บทบาทของบิดามารดา

บทบาทของบิดามารดา

ไม่​ต้อง​สงสัย​การ​เลี้ยง​ดู​เด็ก ๆ ให้​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​ดี​ใน​สังคม​ปัจจุบัน​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย.

สถาบัน​สุขภาพ​จิต​แห่ง​ประเทศ​สหรัฐ​ได้​จัด​พิมพ์​ผล​การ​สำรวจ​เกี่ยว​กับ​บิดา​มารดา​ที่​ได้​รับ​การ​ถือ​ว่า​ประสบ​ผล​สำเร็จ คือ​บิดา​มารดา​ที่​ลูก ๆ ของ​เขา​ซึ่ง​มี​อายุ 21 ปี​ขึ้น​ไป “เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​สมรรถภาพ​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สังคม​ของ​เรา​ได้​ดี.” มี​การ​ถาม​บิดา​มารดา​เหล่า​นี้​ว่า ‘ตาม​ประสบการณ์​ส่วน​ตัว​คุณ คำ​แนะ​นำ​ดี​ที่​สุด​อะไร​ที่​คุณ​อาจ​ให้​แก่​บิดา​มารดา​คน​อื่น ๆ?’ คำ​ตอบ​ที่​มี​ให้​บ่อย​ครั้ง​ที่​สุด​คือ​ดัง​นี้: ‘รัก​ลูก​ให้​มาก ๆ,’ ‘ตี​สอน​เพื่อ​ปรับปรุง,’ ‘ใช้​เวลา​อยู่​ด้วย​กัน,’ ‘สอน​ลูก ๆ ให้​รู้​ผิด​รู้​ชอบ,’ ‘สร้าง​ความ​นับถือ​กัน​และ​กัน,’ ‘ฟัง​พวก​เขา​จริง ๆ,’ ‘ให้​การ​ชี้​แนะ​แทน​การ​เทศน์,’ และ ‘ยอม​รับ​สภาพ​ความ​เป็น​จริง.’

พวก​ครู​บา​อาจารย์​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​ทำ​ให้​คน​หนุ่ม​สาว​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​ปรับ​ตัว​ได้​ดี

อย่าง​ไร​ก็​ตาม บิดา​มารดา​ไม่​ใช่​ฝ่าย​เดียว​ใน​การ​ทำ​ให้​คน​หนุ่ม​สาว​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​ปรับ​ตัว​ได้​ดี. พวก​ครู​บา​อาจารย์​ก็​มี​บทบาท​สำคัญ​เช่น​กัน​ใน​งาน​นี้. ศึกษานิเทศก์​ผู้​มี​ประสบการณ์​คน​หนึ่ง​ให้​ข้อ​สังเกต​ดัง​นี้: “จุด​มุ่ง​หมาย​แรก​ของ​การ​ศึกษา​ตาม​กฎเกณฑ์​ก็​คือ​เพื่อ​สนับสนุน​บิดา​มารดา​ใน​การ​ผลิต​หนุ่ม​สาว​ที่​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ซึ่ง​สำนึก​ถึง​ความ​รับผิดชอบ​ซึ่ง​ได้​พัฒนา​อย่าง​ดี​ใน​ด้าน​สติ​ปัญญา, ร่าง​กาย, และ​จิตใจ.”

ดัง​นั้น บิดา​มารดา​และ​ครู​จึง​มี​เป้าหมาย​ร่วม​กัน คือ​เพื่อ​ผลิต​คน​หนุ่ม​สาว​ซึ่ง​ใน​ภาย​หลัง​จะ​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​อาวุโส​และ​สุขุม​ซึ่ง​ชื่นชม​กับ​ชีวิต​และ​สามารถ​อยู่​ใน​สังคม​ได้.

ผู้​ร่วม​งาน​กัน ไม่​ใช่​ผู้​แข่งขัน​ชิง​ดี​ชิง​เด่น

กระนั้น​ก็​ตาม เกิด​ปัญหา​ขึ้น​เมื่อ​บิดา​มารดา​ไม่​ร่วม​มือ​กับ​ครู. ยก​ตัว​อย่าง บิดา​มารดา​บาง​คน​ไม่​สนใจ​การ​ศึกษา​ของ​ลูก ๆ บาง​คน​พยายาม​แข่งขัน​กับ​ครู. เมื่อ​พิจารณา​เรื่อง​นี้ วารสาร​ภาษา​ฝรั่งเศส​ฉบับ​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ครู​ไม่​ใช่​ผู้​มี​หน้า​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​ศึกษา​ของ​เด็ก ๆ แต่​ฝ่าย​เดียว​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว. บิดา​มารดา​ที่​เป็น​กังวล​มาก​ใน​เรื่อง​ความ​สำเร็จ​ของ​ลูก ๆ หา​ข้อ​ผิด​พลาด​ใน​ตำรา​เรียน, ประเมิน​และ​วิพากษ์วิจารณ์​วิธีการ​สอน, และ​แสดง​ปฏิกิริยา​ขุ่นเคือง​ทันที​เมื่อ​ลูก​ได้​คะแนน​ไม่​ดี.” การ​ทำ​เช่น​นั้น​อาจ​ก้าวก่าย​สิทธิ​ของ​ครู​ได้.

พยาน​พระ​ยะโฮวา​เห็น​ว่า ลูก ๆ ของ​ตน​ได้​รับ ความ​ช่วยเหลือ​ดี​กว่า เมื่อ​บิดา​มารดา​ร่วม​มือ​กับ​ครู โดย​ให้​ความ​สนใจ​คอย​ช่วย อย่าง​จริงจัง​ใน​การ​ศึกษา ของ​ลูก ๆ.

พยาน​พระ​ยะโฮวา​เห็น​ว่า ลูก ๆ ของ​ตน​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ดี​กว่า​เมื่อ​บิดา​มารดา​ร่วม​มือ​กับ​ครู โดย​ให้​ความ​สนใจ​คอย​ช่วย​อย่าง​จริงจัง​ใน​การ​ศึกษา​ของ​ลูก ๆ. พวก​เขา​เชื่อ​ว่า ความ​ร่วม​มือ​เช่น​นั้น​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​เพราะ​งาน​ของ​คุณ​ใน​ฐานะ​ครู​นั้น​ยาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

ปัญหา​ของ​โรงเรียน​ใน​สมัย​นี้

ใน​เมื่อ​โรงเรียน​สะท้อน​ถึง​สังคม​ที่​โรงเรียน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง โรงเรียน​ต่าง ๆ จึง​ไม่​ได้​ถูก​ป้องกัน​ไว้​จาก​ปัญหา​ที่​มี​อยู่​ใน​สังคม​โดย​ทั่ว​ไป. ปัญหา​สังคม​รุนแรง​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว​ตลอด​หลาย​ปี​นี้. เมื่อ​พรรณนา​สภาพการณ์​ต่าง ๆ ใน​โรงเรียน​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงาน​ดัง​นี้: “พวก​นัก​เรียน​หลับ​ใน​ชั้น, พวก​เขา​ข่มขู่​กัน​ตาม​ทาง​เดิน​ที่​มี​แต่​รอย​ขีด​เขียน, พวก​เขา​ดูถูก​นัก​เรียน​ที่​ดี. . . . นัก​เรียน​เกือบ​ทุก​คน​กำลัง​รับมือ​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น การ​ดู​แล​ลูก​น้อย, การ​รับมือ​กับ​การ​ที่​บิดา​หรือ​มารดา​ถูก​จำ​คุก, และ​การ​เอา​ชีวิต​รอด​จาก​การ​ใช้​กำลัง​รุนแรง​ของ​แก๊ง. ใน​วัน​เรียน​ไม่​ว่า​วัน​ใด นัก​เรียน​หนึ่ง​ใน​ห้า​ขาด​เรียน.”

ที่​น่า​เป็น​ห่วง​โดย​เฉพาะ​ก็​คือ​ปัญหา​ความ​รุนแรง​ใน​โรงเรียน​ที่​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​ระดับ​นานา​ชาติ. การ​ต่อ​สู้​กัน​เป็น​ประจำ​ด้วย​ปืน​และ​มีด​ได้​เข้า​มา​แทน​ที่​การ​ต่อ​สู้​กัน​เป็น​ครั้ง​คราว​โดย​ใช้​กำลัง​กาย. อาวุธ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​มาก​ขึ้น, การ​โจมตี​กัน​รุนแรง​ขึ้น, พร้อม​กับ​การ​ที่​เด็ก ๆ เดือดดาล​เร็ว​ขึ้น​ใน​การ​ใช้​ความ​รุนแรง​และ​เมื่อ​เทียบ​แล้ว​ก็​ยัง​อายุ​น้อย​กว่า​เด็ก​รุ่น​ก่อน.

แน่นอน ไม่​ใช่​ทุก​ประเทศ​เผชิญ​สภาพการณ์​ที่​รุนแรง​เช่น​นั้น. แต่​ครู​จำนวน​มาก​ทั่ว​โลก​เผชิญ​สถานการณ์​ดัง​ที่​มี​กล่าว​ไว้​ใน​วารสาร​ราย​สัปดาห์​ภาษา​ฝรั่งเศส​ชื่อ​เลอ ปวงต์ ที่​ว่า “ครู​ไม่​ได้​รับ​ความ​นับถือ​อีก​แล้ว เขา​ไม่​มี​อำนาจ​อะไร​เลย.”

บิดา​มารดา​ที่​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใช้​เวลา​อยู่​กับ​ลูก ๆ

การ​ขาด​ความ​นับถือ​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ​เช่น​นั้น​เป็น​อันตราย​ต่อ​เด็ก ๆ อย่าง​แท้​จริง. ดัง​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​จึง​พยายาม​ปลูกฝัง​ให้​ลูก ๆ ของ​ตน​มี​ความ​เชื่อ​ฟัง​และ​ความ​นับถือ​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ คุณลักษณะ​ซึ่ง​มัก​จะ​ขาด​ไป​ใน​ชีวิต​วัย​เรียน​สมัย​นี้.