เขียนโดยมาระโก 3:1-35
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ทั้งโกรธทั้งเสียใจ: มาระโกเป็นคนเดียวที่พูดถึงความรู้สึกของพระเยซูในตอนนั้นเมื่อท่านเห็นว่าพวกผู้นำศาสนามีใจดื้อด้าน (มธ 12:13; ลก 6:10) การที่มาระโกสามารถพรรณนาความรู้สึกของพระเยซูได้อย่างชัดเจนแบบนี้ อาจเป็นเพราะเขาได้ข้อมูลมาจากเปโตรซึ่งเป็นคนที่มีอารมณ์และความรู้สึกลึกซึ้ง—ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”
ปรึกษา: นี่เป็นครั้งแรกใน 2 ครั้งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างชัดเจนว่า 2 กลุ่มที่เป็นศัตรูกัน คือพวกฟาริสีกับพรรคพวกของเฮโรดปรึกษาหารือกันเพื่อกำจัดพระเยซู อีกครั้งหนึ่งที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงคือเกือบ 2 ปีต่อมาซึ่งเป็นช่วงก่อนพระเยซูถูกประหารแค่ 3 วัน นี่แสดงว่าคนทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันวางแผนฆ่าพระเยซูมานานแล้ว—มธ 22:15-22
พรรคพวกของเฮโรด: ดูส่วนอธิบายศัพท์
ทะเลสาบ: คือ ทะเลสาบกาลิลี—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
ทะเลสาบกาลิลี: ทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางเหนือของอิสราเอล (คำกรีกที่แปลว่า “ทะเล” อาจหมายถึง “ทะเลสาบ” ด้วย) บางครั้งก็เรียกทะเลสาบนี้ว่าทะเลคินเนเรท (กดว 34:11) ทะเลสาบเยนเนซาเรท (ลก 5:1) และทะเลสาบทิเบเรียส (ยน 6:1) ทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 210 เมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ 21 กม. และมีความกว้าง 12 กม. จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 48 เมตร—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี”
อิดูเมอา: ช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้ แคว้นอิดูเมอาอยู่ทางใต้สุดของยูเดียซึ่งตอนนั้นเป็นดินแดนหนึ่งที่โรมปกครอง (ดูภาคผนวก ข10) ในภาษากรีก ชื่อนี้หมายถึง “[แผ่นดิน] ของชาวเอโดม” ตอนแรกชาวเอโดมยึดครองเขตแดนทางใต้ของทะเลเดดซี (ดูภาคผนวก ข3 และ ข4) ในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์นะโบไนดัสแห่งบาบิโลนพิชิตดินแดนของชาวเอโดมได้ พอถึงศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. ชาวนาบาเทีย-อาหรับก็เข้ามายึดดินแดนของพวกเขา ชาวเอโดมจึงย้ายขึ้นเหนือไปตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เนเกบจนถึงรอบ ๆ เมืองเฮโบรน และที่นั่นก็ถูกเรียกว่าอิดูเมอา ต่อมาพวกฮัสโมเนียน (แมกคาบี) เข้ามายึดดินแดนนี้และบังคับให้พวกเขาเข้าสุหนัตและทำตามกฎหมายของชาวยิวไม่อย่างนั้นจะต้องถูกไล่ออกไป บรรพบุรุษของราชวงศ์เฮโรดก็อยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นที่ยอมทำตามกฎหมายและธรรมเนียมของยิว
จากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน: น่าจะหมายถึงเขตแดนทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เขตแดนนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าพีเรีย (มาจากคำกรีก เพะราน แปลว่า “อีกฝั่งหนึ่ง, เลยไป”)
ไม่ให้บอกคนอื่นว่าท่านเป็นใคร: คือ ไม่ให้เปิดเผยตัวตนของท่าน ถึงแม้พวกปีศาจรู้ว่าพระเยซูเป็น “ลูกของพระเจ้า” และเรียกท่านแบบนั้น (ข้อ 11) แต่พระเยซูไม่ยอมให้พวกมันเป็นพยานหรือบอกเรื่องของท่าน พวกปีศาจกบฏ ไม่เป็นที่ยอมรับของพระเจ้า เกลียดสิ่งบริสุทธิ์ และเป็นศัตรูกับพระองค์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:25) คล้ายกัน ตอนที่ “ปีศาจ” ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเปาโลกับสิลาสเป็น “ทาสของพระเจ้าองค์สูงสุด” และเป็นผู้ประกาศ “ทางรอด” เปาโลก็ขับไล่ปีศาจตนนั้นออกจากเธอ—กจ 16:16-18
เงียบ!: ถึงแม้ปีศาจจะรู้ว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์หรือเมสสิยาห์และเรียกท่านว่า “ผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า” (ข้อ 24) แต่พระเยซูไม่ยอมให้มันเป็นพยานยืนยันว่าท่านเป็นใคร—มก 1:34; 3:11, 12
อัครสาวก: หรือ “ผู้ถูกส่งออกไป” คำกรีก อาพอสทอล็อส มาจากคำกริยา อาพอสเทลโล ซึ่งอยู่ตอนท้ายของข้อนี้และมีการแปลว่า ‘ส่งออกไป’—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2
อัครสาวก: หรือ “ผู้ถูกส่งออกไป” คำกรีก อาพอสทอล็อส มาจากคำกริยา อาพอสเทลโล ซึ่งมีความหมายว่า “ส่งออกไป” (มธ 10:5; ลก 11:49; 14:32) ความหมายหลักของคำนี้เห็นได้ชัดจากคำพูดของพระเยซูที่ ยน 13:16 ซึ่งแปลคำนี้ว่า “คนที่ถูกใช้ไป”
ซีโมนหรือที่เรียกกันว่าเปโตร: พระคัมภีร์เรียกเปโตรด้วยชื่อที่ต่างกัน 5 ชื่อ คือ (1) “ซีเมโอน” ซึ่งเป็นชื่อกรีกที่ทับศัพท์มาจากชื่อฮีบรู (สิเมโอน) (2) “ซีโมน” ซึ่งเป็นภาษากรีก (ทั้งซีเมโอนและซีโมนมาจากคำกริยาฮีบรูที่แปลว่า “ได้ยิน, ฟัง”) (3) “เปโตร” (ชื่อกรีกที่แปลว่า “หินก้อนหนึ่ง” และเขาเป็นคนเดียวในพระคัมภีร์ที่ใช้ชื่อนี้) (4) “เคฟาส” ชื่อภาษาเซมิติกที่มีความหมายตรงกับชื่อเปโตร (อาจเกี่ยวข้องกับคำฮีบรู เคฟิม [หิน] ที่ใช้ใน โยบ 30:6; ยรม 4:29) และ (5) “ซีโมนเปโตร” ซึ่งเป็นการรวม 2 ชื่อเข้าด้วยกัน—กจ 15:14; ยน 1:42; มธ 16:16
ที่ท่านตั้งชื่อให้อีกชื่อหนึ่งว่าเปโตร: ชื่อเปโตรที่พระเยซูตั้งให้ซีโมนมีความหมายว่า “ก้อนหิน” (ยน 1:42) พระเยซูซึ่งรู้ว่านาธานาเอลเป็นคนที่ “ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมอะไร” (ยน 1:47) ก็รู้ด้วยว่าเปโตรเป็นคนแบบไหน เปโตรแสดงให้เห็นว่าเขามีคุณลักษณะที่ดีหลายอย่างเหมือนก้อนหิน โดยเฉพาะหลังจากที่พระเยซูตายและฟื้นขึ้นจากตายแล้ว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2
โบอาเนอเย: ชื่อภาษาเซมิติกนี้พบได้ในหนังสือมาระโกเท่านั้น ที่พระเยซูตั้งชื่อนี้ให้ยากอบและยอห์นอาจเป็นเพราะพวกเขาเป็นคนใจร้อนและกระตือรือร้นมาก—ลก 9:54
ซึ่งแปลว่า: มาระโกอธิบายหรือแปลคำที่ผู้อ่านชาวยิวน่าจะคุ้นเคยดี นี่ทำให้เห็นว่าเขาเขียนหนังสือมาระโกเพื่อคนที่ไม่ใช่ชาวยิวโดยเฉพาะ
ลูกฟ้าร้อง: ในภาษาฮีบรู อาราเมอิก และกรีก มักมีการใช้คำว่า “ลูก” หรือ “ลูกของ” เพื่ออธิบายบุคลิกหรือนิสัยเด่น ๆ ของคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง
บาร์โธโลมิว: แปลว่า “ลูกชายของโทลไม” เชื่อกันว่าเขาคือนาธานาเอลที่ยอห์นพูดถึง (ยน 1:45, 46) เมื่อเทียบบันทึกในหนังสือข่าวดีเล่มต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า มัทธิวกับลูกาพูดชื่อบาร์โธโลมิวคู่กับฟีลิป เหมือนที่ยอห์นพูดชื่อนาธานาเอลคู่กับฟีลิป—มธ 10:3; ลก 6:14
ยากอบลูกของอัลเฟอัส: ดูเหมือนว่าเป็นคนเดียวกับสาวกที่ชื่อ “ยากอบน้อย” ซึ่งพูดถึงใน มก 15:40 และยังเชื่อกันว่าอัลเฟอัสเป็นคนเดียวกับโคลปัส (ยน 19:25) ถ้าเป็นอย่างนั้น อัลเฟอัสก็เป็นสามีของ “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 27:56; 28:1; มก 15:40; 16:1; ลก 24:10) อัลเฟอัสที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะเป็นคนละคนกับอัลเฟอัสที่พูดถึงใน มก 2:14 ซึ่งเป็นพ่อของเลวี
ธัดเดอัส: ในรายชื่ออัครสาวกที่ ลก 6:16 และ กจ 1:13 ไม่มีชื่อธัดเดอัส แต่มีชื่อ “ยูดาสลูกของยากอบ” ซึ่งทำให้สรุปได้ว่าธัดเดอัสเป็นอีกชื่อหนึ่งของอัครสาวกที่ยอห์นเรียกว่า “ยูดาสที่ไม่ใช่ยูดาสอิสคาริโอท” (ยน 14:22) เหตุผลหนึ่งที่มีการใช้ชื่อธัดเดอัสอาจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนระหว่างอัครสาวกคนนี้กับยูดาสอิสคาริโอทซึ่งเป็นคนทรยศ
คานาไนโอส: ชื่อนี้ช่วยให้แยกออกระหว่างอัครสาวกซีโมนและอัครสาวกซีโมนเปโตร (มธ 10:4) เชื่อกันว่าชื่อนี้มาจากภาษาฮีบรูหรืออาราเมอิกที่มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” ลูกาเรียกซีโมนคนนี้ว่า “คนกระตือรือร้น” โดยใช้คำกรีก เศโลเทศ ซึ่งก็มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” (ลก 6:15; กจ 1:13) อาจเป็นไปได้ว่าซีโมนคนนี้เคยเป็นพวกเซลอตซึ่งเป็นกลุ่มชาวยิวที่ต่อต้านจักรวรรดิโรมัน หรือเขาอาจได้ชื่อนี้เพราะเป็นคนกระตือรือร้นและมีศรัทธาอย่างแรงกล้า
อิสคาริโอท: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:4
อิสคาริโอท: อาจมีความหมายว่า “คนที่มาจากเคริโอท” ซีโมนพ่อของยูดาสก็ถูกเรียกว่า “อิสคาริโอท” ด้วย (ยน 6:71) เชื่อกันว่าคำนี้บอกให้รู้ว่าซีโมนและยูดาสมาจากเมืองเคริโอทเฮสโรนที่อยู่ในแคว้นยูเดีย (ยชว 15:25) ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ยูดาสก็เป็นอัครสาวกคนเดียวในจำนวน 12 คนที่มาจากแคว้นยูเดีย ส่วนที่เหลือมาจากแคว้นกาลิลี
ยากอบ: น้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งดูเหมือนเป็นคนเดียวกับยากอบที่พูดถึงใน กจ 12:17 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) และ กท 1:19 เขาเป็นผู้เขียนหนังสือยากอบในคัมภีร์ไบเบิลด้วย—ยก 1:1
ยูดาส: น้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งดูเหมือนเป็นคนเดียวกับยูดา (ชื่อกรีก อิอู่ดาส) และเป็นผู้เขียนหนังสือยูดาในคัมภีร์ไบเบิล—ยูดา 1
คนในครอบครัวของพระเยซู: อาจรวมถึงน้องชายต่างพ่อของพระเยซู คือยากอบและยูดาส (ยูดา) ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิล ชื่อน้องชาย 4 คนของพระเยซูมีอยู่ใน มธ 13:55 และ มก 6:3—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55
เบเอลเซบูบ: อาจแผลงมาจากคำว่าบาอัลเซบูบ ที่หมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งแมลงวัน” ซึ่งก็คือพระบาอัลที่ชาวฟีลิสเตียในเมืองเอโครนนมัสการ (2พก 1:3) สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับใช้ชื่อคล้าย ๆ กันว่าเบเอลเซบูลหรือบีเซบูล ซึ่งอาจหมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งที่อยู่อันสูงส่ง” หรืออาจเป็นการเล่นคำฮีบรู ซีเวล (มูลสัตว์) ซึ่งไม่ได้เป็นคำในพระคัมภีร์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ชื่อนี้ก็จะหมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งมูลสัตว์” ข้อความใน มธ 12:24 บอกให้รู้ว่าเบเอลเซบูบเป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกซาตาน ซึ่งเป็นหัวหน้าหรือเจ้าแห่งปีศาจ
เบเอลเซบูบ: เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกซาตาน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:25
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
บ้าน: หมายถึงครอบครัว คำว่า “บ้าน” ในภาษาเดิมอาจหมายถึงครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย และยังหมายถึงคนที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักหรือวังของกษัตริย์ (กจ 7:10; ฟป 4:22) มีการใช้คำนี้หมายถึงราชวงศ์ที่ปกครองบ้านเมืองด้วย เช่น ราชวงศ์ของเฮโรดและซีซาร์ ซึ่งมักมีการแตกแยกและในที่สุดก็ล่มจม
อยู่: หรือ “ตั้งอยู่ (ด้วยกัน)”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าบ้านในข้อนี้
ดูหมิ่นพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า: หมายถึงการใช้คำพูดใส่ร้าย ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือด่าว่าพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพลังบริสุทธิ์เป็นพลังที่มาจากพระเจ้า การจงใจต่อต้านหรือไม่ยอมรับว่าพลังนี้ได้ทำบางสิ่งบางอย่างก็เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้าโดยตรง และอย่างที่เห็นใน มธ 12:24, 28 และ มก 3:22 ทั้ง ๆ ที่ผู้นำศาสนาชาวยิวเห็นว่าพระเยซูทำการอัศจรรย์ด้วยพลังของพระเจ้า แต่พวกเขาก็ยังบอกว่าพระเยซูได้รับอำนาจจากมารซาตาน
บาปนั้นจะติดตัวเขาตลอดไป: ดูเหมือนหมายถึงการทำบาปแบบตั้งใจซึ่งจะส่งผลให้ถูกทำลายตลอดไป ไม่มีเครื่องบูชาใดสามารถปิดคลุมบาปนั้นได้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าดูหมิ่นพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าในข้อนี้ และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:31 ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน
การลบหลู่ดูหมิ่น: หมายถึงการใช้คำพูดใส่ร้าย ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือด่าว่าพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพลังบริสุทธิ์เป็นพลังที่มาจากพระเจ้า การจงใจต่อต้านหรือไม่ยอมรับว่าพลังนี้ได้ทำบางสิ่งบางอย่างก็เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระเจ้าโดยตรง อย่างที่เห็นใน มธ 12:24, 28 ทั้ง ๆ ที่ผู้นำศาสนาชาวยิวเห็นว่าพระเยซูทำการอัศจรรย์ด้วยพลังของพระเจ้า แต่พวกเขาก็ยังบอกว่าพระเยซูได้รับอำนาจจากมารซาตาน
น้องชาย: คำกรีก อาเด็ลฟอส ในคัมภีร์ไบเบิลอาจหมายถึงพี่น้องร่วมความเชื่อ แต่ในข้อนี้หมายถึงน้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งเป็นลูกของโยเซฟกับมารีย์ บางคนที่เชื่อว่ามารีย์ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ต่อไปหลังจากให้กำเนิดพระเยซูอ้างว่า คำกรีก อาเด็ลฟอส ในที่นี้หมายถึงลูกพี่ลูกน้อง แต่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งสำหรับ “ลูกพี่ลูกน้อง” (คือ อาเน็พซิออส ที่ คส 4:10) และใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งสำหรับ “ลูกชายของน้องสาวเปาโล” (กจ 23:16) ที่ ลก 21:16 ก็ใช้คำกรีกในรูปพหูพจน์ 2 คำ คือ ซูงเกะเน่อา (แปลว่า “ญาติ”) และ อาเด็ลฟอส (แปลว่า “พี่น้อง”) ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะใช้คำที่เฉพาะเจาะจง
น้องชายของพระเยซู: คือน้องชายต่างพ่อของพระเยซู มีการพูดถึงชื่อพวกเขาที่ มธ 13:55 และ มก 6:3—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “น้องชาย”
นี่ไง แม่และพี่น้องของผม: พระเยซูกำลังแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างพี่น้องจริง ๆ ของท่านซึ่งบางคนไม่มีความเชื่อในตัวท่าน (ยน 7:5) กับพี่น้องร่วมความเชื่อซึ่งก็คือพวกสาวก พระเยซูแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องจะมีค่ามากสำหรับท่าน แต่ความสัมพันธ์กับคนที่ ‘ทำสิ่งที่พ่อของท่านอยากให้ทำ’ มีค่ามากกว่า—มก 3:35