เขียนโดยมัทธิว 3:1-17
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ยอห์น: ตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา”
ผู้ให้บัพติศมา: หรือ “คนจุ่ม” คำนี้ดูเหมือนเป็นฉายาของยอห์นซึ่งบอกให้รู้ว่าลักษณะเด่นของเขาคือการให้บัพติศมาด้วยการจุ่มในน้ำ โยเซฟุส ฟลาวิอุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวก็เคยเขียนเกี่ยวกับ “ยอห์นที่มีฉายาว่าผู้ให้บัพติศมา” ด้วย
ประกาศ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ป่าวประกาศในฐานะผู้ส่งข่าวอย่างเปิดเผย” คำนี้เน้นลักษณะ ของการประกาศว่ามักเป็นการพูดอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ ไม่ใช่การเทศน์ให้คนแค่กลุ่มหนึ่งฟัง
ที่กันดารยูเดีย: เป็นพื้นที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัย ที่กันดารนี้ทอดยาวจากเทือกเขายูเดียฝั่งตะวันออก ไปจนถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนกับทะเลเดดซีซึ่งอยู่ต่ำกว่าเทือกเขาลงไปประมาณ 1,200 เมตร ยอห์นเริ่มงานรับใช้ของเขาในที่ใดที่หนึ่งของเขตนี้ทางเหนือของทะเลเดดซี
กลับใจ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ หรือความตั้งใจ คำว่า “กลับใจ” ในท้องเรื่องนี้หมายถึงการที่คนเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำให้พระเจ้าพอใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:8, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
รัฐบาล: เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก บาซิเล่อา ซึ่งหมายถึงรัฐบาลที่มีกษัตริย์ปกครอง รวมถึงเขตแดนและผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ด้วย มีการใช้คำกรีกนี้ 162 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่ง 55 ครั้งอยู่ในหนังสือมัทธิวและส่วนใหญ่แล้วหมายถึงการปกครองของพระเจ้าในสวรรค์ มัทธิวใช้คำนี้บ่อยมากจนอาจเรียกหนังสือของเขาว่า “หนังสือข่าวดีเรื่องรัฐบาล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “รัฐบาลของพระเจ้า”
รัฐบาลสวรรค์: คำนี้มีประมาณ 30 ครั้งและทั้งหมดอยู่ในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ในหนังสือข่าวดีของมาระโกกับลูกา มีการใช้อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลของพระเจ้า” ซึ่งทำให้รู้ว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” ตั้งอยู่ในสวรรค์และปกครองจากสวรรค์—มธ 21:43; มก 1:15; ลก 4:43; ดนล 2:44; 2ทธ 4:18
มาใกล้แล้ว: คำพูดนี้หมายความว่าผู้ที่จะเป็นผู้ปกครองของรัฐบาลสวรรค์ในอนาคตกำลังจะปรากฏตัวแล้ว
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 40:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) มัทธิวเชื่อมโยงคำพยากรณ์นี้กับสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำเพื่อเตรียมทางไว้สำหรับพระเยซู และในหนังสือข่าวดีที่ยอห์นเขียน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้พูดไว้ว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงตัวเขาเอง—ยน 1:23
ทำทางของพระองค์ให้ตรง: คำพูดนี้อาจมาจากธรรมเนียมของผู้ปกครองในสมัยโบราณที่สั่งให้คนไปเตรียมทางไว้ก่อนที่พวกเขาจะนั่งรถม้าผ่านทางนั้น มีการเตรียมทางโดยเอาหินก้อนใหญ่ ๆ ออกไป หรือถึงกับสร้างทางข้ามและปรับเนินเขาให้เรียบ
ใส่เสื้อผ้าที่ทำจากขนอูฐ: การที่ยอห์นใส่ชุดที่ทอจากขนอูฐและคาดเข็มขัดหนังทำให้นึกถึงชุดของผู้พยากรณ์เอลียาห์—2พก 1:8; ยน 1:21
ตั๊กแตน: แมลงชนิดนี้มีโปรตีนสูง และตามกฎหมายของโมเสสถือว่าเป็นสัตว์ที่สะอาดที่ใช้เป็นอาหารได้—ลนต 11:21, 22
น้ำผึ้งป่า: หมายถึงน้ำผึ้งที่ได้จากรังผึ้งตามธรรมชาติซึ่งพบในที่กันดาร ไม่ใช่น้ำผึ้งจากผึ้งเลี้ยง การกินตั๊กแตนกับน้ำผึ้งป่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่อาศัยในที่กันดาร
รับบัพติศมา: หรือ “ถูกจุ่ม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11
สารภาพบาปของตัวเองอย่างเปิดเผย: หมายถึงการยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตัวเองทำผิดกฎหมายของโมเสส
ฟาริสี: ดูส่วนอธิบายศัพท์
สะดูสี: ดูส่วนอธิบายศัพท์
พวกชาติงูร้าย: พวกเขาถูกเรียกอย่างนี้เพราะสิ่งที่พวกเขาทำชั่วร้ายและเป็นอันตรายมากต่อความเชื่อเหมือนพิษงูสำหรับคนที่ไม่ระวังตัว
ทำให้เห็นสิว่าคุณกลับใจ: หรือ “แสดงผลที่สมกับการกลับใจ” หมายถึงคนที่ฟังยอห์นต้องแสดงหลักฐานหรือทำให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนทัศนคติแล้วจริง ๆ—ลก 3:8; กจ 26:20; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
ให้บัพติศมาพวกคุณ: หรือ “จุ่มพวกคุณ” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” ข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ครั้งหนึ่งยอห์นให้บัพติศมาที่หุบเขาจอร์แดนใกล้กับสาลิม “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ยน 3:23) ตอนที่ฟีลิปให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอเปีย พวกเขาทั้งสองคนก็ “ลงไปในน้ำ” (กจ 8:38) ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง”
กลับใจ: แปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8 และส่วนอธิบายศัพท์
ยิ่งใหญ่กว่า: แปลตรงตัวว่า “แข็งแรงกว่า” ซึ่งหมายถึง “มีอำนาจมากกว่า”
รองเท้า: การถอดและถือรองเท้าให้คนอื่น หรือการแก้สายรัดรองเท้าให้เขา (มก 1:7; ลก 3:16; ยน 1:27) ถือเป็นงานที่ต่ำต้อยซึ่งมักจะเป็นหน้าที่ของทาส
ให้บัพติศมา . . . ด้วยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าและด้วยไฟ: หมายถึงการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์และการทำลายด้วยไฟ การบัพติศมาด้วยพลังบริสุทธิ์เริ่มต้นในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 การบัพติศมาด้วยไฟเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 70 ตอนที่กองทัพโรมันมาทำลายกรุงเยรูซาเล็มและเผาวิหาร
พลั่ว: หรือ “พลั่วสำหรับสาดข้าว” อาจทำจากไม้ ใช้สำหรับตักเมล็ดข้าวที่นวดแล้วโยนขึ้นไปในอากาศเพื่อให้ลมพัดเอาแกลบและฟางออกไป
แกลบ: เปลือกบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดข้าว เช่น ข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลี แกลบมักจะถูกเก็บไปเผาเพื่อไม่ให้มันปลิวไปปนอยู่กับกองข้าวและทำให้ข้าวสกปรก ยอห์นใช้การฝัดแยกแกลบเพื่อเปรียบเทียบกับการที่เมสสิยาห์จะแยกคนที่เป็นเหมือนข้าวสาลีออกจากคนที่เป็นเหมือนแกลบ
ไฟที่ไม่มีวันดับ: บอกให้รู้ว่ากรุงเยรูซาเล็มและวิหารจะต้องถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง
ทำทุกสิ่งที่พระเจ้ากำหนดไว้ให้สำเร็จ: การบัพติศมาของพระเยซูไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการกลับใจ เพราะพระเยซูไม่มีบาปและท่านทำตามกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรมของพระเจ้าได้อย่างครบถ้วน และการบัพติศมาของพระเยซูก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวเพราะท่านเกิดในชาติที่อุทิศให้พระเจ้าแล้ว แต่การบัพติศมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์ของการเสนอตัวเพื่อทำตามความประสงค์ที่ถูกต้องชอบธรรมของพระยะโฮวาในฐานะเมสสิยาห์ ซึ่งรวมถึงการสละชีวิตเป็นค่าไถ่ สิ่งที่พระเยซูทำสอดคล้องกับคำพยากรณ์เกี่ยวกับท่านใน สด 40:7, 8 และมีการอธิบายเรื่องนี้ที่ ฮบ 10:5-9
ท้องฟ้า: อาจหมายถึงท้องฟ้าจริง ๆ หรือหมายถึงสวรรค์ก็ได้
ท้องฟ้าก็เปิดออก: ดูเหมือนพระเจ้าทำให้พระเยซูจำเรื่องราวตอนที่ท่านอยู่บนสวรรค์ได้ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่พระเยซูเรียนจากพ่อของท่านก่อนมาเป็นมนุษย์บนโลก
เหมือนนกเขา: นกเขาถูกใช้ในการนมัสการและยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วย มีการใช้นกเขาเป็นเครื่องบูชา (มก 11:15; ยน 2:14-16) นกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไม่มีพิษมีภัย (มธ 10:16) นกเขาที่โนอาห์ปล่อยออกไปคาบใบมะกอกกลับมาที่เรือ ทำให้รู้ว่าน้ำกำลังลดลง (ปฐก 8:11) และเวลาของการหยุดพักและความสงบสุขใกล้เข้ามาแล้ว (ปฐก 5:29) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูรับบัพติศมา พระยะโฮวาอาจใช้นกเขาเพื่อทำให้นึกถึงบทบาทของพระเยซูลูกที่บริสุทธิ์และไม่มีบาปของพระองค์ ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่จะสละชีวิตเพื่อมนุษย์และทำให้มนุษย์ได้หยุดพักและมีความสงบสุขตอนที่ท่านปกครองเป็นกษัตริย์ พลังของพระเจ้าที่ลงมาบนพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาอาจดูเหมือนนกเขากระพือปีกอยู่ใกล้ที่เกาะ
เสียงจากฟ้า: นี่เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้งที่หนังสือข่าวดีบันทึกว่ามนุษย์ได้ยินเสียงของพระยะโฮวา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษา มธ 17:5; ยน 12:28
นี่คือลูก . . . ของเรา: ตอนเป็นทูตสวรรค์ พระเยซูเป็นลูกของพระเจ้า (ยน 3:16) ตั้งแต่ตอนที่พระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ ท่านก็เป็น “ลูกของพระเจ้า” เหมือนกับอาดัมตอนที่ยังเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ (ลก 1:35; 3:38) แต่ดูเหมือนมีเหตุผลที่จะสรุปว่าคำพูดของพระเจ้าในข้อนี้ไม่ได้บอกแค่ว่าพระเยซูเป็นใคร แต่การที่พระเจ้าพูดแบบนั้นพร้อมกับให้พลังบริสุทธิ์ดูเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูที่เป็นมนุษย์คนนี้เป็นลูกของพระเจ้าที่ได้รับการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการ “เกิดใหม่” โดยมีความหวังจะได้กลับไปสวรรค์ และเป็นการเจิมเพื่อจะเป็นกษัตริย์และมหาปุโรหิตที่พระเจ้าแต่งตั้ง—ยน 3:3-6; 6:51; เทียบกับ ลก 1:31-33; ฮบ 2:17; 5:1, 4-10; 7:1-3
เราพอใจในตัวเขามาก: หรือ “เราชอบเขามาก, เราโปรดปรานเขามาก” มีการใช้สำนวนนี้ที่ มธ 12:18 ซึ่งยกมาจาก อสย 42:1 ที่พูดถึงเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้หรือพระคริสต์ การที่พระเจ้าพูดแบบนี้พร้อมกับให้พลังบริสุทธิ์กับพระเยซูเป็นการบอกชัดเจนว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:18
วีดีโอและรูปภาพ
ในเขตที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัยนี้ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มงานรับใช้ของเขา และพระเยซูก็ถูกมารล่อใจที่นี่ด้วย
ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ที่กันดาร” (คำฮีบรู มิดห์บาร์ และคำกรีก เอะเรมอส) โดยทั่วไปหมายถึงพื้นที่แห้งแล้งแทบไม่มีใครอยู่อาศัยหรือเพาะปลูก มีแต่พุ่มไม้ ต้นหญ้า และทุ่งหญ้าประปราย นอกจากนั้นคำภาษาเดิมยังอาจหมายถึงเขตที่ไม่มีน้ำจนเรียกได้ว่าเป็นทะเลทราย ในหนังสือข่าวดี เมื่อพูดถึงที่กันดารก็มักหมายถึงที่กันดารยูเดียซึ่งยอห์นอาศัยอยู่และทำงานประกาศ และยังเป็นที่ที่พระเยซูถูกมารล่อใจด้วย—มก 1:12
ในภาพนี้คือรังผึ้งป่า (หมายเลข 1) และรังผึ้งที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้ง (หมายเลข 2) น้ำผึ้งที่ยอห์นกินอาจได้จากผึ้งป่าสายพันธุ์ Apis mellifera syriaca ซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่นั้น ผึ้งชนิดนี้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งของที่กันดารยูเดียได้ดี แต่มีนิสัยดุร้าย ไม่เหมาะที่จะเอามาเป็นผึ้งเลี้ยง ผู้คนในอิสราเอลเลี้ยงผึ้งไว้ในกระบอกดินเหนียวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก่อน ค.ศ. แล้ว มีการพบซากกระบอกดินเหนียวจำนวนมากใจกลางชุมชนนอกเมืองแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเรียกว่า เทล เรคอฟ) ซึ่งอยู่ในหุบเขาจอร์แดน น้ำผึ้งในรังผึ้งเหล่านี้ได้จากผึ้งสายพันธุ์หนึ่งซึ่งดูเหมือนนำเข้ามาจากดินแดนที่ปัจจุบันคือตุรกี
คำว่า “ตั๊กแตน” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลอาจหมายถึงตั๊กแตนชนิดไหนก็ได้ที่มีหนวดสั้น โดยเฉพาะตั๊กแตนที่อพยพเป็นฝูงใหญ่ จากผลวิจัยในเยรูซาเล็ม ตั๊กแตนทะเลทรายมีโปรตีนสูงถึง 75% ในประเทศแถบตะวันออกกลางทุกวันนี้คนที่กินตั๊กแตนจะเอาส่วนหัว ขา ปีก และท้องออกก่อน แล้วกินส่วนลำตัวที่เหลือดิบ ๆ หรือทำให้สุกก่อนก็ได้ ว่ากันว่าแมลงชนิดนี้มีรสชาติเหมือนกุ้งหรือปู และอุดมไปด้วยโปรตีน
ยอห์นใส่ชุดที่ทอจากขนอูฐ และคาดเอวด้วยแผ่นหนังหรือเข็มขัดหนัง ซึ่งสามารถเหน็บของชิ้นเล็ก ๆ ไว้ได้ ชุดแบบนี้คล้ายกันกับชุดของผู้พยากรณ์เอลียาห์ (2พก 1:8) ผ้าขนอูฐเป็นผ้าเนื้อหยาบที่คนยากจนใส่กัน แต่เสื้อผ้านุ่ม ๆ ที่ทำจากผ้าไหมหรือผ้าลินินเป็นผ้าที่คนรวยใส่ (มธ 11:7-9) เนื่องจากยอห์นเป็นนาศีร์ตั้งแต่เกิด จึงเป็นไปได้ว่าเขาไม่เคยตัดผมเลย เสื้อผ้าและการแต่งตัวของยอห์นอาจทำให้เห็นว่าเขาใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อทำตามความต้องการของพระเจ้าอย่างเต็มที่
พวกฟาริสีทำตามสิ่งที่เขียนไว้ใน ฉธบ 6:6-8 และ 11:18 ตามตัวอักษร เนื่องจากพวกเขาเชื่อถือโชคลางและถือว่าตัวเองเป็นคนดี จึงเอากล่องเครื่องรางใส่ข้อคัมภีร์รัดไว้ที่แขนซ้ายและบางครั้งก็คาดไว้ที่หน้าผากด้วย นอกจากนั้น พวกเขายังทำชายครุยเสื้อให้ยาวกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายของโมเสสเพื่อจะให้คนอื่นเห็นชัด ๆ—กดว 15:38; มธ 23:5
ทั้งยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซูเรียกพวกครูสอนศาสนาและฟาริสีว่า “พวกชาติงูร้าย” เพราะพวกเขาเป็นอันตรายมากต่อความเชื่อเหมือนพิษงูสำหรับคนที่ไม่ระวังตัว (มธ 3:7; 12:34) งูที่เห็นในภาพนี้คืองูพิษมีเขา ซึ่งลักษณะเด่นของมันคือมีเขาเล็ก ๆ อยู่เหนือตาทั้ง 2 ข้าง งูพิษชนิดอื่น ๆ ที่เป็นงูประจำถิ่นของอิสราเอล คือ งูพิษทราย (Vipera ammodytes) ซึ่งพบได้ที่หุบเขาจอร์แดน และงูพิษปาเลสไตน์ (Vipera palaestina)
ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล รองเท้าจะมีพื้นแบน และทำจากหนัง ไม้ หรือถักจากเส้นใย รองเท้าจะรัดติดกับเท้าโดยใช้สายหนัง มีการใช้รองเท้าเป็นสัญลักษณ์ของการซื้อขายถ่ายโอนบางอย่างและใช้เป็นภาพเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น แม่ม่ายจะถอดรองเท้าของผู้ชายที่เป็นพี่หรือน้องของสามีที่เสียชีวิตซึ่งไม่ยอมทำตามกฎหมายของโมเสสโดยแต่งงานกับเธอ และครอบครัวของผู้ชายคนนั้นก็จะถูกตราหน้าว่า “ครอบครัวของคนที่ถูกถอดรองเท้าออก” (ฉธบ 25:9, 10) การให้รองเท้าของตัวเองกับคนอื่นหมายถึงการโอนที่ดินหรือโอนสิทธิ์ในการไถ่ให้กับคนนั้น (นรธ 4:7) การแก้สายรัดรองเท้าหรือถือรองเท้าให้คนอื่นถูกมองว่าเป็นงานต่ำต้อยที่มักจะทำโดยทาส ยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดถึงการทำแบบนี้เพื่อบ่งบอกว่าตัวเขาต่ำต้อยกว่าพระคริสต์
ชาวนาจะใช้พลั่วโยนเมล็ดข้าวที่นวดแล้วขึ้นไปในอากาศ เมล็ดข้าวจะตกลงบนพื้น ส่วนแกลบที่เบากว่าจะปลิวไปตามลม ชาวนาจะทำแบบนี้จนกว่าเมล็ดข้าวจะถูกแยกออกจากแกลบจนหมด
เลื่อนนวดข้าว 2 อันที่ทำเลียนแบบเลื่อนนวดข้าวสมัยโบราณ (หมายเลข 1) ในภาพนี้เลื่อนนวดข้าวถูกวางหงายเพื่อให้เห็นหินคม ๆ ที่ฝังอยู่ด้านล่าง (อสย 41:15) และอย่างที่เห็นในภาพที่ 2 (หมายเลข 2) ชาวนาเอาฟ่อนข้าวมากระจายไว้บนลานนวดข้าว และเขายืนบนเลื่อนนวดข้าวแล้วให้สัตว์ตัวหนึ่งซึ่งอาจเป็นวัวลากไปรอบ ๆ กีบเท้าของสัตว์และหินคม ๆ ใต้เลื่อนนวดข้าวจะบดแยกเมล็ดข้าวออกจากรวง จากนั้น ชาวนาจะเอาส้อมหรือพลั่ว (หมายเลข 3) โยนข้าวขึ้นไปบนอากาศ แกลบที่มีน้ำหนักเบาจะปลิวไปตามลม และเมล็ดข้าวที่หนักกว่าจะตกลงบนพื้น ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้เลื่อนนวดข้าวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาจะบดขยี้และทำลายศัตรูของพระองค์ (ยรม 51:33; มคา 4:12, 13) ยอห์นผู้ให้บัพติศมาใช้ตัวอย่างการนวดข้าวเพื่อแสดงว่าการแยกคนดีออกจากคนชั่วจะเป็นอย่างไร
ยอห์นให้บัพติศมาพระเยซูในแม่น้ำจอร์แดน แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพระเยซูถูกจุ่มตัวบริเวณไหนของแม่น้ำ