ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เซบียา—ประตูสู่ทวีปอเมริกา

เซบียา—ประตูสู่ทวีปอเมริกา

เซบียา—ประตู​สู่​ทวีป​อเมริกา

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​สเปน

ใน​ปี 1493 กอง​เรือ​ซึ่ง​มี​เรือ​อย่าง​น้อย 17 ลำ​ออก​เดิน​ทาง​จาก​เมือง​กาดิซ​ของ​สเปน. คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เริ่ม​การ​เดิน​ทาง​เพื่อ​การ​ค้น​พบ​รอบ​ที่​สอง​พร้อม​กับ​ลูกเรือ, นัก​ผจญ​ภัย, บาทหลวง, และ​ผู้​ก่อ​ตั้ง​อาณานิคม​จำนวน 1,500 คน. การ​เดิน​ทาง​รอบ​นี้​มี​เป้าหมาย​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​เพื่อ​ตั้ง​อาณานิคม​ใน​ทวีป​อเมริกา.

ภาย​หลัง​การ​เดิน​ทาง​ครั้ง​ประวัติศาสตร์​นี้ เมือง​ของ​สเปน​อีก​เมือง​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​แก่​เซบียา กลาย​เป็น​ประตู​สู่​ดินแดน​โลก​ใหม่. ไม่​นาน​นัก กษัตริย์​ก็​ให้​อำนาจ​แก่​เมือง​เซบียา​เพื่อ​ผูก​ขาด​การ​ค้า​ขาย​กับ​อาณานิคม​ต่าง ๆ. เรือใบ​สเปน​ออก​เดิน​ทาง​จาก​เมือง​เซบียา​แล้ว​ก็​กลับ​มา​พร้อม​กับ​เงิน​แท่ง​เต็ม​ลำ​เรือ​จาก​เหมือง​ใน​โบลิเวีย, เม็กซิโก, และ​เปรู. ภาย​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ทศวรรษ เมือง​นี้​กลาย​เป็น​หนึ่ง​ใน​เมือง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​และ​มั่งคั่ง​ที่​สุด​ใน​ยุโรป. สิ่ง​ที่​เตือน​ให้​ระลึก​ถึง​ยุค​ที่​ผ่าน​ไป​นั้น​ยัง​คง​หลง​เหลือ​อยู่​ตาม​ห้อง​ต่าง ๆ ใน​อาคาร​ที่​เก่า​แก่​ของ​เมือง​เซบียา.

เพื่อ​จัด​ระเบียบ​การ​ค้า​กับ​อเมริกา​ซึ่ง​กำลัง​ขยาย​ตัว​อย่าง​รวด​เร็ว กษัตริย์​ฟิลิป​ที่ 2 แห่ง​สเปน​จึง​สร้าง​อาคาร​อัน​ใหญ่​โต​หลัง​หนึ่ง​ริม​แม่น้ำ​กัวดัลกีบีร์​เพื่อ​ให้​เป็น​ตลาด​ซึ่ง​พ่อค้า​ผู้​ร่ำรวย​จะ​ทำ​การ​ค้า​ขาย​ได้. (อาร์ชบิชอป​เคย​ร้อง​เรียน​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​ใช้​มหา​วิหาร​เพื่อ​จุด​ประสงค์​นี้.) สอง​ศตวรรษ​ต่อ​มา อาคาร​หลัง​เดียว​กัน​นี้​ก็​ได้​กลาย​เป็น​อาร์ชีโว เคเนรัล เด อินเดียส หรือ​หอ​สมุด​ทั่ว​ไป​แห่ง​อินดีส และ​ปัจจุบัน​มี​การ​ใช้​อาคาร​นี้​เป็น​ที่​เก็บ​บันทึก​เกือบ​ทั้ง​หมด​เกี่ยว​กับ​การ​ตั้ง​อาณานิคม​ของ​สเปน​ใน​ดินแดน​โลก​ใหม่. *

นัก​ล่า​สมบัติ​ซึ่ง​กำลัง​ค้น​หา​เรือใบ​ที่​จม​อยู่​ใต้​ทะเล​ยัง​คง​มา​ที่​หอ​สมุด​ใน​เซบียา​นี้​เพื่อ​ศึกษา​บันทึก​การ​เดิน​เรือ​ที่​เก่า​แก่. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นัก​ประวัติศาสตร์​อาจ​สนใจ​จะ​ทำ​อย่าง​อื่น​มาก​กว่า เช่น ดู​จดหมาย​ต้น​ฉบับ​บาง​ส่วน​ของ​คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส.

ศร​ลม​กับ​สวน​ส้ม

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมือง​เซบียา​มี​ยุค​ที่​รุ่งเรือง​อีก​ช่วง​หนึ่ง​นาน​ก่อน​สมัย​ที่​มี​การ​ค้น​พบ​ทวีป​อเมริกา และ​อาคาร​ที่​น่า​ทึ่ง​หลาย​หลัง​ใน​เมือง​นี้​ก็​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ตั้ง​แต่​ช่วง​นั้น. พวก​มัวร์​ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​มา​จาก​โมร็อกโก​ครอบครอง​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​ใน​สเปน​เป็น​เวลา​หลาย​ร้อย​ปี. ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 12 ราชวงศ์​อัลโมฮัด​ตั้ง​ให้​เซบียา​เป็น​เมือง​หลวง และ​ใน​ช่วง​นี้​เอง​ที่​มี​การ​สร้าง​มัสยิด​หลัง​หนึ่ง​ซึ่ง​หอ​สูง​ของ​มัน​ยัง​คง​ตั้ง​ตระหง่าน​อยู่​ใน​เมือง​สมัย​ปัจจุบัน.

เมื่อ​พวก​มัวร์​ถูก​ขับ​ไล่​ออก​จาก​เมือง​เซบียา ชาว​เมือง​ก็​รื้อ​ทำลาย​มัสยิด​ของ​เมือง​เพื่อ​สร้าง​มหา​วิหาร​แห่ง​เซบียา ซึ่ง​เป็น​มหา​วิหาร​ที่​ใหญ่​เป็น​อันดับ​สาม​ของ​ยุโรป (ภาพ​ที่ 1). แต่​หอ​สูง​ที่​วิจิตร​บรรจง​นี้​งดงาม​มาก​จน​ชาว​เมือง​ไม่​อยาก​รื้อ​มัน ดัง​นั้น หอ​ดัง​กล่าว​จึง​กลาย​เป็น​หอ​ระฆัง​ของ​มหา​วิหาร​ที่​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ข้าง ๆ. สัดส่วน​ที่​ลง​ตัว, งาน​อิฐ​ที่​ประณีต, และ​หน้าต่าง​ที่​งาม​วิจิตร​ของ​หอ​นี้​ตัด​กับ​มหา​วิหาร​อัน​ใหญ่​โต​ได้​เป็น​อย่าง​ดี.

ราว ๆ 500 ปี​ที่​แล้ว​มี​แผ่นดิน​ไหว​เกิด​ขึ้น​ซึ่ง​ทำ​ให้​ต้อง​ซ่อมแซม​ยอด​หอ​นี้ และ​มี​การ​สร้าง​ศร​ลม​ทองเหลือง​ขึ้น​แทน​ที่​ยอด​โดม​อัน​เดิม. ศร​ลม​ทำ​ให้​หอ​นี้​ได้​ชื่อ​ใน​ภาษา​สเปน​ว่า ลา คีรัลดา (ภาพ​ที่ 2) และ​หอ​นี้​จึง​กลาย​เป็น​ที่​ซึ่ง​คุ้น​ตา​มาก​ที่​สุด​ใน​เมือง​เซบียา. หอ​คีรัลดา​ยัง​เป็น​จุด​ชม​วิว​อัน​สวย​งาม​สำหรับ​ผู้​มา​เยือน​ที่​มี​กำลัง​และ​อยาก​เดิน​ขึ้น​ไป​บน​ยอด​หอ​ซึ่ง​จะ​สามารถ​มอง​เห็น​เมือง​นั้น​ได้​โดย​รอบ.

ณ เบื้อง​ล่าง​ของ​หอ​มหา​วิหาร​นี้ มี​ลาน​แบบ​มัวร์​เล็ก ๆ ซึ่ง​เคย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​มัสยิด​เดิม ชื่อ​ว่า​ปา​ตี​โอ เด ลอส นารังโฮส์. จัตุรัส​แห่ง​นี้​ประดับ​ประดา​ด้วย​ต้น​ส้ม​เป็น​แถว ๆ และ​เป็น​ต้น​แบบ​ของ​ลาน​อันดาลูเชีย​ที่​คล้าย ๆ กัน​อีก​หลาย​แห่ง. * เนื่อง​จาก​ถนน​หน​ทาง​และ​ลาน​หลาย​แห่ง​ใน​เมือง​เซบียา​ก็​มี​ต้น​ส้ม​ขึ้น​อยู่​เป็น​ทิว​แถว​เช่น​กัน กลิ่น​ดอก​ส้ม​จึง​หอม​อบ​อวล​ไป​ทั่ว​เมือง​เมื่อ​ถึง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ. สวน​ต้น​ส้ม—ซึ่ง​พวก​มัวร์​นำ​เข้า​มา​ใน​สเปน​เป็น​ครั้ง​แรก—ยัง​คง​มี​อยู่​รอบ​เมือง และ​ผล​ส้ม​ก็​มี​ค่า​มาก​สำหรับ​การ​ทำ​แยม​ผิว​ส้ม.

แม่น้ำ​กัวดัลกีบีร์​ซึ่ง​ไหล​ผ่าน​กลาง​เมือง​เป็น​เส้น​ทาง​สำคัญ​สำหรับ​พ่อค้า​ใน​เมือง​เซบียา​มา​ตลอด. แม่น้ำ​สาย​นี้​ทำ​ให้​เมือง​นี้​เป็น​เมือง​ท่า​หลัก​ของ​สเปน​สำหรับ​การ​เดิน​เรือ​ไป​ยัง​ดินแดน​โลก​ใหม่ และ​จวบ​จน​ทุก​วัน​นี้​ก็​ยัง​มี​เรือ​มา​จอด​เทียบ​ใน​ท่า​เรือ​แห่ง​นี้. สอง​ฝั่ง​แม่น้ำ​ใกล้​ใจ​กลาง​เมือง​มี​สวน​อยู่​หลาย​แห่ง. นอก​จาก​นั้น ริม​แม่น้ำ​ก็​ยัง​มี​อนุสรณ์​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ระลึก​ถึง​อดีต​สมัย​เมื่อ​พวก​มัวร์​ครอง​เมือง นั่น​คือ​ลา ตอร์เร เดล โอโร หรือ​หอ​ทองคำ.—ภาพ​ที่ 3.

ชื่อ​ของ​หอ​นี้​ได้​มา​จาก​สมัย​ที่​หอ​นี้​ยัง​ปู​ผนัง​ด้าน​นอก​ด้วย​กระเบื้อง​สี​ทอง. แต่​จุด​ประสงค์​หลัก​ของ​หอ​นี้​คือ​เพื่อ​ใช้​ป้องกัน​เมือง​ไม่​ใช่​เพื่อ​ความ​สวย​งาม. เคย​มี​โซ่​ใหญ่​โยง​จาก​หอ​ทองคำ​ไป​ยัง​หอ​ที่​คู่​กัน​ซึ่ง​อยู่​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง​ของ​แม่น้ำ​เพื่อ​ผู้​ป้องกัน​เมือง​จะ​ควบคุม​การ​เดิน​เรือ​ใน​แม่น้ำ​ได้​ทั้ง​หมด. นับ​ว่า​เหมาะ​แล้ว​ที่​เรือ​จาก​ทวีป​อเมริกา​ขน​ทองคำ​และ​เงิน​มา​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​นี่. ทุก​วัน​นี้​มี​แต่​เรือ​ท่อง​เที่ยว​ที่​พา​นัก​ท่อง​เที่ยว​มา​ขึ้น​ฝั่ง​ใกล้ ๆ หอ​ทองคำ​นี้ ไม่​ใช่​เรือใบ​ขน​สมบัติ.

สวน, ลาน, และ​กระเบื้อง

พวก​มัวร์​ได้​สร้าง​วัง​รวม​ทั้ง​มัสยิด​หลาย​แห่ง แล้ว​พวก​เขา​ก็​สร้าง​สวน​เพื่อ​ประดับ​วัง​ของ​ตน. ด้วย​เหตุ​นี้ เซบียา​จึง​มี​วัง​ใน​สวน​ที่​สวย​งาม​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​สเปน​ที่​เรียก​ว่า รีอัลลิส อัลกาซาเรส หรือ​วัง​หลวง (ภาพ​ที่ 4). วัง​นี้​มี​อายุ​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 12 แม้​ว่า​จะ​มี​การ​ดัด​แปลง​แก้ไข​ขนาน​ใหญ่​ใน​ศตวรรษ​ที่ 14. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​การ​อนุรักษ์​สถาปัตยกรรม​แบบ​มัวร์​ไว้ และ​ผู้​มา​เยือน​ต่าง​ก็​ประทับใจ​กับ​การ​ประดับ​ประดา​ห้อง​และ​ลาน​ต่าง ๆ อย่าง​หรูหรา พร้อม​กับ​ซุ้ม​ประตู​ที่​มี​ลวด​ลาย​อ่อนช้อย, กระเบื้อง​หลาก​สี, และ​งาน​ปูน​ที่​ประณีต.

วัง​นี้​อยู่​ท่ามกลาง​สวน​ที่​งดงาม​ที่​มี​ทั้ง​น้ำพุ​และ​ต้น​ปาล์ม. ผู้​ครอบครอง​ชาว​มัวร์​ถึง​กับ​สร้าง​ท่อ​ส่ง​น้ำ​ยาว 16 กิโลเมตร​เพื่อ​ส่ง​น้ำ​ปริมาณ​มาก​พอ​ไป​ยัง​สวน​ของ​เขา. วัง​และ​สวน​แห่ง​นี้​งดงาม​ถึง​ขนาด​ที่​ราชวงศ์​สเปน​ใช้​วัง​นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​พระ​ตำหนัก​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ใน​ช่วง 700 ปี​ที่​ผ่าน​มา.

เฉก​เช่น​เดียว​กับ​ต้น​ส้ม​ที่​แผ่​ร่ม​เงา​และ​กำจาย​กลิ่น​หอม​ฟุ้ง​ไป​ทั่ว​ถนน​ทุก​สาย​ใน​เมือง​เซบียา กระเบื้อง​หลาก​สี​ก็​ทำ​ให้​บ้าน​เรือน​ของ​เมือง​นี้​โดด​เด่น​ไม่​เหมือน​ใคร. พวก​มัวร์​เป็น​ผู้​ที่​นำ​รูป​แบบ​การ​ตกแต่ง​บ้าน​แบบ​นี้​เข้า​มา​ใน​สเปน. พวก​เขา​ปู​กระเบื้อง​ที่​มี​ลวด​ลาย​เรขาคณิต​ใน​ห้อง​หับ​ภาย​ใน​อาคาร. ปัจจุบัน​นี้ มี​กระเบื้อง​ทุก​ชนิด​ประดับ​ผนัง​ภาย​นอก​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​บ้าน​เรือน, ร้าน​ค้า, และ​คฤหาสน์​หลัง​ใหญ่ ๆ.

ใช่​ว่า​จะ​มี​แต่​กระเบื้อง​เท่า​นั้น​ที่​เปล่ง​สี​สดใส​อยู่​ตาม​ตรอก​ซอก​ซอย​ของ​ย่าน​เมือง​เก่า​ใน​เซบียา. ระเบียง​เล็ก ๆ และ​กระบะ​ปลูก​ดอกไม้​ที่​มี​ต้น​เจอเรเนียม​และ​กุหลาบ​เบ่ง​บาน​สะพรั่ง​ก็​ทำ​ให้​ผนัง​ขาว ๆ ดู​สดใส​ขึ้น. และ​เป็น​เพราะ​ภูมิ​อากาศ​ที่​อบอุ่น ดอกไม้​จึง​บาน​เกือบ​ตลอด​ทั้ง​ปี ซึ่ง​ช่วย​เสริม​ให้​เมือง​นี้​มี​บรรยากาศ​แบบ​อาเลกรีอา (งาม​ผุด​ผาด​สดใส).

งาน​ระดับ​นานา​ชาติ​ใน​เซบียา

ตลอด​ศตวรรษ​ที่​ผ่าน​มา มี​การ​จัด​งาน​ระดับ​นานา​ชาติ​หลาย​งาน​ซึ่ง​ทำ​ให้​เซบียา​มี​ความ​ผูก​พัน​กับ​ทวีป​อเมริกา​แน่นแฟ้น​ยิ่ง​ขึ้น. จัตุรัส​อัน​งดงาม​แห่ง​หนึ่ง​คือ ปลา​ซา เด เอสปันญา หรือ​จัตุรัส​แห่ง​สเปน (ภาพ​ที่ 5) ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​ปี 1929 เพื่อ​ใช้​ใน​งาน​แสดง​วัฒนธรรม​สเปน​นานา​ชาติ และ​ยัง​คง​เป็น​สถาน​ที่​ท่อง​เที่ยว​ที่​ผู้​คน​นิยม. ด้าน​หนึ่ง​ของ​จัตุรัส​เป็น​ผนัง​อาคาร​ทรง​ครึ่ง​วง​กลม​หลัง​ใหญ่​ซึ่ง​มี​การ​ปู​กระเบื้อง​เป็น​ลวด​ลาย​ศิลปะ​แสดง​ถึง​แต่​ละ​จังหวัด​ใน​สเปน.

ใน​ปี 1992 ห้า​ร้อย​ปี​หลัง​จาก​ที่​โคลัมบัส​แล่น​เรือ​ไป​ถึง​อเมริกา​เป็น​ครั้ง​แรก เมือง​เซบียา​ก็​เป็น​เจ้าภาพ​จัด​งาน​การ​ค้า​โลก​หรือ​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​งาน​เอกซโป 92. สอดคล้อง​กับ​ชื่อ “ยุค​แห่ง​การ​ค้น​พบ” ซึ่ง​เป็น​อรรถบท งาน​นี้​ได้​จัด​แสดง​เรือ​ธง​จำลอง​ของ​โคลัมบัส​ขนาด​เท่า​ของ​จริง (ภาพ​ที่ 6) เมื่อ​เห็น​ขนาด​เรือ​ที่​เล็ก​มาก​นี้​ทำ​ให้​ผู้​ชม​นึก​ถึง​อันตราย​ของ​การ​เดิน​เรือ​ที่​เป็น​ตำนาน​ใน​สมัย​นั้น. การ​แสดง​ครั้ง​ประวัติศาสตร์​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​งาน​เอกซโป​นั้น ซึ่ง​ตอน​นี้​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​พิพิธภัณฑสถาน​ศิลปะ ก็​คือ​อาราม​ลา การ์ตูฮา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​บูรณะ​ขึ้น​ใหม่ (ภาพ​ที่ 7) อาราม​แห่ง​นี้​เป็น​ที่​ที่​โคลัมบัส​ใช้​เตรียม​การ​สำหรับ​การ​เดิน​ทาง​ข้าม​มหาสมุทร​แอตแลนติก​ครั้ง​หนึ่ง​ของ​เขา และ​เป็น​ที่​ที่​ศพ​ของ​เขา​ถูก​ฝัง​ไว้​ใน​ตอน​แรก.

สนาม​กีฬา​โอลิมปิก​แห่ง​ใหม่​ของ​เมือง​เซบียา​จะ​จัด​การ​ประชุม​ที่​สำคัญ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ปี 2003 นั่น​คือ​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. การ​ประชุม​ครั้ง​นี้​จะ​ทำ​ให้​ตัว​แทน​จาก​ยุโรป​และ​ทวีป​อเมริกา​ได้​รู้​จัก​เมือง​เซบียา​มาก​ขึ้น ซึ่ง​เป็น​ประตู​สู่​ทวีป​อเมริกา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 หอ​สมุด​แห่ง​นี้​มี​เอกสาร​ที่​เขียน​ด้วย​มือ 86 ล้าน​ชิ้น​รวม​ทั้ง​แผนที่​และ​ภาพ​วาด​อีก 8,000 ภาพ.

^ วรรค 11 อันดาลูเชีย​คือ​เขต​ใต้​สุด​ของ​สเปน ที่​ซึ่ง​อิทธิพล​เกือบ​แปด​ศตวรรษ​ของ​พวก​มัวร์​ปรากฏ​ชัด​ที่​สุด.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

Godo-Foto

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

Godo-Foto

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 17]

Godo-Foto