เขียนโดยลูกา 24:1-53
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
วันแรกของสัปดาห์: คือวันที่ 16 เดือนนิสาน สำหรับชาวยิววันถัดจากวันสะบาโตจะนับเป็นวันแรกของสัปดาห์
ซื้อเครื่องหอม . . . เทบนศพของพระเยซู: ตอนนั้นศพของพระเยซูถูกเตรียมไว้แล้วสำหรับฝัง “ตามธรรมเนียมการฝังศพของชาวยิว” (ยน 19:39, 40) แต่เนื่องจากพระเยซูตายประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนที่วันสะบาโตจะเริ่มและชาวยิวไม่สามารถเตรียมศพในวันสะบาโตได้ พวกเขาจึงต้องรีบเตรียมศพพระเยซู ดังนั้น ทันทีที่วันสะบาโตผ่านพ้นไป คือวันที่ 3 หลังจากพระเยซูถูกประหาร พวกผู้หญิงจึงอาจเอาเครื่องหอมและน้ำมันมาเทเพิ่มบนศพของท่านเพื่อรักษาศพให้อยู่ได้นานขึ้น (ลก 23:50-24:1) ดูเหมือนว่าพวกเธอเทเครื่องหอมและน้ำมันลงบนศพของพระเยซูที่ห่อผ้าไว้
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก” เป็นห้องหรือช่องที่เจาะเข้าไปในหินปูนเนื้ออ่อน ไม่ได้เป็นถ้ำตามธรรมชาติ ในอุโมงค์แบบนี้มักจะมีชั้นยาวหรือซอกบนผนังที่ใช้วางศพ—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
วันแรกของสัปดาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:1
เครื่องหอมที่เตรียมไว้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 16:1
อุโมงค์ฝังศพ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:60
หินก้อนหนึ่ง: ดูเหมือนเป็นแผ่นหินกลม เพราะในข้อนี้บอกว่าหินก้อนนี้ถูกกลิ้งมาปิดปากอุโมงค์ และตอนที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย มก 16:4 ก็บอกว่าหินนี้ “ถูกกลิ้งออกไป” หินนี้น่าจะหนักประมาณ 1 ตันหรือมากกว่านั้น บันทึกในมัทธิวใช้คำว่า “หินก้อนใหญ่”—มธ 27:60
ก้อนหิน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:46
พระเยซูผู้เป็นนาย: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความส่วนนี้ แต่สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่หลายฉบับใช้ข้อความที่ยาวกว่า—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำเนาเก่าแก่ที่ช่วยยืนยันข้อความดั้งเดิมในต้นฉบับภาษากรีก ดูภาคผนวก ก3
ผู้ชาย 2 คนใส่เสื้อผ้าที่สว่างสดใส: นี่เป็นการพูดถึงทูตสวรรค์แบบอ้อม ๆ (เทียบกับ ลก 24:23) บันทึกที่ กจ 1:10 ก็พูดถึงทูตสวรรค์โดยใช้คำว่า “ผู้ชายสองคนสวมเสื้อขาว”
ท่านไม่อยู่ที่นี่หรอกเพราะท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาแล้ว: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อความนี้—ดูภาคผนวก ก3
ประหารท่านบนเสา: หรือ “ทำให้ติดอยู่กับเสา” นี่เป็นครั้งแรกในมากกว่า 40 ครั้งที่มีการใช้คำกริยากรีก สเทารอโอ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำนามของคำกริยากรีกนี้คือ สเทารอส ซึ่งแปลว่า “เสาทรมาน” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:38; 16:24; 27:32 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เสา”; “เสาทรมาน”) มีการใช้คำกริยานี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสธ 7:9 ข้อนั้นพูดถึงการสั่งให้แขวนฮามานไว้บนเสาที่สูงกว่า 20 เมตร และในวรรณกรรมกรีกโบราณ คำกริยานี้หมายถึง “ล้อมรั้วด้วยไม้แหลม, ทำรั้วไม้ป้องกัน”
ถูกประหารบนเสา: หรือ “ถูกทำให้ติดอยู่กับเสา”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:19 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เสา”; “เสาทรมาน”
จากอุโมงค์ฝังศพ: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อความนี้
เล่าเรื่องทั้งหมดให้อัครสาวก 11 คน: ทูตสวรรค์ 2 องค์ที่ ลก 24:4 พูดถึงจะไปบอกสาวกผู้ชายของพระเยซูให้รู้เรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของท่านเป็นกลุ่มแรกก็ได้ แต่ทูตสวรรค์กลับบอกพวกผู้หญิงก่อน (ลก 24:6-9; ยน 20:11-18) และพวกผู้หญิงก็ได้รับเกียรติให้ไปบอกเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูให้ “อัครสาวก 11 คนกับคนอื่น ๆ” ได้รู้ด้วย และมารีย์มักดาลาก็เป็นสาวกคนแรก ๆ ที่ได้เห็นพระเยซูหลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตาย—ยน 20:16; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:7
ไปบอกพวกสาวกว่า ‘พระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว’: ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่สาวกกลุ่มแรกที่ได้รู้เรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู แต่ยังได้รับคำสั่งให้ไปบอกสาวกคนอื่น ๆ ด้วย (มธ 28:2, 5, 7) ตามคำสอนสืบปากของชาวยิวที่ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ต่างในศาล แต่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาให้เกียรติผู้หญิงเหล่านี้โดยให้พวกเธอได้ทำงานมอบหมายที่น่ายินดี
มารีย์ที่เรียกกันว่ามักดาลา: มีการพูดถึงมารีย์มักดาลาครั้งแรกในข้อนี้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช่วงปีที่ 2 ที่พระเยซูทำงานประกาศ ชื่อมักดาลา (แปลตรงตัวว่า “จากมักดาลา หรือเป็นของมักดาลา”) น่าจะมาจากชื่อเมืองมักดาลาซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทะเลสาบกาลิลี ประมาณครึ่งทางระหว่างเมืองคาเปอร์นาอุมกับเมืองทิเบเรียส เชื่อกันว่ามักดาลาเป็นบ้านเกิดของมารีย์หรือเป็นที่ที่เธออาศัยอยู่ มารีย์มักดาลาถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่พระเยซูตายและฟื้นขึ้นจากตาย—มธ 27:55, 56, 61; มก 15:40; ลก 24:10; ยน 19:25
มารีย์มักดาลา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:2
โยอันนา: เป็นชื่อแบบสั้นสำหรับผู้หญิงซึ่งมาจากชื่อฮีบรูเยโฮฮานันที่หมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” โยอันนาเป็นภรรยาของคูซาข้าราชการคนหนึ่งของเฮโรดอันทีพาส พระเยซูเคยรักษาโรคให้เธอ มีการพูดถึงเธอแค่ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และทั้ง 2 ครั้งอยู่ในหนังสือข่าวดีของลูกา—ลก 8:2, 3
. . . เกิดอะไรขึ้น: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อนี้—ดูภาคผนวก ก3
ประมาณ 11 กิโลเมตร: แปลตรงตัวว่า “60 สทาดิอ็อน” ซึ่ง 1 สทาดิอ็อนเท่ากับ 185 เมตร—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ไมล์” และภาคผนวก ข14
อธิบาย: คำกรีก ดิเออร์เมนือโอ อาจใช้เพื่อหมายถึง “การแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง” ก็ได้ (1คร 12:30) แต่คำนี้ยังมีความหมายว่า “การช่วยให้เข้าใจความหมายชัดเจน, การอธิบายอย่างเต็มที่” ในข้อนี้คำกรีกนี้หมายถึงการอธิบายความหมายของคำพยากรณ์
ประทับใจ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แรงกล้า เช่น รู้สึกดีใจหรือมีความสุข รวมถึงความสนใจอย่างมากและความกระตือรือร้น ในข้อนี้ใช้คำนี้เมื่อพูดถึงความรู้สึกของสาวก 2 คนตอนที่พระเยซูอธิบายให้พวกเขาเข้าใจข้อคัมภีร์อย่างละเอียด
อธิบายให้พวกเราเข้าใจข้อคัมภีร์อย่างละเอียด: คำกริยากรีก เดียนอยโก ที่ในข้อนี้แปลว่า “อธิบาย . . . อย่างละเอียด” มีอยู่ 3 ครั้งในบทนี้ ครั้งแรกคือใน ลก 24:31 ซึ่งพูดถึงสาวก 2 คนที่ “เห็น” การอัศจรรย์ของพระเยซูและรู้ว่าคนที่เขาคุยด้วยคือท่าน ครั้งที่สองคือในข้อนี้ที่ ลก 24:32 ซึ่งใช้คำนี้เพื่อหมายถึง “อธิบายอย่างละเอียด” และครั้งที่สามคือใน ลก 24:45 ซึ่งมีการใช้คำกรีกนี้เมื่อบอกว่าพระเยซูช่วยให้พวกสาวกเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูอย่างชัดเจน—ดู กจ 7:56 คำว่า “เปิดออก”; 16:14 คำว่า “เปิดใจ” และ 17:3 คำว่า “อธิบาย [แปลตรงตัวว่า “เปิดออกอย่างเต็มที่”]” ซึ่งใช้คำกรีกเดียวกันนี้
และพูดว่า “สวัสดีทุกคน”: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อความนี้
ทูตสวรรค์: ถึงแม้คำกรีก พะนือมา อาจหมายถึงทูตสวรรค์ แต่ในข้อนี้อาจมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงภาพลวงตาหรือนิมิต พระเยซูให้สาวกดูมือและเท้าของท่านและบอกว่า “จับมือจับเท้าของผมดูสิ เพราะทูตสวรรค์ไม่มีเนื้อและกระดูกอย่างที่พวกคุณเห็นอยู่นี้” (ลก 24:39) คำพูดของพระเยซูทำให้รู้ว่าตอนนั้นท่านใช้ร่างกายแบบมนุษย์เพื่อให้พวกสาวกเห็นได้ เหมือนที่พวกทูตสวรรค์ในอดีตเคยทำ—ปฐก 18:1-8; 19:1-3
มือ . . . เท้าของผม: เป็นธรรมเนียมของพวกโรมันที่จะตอกมือ (และอาจรวมถึงเท้า) ของคนที่ถูกประหารให้ติดกับเสาเหมือนที่พวกเขาทำกับพระเยซู (สด 22:16; ยน 20:25, 27; คส 2:14) ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่ามีการตอกตะปู 1 ตัวหรือมากกว่านั้นที่เท้าของพระเยซูเพื่อให้เท้าของท่านติดอยู่กับเสาหรือแผ่นไม้เล็ก ๆ ที่ยึดกับเสา
. . . ให้พวกเขาดู: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อนี้—ดูภาคผนวก ก3
ปลา: สำเนาพระคัมภีร์ยุคหลังบางฉบับเพิ่มข้อความว่า “กับรวงผึ้งชิ้นหนึ่ง” แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ไม่มีข้อความนี้
ในกฎหมายของโมเสส ในหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ และในหนังสือสดุดี: ดูเหมือนในข้อนี้พระเยซูจัดกลุ่มพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ได้รับการดลใจในแบบที่ชาวยิวใช้และคุ้นเคย คำว่า “กฎหมายของโมเสส” (ภาษาฮีบรู โทห์ราห์) หมายถึงหนังสือปฐมกาลถึงเฉลยธรรมบัญญัติ ส่วนคำว่า “หนังสือของพวกผู้พยากรณ์” (ภาษาฮีบรู เนวิม) หมายถึงหนังสือต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่บันทึกคำพยากรณ์ซึ่งรวมถึงหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ยุคแรก (ตั้งแต่โยชูวาถึงพงศ์กษัตริย์) และคำว่า “หนังสือสดุดี” หมายถึงส่วนที่ 3 ซึ่งรวมเอาหนังสือที่เหลือในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด ส่วนนี้บางครั้งเรียกว่า “งานเขียน” หรือในภาษาฮีบรูคือ เคทูวิม เหตุผลที่เรียกส่วนนี้ว่า “หนังสือสดุดี” เพราะหนังสือนี้เป็นเล่มแรกของส่วนที่ 3 ชาวยิวเรียกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูว่า “ทานักห์” ซึ่งมาจากการเอาตัวอักษรแรกของ 3 ส่วนนี้มารวมกัน การที่พระเยซูจัดกลุ่มแบบนี้แสดงให้เห็นว่าตอนที่ท่านอยู่บนโลกมีการกำหนดสารบบของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูแล้ว และท่านก็เห็นด้วยกับการจัดสารบบแบบนี้
พวกคุณจะเป็นพยาน: นี่เป็นครั้งแรก ๆ ที่พระเยซูบอกให้สาวก “เป็นพยาน” เกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของท่าน ซึ่งรวมถึงการตายและการฟื้นขึ้นจากตายของท่าน (เทียบกับ ยน 15:27) สาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูเป็นพยานให้พระยะโฮวาและยืนยันว่าพระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้อยู่แล้วเพราะพวกเขาเกิดในชาติยิว (อสย 43:10-12; 44:8) ประมาณ 40 วันหลังจากเหตุการณ์ที่บันทึกในข้อนี้ พระเยซูก็พูดเรื่องนี้อีกและเน้นกับพวกเขาเรื่องงานมอบหมายใหม่ที่ให้เป็นพยานเกี่ยวกับตัวท่าน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:8
พยานของผม: เนื่องจากสาวกรุ่นแรกของพระเยซูเป็นชาวยิวที่ซื่อสัตย์ พวกเขาจึงเป็นพยานของพระยะโฮวาอยู่แล้ว และพวกเขายืนยันว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว (อสย 43:10-12; 44:8) แต่ตอนนี้พวกเขาต้องเป็นทั้งพยานของพระยะโฮวาและ ของพระเยซู พวกเขาต้องทำให้ผู้คนรู้ว่าพระเยซูมีบทบาทสำคัญมากในการทำให้ชื่อของพระยะโฮวาเป็นที่เคารพนับถือโดยทางรัฐบาลเมสสิยาห์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระเจ้า มีการพบคำกรีกที่แปลว่า “พยาน” (มาร์ทูส) “เป็นพยานยืนยัน” (มาร์ทูเระโอ) และ “ประกาศ . . . ให้ทั่วถึง” (เดียมาร์ทูรอไม) และคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพยานในหนังสือกิจการมากเป็นอันดับสองรองจากหนังสือยอห์น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:7) การเป็นพยานและการประกาศอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งรวมถึงเรื่องรัฐบาลของพระองค์และบทบาทของพระเยซูเป็นเรื่องหลักที่อยู่ในหนังสือกิจการตลอดทั้งเล่ม (กจ 2:32, 40; 3:15; 4:33; 5:32; 8:25; 10:39; 13:31; 18:5; 20:21, 24; 22:20; 23:11; 26:16; 28:23) คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกเป็นพยานรู้เห็นเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู และพวกเขาได้ยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความจริง (กจ 1:21, 22; 10:40, 41) ส่วนคนที่เข้ามาเชื่อพระเยซูทีหลังก็เป็นพยานของพระเยซูในแง่ที่ว่าพวกเขาประกาศให้คนอื่นรู้ว่าชีวิต ความตาย และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูสำคัญอย่างไร—กจ 22:15; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:37
ตามที่พ่อของผมสัญญาไว้: หมายถึงการให้พลังบริสุทธิ์ตามที่พระเจ้าสัญญาไว้ใน ยอล 2:28, 29 และ ยน 14:16, 17, 26 พลังนี้จะช่วยให้สาวกของพระเยซูมีกำลังที่จะเป็นพยานไปทั่วโลก—กจ 1:4, 5, 8; 2:33
กรุงนี้: คือกรุงเยรูซาเล็ม
เบธานี: หมู่บ้านบนไหล่เขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขามะกอกห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 3 กม. (ยน 11:18) บ้านของมาร์ธา มารีย์ และลาซารัสอยู่ในหมู่บ้านนี้ ดูเหมือนว่าพระเยซูมักจะพักอยู่กับพวกเขาช่วงที่ท่านทำงานรับใช้ในแคว้นยูเดีย (ยน 11:1) ปัจจุบัน ที่นั่นมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า “ที่อยู่ของลาซารัส”
จากนั้น: กจ 1:3-9 แสดงให้เห็นว่าพระเยซูกลับไปสวรรค์หลังจากที่ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว 40 วัน ดังนั้น บันทึกเหตุการณ์ในข้อนี้จนจบบทซึ่งเกิดขึ้นในวันที่พระเยซูกลับไปสวรรค์ (วันที่ 25 เดือนอียาร์) จึงไม่ได้ต่อเนื่องทันทีกับเหตุการณ์ใน ลก 24:1-49 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย (วันที่ 16 เดือนนิสาน)—ดูภาคผนวก ก7
เบธานี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:17
ถูกรับขึ้นไปบนสวรรค์: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อความนี้ นอกจากนั้น ลูกายังบอกที่ กจ 1:1, 2 ว่าใน “หนังสือเล่มแรก” ของเขาซึ่งก็คือในหนังสือข่าวดี เขาได้บันทึกเรื่องราวชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู “จนถึงวันที่ท่านถูกรับไปสวรรค์” จึงเหมาะที่หนังสือข่าวดีของลูกาซึ่งได้รับการดลใจจะมีข้อความนี้ที่บอกว่าพระเยซูถูกรับขึ้นไปบนสวรรค์
เคารพ: หรือ “คำนับ” เมื่อใช้คำกริยากรีก พะรอสคูเนะโอ กับพระหรือเทพเจ้า ก็จะแปลคำนี้ว่า “นมัสการ” แต่ในท้องเรื่องนี้ พวกโหรกำลังถามหา “เด็กที่เกิดมาที่จะเป็นกษัตริย์ ของชาวยิว” จึงเห็นได้ชัดว่าพวกเขามาเคารพกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่พระ มีการใช้คำกรีกนี้ในความหมายเดียวกันนี้ที่ มก 15:18, 19 ด้วย ในข้อนั้น พวกทหารล้อเลียนพระเยซูโดย “คำนับ” ท่านและเรียกท่านว่า “กษัตริย์ของชาวยิว”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 18:26
แสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ให้เกียรติ” พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูพูดถึงบางคนที่คำนับหรือทำความเคารพเมื่อพวกเขาเจอผู้พยากรณ์ กษัตริย์ หรือคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า (1ซม 25:23, 24; 2ซม 14:4-7; 1พก 1:16; 2พก 4:36, 37) ดูเหมือนว่าผู้ชายโรคเรื้อนคนนี้รู้ว่าเขากำลังพูดกับตัวแทนของพระเจ้าซึ่งมีอำนาจรักษาโรคให้กับผู้คน จึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่เขาจะคำนับพระเยซูเพื่อแสดงว่าเขาเคารพผู้ที่พระยะโฮวาแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์—มธ 9:18; สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำกรีกนี้ ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2
หมอบลงแสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ทำความเคารพ” คนเหล่านี้ยอมรับว่าพระเยซูเป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขาแสดงความเคารพท่านไม่ใช่ในฐานะพระหรือเทพเจ้า แต่ในฐานะ “ลูกของพระเจ้า”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 18:26
คำนับ: หรือ “ทำความเคารพ” ดูเหมือนการที่ผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวยิวคนนี้เรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานดาวิด” (มธ 15:22) แสดงว่าเธอยอมรับว่าท่านเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ เธอคำนับท่านไม่ใช่ในฐานะพระหรือเทพเจ้า แต่ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 14:33; 18:26
หมอบลงแสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ทำความเคารพ” เมื่อใช้คำกริยากรีก พะรอสคูเนะโอ กับพระหรือเทพเจ้า ก็จะแปลคำนี้ว่า “นมัสการ” (มธ 4:10; ลก 4:8) แต่ในท้องเรื่องนี้ พวกสาวกยอมรับว่าพระเยซูซึ่งฟื้นขึ้นจากตายแล้วเป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขาจึงหมอบลงแสดงความเคารพท่านไม่ใช่ในฐานะพระเจ้า แต่ในฐานะ “ลูกของพระเจ้า” ซึ่งก็คือ “ลูกมนุษย์” หรือเมสสิยาห์ที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้า (ลก 1:35; มธ 16:13-16; ยน 9:35-38) ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็พูดถึงบางคนที่คำนับหรือทำความเคารพเมื่อพวกเขาเจอผู้พยากรณ์ กษัตริย์ หรือคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า (1ซม 25:23, 24; 2ซม 14:4; 1พก 1:16; 2พก 4:36, 37) หลายครั้งผู้คนหมอบลงแสดงความเคารพพระเยซูเพื่อขอบคุณที่พวกเขาได้เห็นการเปิดเผยจากพระเจ้าหรือได้เห็นว่าพระเจ้าเมตตาพวกเขา—มธ 14:32, 33; 28:5-10, 16-18; ยน 9:35, 38; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 14:33; 15:25 ด้วย
หมอบลงแสดงความเคารพแล้ว: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่มีข้อความนี้—ดูภาคผนวก ก3
หนังสือเล่มแรก: ลูกากำลังพูดถึงหนังสือข่าวดีของเขาซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซู ในหนังสือนั้นลูกาเน้น “สิ่งที่พระเยซูสอนและทำทั้งหมดตั้งแต่ต้น” หนังสือกิจการเป็นเรื่องราวต่อจากหนังสือลูกาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่สาวกของพระเยซูพูดและทำ หนังสือทั้ง 2 เล่มของลูกาใช้คำและสไตล์การเขียนที่คล้ายกันและทั้ง 2 เล่มเขียนถึงเธโอฟีลัส แต่ลูกาไม่ได้บอกชัดว่าเธโอฟีลัสเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์หรือไม่ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:1) ลูกาเริ่มต้นหนังสือกิจการด้วยการสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาบันทึกไว้ในตอนท้ายของหนังสือข่าวดี ทำให้เห็นว่าหนังสือกิจการเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากหนังสือเล่มแรกที่เขาเขียน แต่ตอนต้นของหนังสือกิจการ ลูกาใช้คำที่ต่างจากที่ใช้ในหนังสือข่าวดีของเขาเล็กน้อย และเขายังให้รายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่างด้วย—เปรียบเทียบข้อคัมภีร์ที่ ลก 24:49 กับ กจ 1:1-12
พวกเขาสรรเสริญพระเจ้าที่วิหารเป็นประจำ: หลังจากพระเยซูถูกประหาร พวกสาวกก็กลัวศัตรูมากจนต้องไปพบกันในบ้านที่ใส่กลอนประตูไว้แน่นหนา (ยน 20:19, 26) แต่พวกเขามีกำลังใจขึ้นเมื่อได้รับความเข้าใจที่ชัดเจนหลายอย่างจากพระเยซู (กจ 1:3) และได้เห็นท่านกลับขึ้นไปสวรรค์หลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตายได้ 40 วัน พวกเขาสรรเสริญพระเจ้าในที่สาธารณะอย่างกล้าหาญ หลังจากเขียนหนังสือข่าวดีแล้วลูกาก็เขียนบันทึกอีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่าหนังสือกิจการของอัครสาวกซึ่งพูดถึงการประกาศอย่างกระตือรือร้นของพวกสาวก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:1
วีดีโอและรูปภาพ
นี่เป็นภาพจำลองกระดูกส้นเท้าของมนุษย์ที่ถูกตอกด้วยตะปูเหล็กยาว 11.5 ซม. มีการขุดพบชิ้นส่วนจริงจากยุคโรมันในปี ค.ศ. 1968 ทางตอนเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นนี้ทำให้รู้ว่าอาจมีการใช้ตะปูในการประหารชีวิตคนที่ถูกตรึงบนเสาไม้ ตะปูนี้อาจคล้ายกับตะปูที่ทหารโรมันใช้ตรึงพระเยซูคริสต์บนเสา ชิ้นส่วนนี้ถูกพบในหีบหินซึ่งเป็นกล่องเก็บกระดูกที่แห้งแล้วของคนตายหลังจากเนื้อหนังย่อยสลายไปหมดแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่าคนที่ถูกประหารชีวิตบนเสาอาจได้รับการฝังศพด้วย