เขียนโดยลูกา 8:1-56
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ประกาศ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ป่าวประกาศในฐานะผู้ส่งข่าวอย่างเปิดเผย” คำนี้เน้นลักษณะ ของการประกาศว่ามักเป็นการพูดอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ ไม่ใช่การเทศน์ให้คนแค่กลุ่มหนึ่งฟัง
ประกาศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
มารีย์ที่เรียกกันว่ามักดาลา: มีการพูดถึงมารีย์มักดาลาครั้งแรกในข้อนี้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช่วงปีที่ 2 ที่พระเยซูทำงานประกาศ ชื่อมักดาลา (แปลตรงตัวว่า “จากมักดาลา หรือเป็นของมักดาลา”) น่าจะมาจากชื่อเมืองมักดาลาซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทะเลสาบกาลิลี ประมาณครึ่งทางระหว่างเมืองคาเปอร์นาอุมกับเมืองทิเบเรียส เชื่อกันว่ามักดาลาเป็นบ้านเกิดของมารีย์หรือเป็นที่ที่เธออาศัยอยู่ มารีย์มักดาลาถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่พระเยซูตายและฟื้นขึ้นจากตาย—มธ 27:55, 56, 61; มก 15:40; ลก 24:10; ยน 19:25
รับใช้: มาจากคำกริยากรีก เดียคอเนะโอ คำนี้เกี่ยวข้องกับคำนาม เดียคอนอส (ผู้รับใช้, คนรับใช้) ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานรับใช้คนอื่นอย่างถ่อมตัวและไม่ย่อท้อ มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระคริสต์ (รม 15:8) ผู้รับใช้ของพระคริสต์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง (รม 16:1; 1คร 3:5-7; คส 1:23) ผู้ช่วยงานรับใช้ (ฟป 1:1; 1ทธ 3:8) คนรับใช้ในบ้าน (ยน 2:5, 9) และเจ้าหน้าที่รัฐบาล—รม 13:4
โยอันนา: เป็นชื่อแบบสั้นสำหรับผู้หญิงซึ่งมาจากชื่อฮีบรูเยโฮฮานันที่หมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” โยอันนาเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่พระเยซูรักษาโรคให้เธอ มีการพูดถึงเธอแค่ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และทั้ง 2 ครั้งอยู่ในหนังสือข่าวดีของลูกา—ลก 24:10
คูซา: เป็นพ่อบ้านหรือผู้ดูแลวังของเฮโรดอันทีพาส ซึ่งอาจเป็นคนดูแลเรื่องต่าง ๆ ในวัง
รับใช้พระเยซูกับอัครสาวก: หรือ “ให้การสนับสนุน (จัดเตรียมให้) พวกเขา” คำกรีก เดียคอเนะโอ อาจหมายถึงการช่วยเหลือคนอื่น ๆ ด้านร่างกายโดยจัดหาอาหาร ทำอาหาร ยกอาหารมาให้และอื่น ๆ มีการใช้คำนี้ในความหมายคล้ายกันที่ ลก 10:40 (“ทำงาน”) ลก 12:37; 17:8 (“คอยรับใช้”) และ กจ 6:2 (“แจกอาหาร”) และคำนี้ยังหมายถึงการรับใช้คนอื่นในแบบที่คล้ายกันนี้ด้วย ในข้อ 2 และ 3 พูดถึงพวกผู้หญิงที่สนับสนุนพระเยซูและสาวกเพื่อช่วยพวกเขาให้ทำงานที่พระเจ้ามอบหมายได้สำเร็จ การทำแบบนี้เป็นวิธีที่พวกเธอยกย่องสรรเสริญพระเจ้า และพระองค์ก็เห็นคุณค่าสิ่งที่พวกเธอทำโดยให้บันทึกเรื่องราวที่พวกเธอแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างใจกว้างไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้คนรุ่นหลังได้อ่าน (สภษ 19:17; ฮบ 6:10) มีการใช้คำกริยากรีกนี้กับพวกผู้หญิงที่พูดถึงใน มธ 27:55; มก 15:41 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:26 ซึ่งพูดถึงคำนาม เดียคอนอส ที่เกี่ยวข้องกัน
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
พื้นหิน: ไม่ได้หมายถึงพื้นดินที่มีก้อนหินปะปนอยู่ แต่หมายถึงชั้นหินหรือพื้นหินที่มีดินอยู่เล็กน้อย บันทึกเรื่องเดียวกันที่ ลก 8:6 บอกว่าเมล็ดพืชบางส่วนตก “บนพื้นหิน” พื้นที่แบบนี้ทำให้เมล็ดพืชไม่สามารถหยั่งรากลงในดินได้ลึกพอเพื่อจะได้รับน้ำที่จำเป็น
บนพื้นหิน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:5
กลางพุ่มไม้มีหนาม: พระเยซูไม่ได้หมายถึงพุ่มหนามใหญ่ ๆ แต่หมายถึงเศษต้นหนามที่ยังเหลืออยู่ในดินหลังจากไถหน้าดินแล้ว ต้นหนามเหล่านี้จะโตขึ้นปกคลุมเมล็ดพืชที่งอกใหม่จนมิด
กลางพุ่มไม้มีหนาม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:7
ความลับ: หรือ “ความลับศักดิ์สิทธิ์” มีการแปลคำกรีก มูสเทริออน ว่า “ความลับ, ความลับศักดิ์สิทธิ์” 26 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในข้อนี้คำกรีกนี้อยู่ในรูปพหูพจน์หมายถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระเจ้าซึ่งยังไม่เปิดเผยให้รู้จนกว่าจะถึงเวลาที่พระองค์กำหนดไว้ และพระองค์จะเปิดเผยกับคนที่พระองค์เลือกให้เข้าใจอย่างเต็มที่ (คส 1:25, 26) เมื่อความลับศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าถูกเปิดเผยก็จะมีการประกาศไปอย่างกว้างขวางที่สุด เห็นได้จากการที่คัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่า “ประกาศ” “เปิดเผย” และ “ให้ . . . รู้” เมื่อพูดถึง “ความลับศักดิ์สิทธิ์” (1คร 2:1; อฟ 1:9; 3:3; คส 1:25, 26; 4:3) เรื่องหลักของ “ความลับศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” คือการระบุตัวพระเยซูคริสต์ว่าเป็น “ลูกหลาน” ตามสัญญาหรือเมสสิยาห์ (คส 2:2; ปฐก 3:15) แต่ความลับศักดิ์สิทธิ์นี้ก็มีหลายแง่มุม รวมถึงบทบาทของพระเยซูตามความประสงค์ของพระเจ้าด้วย (คส 4:3) อย่างที่พระเยซูบอกไว้ในข้อนี้ “ความลับ” นี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสวรรค์ หรือ ‘รัฐบาลของพระเจ้า’ ที่อยู่ในสวรรค์ซึ่งมีพระเยซูเป็นกษัตริย์ (มก 4:11; ลก 8:10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2) พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำว่า มูสเทริออน แตกต่างจากพวกศาสนาลึกลับในสมัยโบราณที่มักจะมีพื้นเพมาจากลัทธิบูชาการแพร่พันธุ์ที่เฟื่องฟูในศตวรรษแรก ศาสนาเหล่านี้สัญญาว่าโดยทางพิธีกรรมลึกลับ สมาชิกของพวกเขาจะได้ความเป็นอมตะ ได้รับการเปิดเผยโดยตรง และติดต่อกับเทพเจ้าได้ เห็นได้ชัดว่าความลับของพวกเขาไม่ได้อาศัยความจริง คนที่เข้าศาสนาลึกลับแบบนั้นต้องสาบานว่าจะเก็บความลับไว้กับตัว ทำให้ความลับนั้นถูกปิดซ่อนไว้ ซึ่งต่างจากความลับศักดิ์สิทธิ์ของคริสเตียนที่ต้องประกาศอย่างเปิดเผย ดังนั้น เมื่อพระคัมภีร์ ใช้คำนี้กับการนมัสการเท็จ ฉบับแปลโลกใหม่ ก็จะแปลคำนี้ว่า “ลึกลับ, ลับ ๆ”—สำหรับข้อคัมภีร์ 3 ข้อที่แปลคำ มูสเทริออน ว่า “ลึกลับ, ลับ ๆ” ดู 2ธส 2:7; วว 17:5, 7
ความลับ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:11
ตะเกียง: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ตะเกียงทั่วไปที่ใช้ในบ้านจะมีขนาดเล็ก ทำจากดินเผาและใส่น้ำมันมะกอกไว้ข้างใน
ตะเกียง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:15
พวกน้องชาย: คือน้องชายต่างพ่อของพระเยซู มีการพูดถึงชื่อพวกเขาที่ มธ 13:55 และ มก 6:3—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “น้องชาย”
พวกน้องชาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:46
แม่และพี่น้องของผม: พระเยซูกำลังแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพี่น้องจริง ๆ ของท่านซึ่งบางคนไม่มีความเชื่อในตัวท่าน (ยน 7:5) กับพี่น้องร่วมความเชื่อซึ่งก็คือสาวกของท่าน พระเยซูแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องจะมีค่ามากสำหรับท่าน แต่ความสัมพันธ์กับคนที่ฟังคำสอนของพระเจ้าและทำตามมีค่ามากกว่า
อีกฝั่งหนึ่ง: คือฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี
ลมพายุรุนแรงมาก: มาจากคำกรีก 3 คำที่แปลตรงตัวว่า “ลมเฮอร์ริเคนใหญ่” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:24) มาระโกไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่การที่เขาสามารถพรรณนาเหตุการณ์ได้ชัดเจนและให้รายละเอียดอื่น ๆ แสดงว่าเขาอาจได้ข้อมูลจากเปโตร—เพื่อจะรู้ว่าเปโตรเกี่ยวข้องอย่างไรกับหนังสือข่าวดีของมาระโก ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”
ลมพายุรุนแรง: มาจากคำกรีก 2 คำที่แปลตรงตัวว่า “ลมเฮอร์ริเคนใหญ่” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 4:37) ทะเลสาบกาลิลีจะมีพายุแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ผิวน้ำของทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 210 เมตรและมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นภูเขาและที่ราบสูง ทำให้อากาศแปรปรวนและเกิดลมแรงที่ทำให้มีคลื่นฉับพลัน
เขตแดนของชาวกาดารา: เขตแดนอีกฝั่งหนึ่ง (ฝั่งตะวันออก) ของทะเลสาบกาลิลี อาจเป็นพื้นที่ยาว 10 กม. ตั้งแต่ทะเลสาบจนถึงเมืองกาดารา เหรียญจากเมืองกาดาราจึงมักจะมีรูปเรืออยู่ด้วย ส่วนบันทึกของมาระโกและลูกาบอกว่าพระเยซูไปที่ “เขตแดนของชาวเกราซา” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:1) นี่แสดงว่าสองเขตแดนนี้อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี” และภาคผนวก ข10
ชาวเกราซา: มีการใช้ชื่อสถานที่นี้แตกต่างกันในบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน (มธ 8:28-34; มก 5:1-20; ลก 8:26-39) และสำเนาโบราณของหนังสือข่าวดีแต่ละเล่มก็มีข้อความไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในสำเนาพระคัมภีร์ที่น่าเชื่อถือที่สุดมัทธิวใช้คำว่า “เขตแดนของชาวกาดารา” ส่วนมาระโกและลูกาใช้คำว่า “เขตแดนของชาวเกราซา” แต่โดยทั่วไปทั้งสองคำหมายถึงเขตแดนเดียวกันตามที่อธิบายในข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าเขตแดนของชาวเกราซาในข้อนี้
ชาวเกราซา: มีการใช้ชื่อสถานที่นี้แตกต่างกันในบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน (มธ 8:28-34; มก 5:1-20; ลก 8:26-39) และสำเนาโบราณของหนังสือข่าวดีแต่ละเล่มก็มีข้อความไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในสำเนาพระคัมภีร์ที่น่าเชื่อถือที่สุดมัทธิวใช้คำว่า “เขตแดนของชาวกาดารา” ส่วนมาระโกและลูกาใช้คำว่า “เขตแดนของชาวเกราซา” แต่โดยทั่วไปทั้งสองคำหมายถึงเขตแดนเดียวกันตามที่อธิบายในข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าเขตแดนของชาวเกราซาในข้อนี้
เขตแดนของชาวเกราซา: เขตแดนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามซึ่งก็คือฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเขตแดนนี้อยู่ที่ไหนในปัจจุบันและมีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน บางคนบอกว่า “เขตแดนของชาวเกราซา” คือบริเวณรอบ ๆ เคอร์ซีใกล้กับไหล่เขาที่สูงชันทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี แต่บางคนบอกว่าเขตแดนนี้คือพื้นที่กว้างใหญ่รอบ ๆ เมืองเกราซา (เจราช) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลสาบกาลิลี 55 กม. มธ 8:28 เรียกบริเวณนี้ว่า “เขตแดนของชาวกาดารา” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:28; มก 5:1) แม้จะมีการใช้ชื่อต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วทั้ง 2 คำนี้หมายถึงเขตแดนเดียวกันที่อยู่ทางตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี และสองเขตแดนนี้อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ ดังนั้น บันทึกในส่วนนี้จึงไม่ขัดแย้งกัน—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี” และและภาคผนวก ข10 ด้วย
ชาวเกราซา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:1
สุสาน: หรือ “อุโมงค์รำลึก” (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”) อาจเป็นถ้ำหรือห้องที่เจาะเข้าไปในหินและมักตั้งอยู่นอกเมือง คนยิวจะไม่เข้าใกล้ที่ฝังศพเหล่านั้นเพราะจะทำให้พวกเขาไม่สะอาด นี่ทำให้สุสานเป็นที่ที่คนบ้าหรือคนที่ถูกปีศาจสิงชอบมาอยู่
ผู้ชายคนหนึ่ง . . . ถูกปีศาจสิง: ผู้เขียนหนังสือข่าวดีมัทธิว (8:28) พูดถึงผู้ชาย 2 คน แต่มาระโก (5:2) กับลูกาพูดถึงผู้ชายที่ถูกปีศาจสิงแค่คนเดียว ที่เป็นแบบนั้นอาจเป็นเพราะพระเยซูพูดกับผู้ชายคนนี้และเรื่องราวของเขาเด่นกว่า หรืออาจเป็นเพราะผู้ชายคนนี้ก้าวร้าวกว่าหรือต้องทนทุกข์เพราะถูกปีศาจสิงมานานกว่า นอกจากนั้น อาจเป็นไปได้ว่าแม้มีผู้ชาย 2 คนได้รับการรักษาให้หาย แต่มีแค่คนเดียวอยากติดตามพระเยซู—ลก 8:37-39
สุสาน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:28
มายุ่งกับผมทำไม?: คำถามนี้แปลตรงตัวว่า “เกี่ยวอะไรกับผมและคุณ?” เป็นสำนวนภาษาเซมิติกที่ใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (วนฉ 11:12; ยชว 22:24; 2ซม 16:10; 19:22; 1พก 17:18; 2พก 3:13; 2พศ 35:21; ฮชย 14:8) และในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็ใช้สำนวนนี้ด้วย (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28; ยน 2:4) สำนวนนี้อาจมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้ (มก 5:7) สำนวนนี้ถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดชังและขับไล่ไสส่ง ซึ่งผู้แปลบางคนคิดว่าน่าจะแปลว่า “อย่ามายุ่งกับผม!” หรือ “ไปไกล ๆ เลย!” ในท้องเรื่องอื่น ๆ มีการใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากทำตามที่แนะนำ โดยไม่ได้มีความรู้สึกดูถูก ถือตัว หรือเกลียดชัง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:4
ผู้คุม: คำกรีก บาซานิสเทส ที่แปลว่า “ผู้คุม” มีความหมายหลักว่า “ผู้ทรมาน” อาจเป็นเพราะในอดีตผู้คุมมักจะทรมานนักโทษอย่างทารุณ แต่ต่อมามีการใช้คำนี้ในความหมายกว้างขึ้นเพื่อหมายถึงคนที่ควบคุมดูแลนักโทษในคุก อาจเป็นเพราะการถูกขังถือเป็นการทรมานในรูปแบบหนึ่งอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการทำร้ายร่างกายด้วยหรือไม่—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:29
มายุ่งกับผมทำไม?: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:7
ทรมานผม: คำว่า “ผู้คุม” ใน มธ 18:34 มาจากคำกรีกที่เกี่ยวข้องกับคำนี้ ดังนั้น ในท้องเรื่องนี้คำว่า “ทรมาน” จึงน่าจะหมายถึงการคุมขังหรือกักขังไว้ใน “ขุมลึก” ที่พูดถึงใน ลก 8:31—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 18:34
กองพัน: ดูเหมือนว่านี่ไม่ใช่ชื่อจริงของผู้ชายที่ถูกปีศาจสิง แต่ชื่อนี้ทำให้รู้ว่ามีปีศาจหลายตนสิงอยู่ในผู้ชายคนนี้ เป็นไปได้ว่าหัวหน้าของปีศาจเหล่านี้ทำให้เขาพูดว่าชื่อกองพัน ในศตวรรษแรกปกติแล้วทหารโรมันหนึ่งกองมีทหารประมาณ 6,000 นาย ชื่อนี้จึงทำให้รู้ว่าน่าจะมีปีศาจจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:53
กองพัน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:9
ทรมานพวกเรา: คำว่า “ผู้คุม” ใน มธ 18:34 มาจากคำกรีกที่เกี่ยวข้องกับคำนี้ ดังนั้น ในท้องเรื่องนี้คำว่า “ทรมาน” จึงน่าจะหมายถึงการคุมขังหรือกักขังไว้ใน “ขุมลึก” ที่พูดถึงใน ลก 8:31 ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน
ขุมลึก: หรือ “ที่ลึก” คำกรีก อาบูสซอส ที่แปลว่า “ลึกมาก ๆ” หรือ “ลึกจนหยั่งไม่ถึง, ไร้ขอบเขต” หมายถึงสถานที่สำหรับกักขังหรือสภาพที่ถูกกักขัง ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำนี้ 9 ครั้ง คือในข้อนี้ และที่ รม 10:7 และอีก 7 ครั้งอยู่ในหนังสือวิวรณ์ บันทึกที่ วว 20:1-3 พูดถึงการเหวี่ยงซาตานลงไปในขุมลึกและขังไว้เป็นเวลา 1,000 ปี พวกปีศาจที่ขอร้องพระเยซูไม่ให้ส่งพวกมัน “ไปขุมลึก” อาจคิดถึงเหตุการณ์นี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และในข้อ 28 ปีศาจตนหนึ่งขอร้องพระเยซูว่าอย่า “ทรมาน” มัน ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 8:29 พวกปีศาจถามพระเยซูว่า “จะมาทรมานพวกเราก่อนเวลาที่พระเจ้ากำหนดไว้หรือ?” ดังนั้น การ “ทรมาน” ที่พวกปีศาจกลัวน่าจะหมายถึงการถูกขังใน “ขุมลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์ และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:29
หมู: หมูเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาดตามกฎหมายของโมเสส (ลนต 11:7) แต่มีตลาดขายหมูอยู่ในชุมชนของคนต่างชาติในเขตเดคาโปลิสเพราะทั้งชาวกรีกและชาวโรมันถือว่าหมูเป็นอาหารชั้นเลิศ พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่า “คนเลี้ยงหมู” เป็นคนยิวที่ทำผิดกฎหมายหรือเป็นคนต่างชาติ—ลก 8:34
ไปเล่าให้คนอื่นฟังว่าพระเจ้าช่วยคุณยังไง: ปกติแล้วพระเยซูจะห้ามไม่ให้ป่าวประกาศเรื่องการอัศจรรย์ที่ท่านทำ (มก 1:44; 3:12; 7:36; ลก 5:14) แต่คราวนี้พระเยซูสั่งให้ผู้ชายคนนี้ไปเล่าให้ญาติ ๆ ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น นี่อาจเป็นเพราะท่านถูกขอให้ออกไปจากเขตนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะประกาศกับคนที่นั่นด้วยตัวเอง และเรื่องที่ผู้ชายคนนี้เล่าคงช่วยแก้ข่าวลือในแง่ลบที่ว่าพระเยซูทำให้หมูตายทั้งฝูง
ทั่วเมืองนั้น: ในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มก 5:20 ใช้คำว่า “ในเขตเดคาโปลิส” ดังนั้น เมืองที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะหมายถึงเมืองหนึ่งที่อยู่ในเขตเดคาโปลิส—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เดคาโปลิส”
ลูกคนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่แปลว่า “คนเดียว” ในข้อนี้มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” คัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้กับทั้งลูกชายและลูกสาว (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 7:12; 8:42; 9:38) ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน มีการใช้คำนี้กับพระเยซูเท่านั้น (ยน 3:16, 18; 1ยน 4:9) แต่ไม่เคยใช้กับท่านตอนที่เป็นมนุษย์ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ยอห์นใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระเยซูก่อนที่ท่านจะมาเกิดเป็นมนุษย์ ตอนที่ท่านเป็นลอกอสหรือโฆษกที่ “อยู่กับพระเจ้าในตอนเริ่มต้น” คือ “ก่อนจะมีโลกนี้” ด้วยซ้ำ (ยน 1:1, 2; 17:5, 24) แม้ทูตสวรรค์อื่น ๆ ถูกเรียกว่า “ลูก ๆ ของพระเจ้าเที่ยงแท้” หรือ “ลูกของพระเจ้า” (ปฐก 6:2, 4; โยบ 1:6; 2:1; 38:4-7) แต่พระเยซูเท่านั้นที่ถูกเรียกว่า “ลูกคนเดียว” เพราะท่านเป็นลูกคนแรกของพระยะโฮวาและเป็นผู้เดียวที่พระเจ้าสร้างเองโดยตรง พระยะโฮวาสร้างทูตสวรรค์ทั้งหมดโดยทาง พระเยซูลูกคนแรกของพระองค์ (คส 1:15, 16) สรุปคือ คำว่า มอนอเกะเนส หมายถึงการที่พระเยซู “ไม่เหมือนใคร” และท่านเป็นลูกคนเดียวที่พระเจ้าสร้างโดยตรง—1ยน 5:18
ลูกคนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่มักจะแปลว่า “ที่ได้รับกำเนิดเพียงคนเดียว” มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน มีการใช้คำนี้กับพระเยซูเท่านั้น (ยน 1:14; 3:18; 1ยน 4:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:14) แม้ทูตสวรรค์อื่น ๆ ถูกเรียกว่าลูกของพระเจ้าด้วย แต่พระเยซูเท่านั้นที่ถูกเรียกว่า “ลูกคนเดียว” (ปฐก 6:2, 4; โยบ 1:6; 2:1; 38:4-7) เพราะท่านเป็นลูกคนแรกของพระยะโฮวาและเป็นผู้เดียวที่พระเจ้าสร้างเองโดยตรง ท่านจึงไม่เหมือนลูกคนอื่น ๆ ของพระเจ้า พระยะโฮวาสร้างพวกทูตสวรรค์โดยทาง พระเยซูลูกคนแรกของพระองค์ เปาโลก็ใช้คำกรีก มอนอเกะเนส ในความหมายคล้ายกันตอนที่บอกว่าอิสอัคเป็น “ลูกชายคนเดียว” ของอับราฮัม (ฮบ 11:17) ถึงแม้อับราฮัมจะมีลูกกับฮาการ์ที่ชื่ออิชมาเอล และยังมีลูกอีกหลายคนกับเคทูราห์ด้วย (ปฐก 16:15; 25:1, 2; 1พศ 1:28, 32) แต่อิสอัคเป็น “ลูกชายคนเดียว” ในความหมายพิเศษ นั่นคือเป็นลูกชายคนเดียวที่พระเจ้าสัญญากับอับราฮัม และเป็นลูกชายคนเดียวที่เกิดจากซาราห์—ปฐก 17:16-19
คนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่มักจะแปลว่า “ที่ได้รับกำเนิดเพียงคนเดียว” มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” คำนี้ใช้ได้กับทั้งลูกชายและลูกสาว ในท้องเรื่องนี้คำนี้หมายถึงลูกคนเดียว มีการใช้คำกรีกนี้กับลูกชาย “คนเดียว” ของแม่ม่ายในเมืองนาอินและลูกชาย “คนเดียว” ของผู้ชายคนหนึ่งที่พระเยซูไล่ปีศาจออกไป (ลก 7:12; 9:38) ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ใช้คำ มอนอเกะเนส เมื่อพูดถึงลูกสาวของเยฟธาห์ว่า “เธอเป็นลูกคนเดียวของเขา นอกจากเธอแล้วเขาไม่มีลูกชายหรือลูกสาวอีกเลย” (วนฉ 11:34) ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน เขาใช้คำ มอนอเกะเนส 5 ครั้งเมื่อพูดถึงพระเยซู—สำหรับความหมายของคำนี้เมื่อใช้กับพระเยซู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:14; 3:16
ตกเลือด: ดูเหมือนว่าเธอมีเลือดประจำเดือนไหลอยู่ตลอดเวลา ตามกฎหมายของโมเสส การมีประจำเดือนทำให้ผู้หญิงไม่สะอาด ดังนั้น เธอจะสัมผัสตัวคนอื่นไม่ได้—ลนต 15:19-27
ตกเลือด: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 9:20
ลูก: แปลตรงตัวว่า “ลูกสาว” นี่เป็นเหตุการณ์เดียวในคัมภีร์ไบเบิลที่พระเยซูเรียกผู้หญิงว่า “ลูก” อาจเป็นเพราะท่านเห็นว่าเธออยู่ในสถานการณ์ที่น่าสงสารและกำลัง “กลัวจนตัวสั่น” (มก 5:33; ลก 8:47) การใช้คำที่แสดงความรักนี้แสดงว่าพระเยซูเป็นห่วงเธอมาก ไม่ได้บ่งบอกว่าผู้หญิงคนนั้นอายุเท่าไร
ขอให้สบายใจเถอะ: มีการใช้สำนวนนี้บ่อย ๆ ทั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกและภาษาฮีบรูซึ่งมีความหมายว่า “ขอให้อยู่ดีมีสุข” (ลก 7:50; 8:48; ยก 2:16; เทียบกับ 1ซม 1:17; 20:42; 25:35; 29:7; 2ซม 15:9; 2พก 5:19) คำฮีบรูที่มักแปลว่า “สันติสุข” (ชาโลม) มีความหมายกว้าง อาจหมายถึงสภาพการณ์ที่ไม่มีสงครามหรือความวุ่นวาย (วนฉ 4:17; 1ซม 7:14; ปญจ 3:8) และยังหมายถึงการมีสุขภาพดี ปลอดภัย อยู่ดีมีสุข (1ซม 25:6, เชิงอรรถ; 2พศ 15:5; โยบ 5:24, เชิงอรรถ) มีความเป็นอยู่ที่ดี (อสธ 10:3) และมีมิตรภาพที่ดี (สด 41:9) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีกที่แปลว่า “สันติสุข” หรือ “สงบสุข” (เอ่เรเน ) มักถูกใช้ในความหมายกว้าง ๆ เหมือนกับภาษาฮีบรู คือ หมายถึงสภาพการณ์ที่ไม่มีความขัดแย้ง และยังหมายถึงความเป็นอยู่ที่ดี ความรอด และการไม่แตกแยกกัน
ลูก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:34
ขอให้สบายใจเถอะ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:34
ไม่ได้ตาย แต่นอนหลับอยู่: คัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงความตายว่าเป็นเหมือนการนอนหลับ (สด 13:3; ยน 11:11-14; กจ 7:60; 1คร 7:39; 15:51; 1ธส 4:13) พระเยซูกำลังจะปลุกเด็กผู้หญิงคนนี้ให้ฟื้นขึ้นตาย ดังนั้น ท่านอาจพูดแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนตายแล้วจะถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาได้เหมือนการปลุกคนที่นอนหลับสนิทให้ตื่นขึ้นมา พระเยซูสามารถปลุกเด็กผู้หญิงคนนี้ให้ฟื้นจากตายเพราะท่านได้รับอำนาจจากพ่อของท่านซึ่งเป็นพระเจ้าที่ ‘ทำให้คนตายมีชีวิตอีกได้ และพูดถึงสิ่งที่ยังไม่มีเหมือนกับว่ามีอยู่แล้ว’—รม 4:17
ไม่ได้ตาย แต่นอนหลับอยู่: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:39
สิ้นใจตาย: หรือ “หมดลม, หยุดหายใจ” คำว่า “ใจ” (คำกรีก พะนือมา) ในข้อนี้อาจหมายถึง “ลมหายใจ” หรือ “พลังชีวิต” ที่สรุปได้แบบนั้นเพราะบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มก 15:37 ตอนที่พระเยซูสิ้นใจตายมีการใช้คำกริยากรีก เอ็คพะเนะโอ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “หายใจออก” บางคนคิดว่าการใช้คำกรีกที่แปลว่า “สิ้นใจ” หมายความว่าพระเยซูไม่พยายามอีกต่อไปที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะท่านทำทุกอย่างสำเร็จแล้ว (ยน 19:30) ท่านเต็มใจ “ยอมพลีชีวิต”—อสย 53:12; ยน 10:11
ชีวิต: คำกรีก พะนือมา ในข้อนี้อาจหมายถึง “ลมหายใจ” หรือ “พลังชีวิต” ที่อยู่ในตัวมนุษย์และสัตว์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:50
วีดีโอและรูปภาพ

นี่คือภาพเชิงตะเกียงในบ้าน (หมายเลข 1) ที่วาดโดยมีต้นแบบจากเชิงตะเกียงโบราณจากศตวรรษแรกที่พบในเมืองเอเฟซัส (ประเทศตุรกี) และประเทศอิตาลี ดูเหมือนว่านี่เป็นเชิงตะเกียงแบบที่ใช้กันในบ้านของคนรวย ในบ้านที่จนกว่าจะแขวนตะเกียงลงมาจากเพดานหรือวางไว้ในช่องที่ผนัง (หมายเลข 2) หรือไม่ก็วางไว้บนเชิงตะเกียงที่ทำจากดินหรือไม้

ภาพจำลองนี้มีต้นแบบมาจากซากเรือหาปลาในศตวรรษแรกที่พบในโคลนใกล้ชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี และอาศัยข้อมูลจากภาพโมเสกที่พบในบ้านหลังหนึ่งสมัยศตวรรษแรกในเมืองมิกดัลที่อยู่ติดทะเล เรือแบบนี้อาจมีเสากระโดงหนึ่งต้นและใบเรือ อาจมีชาวประมงอยู่ในเรือ 5 คน มี 4 คนทำหน้าที่พายเรือ และอีก 1 คนคอยคัดท้ายเรือโดยยืนอยู่บนแผ่นไม้เล็ก ๆ ท้ายเรือ เรือนี้ยาวประมาณ 8 เมตร กลางเรือกว้างประมาณ 2.5 เมตรและลึก 1.25 เมตร ดูเหมือนว่าเรือแบบนี้สามารถจุคนได้ 13 คนหรือมากกว่านั้น

ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในปี 1985-1986 ทำให้น้ำในทะเลสาบกาลิลีลดลงจนเห็นซากเรือที่จมอยู่ในโคลน ซากเรือนี้ยาว 8.2 เมตร กว้าง 2.3 เมตร และท้องเรือส่วนที่ลึกที่สุดมีความลึก 1.3 เมตร นักโบราณคดีบอกว่าเรือนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 100 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 100 วีดีโอนี้แสดงให้เห็นแบบจำลองเรือลำนี้ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในอิสราเอล เรือน่าจะมีลักษณะแบบนี้ตอนที่มันอยู่ในทะเลสาบกาลิลีเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว

เหตุการณ์ที่พระเยซูขับไล่ปีศาจออกจากผู้ชาย 2 คนและให้มันเข้าไปสิงในหมูฝูงหนึ่งเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี

ผู้หญิงคนนี้เงยหน้ามองพระเยซูด้วยความตกใจกลัว เธอกลัวจนตัวสั่นและสารภาพว่าได้แตะชายเสื้อพระเยซูเพราะอยากหายจากโรคที่ทำให้เธอทุกข์ทรมานมา 12 ปี พระเยซูไม่ได้ตำหนิเธอ แต่พูดอย่างอ่อนโยนว่า “ความเชื่อของลูกทำให้ลูกหายโรคแล้ว ขอให้สบายใจเถอะ” (ลก 8:48) พระเยซูทำการอัศจรรย์นี้ตอนที่กำลังเดินทางไปรักษาลูกสาวของไยรอส (ลก 8:41, 42) การอัศจรรย์เหล่านี้แสดงว่าพระเยซูมีอำนาจที่จะรักษาโรคทุกชนิด และเมื่อถึงเวลาที่ท่านปกครองเป็นกษัตริย์ จะไม่มีมนุษย์คนไหนที่อยู่ใต้การปกครองของท่านพูดว่า “ฉันป่วย”—อสย 33:24