เขียนโดยยอห์น 6:1-71
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ทะเลสาบกาลิลี: ทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางเหนือของอิสราเอล (คำกรีกที่แปลว่า “ทะเล” อาจหมายถึง “ทะเลสาบ” ด้วย) บางครั้งก็เรียกทะเลสาบนี้ว่าทะเลคินเนเรท (กดว 34:11) ทะเลสาบเยนเนซาเรท (ลก 5:1) และทะเลสาบทิเบเรียส (ยน 6:1) ทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 210 เมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ 21 กม. และมีความกว้าง 12 กม. จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 48 เมตร—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี”
ทะเลสาบกาลิลีหรือที่เรียกกันว่าทิเบเรียส: บางครั้งมีการเรียกทะเลสาบกาลิลีว่าทะเลสาบทิเบเรียสตามชื่อเมืองที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกของทะเลสาบนี้ ชื่อของเมืองนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อยกย่องจักรพรรดิโรมันคนหนึ่งที่ชื่อซีซาร์ทิเบริอัส (ยน 6:23) ชื่อของทะเลสาบทิเบเรียสมีอยู่ในข้อนี้และที่ ยน 21:1—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
เทศกาลปัสกา: พระเยซูเริ่มทำงานประกาศหลังจากท่านรับบัพติศมาในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 29 ดังนั้น ในข้อนี้จึงต้องพูดถึงเทศกาลปัสกาที่พระเยซูฉลองหลังจากนั้นไม่นานซึ่งเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 30 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:1 และภาคผนวก ก7) การเปรียบเทียบบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มทำให้รู้ว่าช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก ท่านได้ฉลองปัสกา 4 ครั้ง และทำให้ได้ข้อสรุปว่างานรับใช้ของท่านกินเวลา 3 ปีครึ่ง หนังสือข่าวดี 3 เล่มคือ มัทธิว มาระโก และลูกา พูดถึงเทศกาลปัสกาแค่ครั้งเดียวคือครั้งสุดท้ายที่พระเยซูฉลองก่อนจะเสียชีวิต แต่ยอห์นพูดถึงเทศกาลปัสกา 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งเขาใช้คำว่าปัสกา (ยน 2:13; 6:4; 11:55) และอีกครั้งหนึ่งซึ่งอยู่ใน ยน 5:1 เขาใช้คำว่า “เทศกาลของชาวยิว” ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าการเปรียบเทียบบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มช่วยให้เราเห็นภาพชีวิตของพระเยซูได้ครบถ้วนมากขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:1; 6:4; 11:55
เทศกาลของชาวยิว: ถึงแม้ยอห์นไม่ได้บอกว่าเทศกาลนี้คือเทศกาลอะไร แต่มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าเทศกาลนี้น่าจะเป็นเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 31 ปกติแล้วยอห์นจะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เรียงตามลำดับเวลา ในท้องเรื่องแสดงให้เห็นว่ามีการฉลองเทศกาลนี้ไม่นานหลังจากที่พระเยซูบอกว่า “อีก 4 เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าว” (ยน 4:35) ฤดูเกี่ยวข้าวโดยเฉพาะข้าวบาร์เลย์เป็นช่วงเดียวกับเทศกาลปัสกา (วันที่ 14 เดือนนิสาน) ดังนั้น ดูเหมือนพระเยซูพูดประโยคนี้ประมาณ 4 เดือนก่อนหน้านั้น ก็คือช่วงเดือนคิสเลฟ (พฤศจิกายน/ธันวาคม) จริง ๆ แล้วในช่วงเดือนคิสเลฟถึงเดือนนิสานยังมีเทศกาลอีก 2 อย่างที่ฉลองกัน คือเทศกาลฉลองการอุทิศวิหารและเทศกาลปูริม แต่กฎหมายของพระเจ้าไม่ได้กำหนดให้ชาวอิสราเอลต้องไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อฉลองเทศกาล 2 อย่างนี้ ดังนั้น คำว่า “เทศกาลของชาวยิว” ในข้อนี้จึงน่าจะหมายถึงเทศกาลปัสกาซึ่งเป็นเทศกาลที่พระเยซูต้องไปเข้าร่วมที่กรุงเยรูซาเล็ม (ฉธบ 16:16) จริงที่ยอห์นบันทึกอีกแค่ไม่กี่เหตุการณ์ก่อนที่จะพูดถึงเทศกาลปัสกา (ยน 6:4) แต่เมื่อดูภาคผนวก ก7 ก็จะเห็นว่ายอห์นพูดถึงการรับใช้ช่วงแรก ๆ ของพระเยซูไม่มาก และเขาไม่ได้พูดถึงหลายเหตุการณ์ที่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีอีก 3 คนได้พูดถึงแล้ว ที่จริง เรื่องราวของพระเยซูในหนังสือข่าวดีอีก 3 เล่มก็สนับสนุนข้อสรุปที่ว่า เทศกาลปัสกาประจำปีที่ยอห์นพูดถึงในข้อนี้เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ที่บันทึกใน ยน 2:13 และ ยน 6:4—ดูภาคผนวก ก7 และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ยน 2:13
เทศกาลปัสกา: คือเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 33 ดูเหมือนเป็นปัสกาครั้งที่ 4 ซึ่งมีการพูดถึงในหนังสือข่าวดีของยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:13; 5:1; 6:4
เทศกาลปัสกา: ดูเหมือนเป็นเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 32 ซึ่งเป็นปัสกาครั้งที่ 3 ของพระเยซูตอนที่ท่านรับใช้อยู่บนโลก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:13; 5:1; 11:55 และภาคผนวก ก7
พวกเราจะหาซื้อขนมปังจากที่ไหนดีถึงจะพอเลี้ยงคนทั้งหมดนี้ได้?: นี่เป็นการอัศจรรย์อย่างเดียวของพระเยซูที่มีบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม—มธ 14:15-21; มก 6:35-44; ลก 9:10-17; ยน 6:1-13
เดนาริอัน: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เดนาริอัน” และภาคผนวก ข14
ไม่นับผู้หญิงและเด็ก: เฉพาะมัทธิวเท่านั้นที่พูดถึงการอัศจรรย์ครั้งนี้ว่ามีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย เป็นไปได้ว่าจำนวนคนทั้งหมดที่พระเยซูเลี้ยงอาหารโดยการอัศจรรย์มีมากกว่า 15,000 คน
บอกให้พวกเขานั่งลง: หรือ “บอกให้พวกเขานั่งเอนตัว” คำว่า “พวกเขา” ในข้อนี้แปลมาจากคำกรีก อานธะโรพอส ซึ่งมักหมายถึงทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนอีกคำหนึ่งที่แปลในข้อนี้ว่า “ผู้ชาย” มาจากคำกรีก อาเนร ซึ่งเมื่อเทียบกับบันทึกใน มธ 14:21 ก็ทำให้รู้ว่าในท้องเรื่องนี้คำนี้หมายถึงผู้ชายเท่านั้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:21
คนที่อยู่ที่นั่นมีผู้ชายประมาณ 5,000 คน: เฉพาะมัทธิวเท่านั้นที่พูดถึงการอัศจรรย์ครั้งนี้ว่า “ไม่นับผู้หญิงและเด็ก” (มธ 14:21) เป็นไปได้ว่าจำนวนคนทั้งหมดที่พระเยซูเลี้ยงอาหารโดยการอัศจรรย์มีมากกว่า 15,000 คน
โลก: แปลจากคำกรีก คอสม็อส ซึ่งในข้อนี้หมายถึงมนุษย์ที่อยู่บนโลก ดูเหมือนว่าในท้องเรื่องนี้คำว่าเข้ามาในโลกไม่ได้หมายถึงตอนที่พระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่หมายถึงตอนที่ท่านรับบัพติศมาและเริ่มประกาศกับมนุษย์ หลังจากรับบัพติศมาพระเยซูเริ่มทำงานรับใช้ที่พระเจ้ามอบหมายให้ท่านทำ ซึ่งเป็นเหมือนการส่องแสงสว่างให้กับมนุษย์บนโลก—เทียบกับ ยน 3:17, 19; 6:14; 9:39; 10:36; 11:27; 12:46; 1ยน 4:9
ผู้พยากรณ์: ชาวยิวจำนวนมากในศตวรรษแรกคาดหมายว่าเมสสิยาห์น่าจะเป็นผู้พยากรณ์เหมือนกับโมเสสตามที่บอกไว้ใน ฉธบ 18:15, 18 และคำว่ามาในโลกในข้อนี้อาจบอกให้รู้ว่าผู้คนรอคอยการปรากฏตัวของเมสสิยาห์ มีแค่ยอห์นเท่านั้นที่บันทึกว่าผู้คนพูดแบบนี้เมื่อเห็นพระเยซูทำการอัศจรรย์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:9
ตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์: มีแค่ยอห์นเท่านั้นที่บันทึกเหตุการณ์นี้ พระเยซูปฏิเสธอย่างเด็ดขาดที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในบ้านเกิดของท่าน ท่านจะรับตำแหน่งกษัตริย์จากพระเจ้าและในเวลาที่พระเจ้ากำหนดเท่านั้น ต่อมาพระเยซูก็เน้นกับสาวกของท่านว่าพวกเขาต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยเหมือนกัน—ยน 15:19; 17:14, 16; 18:36
ทะเลสาบกาลิลี: ทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางเหนือของอิสราเอล (คำกรีกที่แปลว่า “ทะเล” อาจหมายถึง “ทะเลสาบ” ด้วย) บางครั้งก็เรียกทะเลสาบนี้ว่าทะเลคินเนเรท (กดว 34:11) ทะเลสาบเยนเนซาเรท (ลก 5:1) และทะเลสาบทิเบเรียส (ยน 6:1) ทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 210 เมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ 21 กม. และมีความกว้าง 12 กม. จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 48 เมตร—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี”
ทะเลสาบกาลิลีหรือที่เรียกกันว่าทิเบเรียส: บางครั้งมีการเรียกทะเลสาบกาลิลีว่าทะเลสาบทิเบเรียสตามชื่อเมืองที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกของทะเลสาบนี้ ชื่อของเมืองนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อยกย่องจักรพรรดิโรมันคนหนึ่งที่ชื่อซีซาร์ทิเบริอัส (ยน 6:23) ชื่อของทะเลสาบทิเบเรียสมีอยู่ในข้อนี้และที่ ยน 21:1—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
ข้ามฟาก: คือข้ามทะเลสาบกาลิลี—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18; ยน 6:1
ทะเลสาบกาลิลี: ทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางเหนือของอิสราเอล (คำกรีกที่แปลว่า “ทะเล” อาจหมายถึง “ทะเลสาบ” ด้วย) บางครั้งก็เรียกทะเลสาบนี้ว่าทะเลคินเนเรท (กดว 34:11) ทะเลสาบเยนเนซาเรท (ลก 5:1) และทะเลสาบทิเบเรียส (ยน 6:1) ทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 210 เมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ 21 กม. และมีความกว้าง 12 กม. จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 48 เมตร—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี”
ประมาณ 5 หรือ 6 กิโลเมตร: แปลตรงตัวว่า “ประมาณ 25 หรือ 30 สทาดิอ็อน” ซึ่ง 1 สทาดิอ็อนเท่ากับ 185 เมตร หรือ 1/8 ไมล์ของโรมัน เนื่องจากทะเลสาบกาลิลีกว้างประมาณ 12 กิโลเมตร ตอนนั้นสาวกจึงอาจอยู่กลางทะเลสาบ—มก 6:47; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18 และภาคผนวก ก7 และ ข14
ทิเบเรียส: เมืองที่อยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทะเลสาบกาลิลี ห่างจากเมืองคาเปอร์นาอุมที่อยู่ทางเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร และทางใต้ของเมืองทิเบเรียสมีน้ำพุร้อนหลายแห่งที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณ เมืองนี้สร้างโดยเฮโรดอันทีพาสประมาณปี ค.ศ. 18-26 เพื่อใช้เป็นเมืองหลวงและที่พักแห่งใหม่ของเขา เฮโรดตั้งชื่อเมืองนี้ว่าทิเบเรียสเพื่อให้เกียรติกับซีซาร์ทิเบริอัสซึ่งเป็นจักรพรรดิโรมันในเวลานั้น ปัจจุบันเมืองนี้ก็ยังเรียกว่าทิเบเรียส (ภาษาฮีบรูคือเทเวอร์ยา) ถึงแม้เมืองนี้จะเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนั้น แต่พระคัมภีร์พูดถึงเมืองนี้แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ และก็ไม่เคยบอกว่าพระเยซูเคยไปที่นั่น ซึ่งอาจเป็นเพราะเมืองนี้ได้รับอิทธิพลของคนต่างชาติอย่างมาก (เทียบกับ มธ 10:5-7) โยเซฟุสบอกว่าเมืองทิเบเรียสถูกสร้างขึ้นบนที่ดินที่เป็นสุสาน ชาวยิวหลายคนจึงไม่อยากย้ายไปอยู่ในเมืองนั้น (กดว 19:11-14) หลังจากชาวยิวก่อกบฏในศตวรรษที่ 2 มีการประกาศว่าเมืองนี้สะอาดแล้ว หลังจากนั้น เมืองทิเบเรียสจึงกลายเป็นเมืองสำคัญด้านการศึกษาของชาวยิวและเป็นที่ตั้งของศาลแซนเฮดริน หนังสือมิชนาห์และทัลมุดของปาเลสไตน์ (เยรูซาเล็ม) ก็ถูกรวบรวมขึ้นที่เมืองนี้ รวมทั้งข้อความของพวกมาโซเรตที่ต่อมาถูกใช้เพื่อแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูด้วย—ดูภาคผนวก ข10
อาหารที่เน่าเสียได้ . . . อาหารที่ไม่เน่าเสียซึ่งจะให้ชีวิตตลอดไป: พระเยซูรู้ว่ามีบางคนติดตามท่านกับสาวกเพราะพวกเขาได้กินอาหารอิ่ม อาหารที่มนุษย์กินช่วยค้ำจุนชีวิตเป็นวัน ๆ ไป แต่คำสอนของพระเจ้าเป็น “อาหาร” ที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป พระเยซูบอกให้คนที่ฟังท่านทำงานเพื่อจะได้ “อาหารที่ไม่เน่าเสียซึ่งจะให้ชีวิตตลอดไป” ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องพยายามมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าและแสดงความเชื่อในสิ่งที่ได้เรียนรู้—มธ 4:4; 5:3; ยน 6:28-39
บรรพบุรุษของเราได้กินมานา: พวกยิวอยากมีกษัตริย์เมสสิยาห์ที่สามารถดูแลพวกเขาให้มีอาหารกิน พวกเขาบอกพระเยซูว่าพระเจ้าก็เคยดูแลบรรพบุรุษของพวกเขาโดยให้มีมานาในที่กันดารซีนาย และอ้างข้อคัมภีร์จาก สด 78:24 ที่บอกว่ามานาเป็นอาหารจากสวรรค์ ตอนที่ขอให้พระเยซูทำ “การอัศจรรย์” (ยน 6:30) พวกเขาอาจคิดถึงการอัศจรรย์ที่พระเยซูเพิ่งทำเมื่อ 1 วันก่อนหน้านั้น ตอนนั้นท่านมีแค่ขนมปังบาร์เลย์ 5 อันกับปลาเล็ก ๆ 2 ตัวแต่ท่านก็ทำให้อาหารเหล่านั้นมีมากมายจนสามารถเลี้ยงคนได้หลายพันคน—ยน 6:9-12
พระเจ้าใช้ท่านให้สร้างโลก: ในข้อนี้ คำกรีก คอสม็อส (“โลก”) หมายถึงมนุษย์ที่อยู่บนโลกซึ่งสอดคล้องกับส่วนท้ายของข้อนี้ที่บอกว่าโลกกลับไม่รู้จักท่าน บางครั้งมีการใช้คำกรีกนี้ในหนังสือทั่วไปเพื่อหมายถึงเอกภพและสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ และอัครสาวกเปาโลก็อาจใช้คำว่า “โลก” ในความหมายเดียวกันนี้เมื่อพูดกับคนกรีก (กจ 17:24) แต่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ส่วนใหญ่แล้วมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่อยู่บนโลกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก ถึงแม้พระเยซูจะมีส่วนในการสร้างทุกสิ่งทั้งในสวรรค์และโลก แต่ข้อนี้กำลังเน้นบทบาทของท่านในการสร้างมนุษย์—ปฐก 1:26; ยน 1:3; คส 1:15-17
โลก: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก คอสม็อส ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่อยู่บนโลกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:10) ที่ ยน 1:29 บอกว่าพระเยซูซึ่งเป็นลูกแกะของพระเจ้าจะรับ “บาปของโลกไป” และที่ ยน 6:33 บอกว่าพระเยซูเป็นอาหารจากพระเจ้า ซึ่งหมายความว่าท่านเป็นช่องทางที่พระยะโฮวาใช้เพื่อทำให้มนุษย์ได้ชีวิตและได้รับพร
อาหารที่ให้ชีวิต: คำพูดนี้มีแค่ 2 ครั้งในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม (ยน 6:35, 48) ในข้อนี้คำว่า ชีวิตหมายถึง “ชีวิตตลอดไป” (ยน 6:40, 47, 54) ในท้องเรื่องนี้พระเยซูบอกว่าตัวท่านเป็น “อาหารแท้จากสวรรค์” (ยน 6:32) “อาหารจากพระเจ้า” (ยน 6:33) และเป็น “อาหารที่ให้ชีวิต” (ยน 6:51) พระเยซูบอกว่าพระเจ้าให้มานากับชาวอิสราเอลในที่กันดาร (นหม 9:20) แต่อาหารนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีชีวิตตลอดไป (ยน 6:49) ตรงกันข้ามกับสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระเยซู พวกเขาได้รับมานาจากสวรรค์ซึ่งเป็น “อาหารที่ให้ชีวิต” (ยน 6:48-51, 58) ที่ทำให้พวกเขามีชีวิตตลอดไปได้ พวกเขา “กินอาหารนี้” โดยแสดงความเชื่อว่าเลือดและเนื้อของพระเยซูมีพลังที่จะไถ่บาปได้จริง
ดิฉันเชื่อค่ะว่า เขาจะถูกปลุกให้ฟื้น: มาร์ธาคิดว่าพระเยซูพูดถึงการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือในวันสุดท้าย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:39) ความเชื่อที่เธอมีต่อคำสอนนี้น่าประทับใจจริง ๆ ผู้นำศาสนาบางคนในสมัยของเธอที่เรียกว่าพวกสะดูสีไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายแม้พระคัมภีร์พูดถึงคำสอนนี้ไว้ชัดเจน (ดนล 12:13; มก 12:18) ส่วนพวกฟาริสีก็เชื่อเรื่องวิญญาณอมตะ ถึงอย่างนั้นมาร์ธารู้ว่าพระเยซูสอนเรื่องความหวังเกี่ยวกับการฟื้นขึ้นจากตาย และท่านถึงกับปลุกคนตายให้ฟื้นด้วย แม้ท่านยังไม่เคยปลุกใครที่ตายไปนานเท่าลาซารัส
ให้ผมปลุกพวกเขาให้ฟื้นขึ้นจากตายในวันสุดท้าย: พระเยซูบอก 4 ครั้งว่าท่านจะปลุกคนให้ฟื้นขึ้นจากตายในวันสุดท้าย (ยน 6:40, 44, 54) ที่ ยน 11:24 มาร์ธาก็พูดถึงการ “ปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายในวันสุดท้าย” (เทียบกับ ดนล 12:13; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 11:24) และที่ ยน 12:48 คำว่า “วันสุดท้าย” เกี่ยวข้องกับเวลาที่พระเยซูพิพากษาตัดสินซึ่งก็คือช่วงพันปีที่ท่านปกครอง ในตอนนั้นท่านจะพิพากษามนุษย์ทุกคนรวมทั้งคนที่ฟื้นขึ้นจากตายด้วย—วว 20:4-6
ชีวิตตลอดไป: ในท้องเรื่องนี้พระเยซูใช้คำว่า “ชีวิตตลอดไป” 4 ครั้ง (ยน 6:27, 40, 47, 54) และสาวกคนหนึ่งใช้คำนี้ 1 ครั้ง (ยน 6:68) ในหนังสือข่าวดีของยอห์นในภาษาเดิมมีการใช้คำว่า “ชีวิตตลอดไป” ถึง 17 ครั้ง ส่วนหนังสือข่าวดีอีก 3 เล่มใช้คำนี้รวมกัน 8 ครั้ง
คนทุกชนิด: พระเยซูบอกว่าท่านจะชักนำคนจากทุกภูมิหลังให้มาหาท่าน ไม่ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือจะยากดีมีจนอย่างไร (กจ 10:34, 35; วว 7:9, 10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:44) น่าสังเกตว่าในช่วงนั้นมีคนกรีกบางคนซึ่งมานมัสการที่วิหารอยากพบพระเยซู (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 12:20) พระคัมภีร์หลายฉบับแปลคำกรีก พาส (“ทุกคน”) ในแบบที่ทำให้คิดว่าในที่สุดมนุษย์ทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเดียวจะถูกชักนำให้มาหาพระเยซู แต่การแปลแบบนี้ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจส่วนที่เหลือ (สด 145:20; มธ 7:13; ลก 2:34; 2ธส 1:9) แม้คำกรีกนี้จะแปลตรงตัวว่า “ทุกคน” (รม 5:12) แต่ที่ กจ 10:12 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคำกรีกนี้อาจหมายถึง “คนทุกชนิด” ก็ได้ เพราะในข้อนั้นแปลคำกรีกนี้ว่า “ทุกชนิด”—ยน 1:7; 1ทธ 2:4
ชักนำเขา: คำว่า “ชักนำ” ในภาษากรีกมักจะใช้กับการลากอวนหาปลา (ยน 21:6, 11) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าลากผู้คนมาโดยที่เขาไม่เต็มใจ เพราะคำกริยานี้ยังหมายถึง “ดึงดูดให้เข้ามาใกล้” ได้ด้วย คำพูดของพระเยซูทำให้นึกถึงคำพูดของพระยะโฮวาใน ยรม 31:3 ที่บอกประชาชนของพระองค์ในสมัยโบราณว่า “เพราะเรามีความรักที่มั่นคง เราจึงทำให้เจ้าเข้ามาใกล้เรา” (ฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำกรีกคำเดียวกับที่พระเยซูใช้) และใน ยน 12:32 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) ก็พูดคล้าย ๆ กันว่าพระเยซูชักนำคนทุกชนิดเข้ามาหาท่าน พระคัมภีร์แสดงว่าพระยะโฮวาให้มนุษย์มีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่าจะรับใช้พระองค์หรือไม่ (ฉธบ 30:19, 20) พระเจ้าชักนำอย่างอ่อนโยนให้คนที่เต็มใจตอบรับความจริงเข้ามาหาพระองค์ (สด 11:5; สภษ 21:2; กจ 13:48) พระยะโฮวาชักนำผู้คนด้วยข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลและพลังบริสุทธิ์ของพระองค์ ข้อความใน ยน 6:45 เป็นคำพยากรณ์ที่ยกมาจาก อสย 54:13 ซึ่งพูดถึงคนที่พระเจ้าผู้เป็นพ่อชักนำให้มาหาพระองค์—เทียบกับ ยน 6:65
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 54:13 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) สำเนาภาษากรีกของหนังสือยอห์นที่ยังเหลืออยู่ในทุกวันนี้ใช้คำกรีก เธะออส (พระเจ้า) ในข้อนี้ (ซึ่งอาจเป็นเพราะสำเนาพระคัมภีร์ฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำนี้ที่ อสย 54:13) และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ฉบับแปลส่วนใหญ่ใช้คำว่า “พระเจ้า” แต่เนื่องจากต้นฉบับภาษาฮีบรูที่ อสย 54:13 ใช้ชื่อพระเจ้า ฉบับแปลโลกใหม่ จึงใช้ชื่อพระเจ้าในข้อนี้ด้วย
มีอำนาจให้ชีวิต: หรือ “มีชีวิตในตัวเอง” พระเยซู “มีอำนาจให้ชีวิต” เพราะพระเจ้าผู้เป็นพ่อให้อำนาจนี้กับท่าน ซึ่งอำนาจนี้ที่จริงเป็นของพระองค์เท่านั้น อำนาจนี้รวมถึงอำนาจที่จะช่วยให้มนุษย์มีโอกาสได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าและได้ชีวิต อำนาจนี้ยังรวมถึงอำนาจที่จะปลุกคนตายให้ฟื้น ประมาณ 1 ปีต่อมาพระเยซูก็บอกว่าสาวกของท่านสามารถมีชีวิตในตัวเองได้—สำหรับความหมายของคำว่า “มีชีวิตในตัวเอง” ที่ใช้กับสาวกของพระเยซู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:53
ได้ชีวิต: หรือ “มีชีวิตในตัวเอง” ใน ยน 5:26 พระเยซูบอกว่าท่าน “มีอำนาจให้ชีวิต” เหมือนกับที่พระเจ้าผู้เป็นพ่อ “มีอำนาจให้ชีวิต” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:26) ประมาณ 1 ปีต่อมาพระเยซูใช้คำเดียวกันนี้กับสาวก และท้องเรื่องของข้อนี้ทำให้รู้ว่าการ “ได้ชีวิต” หมายถึงการ “มีชีวิตตลอดไป” (ยน 6:54) นี่แสดงว่าพระเยซูไม่ได้บอกว่าพวกสาวกมีอำนาจที่จะให้ชีวิตกับผู้อื่น แต่คำว่า “ได้ชีวิต” ในข้อนี้น่าจะหมายถึงการมีชีวิตในความหมายที่ครบถ้วน คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะมีชีวิตในความหมายที่ครบถ้วนตอนที่พวกเขาถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตอมตะในสวรรค์ ส่วนคนที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีความหวังบนโลกจะมีชีวิตในความหมายที่ครบถ้วนหลังจากที่พวกเขาผ่านการทดสอบขั้นสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นตอนสิ้นสุดสมัยพันปีของพระคริสต์—1คร 15:52, 53; วว 20:5, 7-10
กินเนื้อและดื่มเลือดของผม: ท้องเรื่องช่วยให้เข้าใจว่า คำพูดนี้ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อและดื่มเลือดจริง ๆ แต่หมายถึงการแสดงความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (ยน 6:35, 40) พระเยซูพูดประโยคนี้ในปี ค.ศ. 32 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานก่อน “เทศกาลปัสกาของชาวยิว” (ยน 6:4) ดังนั้น ท่านไม่ได้พูดถึงการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์เพราะท่านจะเริ่มการฉลองนั้นในปี ค.ศ. 33 คำพูดของพระเยซูจึงน่าจะทำให้คนที่ฟังท่านนึกถึงเลือดของลูกแกะที่สามารถช่วยชีวิตชาวอิสราเอลในคืนที่พวกเขาออกจากอียิปต์ (อพย 12:24-27) พระเยซูกำลังเน้นว่าเลือดของท่านก็มีความสำคัญแบบเดียวกัน เพราะสามารถทำให้สาวกของท่านมีชีวิตตลอดไป
เป็นหนึ่งเดียวกับผม: หรือ “อยู่ในผม” สำนวนนี้หมายถึงความใกล้ชิดสนิทสนมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ที่ประชุมของชาวยิว: หรืออาจแปลได้ว่า “ที่ประชุม” คำนามกรีก ซูนาโกเก ที่ใช้ในข้อนี้แปลตรงตัวว่า “การพามารวมกัน, การประชุมกัน” คำนี้ส่วนใหญ่ที่อยู่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักหมายถึงอาคารหรือสถานที่ที่ชาวยิวมาประชุมกันเพื่ออ่านพระคัมภีร์ มาฟังการสอน มาประกาศ และอธิษฐาน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ที่ประชุมของชาวยิว”) ถึงแม้ว่าในท้องเรื่องนี้ คำนี้อาจมีความหมายกว้าง ๆ คือหมายถึงการประชุมที่คนทั่วไปเข้าร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นคนยิวหรือไม่ แต่คำนี้น่าจะหมายถึง “ที่ประชุมของชาวยิว” ที่พระเยซูเข้าไปคุยกับชาวยิวซึ่งอยู่ใต้กฎหมายของโมเสส
ทำให้คุณหลงทำผิด: แปลตรงตัวว่า “ทำให้คุณสะดุด” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก สคานดาลิโศ หมายถึงการสะดุดในความหมายเป็นนัย ซึ่งอาจรวมถึงการหลงทำผิดหรือการเป็นเหตุให้คนอื่นหลงทำผิดก็ได้ ในท้องเรื่องนี้ คำนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ทำให้คุณทำผิด, เป็นหลุมพรางดักคุณ” เมื่อมีการใช้คำนี้ในคัมภีร์ไบเบิล การทำผิดจึงอาจหมายถึงการฝ่าฝืนกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งของพระเจ้าในเรื่องศีลธรรม การสูญเสียความเชื่อ หรือการยอมรับคำสอนเท็จ คำกรีกนี้ยังมีความหมายว่า “ไม่พอใจ” ได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:57; 18:7
สิ่งที่ชักจูงคนให้หลงทำผิด: เชื่อกันว่าคำกรีก สคานดาลอน ที่แปลในข้อนี้ว่า “สิ่งที่ชักจูงคนให้หลงทำผิด” แต่เดิมหมายถึงกับดัก และบางคนคิดว่าหมายถึงแท่งไม้ที่อยู่ในกับดักซึ่งมีเหยื่อล่อผูกติดอยู่ ต่อมามีการใช้คำนี้ในความหมายที่กว้างขึ้น คือหมายถึงอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งกีดขวางซึ่งทำให้คนเราสะดุดหรือล้มลง และเมื่อใช้ในความหมายเป็นนัย คำนี้หมายถึงการกระทำหรือสถานการณ์ที่ทำให้คนเราทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องด้านศีลธรรม หรือทำผิด ส่วนคำกริยา สคานดาลิโศ ซึ่งใน มธ 18:8, 9 แปลว่า “ทำให้หลงทำผิด” ยังอาจแปลได้ว่า “กลายเป็นหลุมพราง, เป็นต้นเหตุให้สะดุด”
เรื่องนี้ทำให้พวกคุณรับไม่ได้หรือ?: หรือ “เรื่องนี้ทำให้คุณไม่พอใจหรือ?” หรือ “เรื่องนี้ทำให้คุณเลิกเชื่อแล้วหรือ?” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก สคานดาลิโศ หมายถึงการสะดุดในความหมายเป็นนัย ซึ่งอาจรวมถึงการหลงทำผิดหรือการเป็นเหตุให้คนอื่นหลงทำผิดก็ได้ เมื่อมีการใช้คำนี้ในคัมภีร์ไบเบิล การทำผิดอาจหมายถึงการฝ่าฝืนกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งของพระเจ้าในเรื่องศีลธรรม การสูญเสียความเชื่อ การยอมรับคำสอนเท็จ หรือการไม่พอใจ ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:29; 18:7
มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ: คำนี้ดูเหมือนมีความหมายกว้าง ๆ คือหมายถึงหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับขีดจำกัดของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ รวมถึงขีดจำกัดในการหาเหตุผลและสิ่งที่พวกเขาทำได้ ถึงจะเอาประสบการณ์และสติปัญญาทั้งหมดของมนุษย์มารวมกัน รวมทั้งข้อเขียน หลักปรัชญา และคำสอนต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ก็ให้ชีวิตตลอดไปกับมนุษย์ไม่ได้
พลังของพระเจ้า: ในข้อนี้พระเยซูทำให้เห็นว่ามนุษย์ที่มีเลือดเนื้อให้ชีวิตไม่ได้ แตกต่างจากพลังและสติปัญญาที่มาจากพระเจ้าซึ่งสามารถให้ชีวิตได้ นี่หมายความว่าพลังและสติปัญญาของมนุษย์ที่เห็นได้จากข้อเขียน หลักปรัชญา และคำสอนต่าง ๆ ไม่สามารถช่วยให้คนเรามีชีวิตตลอดไปได้
ผู้หมิ่นประมาท: หรือ “มาร” คำกรีก เดียบอล็อส หมายถึง “ผู้หมิ่นประมาท” มักมีการใช้คำนี้กับมารซาตาน ส่วนในท้องเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้พูดถึงซาตานซึ่งมีอยู่ไม่กี่ครั้งก็มีการแปลคำนี้ว่า “ใส่ร้าย” (1ทธ 3:11; 2ทธ 3:3; ทต 2:3) ในภาษากรีก เมื่อใช้คำนี้กับซาตานก็มักจะมีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:1 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “คำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง”) แต่ในข้อนี้คำนี้ใช้กับยูดาสอิสคาริโอทที่เริ่มกลายเป็นคนไม่ดี เป็นไปได้ว่าตอนที่พระเยซูพูดประโยคนี้ท่านรู้แล้วว่ายูดาสเริ่มหลงผิดและในที่สุดเขาจะกลายเป็นเครื่องมือที่ซาตานใช้เพื่อฆ่าท่าน—ยน 13:2, 11
ท่านรู้: เนื่องจากพระเยซูสามารถอ่านใจและความคิดของคนอื่นได้ แสดงว่าตอนที่ยูดาสถูกเลือกให้เป็นอัครสาวก เขายังไม่มีความคิดที่จะทรยศพระเยซู (มธ 9:4; มก 2:8; ยน 2:24, 25) แต่เมื่อยูดาสเริ่มคิดชั่ว พระเยซูก็สังเกตเห็นและรู้ว่าเขาคือคนที่จะทรยศท่าน ถึงอย่างนั้น พระเยซูก็ยังล้างเท้าให้เขา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:64; 6:70
พระเยซู . . . รู้ก่อนแล้วว่า . . . คนไหนจะทรยศท่าน: พระเยซูกำลังพูดถึงยูดาสอิสคาริโอท ก่อนพระเยซูจะเลือกอัครสาวก 12 คน ท่านอธิษฐานถึงพ่อของท่านตลอดทั้งคืน (ลก 6:12-16) ดังนั้น ในตอนแรกยูดาสต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แต่พระเยซูรู้จากคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูว่าท่านจะถูกคนใกล้ชิดทรยศ (สด 41:9; 109:8; ยน 13:18, 19) พระเยซูอ่านใจและความคิดได้ ดังนั้น เมื่อยูดาสเริ่มคิดชั่ว ท่านก็รู้ว่าเขาเปลี่ยนไป (มธ 9:4) เนื่องจากพระเจ้าใช้ความสามารถในการรู้ล่วงหน้า พระองค์จึงรู้ว่าเพื่อนคนหนึ่งที่พระเยซูไว้ใจจะทรยศท่าน แต่การสรุปว่าพระเจ้ากำหนดไว้ก่อนแล้วว่ายูดาสจะทรยศพระเยซูไม่สอดคล้องกันเลยกับคุณลักษณะของพระเจ้าและสิ่งที่พระองค์ทำมาตลอด
ก่อนแล้ว: หรือ “แต่แรก” ไม่ได้หมายถึงก่อนที่ยูดาสเกิด หรือก่อนที่เขาจะถูกเลือกให้เป็นอัครสาวก เพราะพระเยซูเลือกเขาหลังจากที่ท่านอธิษฐานตลอดทั้งคืน (ลก 6:12-16) แต่หมายถึง ตั้งแต่แรกที่ยูดาสเริ่มคิดชั่วพระเยซูก็ดูออกทันที (ยน 2:24, 25; วว 1:1; 2:23; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:70; 13:11) นี่แสดงว่าการทรยศของเขาเกิดจากการไตร่ตรองและวางแผนไว้ก่อน เขาไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน คำว่า “ก่อนแล้ว” (คำกรีก อาร์เฆ) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง เช่น 2ปต 3:4 แปลคำนี้ว่า “ตอนเริ่มต้น” ซึ่งหมายถึงตอนที่พระเจ้าเริ่มสร้างสิ่งต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วคำนี้จะมีความหมายที่เจาะจง เช่น เปโตรบอกว่าคนต่างชาติได้รับพลังบริสุทธิ์ “เหมือนที่พวกเราได้รับตอนแรกนั้น” (กจ 11:15) ในข้อนี้เปโตรไม่ได้หมายถึงตอนที่เขาเกิดหรือตอนที่เขาได้รับเลือกเป็นอัครสาวก แต่หมายถึงวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 ซึ่งเป็น “ตอนแรก” ที่พระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์กับสาวกของพระเยซูเพื่อจุดประสงค์พิเศษบางอย่าง (กจ 2:1-4) ตัวอย่างอื่น ๆ ที่แสดงว่าคำกรีกนี้มักจะแปลตามท้องเรื่องมีอยู่ที่ ลก 1:2; ยน 15:27; และ 1ยน 2:7
มาร: มาจากคำกรีก เดียบอล็อส ซึ่งหมายถึง “ผู้หมิ่นประมาท, ผู้ใส่ร้าย” (ยน 6:70; 2ทธ 3:3) เกี่ยวข้องกับคำกริยา เดียบาล์โล ซึ่งหมายถึง “กล่าวหา, ฟ้องร้อง” ที่ ลก 16:1 แปลคำนี้ว่า “ฟ้อง”
ผู้หมิ่นประมาท: หรือ “มาร” คำกรีก เดียบอล็อส หมายถึง “ผู้หมิ่นประมาท” มักมีการใช้คำนี้กับมารซาตาน ส่วนในท้องเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้พูดถึงซาตานซึ่งมีอยู่ไม่กี่ครั้งก็มีการแปลคำนี้ว่า “ใส่ร้าย” (1ทธ 3:11; 2ทธ 3:3; ทต 2:3) ในภาษากรีก เมื่อใช้คำนี้กับซาตานก็มักจะมีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:1 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “คำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง”) แต่ในข้อนี้คำนี้ใช้กับยูดาสอิสคาริโอทที่เริ่มกลายเป็นคนไม่ดี เป็นไปได้ว่าตอนที่พระเยซูพูดประโยคนี้ท่านรู้แล้วว่ายูดาสเริ่มหลงผิดและในที่สุดเขาจะกลายเป็นเครื่องมือที่ซาตานใช้เพื่อฆ่าท่าน—ยน 13:2, 11
วีดีโอและรูปภาพ
คัมภีร์ไบเบิลใช้หลายคำเมื่อพูดถึงตะกร้า เช่น เมื่อพูดถึงตะกร้า 12 ใบที่ใช้เก็บเศษอาหารที่เหลือตอนที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 5,000 คน มีการใช้คำกรีกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นตะกร้าสานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เมื่อพูดถึงตะกร้า 7 ใบที่ใส่เศษอาหารหลังจากที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 4,000 คน ก็มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่ง (มก 8:8, 9) ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าเป็นตะกร้าขนาดใหญ่ ตะกร้าที่ศิษย์ของเปาโลให้เขานั่งแล้วหย่อนลงทางช่องหน้าต่างบนกำแพงเมืองดามัสกัสก็มาจากคำกรีกเดียวกันนี้—กจ 9:25