เขียนโดยมาระโก 1:1-45
ข้อมูลสำหรับศึกษา
มาระโก: มาจากคำละติน มาร์คัส (Marcus) มาระโกเป็นนามสกุลโรมันของ “ยอห์น” ที่พูดถึงใน กจ 12:12 แม่ของเขาชื่อมารีย์เป็นสาวกรุ่นแรกที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ยอห์น มาระโกเป็น “ลูกพี่ลูกน้องของบาร์นาบัส” (คส 4:10) พวกเขามักเดินทางไปด้วยกัน มาระโกยังเดินทางกับเปาโลและมิชชันนารีคริสเตียนคนอื่น ๆ ในยุคแรกด้วย (กจ 12:25; 13:5, 13; 2ทธ 4:11) ถึงแม้ไม่มีที่ไหนในหนังสือข่าวดีนี้บอกว่าใครเป็นคนเขียน แต่พวกนักเขียนในศตวรรษที่ 2 และ 3 ลงความเห็นว่ามาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้
ข่าวดีที่เขียนโดยมาระโก: ไม่มีผู้เขียนคนไหนบอกว่าตัวเขาเป็นคนเขียนและดูเหมือนว่าไม่มีชื่อหนังสืออยู่ในข้อความต้นฉบับ ในบางสำเนาของหนังสือข่าวดีของมาระโกใช้ชื่อหนังสือว่า อืออางเกะลิออน คาธา มาร์คอน (“ข่าวดี [หรือ “กิตติคุณ”] ที่เขียนโดยมาระโก”) แต่ในบางสำเนาก็ใช้ชื่อแบบสั้นว่า คาธา มาร์คอน (“เขียนโดยมาระโก”) ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าชื่อหนังสือถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อไรหรือเริ่มใช้ตอนไหน บางคนคิดว่าน่าจะประมาณศตวรรษที่ 2 เพราะมีการพบชื่อหนังสือแบบยาวในสำเนาของหนังสือข่าวดีที่ทำขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หรือต้นศตวรรษที่ 3 นักวิชาการบางคนบอกว่า การที่หนังสือเหล่านั้นถูกเรียกว่ากิตติคุณ (แปลตรงตัวว่า “ข่าวดี”) อาจเป็นเพราะมีคำนี้อยู่ในข้อความแรกของหนังสือมาระโก (“ต่อไปนี้คือตอนเริ่มต้นของข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นลูกของพระเจ้า”) นอกจากนั้น อาจมีการใช้ชื่อหนังสือที่ระบุชื่อคนเขียนด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง เช่น ทำให้รู้ชัดว่าใครเป็นคนเขียน
ข่าวดี: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก อืออางเกะลิออน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยบางฉบับแปลว่า “กิตติคุณ” และมีการแปลคำกรีก อืออางเกะลิสเทส ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกันว่า “ผู้ประกาศข่าวดี”—กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5
ข่าวดี: คำกรีก อืออางเกะลิออน มาจากคำว่า อือ หมายถึง “ดี” และ อางเกะลอส หมายถึง “คนที่นำข่าวมาให้, คนที่ประกาศ” (ดูส่วนอธิบายศัพท์) คัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยบางฉบับแปลคำนี้ว่า “กิตติคุณ” และมีการแปลคำกรีกอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันว่า “ผู้ประกาศข่าวดี” (คำกรีก อืออางเกะลิสเทส)—กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5
ข่าวดี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23; 24:14 และส่วนอธิบายศัพท์
ข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์: ข้อความนี้ในภาษากรีกอาจแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ข่าวดีของพระเยซูคริสต์” ซึ่งหมายถึงข่าวดีที่พระเยซูประกาศ
ลูกของพระเจ้า: แม้สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีข้อความ “ลูกของพระเจ้า” แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดหลายฉบับมีข้อความนี้
ผู้พยากรณ์อิสยาห์: ข้อความในเครื่องหมายคำพูดต่อจากนี้ยกมาจาก มลค 3:1 และ อสย 40:3 คำพยากรณ์ทั้งสองข้อพูดถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา มีการใช้วงเล็บเพื่อแยกข้อความของมาลาคีออกจากข้อความของอิสยาห์ในข้อ 3 ข้อความของอิสยาห์เน้นเนื้อหาของข่าวสารที่ยอห์นประกาศ ส่วนมาลาคีเน้นบทบาทของยอห์นในฐานะทูตหรือผู้ส่งข่าว การบอกว่าข้อความในเครื่องหมายคำพูดทั้งหมดมาจากผู้พยากรณ์อิสยาห์อาจเป็นเพราะเนื้อหาของอิสยาห์เป็นส่วนที่ต้องการเน้น
คอยดูนะ: คำกรีก อีดู่ ที่แปลในข้อนี้ว่า “คอยดูนะ” มักใช้เพื่อกระตุ้นให้สนใจเรื่องที่กำลังจะพูด ให้นึกภาพเหตุการณ์หรือสนใจรายละเอียดบางอย่าง และยังใช้เพื่อเน้น หรือชี้ให้เห็นว่ามีอะไรใหม่หรือน่าตื่นเต้น ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะพบคำแบบนี้บ่อยที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ลูกา และหนังสือวิวรณ์ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็มักใช้คำคล้าย ๆ กันนี้ด้วย
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 40:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) มัทธิวเชื่อมโยงคำพยากรณ์นี้กับสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำเพื่อเตรียมทางไว้สำหรับพระเยซู และในหนังสือข่าวดีที่ยอห์นเขียน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้พูดไว้ว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงตัวเขาเอง—ยน 1:23
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 40:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) (ดูภาคผนวก ก5) ผู้เขียนหนังสือข่าวดีของมัทธิว มาระโก และลูกาเชื่อมโยงคำพยากรณ์นี้กับสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำ และในหนังสือข่าวดีที่ยอห์นเขียน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้พูดไว้ว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงตัวเขาเอง ยอห์นจะทำทางของพระยะโฮวาให้ตรงในแง่ที่ว่าเขามาก่อนพระเยซูซึ่งเป็นตัวแทน ของพระยะโฮวาพ่อของท่าน และมาในนามพ่อของท่าน—ยน 5:43; 8:29
ทำทางของพระองค์ให้ตรง: คำพูดนี้อาจมาจากธรรมเนียมของผู้ปกครองในสมัยโบราณที่สั่งให้คนไปเตรียมทางไว้ก่อนที่พวกเขาจะนั่งรถม้าผ่านทางนั้น มีการเตรียมทางโดยเอาหินก้อนใหญ่ ๆ ออกไป หรือถึงกับสร้างทางข้ามและปรับเนินเขาให้เรียบ
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 40:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) มาระโกเชื่อมโยงคำพยากรณ์นี้กับสิ่งที่ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” (มก 1:4) ทำเพื่อเตรียมทางไว้สำหรับพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:3; ยน 1:23
ทำทางของพระองค์ให้ตรง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:3
ผู้ให้บัพติศมา: หรือ “คนจุ่ม” คำนี้ดูเหมือนเป็นฉายาของยอห์นซึ่งบอกให้รู้ว่าลักษณะเด่นของเขาคือการให้บัพติศมาด้วยการจุ่มในน้ำ โยเซฟุส ฟลาวิอุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวก็เคยเขียนเกี่ยวกับ “ยอห์นที่มีฉายาว่าผู้ให้บัพติศมา” ด้วย
ที่กันดารยูเดีย: เป็นพื้นที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัย ที่กันดารนี้ทอดยาวจากเทือกเขายูเดียฝั่งตะวันออก ไปจนถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนกับทะเลเดดซีซึ่งอยู่ต่ำกว่าเทือกเขาลงไปประมาณ 1,200 เมตร ยอห์นเริ่มงานรับใช้ของเขาในที่ใดที่หนึ่งของเขตนี้ทางเหนือของทะเลเดดซี
กลับใจ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ หรือความตั้งใจ คำว่า “กลับใจ” ในท้องเรื่องนี้หมายถึงการที่คนเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำให้พระเจ้าพอใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:8, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
ทำให้เห็นสิว่าคุณกลับใจ: หรือ “แสดงผลที่สมกับการกลับใจ” หมายถึงคนที่ฟังยอห์นต้องแสดงหลักฐานหรือทำให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนทัศนคติแล้วจริง ๆ—ลก 3:8; กจ 26:20; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
ให้บัพติศมาพวกคุณ: หรือ “จุ่มพวกคุณ” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” ข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ครั้งหนึ่งยอห์นให้บัพติศมาที่หุบเขาจอร์แดนใกล้กับสาลิม “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ยน 3:23) ตอนที่ฟีลิปให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอเปีย พวกเขาทั้งสองคนก็ “ลงไปในน้ำ” (กจ 8:38) ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง”
กลับใจ: แปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8 และส่วนอธิบายศัพท์
ผู้ให้บัพติศมา: หรือ “คนจุ่ม” คำกรีก บาพทิโศ ในข้อนี้และที่ มก 6:14, 24 อาจแปลได้ว่า “คนที่ให้บัพติศมา” คำนี้เมื่ออยู่ในรูปคำนามจะเป็นคำว่า บาพทิสเทส ซึ่งอยู่ใน มก 6:25; 8:28 และที่หนังสือมัทธิวกับลูกาด้วย ถึงแม้ 2 คำนี้จะต่างกันเล็กน้อยแต่ก็มีความหมายเหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลที่ในต้นฉบับภาษากรีกที่ มก 6:24, 25 มีการใช้ทั้งสองคำสลับกัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
ที่กันดาร: คือที่กันดารยูเดีย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
รับบัพติศมาเพื่อแสดงการกลับใจ: การบัพติศมาไม่ได้ชำระบาปให้หมดไป แต่การที่ผู้คนมารับบัพติศมาจากยอห์นเป็นการยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาทำผิดกฎหมายของโมเสสและตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองจริง ๆ การกลับใจแบบนี้ช่วยพาพวกเขาไปหาพระคริสต์ (กท 3:24) บัพติศมาของยอห์นจึงเป็นการเตรียมผู้คนให้เห็น “การช่วยให้รอด” จากพระเจ้า—ลก 3:3-6; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “บัพติศมา”; “กลับใจ”
ให้บัพติศมาพวกคุณ: หรือ “จุ่มพวกคุณ” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” ข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ครั้งหนึ่งยอห์นให้บัพติศมาที่หุบเขาจอร์แดนใกล้กับสาลิม “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ยน 3:23) ตอนที่ฟีลิปให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอเปีย พวกเขาทั้งสองคนก็ “ลงไปในน้ำ” (กจ 8:38) ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง”
สารภาพบาปของตัวเองอย่างเปิดเผย: หมายถึงการยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตัวเองทำผิดกฎหมายของโมเสส
ผู้คนทั่วแคว้น: คำว่า “ทั่ว” ในข้อนี้เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริง เป็นการเน้นว่ามีคนมากมายสนใจเรื่องที่ยอห์นประกาศ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทุกคนในแคว้นยูเดียหรือในกรุงเยรูซาเล็มออกไปหายอห์นจริง ๆ
รับบัพติศมา: หรือ “ถูกจุ่ม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “บัพติศมา”
สารภาพบาปของตัวเองอย่างเปิดเผย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:6
ใส่เสื้อผ้าที่ทำจากขนอูฐ: การที่ยอห์นใส่ชุดที่ทอจากขนอูฐและคาดเข็มขัดหนังทำให้นึกถึงชุดของผู้พยากรณ์เอลียาห์—2พก 1:8; ยน 1:21
ตั๊กแตน: แมลงชนิดนี้มีโปรตีนสูง และตามกฎหมายของโมเสสถือว่าเป็นสัตว์ที่สะอาดที่ใช้เป็นอาหารได้—ลนต 11:21, 22
น้ำผึ้งป่า: หมายถึงน้ำผึ้งที่ได้จากรังผึ้งตามธรรมชาติซึ่งพบในที่กันดาร ไม่ใช่น้ำผึ้งจากผึ้งเลี้ยง การกินตั๊กแตนกับน้ำผึ้งป่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่อาศัยในที่กันดาร
เสื้อผ้าที่ทำจากขนอูฐ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:4
ตั๊กแตน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:4
น้ำผึ้งป่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:4
ยิ่งใหญ่กว่า: แปลตรงตัวว่า “แข็งแรงกว่า” ซึ่งหมายถึง “มีอำนาจมากกว่า”
รองเท้า: การถอดและถือรองเท้าให้คนอื่น หรือการแก้สายรัดรองเท้าให้เขา (มก 1:7; ลก 3:16; ยน 1:27) ถือเป็นงานที่ต่ำต้อยซึ่งมักจะเป็นหน้าที่ของทาส
ยิ่งใหญ่กว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11
รองเท้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11
ให้บัพติศมาพวกคุณ: หรือ “จุ่มพวกคุณ” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” ข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ครั้งหนึ่งยอห์นให้บัพติศมาที่หุบเขาจอร์แดนใกล้กับสาลิม “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ยน 3:23) ตอนที่ฟีลิปให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอเปีย พวกเขาทั้งสองคนก็ “ลงไปในน้ำ” (กจ 8:38) ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง”
ให้บัพติศมาพวกคุณ: หรือ “จุ่มพวกคุณ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “บัพติศมา”
ให้บัพติศมาพวกคุณด้วยพลังบริสุทธิ์: หรือ “จุ่มพวกคุณในพลังบริสุทธิ์” ในข้อนี้ยอห์นผู้ให้บัพติศมาประกาศว่าพระเยซูจะให้มีการบัพติศมาแบบใหม่ คือการบัพติศมาด้วยพลังบริสุทธิ์ คนที่รับบัพติศมาด้วยพลังบริสุทธิ์จะกลายเป็นลูกของพระเจ้าที่ได้รับการเจิม พวกเขามีความหวังจะมีชีวิตในสวรรค์และได้เป็นกษัตริย์ปกครองโลก—วว 5:9, 10
ปีที่ 15 ที่ซีซาร์ทิเบริอัสปกครอง: ซีซาร์ออกัสตัสตายในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 14 (ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ในวันที่ 15 กันยายนของปีนั้นทิเบริอัสยอมให้สภาสูงของโรมประกาศแต่งตั้งเขาเป็นจักรพรรดิ ถ้านับจากตอนที่ออกัสตัสตาย ปีที่ 15 ที่ทิเบริอัสปกครองก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 28 ไปจนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 29 แต่ถ้านับจากตอนประกาศแต่งตั้งทิเบริอัสเป็นจักรพรรดิ ปีที่ 15 ที่เขาปกครองก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 28 ไปจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 29 ดูเหมือนยอห์นเริ่มทำงานรับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29 (ตามเวลาในซีกโลกเหนือ) ซึ่งอยู่ในช่วงปีที่ 15 ที่ทิเบริอัสปกครอง ในปีนั้นยอห์นน่าจะมีอายุประมาณ 30 ปีซึ่งเป็นอายุที่ปุโรหิตในตระกูลเลวีเริ่มทำงานรับใช้ในวิหาร (กดว 4:2, 3) คล้ายกัน ใน ลก 3:21-23 ก็บอกว่าพระเยซูรับบัพติศมาจากยอห์นและ “เริ่มงานประกาศเมื่ออายุได้ 30 ปี” พระเยซูตายในฤดูใบไม้ผลิเดือนนิสาน ดังนั้น ดูเหมือนว่างานรับใช้ 3 ปีครึ่งของท่านจะเริ่มต้นในฤดูใบไม้ร่วง คือประมาณเดือนเอธานิม (กันยายน/ตุลาคม) ยอห์นน่าจะอายุมากกว่าพระเยซู 6 เดือนและดูเหมือนเขาเริ่มงานรับใช้ก่อนพระเยซู 6 เดือนด้วย (ลก บท 1) จึงมีเหตุผลที่จะสรุปว่ายอห์นเริ่มงานรับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:23; ยน 2:13
ในช่วงนั้น: บันทึกใน ลก 3:1-3 บอกให้รู้ว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มงานรับใช้ของเขา “ในปีที่ 15 ที่ซีซาร์ทิเบริอัสปกครอง” ซึ่งก็คือในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:1) ประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้น ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 29 พระเยซูมาหายอห์นเพื่อรับบัพติศมา—ดูภาคผนวก ก7
ท้องฟ้า: อาจหมายถึงท้องฟ้าจริง ๆ หรือหมายถึงสวรรค์ก็ได้
ทันที: นี่เป็นครั้งแรกในทั้งหมด 11 ครั้งที่มีการใช้คำกรีก อือธูส ในมาระโกบท 1 (มก 1:10, 12, 18, 20, 21, 23, 28-30, 42, 43) มีการแปลคำกรีกนี้ว่า “ทันที, ตอนนั้นเอง, อย่างรวดเร็ว, รีบ” ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง การที่มาระโกใช้คำนี้มากกว่า 40 ครั้งในหนังสือข่าวดีของเขาทำให้เรื่องที่เขาบันทึกดูน่าตื่นเต้นและเร่งด่วน
เห็น: จากบันทึกใน ยน 1:32, 33 ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็เห็นเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ดูเหมือนบันทึกของมาระโกต้องการเน้นว่าพระเยซูเป็นคนเห็น
ท้องฟ้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:16
ท้องฟ้าแยกออก: ดูเหมือนตอนนี้พระเจ้าทำให้พระเยซูจำเรื่องราวตอนที่ท่านอยู่บนสวรรค์ก่อนมาเป็นมนุษย์ได้ คำพูดของพระเยซูหลังจากรับบัพติศมาแสดงให้เห็นว่าพระเยซูรู้ว่าก่อนมาเป็นมนุษย์ท่านเคยมีชีวิตในสวรรค์ โดยเฉพาะตอนที่อธิษฐานในคืนวันปัสกาปี ค.ศ. 33 ท่านใช้คำพูดที่แสดงถึงความใกล้ชิดกับพระยะโฮวามาก คำอธิษฐานนั้นยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพระเยซูจำได้ว่าพ่อของท่านเคยพูดอะไร เคยทำอะไร และตัวท่านเคยได้รับเกียรติอย่างไรตอนที่อยู่ในสวรรค์ (ยน 6:46; 7:28, 29; 8:26, 28, 38; 14:2; 17:5) พระเจ้าคงให้ความทรงจำทั้งหมดนี้กับพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาและได้รับการเจิม
เหมือนนกเขา: นกเขาถูกใช้ในการนมัสการและยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วย มีการใช้นกเขาเป็นเครื่องบูชา (มก 11:15; ยน 2:14-16) นกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไม่มีพิษมีภัย (มธ 10:16) นกเขาที่โนอาห์ปล่อยออกไปคาบใบมะกอกกลับมาที่เรือ ทำให้รู้ว่าน้ำกำลังลดลง (ปฐก 8:11) และเวลาของการหยุดพักและความสงบสุขใกล้เข้ามาแล้ว (ปฐก 5:29) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูรับบัพติศมา พระยะโฮวาอาจใช้นกเขาเพื่อทำให้นึกถึงบทบาทของพระเยซูลูกที่บริสุทธิ์และไม่มีบาปของพระองค์ ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่จะสละชีวิตเพื่อมนุษย์และทำให้มนุษย์ได้หยุดพักและมีความสงบสุขตอนที่ท่านปกครองเป็นกษัตริย์ พลังของพระเจ้าที่ลงมาบนพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาอาจดูเหมือนนกเขากระพือปีกอยู่ใกล้ที่เกาะ
บน: หรือ “ใน” คือเข้ามาในตัวท่าน
เสียงพูด: นี่เป็นครั้งที่สองจากทั้งหมด 3 ครั้งที่หนังสือข่าวดีบันทึกว่าพระยะโฮวาพูดกับมนุษย์โดยตรง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:11; ยน 12:28
เสียงพูด: นี่เป็นครั้งที่สามในทั้งหมด 3 ครั้งที่มีการบันทึกในหนังสือข่าวดีว่าพระยะโฮวาพูดกับมนุษย์โดยตรง ครั้งแรกเป็นตอนที่พระเยซูรับบัพติศมาในปี ค.ศ. 29 ซึ่งมีบันทึกอยู่ที่ มธ 3:16, 17; มก 1:11 และ ลก 3:22 ครั้งที่ 2 เป็นตอนที่พระเยซูเปลี่ยนรูปกายในปี ค.ศ. 32 ซึ่งมีบันทึกอยู่ที่ มธ 17:5; มก 9:7 และ ลก 9:35 ส่วนครั้งที่ 3 มีบันทึกอยู่ในหนังสือข่าวดีของยอห์นเท่านั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่พระเยซูจะฉลองปัสกาครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 33 ตอนนั้น พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานที่พระเยซูขอให้พระยะโฮวาทำให้ชื่อของพระองค์เองได้รับการยกย่อง
เราพอใจในตัวเขามาก: หรือ “เราชอบเขามาก, เราโปรดปรานเขามาก” มีการใช้สำนวนนี้ที่ มธ 12:18 ซึ่งยกมาจาก อสย 42:1 ที่พูดถึงเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้หรือพระคริสต์ การที่พระเจ้าพูดแบบนี้พร้อมกับให้พลังบริสุทธิ์กับพระเยซูเป็นการบอกชัดเจนว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:18
คนที่เรา . . . พอใจมาก: หรือ “เราชอบเขามาก”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:17
เสียงพูดจากฟ้า: นี่เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้งที่หนังสือข่าวดีบันทึกว่ามนุษย์ได้ยินเสียงของพระยะโฮวา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 9:7; ยน 12:28
ลูก . . . ของพ่อ: ตอนเป็นทูตสวรรค์ พระเยซูเป็นลูกของพระเจ้า (ยน 3:16) ตั้งแต่ตอนที่พระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ ท่านก็เป็น “ลูกของพระเจ้า” เหมือนกับอาดัมตอนที่ยังเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ (ลก 1:35; 3:38) แต่ดูเหมือนมีเหตุผลที่จะสรุปว่าคำพูดของพระเจ้าในข้อนี้ไม่ได้บอกแค่ว่าพระเยซูเป็นใคร แต่การที่พระเจ้าพูดแบบนั้นพร้อมกับให้พลังบริสุทธิ์ดูเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูที่เป็นมนุษย์คนนี้เป็นลูกของพระเจ้าที่ได้รับการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการ “เกิดใหม่” โดยมีความหวังจะได้กลับไปสวรรค์ และเป็นการเจิมเพื่อจะเป็นกษัตริย์และมหาปุโรหิตที่พระเจ้าแต่งตั้ง—ยน 3:3-6; 6:51; เทียบกับ ลก 1:31-33; ฮบ 2:17; 5:1, 4-10; 7:1-3
พ่อพอใจในตัวลูกมาก: หรือ “พ่อชอบลูกมาก, พ่อโปรดปรานลูกมาก” มีการใช้สำนวนคล้ายกันนี้ที่ มธ 12:18 ซึ่งยกมาจาก อสย 42:1 ที่พูดถึงเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้หรือพระคริสต์ การที่พระเจ้าพูดแบบนี้พร้อมกับให้พลังบริสุทธิ์กับพระเยซูเป็นการบอกชัดเจนว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:17; 12:18
พลังของพระเจ้าก็กระตุ้นพระเยซูให้เข้าไป: คำกรีก พะนือมา ที่แปลในข้อนี้ว่าพลังของพระเจ้า หมายถึงพลังที่พระเจ้าใช้เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ เช่น กระตุ้นหรือผลักดันให้ใครคนหนึ่งทำสิ่งที่สอดคล้องกับความประสงค์ของพระองค์—ลก 4:1; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”
ซาตาน: มาจากคำฮีบรู ซาตาน ซึ่งหมายความว่า “ผู้ต่อต้าน, ศัตรู”
ซาตาน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:10
สัตว์ป่า: ในสมัยพระเยซูมีสัตว์ป่าอยู่ในอิสราเอลมากกว่าที่มีในปัจจุบัน ที่กันดารเป็นแหล่งอาศัยของหมูป่า ไฮยีนา เสือดาว สิงโต และหมาป่า มาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่บอกว่ามีสัตว์ป่าอยู่ในบริเวณนั้น ดูเหมือนว่าหลัก ๆ แล้วเขาเขียนหนังสือข่าวดีเพื่อผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิว ซึ่งรวมถึงชาวโรมันและคนอื่น ๆ ที่อาจไม่คุ้นเคยกับลักษณะภูมิประเทศของอิสราเอล
รัฐบาล: เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก บาซิเล่อา ซึ่งหมายถึงรัฐบาลที่มีกษัตริย์ปกครอง รวมถึงเขตแดนและผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ด้วย มีการใช้คำกรีกนี้ 162 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่ง 55 ครั้งอยู่ในหนังสือมัทธิวและส่วนใหญ่แล้วหมายถึงการปกครองของพระเจ้าในสวรรค์ มัทธิวใช้คำนี้บ่อยมากจนอาจเรียกหนังสือของเขาว่า “หนังสือข่าวดีเรื่องรัฐบาล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “รัฐบาลของพระเจ้า”
รัฐบาลสวรรค์: คำนี้มีประมาณ 30 ครั้งและทั้งหมดอยู่ในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ในหนังสือข่าวดีของมาระโกกับลูกา มีการใช้อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลของพระเจ้า” ซึ่งทำให้รู้ว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” ตั้งอยู่ในสวรรค์และปกครองจากสวรรค์—มธ 21:43; มก 1:15; ลก 4:43; ดนล 2:44; 2ทธ 4:18
รัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว: ข่าวเรื่องรัฐบาลใหม่ที่จะปกครองโลกเป็นเรื่องหลักที่พระเยซูประกาศ (มธ 10:7; มก 1:15) ประมาณ 6 เดือนก่อนพระเยซูรับบัพติศมา ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็ประกาศเรื่องคล้ายกันนี้ (มธ 3:1, 2) แต่การประกาศของพระเยซูทำให้คำว่า “มาใกล้แล้ว” ชัดเจนขึ้น เพราะตอนนั้นพระเยซูซึ่งถูกเจิมเพื่อจะเป็นกษัตริย์ของรัฐบาลนี้ปรากฏตัวแล้ว ไม่มีบันทึกว่าหลังจากพระเยซูตายสาวกของท่านยังประกาศว่ารัฐบาลของพระเจ้า “มาใกล้แล้ว”
รัฐบาลของพระเจ้า: คำว่า “รัฐบาล” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่าง เช่น “เขตแดนหรือประเทศที่ปกครองโดยกษัตริย์” “อำนาจของกษัตริย์” “อาณาจักร” และ “การถูกปกครองโดยกษัตริย์” แต่ในข้อนี้ดูเหมือนใช้หมายถึงการรับประโยชน์หรือรับพรจากพระเจ้าและมีชีวิตที่มีความสุขภายใต้การปกครองของรัฐบาลพระองค์
ตอนนี้เป็นเวลาที่กำหนดไว้: ในท้องเรื่องนี้ “เวลาที่กำหนดไว้” (คำกรีก ไคร็อส) หมายถึงช่วงเวลาที่บอกไว้ล่วงหน้าในพระคัมภีร์ว่าพระเยซูจะเริ่มทำงานรับใช้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเชื่อข่าวดีจากพระเจ้า มีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้เมื่อพูดถึง “สมัย” หรือ “เวลา” ที่พระเจ้าพิพากษาซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่พระเยซูทำงานรับใช้ (ลก 12:56; 19:44) และ “เวลาที่กำหนดไว้” ว่าท่านจะเสียชีวิต—มธ 26:18
รัฐบาลของพระเจ้า: ในข้อความต้นฉบับมีการใช้คำนี้ 14 ครั้งในหนังสือข่าวดีของมาระโก ส่วนในหนังสือมัทธิวใช้คำนี้แค่ 4 ครั้ง (มธ 12:28; 19:24; 21:31, 43) แต่มัทธิวใช้คำที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลสวรรค์” ประมาณ 30 ครั้ง (เทียบ มก 10:23 กับ มธ 19:23, 24) พระเยซูให้รัฐบาลของพระเจ้าเป็นเรื่องหลักในการประกาศของท่าน (ลก 4:43) มีการพูดถึงรัฐบาลของพระเจ้ามากกว่า 100 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม และคนที่พูดเรื่องนี้มากที่สุดก็คือพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2; 4:17; 25:34
ทะเลสาบกาลิลี: ทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางเหนือของอิสราเอล (คำกรีกที่แปลว่า “ทะเล” อาจหมายถึง “ทะเลสาบ” ด้วย) บางครั้งก็เรียกทะเลสาบนี้ว่าทะเลคินเนเรท (กดว 34:11) ทะเลสาบเยนเนซาเรท (ลก 5:1) และทะเลสาบทิเบเรียส (ยน 6:1) ทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 210 เมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ 21 กม. และมีความกว้าง 12 กม. จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 48 เมตร—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี”
ชาวประมง: ชาวประมงเป็นอาชีพที่คนในแคว้นกาลิลีทำกันทั่วไป เปโตรกับอันดรูว์ไม่ได้เป็นแค่คนจับปลา แต่ทำธุรกิจประมง ดูเหมือนว่าพวกเขาทำธุรกิจนี้กับยากอบและยอห์นลูกของเศเบดี—มก 1:16-21; ลก 5:7, 10
ทอดแห: ชาวประมงที่เก่งจะสามารถเหวี่ยงแหให้แผ่ออกเป็นวงกลมเหนือผิวน้ำได้ไม่ว่าเขาจะยืนอยู่ในน้ำหรืออยู่บนเรือเล็ก ๆ แหอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เมตร และมีตุ้มถ่วงน้ำหนักอยู่รอบ ๆ เพื่อให้แหจมและจับปลาได้
ทะเลสาบกาลิลี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
ชาวประมง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
ทอดแห: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
หาคนแทนที่จะหาปลา: เป็นการเล่นคำเพราะซีโมนและอันดรูว์เป็นชาวประมง คำพูดนี้หมายความว่าพวกเขาจะรวบรวมคนเข้ามาในรัฐบาลของพระเจ้าเหมือนที่ชาวประมงเหวี่ยงแหจับปลา นอกจากนั้น ยังอาจหมายความว่าการสอนคนให้เป็นสาวกเป็นเหมือนการหาปลาเพราะเป็นงานหนักที่ต้องทำอย่างอดทนและใช้กำลังมาก และบางครั้งก็ไม่ค่อยได้ผล
หาคนแทนที่จะหาปลา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:19
ตามท่านไป: เปโตรกับอันดรูว์เป็นสาวกของพระเยซูมาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแล้ว (ยน 1:35-42) ตอนนี้พระเยซูเชิญพวกเขาให้ทิ้งธุรกิจประมงและมุ่งใช้ชีวิตติดตามท่าน—ลก 5:1-11; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:22
ตามท่านไป: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:20
ยากอบกับยอห์น: พระคัมภีร์มักพูดถึงยากอบพร้อมกับยอห์นซึ่งเป็นพี่น้องกัน และส่วนใหญ่จะพูดชื่อยากอบก่อน จึงอาจเป็นไปได้ว่ายากอบเป็นพี่ของยอห์น—มธ 4:21; 10:2; 17:1; มก 1:29; 3:17; 5:37; 9:2; 10:35, 41; 13:3; 14:33; ลก 5:10; 6:14; 8:51; 9:28, 54; กจ 1:13
เศเบดี: ดูเหมือนเป็นน้าเขยของพระเยซู เพราะเขาแต่งงานกับสะโลเมน้องสาวของมารีย์แม่พระเยซู ถ้าเป็นอย่างนั้น ยากอบกับยอห์นก็เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:40
ยากอบกับยอห์น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:21
เศเบดี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:21
ชาวประมง: ชาวประมงเป็นอาชีพที่คนในแคว้นกาลิลีทำกันทั่วไป เปโตรกับอันดรูว์ไม่ได้เป็นแค่คนจับปลา แต่ทำธุรกิจประมง ดูเหมือนว่าพวกเขาทำธุรกิจนี้กับยากอบและยอห์นลูกของเศเบดี—มก 1:16-21; ลก 5:7, 10
กับลูกจ้าง: มาระโกเป็นคนเดียวที่บอกว่าเศเบดีกับลูกชายของเขามี “ลูกจ้าง” ที่ช่วยทำประมงด้วย อาจเป็นได้ว่ามาระโกได้ข้อมูลนี้มาจากเปโตรซึ่งเป็นหุ้นส่วนธุรกิจประมงของเศเบดีและได้เห็นเหตุการณ์เกือบทั้งหมดที่มาระโกบันทึกไว้ (ลก 5:5-11; ดู “บทนำของหนังสือมาระโก” ด้วย) การที่เศเบดีกับลูกชายของเขามีลูกจ้างและมีเรือมากกว่า 1 ลำตามที่ลูกาบันทึกไว้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของพวกเขาไปได้ดี—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18
คาเปอร์นาอุม: มาจากชื่อฮีบรูที่หมายความว่า “หมู่บ้านของนาฮูม” หรือ “หมู่บ้านแห่งการปลอบโยน” (นฮม 1:1, เชิงอรรถ) เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับงานรับใช้ของพระเยซูตอนอยู่บนโลก เมืองนี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี และที่ มธ 9:1 เรียกเมืองนี้ว่า “เมืองที่ท่านอาศัย”
คาเปอร์นาอุม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:13
ที่ประชุมของชาวยิว: ดูส่วนอธิบายศัพท์
วิธีสอนของพระเยซู: ข้อความนี้ไม่ได้หมายถึงวิธีการสอนของพระเยซูเท่านั้น แต่รวมถึงคำสอนของท่านด้วย
ไม่ได้สอนเหมือนพวกครูสอนศาสนา: แทนที่จะอ้างคำสอนของพวกรับบีที่ผู้คนนับถือเหมือนที่ครูสอนศาสนาชอบทำกัน พระเยซูพูดในฐานะตัวแทนของพระยะโฮวาแบบคนที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้า ท่านสอนโดยใช้พระคัมภีร์เป็นหลัก—ยน 7:16
ปีศาจ: หรือ “ทูตสวรรค์ชั่ว” แปลตรงตัวว่า “วิญญาณที่ไม่สะอาด” คำว่า ‘ไม่สะอาด’ เน้นให้เห็นว่าพวกทูตสวรรค์ชั่วไม่สะอาดทางด้านศีลธรรมและการนมัสการ และยังทำให้มนุษย์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของพวกมันไม่สะอาดด้วย
ตะโกน: ตอนที่ผู้ชายคนหนึ่งตะโกนตามที่บันทึกในข้อ 24 พระเยซูบอกให้ปีศาจหยุดพูดเพราะมันทำให้ผู้ชายคนนั้นตะโกนขึ้นมา—มก 1:25; ลก 4:35
มายุ่งกับพวกเราทำไม?: คำถามนี้แปลตรงตัวว่า “เกี่ยวอะไรกับพวกเราและคุณ?” เป็นสำนวนภาษาเซมิติกที่ใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ยชว 22:24; วนฉ 11:12; 2ซม 16:10; 19:22; 1พก 17:18; 2พก 3:13; 2พศ 35:21; ฮชย 14:8) และในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็ใช้สำนวนนี้ด้วย (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28; ยน 2:4) สำนวนนี้อาจมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้สำนวนนี้ถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดชังและขับไล่ไสส่ง ซึ่งผู้แปลบางคนคิดว่าน่าจะแปลว่า “อย่ามายุ่งกับพวกเรา!” หรือ “ไปไกล ๆ เลย!” ในท้องเรื่องอื่น ๆ มีการใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากทำตามที่แนะนำ โดยไม่ได้มีความรู้สึกดูถูก ถือตัว หรือเกลียดชัง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:4
มายุ่งกับพวกเราทำไม?: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:29
พวกเรา . . . เรา: ในภาษาเดิมคำว่า “พวกเรา” อยู่ในรูปพหูพจน์ ส่วนคำว่า “เรา” อยู่ในรูปเอกพจน์ เนื่องจากมีการพูดถึงปีศาจแค่ตนเดียวในข้อ 23 ดังนั้น คำว่า “พวกเรา” ที่ปีศาจใช้ในข้อนี้น่าจะหมายถึงตัวมันกับเพื่อนปีศาจ และคำว่า “เรา” น่าจะหมายถึงตัวมันเอง
เงียบ!: ถึงแม้ปีศาจจะรู้ว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์หรือเมสสิยาห์และเรียกท่านว่า “ผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า” (ข้อ 24) แต่พระเยซูไม่ยอมให้มันเป็นพยานยืนยันว่าท่านเป็นใคร—มก 1:34; 3:11, 12
แม่ยายของซีโมน: คือแม่ยายของเปโตรหรือเคฟาส (ยน 1:42) เรื่องนี้สอดคล้องกับคำพูดของเปาโลที่ 1คร 9:5 ซึ่งพูดถึงเปโตรว่ามีภรรยาแล้ว ดูเหมือนว่าแม่ยายของเปโตรอยู่บ้านเดียวกับเปโตรและอันดรูว์น้องชายของเขา—มก 1:29-31; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2 ที่พูดถึงชื่ออื่น ๆ ของเปโตร
ป่วยมีไข้สูง: มัทธิวกับมาระโกบอกว่าแม่ยายของเปโตร “นอนป่วยเป็นไข้อยู่” (มธ 8:14; มก 1:30) แต่ลูกาซึ่งเป็นหมอเป็นคนเดียวที่อธิบายว่าอาการของเธอหนักแค่ไหนโดยบอกว่าเธอ “มีไข้สูง”—ดู “บทนำของหนังสือลูกา”
แม่ยายของซีโมน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:38
ป่วยเป็นไข้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:38
พอค่ำลง: คือหลังจากวันสะบาโตสิ้นสุดลง อย่างที่บอกไว้ใน มก 1:21-32 และ ลก 4:31-40 ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน
พอถึงตอนค่ำ: คือตอนค่ำซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นวันที่ 14 เดือนนิสาน—ดูภาคผนวก ก7 และ ข12
หลังดวงอาทิตย์ตกแล้ว: ดวงอาทิตย์ตกเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าวันสะบาโตสิ้นสุดลง (ลนต 23:32; มก 1:21; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:16; 26:20) ชาวยิวทุกคนเลยสามารถพาคนป่วยมาให้พระเยซูรักษาได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกต่อว่า—เทียบกับ มก 2:1-5; ลก 4:31-40
ป่วยและถูกปีศาจสิง: บางครั้งปีศาจก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายใต้อำนาจของมันเจ็บป่วยได้ (มธ 12:22; 17:15-18) แต่คัมภีร์ไบเบิลแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเจ็บป่วยแบบปกติกับการถูกปีศาจสิง และไม่ว่าผู้คนจะเจ็บป่วยเพราะอะไร พระเยซูสามารถรักษาพวกเขาได้—มธ 4:24; 8:16; มก 1:34
คนทั้งเมือง: คล้ายกับคำว่า “ทั่ว” ที่อยู่ใน มก 1:5 การใช้คำว่า “ทั้ง” ในข้อนี้เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริงที่เน้นให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากมาหาพระเยซู
พวกมันรู้ว่าท่านเป็นพระคริสต์: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับบอกว่า “พวกมันรู้จักท่าน” ซึ่งอาจแปลได้ว่า “พวกมันรู้ว่าท่านเป็นใคร” ส่วนในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ ลก 4:41 บอกว่า “พวกมันรู้ว่าท่านเป็นพระคริสต์”
ทุกคน: ดูเหมือนเป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริงที่เน้นว่ามีคนมากมายกำลังตามหาพระเยซู
ประกาศ . . . ทั่วแคว้นกาลิลี: นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางประกาศรอบแรกของพระเยซูในแคว้นกาลิลี ท่านเดินทางไปพร้อมกับสาวก 4 คนที่เพิ่งถูกเลือก คือ เปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์น—มก 1:16-20; ดูภาคผนวก ก7
คนโรคเรื้อน: คนที่เป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง คำว่าโรคเรื้อนในพระคัมภีร์มีความหมายกว้างกว่าโรคเรื้อนที่รู้จักกันในปัจจุบัน ใครก็ตามที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคเรื้อนจะถูกไล่ออกจากชุมชนจนกว่าเขาจะหายจากโรค—ลนต 13:2, เชิงอรรถ, 45, 46; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
คนโรคเรื้อน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
คุกเข่า: ในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณ การคุกเข่าเป็นท่าทางที่แสดงความนับถือโดยเฉพาะตอนที่กำลังอ้อนวอนคนที่มีฐานะหรือตำแหน่งสูงกว่า มาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่พูดถึงการคุกเข่าในเหตุการณ์นี้
รู้สึกสงสาร: คำกริยากรีก สะพลางค์นิศอไม ที่ใช้ในสำนวนนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ลำไส้” (สะพลางค์นา) คำนี้แสดงถึงความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของตัวเรา ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง นี่เป็นหนึ่งในคำกรีกที่แสดงถึงความรู้สึกสงสารที่แรงกล้าที่สุด
พระเยซู . . . สัมผัสตัวเขา: ตามกฎหมายของโมเสส คนที่เป็นโรคเรื้อนจะถูกกักตัวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นติดโรค (ลนต 13:45, 46; กดว 5:1-4) แต่พวกผู้นำศาสนาชาวยิวเพิ่มกฎอื่น ๆ เข้าไปอีก เช่น ต้องอยู่ห่างคนโรคเรื้อนไม่น้อยกว่า 4 ศอก หรือประมาณ 1.8 เมตร และในวันที่ลมแรงต้องอยู่ห่างถึง 100 ศอกหรือประมาณ 45 เมตร กฎแบบนี้ทำให้ผู้คนทำไม่ดีกับคนที่เป็นโรคเรื้อน ข้อเขียนโบราณของชาวยิวพูดในแง่ดีเกี่ยวกับรับบีคนหนึ่งที่หนีไปซ่อนจากคนโรคเรื้อนและรับบีอีกคนหนึ่งที่ขว้างหินไล่คนโรคเรื้อน ตรงกันข้าม เมื่อพระเยซูเห็นคนโรคเรื้อนคนนี้ท่านก็รู้สึกสงสารมากจนทำสิ่งที่คนยิวคนอื่นไม่มีทางจะทำ นั่นคือท่านสัมผัสตัวเขาทั้งที่จริง ๆ แล้วท่านสามารถรักษาเขาให้หายได้โดยแค่สั่งเท่านั้น—มธ 8:5-13
ผมอยากช่วย: พระเยซูไม่ได้รับปากว่าจะช่วยเท่านั้น แต่บอกให้รู้ด้วยว่าท่านอยากช่วยเขาจริง ๆ นี่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ได้ช่วยคนอื่นเพราะเป็นหน้าที่เท่านั้น
รู้สึกสงสาร: (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 9:36) คัมภีร์ไบเบิลสมัยใหม่บางฉบับแปลประโยคนี้ว่า “รู้สึกโกรธ” แต่การแปลว่า “รู้สึกสงสาร” พบได้ในสำเนาพระคัมภีร์โบราณส่วนใหญ่ รวมถึงสำเนาที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือที่สุด นอกจากนั้น ท้องเรื่องก็สนับสนุนแนวคิดที่ว่าพระเยซูรู้สึกสงสาร ไม่ใช่โกรธ
สัมผัสตัวเขา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:3
ผมอยากช่วย: ดู ข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:3
อย่าพูดเรื่องนี้กับใคร: พระเยซูอาจให้คำสั่งนี้เพราะไม่ต้องการให้ผู้คนมายกย่องชื่อเสียงของท่านแทนที่จะสนใจพระยะโฮวาพระเจ้าและข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระองค์ การทำแบบนี้ทำให้คำพยากรณ์ที่ อสย 42:1, 2 เกิดขึ้นจริงที่บอกว่า ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะ “ไม่ส่งเสียงดังให้ผู้คนได้ยินตามถนน” ซึ่งหมายความว่าเขาจะไม่ทำสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ (มธ 12:15-19) ความถ่อมของพระเยซูทำให้ผู้คนสดชื่น ไม่เหมือนกับพวกคนเสแสร้งที่พระเยซูตำหนิ เพราะพวกเขาชอบอธิษฐาน “ตามมุมถนนใหญ่เพื่ออวดคนอื่น” (มธ 6:5) ดูเหมือนพระเยซูอยากให้คนเชื่อว่าท่านเป็นพระคริสต์โดยอาศัยหลักฐานที่หนักแน่น ไม่ใช่ข่าวลือที่น่าตื่นเต้นเรื่องการอัศจรรย์ของท่าน
ไปให้ปุโรหิตตรวจดู: ตามกฎหมายของโมเสส ปุโรหิตต้องตรวจดูว่าคนที่เป็นโรคเรื้อนหายจากโรคแล้วหรือไม่ คนที่หายโรคต้องไปที่วิหารเพื่อถวายเครื่องบูชาตามที่กฎหมายของโมเสสสั่งไว้ใน ลนต 14:2-32
วีดีโอและรูปภาพ
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลาเท่าที่เป็นไปได้
แผนที่ของหนังสือข่าวดีแต่ละเล่มให้ข้อมูลของเหตุการณ์แตกต่างกัน
1. ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำงานรับใช้ในที่กันดารใกล้แม่น้ำจอร์แดน (มธ 3:1, 2; มก 1:3-5; ลก 3:2, 3)
2. พระเยซูรับบัพติศมาในแม่น้ำจอร์แดน พระยะโฮวาบอกว่าพระเยซูเป็นลูกของพระองค์ (มธ 3:13, 16, 17; มก 1:9-11; ลก 3:21, 22)
3. พระเยซูเริ่มทำงานประกาศในแคว้นกาลิลี (มธ 4:17; มก 1:14, 15; ลก 4:14, 15)
4. บนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระเยซูเรียกสาวก 4 คนและให้พวกเขาไปหาคนแทนที่จะหาปลา (มธ 4:18-22; มก 1:16-20)
5. พระเยซูสอนในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองคาเปอร์นาอุม (มก 1:21; ลก 4:31, 38)
6. พระเยซูขึ้นไปบนภูเขาใกล้เมืองคาเปอร์นาอุม และเลือกอัครสาวก 12 คน (มก 3:13-15; ลก 6:12, 13)
7. พระเยซูสั่งคลื่นลมในทะเลสาบกาลิลีให้สงบ (มธ 8:23-26; มก 4:37-39; ลก 8:22-24)
8. น่าจะเป็นที่เมืองคาเปอร์นาอุมที่ผู้หญิงคนหนึ่งแตะเสื้อชั้นนอกของพระเยซูและหายโรค (มธ 9:19-22; มก 5:25-29; ลก 8:43, 44)
9. บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 5,000 คน (มธ 14:19-21; มก 6:39-42, 44; ลก 9:14, 16, 17; ยน 6:10, 11)
10. พระเยซูให้พวกสาวกลงเรือไปทางเมืองเบธไซดา (มธ 14:22; มก 6:45)
11. พระเยซูรักษาลูกสาวของผู้หญิงชาวฟีนิเซียในเขตไทระและไซดอน (มธ 15:21, 22, 28; มก 7:24-26, 29)
12. พระเยซูเดินทางผ่านเขตเดคาโปลิสเพื่อไปทะเลสาบกาลิลี (มก 7:31)
13. พระเยซูรักษาผู้ชายตาบอดที่เมืองเบธไซดา (มก 8:22-25)
14. พระเยซูสอนผู้คนในแคว้นพีเรีย (มธ 19:1-3; มก 10:1, 2)
15. พระเยซูรักษาผู้ชายตาบอด 2 คนใกล้เมืองเยรีโค (มธ 20:29, 30, 34; มก 10:46, 47, 51, 52; ลก 18:35, 40-43)
16. พระเยซูกำจัดความชั่วจากวิหาร (มธ 21:12, 13; มก 11:15-17; ลก 19:45, 46)
17. ที่ตู้บริจาคของวิหารในลานสำหรับผู้หญิง พระเยซูเห็นแม่ม่ายยากจนบริจาคเงิน 2 เหรียญ (มก 12:42-44; ลก 21:1-4)
18. ตอนเดินทางจากวิหารไปที่ภูเขามะกอก พระเยซูบอกล่วงหน้าว่ากรุงเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย (มธ 24:1, 2; มก 13:1, 2; ลก 21:5, 6)
19. พวกสาวกเตรียมฉลองปัสกาในกรุงเยรูซาเล็ม (มก 14:13-16; ลก 22:10-13)
20. พระเยซูถูกพาตัวไปที่บ้านของมหาปุโรหิตเคยาฟาส (มธ 26:57-59; มก 14:60-62; ลก 22:54)
21. พระเยซูอยู่ต่อหน้าสมาชิกศาลแซนเฮดรินอีกครั้ง และในครั้งนี้ท่านถูกนำตัวเข้าไปในศาลแซนเฮดริน (มก 15:1; ลก 22:66-69)
ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ที่กันดาร” (คำฮีบรู มิดห์บาร์ และคำกรีก เอะเรมอส) โดยทั่วไปหมายถึงพื้นที่แห้งแล้งแทบไม่มีใครอยู่อาศัยหรือเพาะปลูก มีแต่พุ่มไม้ ต้นหญ้า และทุ่งหญ้าประปราย นอกจากนั้นคำภาษาเดิมยังอาจหมายถึงเขตที่ไม่มีน้ำจนเรียกได้ว่าเป็นทะเลทราย ในหนังสือข่าวดี เมื่อพูดถึงที่กันดารก็มักหมายถึงที่กันดารยูเดียซึ่งยอห์นอาศัยอยู่และทำงานประกาศ และยังเป็นที่ที่พระเยซูถูกมารล่อใจด้วย—มก 1:12
ยอห์นใส่ชุดที่ทอจากขนอูฐ และคาดเอวด้วยแผ่นหนังหรือเข็มขัดหนัง ซึ่งสามารถเหน็บของชิ้นเล็ก ๆ ไว้ได้ ชุดแบบนี้คล้ายกันกับชุดของผู้พยากรณ์เอลียาห์ (2พก 1:8) ผ้าขนอูฐเป็นผ้าเนื้อหยาบที่คนยากจนใส่กัน แต่เสื้อผ้านุ่ม ๆ ที่ทำจากผ้าไหมหรือผ้าลินินเป็นผ้าที่คนรวยใส่ (มธ 11:7-9) เนื่องจากยอห์นเป็นนาศีร์ตั้งแต่เกิด จึงเป็นไปได้ว่าเขาไม่เคยตัดผมเลย เสื้อผ้าและการแต่งตัวของยอห์นอาจทำให้เห็นว่าเขาใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อทำตามความต้องการของพระเจ้าอย่างเต็มที่
คำว่า “ตั๊กแตน” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลอาจหมายถึงตั๊กแตนชนิดไหนก็ได้ที่มีหนวดสั้น โดยเฉพาะตั๊กแตนที่อพยพเป็นฝูงใหญ่ จากผลวิจัยในเยรูซาเล็ม ตั๊กแตนทะเลทรายมีโปรตีนสูงถึง 75% ในประเทศแถบตะวันออกกลางทุกวันนี้คนที่กินตั๊กแตนจะเอาส่วนหัว ขา ปีก และท้องออกก่อน แล้วกินส่วนลำตัวที่เหลือดิบ ๆ หรือทำให้สุกก่อนก็ได้ ว่ากันว่าแมลงชนิดนี้มีรสชาติเหมือนกุ้งหรือปู และอุดมไปด้วยโปรตีน
ในภาพนี้คือรังผึ้งป่า (หมายเลข 1) และรังผึ้งที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้ง (หมายเลข 2) น้ำผึ้งที่ยอห์นกินอาจได้จากผึ้งป่าสายพันธุ์ Apis mellifera syriaca ซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่นั้น ผึ้งชนิดนี้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งของที่กันดารยูเดียได้ดี แต่มีนิสัยดุร้าย ไม่เหมาะที่จะเอามาเป็นผึ้งเลี้ยง ผู้คนในอิสราเอลเลี้ยงผึ้งไว้ในกระบอกดินเหนียวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก่อน ค.ศ. แล้ว มีการพบซากกระบอกดินเหนียวจำนวนมากใจกลางชุมชนนอกเมืองแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกว่า เทล เรคอฟ) ซึ่งอยู่ในหุบเขาจอร์แดน น้ำผึ้งในรังผึ้งเหล่านี้ได้จากผึ้งสายพันธุ์หนึ่งซึ่งดูเหมือนนำเข้ามาจากดินแดนที่ปัจจุบันคือตุรกี
ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล รองเท้าจะมีพื้นแบน และทำจากหนัง ไม้ หรือถักจากเส้นใย รองเท้าจะรัดติดกับเท้าโดยใช้สายหนัง มีการใช้รองเท้าเป็นสัญลักษณ์ของการซื้อขายถ่ายโอนบางอย่างและใช้เป็นภาพเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น แม่ม่ายจะถอดรองเท้าของผู้ชายที่เป็นพี่หรือน้องของสามีที่เสียชีวิตซึ่งไม่ยอมทำตามกฎหมายของโมเสสโดยแต่งงานกับเธอ และครอบครัวของผู้ชายคนนั้นก็จะถูกตราหน้าว่า “ครอบครัวของคนที่ถูกถอดรองเท้าออก” (ฉธบ 25:9, 10) การให้รองเท้าของตัวเองกับคนอื่นหมายถึงการโอนที่ดินหรือโอนสิทธิ์ในการไถ่ให้กับคนนั้น (นรธ 4:7) การแก้สายรัดรองเท้าหรือถือรองเท้าให้คนอื่นถูกมองว่าเป็นงานต่ำต้อยที่มักจะทำโดยทาส ยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดถึงการทำแบบนี้เพื่อบ่งบอกว่าตัวเขาต่ำต้อยกว่าพระคริสต์
ยอห์นให้บัพติศมาพระเยซูในแม่น้ำจอร์แดน แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพระเยซูถูกจุ่มตัวบริเวณไหนของแม่น้ำ
ภาพนี้ถ่ายจากหน้าผาแห่งหนึ่งใกล้เมืองนาซาเร็ธโดยมองไปทางใต้ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงหุบเขายิสเรเอลที่อุดมสมบูรณ์นี้หลายครั้ง ในภาพนี้จะเห็นที่ราบหุบเขาตั้งแต่ด้านตะวันออกไปจนถึงตะวันตก (ยชว 17:16; วนฉ 6:33; ฮชย 1:5) ที่เห็นเด่นชัดทางด้านซ้ายคือภูเขาโมเรห์ซึ่งมีเมืองนาอินตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านหนึ่ง เมืองนี้เป็นเมืองที่พระเยซูปลุกลูกชายของแม่ม่ายให้ฟื้นขึ้นจากตาย (วนฉ 7:1; ลก 7:11-15) ตรงกลางภาพจะเห็นภูเขากิลโบอาอยู่ไกล ๆ (1ซม 31:1, 8) พระเยซูเติบโตขึ้นในเมืองนาซาเร็ธซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหุบเขายิสเรเอลแห่งนี้ และอาจเคยมาที่นี่เพื่อดูสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล—ลก 2:39, 40
ในเขตที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัยนี้ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มงานรับใช้ของเขา และพระเยซูก็ถูกมารล่อใจที่นี่ด้วย
ในที่กันดารที่พระเยซูไปอยู่ประมาณ 40 วัน 40 คืน มีสัตว์หลายชนิด เช่น สิงโต (หมายเลข 1) เสือดาว (หมายเลข 2) และไฮยีน่าลายทาง (หมายเลข 3) ไม่มีการพบสิงโตในบริเวณนั้นเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ยังมีเสือดาวและไฮยีน่าอาศัยอยู่ ถึงอย่างนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยพบสัตว์เหล่านี้ในเขตนั้นแล้ว
ชาวประมงในทะเลสาบกาลิลีใช้แห 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นแหตาเล็กใช้เพื่อจับปลาขนาดเล็ก อีกชนิดหนึ่งเป็นแหตาใหญ่ใช้เพื่อจับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า ต่างจากอวนที่ต้องใช้เรืออย่างน้อย 1 ลำและใช้หลายคนช่วย ชาวประมงคนเดียวก็เหวี่ยงแหได้โดยยืนอยู่บนเรือหรือยืนริมชายฝั่ง แหอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 5 เมตร และมีตุ้มถ่วงน้ำหนักที่เป็นหินหรือตะกั่วอยู่รอบ ๆ ถ้าเหวี่ยงอย่างถูกต้อง แหจะแผ่เป็นวงกลมเหนือผิวน้ำ ส่วนขอบที่หนักจะจมก่อน และปลาจะติดอยู่ข้างในตอนที่แหจมลงใต้น้ำ ชาวประมงอาจดำน้ำลงไปเอาปลาออกจากแห หรือเขาอาจค่อย ๆ ดึงแหขึ้นไปบนฝั่ง การใช้แหอย่างชำนาญต้องใช้ทักษะและความพยายามอย่างมาก
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงบ่อย ๆ เกี่ยวกับปลา การจับปลา และชาวประมงในทะเลสาบกาลิลี มีปลาประมาณ 18 ชนิดในทะเลสาบนี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ชนิดที่ชาวประมงจับกัน และใน 10 ชนิดนี้สามารถแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามการซื้อขาย กลุ่มแรกคือปลาบินนี (binny) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันด้วยว่าปลาบาร์เบล (barbel, Barbus longiceps) (หมายเลข 1) ปลา 3 ชนิดในกลุ่มนี้มีหนวดที่มุมปากทั้งสองข้าง จึงมีชื่อในภาษาเซมิติกว่า บีนี ซึ่งหมายถึง “ขน” ปลากลุ่มนี้กินสัตว์จำพวกหอย หอยทาก และปลาเล็ก ๆ ปลาบาร์เบลหัวยาวมีความยาวประมาณ 75 ซม. และหนักมากกว่า 7 กก. กลุ่มที่ 2 คือปลามุชต์ (musht, Tilapia galilea) (หมายเลข 2) ซึ่งหมายถึง “หวี” ในภาษาอาหรับ เพราะปลา 5 ชนิดในกลุ่มนี้มีครีบหลังลักษณะคล้ายหวี ปลามุชต์ชนิดหนึ่งมีความยาวประมาณ 45 ซม. และหนักประมาณ 2 กก. กลุ่มที่ 3 คือปลาซาร์ดีนคินเนเรต (Kinneret sardine, Acanthobrama terrae sanctae) (หมายเลข 3) ซึ่งดูคล้ายกับปลาเฮอร์ริงตัวเล็ก ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณมีการเก็บรักษาปลาซาร์ดีนชนิดนี้ไว้ด้วยการหมักดอง
กำแพงหินปูนสีขาวในภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ประชุมของชาวยิวที่สร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 ถึงต้นศตวรรษที่ 5 บางคนเชื่อว่าส่วนหนึ่งของหินบะซอลต์สีดำตรงส่วนฐานของกำแพงหินปูนเป็นซากที่ประชุมของชาวยิวที่หลงเหลือมาจากศตวรรษแรก ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง บริเวณนี้ก็อาจเป็นที่ที่พระเยซูเคยสอนประชาชนและรักษาผู้ชายที่ถูกปีศาจสิงตามบันทึกใน มก 1:23-27 และ ลก 4:33-36