เขียนโดยมัทธิว 8:1-34
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เคารพ: หรือ “คำนับ” เมื่อใช้คำกริยากรีก พะรอสคูเนะโอ กับพระหรือเทพเจ้า ก็จะแปลคำนี้ว่า “นมัสการ” แต่ในท้องเรื่องนี้ พวกโหรกำลังถามหา “เด็กที่เกิดมาที่จะเป็นกษัตริย์ ของชาวยิว” จึงเห็นได้ชัดว่าพวกเขามาเคารพกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่พระ มีการใช้คำกรีกนี้ในความหมายเดียวกันนี้ที่ มก 15:18, 19 ด้วย ในข้อนั้น พวกทหารล้อเลียนพระเยซูโดย “คำนับ” ท่านและเรียกท่านว่า “กษัตริย์ของชาวยิว”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 18:26
คนโรคเรื้อน: คนที่เป็นโรคผิวหนังร้ายแรงชนิดหนึ่ง คำว่าโรคเรื้อนในพระคัมภีร์มีความหมายกว้างกว่าโรคเรื้อนที่รู้จักกันในปัจจุบัน ใครก็ตามที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคเรื้อนจะถูกไล่ออกจากชุมชนจนกว่าเขาจะหายจากโรค—ลนต 13:2, เชิงอรรถ, 45, 46; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
แสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ให้เกียรติ” พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูพูดถึงบางคนที่คำนับหรือทำความเคารพเมื่อพวกเขาเจอผู้พยากรณ์ กษัตริย์ หรือคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า (1ซม 25:23, 24; 2ซม 14:4-7; 1พก 1:16; 2พก 4:36, 37) ดูเหมือนว่าผู้ชายโรคเรื้อนคนนี้รู้ว่าเขากำลังพูดกับตัวแทนของพระเจ้าซึ่งมีอำนาจรักษาโรคให้กับผู้คน จึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่เขาจะคำนับพระเยซูเพื่อแสดงว่าเขาเคารพผู้ที่พระยะโฮวาแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์—มธ 9:18; สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำกรีกนี้ ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2
พระเยซู . . . สัมผัสตัวเขา: ตามกฎหมายของโมเสส คนที่เป็นโรคเรื้อนจะถูกกักตัวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นติดโรค (ลนต 13:45, 46; กดว 5:1-4) แต่พวกผู้นำศาสนาชาวยิวเพิ่มกฎอื่น ๆ เข้าไปอีก เช่น ต้องอยู่ห่างคนโรคเรื้อนไม่น้อยกว่า 4 ศอก หรือประมาณ 1.8 เมตร และในวันที่ลมแรงต้องอยู่ห่างถึง 100 ศอกหรือประมาณ 45 เมตร กฎแบบนี้ทำให้ผู้คนทำไม่ดีกับคนที่เป็นโรคเรื้อน ข้อเขียนโบราณของชาวยิวพูดในแง่ดีเกี่ยวกับรับบีคนหนึ่งที่หนีไปซ่อนจากคนโรคเรื้อนและรับบีอีกคนหนึ่งที่ขว้างหินไล่คนโรคเรื้อน ตรงกันข้าม เมื่อพระเยซูเห็นคนโรคเรื้อนคนนี้ท่านก็รู้สึกสงสารมากจนทำสิ่งที่คนยิวคนอื่นไม่มีทางจะทำ นั่นคือท่านสัมผัสตัวเขาทั้งที่จริง ๆ แล้วท่านสามารถรักษาเขาให้หายได้โดยแค่สั่งเท่านั้น—มธ 8:5-13
ผมอยากช่วย: พระเยซูไม่ได้รับปากว่าจะช่วยเท่านั้น แต่บอกให้รู้ด้วยว่าท่านอยากช่วยเขาจริง ๆ นี่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ได้ช่วยคนอื่นเพราะเป็นหน้าที่เท่านั้น
อย่าไปเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:44
ไปให้ปุโรหิตตรวจดู: ตามกฎหมายของโมเสส ปุโรหิตต้องตรวจดูว่าคนที่เป็นโรคเรื้อนหายจากโรคแล้วหรือไม่ คนที่หายโรคต้องไปที่วิหารเพื่อถวายเครื่องบูชาหรือสิ่งของ คือนกเป็น ๆ ชนิดที่สะอาด 2 ตัว กิ่งสนซีดาร์ ด้ายสีแดงเข้ม และกิ่งหุสบ—ลนต 14:2-32
อย่าพูดเรื่องนี้กับใคร: พระเยซูอาจให้คำสั่งนี้เพราะไม่ต้องการให้ผู้คนมายกย่องชื่อเสียงของท่านแทนที่จะสนใจพระยะโฮวาพระเจ้าและข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระองค์ การทำแบบนี้ทำให้คำพยากรณ์ที่ อสย 42:1, 2 เกิดขึ้นจริงที่บอกว่า ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะ “ไม่ส่งเสียงดังให้ผู้คนได้ยินตามถนน” ซึ่งหมายความว่าเขาจะไม่ทำสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ (มธ 12:15-19) ความถ่อมของพระเยซูทำให้ผู้คนสดชื่น ไม่เหมือนกับพวกคนเสแสร้งที่พระเยซูตำหนิ เพราะพวกเขาชอบอธิษฐาน “ตามมุมถนนใหญ่เพื่ออวดคนอื่น” (มธ 6:5) ดูเหมือนพระเยซูอยากให้คนเชื่อว่าท่านเป็นพระคริสต์โดยอาศัยหลักฐานที่หนักแน่น ไม่ใช่ข่าวลือที่น่าตื่นเต้นเรื่องการอัศจรรย์ของท่าน
คาเปอร์นาอุม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:13
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา 100 นาย
คาเปอร์นาอุม: มาจากชื่อฮีบรูที่หมายความว่า “หมู่บ้านของนาฮูม” หรือ “หมู่บ้านแห่งการปลอบโยน” (นฮม 1:1, เชิงอรรถ) เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับงานรับใช้ของพระเยซูตอนอยู่บนโลก เมืองนี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี และที่ มธ 9:1 เรียกเมืองนี้ว่า “เมืองที่ท่านอาศัย”
คนใช้: คำว่า “คนใช้” ในข้อนี้มาจากคำกรีกที่แปลตรงตัวว่า “เด็ก, วัยรุ่น” คำนี้ยังใช้หมายถึงทาสที่นายรัก ซึ่งอาจเป็นคนรับใช้ส่วนตัวของนาย
คนมากมายมาจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก: หมายความว่าคนที่ไม่ใช่ชาวยิวจะได้เข้าในรัฐบาลของพระเจ้า
นั่งร่วมโต๊ะอาหาร: แปลตรงตัวว่า “นั่งเอนตัว” ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เมื่อมีงานเลี้ยงหรือมีการเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ มักจะมีการเอาเก้าอี้ยาวตั้งไว้รอบโต๊ะอาหาร คนที่นั่งร่วมโต๊ะจะเอนตัวบนเก้าอี้ยาวโดยหันหัวไปทางโต๊ะอาหาร ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะเอาศอกซ้ายยันหมอนอิงไว้และกินอาหารโดยใช้มือขวา การนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับใครคนหนึ่งหมายถึงการสนิทกับคนนั้น ปกติแล้วชาวยิวจะไม่ร่วมโต๊ะอาหารกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิวเด็ดขาด
ด้วยความทุกข์ใจ: หรือ “ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน” สำนวนนี้อาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวด สิ้นหวัง และโกรธแค้น ซึ่งอาจแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำที่รุนแรง
แม่ยายของเขา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:38
นอนป่วยเป็นไข้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:38
แม่ยายของซีโมน: คือแม่ยายของเปโตรหรือเคฟาส (ยน 1:42) เรื่องนี้สอดคล้องกับคำพูดของเปาโลที่ 1คร 9:5 ซึ่งพูดถึงเปโตรว่ามีภรรยาแล้ว ดูเหมือนว่าแม่ยายของเปโตรอยู่บ้านเดียวกับเปโตรและอันดรูว์น้องชายของเขา—มก 1:29-31; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2 ที่พูดถึงชื่ออื่น ๆ ของเปโตร
ป่วยมีไข้สูง: มัทธิวกับมาระโกบอกว่าแม่ยายของเปโตร “นอนป่วยเป็นไข้อยู่” (มธ 8:14; มก 1:30) แต่ลูกาซึ่งเป็นหมอเป็นคนเดียวที่อธิบายว่าอาการของเธอหนักแค่ไหนโดยบอกว่าเธอ “มีไข้สูง”—ดู “บทนำของหนังสือลูกา”
พอค่ำลง: คือหลังจากวันสะบาโตสิ้นสุดลง อย่างที่บอกไว้ใน มก 1:21-32 และ ลก 4:31-40 ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน
เกิดขึ้นตามที่พระยะโฮวาพูดไว้ผ่านผู้พยากรณ์ของพระองค์: ในหนังสือข่าวดีของมัทธิวมีการใช้สำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันหลายครั้ง ดูเหมือนเป็นการเน้นกับผู้ฟังชาวยิวว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่พระเจ้าสัญญาไว้—มธ 2:15, 23; 4:14; 8:17; 12:17; 13:35; 21:4; 26:56; 27:9
เป็นไปตามที่พระเจ้าบอกไว้ผ่านผู้พยากรณ์อิสยาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:22
แบกรับ: หรือ “เอาไป, เอาออก” ในข้อนี้มัทธิวได้รับการดลใจให้ยกข้อความจาก อสย 53:4 มาใช้กับพระเยซูที่รักษาโรคด้วยการอัศจรรย์ คำพยากรณ์ที่ อสย 53:4 จะเกิดขึ้นจริงในขอบเขตที่ใหญ่กว่าเมื่อพระเยซูเอาบาปทั้งหมดของมนุษย์ออกไป เหมือนแพะที่เป็น “อาซาเซล” ซึ่งเอาบาปของชาติอิสราเอลไปปล่อยในที่กันดารในวันไถ่บาป (ลนต 16:10, 20-22) โดยการแบกรับบาปไป พระเยซูจะกำจัดต้นเหตุความเจ็บป่วยของทุกคนที่แสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของท่าน
อีกฝั่งหนึ่ง: คือฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
ไม่มีที่จะซุกหัวนอน: หมายถึงไม่มีบ้านของตัวเอง
ไปฝังศพพ่อ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 9:59
ฝังศพพ่อ: คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพ่อของผู้ชายคนนี้เพิ่งตายและเขาขอไปจัดงานศพให้พ่อ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเขาคงไม่ได้มายืนคุยกับพระเยซูในตอนนี้ เนื่องจากแถบตะวันออกกลางในสมัยโบราณ เมื่อคนในครอบครัวตายจะมีการจัดงานศพทันที ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดวันเดียวกันกับที่คนนั้นตาย ดังนั้น พ่อของเขาอาจกำลังป่วยหรือแก่แล้ว แต่ยังไม่ตาย นอกจากนั้น พระเยซูก็คงไม่บอกให้เขาทิ้งพ่อแม่ที่เจ็บป่วยและต้องการความช่วยเหลือ นี่แสดงว่าครอบครัวเขาคงจะมีสมาชิกคนอื่น ๆ ที่สามารถดูแลเรื่องที่สำคัญนี้ได้อยู่แล้ว (มก 7:9-13) จริง ๆ แล้ว ผู้ชายคนนี้หมายความว่า ‘ผมจะตามท่านไปครับ แต่ไม่ใช่ตอนที่พ่อผมยังมีชีวิตอยู่ รอให้พ่อตายและให้ผมฝังศพพ่อก่อน’ แต่ในมุมมองของพระเยซู ผู้ชายคนนี้เสียโอกาสที่จะทำให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต—ลก 9:60, 62
ให้คนตายฝังคนตาย: จากข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 9:59 เรารู้ว่าพ่อของผู้ชายที่คุยกับพระเยซูอาจกำลังป่วยหรือแก่แล้ว แต่ยังไม่ตาย ดังนั้น จริง ๆ แล้วพระเยซูกำลังบอกว่า ‘ให้คนที่ตายทางความเชื่อฝังกันเองเถอะ’ ซึ่งนั่นหมายความว่า ชายคนนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้พ่อตายก่อนแล้วค่อยตัดสินใจติดตามพระเยซู เพราะเขายังมีญาติ ๆ ที่ช่วยดูแลพ่อของเขาได้ ถ้าผู้ชายคนนี้ติดตามพระเยซู เขาก็จะอยู่ในทางที่จะได้ชีวิตตลอดไป ไม่ใช่อยู่กับคนเหล่านั้นที่ตายทางความเชื่อในสายตาพระเจ้า คำตอบของพระเยซูแสดงให้เห็นว่า เพื่อเราจะไม่ตายทางความเชื่อ เราต้องทำให้เรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตและประกาศเรื่องนี้ออกไป
ให้คนตายฝังคนตาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 9:60
พายุใหญ่: ทะเลสาบกาลิลีจะมีพายุแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ผิวน้ำของทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 210 เมตรและมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นภูเขาและที่ราบสูง ทำให้อากาศแปรปรวนและเกิดลมแรงที่ทำให้มีคลื่นฉับพลัน
พวกคุณมีความเชื่อน้อยจริง ๆ: พระเยซูไม่ได้หมายความว่าพวกสาวกไม่มีความเชื่อเลย แต่พวกเขามีความเชื่อไม่มากพอ—มธ 14:31; 16:8; ลก 12:28; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:30
พวกคุณมีความเชื่อน้อยจริง ๆ: พระเยซูกำลังบอกว่าสาวกของท่านมีความเชื่อไม่เข้มแข็งและไม่วางใจพระเจ้ามากพอ (มธ 8:26; 14:31; 16:8; ลก 12:28) คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกสาวกไม่มีความเชื่อเลย แต่พวกเขามีความเชื่อไม่มากพอ
เขตแดนของชาวกาดารา: เขตแดนอีกฝั่งหนึ่ง (ฝั่งตะวันออก) ของทะเลสาบกาลิลี อาจเป็นพื้นที่ยาว 10 กม. ตั้งแต่ทะเลสาบจนถึงเมืองกาดารา เหรียญจากเมืองกาดาราจึงมักจะมีรูปเรืออยู่ด้วย ส่วนบันทึกของมาระโกและลูกาบอกว่าพระเยซูไปที่ “เขตแดนของชาวเกราซา” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:1) นี่แสดงว่าสองเขตแดนนี้อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี” และภาคผนวก ข10
2 คน: บันทึกในมาระโก (5:2) และลูกา (8:27) พูดถึงผู้ชายที่ถูกปีศาจสิงแค่คนเดียว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:2
สุสาน: หรือ “อุโมงค์รำลึก” (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”) อาจเป็นถ้ำหรือห้องที่เจาะเข้าไปในหินและมักตั้งอยู่นอกเมือง คนยิวจะไม่เข้าใกล้ที่ฝังศพเหล่านั้นเพราะจะทำให้พวกเขาไม่สะอาด นี่ทำให้สุสานเป็นที่ที่คนบ้าหรือคนที่ถูกปีศาจสิงชอบมาอยู่
เขตแดนของชาวเกราซา: เขตแดนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง (ฝั่งตะวันออก) ของทะเลสาบกาลิลี ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเขตแดนนี้อยู่ที่ไหนในปัจจุบันและมีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน บางคนบอกว่า “เขตแดนของชาวเกราซา” คือบริเวณรอบ ๆ เคอร์ซีใกล้กับไหล่เขาที่สูงชันทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี แต่บางคนบอกว่าเขตแดนนี้คือพื้นที่กว้างใหญ่รอบ ๆ เมืองเกราซา (เจราช) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลสาบกาลิลี 55 กม. มธ 8:28 เรียกบริเวณนี้ว่า “เขตแดนของชาวกาดารา” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าชาวเกราซาในข้อนี้ และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:28) แม้จะมีการใช้ชื่อต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วทั้ง 2 คำนี้หมายถึงเขตแดนเดียวกันที่อยู่ทางตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี และสองเขตแดนนี้อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ ดังนั้น บันทึกในส่วนนี้จึงไม่ขัดแย้งกัน—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี” และภาคผนวก ข10 ด้วย
ผู้ชายคนหนึ่ง: ผู้เขียนหนังสือข่าวดีมัทธิว (8:28) พูดถึงผู้ชาย 2 คน แต่มาระโกกับลูกา (8:27) พูดถึงผู้ชายที่ถูกปีศาจสิงแค่คนเดียว ที่เป็นแบบนั้นอาจเป็นเพราะพระเยซูพูดกับผู้ชายคนนี้และเรื่องราวของเขาเด่นกว่า หรืออาจเป็นเพราะผู้ชายคนนี้ก้าวร้าวกว่าหรือต้องทนทุกข์เพราะถูกปีศาจสิงมานานกว่า นอกจากนั้น อาจเป็นไปได้ว่าแม้มีผู้ชาย 2 คนได้รับการรักษาให้หาย แต่มีแค่คนเดียวอยากติดตามพระเยซู—มก 5:18-20
มายุ่งกับพวกเราทำไม?: คำถามนี้แปลตรงตัวว่า “เกี่ยวอะไรกับพวกเราและคุณ?” เป็นสำนวนภาษาเซมิติกที่ใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ยชว 22:24; วนฉ 11:12; 2ซม 16:10; 19:22; 1พก 17:18; 2พก 3:13; 2พศ 35:21; ฮชย 14:8) และในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็ใช้สำนวนนี้ด้วย (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28; ยน 2:4) สำนวนนี้อาจมีหลายความหมายขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้สำนวนนี้ถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดชังและขับไล่ไสส่ง ซึ่งผู้แปลบางคนคิดว่าน่าจะแปลว่า “อย่ามายุ่งกับพวกเรา!” หรือ “ไปไกล ๆ เลย!” ในท้องเรื่องอื่น ๆ มีการใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากทำตามที่แนะนำ โดยไม่ได้มีความรู้สึกดูถูก ถือตัว หรือเกลียดชัง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:4
ทรมานพวกเรา: คำว่า “ผู้คุม” ใน มธ 18:34 มาจากคำกรีกที่เกี่ยวข้องกับคำนี้ ดังนั้น ในท้องเรื่องนี้คำว่า “ทรมาน” จึงน่าจะหมายถึงการคุมขังหรือกักขังไว้ใน “ขุมลึก” ที่พูดถึงใน ลก 8:31 ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกัน
เราอย่าไปกังวลเลยแม่: ตอนที่มารีย์บอกพระเยซูว่า “ทำยังไงดี เหล้าองุ่นจะหมดแล้ว?” (ยน 2:3) เธอน่าจะอยากขอให้พระเยซูทำอะไรบางอย่าง นี่เป็นเรื่องที่น่าสังเกตเพราะจนถึงตอนนั้นพระเยซูยังไม่เคยทำการอัศจรรย์อะไรเลย พระเยซูตอบแม่ของท่านด้วยสำนวนภาษาเซมิติกที่แปลตรงตัวว่า “เกี่ยวอะไรกับผมและคุณล่ะ?” ส่วนใหญ่แล้วมีการใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายจริง ๆ ก็ต้องดูตามท้องเรื่อง ถึงแม้บางครั้งสำนวนนี้ถ่ายทอดความรู้สึกเกลียดชังและขับไล่ไสส่ง (มธ 8:29; มก 1:24; 5:7; ลก 4:34; 8:28) แต่ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนว่าเป็นการปฏิเสธอย่างนุ่มนวล (ตัวอย่างการใช้สำนวนนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อปฏิเสธอย่างนุ่มนวลอยู่ที่ 2ซม 16:9, 10 และ 1พก 17:18) คำพูดของพระเยซูในประโยคถัดไปที่บอกว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาของผมทำให้รู้เหตุผลที่ท่านยังไม่จัดการอะไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่คิดจะช่วยอะไรเลย เราเห็นเรื่องนี้ได้จากคำพูดของมารีย์ในข้อ 5
หมู: หมูเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาดตามกฎหมายของโมเสส แต่กลับมีการเลี้ยงหมูในบริเวณนี้ พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่า “คนเลี้ยงหมู” (มธ 8:33) เป็นคนยิวที่ทำผิดกฎหมายหรือเป็นคนต่างชาติ แต่มีตลาดขายหมูอยู่ในชุมชนของคนต่างชาติในเขตเดคาโปลิสเพราะทั้งชาวกรีกและชาวโรมันถือว่าหมูเป็นอาหารชั้นเลิศ
วีดีโอและรูปภาพ
ตำแหน่งนายร้อยเป็นยศสูงสุดที่ทหารโรมันธรรมดาคนหนึ่งจะมีได้ เขาทำหน้าที่ฝึกทหารในกองทัพ ตรวจตราอาวุธ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารของพวกทหาร รวมทั้งควบคุมดูแลความประพฤติของพวกเขา ส่วนใหญ่แล้วกองทัพโรมันจะมีความพร้อมและประสิทธิภาพในการสู้รบหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนายร้อย พูดได้ว่าพวกเขาเป็นบุคลากรที่มีค่าและมีประสบการณ์มากที่สุดในกองทัพโรมัน นี่แสดงว่านายร้อยที่มาหาพระเยซูต้องเป็นคนถ่อมและมีความเชื่อจริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก
พระเยซูบอกว่าชีวิตของท่านไม่เหมือนกับหมาจิ้งจอกและนก เพราะหมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกยังมีรัง แต่ท่านไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง หมาจิ้งจอกในภาพนี้ (Vulpes vulpes) พบได้ในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียด้วย หมาจิ้งจอกอาจอยู่ตามซอกหินหรือในโพรงของสัตว์อื่น ๆ หรือไม่ก็ขุดโพรงอยู่ใต้ดิน ส่วนนกกระจิบ (Cettia cetti) ในภาพนี้เป็นนกชนิดหนึ่งที่พบได้ในอิสราเอล ตลอดทั้งปีอาจพบนกประมาณ 470 ชนิดที่นั่น บางครั้งนกเหล่านี้ก็ทำรังอยู่บนต้นไม้ อยู่ในโพรงของต้นไม้ และอยู่บนหน้าผา รังนกอาจทำมาจากกิ่งไม้ ใบไม้ สาหร่าย ขนสัตว์ ฟาง มอส และขนนก สภาพภูมิประเทศที่หลากหลายของพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นยอดเขาสูงที่หนาวเย็นไปจนถึงหุบเขาลึกที่ร้อนอบอ้าว ทะเลทรายที่แห้งแล้งไปจนถึงที่ราบชายฝั่ง ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นที่อาศัยของนกหลายชนิด บางชนิดก็อพยพไปมาทั่วเขตแดนนี้ และบางชนิดก็อาศัยอยู่ตลอดโดยไม่อพยพไปไหน
เหตุการณ์ที่พระเยซูขับไล่ปีศาจออกจากผู้ชาย 2 คนและให้มันเข้าไปสิงในหมูฝูงหนึ่งเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี