ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเก็บเกี่ยวผลิตผลที่มีปีก

การเก็บเกี่ยวผลิตผลที่มีปีก

การ​เก็บ​เกี่ยว​ผลิตผล​ที่​มี​ปีก

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​คอสตาริกา

ผลิตผล​ชนิด​นี้​มี​ปีก! ใช่ คุณ​อ่าน​ถูก​แล้ว สิ่ง​ที่​เกษตรกร​คน​นี้​เก็บ​เกี่ยว​มี​ปีก. แน่นอน เกษตรกร​ที่​ดี​ทุก​คน​รู้​ว่า​แรงงาน​ของ​ตน​เกี่ยว​ข้อง​โดย​ตรง​กับ​ผล​ผลิต​ที่​ดี​และ​สมบูรณ์. เป็น​เช่น​เดียว​กัน​กับ​เกษตรกร​คน​นี้ เขา​คอย​ระวัง​ปก​ป้อง​ผลิตผล​ของ​เขา​จาก​สัตว์​นัก​ล่า เช่น แมลง, แมงมุม, และ​นก. ใน​ฤดู​เก็บ​เกี่ยว งาน​ของ​เขา​ยิ่ง​หนัก​ขึ้น เนื่อง​จาก​เขา​พยายาม​ไม่​ให้​ผล​ผลิต​ที่​มี​ค่า​ซึ่ง​เขา​ดู​แล​มา​อย่าง​ดี​ตลอด​ฤดู​กาล​นั้น​ได้​รับ​ความ​เสียหาย. ถ้า​เขา​ทำ​สำเร็จ ผลิตผล​ของ​เขา​ซึ่ง​มี​ปีก​สี​สัน​สดใส​ที่​สุด​ใน​โลก ก็​จะ​ไป​ปรากฏ​ใน​ที่​ซึ่ง​ห่าง​ไกล​จาก​ที่​ที่​มัน​ถูก​เพาะ​ขึ้น​มา​หลาย​พัน​กิโลเมตร. ผลิตผล​ที่​แปลก​ประหลาด​นี้​คือ​อะไร? ถูก​แล้ว คุณ​ทาย​ได้​ถูก​ต้อง มัน​คือ​ผีเสื้อ.

การ​ทำ​ฟาร์ม​ผีเสื้อ​เป็น​อาชีพ​ที่​มี​คุณค่า​อย่าง​ใหญ่​หลวง. นี่​เป็น​วิธี​ที่​งดงาม​และ​ช่วย​ทาง​ด้าน​ระบบ​นิเวศ​ใน​การ​อนุรักษ์​ผีเสื้อ​หลาก​หลาย​ชนิด​อย่าง​ชาญ​ฉลาด. เอา​ละ คำ​ถาม​มาก​มาย​ผุด​ขึ้น​ใน​ความ​คิด​ของ​คุณ​อย่าง​เงียบ ๆ ใช่​ไหม? ตัว​อย่าง​เช่น จริง ๆ แล้ว​ฟาร์ม​ผีเสื้อ​คือ​อะไร? ฟาร์ม​ผีเสื้อ​ดำเนิน​งาน​อย่าง​ไร? และ​ฟาร์ม​นี้​มี​วัตถุ​ประสงค์​อะไร? ก่อน​ที่​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้ ให้​เรา​พิจารณา​ว่า​การ​เพาะ​เลี้ยง​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​บอบบาง​เหล่า​นี้​เริ่ม​ขึ้น​อย่าง​ไร.

เริ่ม​ที่​เมือง​จีน

เป็น​เวลา​หลาย​ศตวรรษ​มา​แล้ว ชาว​จีน​มี​ธรรมเนียม​ใน​การ​เพาะ​เลี้ยง​ผีเสื้อ​กลางคืน​เพื่อ​อุตสาหกรรม​ผ้า​ไหม​โดย​เฉพาะ. แต่​ความ​ต้องการ​ที่​จะ​มี​ฟาร์ม​ผีเสื้อ​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​เอง. ใน​ช่วง​ทศวรรษ​ปี 1970 มี​การ​จัด​งาน​แสดง​ผีเสื้อ​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​บน​เกาะ​เกอร์นซี นอก​ชายฝั่ง​อังกฤษ.

แนว​คิด​ที่​น่า​ยกย่อง​ของ​โครงการ​บน​เกาะ​เกอร์นซี​คือ​ที่​จะ​สร้าง​ป่า​เขต​ร้อน​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ผีเสื้อ​ขึ้น​มา​ใหม่ ซึ่ง​สี​สัน​และ​ลวด​ลาย​อัน​ไม่​มี​ขีด​จำกัด​ของ​พวก​มัน​จะ​ทำ​ให้​ป่า​นั้น​มี​ชีวิต​ชีวา​ขึ้น. ตาม​เหตุ​ผล​แล้ว การ​ทำ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ต้อง​ขน​ย้าย​ผีเสื้อ​ซึ่ง​มี​ถิ่น​กำเนิด​ใน​เขต​ร้อน. แต่​คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​ได้​ผีเสื้อ​เขต​ร้อน (บาง​ชนิด​มี​ช่วง​ชีวิต​เพียง​สอง​ถึง​สาม​สัปดาห์) ส่ง​มา​ทั้ง ๆ ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​โดย​ไม่​ให้​ตาย​ระหว่าง​ทาง​จน​กว่า​จะ​ถึง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​หลาย​พัน​กิโลเมตร​จาก​ถิ่น​กำเนิด​ของ​มัน? ด้วย​เหตุ​นี้ ความ​จำเป็น​ใน​การ​เพาะ​เลี้ยง​ผีเสื้อ​เพื่อ​การ​ค้า​จึง​เกิด​ขึ้น.

วิธี​ที่​ฟาร์ม​ผีเสื้อ​ดำเนิน​งาน

โอกาส​อัน​น่า​ยินดี​ที่​จะ​ได้​ชม​การ​ดำเนิน​งาน​ของ​ฟาร์ม​ผีเสื้อ​ด้วย​ตัว​คุณ​เอง​นั้น​น่า​ตื่นเต้น. การ​ได้​เห็น​ปีก​ที่​มี​ความ​หลาก​หลาย​ลาน​ตา​ทั้ง​แบบ​และ​สี​สัน​อัน​สดใส​อย่าง​ใกล้​ชิด​นับ​เป็น​ภาพ​ที่​น่า​ประทับใจ. ตื่นเถิด! ได้​ไป​เยือน​ฟาร์ม​และ​บริษัท​ส่ง​ออก​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ธุรกิจ​ด้าน​นี้​ที่​อเมริกา​กลาง ซึ่ง​ก็​คือ​ฟาร์ม​ผีเสื้อ​ใน​คอสตาริกา. ฟาร์ม​แห่ง​นี้​ไม่​เพียง​ส่ง​ออก​ดักแด้​เท่า​นั้น แต่​ยัง​มี​โครงการ​ให้​การ​ศึกษา​สำหรับ​คน​ที่​อยาก​จะ​รู้​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​วงจร​ชีวิต​และ​ลักษณะ​ทาง​ชีววิทยา​ของ​ผีเสื้อ​อีก​ด้วย.

เมื่อ​คุณ​เข้า​ไป​ใน​สวน​ผีเสื้อ​ที่​มี​มุ้ง​ปิด​คลุม​อยู่ ทันใด​นั้น​คุณ​จะ​รู้สึก​หลงใหล​กับ​ภาพ​ของ​ผีเสื้อ​นับ​ร้อย​ตัว​ที่​บิน​อยู่​รอบ​ตัว​คุณ​ซึ่ง​มี​สี​สัน​หลาก​หลาย​ประกอบ​กัน บาง​ตัว​บิน​โฉบ​ไป​มา​อย่าง​คล่องแคล่ว ส่วน​บาง​ตัว​ค่อย ๆ บิน​ไป​อย่าง​สง่า​งาม. แมลง​ที่​มี​หลาก​สี​เหล่า​นี้​ไม่​สนใจ​คุณ​เลย​ขณะ​ที่​มัน​ทำ​กิจวัตร​ประจำ​วัน​ของ​มัน​ใน​การ​กิน, การ​ผสม​พันธุ์, และ​การ​วาง​ไข่. คุณ​จะ​ไม่​ประทับใจ​ได้​อย่าง​ไร? เมื่อ​ได้​เห็น​และ​ได้​กลิ่น​พืช​ที่​ผีเสื้อ​เหล่า​นี้​ใช้​วาง​ไข่ เช่น ดอกไม้​ป่า​พื้นเมือง​และ​ต้น​กล้วย ไม่​นาน​คุณ​ก็​รู้​ว่า​พืช​เหล่า​นี้​เป็น​ทั้ง​อาหาร​และ​รัง​สำหรับ​ผีเสื้อ.

สวน​ที่​ถูก​ปิด​คลุม​ไว้​อย่าง​มิดชิด​ทำ​ให้​ไข่​ขนาด​จิ๋ว​ของ​ผีเสื้อ​ปลอด​ภัย​จาก​สัตว์​นัก​ล่า. ตาม​ธรรมชาติ​แล้ว อัตรา​การ​รอด​ชีวิต​ตั้ง​แต่​เป็น​ไข่​จน​ถึง​ตัว​เต็ม​วัย​มี​เพียง 2 เปอร์เซ็นต์​ของ​ไข่​ทั้ง​หมด แต่​ใน​สถาน​ที่​คุ้มครอง เช่น​ที่​ฟาร์ม​ผีเสื้อ อัตรา​การ​รอด​ชีวิต​เพิ่ม​สูง​ถึง 90 เปอร์เซ็นต์.

พืช​ชนิด​ที่​ถูก​ต้อง​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​สำหรับ​การ​ผสม​พันธุ์​และ​พัฒนาการ​ที่​เหมาะ​สม​ของ​ผีเสื้อ. ดัง​นั้น สวน​แห่ง​นี้​จึง​มี​พืช​ที่​ใช้​วาง​ไข่​อยู่​หลาย​ชนิด​เพื่อ​ให้​ผีเสื้อ​ตัว​เมีย​วาง​ไข่​และ​ให้​หนอน​ผีเสื้อ​กิน​เป็น​อาหาร. พืช​ที่​มี​น้ำ​หวาน​ก็​เป็น​อาหาร​สำหรับ​ผีเสื้อ​ที่​โต​เต็ม​วัย​แล้ว. ผีเสื้อ​แต่​ละ​ชนิด​จะ​วาง​ไข่​บน​พืช​เพียง​ชนิด​เดียว​เท่า​นั้น แล้ว​หนอน​ผีเสื้อ​ก็​จะ​กิน​เฉพาะ​พืช​ชนิด​นั้น. ดัง​นั้น จึง​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ฟาร์ม​จะ​ต้อง​มี​พืช​ไว้​เป็น​จำนวน​มาก ๆ เพื่อ​ให้​ผีเสื้อ​วาง​ไข่​และ​ใช้​เป็น​อาหาร.

ผีเสื้อ​ตัว​เมีย​จะ​วาง​ไข่​ครั้ง​ละ​ประมาณ 100 ฟอง​หรือ​มาก​กว่า​นั้น. ไข่​เหล่า​นั้น​ดู​เหมือน​หยด​น้ำ​ขนาด​จิ๋ว​ซึ่ง​เล็ก​พอ ๆ กับ​จุด​มหัพภาค​ท้าย​ประโยค​นี้. ผีเสื้อ​ไม่​เพียง​แต่​วาง​ไข่​บน​พืช​เพียง​ชนิด​เดียว แต่​ผีเสื้อ​แต่​ละ​ชนิด​จะ​วาง​ไข่​เฉพาะ​ส่วน​ใด​ส่วน​หนึ่ง​ของ​พืช​นั้น​ด้วย. ด้วย​เหตุ​นี้ ชาว​สวน​จึง​หา​ไข่​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว แล้ว​เก็บ​ไข่​ไป​เพาะ. ทุก​วัน​มี​การ​ตรวจ​พืช​เพื่อ​หา​ไข่ และ​ทุก​วัน​มี​การ​ตรวจ​ไข่​เพื่อ​หา​หนอน​ผีเสื้อ​ที่​ฟัก​เป็น​ตัว. เมื่อ​ออก​จาก​ไข่​แล้ว หนอน​ผีเสื้อ​ที่​หิว​โหย​ก็​จะ​กิน​เปลือก​ไข่​นั้น. ที่​สวน​ผีเสื้อ จะ​มี​การ​นำ​มัน​ไป​ไว้​บน​พืช​ที่​อยู่​ใน​กระถาง​ใน​กรง​เล็ก ๆ. การ​รักษา​กรง​ให้​สะอาด​ตลอด​ช่วง​ชีวิต​ของ​หนอน​ผีเสื้อ​นี้​นับ​ว่า​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง เพราะ​ไม่​เช่น​นั้น​แล้ว​อาจ​ทำ​ให้​พวก​มัน​เป็น​โรค​และ​ตาย​ได้.

หลัง​จาก​ระยะ​ลอก​คราบ​ที่​สาม หนอน​ผีเสื้อ​จะ​อยู่​เพื่อ​กิน​จริง ๆ. กล่าว​กัน​ว่า​ถ้า​เด็ก​ทารก​ที่​หนัก 3 กิโลกรัม​มี​น้ำหนัก​เพิ่ม​ใน​อัตรา​เดียว​กัน​กับ​หนอน​ผีเสื้อ เด็ก​ทารก​คน​นั้น​จะ​หนัก​ถึง​แปด​ตัน​เมื่อ​สิ้น​สัปดาห์​ที่​สอง!

ใน​ระยะ​ลอก​คราบ​ครั้ง​ที่​ห้า​ซึ่ง​เป็น​ระยะ​สุด​ท้าย หนอน​ผีเสื้อ​จะ​เกาะ​ติด​กับ​กิ่ง​ไม้​หรือ​เพดาน​กรง พยายาม​ลอก​คราบ​อย่าง​ชำนิ​ชำนาญ ซึ่ง​ข้าง​ใต้​ผิวหนัง​เก่า​ของ​มัน​ก็​คือ​เปลือก​แข็ง ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ว่า​ดักแด้. ตอน​นี้​เอง​ที่​ชาว​สวน​ต้อง​พร้อม​จะ​ปฏิบัติการ​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ.

การ​เก็บ​ดักแด้​จะ​ต้อง​ทำ​ทุก​วัน เพราะ​นี่​เป็น​วิธี​เดียว​ที่​จะ​รู้​อายุ​ของ​มัน. ดักแด้​ประมาณ 40 ถึง 100 ตัว​จะ​ถูก​บรรจุ​ลง​ใน​กล่อง​กระดาษ​อย่าง​ระมัดระวัง โดย​วาง​สลับ​กับ​ชั้น​สำลี. ชาว​สวน​และ​ผู้​ส่ง​ออก​มี​ช่วง​เวลา​ประมาณ​สิบ​วัน​เพื่อ​ส่ง​ดักแด้​ไป​ยัง​ผู้​จัด​จำหน่าย ซึ่ง​จะ​ส่ง​ต่อ​ไป​ยัง​ลูก​ค้า โดย​ทั่ว​ไป​มัก​เป็น​สวน​ผีเสื้อ​หรือ​ที่​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​คล้าย ๆ กัน​นี้. ถ้า​การ​ขน​ส่ง​ไม่​เสร็จ​สิ้น​ภาย​ใน​ช่วง​เวลา​ดัง​กล่าว ผีเสื้อ​ก็​จะ​ออก​มา​จาก​ดักแด้​และ​ตาย​ระหว่าง​ทาง. ถ้า​การ​ขน​ส่ง​ทำ​ได้​สำเร็จ ผีเสื้อ​ก็​จะ​ออก​มา​จาก​ดักแด้ ห่าง​ไกล​จาก​บ้าน​ของ​มัน​หลาย​พัน​กิโลเมตร โดย​ไม่​รู้​ว่า​ที่​อยู่​ของ​มัน​เปลี่ยน​ไป​แล้ว. ฟาร์ม​ผีเสื้อ​จะ​ส่ง​ดักแด้​ราว ๆ 4,000 ถึง 6,000 ตัว​ต่อ​เดือน​ไป​ยัง​สถาน​ที่​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก.

ฟาร์ม​ผีเสื้อ​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​ทั่ว​โลก. ฟาร์ม​เหล่า​นี้​มี​อยู่​แล้ว​ใน​เคนยา, ไต้หวัน, ไทย, ฟิลิปปินส์, มาดากัสการ์, มาเลเซีย, สหรัฐ, เอลซัลวาดอร์ และ​แน่นอน ที่​คอสตาริกา. นอก​จาก​นั้น จำนวน​สวน​ผีเสื้อ​ก็​มี​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​แต่​ละ​ปี ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​คน​จาก​หลาย​ส่วน​ของ​โลก​สามารถ​ชม​สัตว์​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้.

ไม่​ต้อง​สงสัย การ​เพาะ​เลี้ยง​และ​การ​เก็บ​ผลิตผล​ที่​มี​ปีก​นี้​จะ​ยัง​คง​มี​บทบาท​สำคัญ​ทาง​นิเวศ​วิทยา​ใน​การ​สงวน​พันธุ์​ผีเสื้อ​ชนิด​ที่​หา​ยาก​ไว้. อาชีพ​นี้​อาจ​ช่วย​ให้​ประชาชน​ทั่ว​ไป​ตระหนัก​ถึง​ความ​สมดุล​อัน​ละเอียดอ่อน​ของ​ทรัพยากร​โลก.

[ภาพ​หน้า 18]

ชาว​สวน​ใช้​มุ้ง​ปก​ป้อง​ไข่​และ​หนอน​ผีเสื้อ (1). ดักแด้ เช่น​ที่​เห็น​นี้ (2), ถูก​บรรจุ​ลง​กล่อง​และ​ส่ง​ออก​ไป​ทั่ว​โลก (3)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

Top left monarch butterfly and pupae: Butterfly House, Mittagong, Australia; middle left butterfly and butterflies on leaves: Courtesy of Buckfast Butterfly Farm

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

K. Schafer/Audiovise