เขียนโดยมาระโก 10:1-52
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ข้ามแม่น้ำจอร์แดน และมาใกล้เขตแดนแคว้นยูเดีย: น่าจะหมายถึงพีเรียซึ่งเป็นเขตแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน โดยเฉพาะส่วนที่ติดกับแคว้นยูเดีย หลังจากพระเยซูออกจากแคว้นกาลิลี ท่านก็ไม่ได้กลับไปอีกจนถึงตอนที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว—ดูภาคผนวก ก7 แผนที่ 5
ข้ามแม่น้ำจอร์แดน และมาใกล้เขตแดนแคว้นยูเดีย: น่าจะหมายถึงพีเรียซึ่งเป็นเขตแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน โดยเฉพาะส่วนที่ติดกับแคว้นยูเดีย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:1 และภาคผนวก ก7, แผนที่ 5
หนังสือหย่า: การที่กฎหมายของโมเสสเรียกร้องให้ผู้ชายที่คิดจะหย่าทำเอกสารทางกฎหมายและดูเหมือนว่าต้องปรึกษาพวกผู้นำ เป็นการช่วยให้เขามีเวลาได้คิดทบทวนเรื่องสำคัญนี้อีกครั้ง จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ดูเหมือนเพื่อป้องกันไม่ให้รีบร้อนหย่าและเพื่อปกป้องผู้หญิงในระดับหนึ่ง (ฉธบ 24:1) แต่ในสมัยพระเยซู พวกผู้นำศาสนาทำให้การหย่าเป็นเรื่องง่าย โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ในศตวรรษแรกที่เป็นฟาริสีก็เคยหย่า เขาแนะนำว่าคนเราสามารถหย่าได้ “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม (ซึ่งสำหรับมนุษย์แล้ว เหตุผลเหล่านี้ก็มีมากมาย)”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:31
หนังสือหย่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:7
ในตอนแรกที่พระเจ้าสร้างมนุษย์: ในข้อนี้พระเยซูพูดถึงตอนที่พระเจ้าสร้างผู้ชายกับผู้หญิงและให้พวกเขาแต่งงานกัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของสังคมมนุษย์
พระองค์: สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า “พระเจ้า”
หนึ่งเดียว: แปลตรงตัวว่า “เนื้อหนังเดียวกัน” คำกรีกนี้แปลมาจากคำฮีบรูที่อยู่ใน ปฐก 2:24 และอาจแปลได้ด้วยว่า “ร่างกายเดียว” หรือ “คนเดียวกัน” คำนี้พรรณนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่สุดระหว่างคนสองคน ไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ทางเพศเท่านั้นแต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์ทั้งหมดที่สองคนมีต่อกันซึ่งทำให้พวกเขาเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์และแยกจากกันไม่ได้ และถ้ามีการแยกจากกันก็จะเกิดความเสียหายกับทั้งสองฝ่าย
หนึ่งเดียว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:5
ผิดศีลธรรมทางเพศ: คำกรีก พอร์เน่อา เป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผิด ซึ่งรวมถึงการเล่นชู้ การเป็นโสเภณี การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ยังไม่แต่งงาน การรักร่วมเพศ และการร่วมเพศกับสัตว์—ดูส่วนอธิบายศัพท์
หย่ากับภรรยา: หรือ “ให้ภรรยาของเขาไป” คำพูดใน มธ 19:9 ซึ่งเป็นประโยคที่ครบถ้วนกว่าจะช่วยให้เข้าใจคำพูดของพระเยซูในข้อนี้ เพราะในมัทธิวมีข้อความเพิ่มเติมว่า “นอกจากเขาหย่าเพราะภรรยาทำผิดศีลธรรมทางเพศ” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:32) ดังนั้น คำพูดของพระเยซูที่บันทึกในหนังสือมาระโกเกี่ยวข้องกับการหย่าเพราะเหตุผลอื่น ๆ นอกเหนือจากการหย่าเพราะฝ่ายหนึ่งทำ “ผิดศีลธรรมทางเพศ” (คำกรีก พอร์เน่อา)
มีชู้ และทำผิดต่อภรรยา: ในข้อนี้พระเยซูไม่ยอมรับคำสอนที่แพร่หลายของพวกรับบีที่ยอมให้ผู้ชายหย่าภรรยาได้ “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม” (มธ 19:3, 9) แนวคิดเรื่องการที่สามีมีชู้และทำผิดต่อภรรยาเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวยิวส่วนใหญ่ พวกรับบีสอนว่าสามีไม่มีทางมีชู้และทำผิดต่อภรรยา มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะมีชู้ คำพูดของพระเยซูที่แสดงว่าสามีต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมแบบเดียวกับภรรยาเป็นการให้เกียรติผู้หญิงและยกฐานะทางสังคมของพวกเธอให้สูงขึ้น
ถ้าผู้หญิงหย่ากับสามี: จากคำพูดนี้ พระเยซูยอมรับว่าผู้หญิงมีสิทธิ์หย่ากับสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ชาวยิวในสมัยของท่านยอมรับไม่ได้ แต่พระเยซูกำลังบอกว่าสำหรับคริสเตียนแล้วทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องอยู่ใต้มาตรฐานเดียวกัน
เด็ก ๆ: คำว่าเด็ก ๆ อาจหมายถึงเด็กหลายวัย เพราะคำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ไม่ได้ใช้กับเด็กทารกหรือเด็กที่เพิ่งเกิดเท่านั้น (มธ 2:8; ลก 1:59) แต่ใช้กับลูกสาวของไยรอสที่อายุ 12 ปีด้วย (มก 5:39-42) อย่างไรก็ตาม ใน ลก 18:15 ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์เดียวกันเกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่มาหาพระเยซู ลูกาใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งที่หมายถึงเด็กเล็ก ๆ หรือเด็กทารกเท่านั้น—ลก 1:41; 2:12
เหมือนเด็กเล็ก ๆ: หมายถึงการมีคุณลักษณะที่ดีเหมือนเด็กเล็ก ๆ เช่น ถ่อมตัว ไว้ใจคนอื่น ยอมรับการสอนและคำแนะนำ—มธ 18:5
กอดเด็ก ๆ: เฉพาะมาระโกเท่านั้นที่บันทึกรายละเอียดนี้ คำกรีกนี้ที่แปลว่า “กอด” มีอยู่แค่ในข้อนี้และที่ มก 9:36 ซึ่งแปลว่า “โอบ” พระเยซูทำสิ่งที่เกินความคาดหมายของพวกผู้ใหญ่ที่พาเด็ก ๆ มาหาท่านเพียงเพื่อจะให้ท่าน “วางมือ” เท่านั้น (มก 10:13) เนื่องจากพระเยซูเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัวที่มีเด็กอย่างน้อย 7 คน ท่านจึงเข้าใจว่าเด็กเล็ก ๆ ต้องการอะไร (มธ 13:55, 56) พระเยซูถึงกับอวยพรพวกเขา คำกรีก “อวยพร” ที่ใช้ในข้อนี้อยู่ในรูปคำที่เน้นเป็นพิเศษซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าท่านอวยพรเด็ก ๆ อย่างอ่อนโยนและอบอุ่น
อาจารย์ที่ดีจริง ๆ: ดูเหมือนว่าผู้ชายคนนี้ใช้คำว่า “อาจารย์ที่ดีจริง ๆ” เพื่อเป็นตำแหน่งและเพื่อเอาอกเอาใจพระเยซู เพราะผู้นำศาสนาในสมัยนั้นเรียกร้องให้คนอื่นเรียกพวกเขาด้วยตำแหน่งนี้ ถึงแม้พระเยซูไม่คัดค้านเมื่อมีคนเรียกท่านว่า “อาจารย์” และ “นาย” (ยน 13:13) แต่ท่านต้องการให้เกียรติทั้งหมดกับพ่อของท่าน
ไม่มีใครดีจริง ๆ หรอกนอกจากพระเจ้า: พระเยซูรู้ว่าสิ่งที่พระยะโฮวาทำเป็นมาตรฐานความดีที่สูงส่งที่สุด พระองค์เป็นผู้ปกครององค์สูงสุดและมีสิทธิ์กำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว การที่อาดัมกับเอวาไม่เชื่อฟังโดยไปกินผลจากต้นไม้ที่ให้รู้ดีรู้ชั่วเป็นการแสดงว่าพวกเขาคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์กำหนดมาตรฐานดีชั่วได้เอง (ปฐก 2:17; 3:4-6) แต่พระเยซูไม่เหมือน 2 คนนี้ ท่านถ่อมตัวและให้พ่อของท่านเป็นผู้ตั้งมาตรฐานในเรื่องนั้น พระเจ้าบอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี—มก 10:19
ด้วยความรัก: เฉพาะมาระโกเท่านั้นที่บันทึกความรู้สึกที่พระเยซูมีต่อชายหนุ่มร่ำรวยซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนคนนี้ (มธ 19:16-26; ลก 18:18-30) เปโตรซึ่งเป็นคนที่มีอารมณ์และความรู้สึกลึกซึ้งอาจเล่าให้มาระโกฟังว่าพระเยซูรู้สึกอย่างไร—ดู “บทนำของหนังสือมาระโก”
อูฐลอดรูเข็มยังง่ายกว่า: พระเยซูใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริงเพื่อเน้นจุดหนึ่งที่ท่านสอน เหมือนกับที่อูฐจริง ๆ ไม่สามารถลอดรูเข็มเย็บผ้าได้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่คนรวยจะเข้าในรัฐบาลของพระเจ้าถ้าเขายังให้ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระยะโฮวา พระเยซูไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนรวยได้เข้าในรัฐบาลของพระเจ้าเลย เพราะท่านบอกว่า “พระเจ้าทำได้ทุกอย่าง”—มก 10:27
ถามท่านว่า: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “ถามกันว่า”
ยุคหน้า: หรือ “ยุคที่กำลังจะมาถึง” คำกรีก ไอโอน ที่มักจะแปลว่า “ยุค” อาจหมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง ในข้อนี้พระเยซูกำลังพูดถึงช่วงเวลาในอนาคตที่พระเจ้าปกครองซึ่งตอนนั้นทุกคนจะมีชีวิตตลอดไปตามคำสัญญาของพระองค์—ลก 18:29, 30; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม: เยรูซาเล็มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร พระคัมภีร์จึงมักบอกว่าผู้นมัสการพระเจ้า “ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 2:22; ยน 2:13; กจ 11:2) พระเยซูและสาวกกำลังเดินขึ้นจากหุบเขาจอร์แดน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:1) ซึ่งจุดต่ำสุดของหุบเขานี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร นี่หมายความว่าพวกเขาต้องเดินไต่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรเพื่อไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม
ข้ามแม่น้ำจอร์แดน และมาใกล้เขตแดนแคว้นยูเดีย: น่าจะหมายถึงพีเรียซึ่งเป็นเขตแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน โดยเฉพาะส่วนที่ติดกับแคว้นยูเดีย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:1 และภาคผนวก ก7, แผนที่ 5
ถุยน้ำลายใส่: การถุยน้ำลายใส่คน ๆ หนึ่งหรือถุยน้ำลายใส่หน้าเขาเป็นการแสดงความดูถูก การเป็นศัตรู หรือแสดงถึงความโกรธอย่างมาก ซึ่งทำให้คนที่ถูกถุยน้ำลายใส่ได้รับความอับอาย (กดว 12:14; ฉธบ 25:9) ในข้อนี้พระเยซูบอกว่าท่านจะต้องเจอกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นจริงตามคำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์ที่บอกว่า “ผมไม่ได้หันหน้าหนีคนที่มาดูถูกหรือถ่มน้ำลายใส่ผม” (อสย 50:6) พระเยซูถูกถุยน้ำลายใส่ตอนที่อยู่ต่อหน้าศาลแซนเฮดริน (มก 14:65) และท่านถูกทหารโรมันถุยน้ำลายใส่ตอนที่โดนปีลาตสอบสวน (มก 15:19)
ภรรยาของเศเบดี: แปลตรงตัวว่า “แม่ของลูกชายของเศเบดี” คือแม่ของอัครสาวกยากอบกับยอห์น บันทึกของมาระโกบอกว่ายากอบกับยอห์นเป็นคนมาขอพระเยซูเอง (มก 10:35) ดูเหมือนทั้งสองเป็นคนต้นคิด แต่บอกให้แม่มาขอพระเยซูแทนพวกเขา แม่ของพวกเขาคือสะโลเมซึ่งอาจเป็นน้าของพระเยซู—มธ 27:55, 56; มก 15:40, 41; ยน 19:25
ลูกชาย: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “ลูกชาย 2 คน” แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ส่วนใหญ่ใช้ข้อความที่สั้นกว่า
ยากอบกับยอห์น ลูกชายของเศเบดีเข้าไปหาพระเยซู: จากบันทึกของมัทธิว แม่ของยากอบกับยอห์นเป็นคนเข้าไปขอร้องพระเยซู แต่ดูเหมือนยากอบกับยอห์นเป็นคนต้นคิด ที่ได้ข้อสรุปแบบนี้เพราะบันทึกในมัทธิวบอกว่าเมื่อสาวกอีก 10 คนได้ยินเรื่องนั้น พวกเขาไม่ได้ “ไม่พอใจ” แม่ แต่ไม่พอใจ “พี่น้องสองคนนั้น”—มธ 20:20-24; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:21; 20:20
เศเบดี: ดูเหมือนเป็นน้าเขยของพระเยซู เพราะเขาแต่งงานกับสะโลเมน้องสาวของมารีย์แม่พระเยซู ถ้าเป็นอย่างนั้น ยากอบกับยอห์นก็เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:40
ยากอบกับยอห์น: พระคัมภีร์มักพูดถึงยากอบพร้อมกับยอห์นซึ่งเป็นพี่น้องกัน และส่วนใหญ่จะพูดชื่อยากอบก่อน จึงอาจเป็นไปได้ว่ายากอบเป็นพี่ของยอห์น—มธ 4:21; 10:2; 17:1; มก 1:29; 3:17; 5:37; 9:2; 10:35, 41; 13:3; 14:33; ลก 5:10; 6:14; 8:51; 9:28, 54; กจ 1:13
นั่งข้างขวาของท่านคนหนึ่ง ข้างซ้ายคนหนึ่ง: ในข้อนี้ทั้งข้างขวาและซ้ายหมายถึงตำแหน่งที่มีเกียรติและอำนาจ แต่ที่ที่มีเกียรติที่สุดจะอยู่ข้างขวาเสมอ—สด 110:1; กจ 7:55, 56; รม 8:34; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:33
ข้างขวา . . . ข้างซ้าย: ในบางท้องเรื่อง ทั้งข้างขวาและซ้ายหมายถึงตำแหน่งที่มีเกียรติและอำนาจ (มธ 20:21, 23) แต่ที่ที่มีเกียรติที่สุดจะอยู่ข้างขวาเสมอ (สด 110:1; กจ 7:55, 56; รม 8:34) อย่างไรก็ตาม ข้อนี้และ มธ 25:34, 41 ทำให้เห็นชัดว่าข้างขวาเป็นตำแหน่งของคนที่กษัตริย์โปรดปราน แต่ข้างซ้ายเป็นตำแหน่งของคนที่ไม่โปรดปราน—เทียบกับ ปญจ 10:2, เชิงอรรถ
ดื่มจากถ้วย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:22
รับบัพติศมาแบบเดียวกับที่ผมรับอยู่: หรือ “ถูกจุ่มแบบที่ผมถูกจุ่มอยู่” ในข้อนี้พระเยซูเทียบเคียงการ “รับบัพติศมา” กับการดื่มจาก “ถ้วย” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:22) พระเยซูเริ่มรับบัพติศมาเข้าสู่ความตายตอนที่ท่านเริ่มทำงานรับใช้ การรับบัพติศมาหรือการจุ่มตัวแบบนี้จะเกิดขึ้นในความหมายที่ครบถ้วนตอนที่ท่านถูกประหารบนเสาทรมานในวันที่ 14 เดือนนิสาน ค.ศ. 33 และการรับบัพติศมานี้จะเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ตอนที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย (รม 6:3, 4) เห็นได้ชัดว่าการรับบัพติศมาเข้าสู่ความตายของพระเยซูต่างจากการรับบัพติศมาในน้ำ เพราะการรับบัพติศมาในน้ำเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้วตอนที่ท่านเริ่มงานรับใช้ แต่การรับบัพติศมาเข้าสู่ความตายเพิ่งเริ่มต้นตอนนั้น
ดื่มจากถ้วย: ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ถ้วย” มักใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงความต้องการของพระเจ้า หรือ “ส่วนแบ่งที่ให้” กับคนหนึ่ง (สด 11:6; 16:5; 23:5) การ “ดื่มจากถ้วย” ในข้อนี้หมายถึงการยอมทำตามความต้องการของพระเจ้า สำหรับพระเยซู “ถ้วย” ไม่ได้หมายถึงการที่ท่านต้องทนทุกข์และตายเพราะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและมีชีวิตอมตะในสวรรค์อีกด้วย
ดื่มจากถ้วย: ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ถ้วย” มักใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงความต้องการของพระเจ้า หรือ “ส่วนแบ่งที่ให้” กับคนหนึ่ง (สด 11:6; 16:5; 23:5) การ “ดื่มจากถ้วย” ในข้อนี้หมายถึงการยอมทำตามความต้องการของพระเจ้า สำหรับพระเยซู “ถ้วย” ไม่ได้หมายถึงการที่ท่านต้องทนทุกข์และตายเพราะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและมีชีวิตอมตะในสวรรค์อีกด้วย
ทำตัวเป็นนาย: หรือ “ครอบงำ” มีการใช้คำกรีกนี้แค่ 4 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (มธ 20:25; มก 10:42; 1ปต 5:3; และที่ กจ 19:16 ซึ่งแปลคำนี้ว่า “ทำร้าย”) คำแนะนำของพระเยซูทำให้ผู้ฟังคิดถึงการกดขี่ของพวกโรมันที่ชาวยิวเกลียดชังและการปกครองที่โหดเหี้ยมของราชวงศ์เฮโรด (มธ 2:16; ยน 11:48) ดูเหมือนว่าเปโตรเข้าใจคำพูดของพระเยซู เพราะหลังจากนั้นเขากระตุ้นผู้ดูแลคริสเตียนให้นำหน้าโดยเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่โดยทำตัวเป็นนาย (1ปต 5:3) มีการใช้คำกริยากรีกอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันใน ลก 22:25 ตอนที่พระเยซูสอนเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ และที่ 2คร 1:24 ก็มีการใช้คำกริยานี้ตอนที่เปาโลบอกว่าคริสเตียนต้องไม่เป็น “นายที่คอยควบคุม” ความเชื่อของเพื่อนคริสเตียน
เยรีโค: เมืองแรกของชาวคานาอันที่ชาวอิสราเอลยึดครองได้ เมืองนี้อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (กดว 22:1; ยชว 6:1, 24, 25) ในสมัยพระเยซู มีการสร้างเมืองเยรีโคใหม่ห่างจากเมืองเก่าไปทางใต้ประมาณ 2 กม. นี่อาจเป็นเหตุผลที่ ลก 18:35 พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่า “พระเยซูเดินทางใกล้ถึงเมืองเยรีโค” อาจเป็นได้ว่าพระเยซูทำการอัศจรรย์ตอนที่กำลังออกจากเมืองเยรีโคเก่าของชาวยิวไปที่เมืองเยรีโคใหม่ของโรมัน หรืออาจเป็นการเดินทางจากเมืองใหม่ไปเมืองเก่าก็ได้—ดูภาคผนวก ข4 และ ข10
เยรีโค: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:29
ขอทานตาบอด: เรื่องราวในมัทธิว (20:30) บอกว่ามีผู้ชายตาบอด 2 คน แต่มาระโกกับลูกา (18:35) พูดถึงแค่คนเดียว โดยดูเหมือนเน้นที่บาร์ทิเมอัส และมีเฉพาะมาระโกเท่านั้นที่บันทึกชื่อของเขาไว้
กษัตริย์ชื่อดาวิด: แม้ในรายชื่อบรรพบุรุษนี้จะพูดถึงกษัตริย์หลายองค์ แต่ดาวิดเป็นคนเดียวที่มัทธิวใส่คำนำหน้าว่า “กษัตริย์” และมีการเรียกราชวงศ์ของอิสราเอลว่า “ราชวงศ์ดาวิด” (1พก 12:19, 20) มัทธิวเรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานของดาวิด” ในข้อ 1 เพื่อเน้นเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องหลักในคัมภีร์ไบเบิล และระบุว่าพระเยซูจะได้รับตำแหน่งกษัตริย์เป็นมรดกตามสัญญาที่พระเจ้าทำกับดาวิด—2ซม 7:11-16
ลูกหลานของดาวิด: คำนี้แสดงว่าพระเยซูเป็นผู้รับมรดกตามสัญญาเรื่องรัฐบาลที่พระเจ้าทำกับดาวิด สัญญานี้จะเป็นจริงโดยลูกหลานคนหนึ่งของดาวิด—2ซม 7:11-16; สด 89:3, 4
บอกไว้ผ่านพวกผู้พยากรณ์ว่า “เขาจะเรียกท่านว่าชาวนาซาเร็ธ”: ดูเหมือนมัทธิวกำลังพูดถึงหนังสือของผู้พยากรณ์อิสยาห์ (อสย 11:1) ที่นั่นพูดถึงเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ว่าเป็น ‘หน่อ [คำฮีบรู เนเซอร์] หนึ่งที่งอกออกมาจากรากของเจสซี’ แต่เนื่องจากมัทธิวใช้คำว่า “พวกผู้พยากรณ์” เขาจึงอาจรวมถึงผู้พยากรณ์เยเรมีย์ เพราะเยเรมีย์ก็เขียนเกี่ยวกับ “หน่อ” ที่แตกออกมาหรือสืบเชื้อสายมาจากดาวิด (ยรม 23:5, เชิงอรรถ; 33:15, เชิงอรรถ) และอาจรวมถึงผู้พยากรณ์เศคาริยาห์ที่พูดถึงผู้ชายคนหนึ่ง “ชื่อหน่อ” ซึ่งเป็นทั้งกษัตริย์และปุโรหิต (ศคย 3:8; 6:12, 13) คำว่า “ชาวนาซาเร็ธ” เป็นฉายาเรียกพระเยซู และต่อมาก็ใช้เรียกสาวกของท่านด้วย
นาซาเร็ธ: อาจแปลว่า “เมืองหน่อ” นาซาเร็ธเป็นเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลีล่าง ตอนพระเยซูเป็นเด็กท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นั่น
คำนับ: หรือ “ทำความเคารพ” ดูเหมือนการที่ผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวยิวคนนี้เรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานดาวิด” (มธ 15:22) แสดงว่าเธอยอมรับว่าท่านเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ เธอคำนับท่านไม่ใช่ในฐานะพระหรือเทพเจ้า แต่ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 14:33; 18:26
ชาวนาซาเร็ธ: เป็นฉายาเรียกพระเยซู และต่อมาก็ใช้เรียกสาวกของท่านด้วย (กจ 24:5) เนื่องจากชาวยิวหลายคนมีชื่อว่าเยซู จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเพิ่มคำเพื่อระบุตัวตน ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คำที่เพิ่มเข้าไปก็มักจะเป็นถิ่นเดิมหรือบ้านเกิดของคนนั้น (2ซม 3:2, 3; 17:27; 23:25-39; นฮม 1:1; กจ 13:1; 21:29) ตอนพระเยซูเป็นเด็กท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี จึงเป็นเรื่องปกติที่จะใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อของท่าน พระเยซูถูกเรียกว่า “ชาวนาซาเร็ธ” ในหลายโอกาส และมีหลายคนเรียกท่านแบบนี้ (มก 1:23, 24; 10:46, 47; 14:66-69; 16:5, 6; ลก 24:13-19; ยน 18:1-7) พระเยซูก็ยอมรับชื่อนี้และเรียกตัวเองแบบนี้ด้วย (ยน 18:5-8; กจ 22:6-8) บนป้ายที่ปีลาตให้ติดไว้บนเสาทรมานของพระเยซู เขาเขียนในภาษาฮีบรู ละติน และกรีกว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19, 20) ตั้งแต่วันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 พวกอัครสาวกและคนอื่น ๆ ก็มักพูดถึงพระเยซูว่าเป็นชาวนาซาเร็ธด้วย—กจ 2:22; 3:6; 4:10; 6:14; 10:38; 26:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:23 ด้วย
ลูกหลานดาวิด: การที่คนตาบอดชื่อบาร์ทิเมอัสเรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานดาวิด” แสดงว่าเขายอมรับอย่างเปิดเผยว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 6; 15:25
อาจารย์ครับ: หรือ “รับโบนี” ซึ่งเป็นคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ครูของฉัน” อาจเป็นได้ว่าตอนแรกคำว่า “รับโบนี” แสดงถึงความเคารพมากกว่าหรือถ่ายทอดความรู้สึกที่อบอุ่นกว่าคำว่า “รับบี” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แปลว่า “อาจารย์” (ยน 1:38) แต่ตอนที่ยอห์นเขียนพระคัมภีร์ เป็นไปได้ว่าคำที่ต่อท้ายคำนี้ (ซึ่งมีความหมายว่า “ของฉัน”) ไม่มีความหมายพิเศษเหมือนแต่ก่อน เลยทำให้ยอห์นแปลคำนี้ว่า “อาจารย์”—ยน 20:16
วีดีโอและรูปภาพ
ภาพถ่ายนี้แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่เรียกว่าพีเรีย แคว้นพีเรียอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ทางเหนือสุดของแคว้นนี้อยู่ติดกับเมืองเพลลาและทางใต้สุดติดกับฝั่งตะวันออกของทะเลเดดซี ในคัมภีร์ไบเบิลไม่มีคำว่า “พีเรีย” แต่คำนี้มาจากคำกรีกที่หมายถึง “อีกฝั่งหนึ่ง, ฝั่งตรงข้าม, เลยไป” มีการใช้คำกรีกนี้หลายครั้งในคัมภีร์ไบเบิล และบางครั้งก็ใช้หมายถึงแคว้นพีเรีย (มธ 4:25; มก 3:8) บางครั้งผู้คนจากแคว้นกาลิลีจะเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มโดยผ่านพีเรีย ช่วงท้าย ๆ ที่พระเยซูทำงานรับใช้ ท่านใช้เวลาช่วงหนึ่งสอนผู้คนที่พีเรีย (ลก 13:22) ต่อมา ตอนที่ท่านเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม ท่านก็ผ่านพีเรียอีกครั้ง—มธ 19:1; 20:17-19; มก 10:1, 32, 46
(1) แม่น้ำจอร์แดน
(2) ที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน
(3) เขตภูเขาของกิเลอาด