พ่อ​แม่, โทรทัศน์, และ​ที่​อื่น ๆ