เขียนโดยลูกา 12:1-59
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
หลายพันคน: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้แปลตรงตัวหมายถึงกลุ่มคน 10,000 คน แต่ยังอาจใช้เพื่อหมายถึงคนจำนวนมากแต่ไม่ได้เจาะจงว่ามีเท่าไร
เชื้อ: หรือ “ยีสต์” คัมภีร์ไบเบิลมักใช้เชื้อเป็นภาพแสดงถึงความเสื่อมเสียและบาป ซึ่งในข้อนี้หมายถึงคำสอนไม่ดีที่ทำให้เสื่อมเสีย—มธ 16:6, 11, 12; 1คร 5:6-8
ป่าวประกาศจากดาดฟ้า: เป็นสำนวนหมายถึง “ประกาศให้รู้ทั่วกัน” ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล หลังคาบ้านจะมีลักษณะแบนเป็นดาดฟ้า ซึ่งเป็นที่ที่ผู้คนจะขึ้นไปประกาศข่าวหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อต้องการให้คนอื่นรู้ทั่วกัน—2ซม 16:22
ในที่สว่าง: คือพูดอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ
ป่าวประกาศจากดาดฟ้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:27
เกเฮนนา: คำนี้มาจากคำฮีบรู เกฮินโนม ซึ่งหมายความว่า “หุบเขาฮินโนม” หุบเขานี้อยู่ทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม (ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”) ในสมัยพระเยซู หุบเขานี้เป็นที่เผาขยะ จึงเหมาะที่จะใช้คำว่า “เกเฮนนา” เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายอย่างสิ้นเชิง—ดูส่วนอธิบายศัพท์
เกเฮนนา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22
นกกระจอก: คำกรีก สตรู่ธีออน อยู่ในรูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็ก จึงหมายถึงนกตัวเล็ก ๆ ชนิดใดก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักจะหมายถึงนกกระจอกซึ่งเป็นนกราคาถูกที่สุดที่ซื้อมาเป็นอาหาร
นกกระจอก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:29
แค่ไม่กี่บาท: แปลตรงตัวว่า “2 อัสซาริอัน” ในเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ตอนที่พระเยซูเดินทางประกาศในแคว้นกาลิลีรอบที่ 3 ท่านบอกว่านกกระจอก 2 ตัวซื้อได้ในราคา 1 อัสซาริอัน (มธ 10:29) เงิน 1 อัสซาริอัน มีค่าเท่ากับค่าแรง 45 นาที (ดูภาคผนวก ข14) แต่ประมาณ 1 ปีต่อมาตอนที่พระเยซูประกาศในแคว้นยูเดีย ท่านพูดสิ่งที่ลูกาบันทึกไว้ในข้อนี้ ท่านบอกว่านกกระจอก 5 ตัวซื้อได้ในราคา 2 อัสซาริอัน การเปรียบเทียบ 2 เหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่า นกกระจอกมีราคาถูกมากจนพ่อค้าแถมตัวที่ 5 ให้ฟรี ๆ
แม้แต่ผมบนหัวของคุณ . . . ก็นับไว้แล้วทุกเส้น: มีการกะประมาณกันว่าเฉลี่ยแล้วคนเรามีเส้นผมมากกว่า 100,000 เส้น การที่พระยะโฮวารู้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ขนาดนี้ยืนยันว่าพระองค์สนใจสาวกของพระคริสต์ทุกคนมาก
แม้แต่ผมบนหัวของคุณ . . . ก็นับไว้แล้วทุกเส้น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:30
ศาล: คำกรีก ซูนเอ็ดริออน ที่แปลว่า “ศาล” ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์ พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน” และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22; 26:59) แต่ก็มีการใช้คำนี้ในความหมายทั่ว ๆ ไปด้วยเพื่อหมายถึงที่ประชุมหรือการประชุม และในข้อคัมภีร์นี้ หมายถึงศาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ในที่ประชุมของชาวยิว ศาลท้องถิ่นเหล่านี้มีอำนาจตัดสินลงโทษโดยการเฆี่ยนและขับไล่ออกจากชุมชน—มธ 23:34; มก 13:9; ลก 21:12; ยน 9:22; 12:42; 16:2
ที่ประชุม: หรืออาจแปลได้ว่า “ประชุมของชาวยิว” คำนามกรีก ซูนาโกเก ที่ใช้ในข้อนี้แปลตรงตัวว่า “การพามารวมกัน, การประชุมกัน” คำนี้ส่วนใหญ่ที่อยู่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักหมายถึงอาคารหรือสถานที่ที่ชาวยิวมาประชุมกันเพื่ออ่านพระคัมภีร์ มาฟังการสอน มาประกาศ และอธิษฐาน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ที่ประชุมของชาวยิว”) คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลว่า “ที่ประชุมของชาวยิว” ซึ่งมีศาลท้องถิ่นอยู่ในนั้นด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:17) แต่ในท้องเรื่องนี้ คำนี้อาจมีความหมายกว้างกว่า คือหมายถึงการประชุมที่คนทั่วไปเข้าร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นคนยิวหรือไม่ การประชุมแบบนี้จัดขึ้นเพื่อพิจารณาไต่สวนคริสเตียนและอาจถึงกับตัดสินลงโทษพวกเขาเพราะสิ่งที่เชื่อ
แบ่งมรดกให้ผมบ้าง: กฎหมายของโมเสสบอกไว้ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการแบ่งมรดกระหว่างพี่น้อง ลูกชายคนโตจะได้รับส่วนแบ่งสองส่วนเพราะเขาต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวด้วย (ฉธบ 21:17) ส่วนที่เหลือจะแบ่งกันระหว่างผู้รับมรดกคนอื่น ๆ ดูเหมือนว่าผู้ชายที่พูดถึงในข้อนี้เป็นคนโลภและอยากได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด นี่อาจเป็นเหตุผลที่เขาพูดแทรกเรื่องส่วนตัวขึ้นมาตอนที่พระเยซูกำลังสอนเรื่องพระเจ้า พระเยซูแสดงความฉลาดสุขุมโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อขัดแย้งนี้ และท่านยังเตือนให้ระวังที่จะไม่เป็นคนโลภด้วย
ผู้ไกล่เกลี่ย: หรือ “ผู้แบ่ง” ในข้อนี้พระเยซูทำให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ท่านจะเข้าไปยุ่งกับเรื่องที่บอกไว้ชัดเจนอยู่แล้วในกฎหมายของโมเสส นอกจากนั้น กฎหมายของโมเสสยังให้อำนาจกับพวกผู้นำเพื่อจัดการกับข้อขัดแย้งทางการเงิน พระเยซูก็เข้าใจด้วยว่าท่านไม่ได้ถูกส่งมาบนโลกเพื่อจัดการกับเรื่องของคนอื่น แต่มาเพื่อประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า
โลภ: คำกรีก พะเละออเน็คเซีย แปลตรงตัวว่า “มีมากขึ้น” และหมายถึงความอยากได้อยากมีที่ไม่รู้จักพอ มีการใช้คำกรีกนี้ที่ อฟ 4:19; 5:3 ด้วย นอกจากนั้น ใน คส 3:5 เปาโลบอกว่า “ความโลภ . . . เป็นการไหว้รูปเคารพ”
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
ตัวเอง: คำกรีก พะซูเฆ มีอยู่ 3 ครั้งในข้อ 19 และ 20 การแปลความหมายของคำนี้ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้คำนี้หมายถึงตัวคนคนนั้นเอง ดังนั้น จึงมีการแปลว่า “ตัวเอง”
คนไร้ความคิด: หรือ “คนโง่” คำนี้ไม่ได้หมายถึงคนที่คิดไม่เป็น แต่คำว่า “คนไร้ความคิด” หรือ “คนโง่” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลโดยทั่วไปแล้วหมายถึงคนที่ไม่ยอมฟังเหตุผลและใช้ชีวิตขัดกับมาตรฐานที่ถูกต้องของพระเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่โง่เขลาอย่างแท้จริง
มาเอาชีวิตเจ้า: ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้พระเยซูไม่ได้บอกว่าผู้ที่จะมาเอาชีวิตเขาเป็นคนหรือเป็นทูตสวรรค์ คำกริยากรีกที่แปลว่า “มาเอา” แสดงว่ากำลังจะมีบางอย่างเกิดขึ้นกับผู้ชายคนนี้ ดังนั้น ประโยคนี้จึงอาจแปลได้ด้วยว่า “ชีวิตของเจ้าจะต้องถูกเรียกเอาไปจากเจ้า” พระเยซูไม่ได้บอกว่าเศรษฐีในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้จะตายอย่างไร หรือใครจะมาเอาชีวิตเขา แต่จุดสำคัญก็คือเขาจะตายในคืนนั้น
ร่ำรวยในสายตาพระเจ้า: คือร่ำรวยหรือมีสิ่งที่พระเจ้าถือว่าสำคัญอยู่มากมาย
เลิกกังวล: คำกริยากรีกนี้อยู่ในรูปของคำสั่งให้เลิกทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ คำกรีกที่แปลว่า “กังวล” อาจหมายถึงความหนักใจที่ทำให้จิตใจคนเราแบ่งแยก ไขว้เขว และไม่มีความสุข มีการใช้คำเดียวกันนี้ที่ มธ 6:27, 28, 31, 34
เลิกกังวล: คำกริยากรีก เมะริมนาโอ อยู่ในรูปของคำสั่งให้เลิกทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ คำกรีกที่แปลว่า “กังวล” อาจหมายถึงความหนักใจที่ทำให้จิตใจคนเราแบ่งแยก ไขว้เขว และไม่มีความสุข ลูกาใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ ลก 12:11, 25, 26 และเปาโลใช้คำกริยานี้ที่ 1คร 7:32-34 และ ฟป 4:6—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:25
ชีวิต: มาจากคำกรีก พะซูเฆ ในท้องเรื่องนี้คำว่าชีวิตและร่างกายหมายถึงตัวคนคนหนึ่ง
อีกา: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการพูดถึงอีกาแค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ ตอนที่พระเยซูพูดเรื่องคล้าย ๆ กันในคำบรรยายบนภูเขา ท่านไม่ได้ระบุว่าเป็นนกชนิดใด (มธ 6:26) เหตุการณ์ที่ลูกาบันทึกเกิดขึ้นช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้ในแคว้นยูเดียหลังจากที่ท่านบรรยายบนภูเขาประมาณ 1 ปีครึ่ง ในข้อนี้พระเยซูเน้นคำสอนของท่านโดยยกตัวอย่างอีกาซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาดตามกฎหมายของโมเสส (ลนต 11:13, 15) บทเรียนก็คือถ้าพระเจ้ายังดูแลอีกาซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาด เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์จะไม่มีวันทิ้งคนที่วางใจพระองค์
ต่อชีวิต: ดูเหมือนพระเยซูกำลังเปรียบชีวิตเหมือนการเดินทาง ท่านเน้นว่าความกังวลไม่ได้ช่วยให้คนเรามีชีวิตยืนยาวขึ้นแม้แต่นิดเดียว
นิดหนึ่ง: แปลตรงตัวว่า “ศอกหนึ่ง” พระเยซูใช้คำที่หมายถึงมาตราวัดที่ยาวประมาณ 44.5 ซม.—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ศอก” และภาคผนวก ข14
ต่อชีวิต: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:27
นิดหนึ่ง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:27
แค่นิดเดียว: ถ้าคนเราไม่สามารถต่อชีวิตตัวเองได้แม้แต่นิดเดียว แล้วเราจะกังวลและเป็นห่วงไปทำไมกับการสะสมเงินทอง อาหาร และเสื้อผ้าไว้มาก ๆ รวมทั้งที่ดินและบ้านหลายหลัง?
ดอกไม้ในทุ่ง: บางคนคิดว่าเป็นดอกไม้ในตระกูลแอนนีโมนี แต่ก็อาจหมายถึงดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ที่คล้ายดอกลิลลี่ เช่น ทิวลิป ไอริส ไฮยาซินธ์ และแกลดิโอลัส ส่วนบางคนเชื่อว่าดอกไม้ที่พระเยซูพูดถึงคือดอกไม้ป่าหลายชนิดที่ขึ้นอยู่แถวนั้น จึงมีการแปลคำนี้ว่า “ดอกไม้ในทุ่ง”—ลก 12:28; มธ 6:28-30
ดอกไม้ใบหญ้า . . . ถูกเผา: ในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัดในอิสราเอล ดอกไม้ใบหญ้าอาจจะเหี่ยวแห้งได้ในเวลาแค่ 2 วัน จะมีการรวบรวมดอกไม้ใบหญ้าแห้ง ๆ จากท้องทุ่งมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาอบ
พวกคุณมีความเชื่อน้อยจริง ๆ: พระเยซูกำลังบอกว่าสาวกของท่านมีความเชื่อไม่เข้มแข็งและไม่วางใจพระเจ้ามากพอ (มธ 8:26; 14:31; 16:8; ลก 12:28) คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกสาวกไม่มีความเชื่อเลย แต่พวกเขามีความเชื่อไม่มากพอ
ดอกไม้ใบหญ้า . . . ถูกเผา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:30
พวกคุณมีความเชื่อน้อยจริง ๆ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:30
เลิกกังวลกับเรื่องพวกนี้ได้แล้ว: คำกรีก เมะเทะโอริศอไม มีอยู่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคือในข้อนี้ ในวรรณกรรมกรีกโบราณคำนี้มีความหมายว่า “ยกให้สูง, แขวนไว้” และถึงกับมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงเรือที่ถูกคลื่นซัดไปมาในทะเล แต่ในท้องเรื่องนี้คำนี้มีความหมายเป็นนัยหมายถึงความกังวลหรือความกระวนกระวายใจเหมือนถูกซัดไปมาเนื่องจากความสงสัยและวิตกกังวล
ให้ความสำคัญ . . . เสมอ: คำกริยากรีกในข้อนี้แสดงถึงการกระทำอย่างต่อเนื่องและอาจแปลได้ว่า “ทำให้เป็นสิ่งสำคัญต่อ ๆ ไป” สาวกแท้ของพระเยซูจะไม่ทำให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญแค่ระยะหนึ่งแล้วก็หันไปสนใจอย่างอื่น แต่พวกเขาต้องให้เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเสมอ พระเยซูเคยให้คำแนะนำคล้าย ๆ กันนี้ใน มธ 6:33 ตอนที่ท่านบรรยายบนภูเขาในแคว้นกาลิลี ในข้อนี้ลูกาบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 1 ปีครึ่งซึ่งเป็นช่วงท้ายงานรับใช้ของพระเยซูที่น่าจะอยู่ในแคว้นยูเดีย พระเยซูคงเห็นว่าเหมาะที่จะสอนเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้ง
ช่วยเหลือคนจน: หรือ “ให้ทาน” คำกรีก เอะเละเอมอซูเน ที่มักจะแปลว่า “ทาน” เกี่ยวข้องกับคำกรีกที่แปลว่า “ความเมตตา” และ “แสดงความเมตตา” คำนี้หมายถึงเงินหรืออาหารที่ให้อย่างใจกว้างเพื่อช่วยเหลือคนยากจน
แจกให้คนจน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:2
แต่งตัวและเตรียมพร้อมไว้: แปลตรงตัวว่า “คาดรอบเอวไว้” สำนวนนี้ทำให้เห็นภาพของการรวบชุดยาวขึ้นมาเหน็บไว้ที่เข็มขัดเพื่อเตรียมพร้อมจะทำงาน วิ่ง หรือทำอย่างอื่น สำนวนนี้จึงหมายถึงการพร้อมที่จะทำกิจกรรมอะไรก็ได้ มีการใช้สำนวนคล้ายกันหลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ตัวอย่างเช่น อพย 12:11; 1พก 18:46, เชิงอรรถ; 2พก 3:21, เชิงอรรถ; 4:29; สภษ 31:17; ยรม 1:17, เชิงอรรถ) ในท้องเรื่องนี้ คำกริยากรีกนี้อยู่ในรูปการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่งแสดงถึงการเตรียมพร้อมเสมอที่จะทำงานในฐานะผู้รับใช้พระเจ้า ที่ ลก 12:37 มีการแปลคำกรีกเดียวกันนี้ว่า “ใส่ชุดทำงาน” และที่ 1ปต 1:13 สำนวน “เตรียมจิตใจไว้ให้พร้อมที่จะทำงานหนัก” แปลตรงตัวว่า “คาดเอวจิตใจของคุณ”
แต่งตัวและเตรียมพร้อมไว้: แปลตรงตัวว่า “คาดรอบเอวไว้” สำนวนนี้ทำให้เห็นภาพของการรวบชุดยาวขึ้นมาเหน็บไว้ที่เข็มขัดเพื่อเตรียมพร้อมจะทำงาน วิ่ง หรือทำอย่างอื่น สำนวนนี้จึงหมายถึงการพร้อมที่จะทำกิจกรรมอะไรก็ได้ มีการใช้สำนวนคล้ายกันหลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ตัวอย่างเช่น อพย 12:11; 1พก 18:46, เชิงอรรถ; 2พก 3:21, เชิงอรรถ; 4:29; สภษ 31:17; ยรม 1:17, เชิงอรรถ) ในท้องเรื่องนี้ คำกริยากรีกนี้อยู่ในรูปการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่งแสดงถึงการเตรียมพร้อมเสมอที่จะทำงานในฐานะผู้รับใช้พระเจ้า ที่ ลก 12:37 มีการแปลคำกรีกเดียวกันนี้ว่า “ใส่ชุดทำงาน” และที่ 1ปต 1:13 สำนวน “เตรียมจิตใจไว้ให้พร้อมที่จะทำงานหนัก” แปลตรงตัวว่า “คาดเอวจิตใจของคุณ”
ใส่ผ้ากันเปื้อนให้พร้อม: คำกรีก เพะริโศนนูไม ที่แปลว่า “ใส่ผ้ากันเปื้อน” แปลตรงตัวว่า “คาดเอวไว้” หมายถึงการใส่ผ้ากันเปื้อนหรือเข็มขัดเพื่อให้ชุดที่ใส่อยู่กระชับขึ้นและพร้อมจะทำงาน ในท้องเรื่องนี้ คำกรีกนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ให้แต่งตัวและเตรียมพร้อมที่จะรับใช้” คำกรีกนี้ยังมีการใช้ที่ ลก 12:35, 37 และ อฟ 6:14—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 12:35, 37
นายจะใส่ชุดทำงาน: แปลตรงตัวว่า “เขาจะคาดเอวตัวเอง”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 12:35; 17:8
ยาม 4: คือช่วงตี 3 ถึงดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ 6 โมงเช้า เป็นการแบ่งเวลาตามระบบกรีกและโรมันที่แบ่งเวลากลางคืนเป็น 4 ช่วงหรือ 4 ยาม สมัยก่อนชาวฮีบรูเคยแบ่งเวลากลางคืนเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 4 ชั่วโมง (อพย 14:24; วนฉ 7:19) แต่ในสมัยพระเยซู พวกเขาเอาระบบโรมันมาใช้
ตอนเที่ยงคืน: หมายถึงช่วงที่ 2 ของเวลากลางคืนตามการแบ่งเวลาแบบกรีกและโรมัน คือตั้งแต่ประมาณ 3 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าตอนเย็นในข้อนี้
ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น: แปลตรงตัวว่า “ตอนไก่ขัน” นี่เป็นชื่อที่ใช้เรียกช่วงที่ 3 ของเวลากลางคืนตามการแบ่งเวลาแบบกรีกและโรมัน คือตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงประมาณตี 3 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาก่อนหน้านี้) น่าจะเป็นช่วงเวลานี้เองที่ “ไก่ขัน” (มก 14:72) คนทั่วไปในดินแดนฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยอมรับกันมานานแล้วว่าเสียงไก่ขันเป็นเครื่องบอกเวลาอย่างหนึ่ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:34; มก 14:30, 72
ยาม 2: คือช่วง 3 ทุ่มถึงเที่ยงคืน เป็นการแบ่งเวลาตามระบบกรีกและโรมันที่แบ่งเวลากลางคืนเป็น 4 ช่วงหรือ 4 ยาม สมัยก่อนชาวฮีบรูเคยแบ่งเวลากลางคืนเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 4 ชั่วโมง (อพย 14:24; วนฉ 7:19) แต่เมื่อถึงศตวรรษแรก พวกเขาเอาระบบโรมันมาใช้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:25; มก 13:35
ยาม 3: คือช่วงเที่ยงคืนถึงตี 3—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 13:35
คนรับใช้: หรือ “ผู้จัดการบ้าน, ผู้ดูแลบ้าน” คำกรีก ออยคอนอม็อส หมายถึงคนที่มีหน้าที่ดูแลพวกคนรับใช้ถึงแม้ว่าตัวเขาเองก็เป็นคนรับใช้ด้วย ในสมัยโบราณคนที่ทำงานในตำแหน่งนี้จะเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ที่คอยดูแลเรื่องต่าง ๆ ของนาย เขาจึงได้รับความไว้วางใจอย่างมาก เช่น คนรับใช้ของอับราฮัม “ซึ่งคอยดูแลทรัพย์สมบัติทุกอย่างของเขา [อับราฮัม]” ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ดูแลบ้าน (ปฐก 24:2) และใน ปฐก 39:4 โยเซฟก็ทำหน้าที่นี้ด้วย คำว่า “คนรับใช้” ในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูอยู่ในรูปเอกพจน์ แต่คำนี้ไม่ได้หมายถึงคนรับใช้คนเดียวเท่านั้น ในพระคัมภีร์มีหลายตัวอย่างที่แสดงว่าคำนามเอกพจน์อาจหมายถึงทั้งกลุ่มก็ได้ เช่น ตอนที่พระยะโฮวาพูดกับชาวอิสราเอลว่า “พวกเจ้าเป็นพยานของเรา [พหูพจน์] . . . เป็นผู้รับใช้ [เอกพจน์] ที่เราได้เลือกไว้” (อสย 43:10) ในตัวอย่างเปรียบเทียบเดียวกันที่ มธ 24:45 มีการเรียกคนรับใช้กลุ่มนี้ว่า “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม”
สุขุม: หรือ “ฉลาด” คำคุณศัพท์กรีก ฟรอนิม็อส ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับการมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง มองการณ์ไกล รอบคอบ รู้จักคิด และมีปฏิภาณไหวพริบ ลูกาใช้คำกรีกนี้ด้วยที่ ลก 16:8 ซึ่งในข้อนั้นแปลว่า “ฉลาดกว่า” นอกจากนั้น มีการใช้คำกรีกนี้ที่ มธ 7:24; 25:2, 4, 8, 9 และในฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกนี้ที่ ปฐก 41:33, 39 เมื่อพูดถึงโยเซฟ
พวกคนรับใช้: หรือ “คนรับใช้ในบ้าน, คนงานในบ้าน” คำกรีก เธะราเฟอา ที่ใช้ในข้อนี้กับคำกรีก ออยเคะเท่อา ที่แปลว่า “พวกคนรับใช้” ใน มธ 24:45 มีความหมายเหมือนกัน คือหมายถึงทุกคนที่ทำงานในบ้านของนาย ลูกาใช้คำซึ่งปกติแล้วใช้ในวรรณกรรมกรีก ส่วนมัทธิวใช้คำทั่ว ๆ ไป คำที่ลูกาใช้อาจแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่มีการศึกษา
คนรับใช้: หรือ “ผู้จัดการบ้าน, ผู้ดูแลบ้าน” คำกรีก ออยคอนอม็อส หมายถึงคนที่มีหน้าที่ดูแลพวกคนรับใช้ถึงแม้ว่าตัวเขาเองก็เป็นคนรับใช้ด้วย ในสมัยโบราณคนที่ทำงานในตำแหน่งนี้จะเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ที่คอยดูแลเรื่องต่าง ๆ ของนาย เขาจึงได้รับความไว้วางใจอย่างมาก เช่น คนรับใช้ของอับราฮัม “ซึ่งคอยดูแลทรัพย์สมบัติทุกอย่างของเขา [อับราฮัม]” ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ดูแลบ้าน (ปฐก 24:2) และใน ปฐก 39:4 โยเซฟก็ทำหน้าที่นี้ด้วย คำว่า “คนรับใช้” ในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูอยู่ในรูปเอกพจน์ แต่คำนี้ไม่ได้หมายถึงคนรับใช้คนเดียวเท่านั้น ในพระคัมภีร์มีหลายตัวอย่างที่แสดงว่าคำนามเอกพจน์อาจหมายถึงทั้งกลุ่มก็ได้ เช่น ตอนที่พระยะโฮวาพูดกับชาวอิสราเอลว่า “พวกเจ้าเป็นพยานของเรา [พหูพจน์] . . . เป็นผู้รับใช้ [เอกพจน์] ที่เราได้เลือกไว้” (อสย 43:10) ในตัวอย่างเปรียบเทียบเดียวกันที่ มธ 24:45 มีการเรียกคนรับใช้กลุ่มนี้ว่า “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม”
ทาสคนนั้น: ทาสที่พูดถึงในข้อนี้หมายถึงคนรับใช้ที่พูดถึงใน ลก 12:42 ถ้า “ทาสคนนั้น” ซื่อสัตย์เขาก็จะได้รับรางวัล (ลก 12:43, 44) แต่ถ้า “ทาสคนนั้น” ไม่ซื่อสัตย์ เขาจะถูกลงโทษ “อย่างหนักที่สุด” (ลก 12:46) คำพูดของพระเยซูในข้อนี้จริง ๆ แล้วเป็นคำเตือนที่ให้กับทาสที่ซื่อสัตย์ เหมือนกับตัวอย่างเปรียบเทียบเดียวกันที่ มธ 24:45-51 ซึ่งบอกว่า “ถ้าทาสคนนั้นชั่ว” ที่นั่นพระเยซูไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าจะมี “ทาสชั่ว” หรือแต่งตั้งคนกลุ่มนี้ไว้ แต่ท่านกำลังเตือนทาสที่ซื่อสัตย์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาเริ่มมีนิสัยเหมือนทาสชั่ว
ทาสคนนั้น: คนรับใช้ที่พูดถึงในข้อ 42 ถูกเรียกว่า “ทาส” ในข้อนี้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 12:42) ถ้า “ทาสคนนั้น” ซื่อสัตย์เขาก็จะได้รับรางวัล (ลก 12:44) ในตัวอย่างเปรียบเทียบเดียวกันที่ มธ 24:45-47 คนรับใช้คนนี้ถูกเรียกว่า “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 12:45
ทาสคนนั้น: ทาสที่พูดถึงในข้อนี้หมายถึงคนรับใช้ที่พูดถึงใน ลก 12:42 ถ้า “ทาสคนนั้น” ซื่อสัตย์เขาก็จะได้รับรางวัล (ลก 12:43, 44) แต่ถ้า “ทาสคนนั้น” ไม่ซื่อสัตย์ เขาจะถูกลงโทษ “อย่างหนักที่สุด” (ลก 12:46) คำพูดของพระเยซูในข้อนี้จริง ๆ แล้วเป็นคำเตือนที่ให้กับทาสที่ซื่อสัตย์ เหมือนกับตัวอย่างเปรียบเทียบเดียวกันที่ มธ 24:45-51 ซึ่งบอกว่า “ถ้าทาสคนนั้นชั่ว” ที่นั่นพระเยซูไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าจะมี “ทาสชั่ว” หรือแต่งตั้งคนกลุ่มนี้ไว้ แต่ท่านกำลังเตือนทาสที่ซื่อสัตย์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาเริ่มมีนิสัยเหมือนทาสชั่ว
ลงโทษเขาอย่างหนักที่สุด: แปลตรงตัวว่า “ตัดเขาเป็นสองท่อน” ดูเหมือนไม่ควรเข้าใจสำนวนนี้ตามตัวอักษร แทนที่จะเป็นอย่างนั้น สำนวนนี้หมายถึงการลงโทษที่รุนแรงมาก
ลงโทษเขาอย่างหนักที่สุด: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:51
จุดไฟ: การมาของพระเยซูเป็นเหมือนการจุดไฟท่ามกลางชาติยิว พระเยซูเริ่มจุดไฟในความหมายเป็นนัยโดยที่ท่านจุดประเด็นร้อนที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างมากและส่งผลให้เกิดการทำลายคำสอนเท็จและธรรมเนียมผิด ๆ หลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ตอนที่พระเยซูซึ่งเป็นเมสสิยาห์อยู่บนโลก ท่านตายอย่างน่าอับอายซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ชาวยิวเลือดรักชาติคาดหวังไว้ว่าท่านจะมาปลดปล่อยชาติอิสราเอลให้เป็นอิสระจากการปกครองของโรม และโดยการที่พระเยซูประกาศอย่างกระตือรือร้น ท่านทำให้ผู้คนเห็นว่ารัฐบาลของพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั่วทั้งชาติอิสราเอล—1คร 1:23
ทุกบาททุกสตางค์: แปลตรงตัวว่า “เลฟตันสุดท้าย” คำกรีก เล็พทอส หมายถึงสิ่งที่เล็กและบาง เลฟตันเป็นเหรียญซึ่งมีค่าเท่ากับ 1/128 ของ 1 เดนาริอัน และดูเหมือนว่าเป็นเหรียญทองแดงหรือทองสัมฤทธิ์ที่เล็กที่สุดซึ่งใช้ในอิสราเอล—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เลฟตัน” และภาคผนวก ข14
วีดีโอและรูปภาพ
หุบเขาฮินโนม (หมายเลข 1) ซึ่งพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเรียกว่าเกเฮนนา ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่ (หมายเลข 2) วิหารของชาวยิวในศตวรรษแรกเคยตั้งอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้สิ่งก่อสร้างที่เด่นที่สุดบนภูเขาที่วิหารตั้งอยู่คือศาสนสถานของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า โดม ออฟ เดอะ ร็อก—ดูแผนที่ในภาคผนวก ข12
อีกาเป็นนกชนิดแรกที่มีการพูดถึงในคัมภีร์ไบเบิล (ปฐก 8:7) มันเป็นนกที่แข็งแรงบินเก่ง และถือเป็นหนึ่งในนกที่หากินเก่งและปรับตัวเก่งที่สุด ตอนที่พระยะโฮวาสอนบทเรียนกับโยบเรื่องสติปัญญาที่เห็นได้ในสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์สร้าง พระองค์บอกว่าพระองค์ “เตรียมอาหารให้อีกา” (โยบ 38:41) ผู้เขียนหนังสือสดุดีบอกว่าพระยะโฮวาจัดเตรียมอาหารให้พ่อแม่อีกาซึ่งกำลังหาอาหารไปป้อนลูกของมันที่กำลังหิวโหย (สด 147:9) พระเยซูก็พูดถึงอีกาในทำนองเดียวกันเพื่อช่วยให้สาวกมั่นใจว่าพระเจ้าที่ดูแลนกแบบนั้นก็จะจัดเตรียมสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้ผู้รับใช้ของพระองค์ที่เป็นมนุษย์แน่นอน ตามกฎหมายของโมเสสอีกาเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาดและเอามากินเป็นอาหารไม่ได้ (ลนต 11:13, 15) ถ้าพระเจ้ายังเตรียมอาหารให้อีกาที่เป็นสัตว์ไม่สะอาด เราก็มั่นใจได้ว่าพระองค์จะไม่ทิ้งคนที่ไว้วางใจพระองค์
พระเยซูบอกสาวกของท่านว่า “ดูดอกไม้ในทุ่งสิ มันงอกงามขึ้นได้อย่างไร” คำภาษาเดิมที่มักแปลว่า “ดอกไม้” ในคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับ จริง ๆ แล้วอาจหมายถึงดอกไม้หลายชนิด เช่น ทิวลิป แอนนีโมนี ไฮยาซินธ์ ไอริส และแกลดิโอลัส ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าดอกไม้ที่พระเยซูพูดถึงคือดอกไม้ในตระกูลแอนนีโมนี แต่จริง ๆ แล้วท่านอาจหมายถึงดอกไม้ทั่วไปที่คล้ายดอกลิลลี่ ภาพนี้คือดอกไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลแอนนีโมนีที่มีสีแดงเข้ม (Anemone coronaria) ดอกไม้ชนิดนี้พบได้ทั่วไปในอิสราเอลและอาจมีสีฟ้า ชมพู ม่วง หรือสีขาวด้วย