ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การต่อต้านพระนามของพระเจ้า

การต่อต้านพระนามของพระเจ้า

การ​ต่อ​ต้าน​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า

ฮะนันยา เบน เทราเดียน​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​ยิว​ที่​อยู่​ใน​สมัย​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช และ​เป็น​ผู้​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า ได้​จัด​การ​ประชุม​สาธารณะ​ขึ้น​เพื่อ​สอน​ประชาชน​จาก​เซเฟอ โทราห์ ซึ่ง​เป็น​ม้วน​หนังสือ​ที่​ประกอบ​ด้วย​พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. นอก​จาก​นี้ เป็น​ที่​รู้​กัน​ด้วย​ว่า เบน เทราเดียน ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​และ​สอน​คน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​พระ​นาม​นี้. เนื่อง​จาก​พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​มาก​กว่า 1,800 ครั้ง เขา​จะ​สอน​จาก​โทราห์​โดย​ไม่​สอน​เรื่อง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ได้​อย่าง​ไร?

อย่าง​ไร​ก็​ตาม สมัย​ของ​เบน เทราเดียน ถือ​เป็น​ช่วง​เวลา​อันตราย​สำหรับ​พวก​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​ยิว. ตาม​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ยิว​กล่าว​ไว้ จักรพรรดิ​โรมัน​กำหนด​บท​ลง​โทษ​ถึง​ขั้น​ประหาร​ชีวิต​สำหรับ​ผู้​ที่​ฝ่าฝืน​กฎหมาย​เรื่อง​ห้าม​การ​สอน​หรือ​การ​ปฏิบัติ​ศาสนา​ยิว. ใน​ที่​สุด พวก​โรมัน​ได้​จับ​กุม​เบน เทราเดียน. ตอน​ที่​ถูก​จับ เขา​กำลัง​ถือ​สำเนา​เซเฟอ โทราห์​ม้วน​หนึ่ง. เมื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​ผู้​กล่าวหา เขา​ยอม​รับ​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ว่า เขา​เพียง​แต่​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​การ​สอน​คัมภีร์​ไบเบิล​เท่า​นั้น. แต่​กระนั้น เขา​ก็​ได้​รับ​โทษ​ประหาร​ชีวิต.

วัน​ที่​เขา​ถูก​ประหาร เบน เทราเดียน​ถูก​พัน​ตัว​ด้วย​คัมภีร์​ไบเบิล​ม้วน​ที่​เขา​ถือ​อยู่​ตอน​ที่​ถูก​จับ​กุม. แล้ว​เขา​ก็​ถูก​เผา​บน​หลัก. สารานุกรม​จูไดกา กล่าว​ว่า “เพื่อ​ให้​เขา​ทุกข์​ทรมาน​นาน​ขึ้น มี​การ​นำ​ขน​แกะ​ชุบ​น้ำ​มา​พาด​ไว้​ที่​บริเวณ​หัวใจ​ของ​เขา​เพื่อ​ให้​ตาย​อย่าง​ช้า ๆ.” ส่วน​หนึ่ง​ใน​บท​ลง​โทษ​คือ ภรรยา​ของ​เขา​ถูก​ประหาร​ชีวิต​ด้วย​และ​ลูก​สาว​ของ​เขา​ถูก​ขาย​ให้​ซ่อง​โสเภณี.

แม้​ว่า​ชาว​โรมัน​ต้อง​รับผิดชอบ​ใน​เรื่อง​การ​ประหาร​ชีวิต​เบน เทราเดียน​อย่าง​เหี้ยม​โหด แต่​คัมภีร์​ทัลมุด * กล่าว​ว่า “การ​ที่​เขา​ถูก​ลง​โทษ​โดย​การ​เผา​นั้น​เป็น​เพราะ​เขา​ออก​พระ​นาม​เต็ม ๆ ของ​พระเจ้า.” ใช่​แล้ว สำหรับ​ชาว​ยิว การ​ออก​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เป็น​ความ​ผิด​ร้ายแรง​ที​เดียว.

พระ​บัญญัติ​ข้อ​ที่​สาม

ดู​เหมือน​ว่า​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง​และ​สอง​สากล​ศักราช​เริ่ม​มี​การ​เชื่อ​โชค​ลาง​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ท่ามกลาง​ชาว​ยิว. มิชนาห์ (ชุด​คำ​อธิบาย​ของ​พวก​รับบี​ซึ่ง​กลาย​เป็น​รากฐาน​ของ​คัมภีร์​ทัลมุด) กล่าว​ว่า “ใคร​ก็​ตาม​ที่​ออก​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ตาม​การ​สะกด​คำ” จะ​ไม่​มี​ส่วน​ใน​อุทยาน​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​จะ​มี​มา​ใน​อนาคต​ตาม​ที่​พระเจ้า​ได้​ทรง​สัญญา​ไว้.

ข้อ​ห้าม​เช่น​นั้น​มี​ต้นตอ​มา​จาก​อะไร? บาง​คน​อ้าง​ว่า ชาว​ยิว​คิด​ว่า พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ศักดิ์สิทธิ์​เกิน​กว่า​ที่​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​จะ​เอ่ย​ถึง​ได้. ใน​ที่​สุด​ก็​เกิด​ความ​ลังเล​แม้​แต่​จะ​เขียน​พระ​นาม​นั้น. ตาม​ที่​แหล่ง​อ้างอิง​หนึ่ง​ได้​กล่าว​ไว้ ความ​กลัว​นั้น​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​เป็น​ห่วง​ว่า เอกสาร​ที่​มี​พระ​นาม​นั้น​เขียน​ไว้​อาจ​ถูก​ทิ้ง​ลง​ถัง​ขยะ​ใน​ภาย​หลัง ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​ความ​เสื่อม​เสีย​แก่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า.

สารานุกรม​จูไดกา กล่าว​ว่า “การ​เลี่ยง​ที่​จะ​เอ่ย​พระ​นาม ยฮวฮ . . . มี​สาเหตุ​มา​จาก​ความ​เข้าใจ​ผิด​ใน​พระ​บัญญัติ​ข้อ​ที่​สาม.” บัญญัติ​ข้อ​ที่​สาม​ใน​พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​ชาว​อิสราเอล​กล่าว​ว่า “อย่า​ออก​พระ​นาม​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​เปล่า ๆ; ด้วย​ผู้​ที่​ออก​พระ​นาม​พระองค์​เล่น​เปล่า ๆ นั้น, พระ​ยะโฮวา​จะ​ถือ​ว่า​ไม่​มี​โทษ​หา​มิ​ได้.” (เอ็กโซโด 20:​7) ดัง​นั้น พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ไว้​เพื่อ​ป้องกัน​การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระองค์​อย่าง​ไม่​เหมาะ​สม​จึง​ถูก​บิดเบือน​ไป​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​เชื่อ​โชค​ลาง.

แน่นอน ทุก​วัน​นี้​ไม่​มี​ใคร​อ้าง​ว่า​พระเจ้า​ประสงค์​ให้​ใคร​สัก​คน​ถูก​เผา​บน​หลัก​เพราะ​เอ่ย​พระ​นาม​ของ​พระองค์! กระนั้น การ​เชื่อ​โชค​ลาง​แบบ​ชาว​ยิว​เกี่ยว​กับ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ยัง​คง​มี​อยู่​ต่อ​ไป. หลาย​คน​ยัง​คง​อ้าง​ว่า​เททรากรัมมาทอน​เป็น “พระ​นาม​ที่​ไม่​สามารถ​พรรณนา​ออก​มา​เป็น​ถ้อย​คำ​ได้” และ​เป็น “พระ​นาม​ที่​ไม่​สามารถ​จะ​กล่าว​ออก​มา​ได้.” คน​บาง​กลุ่ม​กล่าว​ถึง​พระเจ้า​โดย​ตั้งใจ​ออก​เสียง​แบบ​ผิด ๆ เพื่อ​เลี่ยง​การ​ละเมิด​ธรรมเนียม​ที่​สืบ​ทอด​กัน​มา. ตัว​อย่าง​เช่น มี​การ​ออก​เสียง​คำ ยาห์ ซึ่ง​เป็น​คำ​ย่อ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ว่า คาห์. มี​การ​ออก​เสียง​คำ​ฮัลเลลูยาห์​ว่า ฮัลเลลูคาห์. บาง​คน​ถึง​กับ​ไม่​ยอม​เขียน​คำ “พระเจ้า” เต็ม​คำ.

ความ​พยายาม​อื่น ๆ ที่​จะ​ปก​ปิด​พระ​นาม​นั้น

ศาสนา​ยิว​ไม่​ใช่​ศาสนา​เดียว​ที่​หลีก​เลี่ยง​การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า. ขอ​พิจารณา​กรณี​ของ​เจโรม​ซึ่ง​เป็น​บาทหลวง​คาทอลิก​และ​เป็น​เลขานุการ​ของ​โปป​ดามาซุส​ที่​หนึ่ง. เจโรม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​เป็น​ภาษา​ลาติน​เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​ปี ส.ศ. 405 ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต. เจโรม​ไม่​ได้​ใส่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​ฉบับ​แปล​ของ​เขา. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น เขา​ทำ​อย่าง​ที่​คน​ใน​สมัย​นั้น​ทำ​กัน คือ​ใส่​คำ “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” และ “พระเจ้า” แทน​พระ​นาม​ของ​พระองค์. ฉบับ​ลาติน​วัลเกต กลาย​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​คาทอลิก​ที่​ได้​รับ​การ​อนุมัติ​เป็น​ฉบับ​แรก​และ​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​ฉบับ​แปล​อื่น ๆ อีก​หลาย​ภาษา.

ตัว​อย่าง​เช่น ฉบับ​แปล​ดูเอย์ ซึ่ง​เป็น​ฉบับ​แปล​ของ​คาทอลิก​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 1610 โดย​อาศัย​ฉบับ​แปล​ลาติน​วัลเกต เป็น​พื้น​ฐาน​ใน​การ​แปล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ. ฉะนั้น จึง​ไม่​ใช่​เรื่อง​แปลก​ที่​ฉบับ​แปล​นี้​ไม่​มี​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เลย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ฉบับ​แปล​ดูเอย์ ไม่​ใช่​ฉบับ​แปล​ที่​ไม่​สำคัญ. ฉบับ​แปล​นี้​กลาย​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​เดียว​ที่​ชาว​คาทอลิก​ซึ่ง​พูด​ภาษา​อังกฤษ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ใช้​จน​ถึง​ทศวรรษ 1940. ถูก​แล้ว เป็น​เวลา​หลาย​ร้อย​ปี​ที่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ถูก​ปิด​ซ่อน​ไว้​จาก​ชาว​คาทอลิก​ที่​เคร่ง​ศาสนา​นับ​ล้าน​คน.

ขอ​พิจารณา​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์ ด้วย. ใน​ปี 1604 กษัตริย์​เจมส์​ที่ 1 แห่ง​อังกฤษ​ได้​มอบหมาย​ให้​ผู้​คง​แก่​เรียน​กลุ่ม​หนึ่ง​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ภาษา​อังกฤษ. ประมาณ​เจ็ด​ปี​ต่อ​มา พวก​เขา​ออก​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์ ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ว่า​ฉบับ​แปล​ทาง​การ.

ฉบับ​แปล​นี้​ก็​เช่น​เดียว​กัน ผู้​แปล​เลือก​ที่​จะ​เลี่ยง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า โดย​ใช้​เพียง​ไม่​กี่​ข้อ​เท่า​นั้น. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มี​การ​เขียน​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​โดย​ใช้​คำ “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” หรือ “พระเจ้า” แทน​เททรากรัมมาทอน. ฉบับ​แปล​นี้​กลาย​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​มาตรฐาน​สำหรับ​ผู้​คน​นับ​ล้าน. สารานุกรม​เวิลด์ บุ๊ก กล่าว​ว่า “ตลอด​ระยะ​เวลา​กว่า 200 ปี​หลัง​จาก​มี​การ​พิมพ์​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์​ไม่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ภาษา​อังกฤษ​ที่​สำคัญ​เช่น​นี้​พิมพ์​ออก​มา​อีก​เลย. ใน​ช่วง​เวลา​นั้น ฉบับ​แปล​คิงเจมส์ เป็น​ฉบับ​ที่​ใช้​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​ที่​สุด​ใน​ประเทศ​ที่​ใช้​ภาษา​อังกฤษ.”

ที่​กล่าว​มา​ข้าง​ต้น​เป็น​เพียง​สาม​ฉบับ​จาก​ฉบับ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​ฉบับ​ซึ่ง​พิมพ์​ออก​ใน​ช่วง​หลาย​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​ไป​ซึ่ง​ละเลย​หรือ​ลด​ความ​สำคัญ​ของ​พระ​นาม​พระเจ้า. จึง​ไม่​แปลก​ที่​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ใน​ทุก​วัน​นี้​ซึ่ง​อ้าง​ตน​เป็น​คริสเตียน​รู้สึก​ลังเล​ที่​จะ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​หรือ​ไม่​รู้​จัก​พระ​นาม​นั้น​เลย. จริง​อยู่ เป็น​เวลา​หลาย​ปี​มา​แล้ว​ที่​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​ใส่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ลง​ใน​ฉบับ​แปล​ของ​เขา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ฉบับ​แปล​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​เพิ่ง​พิมพ์​ออก​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​และ​มี​ผล​กระทบ​น้อย​มาก​ต่อ​ทัศนะ​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​มี​ต่อ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า.

การ​กระทำ​ที่​ขัด​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า

การ​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ไม่​ได้​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​นั้น​เกิด​จาก​การ​ยึด​ติด​กับ​ธรรมเนียม​ของ​มนุษย์​แทน​ที่​จะ​ติด​ตาม​คำ​สอน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล. นัก​วิจัย​ชาว​ยิว​ชื่อ​เทรซี อาร์. ริช ซึ่ง​เป็น​ผู้​เขียน​เว็บไซต์​จูดาอิซึม 101 อธิบาย​ว่า “ไม่​มี​ที่​ไหน​ใน​โทราห์​ห้าม​คน​เรา​ไม่​ให้​เอ่ย​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า. ที่​จริง มี​หลักฐาน​ที่​เห็น​ได้​ชัด​จาก​พระ​คัมภีร์​ว่า​มี​การ​กล่าว​ถึง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประจำ.” ถูก​แล้ว ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล ผู้​นมัสการ​พระเจ้า​ต่าง​ก็​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระองค์.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า การ​รู้​จัก​และ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ทำ​ให้​เรา​สามารถ​นมัสการ​ใน​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​ยอม​รับ​มาก​ยิ่ง​ขึ้น ซึ่ง​เป็น​แนว​ทาง​ที่​มี​การ​นมัสการ​พระองค์​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล. นั่น​อาจ​เป็น​ขั้น​ตอน​แรก​ใน​การ​สร้าง​สัมพันธภาพ​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระองค์ ซึ่ง​ดี​กว่า​การ​รู้​เพียง​แค่​ว่า​พระ​นาม​ของ​พระองค์​คือ​อะไร. ที่​จริง​แล้ว พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​เชิญ​เรา​ให้​มี​สัมพันธภาพ​เช่น​นั้น​กับ​พระองค์. พระองค์​ทรง​ดล​ใจ​ให้​เขียน​คำ​เชิญ​อัน​อบอุ่น​ที่​ว่า “จง​เข้า​ใกล้​พระเจ้า แล้ว​พระองค์​จะ​ทรง​เข้า​ใกล้​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ดี คุณ​อาจ​ถาม​ว่า ‘มนุษย์​ที่​ต้อง​ตาย​จะ​สามารถ​ชื่นชม​ยินดี​กับ​สัมพันธภาพ​อัน​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​องค์​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ​ได้​อย่าง​ไร?’ บทความ​ถัด​ไป​จะ​อธิบาย​วิธี​ที่​คุณ​สามารถ​พัฒนา​สัมพันธภาพ​กับ​พระ​ยะโฮวา​ได้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 คัมภีร์​ทัลมุด​เป็น​การ​รวบ​รวม​คำ​สอน​สืบ​ปาก​สมัย​โบราณ​ของ​ชาว​ยิว​ซึ่ง​ถือ​ว่า​เป็น​สิ่ง​ศักดิ์สิทธิ์​และ​เป็น​งาน​เขียน​ที่​มี​อิทธิพล​มาก​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ศาสนา​ยิว.

[กรอบ​หน้า 22]

ฮัลเลลูยาห์

คุณ​นึก​ถึง​อะไร​เมื่อ​ได้​ยิน​คำ​ว่า “ฮัลเลลูยาห์”? บาง​ที​คุณ​อาจ​นึก​ถึง​เพลง “มาซีฮา” ที่​เป็น​ผล​งาน​ชิ้น​เอก​ของ​แฮนเดิล​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 18 ซึ่ง​มี​การ​ร้อง​ประสาน​เสียง​ฮัลเลลูยาห์​ใน​แบบ​ที่​น่า​ประทับใจ​มาก. แน่นอน คุณ​คง​เคย​ได้​ยิน​คำ​ว่า “ฮัลเลลูยาห์” จาก​ที่​ใด​ที่​หนึ่ง. บาง​ที​คุณ​อาจ​เคย​ใช้​คำ​นี้​บ้าง​เป็น​ครั้ง​คราว. แต่​คุณ​รู้​ไหม​ว่า​คำ​ฮัลเลลูยาห์​นี้​หมาย​ความ​ว่า​อะไร?

ฮัลเลลูยาห์ เป็น​คำ​ภาษา​อังกฤษ​ที่​แปล​ทับ​ศัพท์​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู ฮาเลลู-ยาห์ ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “จง​สรรเสริญ​ยาห์” หรือ “เจ้า​ทั้ง​หลาย​จง​สรรเสริญ​ยาห์.”

ยาห์ เป็น​รูป​ย่อ​ของ​พระ​นาม​พระเจ้า พระ​ยะโฮวา ซึ่ง​ใช้​ใน​บท​กวี. คำ​นี้​ปรากฏ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​กว่า 50 ครั้ง ซึ่ง​มัก​เป็น​ส่วน​ของ​คำ “ฮัลเลลูยาห์.”

[กรอบ​หน้า 23]

พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​ชื่อ​ของ​บุคคล​ต่าง ๆ

แท้​จริง​แล้ว ชื่อ​ภาษา​ฮีบรู​ของ​บุคคล​มาก​มาย​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​รวม​อยู่​ด้วย. ต่อ​ไป​นี้​คือ​ตัว​อย่าง​ของ​ชื่อ​เหล่า​นั้น​รวม​ทั้ง​ความ​หมาย​ของ​แต่​ละ​ชื่อ.

โยอันนา—“พระ​ยะโฮวา​ทรง​พระ​เมตตา”

โยเอล—“พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า”

โยฮัน—“พระ​ยะโฮวา​ทรง​สำแดง​ความ​โปรดปราน”

โยนาธาน—“พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​ให้”

โยเซฟ—“ขอ​ยาห์​ทรง​เพิ่ม​เติม” *

ยะโฮซูอะ—“พระ​ยะโฮวา​เป็น​ความ​รอด”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 34 “ยาห์” เป็น​รูป​ย่อ​ของ​คำ “ยะโฮวา.”

[กรอบ​หน้า 24]

คำ​ต่าง ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ใช้​กับ​พระเจ้า

ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ใช้​หลาย​คำ​แทน​คำ​ว่า​พระเจ้า เช่น​คำ​ว่า ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ, พระ​ผู้​สร้าง, พระ​บิดา, และ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า. กระนั้น กรณี​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง​พระเจ้า​ด้วย​พระ​นาม​ของ​พระองค์​ก็​มี​จำนวน​มาก​กว่า​คำ​เหล่า​นั้น​ทั้ง​หมด​รวม​กัน. เห็น​ได้​ชัด​ว่า พระเจ้า​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระองค์. ขอ​พิจารณา​คำ​ต่าง ๆ ดัง​ต่อ​ไป​นี้​ที่​ปรากฏ​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู. *

พระ​ยะโฮวา—6,973 ครั้ง

พระเจ้า—2,605 ครั้ง

ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ​ทุก​ประการ—48 ครั้ง

องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า—40 ครั้ง

ผู้​สร้าง—25 ครั้ง

พระ​ผู้​สร้าง—7 ครั้ง

พระ​บิดา—7 ครั้ง

ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​แต่​เบื้อง​บรรพ์—3 ครั้ง

พระ​บรม​ครู—2 ครั้ง

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 40 จำนวน​ครั้ง​โดย​ประมาณ​ตาม​ที่​ปรากฏ​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[กรอบ​หน้า 25]

พระเจ้า​ผู้​ทรง​บันดาล​ให้​สิ่ง​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้น

บรรดา​ผู้​คง​แก่​เรียน​ต่าง​ไม่​ได้​เห็น​พ้อง​กัน​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​เรื่อง​ความ​หมาย​ของ​พระ​นาม​พระเจ้า ยะโฮวา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​ได้​ค้นคว้า​เรื่อง​นั้น​อย่าง​ถี่ถ้วน​แล้ว หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​พระ​นาม​นั้น​เป็น​รูป​หนึ่ง​ของ​คำ​กริยา​ภาษา​ฮีบรู ฮาวาห์ (กลาย​เป็น) ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ว่า “พระองค์​ทรง​บันดาล​ให้​เป็น.”

ด้วย​เหตุ​นี้ บันทึก​ใน​เอ็กโซโด 3:14 ที่​โมเซ​ถาม​พระเจ้า​เรื่อง​พระ​นาม​ของ​พระองค์​จึง​ได้​รับ​การ​แปล​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่  * ดัง​ต่อ​ไป​นี้: “ตอน​นี้ พระเจ้า​ตรัส​แก่​โมเซ​ว่า ‘เรา​จะ​เป็น​อย่าง​ที่​เรา​ประสงค์​จะ​เป็น.’ และ​พระองค์​ตรัส​อีก​ว่า ‘เจ้า​ต้อง​กล่าว​แก่​พวก​อิสราเอล​ดัง​นี้ “เรา​จะ​เป็น​ได้​ใช้​ข้าพเจ้า​ให้​มา​หา​ท่าน.”’”

การ​แปล​เช่น​นั้น​เหมาะ​สม​เนื่อง​จาก​พระเจ้า​สามารถ​บันดาล​ให้​พระองค์​เป็น​อะไร​ก็​ได้​ที่​พระองค์​ประสงค์​จะ​เป็น. ไม่​มี​สิ่ง​ใด​สามารถ​ยับยั้ง​พระองค์​ไว้​จาก​การ​สวม​บทบาท​ใด​ก็​ตาม​ที่​จำเป็น​เพื่อ​ทำ​ให้​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์​สำเร็จ. พระ​ประสงค์​และ​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์​เป็น​จริง​เสมอ. ที่​สำคัญ​คือ พระเจ้า​เป็น​พระ​ผู้​สร้าง ผู้​ทรง​มี​พระ​ปรีชา​สามารถ​อย่าง​ไม่​จำกัด​ใน​การ​บันดาล​ให้​สิ่ง​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้น. พระองค์​ทรง​บันดาล​ให้​เอกภพ​อุบัติ​ขึ้น. นอก​จาก​นี้ พระองค์​ยัง​ทรง​สร้าง​กาย​วิญญาณ​จำนวน​มหาศาล. แท้​จริง​แล้ว พระองค์​เป็น​พระเจ้า​ผู้​ทรง​บันดาล​ให้​สิ่ง​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้น!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 55 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 21]

ภาพ​สลัก​นูน​ที่​แสดง​การ​ประหาร​ชีวิต​ฮะนันยา เบน เทราเดียน

[ภาพ​หน้า 24, 25]

สถาน​ที่​ต่าง ๆ ที่​มี​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ปรากฏ​ให้​เห็น​ชัดเจน

1. โบสถ์​ใน​เมือง​ลอมบอร์ ประเทศ​เดนมาร์ก ศตวรรษ​ที่ 17

2. หน้าต่าง​กระจก​สี​ใน​มหา​วิหาร​ที่​เมือง​เบิร์น ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์

3. ม้วน​หนังสือ​ทะเล​ตาย​ซึ่ง​เขียน​เป็น​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ ประเทศ​อิสราเอล ประมาณ​ปี 30-50 ส.ศ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Shrine of the Book, Israel Museum, Jerusalem

4. เหรียญ​สวีเดน ปี 1600

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Kungl. Myntkabinettet, Sveriges Ekonomiska Museum

5. หนังสือ​บท​สวด​มนต์​ภาษา​เยอรมัน ปี 1770

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Die Lust der Heiligen an Jehova. Oder: Gebaet-Buch, 1770

6. คำ​จารึก​บน​หิน รัฐ​บาวาเรีย ประเทศ​เยอรมนี

7. ศิลา​ของ​ชาว​โมอาบ นคร​ปารีส ประเทศ​ฝรั่งเศส ปี 830 ก่อน ส.ศ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Musée du Louvre, Paris

8. ภาพ​วาด​บน​หลังคา​รูป​โดม​ใน​โบสถ์ เมือง​โอลทัน ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์